happy on April 26, 2012, 02:12:33 PM


               23 เมษายน 2555 : รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ผศ.ดร.วรนุช เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และผศ.จุรารัตน์ วรนิสรากุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมคณะวิศวกรรมศาสตร์ แถลงเป็นเจ้าภาพจัด 2 งานใหญ่ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8  ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม การจัดประชุม International Conference on Sustainable Environmental Technologies หรือ ICSET 2012 ระดมนักวิจัยกลุ่มประเทศอาเซียนแลกเปลี่ยนความรู้ และงานวิจัยอัพเดทล่าสุด  เน้นโจทย์วิจัยด้าน ดิน น้ำ และอากาศ
« Last Edit: April 26, 2012, 03:19:08 PM by happy »

happy on April 26, 2012, 02:34:46 PM

มจธ.จัดประชุมICSET
โชว์กึ๋นนักวิจัยไทยกู้วิกฤติสิ่งแวดล้อม


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)



มจธ. เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ICSET ประเทศไทย พร้อมโชว์ผลงานวิจัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ เผยงานวิจัยคนไทยสามารถใช้ดินดูดซับสารพิษในดิน ลดการแผ่ขยายการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้



               รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวตอนหนึ่งในงานแถลงข่าว มจธ. ได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม International Conference on Sustainable Environmental Technologies หรือ ICSET ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดจากการวิจัยระหว่างนักวิจัยด้วยกันเอง และกับกลุ่มอุตสาหกรรม การประชุมนี้เป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานที่เกี่ยวข้องกับเทคนิควิศวกรรม และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้ความสำคัญ 3 ด้านคือ การป้องกัน การแก้ไข และการจัดการการปนเปื้อนของสารมลพิษต่างๆ ในน้ำ ดิน และอากาศ
   “ การประชุม ICSET ครั้งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดย มจธ.ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ส่วนครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2011 ประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายคือเพื่อให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขยายองค์ความรู้นี้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและสังคม เพื่อให้งานวิจัยถูกนำไปสู่การใช้งานจริง และเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีการเชิญตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย เช่น ฮอนด้า,SCG และ ปตท. เป็นต้น ส่วนผลงานวิจัยมีทั้งที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย และต่างประเทศ ได้แก่  ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ ไต้หวัน”


               รศ.ดร.บัณฑิตฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจธ. มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม และสังคม โดยเฉพาะการทำวิจัยที่มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ผลงานวิจัยของ มจธ. เน้นการหาคำตอบสำหรับตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และผู้ใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์มีผลงานวิจัยเด่นๆ หลายชิ้นที่ถูกนำไปใช้แล้วในภาคอุตสาหกรรม สำหรับเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียด้วยกระบวนการออกซิเดชั่นขั้นสูง (Advanced Oxidation Process) การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรม เป็นต้น
               “ผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียที่บำบัดได้ยาก ไม่สามารถบำบัดด้วยกระบวนการบำบัดทั่วๆไป เช่น น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารอันตราย สารก่อมะเร็ง หรือสารที่ตกค้างในธรรมชาติได้ยาวนาน เทคโนโลยีการบำบัดสารเหล่านี้ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ และใช้ในต่างประเทศ เราจึงคิดค้น และพัฒนาวิธีการบำบัดน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศไทย และเป็นการพึ่งตนเอง”


               รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า นอกจากงานวิจัยเพื่อการบำบัดน้ำเสียที่มีอันตรายในระดับรุนแรงแล้ว มจธ. ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ งานวิจัย “ดินไบโอ” ที่มีคุณสมบัติสามารถกักเก็บสารอาหารในดินไว้ให้พืชและยังดูดซับสารพิษต่างๆ ไม่ให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเกษตรกร, ชุมชน และอุตสาหกรรม และงานวิจัยเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน อุทกภัยและภัยแล้ง ด้วยเทคโนโลยีของภาพถ่ายทางดาวเทียม และระบบRemote Sensing เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนในสถานที่ที่ไม่สามารถตั้งสถานีตรวจวัดได้เช่น ทะเล หรือป่าทึบ การส่งข้อมูลและประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์อุทกภัย ดินถล่ม หรือเตรียมการรับมือ ภัยแล้ง ไฟป่า ได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วเป็นต้น

