ด้านนายธีรพงศ์ ศรีณรงค์ กล่าวว่า กว่าจะได้เกมที่สมบูรณ์พวกเขาต้องเพียรพยายามนำเกมแต่ละเกมเข้าไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทั้งอาจารย์สิทธิชัย ครูอารีย์ และครูอื่นๆ ในโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ รวมถึงให้น้องๆ ที่โรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ทดลองเล่นก่อน แล้วนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง
“เราต้องหาเวลาที่น้องๆเขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือช่วงเช้าประมาณ 8 โมงถึง 9 โมงเช้า แรกๆ เราจะมาสร้างความคุ้นเคยกับน้องๆ ก่อน เอาตุ๊กตามาเล่น พูดคุยกันเพื่อสร้างความคุ้นเคย แล้วจึงให้น้องๆ ทดลองเล่นพร้อมกับปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเราไปบ่อยๆ จนได้ข้อควรคำนึงในการออกแบบเกมเพื่อเด็กออทิสติกมากมาย ทั้งเรื่องระยะเวลาของเกมที่ต้องมีความเหมาะสม ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป เรื่องคำสั่งจะต้องสั้นกระชับ เพราะถ้าใช้เวลาในการเล่นมากไป ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพสายตาของเด็ก หรืออาจทำให้เด็กติดเกมได้ หรือเรื่องการจับเวลาต้องไม่เร็วหรือช้าเกินไป ต้องไม่มีเงื่อนไขยากหรือมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กๆ เครียด รวมถึงรายละเอียดเรื่องเสียงพากย์ที่ต้องมีความเหมาะสม ตรงนี้เราต้องปรับเสียงให้เป็นเหมือนเสียงการ์ตูน คนพากษ์ก็หายากมาก โชคดีที่ได้เพื่อนของส้มมาช่วยพากย์ให้”
ครูอารีย์ คำคณา ครูผู้สอนโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์กล่าวถึงพัฒนาการของเด็กออทิสติกที่เคยผ่านการเล่นเกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ว่าเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่มักไม่สนใจการฟังเสียง ไม่ชอบภาพ แต่หลังจากที่ได้เล่นเกมก็เริ่มสนใจเสียงและสนใจภาพมากขึ้น สามารถทำแบบฝึกที่ครูมอบหมายได้ดี สนใจสิ่งที่ครูสอนได้นานขึ้น
“เด็กเขาอยากเรียนรู้มากขึ้น เด็กๆ จะตื่นเต้นและชอบเล่นมาก ที่จริงแล้ววิชาคอมพิวเตอร์เขาได้เรียนอยู่แล้ว แต่พอมีเกมนี้เข้ามา เขาก็จะรู้สึกตื่นตัวและมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น พอเห็นพี่ๆ นักศึกษาเข้ามาจะวิ่งเข้าไปหาเลย” ครูอารีย์ยืนยัน พร้อมกับเล่าถึงกรณีของน้องออโต้ เด็กออทิสติกวัย 3 ขวบที่ทดลองเล่นเกมเสริมสร้างพัฒนาการการเรียนรู้มาโดยตลอดว่า“น้องออโต้เรียนที่นี่ได้ประมาณปีครึ่งแล้ว เริ่มแรกน้องเขา ไม่พูดเลย แต่ตอนนี้เริ่มพูดแล้ว ตอนเล่นเกมครูสังเกตเห็นว่าเขาเริ่มจับคู่ เริ่มวาดภาพ และก็ระบายสี เลือกสีมาระบายเองในคอมพิวเตอร์และก็ปริ้นผลงานของตัวเองออกมาได้ อาการเขาก็จะดีขึ้นเพราะ เกมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเสริมการเรียนรู้อื่นๆ ที่ทางโรงเรียนมีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก”เป็นเสียงตอบรับจากผู้ใช้ตัวจริงเกี่ยวกับเกมที่นักศึกษาทีมนี้ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมา
ทั้งนี้หลังจากที่เกมฯนี้ได้รับผลตอบรับเป็นที่พอใจ นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลจันทยานนท์ กรรมการมูลนิธิคุณพุ่ม และนายกสมาคมออทิสติกแห่งประเทศไทยที่ติดตามการดำเนินงานของนักศึกษาทีมนี้มาโดยตลอด ระบุว่า เกมดังกล่าวน่าจะสามารถพัฒนาเด็กออทิสติกให้มีพัฒนาการเรียนรู้ให้ทัดเทียมเด็กปกติได้ โดยนายชูศักดิ์ต้องการให้นักศึกษา มจธ.ต่อยอดและพัฒนาเกมนี้ต่อ ในขณะที่ในส่วนของสมาคมออทิสติกแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ อีกทั้งจะช่วยกระจายเกมไปสู่ผู้ปกครองนำไปพัฒนาบุตรหลายที่เป็นออทิสติกทั่วประเทศ อีกทั้งนำเกมนี้ขึ้นไปไว้บนเว็บไซด์ของเครือข่ายทั้งหมด ที่สำคัญในการประชุมสัมมา เครือข่ายออทิสติกโลก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน 2555 นี้ เกมดังกล่าวยังได้รับโอกาสให้นำเสนอผลงานความสำเร็จต่อสมาคมโลกได้รับรู้อีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ เจริญกิจการ คณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การที่นักศึกษาในคณะทุ่มเทสร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมกระทั่งได้รับรางวัลมาในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการกระตุ้นนักศึกษาภายในคณะให้ตื่นตัวในการพัฒนาตัวเอง อีกทั้งยังเห็นโอกาสในการต่อยอดและพัฒนาการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับนักศึกษาและสังคม ล่าสุดจึงเตรียมแผนสร้างห้องวิจัย ให้อาจารย์และนักศึกษาที่มีความสนใจในด้าน ซอฟแวร์สำหรับผู้ด้อยโอกาส หรือ Usability ได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าและพัฒนา เพื่อเป็นการสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยคณะจะเป็นผู้สนับสนุนด้านสถานที่ อุปกรณ์ที่จำเป็นและคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ
อนึ่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ เป็น 1 ใน 8 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย และเปิดทำการสอนทั้งในหลักสูตรปกติ สองภาษาและนานาชาติ ในระดับปริญญาตรี และเอก มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย