pooklook on April 09, 2012, 06:06:47 PM
ปิดตำนาน สตาร์บัคส์-ถนนข้าวสาร ความทรงจำคลาสสิค-พร้อมเรื่องเล่าเร้นลับ



หนึ่งในสาขาที่คอกาแฟ "สตาร์บัคส์" รู้จักและพูดถึงความสวยงามของสถานที่ตั้งมากที่สุด ต้องมีสตาร์บัคส์ "ถนนข้าวสาร" อยู่ในอันดับต้นๆ ด้วยความสวยงามของตัวอาคาร "บ้านไกรจิตติ" ทั้งภายนอกที่เป็นบ้านหลังเก่าประกอบด้วยสถาปัตยกรรมของไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก อายุไม่ต่ำกว่าร้อยปีและภายใน ประกอบด้วยภาพวาดบนฝาผนังทั้งห้องวิคตอเรียนหรือห้องยุโรปและห้องเมมฟิสหรือห้องอียิปต์ ทำให้ลูกค้าหลายคนอดใจไม่ไหวที่จะต้องนำกล้องมาถ่ายรูปมากดชัตเตอร์เป็นที่ระลึก
ความสวยงามที่ถูกบอกเล่าปากต่อปากทำให้ใครหลายคนต้องเดินทางไกล แม้จะมีสตาร์บัคส์สาขาใกล้บ้าน แต่ยอมจ่ายเวลาเดินทาง เพื่อแวะมาพิสูจน์ความสวยงามว่าสมคำร่ำลือหรือไม่ และหลายคนได้คำตอบให้ตัวเองว่า ไม่ผิดหวัง อีกทั้งยังได้สัมผัสถึงความสดใสเป็นกันเองของพนักงานสาขาสร้างความประทับใจไปอีกหลายแรงบวก

"ปราโมชย์ แก้วตา" ผู้จัดการร้านสตาร์บัคส์ สาขาถนนข้าวสาร เล่าว่า สาขานี้เป็นสาขาที่ 44 เปิดมาตั้งแต่  1 พฤษภาคม 2547 กำลังจะครบ 8 ปี ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดสาขานี้ ในวันที่ 19 มีนาคม 2555 เป็นวันที่ให้บริการวันสุดท้ายถึงเวลา 19.00 น. เนื่องจากหมดสัญญากับผู้ให้เช่าคือบริษัทผู้ดูแลทรัพย์สินของ "บ้านไกรจิตติ"
หลังจากนั้น พนักงานที่ประจำสาขานี้แต่ละคน จะกระจายไปตามสาขาต่างๆ ในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน สตาร์บัคส์มีประมาณกว่า 140 สาขาทั่วประเทศไทยและกำลังทยอยเปิดต่อเนื่อง
"ผู้จัดการร้าน" บอกว่า กลุ่มลูกค้าของสาขาถนนข้าวสารเป็นคนไทย 10% ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติถึง 90%  สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะชื่อเสียงของถนนข้าวสาร ประกอบกับมีการแนะนำสาขานี้อยู่ในไกด์บุ๊คด้วย ชาวต่างชาติจึงแวะเวียนเข้ามาดื่มและนั่งพักผ่อนหย่อนใจ หลายคนบอกว่าที่นี่เป็นสตาร์บัคส์ สาขาสวยที่สุดในโลก



นอกจากนั้น ยังมีลูกค้าที่เดินทางมา เพราะได้รับฟังชื่อเสียง รู้จักกันปากต่อปาก เวลาเพื่อนมาเที่ยวก็จะแนะนำให้มาที่นี่ แม้ว่าตัวที่ตั้งของสาขานี้จะหายาก  เพราะทางเข้าด้านหน้าถูกแบ่งเป็นร้านสปาและจิวเวลรี่ ทำให้ช่องทางเดินเข้ามาและการมองเห็นตัวบ้านซึ่งเป็นที่ตั้งสาขานี้แคบลง แต่ลูกค้าสามารถโทรศัพท์สอบถามและแวะเวียนเข้ามาลิ้มรสเครื่องดื่มและชมความงามของสถานที่ได้



