pooklook on May 06, 2012, 11:19:54 AM
แบรนด์กาแฟ "อาข่า อาม่า" 1 ใน 21 แบรนด์จากทั่วโลก และเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่ได้รับเลือกจากองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป เพื่อใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติครั้งที่ 7 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปีที่ผ่านมา

"อาข่า อาม่า"(Akha Ama) กาแฟพันธุ์อาราบีก้าจากบ้านแม่จันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ความโดดเด่นอยู่ที่การปลอดสารเคมีในการผลิตตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ทั้งยังเป็นผลผลิตที่เกิดจากความรักและความมุ่งมั่นของชาวเขาเผ่าอาข่า โดย"อายุ จือปา" หรือ ลี ชายหนุ่มวัย 23 ปีลูกหลานของชาวอาข่า
ชาวอาข่าที่บ้านแม่จันใต้เพาะปลูกกาแฟมากว่า 11 ปี และขายผลผลิตให้พ่อค้าคนกลาง ที่เข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน แม้จะมีอาชีพปลูกกาแฟหาเลี้ยงชีพ แต่ผลลัพธ์หรือรายได้ที่ได้มา กลับไม่สามารถทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เลี้ยงดูครอบครัวหรือให้ลูกๆ ได้

สำนึกรักบ้านเกิด

กาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งในหลายๆ อย่างของหมู่บ้าน อย่างท้อ พลัมและเชอร์รี่ แต่กลับถูกกดราคา ลี จึงเกิดคำถามว่า ตัวเขาจะทำอะไรเพื่อหมู่บ้านได้บ้าง

ลี เป็นคนแรกของหมู่บ้านที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา บวกกับมีโอกาสได้ทำงานในมูลนิธิเกื้อฝัน ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อสังคม ทั้งความสามารถด้านภาษาที่พูดได้ทั้งภาษาอาข่า ไทยและอังกฤษ จึงมีแนวคิดที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในหมู่บ้าน

เขาจึงเริ่มศึกษาเกษตรชุมชน และปรึกษากับเจ้าหน้าที่เกษตรที่สูง ร่วมกับชาวบ้านทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งนำร่องด้วยกาแฟที่มีประสบการณ์มากว่า 11 ปี บวกกับความชอบกาแฟโดยส่วนตัว ซึ่งมองว่า การทำในสิ่งที่ชอบจะทำได้ดีกว่า ในขณะเดียวกัน การทำตลาดหรือการกระจายสินค้า ตัวกาแฟจะมีโอกาสมากกว่าพืชที่เก็บเกี่ยวตามฤดู

นอกจากความชอบของลี กาแฟยังถือเป็นพืชที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านสามารถที่จะเรียนรู้การปลูก แปรรูปและเก็บรักษา โดยลีจัดให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ที่ทำให้ชาวบ้านสนใจและให้ความร่วมมือ เพราะหากทำได้ นั่นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของครอบครัว

ภายใต้โครงการนี้ ยังรวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพของผู้ปลูกกาแฟ ซึ่งเน้นการปลูกพืชแบบผสมผสานและเกษตรอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งลีใช้เวลากว่า 2 ปีในการพัฒนา

ขวบปีแห่งการ "รู้เขา รู้เรา"

หลังจากบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความพร้อมให้กับชุมชนแล้ว ลีลงมือสร้างแบรนด์อาข่า อาม่าในปี 2553 โดยขวบปีแรกของแบรนด์ถือเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ในเรื่องของการเกษตรและการตลาด ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของเกษตรอินทรีย์

ในปีที่ 2 เขาวางแผนที่จะขยับมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการภาคปฏิบัติ เช่น เกษตรอินทรีย์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อผลผลิตที่ได้คุณภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้กาแฟอาข่า อาม่า ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรหรือสถาบันระดับชาติและนานาชาติ อาทิเช่น องค์การการค้าอย่างยุติธรรม (Fair Trade Organization) ของอังกฤษ เพื่อพัฒนาเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่ให้ราคายุติธรรมต่อชุมชน

หนึ่งในนั้นคือ การนำส่งเมล็ดกาแฟไปยังสถาบันต่างๆ ทั่วโลก เพื่อทดสอบคุณภาพและรสของกาแฟ ลี กล่าวว่า ทีมที่ทำการทดสอบกาแฟอาข่าอาม่าให้ความสนใจ และนำส่งกาแฟของเขาไปประกวดบนเวทีการชิมกาแฟนานาชาติครั้งที่ 7 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีคณะกรรมการจากทั่วโลกมาชิม จนกลายเป็นแบรนด์ไทยหนึ่งเดียวบนเวทีนานาชาติ และได้รับการการันตีจากองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป

"รางวัลนี้คือกำลังใจที่แสดงถึงคุณภาพของกาแฟของเรา ขณะเดียวกันก็สร้างชื่อเสียงและข้อพิสูจน์เรื่องคุณภาพ และมีลูกค้าที่ชื่นชอบกาแฟแสดงความสนใจมาจากทั่วทุกมุมโลก" เจ้าของกาแฟอาข่า อาม่าชี้

มากกว่าความเป็นอาข่า

เมล็ดกาแฟอาข่า อาม่า มาจากกลุ่มผู้ปลูกกาแฟหมู่บ้านแม่จันใต้ 19 ครัวเรือน โดยลีจะรับซื้อเมล็ดกาแฟสดจากครัวเรือนขนาดเล็ก ที่ยังไม่สามารถนำเมล็ดกาแฟไปผ่านกระบวนการได้ แต่บางครอบครัวที่มีศักยภาพพอก็จะรับซื้อเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว

ในช่วง 1 ปีแรกของแบรนด์ ลีรับซื้อเมล็ดกาแฟเก็บสต๊อกไว้เพียง 4 ตัน เนื่องจากยังใหม่ และต้องการศึกษาตลาดและกระบวนการกระจายสินค้า โดยเขากระจายผลิตภัณฑ์ออกไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตในเชียงใหม่และร้านกาแฟต่างๆ

ปีนี้ เขาจำเป็นต้องพัฒนาในส่วนของการตลาดเพื่อระบายของในสต๊อก โดยตั้งเป้าจะเข้าสู่วิลล่า มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมี่ยมให้ได้

กาแฟอาข่าอาม่ามีเพียงสาขาเดียวที่เชียงใหม่ ยอดขายประมาณวันละ 40 แก้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร้อยละ 90 นักท่องเที่ยวยังหาซื้อได้จากร้านค้าชั้นนำในเชียงใหม่ พร้อมยังมีบริการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ด้วย

แบรนด์ของอาข่าอาม่า คือ รูปของหญิงชาวอาข่า ที่ลีภูมิใจนำเสนอว่านี่คือ รูปมารดาของเขานั่นเอง แต่ทั้งนี้ ลีย้ำว่า อาข่า อาม่า ไม่ใช่แค่ความเป็นแม่ แต่เป็นการสื่อถึงรากเหง้าของตัวเอง นั่นก็คือ ความเป็นอาข่า และอาชีพผู้ปลูกกาแฟ ที่ไม่ได้มีแค่คุณภาพคับแก้ว แต่ยังใส่ใจเข้าไปในกาแฟทุกเมล็ด




ที่มา bangkokbiznews.com    http://www.iamakha.com/forum/topic_35.0.html