sianbun on August 08, 2009, 11:06:55 AM
ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย


    
    เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเกมไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทยขึ้น ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park โดยร่วมมือกับ Imagimax ในการค้นคว้าวิจัยและวางแผนการกำเนิดเกมไดโนเสาร์ ได้รับเกียรติจากดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ขึ้นกล่าวความเป็นมาของโครงการ  คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ อนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ขึ้นกล่าวในฐานะผู้สนับสนุนโครงการ และเข้าสู่การเปิดงานด้วยการกะเทาะเปลือกไข่ให้กำเนิดซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ ซึ่งเป็นตัวเอกของเกม โดย คุณราเมศ พรหมเย็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ในบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมไปด้วยไดโนเสาร์และพืชพันธุ์โบราณในสมัยโลกล้านปีที่ทั้งสนุกและอบอุ่น   

    “ตามนโยบายของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เรามีภารกิจที่สำคัญคือเรื่องของการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ ที่ไม่ได้เน้นอยู่เฉพาะแค่หนังสือ แต่จะเป็นสื่อนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งวันนี้เราขอเสนอเกมไดโน ไดโน่ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย ซึ่งเกมนี้นับเป็นเกมที่ห้าที่ทางสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ได้สร้างสรรค์ขึ้น ทุกครั้งที่จัดงานเด็กๆก็จะเรียกร้องอยู่ตลอดเวลาว่าทำไมไม่ทำเรื่องไดโนเสาร์บ้าง จากจุดนี้เราจึงดึงเรื่องไดโนเสาร์มาสร้างเป็นเกมขึ้นมาโดยได้รับความร่วมมืออย่างดีระหว่างองค์กรภาคีเครือข่าย เกมนี้เรากำหนดอายุไว้ประมาณ 7-12 ปี และหากว่าเขามีความสนใจในจุดนี้ เราก็อาจจะได้นักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็ได้” ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กล่าว

    นอกจากนี้ในงานยังมีการเสวนาเรื่อง ไดโน ไดโน่ เกมสร้างสรรค์ฝีมือคนไทย โอกาสก้าวไกลสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จาก มรว.นงคราญ ชมพูนุช ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) คุณเพิ่มบุญ เอี่ยมสุภาษิต ประธานนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา (ลุงหมูนักล่าไดโนเสาร์) คุณเกรียงไกร ศุภรสหัสรังสี ผู้แทนทีมสร้างเกมจากบริษัท Imagimax และคุณวัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้แทนคณะทำงานฯ จากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ โดยมีคุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

    “ตอนที่เริ่มโครงการ เราสำรวจค้นหาจนเรารู้ว่าประเทศไทยมีไดโนเสาร์และเราก็รู้ว่าไดโนเสาร์หน้าตาเป็นอย่างไร ถึงแม้จะยังเจอในสภาพที่ไม่สมบูรณ์  การที่จะออกมาเป็นเกม เราต้องทำให้มันมีชีวิต กำหนดรูปร่างหน้าตา ขนาด และบุคลิก รวมถึงลักษณะนิสัยด้วย เราใช้การประเมินโดยเทียบกับสัตว์ในปัจจุบัน ประเมินสภาพแวดล้อมและขนาดของลำตัว ซึ่งเหล่านี้มีความสำคัญในการเดิน การวิ่ง การป้องกันตัว การจู่โจมและการเอาชีวิตรอดของไดโนเสาร์ไทย” ดร.วราวุธกล่าว

    คุณเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดทำเกม Edutainment ครั้นจะทำให้เป็นตัวไดโนเสาร์ตัวจริงๆ เด็กก็จะไม่ชอบ เราจึงทำให้ตัวเล็กๆ ดูแฟนตาซี ให้มีความแตกต่างในเรื่องของขนาด สี รูปร่างพื้นฐาน เรียกว่าถอดรูปจากวิชาการกลายเป็นการ์ตูน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันเพื่อไม่ให้เด็กหลงเข้าใจผิดว่าไดโนเสาร์ตัวจริงหน้าตาแบบนี้ ดังนั้นในเกมนี้จะมีไดโนไดอารี่ เมื่อคลิกเข้าไปจะเห็นไดโนเสาร์ตัวเต็ม พร้อมทั้งข้อมูลจริงๆ ของไดโนเสาร์ไทย และสำหรับวิธีการเล่นเกมจะแบ่งตาม stage เช่นด่านแรก เรียนรู้จากพืชพันธุ์ ระหว่างที่ไดโนเสาร์เดินทางตามหาพ่อที่พลัดพรากไป เด็กๆจะไปเจอไอเท็มต่างๆ เขาจะได้รู้ว่ายุดไดโนเสาร์มีไม้ดอกบางประเภทที่ปัจจุบันยังมีอยู่ให้เห็น เช่น ใบแปะก๊วย ดอกแมกโนเลีย เป็นต้น”

