บทสัมภาษณ์: มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิวีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ”
อะไรคือแรงบันดาลใจในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้
หลังจากหนังรักแห่งสยามเสร็จก็คือได้ทำหนังสั้น ทำไปทั่วเรื่อยๆ กันไป แล้วตอนนี้เราอายุ 30 แล้ว ถ้าเป็นทั่วๆ ไปในชีวิตการทำงานเขาคงเรียกว่าเป็นแบบครึ่งชีวิตแล้ว มันเหมือนกับว่ามันมีเรื่องราวเยอะที่เราอยากจะเล่า โดยปกติเราจะชอบเขียนบันทึก เขียนอะไรแบบเรื่องของคนนั้นคนนี้ที่เราได้เจอมาในชีวิตเหมือนเป็นเรื่องสั้นเอาไว้ แต่พอดีเราไม่ใช่นักเขียน เราเป็นคนทำหนัง ซึ่งในแต่ละเรื่องมันคือบทบันทึกที่เราจดจำ เราพูดถึงผู้คน เหตุการณ์ สถานที่ที่เราจดจำได้ในชีวิตเราที่เราไม่ลืม หลายคนได้จากเราไป หลายคนยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ยังอยู่กับเราอยู่ตอนนี้ ดังนั้นมันจึงเป็นบทบันทึกที่เราทำเพื่อให้เขาได้รู่ว่าชีวิตเราผ่านอะไรมาและทำให้เรามีวันนี้ได้ก็เพราะว่าคนเหล่านี้
อย่างนั้นเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นเรื่องราวของส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของมะเดี่ยวเลยหรือเปล่า
ค่อนข้างจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริง หนังที่ทำมาทุกเรื่องก็มีแบบแรงบันดาลใจที่เราไปเจอมาในชีวิตจริง เพียงแต่ว่าตอนเป็นรักแห่งสยาม คล้ายกับว่ามันเป็น fiction มีความเป็นนิยาย มีความประโลมโลกอยู่เยอะ แต่อันนี้จะมีส่วนผสมของความที่เรียกว่ามันจริง realistic แล้วก็เป็นในส่วนของกวีไปเลย แต่ว่าไม่ใช่ว่าแบบจะดูแล้วไม่สนุก เอาความจริงก่อน realistic มันคืออะไร realistic คือพอเราโตขึ้นความเพ้อฝันความโรแมนติก ที่มันเคยอยู่ในชีวิตเรามันก็จะน้อยลง เราจะมองโลกในแง่ของความจริงมากขึ้น ในแง่ที่มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด สิ่งที่มันมากระทบชีวิตเรามันมีเหตุและผล และมันนำพาเราไปสู่สิ่งนั้นสิ่งนี้
ส่วนกวีที่ว่ามันคือความงาม มันไม่ได้แปลว่าดูไม่รู้เรื่องเหมือนเป็นหนังเมืองคานส์อะไรประเภทนั้น มันคือความงานในชีวิต ความงานของความโศกเศร้า ความสุข ความสิ้นหวัง ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความงามอยู่ในนั้น การพลัดพรากจากลาแม้มันจะดูเศร้าสร้อย แต่ว่าเราถ่ายทอดออกมาให้มันดูงดงาม อย่างในชีวิตเราตอนปี 2009-2010 คุณพ่อเสีย... แม่ก็ได้เขียนบทกลอน คือ เราจะเห็นหลายๆ คนที่เสียไป ในงานศพจะมีหนังสือกลอนที่รำพึงรำพันถึงคนที่จากไป แล้วเราก็อ่านกลอนบทนั้นเรารู้สึกว่าความพลัดพรากความเศร้าโศกมันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราทำสิ่งสวยงามได้เหมือนกัน นี้ก็คือสิ่งที่บอกว่ามันคือความงาม
ทำไมถึงเลือกเอาความทรงจำเหล่านี้มาทำเป็นบทภาพยนตร์ครั้งนี้?
