happy on February 12, 2012, 06:05:44 PM

ชื่อภาพยนตร์               HUGO

ชื่อไทย                      ปริศนามนุษย์กลของอูโก้

เว็บไซต์                      www.hugomovie.com

Genre:                              3D-fantasy

Cast:                         Ben Kingsley, Asa Butterfield,

                                Chole Grace Moretz, Jude Law,

                                Sacha Baron Cohen,Emily Mortimer

Directed by:               Martin Scorsese


มาร์ติน สกอร์เซซี ร่วมกับ จอห์น นี่ เด็ปป์ สร้างหนัง HUGO 3D
สุดยอดงานสร้างสรร เข้าชิง 11 รางวัลออสการ์ยอดเยี่ยม
อูโก้ ปริศนามนุษย์กลของอูโก้ 16 กพ.นี้ในระบบ 3D

               สุดยอดภาพยนตร์ผจญภัยแฟนตาซี โดยผู้กำกับระดับครู มาร์ติน สกอร์เซซี จากหนังสือเบสท์เซลเลอร์ The invention of Hugo Cabret เป็น เรื่องของเด็กชายอูโก้ วัย 12 ปี ที่พ่อหายตัวไปอย่างลึกลับ พร้อมกับทิ้งหุ่นกลปริศนา กับความลับของกุญแจรูปหัวใจที่สามารถปลุกชีวิตให้กับหุ่นกลนั้นได้
            และล่าสุด หลังจากที่ได้รางวัลจากสถาบัน และ เวทีต่างๆมากมาย  HUGO ยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 11 รางวัล คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , ผู้กำกับยอดเยี่ยม , บทดัดแปลง , กำกับศิลป์ , กำกับภาพ , ออกแบบเครื่องแต่งกาย , ตัดต่อยอดเยี่ยม , ดนตรีประกอบ , ตัดต่อเสียง , ผสมเสียง และ เทคนิคภาพยอดเยี่ยม
            นำแสดงโดย เบน คิงสลีย์, อัสซ่า บัตเตอร์ฟิลด์ , โคลอี้ มอเรทซ์, จู๊ด ลอว์, ซาช่า บารอน โคเฮน และ เอมิลี่ มอร์ติเมอร์ ทีมผู้สร้างมีมาร์ติน สกอร์เซซี รับหน้าที่กำกับ และจอห์นนี่ เด็ปป์ เป็นโปรดิวเซอร์
            กำหนดฉายในไทย รับเทศกาลออสการ์ 16 กพ. 2012 เฉพาะที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และ เอส เอฟ เวิล์ด ซีเนม่า ในระบบ 3D



เข้าฉาย 16 กุมภาพันธ์ 2555
Production Information

               ตั้งแต่เริ่มสร้างสรรค์ผลงานอันสุดแสนพิเศษมา ผู้กำกับรางวัลออสการ์ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ได้นำทั้งวิสัยทัศน์อันโดดเด่น พรสวรรค์อันน่าตื่นเต้นของเขาใส่ชีวิตให้กับภาพยนตร์ที่ยากจะลืมเลือนหลายเรื่องด้วยกัน และในปีนี้ นักเล่าเรื่องผู้เป็นตำนานผู้นี้ขอเชื้อเชิญคุณร่วมเดินทางอันแสนตื่นเต้นไปพร้อมกับเขาสู่โลกมหัศจรรย์ด้วยภาพยนตร์ 3D เรื่องแรกของเขา ซึ่งสร้างจากหนังสือเบสท์เซลเลอร์ติดอันดับของ New York Times ผลงานการประพันธ์ของ ไบรอัน เซลซ์นิค เรื่อง The Invention of Hugo Cabret
   “Hugo” คือเรื่องราวผจญภัยอันน่าตื่นตะลึงของเด็กชายผู้มุ่งมั่นและเต็มไปด้วยความฉลาด ผู้พยายามไขปริศนาที่พ่อของเขาได้ทิ้งเอาไว้ให้ และความพยายามครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงตัวฮิวโก้และทุกคนที่อยู่รอบตัวเขาไป และยังเผยให้เห็นถึงสถานที่ที่ทั้งปลอดภัยและเป็นที่รักที่เขาสามารถเรียกว่าบ้านได้
   สกอร์เซซี่ได้ทำการรวบรวมนักแสดงรุ่นใหม่มาแรง ผสมไปกับทีมดาราผู้มีประสบการณ์ทั้งจากแวดวงละครเวทีและภาพยนตร์ อาทิเช่น เบน คิงสลี่ย์ (“Prince of Persia: The Sands of Time,” “Shutter Island”), ซาช่า บารอน โคเฮน (“Madagascar: Escape 2 Africa,” “Borat”), อาซา บัทเทอร์ฟิลด์ (“The Boy in the Striped Pajamas,” “The Wolfman”), โคลอี้ เกรซ มอเร็ทซ์ (“Diary of a Wimpy Kid,” “Let Me In”), เรย์ วินสโตน (“Rango,” “Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull”), เอมิลี่ มอร์ติเมอร์ (“Shutter Island,” “Lars and the Real Girl”), เฮเลน แม็คโครรี่ (“Harry Potter and the Deathly Hallows: Parts 1 & 2,” “Harry Potter and the Half-Blood Prince”), คริสโตเฟอร์ ลี (ภาพยนตร์ไตรภาคชุด “The Lord of the Rings”, “Star Wars” Episodes II and III), ริชาร์ด กริฟฟิธส์ (“Pirates of the Caribbean: On Stranger Tides,” ภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่อง “Harry Potter” 5 ตอน), ฟรานซิส เดอ ลา ทัวร์ (“Harry Potter and the Deathly Hallows: Part 1,” “Alice in Wonderland”), ไมเคิล สตัห์ลบาร์ก (ภาพยนตร์ของ HBO เรื่อง “Boardwalk Empire,” “A Serious Man”) และ จู้ด ลอว์ (“Contagion,” “Sherlock Holmes”)
   ที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กันก็คือเหล่าบรรดาทีมงานหลังกล้องที่ประกอบไปด้วยศิลปินด้านงานสร้างภาพยนตร์ หลายคนเคยร่วมงานกับสกอร์เซซี่มาแล้ว อาทิเช่น ผู้กำกับภาพสองรางวัลออสการ์ โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน, เอเอสซี (“Inglourious Basterds,” “The Aviator”); เจ้าของสองรางวัลออสการ์ โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ดังเต้ เฟอร์เร็ทติ (“Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street,” “The Aviator”); ผู้ลำดับภาพเจ้าของสามรางวัลออสการ์ เธลม่า สคูนเมกเกอร์, เอซีอี (“Shutter Island,” “The Departed”); ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เจ้าของสามรางวัลออสการ์ แซนดี้ พาวเวลล์ (“The Aviator,” “The Young Victoria”); วิชวล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์ ร็อบ เลกาโต้ (“Shutter Island,” “Titanic”); และผู้แต่งดนตรีประกอบเจ้าของสามรางวัลออสการ์ ฮาวเวิร์ด ชอร์ (ภาพยนตร์ไตรภาค “The Lord of the Rings”, “The Departed”)  
   พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส และจีเค ฟิล์มส์ ภูมิใจเสนอผลงานการสร้างของจีเค ฟิล์มส์/ อินฟินิตัม ไนฮิล ภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง “Hugo” ซึ่งกำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่ จากบทภาพยนตร์ของ จอห์น โลแกน ซึ่งสร้างจากหนังสือเรื่อง The Invention of Hugo Cabret ผลงานการประพันธ์ของ ไบรอัน เซลซ์นิค ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดย แกรห์ม คิง, ทิม เฮดดิงตัน, สกอร์เซซี่ และจอห์นนี่ เด๊ปป์ ผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่ เอ็มม่า ทิลลิงเกอร์ คอสคอฟฟ์, เดวิด คร็อคเก็ตต์, จอร์เจีย คาแคนเดส และคริสตี้ เด็มโบรว์สกี้,  มิวสิค ซูเปอร์ไวเซอร์ ได้แก่ แรนดัลล์ โพสเตอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้คัดเลือกตัวนักแสดงโดย เอลเลน ลูวิส
   ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับจัดเรทโดย MPAA ให้เป็นภาพยนตร์เรท “PG” จากเนื้อหาเรื่องราวที่อ่อนโยน มีฉากแอ็กชั่นและมีฉากอันตรายเล็กน้อย  www.hugomovie.com




« Last Edit: February 12, 2012, 06:10:22 PM by happy »

happy on February 12, 2012, 06:17:43 PM

ภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียน หนังสือให้แรงบันดาลใจผู้กำกับ