สำหรับโครงสร้างภายในบ้าน ชั้นล่างมี 4 ห้องประกอบด้วย ห้องไทย ห้องยุโรป ห้องอียิปต์ ห้องจีน สตาร์บัคส์ ทำสัญญาเช่า 3 ห้อง ประกอบด้วย ห้องไทย ห้องยุโรป และห้องอียิปต์ สำหรับห้องจีนและชั้น 2 เดิมเคยเป็นอาร์ตแกลเลอรี่ แต่ปัจจุบันแกลเลอรี่ดังกล่าวย้ายไปที่สุขุมวิทแล้ว



"ปราโมชย์" เล่าว่า เวลาลูกค้าเข้ามา พนักงานของร้านจะแนะนำลูกค้าให้ชื่นชมผลงานศิลปะในแต่ละห้อง อาทิ เคาท์เตอร์ขายเครื่องดื่มซึ่งอยู่ภายในห้องไทย มีความสวยงามของขื่อคานบนเพดาน ประกอบจากไม้สักทองสลัก อายุกว่าร้อยปี ถัดเข้าไปเป็น ห้องวิคตอเรียน (ห้องยุโรป) มีความงดงามของลายปูนปั้นบนขอบประตูหน้าต่าง



ที่สำคัญคือ ภาพวาดลายเถาดอกไม้บนเพดานห้อง เป็นผลงานของคุณหญิงเชย ไกรจิตติ เจ้าของบ้านในอดีต ซึ่งได้รับมอบบ้านหลังนี้จากคุณพ่อ-เจ้าพระยาอาทรธุรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร ณ อยุธยา ) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้มอบหมายให้ช่างอิตาเลียนชุดเดียวกับที่มาออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและบ้านเจ้านายอีกหลายคน สร้างขึ้นเพื่อยกให้เป็นเรือนหอคุณหญิงเชย เมื่อครั้งสมรสกับพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ ห้องถัดไปเป็น ห้องเมมฟิส (ห้องอียิปต์) ลักษณะแปดเหลี่ยม มีภาพวาดฝาผนังเป็นผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี



สตาร์บัคส์สาขานี้ มีคนนิยมมาถ่ายภาพแต่งงาน ส่วนด้านในอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ไม่อนุญาตให้ตั้งขากล้องหรือวีดีโอเพราะจะรบกวนลูกค้าคนอื่น เสน่ห์อีกอย่างที่สร้างความมีชีวิตชีวาและดึงดูดลูกค้าที่นี่คือ "แมว" ที่มาอาศัยในใต้ชายคาบริเวณด้านนอก "บ้านไกรจิตติ" พนักงานร้านก็ช่วยกันเลี้ยงแมว ทำให้ลูกค้า มาเล่นกับแมว เอาอาหารมาให้แมว บางคนรับแมวไปเลี้ยง  เริ่มจากตอนแรกๆ มีแมวไม่กี่ตัว เพิ่มขึ้น แต่รับไปเลี้ยงทำให้จำนวนแมวลดลงไปด้วย



นอกจากนั้น ยังให้บริการทักทายลูกค้าด้วยภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น  รัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ พนักงานค่อนข้างรักสาขานี้ เพราะบรรยากาศ ที่นี่จะอยู่กันเป็นเหมือนบ้าน แม้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้เข้ากะทำงาน ก็จะมารวมตัวกันที่นี่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยว เป็นสาขาที่เหมาะกับการพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขานี้จัดว่าอยู่ในมุมสงบท่ามกลางความพลุกพล่านของถนนข้าวสาร


ลูกค้าประจำของสาขานี้ อาทิเช่น ม.ล.จิราธร จิรประวัติ เป็นลูกค้าใจดีน่ารักมาอุดหนุนกับเพื่อนๆ บ่อย ๆ, พจนา จันทรสันติ นักเขียนมาอุดหนุนพร้อมซื้อขนมมาฝากพนักงานและเอาพระมาให้ นอกจากนั้นยังมี นักร้อง "พี สะเดิด" แวะเข้ามาทุกครั้งที่มาเที่ยวถนนข้าวสาร รวมถึงนักร้องดังชาวเกาหลีอย่าง "4 minute" หรือ "2 AM" ก็เคยมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้าน