จริงๆ ที่ทำมันไม่ใช่ชีวิตตัวเองซะทั้งหมด แต่มันเป็นชีวิตของคนอื่นที่เราไปเจอมา บางจังหวะอาจจะมาจากประสบการณ์ชีวิตของเรา เป็นเพราะเรามาถึงเลข 30 มันเหมือนหลักไมล์ในชีวิตที่เราต้องจดบันทึกเอาไว้ว่านี่คือครึ่งชีวิตของเรา สิ่งที่เราเจอมา สิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่ย้อนกลับไปตั้งแต่อยู่สมัยมัธยม สมัยเริ่มจดบันทึกอะไรได้ ย้อนกลับไปอีกตั้งแต่วัยเด็กที่มันมีความทรงจำอะไรแบบพร่าเลือนอยู่ ทุกอย่างมันใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้ เราคิดว่าเหมือนทำให้ตัวเองมากกว่า (หัวเราะ) แต่ว่ามันไม่ใช่ทำให้ตัวเองโดยที่ไม่ได้จะเป็นหนังที่คนจะดูไม่รู้เรื่อง เราว่าทุกคนมีประสบการณ์ร่วมในสิ่งต่างๆ ที่เราได้เจอมาเหมือนกัน มันไม่ใช่ประสบการณ์ที่ส่วนตัวอะไรมากมาย เราพูดถึงความรัก พูดถึงการสูญเสีย ความพลัดพราก เราผ่านความเลวร้ายในชีวิตมาเยอะแยะมากมาย ความฝัน ความหวังที่มันแตกพัง เราทุกคนต่างเคยเจอ แล้วเราก็แบบเหมือนเคยมีประสบการณ์ที่ค่อยๆ เก็บเศษที่มันแตกร้าวต่างๆ พยายามต่อกันใหม่ให้มันเป็นความหวังครั้งใหม่ แล้วดำเนินชีวิตต่อไป ทุกคนต้องผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาทั้งนั้น เช่นกันนี้คือส่วนของเหตุการณ์ในชีวิตที่เราคิดว่ามันสอดคล้องกับผู้คน มันไม่ได้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ใครเข้าไม่ถึงอย่างที่เข้าใจว่าจะเป็นแบบนั้น...ไม่ใช่
เรื่องนี้มันเป็นเสี้ยวหนึ่งในประสบการณ์ของมะเดี่ยวที่รู้สึกว่าประทับใจที่สุดตลอดระยะ 30 ปีนี้หรือยัง
30 ปีที่ผ่านมานี้คงเป็นเรื่องของคนที่เราไม่ลืม มันก็มีเป็นเรื่องของคนที่เราเคยรัก คนที่เคยจากเราไป มันมีทั้งคนที่เราเคยรักที่ยังอยู่แต่ก็ไม่ใช่คนในอดีตที่เราเคยรู้จัก เหมือนเราเคยชอบใครตอนอยู่มัธยมเมื่อ10ปีก่อนวันเวลาก็พลัดพรากพวกเราจากกันไป กลับมาเจอกันทุกวันนี้มันก็ไม่ใช่คนเดิมที่เราเคยชอบแล้ว เพียงแต่ว่าเราก็คิดถึงคนๆ นั้นที่เราจดจำมันได้ในวัยของเรา แล้วก็มีประสบการณ์ที่มีความตาย การสูญเสียบุคคลที่เป็นที่รักแล้วก็ต้องพยายามดำเนินชีวิตต่อไป แม้แต่การแต่งงานมันเป็นการเฉลิมฉลองนะ แต่จริงๆ แล้วส่วนหนึ่ง อีกด้านหนึ่งมันคือการโบกมือลาอดีตต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น โบกมือลาชีวิตเก่าๆ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในความสุขของการแต่งงาน มันมีด้านที่เราจะต้องบ๊ายบายชีวิตคนโสด ชีวิตสนุกสนาน หรืออดีตที่ฝังใจเพื่อเริ่มอะไรใหม่ๆ นี้แหละมันก็รวมๆ แล้วมันเรียกได้ว่าเป็น 3 เหตุการณ์ที่ตกผลึกมากกว่า คือเราก็ครุ่นคิดถามว่าแบบ 30 ปีเราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตเกี่ยวกับความรัก เกี่ยวกับการเติบโตมาบ้าง มันก็ออกมากลายเป็นเรื่องนี้
โลเกชั่นที่เลือกถ่ายทำภาพยนตร์ครั้งนี้ คือ บ้าน ของมะเดี่ยวเอง
