sianbun on August 13, 2009, 08:22:53 AM
นิทรรศการและกิจกรรมผลงานโปสเตอร์ HUMOUR: Takashi Akiyama in Bangkok



   นิทรรศการภาพโปสเตอร์ระดับสากลภายใต้ชื่อ HUMOUR: Takashi Akiyama in Bangkok คือการคัดสรรผลงานการออกแบบโปสเตอร์กว่า 60 ชิ้นโดยศาสตราจารย์ทาคาชิ อาคิยาม่า นักออกแบบกราฟิกและภาพประกอบ สาขาการออกแบบกราฟิก มหาวิทยาลัยทามะ (Tama Art University) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินชั้นแนวหน้าด้านการเขียนภาพประกอบ (illustration) แห่งยุคนี้ของญี่ปุ่น มาจัดแสดงผลงานภายใต้หัวข้อ “อารมณ์ขัน” (Humour) พร้อมร่วมเป็นวิทยากรบรรยายชี้แนะแนวทางงานออกแบบกราฟิกและวาดภาพประกอบ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างวันที่ 11-23 สิงหาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.   
โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กับคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิญี่ปุ่น นิตยสาร Art4D นิตยสารสารคดี บริษัทแอนทาลิสประเทศไทย จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนและผู้ที่มีความสนใจได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พร้อมทั้งมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นกับศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานและวิทยากรในประเด็นต่างๆ ศาสตราจารย์ทาคาชิ อาคิยาม่า เกิดเมื่อปีค.ศ. 1952 ณ เมืองนางาโอกะ จังหวัดนิงาตะ ประเทศญี่ปุ่นศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยทามะ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ Tokyo National University of Fine Arts and Music ปัจจุบันเป็นอาจารย์ในตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาออกแบบกราฟิกอยู่ที่มหาวิทยาลัยทามะ 

   นับแต่เริ่มต้นทำงานเมื่อค.ศ.1979 ศาสตราจารย์ทาคาชิอาคิยาม่า สร้างสรรค์ผลงานด้านภาพประกอบออกมาอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนมากมาย จนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ได้มีการรวบรวมผลงานกว่า 500 ชิ้นนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์โปสเตอร์ ณ บ้านเกิดของเขา เพื่อให้ผู้ที่สนใจการออกแบบโปสเตอร์และภาพประกอบในแนวทางของศาสตราจารย์ทาคาชิได้ศึกษาผลงานของเขาอย่างรอบด้านและครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยชิ้นสำคัญหลายชิ้น อาทิ งานวิจัยว่าด้วยโปสเตอร์ที่ใช้ภาพประกอบของประเทศเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลีและญี่ปุ่น) ซึ่งได้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ในวงกว้าง 

ลักษณะเด่นในผลงานที่สร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่องของศาสตราจารย์ทาคาชิ อยู่ที่ความพยายามสร้างแนวทางการออกแบบและวาดภาพประกอบโดยเน้นการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication) เป็นหลัก ซึ่งภาพดังกล่าวนอกจากจะ “เรียบง่าย” แล้ว ยังมีท่าทีของการมองโลกแบบเด็กๆ อันส่งผลให้การสื่อสารสามารถข้ามพรมแดนความไม่เข้าใจเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอื่นๆ ไปได้ เรียกได้ว่าเป็นภาษาสากลที่เข้าใจได้จากทุกวัฒนธรรม โดยศาสตราจารย์ทาคาชิมักเรียกผลงานของตัวเองว่าเป็น “อีกภาษาหนึ่งของมนุษย์” ซึ่งเปรียบได้กับภาพลายเส้นง่ายๆ บนผนังถ้ำของมนุษย์ยุคโบราณที่นอกจากจะสร้างความฉงนและตรึงใจแล้ว ยังสามารถสื่อสารกับเราโดยไม่ต้องมีข้อความความใดๆ ประกอบอยู่ด้วย   
 
   อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในผลงานของศาสตราจารย์ทาคาชิก็คือ “อารมณ์ขัน” เขาเชื่อว่าอารมณ์ขันเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาความเครียดได้ดีที่สุด และอารมณ์ขันจากการมองภาพก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรจะพบเจอในชีวิตประจำวัน   
   
   ด้วยลักษณะอันโดดเด่นทั้ง 2 สิ่งที่กล่าวมานี้ทำให้ผลงานของศาสตราจารย์ทาคาชิสามารถสื่อสารกับผู้ชมทุกคนได้อย่างไม่มีกำแพงของวัฒนธรรม เชื้อชาติ และภาษา จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่นักศึกษาและผู้ที่สนใจจะใช้เป็นแนวทางในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองต่อไป 
 
   สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2552 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น. ขอเชิญทุกท่านร่วมฟังเสวนาศิลปะร่วมสมัยในหัวข้อ “วาด (ภาพประกอบ) จนเป็นเรื่อง” โดย วิศุทธิ์   พรนิมิตร เจ้าของผลงานการ์ตูน ซีรีส์ hesheit และการ์ตูนรวมเล่มเรื่อง everybodyeverything และต้องการ เจ้าของผลงานภาพวาดสีน้ำจากคอลัมน์ going places จากนิตยสาร a day และการ์ตูนรวมเล่มเรื่องความสุขของมะลิ พร้อมชมผลงานภาพประกอบหลากสไตล์จากเด็กไทยหัวสร้างสรรค์
« Last Edit: August 17, 2009, 10:43:06 AM by sianbun »