                การเติบโตมาในพื้นที่ส่วนหนึ่งของนิวยอร์กซิตี้ที่รู้จักกันในชื่อ “ลิตเติ้ล อิตาลี” ในทศวรรษ 1940 และ 1950 มาร์ติน สกอร์เซซี่น้อยพบความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการชมภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่จะได้รับประสบการณ์ในการดูหนังเท่านั้น แต่เขายังได้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับพ่อของเขา ที่นั่งอยู่ข้างๆ ในโรงภาพยนตร์ที่มืดสนิท เป็นการเพาะบ่มความรักซึ่งว่าที่ผู้กำกับผู้นี้มีต่อศิลปะภาพยนตร์ ดังนั้นเมื่อนิยายคว้ารางวัลของ ไบรอัน เซลซ์นิค เรื่อง The Invention of Hugo Cabret ถูกส่งมาวางอยู่บนโต๊ะเขาผ่านทางผู้อำนวยการสร้าง แกรห์ม คิง (ซึ่งก่อนนี้เคยร่วมงานกับสกอร์ซี่มาแล้วในภาพยนตร์ถึงสามเรื่อง) ผู้กำกับรางวัลออสการ์ผู้นี้พบว่าเรื่องราวนี้เหมือนก้องสะท้อนชีวิตเขาอย่างลึกซึ้ง สำหรับสกอร์เซซี่แล้ว “มันคือความอ่อนไหวของเด็กคนหนึ่งที่กระแทกโดนใจเขามาก อูโก้ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพังภายในกำแพงของนาฬิกาเรือนยักษ์ ภายในสถานีรถไฟ เขาพยายามจะสร้างความเชื่อมโยงกับพ่อของเขา ซึ่งได้จากเขาไปแล้ว”
สกอร์เซซี่เล่าว่า “ผมได้รับหนังสือเล่มนี้เมื่อสี่ปีที่แล้ว และมันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ประเภทที่ผมนั่งลงและอ่านมันจนจบเลย รวดเดียว มีความผูกพันในทันทีกับเรื่องของเด็กชายคนนี้ ความโดดเดี่ยวของเขา ความผูกพันที่เขามีต่อภาพยนตร์ และกับระบบเครื่องยนต์กลไกที่สุดสร้างสรรค์ ระบบกลไกต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิเช่น กล้อง, เครื่องฉายโปรเจ๊กเตอร์ และหุ่นออโตเมตัน ทำให้มันเป็นไปได้ที่อูโก้จะสร้างความผูกพันกับพ่อของเขาขึ้นมาอีกครั้ง และวัตถุที่มีกลไกเหล่านี้ก็ทำให้เป็นไปได้ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ จอร์จส์ เมลิเย่ส์ จะกลับไปเชื่อมโยงกับอดีตของเขาอีกครั้ง และกับตัวเองเขาเอง”
      ในทางกลับกัน สกอร์เซซี่ได้ร่วมแบ่งปันด้วยการมอบหนังสือเล่มนี้ให้กับลูกสาวคนเล็กของเขาได้อ่าน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อของเขาที่ว่าเรื่องนี้มีคุณสมบัติที่มีความมหัศจรรย์มาก “ในการอ่านหนังสือให้ลูกสาวผมฟัง เราได้ร่วมสร้างประสบการณ์กับเรื่องราวนี้อีกรอบ ดังนั้นมันเหมือนกับการค้นพบผลงานศิลปะอีกครั้ง แต่เป็นการมองผ่านสายตาของเด็ก”
      เจ้าของบทประพันธ์ ไบรอัน เซลซ์นิค เล่าถึงจุดกำเนิดของหนังสือของเขาเล่มนี้ว่า “มีอยู่จุดหนึ่งที่ผมจำได้ว่าได้ดูเรื่อง ‘A Trip to the Moon’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ปี 1902 ผลงานของ จอร์จส์ เมลิเย่ส์ และจรวดได้บินพุ่งเข้าสู่ตาของชายคนหนึ่งในดวงจันทร์ ภาพนั้นติดแน่นในจินตนาการของผม ผมอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่ได้พบเมลิเย่ส์ แต่ผมไม่รู้ว่าพลอตเรื่องจะเป็นยังไง หลายปีผ่านไป ผมเขียนและวาดภาพประกอบหนังสือเรื่องอื่นๆ อีก 20 เล่ม จากนั้น ในปี 2003 ผมบังเอิญหยิบหนังสือเรื่อง Edison’s Eve ของเกบี้ วู้ด มันเป็นประวัติศาสตร์ของหุ่นออโตเมตัน และที่สร้างความประหลาดใจให้ผมมาก บทหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นพูดถึงเรื่องของเมลิเย่ส์”
      ดูเหมือนว่าหุ่นยนต์ออโตเมตันของเมลิเย่ส์ (เป็นหุ่นเมคานิคที่ใช้พลังงานจากกลไกไขลานและสปริง ซึ่งจะทำงานด้วยตัวมันเอง) ถูกบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งเมื่อตัวเมลิเย่ส์จากไป หุ่นเหล่านี้ถูกนำไปเก็บเอาไว้ในห้องใต้หลังคา ซึ่งลงเอยด้วยการถูกลืม และค่อยๆ ผุพังไปเพราะน้ำฝน และในที่สุด ก็ถูกโยนทิ้งไป
      เซลซ์นิคเล่าต่อไปว่า “ผมจินตนาการว่ามีเด็กชายคนหนึ่งป่ายปีนผ่านกองขยะไป และพบหุ่นยนต์ที่พังไปแล้วตัวหนึ่ง ในตอนแรกผมไม่รู้ว่าเด็กชายคนนั้นเป็นใคร และผมไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของเขา ผมคิดว่าชื่อ อูโก้ ฟังดูเป็นฝรั่งเศสดี และคำภาษาฝรั่งเศสอีกคำหนึ่งที่ผมนึกออกก็คือ คาบาเร่ต์ และผมก็คิดว่า คาเบร่ต์ น่าจะฟังดูเป็นนามสกุลฝรั่งเศส แค่นั้นแหละ อูโก้ คาเบร่ต์ก็ถือกำเนิดขึ้น”
      จากการค้นคว้าเรื่องของหุ่นออโตเมตันและนาฬิกา, ชีวิตของเมลิเย่ส์และนครแห่งแสงสีในทศวรรษ 1920 และ 1930 ได้เติมเชื้อไฟให้กับจินตนาการของนักเขียนผู้นี้ และเรื่องราวของเด็กที่รักการผจญภัยที่อาศัยอยู่ภายในกำแพงของสถานีรถไฟในกรุงปารีส ก็ถือกำเนิดขึ้น และหลอมรวมกับเรื่องราวของตัวละครที่มีสีสันมากมายที่อยู่รอบๆ ตัวเขา เสริมด้วยเรื่องราวการค้นพบทั้งตัวหุ่นออโตเมตันที่ถูกทอดทิ้งตัวหนึ่งและผู้กำกับที่ถูกลืม และคุณยังมีหนังสือของเซลซ์นิคที่วาดภาพประกอบได้อย่างงดงามเรื่อง The Invention of Hugo Cabret (A Novel in Words and Pictures) The Invention of Hugo Cabret (A Novel in Words and Pictures) ที่ตีพิมพ์ในปี 2007 ได้รับรางวัล Caldecott Medal ในปี 2008 (เป็นรางวัลที่มอบโดยสมาคมห้องสมุดสำหรับเยาวชน ที่มอบให้กับเจ้าของผลงานหนังสืออเมริกันสำหรับเยาวชนที่โดดเด่นที่สุด) และเป็นหนังสือวาดภาพที่เยี่ยมที่สุดประจำปี 2007 ของ The New York Times มันคือหนังสือเบสท์เซลเลอร์อันดับหนึ่งของ New York Times และยังเข้ารอบสุดท้ายในการเข้าชิงรางวัลเนชั่นแนลบุ้ค อวอร์ด
      ผู้อำนวยการสร้าง แกรห์ม คิง เล่าว่า “ทิม เฮดดิงตัน หุ้นส่วนอำนวยการสร้างของผมและตัวผมเองรู้สึกต้องมนต์หนังสือเรื่องนี้ของ ไบรอัน เซลซ์นิค เราคิดทันทีเลยว่ามันเป็นเรื่องราวอันงดงามสำหรับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ที่จะนำมาสร้างเป็นภาพนตร์”
      พวกเขาได้หันไปหา จอห์น โลแกน ซึ่งเคยเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง “The Aviator” ของพวกเขา  เพื่อให้โลแกนนำทั้งถอยคำและการวาดภาพประกอบของเซลซ์นิค และเปลี่ยนให้เป็นบทภาพยนตร์ เช่นเดียวกับหนังสือส่วนใหญ่ที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ หลายอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป โลแกนให้ความเห็นไว้ว่า “ผมต้องตัดและเปลี่ยนองค์ประกอบหลายอย่างในหนังสือของไบรอัน เพื่อให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่สั้นลง ภาพวาดนั้นช่วยได้มาก เพราะพวกมันเตือนให้ผมนึกถึงภาพสตอรี่บอร์ดในการสร้างหนัง มันกลายเป็นเหมือนแผนที่ให้ผมเดินไปตามเส้นทาง อันที่จริง บทภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องด้วยการเล่าเรื่องคล้ายๆ กับภาพวาดแรกๆ ของไบรอันในหนังสือเรื่องนี้”  
      ผู้อำนวยการสร้างคิงพูดถึงการจับคู่อย่างคาดไม่ถึงระหว่างสกอร์เซซี่และเรื่องของอูโก้ “ภาพยนตร์ทุกเรื่องของสกอร์เซซี่มีความรู้สึกจำเพาะอยู่ในตัว และ ‘Hugo’ ก็ไม่แตกต่าง ภาพอันงดงามและการแสดงระดับสุดยอดมีอยู่เพียบ ความแตกต่างสำคัญก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับคนดูที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นภาพยนตร์สำหรับทุกคนก็ว่าได้”
      เพื่อจำลองประสบการณ์ในผลงานของเซลซ์นิค สกอร์เซซี่หันไปใช้รูปแบบภาพยนตร์ที่แตกต่างไปจากเดิม เขาเล่าว่า “ในฐานะคนดูหนัง เราไม่ได้มีข้อได้เปรียบแบบตัวหนังสือ ซึ่งคุณจะเข้าใจถึงความคิดและความรู้สึกในใจของอูโก้ แต่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ เรามีใบหน้าและมีการกระทำของเขาให้เห็น และเรายังมีระบบ 3D เนื้อเรื่องจำต้องถูกเปลี่ยนแปลงไประดับหนึ่ง ดังนั้นหลายองค์ประกอบจะถูกลดความสำคัญลงจากตัวหนังสือ แต่ผมคิดว่าภาพต่างๆ โดยเฉพาะในรูปแบบของ 3D สามารถชดเชยสิ่งที่หนังสือมีได้”
      สกอร์เซซี่พยายามให้เกียรติกับผลงานของเซลซ์นิคในทุกการตัดสินใจ เขาให้ความเห็นไว้ว่า “ไบรอัน เซลซ์นิคและหนังสือของเขาคือแรงบันดาลใจ เรามีหนังสือเล่มนี้ติดตัวตลอดเวลา หนังสือมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ขณะที่ภาพยนตร์ของเราก็มีภาพลักษณ์และความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ของมันเอง มันแตกต่างไปจากหนังสือที่เป็นภาพขาวดำ เรายังผสมความเป็นจริงและโลกจินตนาการเข้าด้วยกัน”  
« Last Edit: February 12, 2012, 06:23:13 PM by happy »