สำหรับปฏิกิริยาของลูกค้าที่ทราบว่า สตาร์บัคส์สาขาถนนข้าวสาร จะปิดลง โดยขายวันที่ 19 มีนาคม เป็นวันสุดท้ายเพราะหมดสัญญาเช่าสถานที่ ลูกค้าส่วนใหญ่จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเสียดาย ลูกค้าบางคนเข้ามากอดแล้วบอกว่าจะไปแล้วหรือ และลูกค้าถามว่าจะไปอยู่ไหนกันแล้วจะเจออีกไหม


สำหรับลูกค้าประจำที่เข้ามาใช้บริการทุกวันมีหลากหลายอาชีพ บางคนเป็นคนที่ค้าขายในถนนข้าวสาร หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยในย่านนี้ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้าราชการตำรวจ หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่อยู่ไกลๆ ถึงรามอินทรา มาที่นี่ เพราะชอบบรรยากาศ พนักงานพูดคุยสารทุกข์สุกดิบกับลูกค้ารู้จักคุ้นเคยกัน บางทีลูกค้าชวนไปกินข้าวเหมือนเป็นเพื่อนๆ  บางคนใกล้สาขาอื่น แต่มาที่นี่ มาดูว่าสาขานี้สวยจริงหรือเปล่า

"พนักงานที่นี่ รู้สึกผูกพัน  แต่ถึงจะแยกไป ก็ยังอยู่ในบริษัทเดียวกัน ถ้ามีโอกาส ก็ได้ร่วมงานกัน" ผู้จัดการร้านกล่าวทิ้งท้าย
ในความเก่าแก่ของสถานที่ ย่อมมีเรื่องเล่าตามมาเป็นของคู่กัน สำหรับ สตาร์บัคส์ สาขาถนนข้าวสารแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน บางคนเล่าว่า เคยมีคนที่เคยแวะเวียนเข้ามาแล้วเคลิ้มฝันเห็นผู้ชายมีหนวดสวมชุดราชปะแตน มาบอกว่าไม่ชอบคนกินเหล้า ชอบแต่กินชา หลังจากนั้นผู้แวะเวียนคนดังกล่าวถูกหวย 5 พันบาท



นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเล่าว่า วันโกน โดยเฉพาะวันพระใหญ่ มักได้ยินเสียงดนตรีไทยดังแว่วๆ ท่ามกลางบรรยากาศขลังของ "บ้านหลังเก่า" ทั้งที่พนักงานในร้านเลือกเปิดเพียงแต่ดนตรีแจ๊สและคลาสสิค โดยไม่มีดนตรีไทยอย่างแน่นอน



บางคนยืนอยู่ด้านนอกร้านตอนกลางคืน แต่มองเข้ามาในร้าน เห็นคนสวมชุดขาวยืนอยู่ในห้องอียิปต์ ทั้งที่พนักงานปิดร้านและล็อคกุญแจไปแล้ว



นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเล่าจากลูกค้าตั้งแต่ยุคที่เปิดสาขานี้ช่วงแรกๆ เล่าว่า ระหว่างยืนรอเครื่องดื่มที่เคาท์เตอร์ในห้องไทย ก็หันไปมองเห็นคนสวมชุดขาว ยืนอยู่ภายในห้องจีน ด้านหลังประตูกระจกซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างห้องจีนและห้องไทย เมื่อหันไปอีกครั้งไม่เห็นแล้ว จึงหันมาถามพนักงานว่า "น้องทำงานอยู่ที่นี่เคยเห็นอะไรไหม..." เป็นคำถามปริศนาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน ลูกค้าคนเดียวกัน จึงกลับมาเฉลยปริศนาความสงสัย ที่ทิ้งไว้กับพนักงานได้ฟังในภายหลัง



เรื่องเล่าหลากหลายกลายเป็น "ตำนาน" พร้อมการปิดตัวลง ทิ้งความทรงจำอันประทับใจให้แก่ลูกค้าผู้เคยมาแวะเวียน


dangjung on April 17, 2012, 11:07:01 AM
ตำนานอีก บทหนึ่ง