happy on April 19, 2012, 01:48:37 PM
มจธ.แนะเสริมกำลังรวมให้อาคาร
ป้องกันการพังถล่มของตึกในกทม.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เผยนวัตกรรมการเสริมกำลังรวมให้อาคาร แข็งแกร่ง สลายกำลังแรงสะเทือนใต้พื้นด้วยคํ้ายันเหล็กต้านแผ่นดินไหว เตือนเตรียมพร้อมอย่างมีสติหากอาคารสูงไม่มีลักษณะบกพร่องในตัวจริง กทม.ไม่ราบเป็นหน้ากองแน่นอน
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 แม้จุดศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียห่างจากชายฝั่งอันดามันของไทยราว 860 กิโลเมตร แต่ผู้อยู่อาศัยในอาคารสูงของกรุงเทพฯ กลับรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น หลายคนเริ่มตั้งคำถามจากกระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมาเตือนให้ระวังอาคารสูงในพื้นที่เสี่ยงภัย หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยในอนาคตข้างหน้า ผศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ผู้อำนวยการ โครงการเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแรงลมและแผ่นดินไหว ของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) หนึ่งในคณะทำงานโครงการพัฒนาและปรับปรุงจัดทำประมวลข้อบังคับอาคาร สำหรับประเทศไทย ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น เพื่อจัดทำมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2552 เพื่อให้สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมีความปลอดภัยเปิดเผยว่า พื้นที่กรุงเทพฯ พื้นที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ซึ่งวางตัวตามแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจุดที่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุดห่างจาก กทม. ประมาณ 150 ถึง 200 กิโลเมตร แต่พื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นแอ่ง มีพื้นดินอ่อนด้านล่างเป็นเลนลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้สามารถขยายความรุนแรงของการสั่นสะเทือนได้คล้ายกับกรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเคยเกิดความเสียหายรุนแรงจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางห่างออกไปมากกว่า 300 กิโลเมตรเมื่อปี ค.ศ.1985
“หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น จนเป็นเหตุให้เกิดสึนามิ ใกล้ประเทศไทยเองก็เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบริเวณชายแดนไทยกับพม่าประมาณ 7 ริกเตอร์ ซึ่งครั้งนั้นห่างจากกรุงเทพฯราว 780 กิโลเมตร แต่อาคารบริเวณสีลมและหลายแห่งในกรุงเทพฯ กลับสั่นจนหลายคนตกใจ สิ่งที่น่าสนใจคือในครั้งนั้นคือ ในจังหวัดต่างๆ ที่มีระยะห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวพอๆ กับกรุงเทพฯ ค่าความเร่งที่ตรวจวัดได้ในกรุงเทพฯกลับมีมากกว่าที่อื่นหลายเท่าตัว ที่มีสาเหตุเช่นนี้เพราะพื้นที่กรุงเทพฯมีพื้นดินที่อ่อนสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนให้มากขึ้นได้ลักษณะเช่นนี้จะมีอาคารบางกลุ่มได้รับผลกระทบมาก” ผศ.ดร.สุทัศน์ ขยายความว่า โดยปกติแล้วทุกๆ โครงสร้างจะมีการสั่นที่ความถี่ค่าๆ หนึ่งตามธรรมชาติ หรือในทางวิศวกรรมเรียกว่า “คาบการสั่นพื้นฐาน” เช่นเดียวกับอาคารแต่ละหลังจะมีค่าคาบเวลาการสั่นที่ไม่เท่ากัน ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว เมื่อแรงสั่นสะเทือนเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และถูกขยายแรงขึ้นจากดินที่ค่อนข้างอ่อนตัวมากใต้พื้น ซึ่งหากแรงสะเทือนนั้นกระเพื่อมไป โดยมีความถี่ในการสั่นพ้องเข้ากับค่าการสั่นของอาคารใดอาคารนั้นก็จะได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งจากข้อมูลพื้นดินของกรุงเทพพบว่าอาคารที่สูงขนาด 8-16 ชั้นน่าจะได้รับผลกระทบรุนแรง ในขณะที่อาคารที่สูงกว่านี้ขึ้นไปจะได้รับผลกระทบเบาลง และจะไปเกิดการสั่นพ้องอีกครั้งในอาคารที่มีความสูง 30-40 ชั้น ซึ่งก็จะได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ผศ.ดร.สุทัศน์ อธิบายว่า ค่าความถี่ในการสั่นหรือคาบการสั่นของตึกจะขึ้นกับความสูงและขนาดของอาคาร ซึ่งในทางวิศวกรรมสามารถคำนวณหาค่าเวลาการสั่นของอาคารได้ จากการศึกษาอาคารรูปแบบต่างๆ ในทางสถิติพบว่าอาคารที่สูงอยู่ในช่วงดังกล่าวทั้งสองช่วง มักจะมีการความถี่ในการสั่นที่จะตรงกับการสั่นสะเทือนที่จะเกิดในกรุงเทพฯ ทั้งนี้จากข้อวิตกกังวลดังกล่าวทางด้าน วสท. รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เองไม่ได้นิ่งนอนใจที่ผ่านมามีการศึกษาค้นคว้า และมีทีมวิจัยที่ร่วมมือกันหลายองค์กรเพื่อศึกษาความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมจากหลายประเทศทั่วโลก นำมาต่อยอดปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยพบว่ามีแนวทางในการลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับอาคารสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว นั่นคือ “การเสริมกำลังโดยรวมให้กับอาคาร” “เนื่องจากแผ่นดินไหวมีความเสี่ยงในระดับที่ไม่อาจมองข้ามได้ ดังนั้นอาคารต่างๆ ควรที่จะต้องมีการออกแบบรับแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของพื้นที่ ซึ่งกฎหมายบอกว่าวิศวกรต้องออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหวตามมาตรฐานที่รับรองโดยหน่วยงานรัฐ หลังจากปี 2552 ที่มีมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมืองว่าด้วยเรื่องการออกแบบอาคารให้สามารถรับแผ่นดินไหว อาคารต่างๆ มีการสร้างโดยคำนึงถึงข้อนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งการออกแบบและการก่อสร้างที่ถูกต้อง การคุมงานและวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีอาคารจำนวนมากที่สร้างก่อนหน้านี้โดยไม่ได้ออกแบบให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว มจธ.จึงคิดศึกษาวิจัยเรื่องการเสริมกำลังของอาคารให้ สามารถสลายแรงสั่นสะเทือนได้”
« Last Edit: April 19, 2012, 02:31:03 PM by happy »
Logged