happy on February 12, 2012, 06:18:07 PM
‘นี่คือการผจญภัย’:  การตามหาตัวละคร

               การค้นหาตัวเด็กชายที่จะมาแสดงเป็น อูโก้ ถือเป็นบทที่หายากที่สุด เขาคือหัวใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาอยู่ในแทบทุกฉาก และเขาจะต้องอายุประมาณ 12-13 ปี เอลเลน ลูวิส แคสติ้ง ไดเร็คเตอร์ ได้เลือกนักแสดงเด็กชายเอาไว้หลายคน ซึ่ง อาซา บัทเทอร์ฟิลด์ ได้มาออดิชั่นบทนี้ตั้งแต่แรก สกอร์เซซี่จำได้ว่า “เขาอ่านบทไปสองฉาก และผมรู้สึกเชื่อทันที ก่อนจะตัดสินใจรอบสุดท้าย ผมได้ดูภาพยนตร์เรื่อง ‘The Boy in the Striped Pajamas’ ซึ่ง วีร่า (ฟาร์ไมก้า) แสดงภาพยนตร์เรื่องนั้นกับเขา และผมก็เคยร่วมงานกับเธอในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Departed’ เธอเล่าเรื่องเขาให้ผมฟัง และพูดว่าเขาเก่งมากๆ”
   บัทเทอร์ฟิลด์เองก็ไม่รู้เช่นกันว่า มาร์ติน สกอร์เซซี่ เป็นใคร แต่เขาได้ยินแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้น อาซาเล่าว่า “ผมรู้ว่าเขาเป็นใครนะครับ แต่ผมไม่เคยดูหนังของเขาเลย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหนังสำหรับคนอายุ 18 ขึ้นไปทั้งนั้น แม่บอกผมว่าเขาเก่งที่สุด ตอนผมได้งานนี้ ทุกคนต่างพูดว่า ‘โห น่าทึ่งมาก เขาเป็นผู้กำกับที่เก่งที่สุดแล้ว !’ ผมค่อยๆ เริ่มรู้ตัวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน เขาคือผู้กำกับที่ยอดเยี่ยมที่สุด มาร์ตี้ไม่เคยพูดว่า ‘ต้องทำ’ แต่เขาสนับสนุนให้คุณทดลอง และพูดว่า ‘ลองดูซิ’ เขาเป็นพวกนิยมความสมบูรณ์แบบ มักมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณสามารถเล่นได้ มันสุดยอดจริงๆ”
   บัทเทอร์ฟิลด์พบว่าความลึกลับของตัวละครตัวนี้ถือสิ่งที่ดึงดูดใจอย่างมาก เขาตั้งข้อสังเกตว่า “คุณไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเขามากนัก เรื่องน่าเศร้ามากมายเกิดขึ้นกับเขา พ่อของเขาตาย แม่ของเขาก็ตาย และเขาลงเอยด้วยการต้องไปอยู่กับลุงของเขาที่สถานีรถไฟ ต้องทำงานที่ผู้ใหญ่ทำ จากนั้นลุงของเขาจากไป และไม่กลับมาอีกเลย ตอนที่เรื่องนี้เริ่มขึ้น ทุกอย่างที่ว่ามานี้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว และเขาก็ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพังกับหุ่นตัวนี้ เป็นหุ่นออโตเมตัน เขาจึงมีแค่ตัวเองเท่านั้นตอนที่เขาพบกับอิซาเบลล์ จากนั้นเขาก็เริ่มเปิดตัวเองมากขึ้น”
   เพื่อมารับบทเป็นอิซาเบลล์ ลูกบุญธรรมของ ‘ปาป้าจอร์จส์’ และ ‘มาม่าฌ็อนน์’ นักแสดงเด็กหญิงชาวอเมริกัน โคลอี้ เกรซ มอเร็ตซ์ ต้องจำแลงแปลงกาย สกอร์เซซี่เล่าถึงการมาออดิชั่นบทของมอเร็ตซ์ว่า “ผมได้ผ่านตาพบนักแสดงเด็กหญิงสองสามคนจากอังกฤษ โคลอี้เดินเข้ามาและพูดสำเนียงอังกฤษ ผมคิดว่าเธอก็คงมาจากอังกฤษเช่นกัน ในตอนนั้น เราเริ่มให้นักแสดงมาอ่านบทกันเป็นคู่ในบท อูโก้และอิซาเบลล์ และอาซากับโคลอี้ก็ดูเข้ากันได้ดีทีเดียว มีนักแสดงอีกคู่หนึ่ง และเราได้ลองสลับคู่กัน แต่พวกเขากลับดูไม่เข้ากันเลย ไม่เพียงแต่โคลอี้และอาซาจะดูมีภาพลักษณ์ที่เข้ากันได้เท่านั้น แต่พวกเขายังมีเสียงที่ฟังดูเข้ากันได้ พวกเขาเล่นรับส่งบทกันได้ดี พวกเขามีบุคลิกที่โดดเด่น แตกต่างมาก”
   มอเร็ตซ์เล่าว่า “ฉันได้พบเขาครั้งแรกในนิวยอร์ก และมันเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ไปเยือนนิวยอร์กนับแต่ฉันเริ่มเข้าวงการนี้มา ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุการณ์ที่พลิกผันได้สุดยอดเยี่ยม เพราะฉันได้ไปอยู่นิวยอร์กเป็นครั้งแรกในรอบเจ็ดปี และฉันได้พบ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ในบทที่เป็นปรากฏการณ์นี้ ฉันเดินเข้าไปและได้พบเขา เขาเป็นคนอบอุ่นมาก เขาเล่าเรื่องให้ฉันฟังมากมาย และฉันคิดว่า ‘ว้าว เขาสุดยอดจริงๆ’”
   โคลอี้ยังรู้สึกสนใจในแง่มุมที่ดูลึกลับของเรื่องนี้ แต่เป็นความรู้สึกภายนอกมากกว่า “การเป็นเด็กอายุ 13 เหมือนตัวละคร มักมีเรื่องราวที่คุณอยากจะค้นหาเสมอ มักมีเรื่องที่คุณอยากรู้อยากเห็น คุณพยายามหาว่าเกิดอะไรขึ้น หรือเรื่องนั้นๆ มันเป็นยังไงมายังไง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ อิซาเบลล์และอูโก้อยากรู้อยากเห็นเรื่องของผู้คนต่างๆ”
   การมีดาราเด็กสองคนเป็นดารานำของภาพยนตร์ที่เป็นเรื่อง ‘ย้อนยุค’ ถ้าเป็นแต่ก่อน สกอร์เซซี่คงตัดสินใจได้เลยว่า อย่าทำดีกว่า เขาเล่าว่า “เราคงไม่ใส่ตัวหนังสือขึ้นหน้าจอที่บอกว่า ‘1931’ มันไม่สำคัญเลย เพราะสิ่งที่เด็กๆ เป็น สิ่งที่พวกเขาต้องการ สิ่งที่พวกเขามองหาอยู่ สิ่งที่พวกเขาทำ มันมีความร่วมสมัย มีความเป็นสากล มันไม่ใช่เรื่องของเวลาและสถานที่จำเพาะ มันเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ไม่สำคัญหรอกว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในเวลาใด เด็กๆ ก็ยังทำตัวเป็นเด็กๆ เสมอ”
   สำหรับบทสำคัญอย่าง จอร์จส์ เมลิเย่ส์ ‘ปาป้าจอร์จส์’ ผู้กำกับสกอร์เซซี่ไม่ต้องไปมองหาอื่นไกล สกอร์เซซี่กล่าวว่า “ผมอยากร่วมงานกับ เบน คิงสลี่ย์ มาตลอดหลายปีนี้ ในที่สุด ผมก็มีภาพยนตร์สองเรื่อง คือ ‘Shutter Island’ ซึ่งเรามีประสบการณ์การร่วมงานกันที่ดีมาก และตอนนี้ก็มีภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเป็นนักแสดงที่มีความพิเศษมาก เป็นหนึ่งในสุดยอดนักแสดงจริงๆ ซึ่งผมคงไม่จำเป็นต้องพูดเลย แค่ดูผลงานของเขาก็พอ ฝีมือของเขา ความหลากหลายของเขา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไหน เมื่อเรามองดูภาพของ จอร์จส์ เมลิเย่ส์ ผมไม่เคยมีความสงสัยเลยว่าภาพลักษณ์นั้นช่างลงตัวเหมาะเจาะกับเบนจริงๆ”