    ในการเสวนา มรว.นงคราญ ชมพูนุช ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมของสถานการณ์งบประมาณการผลิตเกมในประเทศไทยว่า ในด้านมีเดียได้รับงบประมาณ 608 ล้านจากรัฐบาลให้มาส่งเสริมด้าน digital content และปีหน้าทางสำนักงานจะจัดการประกวด Asia Game Award ที่กรุงเทพฯ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จึงเชิญชวนให้ผู้ผลิตเกมส่งผลงานเข้าประกวดด้วย

คุณเพิ่มบุญกล่าวต่อว่า “เกมไดโนเสาร์ เป็นเกมที่เราสามารถนำความรู้ของคนไทยมาประยุกต์ เด็กจะรู้สึกว่าเป็นของใกล้ตัว เรียกว่าเอาความเป็นไทยมาปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ไปกับวัฒนธรรมที่เคลือบผ่านนวัตกรรม เพื่อให้เด็กเข้าถึงได้ง่าย เพราะเรากำลังพูดถึงสถานที่ของไทย เช่นอยู่ที่ภูเวียง อยู่ที่จังหวัดเลย เมื่อเด็กเขาเดินทางไปกับครอบครัว เขาจะจำได้และจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า” 

    ภายในงานยังมีพิธีมอบเกมและสื่อการเรียนรู้ให้แก่หน่วยงานต่างๆ โดยคุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ อนุกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และคุณจุลลดา มีจุล หัวหน้าฝ่ายวิชาการและพัฒนาเครือข่าย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติให้กับผู้แทนจากพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา จังหวัดกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน บ้านโกรกเดือนห้า จังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

    “นี่คือเกมเดียวในโลกที่เป็นเรื่องราวของไดโนเสาร์ไทยโดยฝีมือคนไทยที่ทั้งสนุกและมีสาระ มีการค้นคว้าผ่านทางไดอารี่ในตัวเกม ได้เล่นและเรียนไปพร้อมๆกัน คือ play and learn รวมกันเป็นเพลิน มีข้อมูลที่ถูกต้องที่ผ่านทางผู้เชี่ยวชาญทางด้านไดโนเสาร์ไทย และเกมไดโน ไดโน่นี้นับเป็นเกมแรกของ TK park ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ในต้นเดือนกันยายนผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ www.tkpark.or.th คุณวัฒนชัยกล่าวปิดท้าย

    ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย เกมสร้างสรรค์ที่กระตุ้นให้เด็กๆเกิดการเรียนรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์และโลกดึกดำบรรพ์ได้อย่างลึกซึ้งและสนุกสนาน เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับเด็กได้แล้ววันนี้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 เซ็นทรัล เวิลด์
« Last Edit: August 14, 2009, 03:33:05 PM by sianbun »

sianbun on August 10, 2009, 07:20:33 AM
เกมสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย

    หลังจากที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ทุ่มเทให้ความสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ด้วยกิจกรรมห้องสมุดมีชีวิต ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ กิจกรรมการแสดง รวมถึงการประกวดต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีพื้นที่ในการคิดเชิงสร้างสรรค์ ล่าสุด TK park ยังคงเดินหน้าสานฝันเด็กและเยาวชนไทยต่อด้วยกิจกรรมด้านสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและมัลติมีเดีย เพราะสื่อการเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง แม้กระทั่งเกมคอมพิวเตอร์ก็เข้ามีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนไทยอย่างเห็นได้ชัด

    ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้เด็กจากในห้องเรียน สำนักงานอุทยานการเรียนรู้จึงร่วมกับบริษัทอิเมจิแมกซ์ ผู้ผลิตงานทางด้านออกแบบกราฟิก งานมัลติมีเดีย และงานด้านแอนิเมชั่น จัดทำสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศในลักษณะเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ไปในเชิงวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์และโลกดึกดำบรรพ์ สอดแทรกด้วยความสนุกสนาน อันจะเป็นสื่อการเรียนรู้สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ในการกระตุ้นการอ่านการเรียนรู้ ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ให้ได้แก่เด็กและเยาวชนได้มีองค์ความรู้ในด้านขอบเขตของภูมิประเทศในยุคดึกดำบรรพ์(ยุคไดโนเสาร์)ที่เคยอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ได้มีการค้นพบซากไดโนเสาร์หลากหลายพันธุ์และได้มีการขนานนามชื่อเรียกของไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ขุดพบ เช่น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่, สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส, ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ, สยามโมซอรัส สุธีธรนี, อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี เป็นต้น

     และเพื่อเป็นการสนองตอบต่อแนวพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระอุปถัมภ์ในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวทางด้านธรณีวิทยาและโลกดึกดำบรรพ์ไทยสืบเนื่องมานั้น ประกอบกับความต้องการในส่งเสริมการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในเรื่องดังกล่าว สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park จึงได้คิดค้นเกมการเรียนรู้นี้ขึ้น โดยได้นำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไดโนเสาร์และโลกในยุคดึกดำบรรพ์มาเป็นแนวคิดในการจัดทำ เพื่อส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยผ่านเกมรูปแบบ 3 มิติ โดยในเกมผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นไดโนเสาร์ตัวเล็กที่พลัดพรากจากแม่ และต้องผจญภัยพบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ลึกลับ อันตราย ระหว่างการเดินทางผู้เล่นจะได้เรียนรู้จากภาพและการอ่านกับฉากพืชพันธุ์ยุคดึกดำบรรพ์ที่ลึกลับน่าค้นหา มีซากฟอสซิลที่สามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดการเดินทางด้วยวิธีการทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนไทยในยุค 2009

    ในการนี้สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังส่งมอบเกม ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทยให้กับองค์กรต่างๆ ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนการเรียนรู้ในเรื่องธรณีวิทยาและโลกดึกดำบรรพ์ อาทิ พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินบ้านโกรกเดือนห้า จังหวัดนครราชสีมา และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสในการเรียนรู้ธรรมชาติและโลกไดโนเสาร์จากเกมมัลติมีเดียฝีมือคนไทย
« Last Edit: August 11, 2009, 03:50:03 PM by sianbun »

sianbun on August 11, 2009, 03:50:14 PM
โครงการประชาสัมพันธ์เปิดตัวเกมสร้างสรรค์ : ไดโนเสาร์ไทย
“ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย”
วันที่ 7-9 สิงหาคม 2552  ณ ลานสานฝัน สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park at Central World ชั้น 8 (Dazzle Zone)


1.   ที่มา หลักการและเหตุผล
        สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ และการแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต
        อนึ่ง ตามที่ สอร. ได้มีการริเริ่มจัดทำเกมสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ขึ้น ในรูปแบบเกมลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นการต่อยอดและส่งเสริมการเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจัดทำโดย สอร. ตามความทราบแล้วนั้น
          “เกมสร้างสรรค์ : ไดโนเสาร์ไทย” จึงนับเป็นอีกหนึ่งสื่อนวัตกรรมการเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจัดทำโดย สอร. ในลักษณะเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเนื้อหาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ไปในเชิงวิทยาศาสตร์ ธรณีวิทยา และพฤกษศาสตร์ สอดแทรกด้วยความสนุกสนาน อันจะเป็นสื่อการเรียนรู้สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ในการกระตุ้นการอ่านการเรียนรู้ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สอร. ให้ได้แก่กลุ่มเป้าหมายได้เกิดการเรียนรู้ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น

2.   วัตถุประสงค์   
1.   เพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์นวัตกรรมการเรียนรู้ (เกมการเรียนรู้) ของ สอร.
2.   เพื่อการสื่อสารและส่งเสริมการอ่านให้เกิดวัฒนธรรมรักการอ่านในสังคมไทย
3.   เพื่อการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจ ให้แก่ สอร.
4.   เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์ให้แก่ สอร.