               ด้าน ผศ.จารุรัตน์ วรนิสรากุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่องค์ความรู้ เทคโนโลยีจากงานวิจัยไปสู่สังคมและอุตสาหกรรม นอกจากนี่ยังถือเป็นโอกาสดีที่นักวิจัยไทย และภาคอุตสาหกรรมของไทยจะได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับต่างประเทศ และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทยได้อีกด้วย
             “มจธ.คาดหวังว่าจะสร้างความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสร้างเทคโนโลยีสำหรับหารป้องกัน และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทุกมิติ เพราะกลุ่มนักวิจัยที่มีความรู้ในหลายสาขาจะสร้างสรรค์ผลงานที่สมบูรณ์ได้ งานวิจัยที่น่าสนใจของต่างประเทศที่จะมานำเสนอมักจะเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประเทศนั้นๆ เช่น อินโดนีเซีย-การพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจจับไอเสียรถยนต์ งานวิจัยของอินเดียเน้นไปที่การพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์จากสาหร่ายเพื่อใช้แทนปุ๋ยเคมี ซึ่งแต่ละประเทศจะมีงานวิจัยที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป เราสามารถเก็บเกี่ยวความรู้มาพัฒนางานวิจัยของเราให้ดียิ่งขึ้นได้”
             การประชุมวิชาการ ICSET ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 – 27 เมษายน 2555 ได้รับเกียรติจากศ.ดร.ปีเตอร์ มาจิวสกีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการบำบัดน้ำด้วยนาโนเทคโนโลยีจากประเทศออสเตรเลียในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่ง คณบดีของSchool of Advanced Manufacturing and Mechanical Engineering ของ University of South  Australia มาบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่องการใช้นาโนเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียอีกด้วย.//

happy on April 26, 2012, 02:58:25 PM

มจธ. เจ้าภาพจัดเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8
ชี้เด็กไทยอ่อนปฏิบัติ-แนะครูแก้จุดด้อยชิงความได้เปรียบคู่แข่ง


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
   



มจธ.เป็นเจ้าภาพจัดแข่งเคมีโอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 8 คัดหัวกะทิเด็กไทยไปเคมีโอลิมปิกโลก ด้านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มจธ.ระบุการแข่งขันครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเด็กไทยด้านเคมี ชี้เด็กไทยอ่อนปฏิบัติ แต่แข็งทฤษฎี แนะครูผู้สอนปรับจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง



               มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8  ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2555 โดยในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงาน ในวันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. ณ ห้องเรียน 600 (SCL 216) อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
 
             ทั้งนี้ การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันในเวทีระดับโลก โดยขั้นตอนการคัดเลือกมีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ


               สำหรับการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติที่  มจธ. เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้  ผศ.ดร.วรนุช เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8  เปิดเผยว่า มจธ.ใช้เวลาเตรียมความพร้อมมานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องผ่านการเข้าค่ายของศูนย์ สอวน.ในแต่ละภูมิภาค ก่อนจะเข้าสู่เวทีการการแข่งขันระดับประเทศ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้มีจำนวน 101 คน ซึ่งมาจาก 14 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยแต่ละศูนย์จะมีอาจารย์ผู้ควบคุมทีมซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูจากโรงเรียนต่างๆ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้แทนศูนย์ 2 คน และครูผู้สังเกตการณ์ 1 คน ซึ่งความยากง่ายของข้อสอบนั้น ก่อนสอบ 1  วันอาจารย์ผู้ควบคุมทีมของแต่ละศูนย์จะมีโอกาสอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับข้อสอบทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติในแต่ละข้อ เพื่อปรับแก้ไขให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้เข้าแข่งขัน