   ภาพลักษณ์น่ะใช่ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าสำหรับคิงสลี่ย์ ก็คือ ร่างกายของชายผู้นี้ที่เสื่อมถอยลง สกอร์เซซี่รู้สึกทึ่งกับเทคนิคการแสดงของคิงสลี่ย์มาก “เบนแสดงออกด้วยท่าทีการเคลื่อนไหว ด้วยความรู้สึกพ่ายแพ้ เป็นความพ่ายแพ้ของร่างกาย หลังจากที่ชายคนนี้ใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวา เขาสร้างภาพยนตร์ 500 เรื่อง อาทิตย์ละ 3 เรื่อง ในช่วงเย็นทำโชว์มายากล และต้องถ่ายทำภาพยนตร์ในตอนกลางวัน เขาสร้างศิลปะรูปแบบใหม่ และจู่ๆ เขาก็หมดเงิน ต้องเผาทุกอย่างทิ้ง และลงเอยด้วยการมานั่งอยู่หลังเคาน์เตอร์ในร้านขายของเล่นในพื้นที่เงียบๆ ของสถานีรถไฟ Gare Montparnasse”
   ในการค้นคว้าของคิงสลี่ย์ เขาพบเรื่องราวที่น่าชื่นชมมากมายในตัวเมลิเย่ส์ นอกเหนือไปจากความสามารถในการจินตนาการในแวดวงภาพยนตร์ของเขา คิงสลี่ย์กล่าวว่า “จอร์จส์มีความเชื่อมั่นและมีความสามารถของนักมายากลผู้ยิ่งใหญ่ เขามีความประณีตในการแสดงกล อย่างเช่นการตัดร่างกายคนแบ่งครึ่ง การหายตัว และกลมือ ความประณีตของเขายังแพร่ไปถึงทีมนักแสดงและทีมงาน เขาแทบไม่เคยสติแตกหรือส่งเสียงตะคอกใครเลย เขามีวิธีที่จะเตือนผู้คนให้คิดถึงสิ่งที่พวกเขาลืมที่จะทำ เตือนพวกเขาถึงตอนที่เขาเคยพูดถึงบางสิ่งบางอย่างมาก่อน และเขาเคยเป็นคนยิ่งใหญ่แค่ไหน”
   เมื่อตัวละครของเขาผันตัวเองจากการแสดงกลมาสู่วงการภาพยนตร์ คิงสลี่ย์มองเห็นถึงวิวัฒนาการโดยธรรมชาติในการที่ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ก้าวสู่งานสร้างภาพยนตร์สามมิติ “ผมคิดว่ามันเหมือนการที่ศิลปินก้าวจากการวาดภาพเหมือนของคน ไปสู่การวาดภาพวิวทิวทัศน์ มันเป็นการเปลี่ยนวิธีการตวัดแปรง แต่มันยังคงเป็นแปรงอันเดียวกัน และยังเป็นผ้าใบผืนเดียวกันอยู่” 
   ในสถานีรถไฟแห่งนี้ ผู้ที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตที่เป็นอิสระของอูโก้ ก็คือ นายสถานีรถไฟ ซึ่งถือเป็นบทที่มีการปรับเปลี่ยนไปจากตัวนิยาย สกอร์เซซี่เล่าว่า “เราถาม ไบรอัน เซลซ์นิค ว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงบทนี้ได้ไหม เพราะผมไม่อยากให้ตัวละครตัวนี้เป็นตัวแทนของความกลัว หรือเป็นผู้ร้าย ที่สร้างความหวาดกลัวและจับตัวเด็กชายคนนี้ ผมอยากให้เขาดูน่าคบหามากขึ้น ผมคิดว่าจากการได้ทำงานกับ ซาช่า บารอน โคเฮน เราน่าจะทำได้”
   บารอน โคเฮนพูดถึงมุมมองที่เขามีต่อตัวละครของเขาว่า “เป็นเรื่องธรรมชาติมากที่ในสถานีรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน มันเป็นอันตรายที่เด็กๆ จะมาวิ่งเล่น ดังนั้น ในยุค ’20 และ ’30 กับการมีเงื่อนไขของการทำงาน ถ้าคุณมีเด็กจรจัดมาวิ่งเล่นอยู่โดยไม่มีคนดูแล มันจะเป็นอันตรายทั้งสำหรับผู้โดยสารและตัวเด็กเอง ดังนั้น คุณจึงต้องมีผม นายสถานี เขาเป็นคนดีที่เกลียดชังเด็กๆ แต่ก็มีด้านที่แตกต่างอยู่ในตัวเขา เขามีด้านที่อ่อนโยนเช่นกัน ตัวเขาเองอาจจะเป็นเด็กกำพร้าด้วยซ้ำ เขาเคยผ่านสงครามมาแล้วด้วย เขามีข้อจำกัดทางร่างกาย โดยมีเหล็กติดอยู่ที่ขาของเขา ซึ่งเราอาจบอกว่าเป็นผลของบาดแผลจากสงคราม แต่มันเป็นการลงโทษตัวเองโดยอุบัติเหตุก็ได้”
   บารอน โคเฮนได้เริ่มต้นการค้นคว้าการแสดงตลกท่าทางด้วยตัวเขาเอง “ในอังกฤษ ผมคิดว่า แฮโรลด์ ลอยด์ ได้ออกรายการทีวีหลังเลิกเรียนทุกวัน ดังนั้นเราจึงโตมากับการนั่งดูเขามาตลอด สมัยนั้นผมไม่เคยรู้สึกว่าเขาตลกเลยนะ แต่ใน ‘Hugo’ มีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์เหล่านั้นอยู่ด้วย โดยเฉพาะเรื่อง ‘Safety Last’ ที่เขาปีนตึก และกระโดดลงมา และไปติดอยู่กับนาฬิกาที่เดินถอยหลัง เราเอาตรงนั้นมาเล่นด้วย มาร์ตินอยากให้ผมดูนักแสดงตลกยุคแรกๆ เหล่านั้น ซึ่งน่าสนใจมาก พวกเขาเล่นได้ดีจริงๆ อย่างคีตันและแชปลิน ใช่ ผมค้นพบชายที่ชื่อ ชาร์ลส์ แชปลิน ผมเชื่อเช่นนั้น ผลงานของเขาน่าสนใจมาก คุ้มค่ากับการได้ดูแท้ๆ”
   สกอร์เซซี่ลงเอยด้วยการคิดหาอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับผู้ร้ายของเรื่องนี้ บารอน โคเฮนอธิบายว่า “เมื่อตอนที่มาร์ตี้กับผมได้พบกัน เราคุยกันถึงวิธีการต่างๆ ที่ทำให้ผู้ร้ายดูไม่เหมือนผู้ร้าย มาร์ตี้มีไอเดียที่ดึงเรื่องความรักเข้ามา และมันก็น่ารักดีที่ได้ เอมิลี่ มอร์ติเมอร์ ซึ่งเป็นนักแสดงและเป็นผู้หญิงที่น่ารักมาก มาแสดงเป็นผู้หญิงที่ผมสนใจ ดังนั้นจึงมีเรื่องความรัก นายสถานีคนนี้เป็นผู้ชายร้ายกาจ เขาเป็นคนน่ากลัว แต่ลึกๆ ลงไปแล้ว เขาเป็นคนนิสัยดีนะ เพียงแต่ความดีของเขามันอยู่ลึกกกกมากแค่นั้นเอง” 
   สกอร์เซซี่อธิบายว่า “เอมิลี่คือหนึ่งในนักแสดงที่ดีที่สุดที่มีตอนนี้ เธอเป็นคนมีอารมณ์ขัน เธอเป็นตัวเลือกที่วิเศษสุดที่จะมารับบทเป็นสาวที่ซาช่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องอันโดดเด่นที่ทำให้เขาได้ลอง” 