3.   กลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมและเยี่ยมชมงาน
1.   พ่อแม่ ผู้ปกครอง 
2.   สถานศึกษา ครู อาจารย์ นักการศึกษา
3.   องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน (พิพิธภัณฑ์) ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อารยธรรม  มนุษยชาติพันธุ์ (พืช และสัตว์)
4.   สื่อมวลชน
5.   ประชาชนทั่วไป

4.   เป้าหมายการจัดงาน
        จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ เพื่อการสื่อสารและสร้างทัศนคติการเรียนรู้ ว่าด้วยสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์  เกมไดโนเสาร์ อันเป็นนวัตกรรมของ สอร.  ต่อกลุ่มเป้าหมายและสาธารณชนทั่วไป

5.   กำหนดเวลาจัดงาน
1.   งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการประชาสัมพันธ์ “เปิดตัวเกมไดโนเสาร์”
วันศุกร์ ที่ 7 สิงหาคม 2552 เวลา 13.00 -16.00 น. สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบฯ 
อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8
2.   กิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารและสร้างทัศนคติการเรียนรู้
สื่อเกมอิเล็กทรอนิกส์  “เกมไดโนเสาร์” ระหว่างวันที่ 8 - 9 สิงหาคม 2552 ณ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบฯ อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8

6.   สถานที่จัดงาน
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบฯ อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8

7.   รายละเอียดและสาระของเกมสร้างสรรค์ : ไดโนเสาร์ไทย
•   ชื่อเกม : ไดโน ไดโน่ ผจญภัยโลกไดโนเสาร์ไทย
•   ประเภทของเกม : เกมออฟไลน์ 3 มิติ
•   แนวคิดและสาระของเกมฯ เขตภูมิประเทศในยุคดึกดำบรรพ์ (ยุคไดโนเสาร์) ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเขตพื้นที่แถบภาคอีสานของไทย ได้มีการค้นพบซากไดโนเสาร์หลากหลายพันธุ์และได้มีการขนานนามชื่อเรียกของไดโนเสาร์สายพันธุ์ต่างๆ ที่ขุดพบ เช่น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่, สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส, ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ, สยามโมซอรัส สุธีธรนี, อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี เป็นต้น
ดังนั้น สอร. จึงได้พัฒนาเกมการเรียนรู้คอมพิวเตอร์ขึ้น โดยได้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นประเด็นสำคัญและเป็นที่สนใจของเด็กและเยาวชนทั่วโลก ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวข้องกับไดโนเสาร์และโลกในยุคดึกดำบรรพ์มาเป็นแนวคิดในการจัดทำเกมดังกล่าวฯ ผสมผสานตามแนววิสัยทัศน์และพันธกิจของ สอร. ในการส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน ด้วยวิธีการสื่อสารการเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศ ในรูปแบบของเกมคอมพิวเตอร์ อันเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เด็กๆ รู้จักและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังเป็นการสร้างสื่อการเรียนรู้ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกอีกด้วย
อนึ่ง การสร้างเกมการเรียนรู้ดังกล่าวยังเป็นการสนองตอบต่อแนวพระราชกรณียกิจใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงมีพระอุปถัมภ์ในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวทางด้านธรณีวิทยาและโลกดึกดำบรรพ์ไทยสืบเนื่องมา  ดังนั้น ผู้เล่นเกมดังกล่าวนี้ จะได้รับความรู้เกี่ยวกับโลกดึกดำบรรพ์ ผ่านภาพเกมรูปแบบ 3 มิติ โดยในเกมผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นไดโนเสาร์ตัวเล็กที่พลัดพรากจากแม่ และต้องผจญภัยกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ลึกลับ อันตราย ระหว่างการเดินทางจะได้พบกับฉากพืชพันธุ์ยุคดึกดำบรรพ์ที่ลึกลับน่าค้นหา มีซากฟอสซิล พันธุ์พืช ที่สามารถค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดการเดินทาง

8.   ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.   เด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงและเกิดการเรียนรู้ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับโลกดึกดำบรรพ์ของไทยและไดโนเสาร์ไทยสายพันธุ์ต่างๆ 
2.   เพิ่มพูนช่องทางการเรียนรู้ว่าด้วยเครื่องมือส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศ (เกมการเรียนรู้) ของ สอร. เพื่อเป็นการต่อยอดวัฒนธรรมรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป
3.   เสริมสร้างภาพลักษณ์ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจให้แก่ สอร. ในฐานะหน่วยงานแห่งการส่งเสริมและสร้างนิสัยรักการอ่าน
4.   เสริมสร้างและเพิ่มพูนเครือข่ายการเรียนรู้เชิงเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์ ให้แก่ สอร. อันเป็นผลต่อยอดในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน ว่าด้วยเรื่องฐานเศรษฐกิจบนความคิดสร้างสรรค์