เราถ่ายทำเรื่อง “Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ” ที่เชียงใหม่ทั้งเรื่องเลย 100% ไม่มีถ่ายที่อื่นเลย อย่างที่บอกคือมันเป็นบ้านของเรา ของมะเดี่ยวเอง มันเป็นเรื่องของความทรงจำที่อยู่ที่นั่น ดังนั้นมันไม่มีที่ไหนดีไปกว่าเชียงใหม่แล้วแหละ แล้วมันก็จะไม่เหมือนหนังที่ถ่ายที่เชียงใหม่เรื่องอื่น ที่ใช้landmark จริงๆ เชียงใหม่เป็นเมืองที่สวย มีเสน่ห์ มีศิลปะ มีความโรแมนติกอะไรอยู่ในนั้น แต่เราไม่ได้เสนอเชียงใหม่ในด้านนั้น แต่เรื่องนี้เราพูดถึงคน คนในเชียงใหม่ จิตวิญญาณของผู้คนที่อยู่ที่นั่น เป็นสิ่งที่เราเห็นและเติบโตมาตรงนั้น เป็นเรื่องของผู้คน บรรยากาศ ภาษาพูด แต่อย่าเข้าใจว่าพูดภาษาเหนือแล้วจะไม่เข้าใจ ภาษาเหนือเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย มีซับขึ้นให้ (หัวเราะ) มันไม่ได้เข้าใจยากถึงขั้นไม่รู้เรื่อง สำหรับเราเองมันเป็นภาษาที่มีเสน่ห์ ถ้าเป็นเพลงก็เหมือนมีเมโลดี้ที่สวย แล้วก็มีความนุ่นนวลอ่อนหวานอยู่ในนั้น ต้องลองไปดู
ภาษาที่ใช้เหนือล้วนๆ เลยด้วยหรือเปล่า
ใช่ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกตอน ต้องมีเทรนกันในเรื่องของภาษาพอสมควร อย่างนุ่นเขาอยู่ลำปางสำเนียงจะไม่ใช่คนเชียงใหม่แล้ว แล้วก็มาอยู่กรุงเทพฯ นานจะมีเพี้ยนบ้าง ต้องเอาให้เป๊ะให้ดูเป็นคนเชียงใหม่จริงๆ แต่ในหนังก็จะมีเป็นคนลำปาง คนเชียงรายบ้าง เขาพูดสำเนียงของเขาไปเพื่อความสมจริง อย่างพี่ต่ายก็มาอยู่กรุงเทพฯนาน พอแป๊ปเดียวพี่ต่ายก็จูนกันไวเหมือนมีคีย์อยู่ในหัวแล้ว คำบางคำหรือไวยากรณ์ที่มันเป็นภาษาเหนือๆ ก็ต้องรื้อฟื้นเอามาพูดกัน ให้รู้สึกว่าคนเหนือคนเมืองอู้กันจริงๆ แต่ทั้งหมดฟังไม่ยาก เข้าใจได้ง่ายมาก
เล่าเรื่องราวให้ฟังหน่อยว่าเกี่ยวกับอะไร
มีหลากหลายเรื่องราวของความรัก เริ่มจากเรื่องของเด็กมัธยม 2 คน คนหนึ่งอยู่ม.6 ที่กำลังจะจบ อีกคนอยู่ม.3 ที่กำลังจะจบการศึกษาเหมือนกัน คือทุกคนมีสถานะที่จะต้องจากโรงเรียนนี้ไปเหมือนกัน ไอ้คนที่อยู่ม.6 มาถ่ายรูปโรงเรียนตอนกลางคืนเพื่อเอาไปทำหนังสือรุ่น คือมีไอเดียว่าโรงเรียนตอนมีคนอยู่มันไม่ขลัง แต่ตอนไม่มีคนอยู่มันขลัง มันเหมือนเฟรมเปล่าๆ ที่ให้คนสามารถใส่เรื่องราวตัวเองไปได้ ก็เลยมาถ่ายรูปที่โรงเรียนตอนกลางคืน อีกคนหนึ่งเป็นนักบาส เด็กม.3 ที่ย้ายโรงเรียนมาตลอด แล้วก็มาจบม.3 ที่นี้แล้วก็ต้องย้ายไปเรียนที่กรุงเทพฯ อีก ทั้งสองคนมาเจอกัน ทั้งคู่ก็เดินถ่ายรูปในโรงเรียน ได้คุยกันเรื่องชีวิตที่ผ่านมาในโรงเรียนนี้ มันก็เป็นการพูดถึงอดีต แล้วมันก็มีบ้างอย่างที่เชื่อมถึงกันเกิดขึ้น เรื่องนี้เราพูดถึงช่วงชีวิตที่เรามีเพื่อนมีชีวิตของวัยเรียนที่น่าจดจำ มีมิตรภาพที่เกิดขึ้นดีๆ ในเวลาอันสั้นของวัยเรียน 2 คน
นักแสดงหน้าใหม่ทั้ง น้องแจ๊คและน้องมาร์ช ทั้งสองคนนี้เป็นยังไงบ้าง