   นายสถานีไม่ใช่ภัยคุกคามหนึ่งเดียวสำหรับอูโก้ เขาถูกนำตัวมาใช้ชีวิตอยู่ในสถานีรถไฟโดยลุงคล็อดของเขา ซึ่งเป็นผู้ชายโง่ๆ ที่มอบหมายหน้าที่ในการดูแลรักษากลไกนาฬิกาให้กับเด็กชายตัวน้อยคนนี้
ผู้กำกับ/ ผู้อำนวยการสร้างสกอร์เซซี่เล่าว่า “ผมเคยร่วมงานกับ เรย์ วินสโตน ใน ‘The Departed’ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เรย์มีบุคลิกร้ายกาจ เขาไม่จำเป็นต้องพูดหรือทำอะไรมากมาย แต่คุณจะรู้สึกได้เลยถึงความร้ายที่ซ่อนอยู่ในตัวละครของเขา ผมคิดว่าเขาคงจะนำความรู้สึกที่เป็นภัยคุกคามมาใส่ตัวละครลุงคล็อดของอูโก้ได้”
   นี่อาจเป็นมากกว่าการแสดง วินสโตนรู้สึกสนุกไปกับประสบการณ์ร่วมที่ได้จากการทำงานกับสกอร์เซซี่ในภาพยนตร์ 3D เรย์เล่าว่า “สำหรับผม ความสนุกในระหว่างการถ่ายทำคือการได้นั่งดูการทำงานของสกอร์เซซี่ เพราะเหมือนกับเขาตกหลุมรักการสร้างภาพยนตร์อีกครั้ง การได้เห็นเขาทำหนัง 3D ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เหมือนการได้เห็นเด็กกับของเล่นชิ้นใหม่ และความรู้สึกที่สัมผัสได้ และได้ส่งผ่านไปยังทีมนักแสดงและทีมงานด้วย”
   สำหรับบทสำคัญอย่างพ่อของอูโก้ สกอร์เซซี่ต้องการนักแสดงที่มีทั้งความอบอุ่นและความดีที่เด็กชายคนนี้จะได้สัมผัสในฉากสั้นๆ เพียงไม่กี่ฉาก
   “ผมเคยร่วมงานกับ จู้ด ลอว์ มาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนเขามารับบท เออร์รอล ฟลินน์ ใน ‘The Aviator’ ผมยังเคยได้เห็นเขาแสดงเป็นแฮมเล็ตในละครเวที เขาเล่นได้เยี่ยมมาก ดูโดดเด่น เขามีอำนาจ และมีเสน่ห์สำหรับบทนี้ ผมชอบที่ได้ทำงานกับเขาในโปรเจ็กต์ที่เขามีบทมากขึ้น” สกอร์เซซี่บอก
   ลอว์บอกว่า “ผมรู้จักหนังสือเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะผมเคยอ่านมันให้ลูกๆ ของผมฟัง ผมเลยกลับไปและอ่านมันใหม่อีกรอบ และผมได้พูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้ และถามพวกเขาถึงความรู้สึกที่พวกเขามีต่อตัวละครพ่อ ผมได้ไปพูดคุยกับช่างทำนาฬิกา และผมได้ดูหุ่นออโตเมตัน ผมจึงมีความรู้ที่จะประกอบสิ่งต่างๆ และถ้าพวกเขาพูดถึงเครื่องมือ ผมรู้เลยว่าพวกมันคืออะไร แต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องของการสร้างเรื่องราวในบทที่อบอุ่นหัวใจในชีวิตของอูโก้ โดยรู้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ในเรื่องนี้ เราจะเจออูโก้ที่อยู่ในโลกที่แสนเย็นชา ผมอยากทำให้แน่ใจว่าคุณจะรู้สึกว่าเขาเคยถูกรักมาก่อน ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ผมจะต้องนำประสบการณ์ของการเป็นพ่อใส่เข้าไปด้วย”
   สำหรับบทมองซิเออร์เลบิสส์ ผู้เปิดร้านหนังสืออยู่ในสถานีรถไฟ ทำให้สกอร์เซซี่มีโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับนักแสดงที่เป็นตำนานตัวจริง เขาเล่าว่า “ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในที่สุดผมก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ คริสโตเฟอร์ ลี ซึ่งเป็นนักแสดงคนโปรดของผมมา 50-60 ปีแล้ว”
   ลี ในวัย  89 ปีเล่าถึงการเดินทางในฝรั่งเศสในปี 1931 ว่า “ผมยังจำได้ดีถึงร้านค้าต่างๆ คาเฟ่ และร้านอาหาร ดังนั้นสำหรับผม มันเหมือนการก้าวกลับสู่อดีตของตัวเอง ตัวละครของผมเป็นเหมือนเทพผู้พิทักษ์ และผมก็ช่วยเปิดโลกให้กับเด็กๆ เหล่านี้ผ่านทางงานวรรณกรรมต่างๆ”
   ลีตื่นเต้นมากที่ในที่สุดแล้วเขาก็สามารถมีชื่อของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อยู่ในลิสต์ผลงานของเขา “ผมไม่ได้จะประจบมาร์ตินหรอกนะ แต่ผมเคยพูดกับเขาว่า ‘ผมอาจจะมีผลงานมากกว่าใครๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในวงการทุกวันนี้ มีคนบอกผมแบบนั้น แต่ผมรู้สึกเสมอว่าประวัติการทำงานของผมยังไม่สมบูรณ์จนกว่าผมจะได้แสดงหนังของคุณ เพราะผมเคยทำงานกับ จอห์น ฮุสตัน, ออร์สัน เวลล์ส, ราอูล วอลช์, สตีเว่น สปีลเบิร์ก, ทิม เบอร์ตัน, ปีเตอร์ แจ็คสัน และผู้กำกับคนอื่นๆ อีกมากมาย แต่ผมยังไม่เคยร่วมงานกับคุณมาก่อน’ แล้วเรื่องนี้ก็ผ่านเข้ามา และเห็นได้ชัดว่ามีบทที่เหมาะกับผม ในที่สุดเวลานี้ก็มาถึงจนได้!” 
   สกอร์เซซี่เลือก เฮเลน แม็คโครรี่ ให้มารับบทสำคัญอย่างมาดามฌ็อนน์ ผู้ให้การสนับสนุนและปกป้องเมลิเย่ส์ในวัยชรา ผู้ซึ่งในอดีต เธอเคยเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา สกอร์เซซี่อธิบายว่า “ผมเคยเห็นเฮเลน ในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Queen’ ในบทมิสซิสแบลร์ และในซีรีส์ทางทีวีของอังกฤษเรื่อง ‘Anna Karenina’ เธอเยี่ยมยอดมาก เราต้องเจอกัน พูดคุยกัน และผมคิดว่าเธอเหมาะกับบทนี้มาก มันเป็นสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน มาดามฌ็อนน์ ผู้ให้กำลังใจกับสามีของเธอ เคยทำงานกับเขานานหลายปี และอยากให้เขาผ่านความเจ็บปวดที่เกิดจากความรู้สึกผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิตไปให้ได้ เธอสุดยอดมากในการวางทั้งเงามืดและสีสันในระดับต่างๆ เข้าไปในบทบาทการแสดงของเธอ”