               “การออกข้อสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาจากคณะกรรมการกลางคือมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนสอบครูผู้ควบคุมทีมและคณะกรรมการจะมีการ Defense ถึงความเหมาะสมของข้อสอบ ไม่ให้ยากหรือง่ายเกินไป ซึ่งในส่วนนี้ไม่ต้องกังวลว่าอาจารย์แต่ละศูนย์จะนำข้อสอบไปบอกนักเรียน เพราะหลังจากอาจารย์เห็นข้อสอบแล้ว จะมีการแยกไม่ให้อาจารย์และนักเรียนเจอกันหรือส่งสัญญาณใดๆ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการสอบ ส่วนวันสอบทฤษฎีและปฏิบัติในระยะเวลา 5 ชั่วโมง นักเรียนก็จะไปไหนไม่ได้ เช่นกัน

            นอกจากเข้าห้องน้ำเราจะมีอาหารน้ำดื่มบริการให้ นักเรียนสามารถทำข้อสอบไปด้วยและรับประทานอาหารในห้องสอบได้ด้วย ส่วนกระดาษคำตอบของนักเรียนจะถูกก๊อบปี้ไว้ 2 ชุด ตัวจริงจะเก็บไว้ในตู้เซฟ ส่วนชุดที่ก๊อบปี้จะแจกคณะกรรมการกลางเพื่อตรวจข้อสอบ และอีกหนึ่งชุดจะให้ผู้ควบคุมทีม ซึ่งในกระบวนการตรวจข้อสอบในส่วนนี้จะมีการ Defense อีกครั้งระหว่างคณะกรรมการกับผู้คุมทีม เมื่อได้คะแนนมาแล้วคณะกรรมการจะนำคะแนนมาแปลงเป็นเกรด โดยอาจารย์ผู้ควบคุมทีมจะไม่สามารถรู้เลยว่าลูกศิษย์ของตนจะได้คะแนนเท่าไร ต้องไปลุ้นกับนักเรียนในวันประกาศผลว่านักเรียนของตนจะได้คะแนนเท่าไร”


               ด้านรศ.พรรณี  รัตนชัยสิทธิ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ยอมรับว่า ในด้านวิชาการเด็กไทยมีจุดอ่อนโดยเฉพาะข้อสอบในภาคปฏิบัติ แต่ข้อสอบที่เป็นภาคทฤษฎีเด็กจะสามารถทำคะแนนได้ดี ซึ่งในจุดนี้ตนเห็นว่าครูผู้สอนต้องกวดขันแก้ไขข้อด้อยดังกล่าวให้ได้ จะทำให้เด็กได้เปรียบผู้แข่งขันมากขึ้น
             “สิ่งที่เป็นจุดแข็งของนักเรียนไทยคือสามารถดูดซับความรู้ในระยะสั้นๆ ได้ดี ถือเป็นข้อดีในตอนที่มีการเข้าค่ายเก็บตัวเตรียมความพร้อมก่อนจะไปแข่งในระดับโลก ซึ่งครูผู้สอนต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนการสอน ขณะที่ในส่วนของข้อสอบที่อดีตอาจจะเป็นภาษาไทย แต่เนื่องจากการที่เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริว่าควรเป็นภาษาอังกฤษในบางวิชา เช่น ชีวเคมี อินทรีย์เคมี ที่ควรเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่นยังเป็นภาษาไทยคณะกรรมการจะค่อยๆ ปรับ ซึ่งในปีต่อไปจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพื่อรองรับกับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น”


               อนึ่งการแข่งขันในครั้งนี้จะมีการสอบภาคทฤษฎีในวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2555 ซึ่งใช้เวลาในการสอบแข่งขัน 5 ชั่วโมง และวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2555 จะสอบภาคปฏิบัติ ใช้เวลาในการสอบแข่งขัน 5 ชั่วโมงเช่นกัน และมีการประกาศผลในวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2555  ซึ่งผู้ที่ทำคะแนนได้ 50 ลำดับแรก จะถูกส่งเข้าค่ายอบรมของ สสวท. เพื่อเตรียมคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ.
« Last Edit: April 26, 2012, 03:00:14 PM by happy »