นักแสดงใหม่ของเราผ่านการคัดเลือกมาจากนักแสดงนับร้อยนับพัน แต่ทุกครั้งที่เราทำหนัง คือถ้าเกิดเป็นนักแสดงใหม่ก็ต้องแคสติ้งแบบหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้คนที่มันดูแล้วใช่ แล้วยิ่งเป็นคนที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อเรื่องเราก็ว่าน่าสนใจ แล้วเราเลือกคนที่มีการแสดงที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด มีเสน่ห์มากที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ ซึ่งน้องทั้ง 2 คนกว่าจะผ่านการแคสติ้งเข้ามาจากหลายๆ รอบได้ก็ไม่ง่ายเท่าไหร่นัก พอผ่านมาแล้วก็ต้องมีการ workshop และหนังเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากเด็ก 2 คนนี้ ย้ำ! ว่าทั้งเรื่อง ถ้าเกิดทั้งสองคนเล่นไม่ดีจะเอาไม่อยู่ เพราะต้องมีบทพูดที่ยาวมาก แล้วก็ต้องเป็นตัวตนของคนๆ นั้นด้วย คือมันไม่สามารถจะท่องแต่บทได้ มันต้องเอาตัวตนไปเป็นคนๆนั้นจริง แล้วเหมือนพูดเรื่องของตัวเอง มันใช้เวลาทำงานด้วยกันค่อนข้างนาน กว่าจะได้ออกมาขนาดนี้ ซึ่ง 2 คนนี้เข้าขากันมาก พวกเราทำการบ้านด้วยกันมาอย่างหนักหนาสาหัสกว่าเราจะได้เห็นสองคนนี้เล่นด้วยกัน
เห็นจุดเด่นอะไรของน้องแจ็ค และของน้องมาร์ชจับทั้งคู่มาเล่นด้วยกัน
ตัวละครตัวแรก คือ “เน” นำแสดงโดย “น้องมาร์ช” จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล น้องมาร์ชตามคาแรกเตอร์ต้องเป็นคนถ่ายรูปเก่งมีความสามารถ มีความมั่นใจสูง ไม่เอาใคร ไม่เอาเพื่อนอะไรสักคนเลย จนหลายๆ คนทั้งโรงเรียนหมั่นไส้ ไม่มีสังคม ถึงแม้ว่าเนจะมีความมั่นใจสูงแต่ลึกๆ เขามีความเบาะบางอยู่ มาร์ชนี้มีอะไรที่เป็นคนแบบนั้น มีการพูดจาที่ดูว่าเย่อหยิ่งจองหองได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ดูมีความอ่อนไหว แล้วเป็นหนังที่ต้องเล่นด้วยความรู้สึกลึกๆ ข้างใน ก็ค่อนข้างจะยากสำหรับเด็กใหม่ แต่ว่ามาร์ชก็อดทนและสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้แม้จะใช้เวลานานมากก็ตาม
ส่วน “แจ็ค” กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณะ เล่นเป็น “บีม” เป็นเด็กม.3 ที่ชั่งพูดชั่งเจรจา ซุกซนตามประสาเด็กม.ต้นทั่วไป เป็นนักกีฬาด้วย อันดับแรกพื้นฐานเลยแจ็คเป็นนักกีฬาบาสอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของแอคติ้งเวลาเล่นบาส เขาดูเป็นนักกีฬาได้จริงไม่เสแสร้ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าแจ็คไม่ใช่คนพูดมากเหมือนในเรื่อง ในเรื่องนี้พูดน้ำไหลไฟดับเลย แต่แจ็คก็ทำได้และผ่านมันไปได้ด้วยดี
อีกอย่างหนึ่งคือตัวละครอย่างบีม คือมันดูเหมือนไม่มีที่มาที่ไป มันจะค่อยๆ เฉลย ค่อยๆ บอกว่าไอ้นี่เป็นใครมาจากไหน การเล่นแบบอมพะนำคาแรกเตอร์ของตัวเองว่าจะเป็นใครก็ไม่รู้ อะไรยังไงก็ตามแต่ ดังนั้นมันต้องใช้ความกะล่อนของการเล่น คือมันเป็นเสน่ห์ของละครตัวนี้ การแสดงที่ต้องหว่านเสน่ห์ โปรยเสน่ห์ กวนนิดๆ ซึ่งถ้าเป็นเด็กธรรมดาทั่วไปบทยังนี้จะยากมาก คือมันไม่ใช่การเก็กหล่อมันไม่ได้เป็นคนหล่อแต่มันต้องหว่านเสน่ห์ แล้วยิ่งเด็กม.ปลาย เด็กอายุเท่านี้จะไม่ค่อยเข้าใจการหว่านเสน่ห์ การทำหน้ากรุ้มกริ่ม การเล่นออกมาจากอินเนอร์ จะยากมากสำหรับบทอย่างนี้แต่แจ็คก็ทำได้