   บทสำคัญอย่าง เรอเน่ ทาบาร์ด นักวิชาการด้านภาพยนตร์ที่ต้องขอบคุณ อูโก้และอิซาเบลล์ ผู้ทำให้เขาได้ค้นพบตัวเมลิเย่ส์ และได้จัดงานกาล่าเพื่อให้เกียรติกับเมลิเย่ส์ที่สถาบันภาพยนตร์ฝรั่งเศส ตกเป็นบทของนักแสดงผู้เจนทั้งเวทีละครและภาพยนตร์อย่าง ไมเคิล สตัห์ลบาร์ก สกอร์เซซี่ดีใจมากที่ได้กลับมาร่วมงานกับสตัห์ลบาร์กอีกครั้ง “นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ผมกับไมเคิลได้ร่วมงานกัน เขาเคยแสดงหนังโฆษณาของ Freixenet ซึ่งถ่ายทำเพื่อเป็นเกียรติกับอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก และเขายังรับบทนำใน 'Boardwalk Empire' ความสามารถของไมเคิลในฐานะนักแสดงถือว่าน่าพิศวงมาก เขาสามารถเปลี่ยนอารมณ์จากดราม่าไปเป็นตลกได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย เปลี่ยนจากภาพยนตร์ร่วมสมัยไปเป็นภาพยนตร์ย้อนยุค เขายังยอดเยี่ยมในบทเจ้าพ่อมาเฟียในเรื่อง 'Boardwalk' หรือใน 'Hugo' เขาก็ยอดเยี่ยมในบทนักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่แสนสุภาพที่ชื่นชมบูชา จอร์จส์ เมลิเย่ส์ และรู้สึกยกย่องภาพยนตร์ของเขา มันคือความสุขอันยิ่งใหญ่ที่ได้ร่วมงานกับไมเคิลอีกครั้ง”
สีสันของสถานีรถไฟก็คือคนที่ต้องอาศัยคนที่สัญจรไปมาผ่านโถงในสถานีรถไฟ ซึ่งรวมถึง ลีเซ็ทท์ หญิงขายดอกไม้ (มอร์ติเมอร์), เลบิสส์ คนขายหนังสือ (ลี), มองซิเออร์ฟริค สุภาพบุรุษที่เปิดร้านขายหนังสือพิมพ์ และเพื่อนบ้านของเขา มาดามเอมิลี่ ที่เปิดคาเฟ่อยู่ข้างๆ สำหรับบทผู้สูงวัยที่แสนประหลาดคู่นี้ สกอร์เซซี่เลือกสองนักแสดงที่เก่งที่สุดของอังกฤษ อย่าง ริชาร์ด กริฟฟิธส์ (“หนึ่งในนักแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ยังทำงานอยู่ในทุกวันนี้”  สกอร์เซซี่ประกาศ) และฟรานซิส เดอ ลา ทัวร์ (“ผมชื่นชมเธอเสมอมา” สกอร์เซซี่กล่าวเสริม”)
   สกอร์เซซี่กล่าวว่า “ตัวละครที่ จอห์น โลแกน ใส่ลงไปในโลกเล็กๆ ภายในสถานีรถไฟแห่งนี้ กับความรู้สึกที่เขามีต่อปารีสในยุคเวลานั้น ผมเรียกมันว่า ‘เรื่องสั้น’ พวกเขาอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ พวกเขาทำงานอยู่ที่นั่นทุกวัน ตัวละครเหล่านี้ทุกตัวถักทอเข้าออกจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทุกคนพยายามที่จะเชื่อมโยงถึงกัน เหมือนที่อูโก้พยายามเชื่อมต่อกับอดีตของเขา”
   สกอร์เซซี่ใช้วิธีนำเสนอเรื่องสั้นเหล่านั้นด้วยการถ่ายทำมันเหมือนเป็นหนังเงียบ ตัวละครเดินเข้าออกจากเฟรมภาพแทบจะไร้คำพูด เมื่อพวกเขาเกี่ยวพันถึงกัน แค่ได้เห็นพวกเขา มันช่วยเพิ่มบรรยากาศและความรู้สึกของสถานีรถไฟแห่งนี้
   ในบท แม็กซิมิลเลี่ยน สุนัขแสนดุของนายสถานี สุนัขพันธ์โดเบอร์แมนสามตัวที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี ถูกนำตัวมา (แบล็คกี้ถูกใช้ในการถ่ายทำฉากส่วนใหญ่ โดยมี เอนโซ่และบอร์ซาลิโน่ เป็นปีกสลับกันทำหน้าที่แทน) มาธิลดี้ เดอ แค็กนี่ย์ ผู้ฝึกสุนัข ยังเป็นผู้ดูแลการแสดงของสุนัขดัชชุนขนยาว (ซึ่งจะมีบทบาทอยู่ในเรื่องราวของฟลิคและเอมิลี่), แมว (ซึ่งมักจะเกาะอยู่บนกองหนังสือในร้านของเลบิสส์) และนกพิราบอีกหลายตัว (หอนาฬิกาจะไม่มีนกพิราบได้อย่างไร) เดอ แค็กนี่ย์เองก็มักจะแต่งชุดและแสดงอยู่ในกลุ่มคน ใกล้พอที่จะกำกับเหล่าสัตว์ได้ แต่จะต้องไม่เด่นชัดเกินกว่าจะดึงความสนใจและทำลายชอตที่ถ่ายทำอยู่ เมื่อไม่มีคนให้แฝงตัวอยู่ เธอจะแต่งชุด ‘กรีนสกรีน’ เพื่อให้ง่ายต่อการลบภาพเธอออกไปเมื่อถึงเวลาทำงานโพสต์โปรดักชั่น
   ที่เข้ามาเติมตัวละครที่มีความพิเศษมากอีกตัวหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของพลอตเรื่องนี้ ทางทีมผู้สร้างหันไปหาเจ้าแห่งการสร้างของประกอบฉาก เดวิด บัลโฟร์ ผู้ทำงานในการ ‘แก้ปัญหา’ กับผู้สร้างของประกอบฉากอย่าง ดิ๊ก จอร์จ ผู้สร้างหุ่นออโตเมตันของอูโก้
   ดิ๊ก จอร์จเล่าว่า “เขาเป็นตัวละครตัวหนึ่งด้วย มันเหมือนกับการสร้างมนุษย์ตัวเล็กๆ ขึ้นมา” มีการสร้างหุ่นออโตเมตัน 15 ตัวเพื่อใช้ในการถ่ายทำ โดยแต่ละตัวจะมีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันหรือถูกใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันภายในบทภาพยนตร์เรื่องนี้
   จอร์จเล่าต่อไปว่า “ประโยชน์ที่เราได้ในการประดิษฐ์หุ่นตัวนี้ก็คือ เรามีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการ ซึ่งช่างทำนาฬิกายุคแรกๆ ไม่มี อย่างไรก็ดี พวกเขามีประสบการณ์และเข้าใจในระบบกลไกของนาฬิกา หุ่นออโตเมตันในยุคแรกๆ เดินหน้าด้วยระบบจานทรงกระบอก และข้อมูลจะถูกโปรแกรมเอาไว้ ดังนั้น มันจึงสามารถเขียนหรือวาดภาพแบบจำกัด ในกรณีของเรา เพราะมันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันจึงสามารถวาดภาพอะไรก็ได้”
   อาซา บัทเทอร์ฟิลด์ได้พูดถึงเพื่อนร่วมจอที่เป็นหุ่นไม่ค่อยพูดของเขาว่า “มันประหลาดมากเลยนะ เหมือนเขาเป็นนักแสดงอีกคน ตอนผมได้ยินว่าผมจะได้ทำงานกับหุ่นยนต์ในบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมคิดว่ามันคงจะเหมือนตินแมนจากเรื่อง ‘The Wizard of Oz’ แต่มันกลับดูเหมือนคนมากเลย”
   เบน คิงสลี่ย์ตั้งข้อสังเกตว่า “หุ่นออโตเมตันเหมือนมีชีวิตของมันเอง มันดูน่าประทับใจและเป็นภาพที่น่ามองเมื่อเห็นเจ้าหุ่นตัวน้อยนี้หันหัว จุ่มปากกาลงไปในขวดหมึกและวาดภาพใบหน้าดวงจันทร์ ซึ่งผมได้เห็นมันกับตาตัวเอง มีอยู่ฉากหนึ่ง อูโก้เดินมาหาจอร์จส์ ขณะที่อุ้มหุ่นออโตเมตันมา ซึ่งก็คือเด็กคนหนึ่งที่อุ้มเด็กที่หายตัวไปเอาไว้ จากนั้นผมก็อุ้มเจ้าตัวน้อยนี้ไว้ในแขนของผม เราเดินออกไป จากนั้น ก็กลายเป็นเด็กสามคนที่เดินห่างออกไป” 

