จุฬาฯทุ่ม3พันล้านฟื้นสยามสแควร์ ผุดโรงละครไฮเทค-ศูนย์ออกกำลังกาย-หอพักนานาชาติ
รศ.น.อ.นายแพทย์เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี กำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แผนพัฒนาที่ดินในปีนี้จะมีโครงการที่จุฬาฯเป็นผู้ลงทุนเอง 2 โครงการ คือ 1) โครงการมอลล์ "สยามสแควร์วัน" บนที่ดินโรงภาพยนตร์สยามเดิมที่ถูกไฟไหม้ และ 2) โครงการหอพักนานาชาติฝั่งถนนบรรทัดทอง ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท
ผุดโอเพ่นมอลล์ "สยามสแควร์วัน"
โดยพื้นที่โรงหนังสยามเดิม และอาคารพาณิชย์โดยรอบกว่า 100 คูหา ภายในโครงการสยามสแควร์ที่ได้ถูกไฟไหม้เสียหายจากเหตุจลาจลเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 ที่ผ่านมา สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯในฐานะผู้ถือ กรรมสิทธิ์ที่ดินได้รื้อถอนตัวอาคารที่ เสียหายแล้วเสร็จ ล่าสุดเตรียมเริ่มลง มือก่อสร้างอาคารพื้นที่ให้เช่าหลังใหม่ ในรูปแบบโอเพ่นมอลล์ ใช้ชื่อโครงการ "สยามสแควร์วัน" (SQ1) มาจากคำว่า "สยามสแควร์" และ "วัน" สื่อความหมายถึงการกลับมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่อีกครั้ง
โครงการตั้งอยู่บนที่ดิน 8 ไร่ ออกแบบเป็นโอเพ่นมอลล์หรือมอลล์เปิดโล่ง แต่จะมีพื้นที่บางส่วนเป็นมอลล์ในร่มแบบติดแอร์บ้าง ตัวโครงการเป็นอาคาร 6 ชั้น บวกชั้นดาดฟ้า รวมเป็น 6 ชั้นครึ่ง และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ดีไซน์เป็น 4 อาคารสไตล์โมเดิร์นที่สามารถเดินทะลุเชื่อมถึงกันได้หมด มีพื้นที่ก่อสร้างรวมประมาณ 70,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ขายกว่า 30,000 ตารางเมตร
แต่ละชั้นแบ่งการจัดพื้นที่เป็น 1) ชั้นใต้ดิน (ชั้น B2) เป็นพื้นที่จอดรถ 2) ชั้นใต้ดิน (ชั้น B1) และชั้น G (ground floor) เป็นพื้นที่ร้านค้าย่อยในร่มประมาณ 700-800 ร้านค้า เริ่มต้นบูท ละ 4-10 ตร.ม. โดยจะเปิดให้ผู้เช่าเดิม ที่ร้านค้าถูกไฟไหม้เสียหายได้สิทธิ์จองพื้นที่ก่อน
จากนั้นจึงให้สิทธิ์ผู้เช่ารายใหม่และผู้เช่าช่วงแต่เดิมเข้ามาจองพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายคือธุรกิจเอสเอ็มอี สินค้า แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็น สินค้าที่ถูกกฎหมาย เช่น ไม่ใช่สินค้าก๊อบปี้
3) ชั้น 2-3 เป็นพื้นที่ร้านค้า อาจเป็นร้านค้าแบรนด์เนมจากในและต่างประเทศ 4) ชั้น 4-5 เป็นโซนฟู้ดพลาซ่า 5) ชั้น 6 และชั้นดาดฟ้า เป็นโซนเอ็กเซอร์ไซส์และเอดูเคชั่น อาทิ ศูนย์แอโรบิก ฟิตเนส โรงเรียนดนตรี โรงเรียนศิลปะ ฯลฯ
นอกจากนี้จะมีโรงละครขนาด 400 ที่นั่ง สำหรับแสดงละครสลับกับการให้เช่าพื้นที่จัดอีเวนต์ ส่วนโรงภาพยนตร์ ได้ข้อสรุปจะไม่มี เนื่องจากพื้นที่ไม่ เพียงพอ อย่างไรก็ตามยังเปิดโอกาสให้โรงหนังสยามเจรจาพัฒนาโรงภาพยนตร์ในโครงการอื่น ๆ ในพื้นที่สยามสแควร์ในอนาคต
ตามแผนทั้งโครงการจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยจุฬาฯจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งมาจากรายได้และเงินทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ คาดว่าจะก่อสร้างภายในปี 2556
ขึ้นหอพักนานาชาติ 1.4 พัน ล.
อ.เพิ่มยศกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการก่อสร้างหอพักนักศึกษานานาชาติ เพื่อรองรับนโยบายมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัยอินเตอร์มากขึ้น จะก่อสร้างหอพักบนที่ดินบล็อกที่ 41 ฝั่งถนนบรรทัดทอง เดิมเป็นตึกแถวที่หมดสัญญา ใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์วันที่ 26 มีนาคม 2554 และเริ่มการก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2556
รูปแบบเป็นอาคารสูงกว่า 20 ชั้น 2 อาคาร รวม 1,424 ยูนิต ประกอบด้วย 1) ทาวเวอร์ A เป็นอาคารเรสซิเดนต์หอพักสำหรับบุคลากรจุฬาฯ และผู้พักอาศัยอื่น ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณา มีห้องพัก 2 แบบ คือ แบบสแตนดาร์ด พื้นที่ใช้สอย 25 ตร.ม. และแบบคอนเน็กเต็ดหรือห้องแบบสแตนดาร์ด 2 ห้องเชื่อมต่อกัน พื้นที่ใช้สอย 50 ตร.ม. รวม 846 ยูนิต
และ 2) ทาวเวอร์ B เป็นอาคารหอพัก เบื้องต้นจะรองรับนักศึกษาต่างชาติเป็นหลัก แต่หากมีห้องพักเหลือ จะเปิดให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ประกอบด้วยห้องพัก 3 แบบ คือแบบสแตนดาร์ด 28 ตร.ม., แบบ 1 ห้องนอน 35 ตร.ม. และแบบ 2 ห้องนอน 55 ตร.ม. รวม 846 ยูนิต ส่วนอัตราค่าเช่ายังไม่ได้ข้อสรุป แต่ เบื้องต้นจะต่ำกว่าราคาตลาดในทำเลเดียวกัน เท่าที่ทราบปัจจุบันค่าเช่า ห้องพักแบบสตูดิโอน่าจะอยู่ในระดับ 1 หมื่นบาทต่อเดือน
"เหตุผลที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯเลือกพัฒนาเป็นหอพัก เนื่องจากปัจจุบันจุฬาฯมีนักศึกษาเป็นจำนวน มาก และขาดแคลนหอพัก เนื่องจาก มีนักศึกษาปริญญาโท-เอกเป็นหมื่นคนต่อปี"