happy on February 12, 2012, 06:21:11 PM
‘การเห็นความฝันกลางวันแสกๆ’: การค้นหาเมลิเย่ส์ตัวจริง

                “ผมเคยมีเซ็ตดีวีดีที่เป็นภาพยนตร์ของเมลิเย่ส์ และมีภาพของเมลิเย่ส์อยู่บนปกด้วย” สกอร์เซซี่เล่า “วันหนึ่งขณะอยู่ในกองถ่าย เด็กสองคนในภาพยนตร์เรื่องนี้เดินเข้ามา ทั้งคู่อายุ 12 คนหนึ่งได้เห็นกล่องดีวีดีและพูดขึ้นว่า ‘โห นั่นเบน (คิงสลี่ย์) นี่’ ผมตอบไปว่า ‘ไม่ใช่ นั่นคือเมลิเย่ส์ตัวจริงต่างหาก’  ‘คุณหมายถึงเขามีตัวตนจริงๆ เหรอ?’ ผมตอบว่า ‘อ๋อ ใช่’“
   จอร์จส์ เมลิเย่ส์ไม่ใช่คนแรกที่สร้างภาพยนตร์ นั่นเป็นผลงานของสองพี่น้อง ออกุสและหลุยส์ ลูมิแยร์ ผู้คิดสร้าง “ภาพยนตร์เคลื่อนไหว” ในปี 1895 และได้ผลิตภาพยนตร์ออกมาหลายร้อยเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์จริง (หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรกของพวกเขา “L’Arrivée d’un train á La Ciotat” ถึงกับทำให้คนดูกระโดดลุกจากที่นั่งเมื่อรถจักรไอน้ำพุ่งผ่านเฟรมภาพออกมา) อย่างไรก็ดี สองพี่น้องลูมิแยร์เชื่อว่าผลงานสื่อรูปแบบใหม่นี้จะเป็นเพียงแค่จินตนาการที่สุดท้ายจะเลือนหายไป
   จอร์จส์ เมลิเย่ส์คิดต่างออกไป เพื่อหลีกให้พ้นจากการทำธุรกิจทำรองเท้าของครอบครัว เมลิเย่ส์ตัดสินใจขายโรงงานและนำเงินทุนที่มีไปใช้กับการเริ่มต้นอาชีพที่เขาเลือก นั่นก็คือการแสดงกล เขาซื้อโรงละคร (ซึ่งเคยเป็นของที่ปรึกษาของเขา ฌอน-ยูจีน โรเบิร์ต-ฮูดิน นักมายากลที่เคยสร้างแรงบันดาลใจให้กับ เอห์ริช วีสส์ ให้เปลี่ยนชื่อของเขาเป็น แฮร์รี่ ฮูดินี่) และเริ่มต้นการแสดง
   เขาได้เห็นภาพเคลื่อนไหวอันแรกของเขาตอนอายุ 34 ปี สำหรับเขา ศิลปะรูปแบบใหม่นี้คือสัญญาณที่ดีสำหรับมายากล เขาสร้างกล้องและเครื่องฉายของเขาขึ้นมา ด้วยความช่วยเหลือจาก อาร์ดับเบิลยู พอล โดยได้นำเอาชิ้นส่วนจากหุ่นออโตเมตันที่โรเบิร์ต-ฮูดินได้ทิ้งเอาไว้มา ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ของเขาก็คือการถ่ายภาพการแสดงบนเวทีของเขาเอาไว้นั่นเอง อย่างไรก็ดี ไม่นานเขาเริ่มทำการทดลองด้วยการเล่าเรื่องราวและใช้เทคนิคในการตัดต่อภาพ ทำให้เกิดเป็นสเปเชียล เอฟเฟ็กต์แรกเริ่มของภาพยนตร์ อาทิเช่นเทคนิคสต๊อปโมชั่น การถ่ายภาพแบบไทม์แล็ปส์ การใช้สีที่ทาด้วยมือ ต่อมา เขาได้ขายโรงละครของเขาและสร้างสตูดิโอขึ้นมา โดยสตูดิโอทั้งหมดทำจากกระจก (เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านเข้ามาได้ดีที่สุด) 
   “สิ่งที่น่าทึ่งเกี่ยวกับตัวเมลิเย่ส์” สกอร์เซซี่กล่าว “ก็คือเขาสำรวจและสร้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ มันอยู่ในสายตรง จากภาพยนตร์แนวไซไฟและภาพยนตร์แฟนตาซีจากยุค ‘30, ‘40 และ ’50 ขึ้นอยู่กับผลงานของแฮร์รีฮาวเซ่น, สปีลเบิร์ก, ลูคัส, เจมส์ คาเมรอน มันอยู่ที่นั่นทั้งหมดแล้ว เมลิเย่ส์ทำสิ่งที่เราทำกันทุกวันนี้ด้วยคอมพิวเตอร์, กรีนสกรีน และดิจิตอล เพียงแต่เขาทำด้วยกล้องของเขาภายในสตูดิโอของเขา” 
   ผลงานมาสเตอร์พีซของเขา คือภาพยนตร์ความยาว 14 นาที เรื่อง “Le voyage dans la lune” (“A Trip to the Moon”) ถ่ายทำในปี 1902 เขาเขียนบท กำกับ แสดง อำนวยการสร้าง และออกแบบภาพยนตร์มากกว่า 500 เรื่องเมื่อถึงปี 1914 โดยภาพยนตร์ของเขามีเรื่องราวที่หลากหลาย ตั้งแต่ ‘เรื่องจริง’ (เป็นการสร้างเหตุการณ์ปัจจุบันในเวลานั้นขึ้นมาอีกครั้ง) จนถึงภาพยนตร์แฟนตาซี/ ไซไฟ (จาก  “Kingdom of the Fairies” จนถึง “The Impossible Voyage”) ด้วยความยาวตั้งแต่ 1 นาทีจนถึง 40 นาที บ่อยครั้งที่มีคนพูดถึงเมลิเย่ส์ว่าเป็น “บิดาแห่งการสร้างภาพยนตร์เล่าเรื่อง” โดยเขาได้รับเครดิตมากมายในการให้กำเนิดเรื่องแฟนตาซี ไซไฟ และเรื่องราวสยองขวัญ
   เพราะอุบัติเหตุอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับ โธมัส อัลวา เอดิสัน (ซึ่งได้สิทธิ์ในการพิมพ์ฟิล์มของภาพยนตร์ปี  1896 ของเมลิเย่ส์เรื่อง “The House of Devil” และได้นำไปจัดจำหน่ายในอเมริกา ได้รับความสำเร็จมากมาย โดยไม่ต้องมอบผลประโยชน์ใดๆ ให้กับเมลิเย่ส์) ทางเมลิเย่ส์จึงเริ่มทำฟิล์มสำหรับฉายในยุโรปและในอเมริกาไปพร้อมๆ กัน เมื่อเร็วๆ นี้ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์รายหนึ่งได้ผสมผสานฟิล์มของเรื่อง “The Infernal Cake Walk” ทั้งสองเวอร์ชั่นเข้าด้วยกัน และพบภาพที่เป็นเหมือนต้นแบบของภาพยนตร์ 3D   
   ต่อมา ความก้าวหน้าในศิลปะภาพยนตร์ได้ทิ้งเมลิเย่ส์ไว้เบื้องหลัง และด้วยการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาได้เห็นความเสื่อมถอยในความนิยมในตัวเขา ในที่สุด เมลิเย่ส์ก็ทิ้งสตูดิโอของเขา  เผาเสื้อผ้าและฉาก และขายฟิล์มภาพยนตร์ของเขาที่ถูกนำไปหลอมเพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านเคมี
   เพื่อหาเลี้ยงตัวเขาเอง ภรรยาคนที่สอง และหลานสาวของเขา เมลิเย่ส์ต้องทำงานในบู้ธขายของเล่นและลูกกวาดอาทิตย์ละ 7 วันที่สถานีรถไฟ Gare Montparnasse ในกรุงปารีสในทศวรรษ 1920 เขายังคงถูกลืมจนกระทั่งชุมชนของกลุ่มเซอร์เรียลลิสท์ฝรั่งเศส “ค้นพบ” ผลงานของเขา และรู้สึกผูกพันกับภาพจินตนาการที่เหมือนฝันของเขา ความสนใจที่เกิดขึ้นใหม่นี้นำไปสู่งานกาล่าในกรุงปารีส โดยมีเมลิเย่ส์เป็นตัวเอก และมีการฉายผลงานภาพยนตร์ของเขามากมายหลายเรื่อง เขากำลังสร้างภาพยนตร์ใหม่เรื่อง “The Ghosts of the Metro” ตอนที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1938   
   สกอร์เซซี่เล่าว่า “ตอนที่ผมได้อ่านหนังสือเล่มนั้นครั้งแรก ผมไม่รู้เลยว่าสุภาพบุรุษชราในร้านขายของเล่นจะกลายเป็น จอร์จส์ เมลิเย่ส์ มันคือเรื่องจริง เขาถังแตก และลงเอยด้วยการทำงานในร้านขายของเล่นที่ Gare Montparnasse นานถึง 16 ปี”
   เบน คิงสลี่ย์ อธิบายว่า “ในภาพยนตร์ของเรา การคิดพลอตเรื่องขึ้นอย่างระมัดระวังที่สุด มีคนมากมายเชื่อว่าจอร์จส์เสียชีวิตไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ที่จริง เขาเก็บตัวอยู่ในร้านของเขา มันถูกสร้างขึ้นอีกครั้งจากภาพถ่ายและจากผู้คนที่เคยสนิทกับเขา การสัมผัสเพียงเบาๆ ของประวัติศาสตร์มีความเปราะบางและมีเสน่ห์อย่างมาก”


การสร้างสมดุลระหว่างความเป็นจริงและตำนาน: ปารีสในปี 1931 ของสกอร์เซซี่

                เพื่อสร้างโลกของกรุงปารีสในช่วงต้นทศวรรษ  ’30 ที่ถูกมองผ่านสายตาของ อูโก้ คาเบร่ต์ ตัวละครที่ถูกคิดสร้างขึ้นมา สกอร์เซซี่ตั้งเป้าที่จะสร้างสิ่งที่เขาได้บอกเอาไว้ว่า “เป็นสมดุลระหว่างความเป็นจริงกับตำนาน” เขาได้นำนักค้นคว้า มาเรียนน์ โบเวอร์ เข้ามา ซึ่งเธอเป็นคนใส่ความเป็นจริงเข้าไป โดยได้รับการสนับสนุนจากรูปถ่ายทางประวัติศาสตร์ เอกสาร และฟิล์มจากยุคนั้น โบเวอร์ได้บีบการค้นคว้าของเธอให้แคบลงเหลือแค่ในช่วงปี 1925 จนถึง 1931
   เพื่อเป็นการศึกษาสำหรับแผนกสร้างสรรค์ต่างๆ สมาชิกของทีม Hugo ได้นั่งดูภาพยนตร์ของเมลิเย่ส์ 180 เรื่อง ที่มีความยาวประมาณ 13 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับภาพยนตร์ของ เรอเน่ แคลร์ และแคโรล รี้ด ซึ่งเป็นผู้นำภาพยนตร์จากยุค 1920 และ 1930 พวกเขายังดูภาพยนตร์ของพี่น้องลูมิแยร์ และภาพยนตร์เงียบจากยุค ’20 เพื่อศึกษาสีและโทนของยุคนั้น ข้อมูลอ้างอิงไม่ได้จำกัดอยู่ที่ “ภาพเคลื่อนไหว” เท่านั้น แต่พวกเขายังศึกษาภาพนิ่งของ Brassaï (ช่างภาพชาวฮังกาเรี่ยน Gyula K. Halász ผู้เก็บภาพปารีสในระหว่างสงครามเอาไว้) เพื่อศึกษาภาพลักษณ์ในยุคนั้นของท้องถนนในกรุงปารีส และภาพลักษณ์และพฤติกรรมของนักแสดงแบ็คกราวน์
   ขณะที่มีการเก็บภาพโลเกชั่น การถ่ายทำส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่โรงถ่ายเชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ในประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งโปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ดังเต้ เฟอร์เร็ตติ จะคอยดูแลการสร้างโลกของอูโก้ ซึ่งรวมถึงสถานีรถไฟขนาดเท่าของจริงที่มีร้านค้าทุกอย่าง, ตึกอพาร์ตเม้นต์ของเมลิเย่ส์ สตูดิโอที่ทำจากกระจกของเขา ตึกที่โดนระเบิด ร้านไวน์ที่เต็มไปด้วยสินค้า และสุสานขนาดใหญ่ที่มีป้ายหินและอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่
   หัวใจของเรื่องนี้ ซึ่งก็คือตัวสถานีรถไฟ คือการทำงานร่วมกันของงานออกแบบและโครงสร้างต่างๆ ที่ถูกยกมาจากสถานีรถไฟหลายแห่งในยุคนั้น ซึ่งหลายแห่งก็ยังมีอยู่ ซึ่งถือว่าช่วยทีมศิลปินได้มาก แต่น่าเสียดายที่สถานีรถไฟ Gare Montparnasse ถูกทำลายไปแล้ว และได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี 1969 ตามที่สกอร์เซซี่บอก “สถานีของเราคือการผสมผสานของสถานีรถไฟหลายแห่งในกรุงปารีสเวลานั้น ปารีสของเราก็คือปารีสในยุคเฟื่องฟู เป็นความประทับใจที่เรามีต่อปารีสในเวลานั้น”
   ฉากอันน่าประทับใจของเฟอร์เร็ตติยิ่งดูเนียนไปกับยุคสมัยนั้นมากขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากผู้ตกแต่งฉาก ฟรานเชสก้า โล เชียโว่ ผู้ยอมรับหน้าชื่นตาบานว่า งานของเธอคือการเดินทางไปเยือนตลาดนัดต่างๆ ทั้งในและรอบๆ กรุงปารีส เธอยังดูแลการผลิตภาพโปสเตอร์จากปี 1930-31 เพื่อใช้ในสถานีและตามฉากด้านนอกของตึกต่างๆ องค์ประกอบด้านการออกแบบยังได้ข้อมูลที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ฝรั่งเศสยอดเยี่ยมหลายเรื่อง
   ประสบการณ์จากวัยเด็กของเฟอร์เร็ตติยังเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองด้วย ตอนอายุ 8 ปี พ่อของเพื่อนสนิทของเขาเคยทำงานกับนาฬิกาและเมื่อเขาเริ่มใส่พวกเขาลงไปในงานออกแบบ “ความทรงจำของผมเกี่ยวกับสิ่งนี้ก็กลับคืนมา ผมเคยลืมไปหมดทุกอย่างแล้ว” (การก่อสร้างนาฬิกาเป็นฝีมือของ จอสส์ วิลเลี่ยมส์ จากทีมสเปเชียล เอฟเฟ็กต์)
   เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว โถงใหญ่ของสถานีรถไฟก็อัดอยู่เต็มโรงถ่าย ที่มีความยาว  150 ฟุต และมีความกว้าง 120 ฟุต และสูง 41 ฟุต สภาพแวดล้อมนี้ทำให้สกอร์เซซี่และผู้กำกับภาพ โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน ถ่ายความเคลื่อนไหวได้ทั้งหมด รวมถึงการปะทะกันของเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในบทภาพยนตร์ของโลแกน ซึ่งรวมถึงการไล่ล่าระหว่างนายสถานีกับอูโก้ด้วย
   แซนดี้ พาวเวลล์ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ยังกลับไปมองดูอดีตเพื่อหาข้อมูลและแรงบันดาลใจ แต่ขณะเดียวกันเธอก็เล่นกับไอเดีย “ความประทับต่อกรุงปารีส” ของสกอร์เซซี่ เสื้อผ้าวินเทจมีบทบาทสำคัญ ทั้งในฐานะข้อมูลอ้างอิงและการใช้ประโยชน์จริง แต่สำหรับเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยนักแสดง มันจะต้องมีความทนทาน หรือถูกสร้างขึ้นมาใหม่
   พาวเวลล์พบเสื้อสเวตเตอร์ลายทางที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของอูโก้ จากนั้นเธอได้นำมาลอกแบบและตัดเย็บขึ้นมา (เสื้อผ้าที่เหมือนกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตัวละครหลายต่อหลายตัวที่จะต้องปรากฎตัวในชุดเดิมๆ ตลอดทั้งเรื่อง) เมื่อ เฮเลน แม็คโครรี่ ปรากฏโฉมในรูปลักษณ์ของดาราในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของเมลิเย่ส์ เธอใส่กระโปรง (จากคอสตูมเก่าแก่ หรือชุดราตรีจากยุค ’40 หรือ ’50) และเสื้อรัดรูป เสื้อผ้าของคิงสลี่ย์ในบทเมลิเย่ส์ เป็นการลอกแบบโดยตรงจากรูปถ่าย จากนั้นได้ถูกนำมาเสริมฟองน้ำ ไม่ใช่เพื่อทำให้คิงสลี่ย์ดูมีเนื้อมีหนังมากขึ้น แต่เพื่อเตือนให้เขาอย่ายืดตัวตรง
   แต่ใช่ว่าประวัติศาสตร์จะเป็นตัวกำหนดทุกอย่าง สำหรับชุดฟอร์มของนายสถานี พาวเวลล์ไม่อยากใช้สีเขียวแบบขวดน้ำ แต่เธอเลือกที่จะใช้สีฟ้าเทอร์คอยส์แทน 

happy on February 12, 2012, 06:22:36 PM
‘มันคือภาพปริศนา เมื่อคุณรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน บางสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น’: การถ่ายทำโลกของอูโก้ ในรูปลักษณ์ 3D

               มาร์ติน สกอร์เซซี่ไม่อายเลยที่จะแสดงความชื่นชมที่เขามีต่อการสร้างภาพยนตร์ 3D เขาใช้เวลาหลายปีในช่วงแรกๆ ที่ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในเวลาที่ 3D ถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์หลายเรื่องในทุกแนว เขาเล่าว่า “มันเป็นปี 1953 และภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผมได้ดูก็คือ ‘House of Wax’ ที่กำกับโดย อังเดร เดอ ท็อธ มันอาจเป็นภาพยนตร์ 3D ที่ดีที่สุดที่ถูกสร้างออกมา”
   อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปีต่อมาต่างหากที่สกอร์เซซี่บอกว่าสร้างผลกระทบต่อการโต้แย้งในเรื่องของการใช้ 3D ในการช่วยเสริมเรื่อง เขาเล่าว่า “การที่ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก ใช้เทคนิค 3D ในเรื่อง ‘Dial M for Murder’ ถือว่าฉลาดมาก แทนที่จะใช้มันเป็นเอฟเฟ็กต์ มันกลับเกี่ยวพันกับเนื้อเรื่อง ใช้มันเป็นองค์ประกอบในการเล่าเรื่อง สิ่งที่ผมค้นพบในการทำงานกับเทคนิค 3D ก็คือ มันช่วยเสริมตัวนักแสดงนะ เหมือนการได้ดูรูปปั้นเคลื่อนไหวได้ มันไม่แบนราบอีกต่อไปแล้ว ด้วยการแสดงที่เหมาะเจาะ และการเคลื่อนไหวที่ลงตัว มันกลายเป็นการผสมผสานของโรงละครกับภาพยนตร์ แต่ก็แตกต่างไปจากทั้งสองสื่อ นั่นคือสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้ผมได้เสมอ ผมฝันถึงการได้สร้างภาพยนตร์แบบ 3D เสมอมา” 
   ในฐานะส่วนหนึ่งของผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ 3D ทางทีมงานได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “House of Wax” และ “Dial M for Murder” สำหรับ โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน ผู้กำกับภาพคู่ใจของสกอร์เซซี่ มันคือครั้งแรกที่เขาได้ทำงานกับภาพยนตร์รูปแบบนี้เช่นกัน ตามที่สกอร์เซซี่บอก “บ็อบเป็นศิลปินที่เก่งมาก เขาไม่เคยสร้างภาพยนตร์ 3D เลย เราต่างผลักดันกันอยู่เสมอ เราอยากจะทดลอง เราทั้งคู่เลยได้ค้นพบอะไรมากมายตลอดเวลาที่ทำงานไป”
   “ภาพแรกที่ผมมองเห็นขึ้นมาในหัวขณะที่ผมเริ่มต้นทำงานกับ ‘Hugo’“ สกอร์เซซี่กล่าวต่อ “ก็คือภาพของอูโก้วิ่งไปและหันกลับมามองด้านหลัง มีความรู้สึกหวนไห้อยู่ในดวงตาของเขา ใบหน้านั้นดูใกล้ชิดมากขึ้นเป็นพิเศษด้วยเทคนิค 3D เรามองเห็นผู้คนในแบบที่แตกต่างออกไป พวกเขาใกล้ชิดเรามากขึ้น ผมรู้สึกว่า 3D ช่วยสร้างความผูกพันที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างคนดูและตัวละคร”
   โรเบิร์ต ริชาร์ดสันกล่าวว่า “’Hugo’ มีความท้าทายที่ยากจะหาอะไรเสมอเหมือน ความหวังของผมก็คือการปลุกความโรแมนติคของกรุงปารีสในยุค 1930 ขึ้นมา แต่ต้องไม่แยกตัวออกจากปัจจุบัน ภาพยนตร์ฝรั่งเศสมีพื้นที่พิเศษอยู่ในหัวใจผมเสมอ และด้วยความเป็นไปได้ของ 3D ผมหวังที่จะสร้างความมหัศจรรย์ที่เมลิเย่ส์ได้สร้างผลงานของเขาขึ้นมา”
   เพื่อช่วยในเรื่องความท้าทายในการถ่ายทำในมิติที่ถูกเพิ่มเข้ามา ดิมิทรี พอร์เทลลี่ ผู้สร้างภาพ 3D ได้ถูกว่าจ้างให้เข้ามาทำงาน ระหว่างการถ่ายทำ เขาจะทำงานจากจอมอนิเตอร์พิเศษ โดยเขาจะใช้รีโมทคอนโทรลในการปรับแต่งตาของกล้องแต่ละตัวด้วยสลิง 3D พอร์เทลลี่อธิบายว่า “3D ช่วยเสริมทำให้ประสบการณ์ในการมองดีขึ้น มันสร้างโลกที่เราใกล้ชิดกับความเป็นจริงมากกว่าแต่ก่อน ทำให้คนดูได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเนื้อเรื่องมากขึ้น”
   สำหรับฉากที่อูโก้และอิซาเบลล์ท่องไปในห้องสมุด ถ่ายทำกันที่ Bibliothèque Sainte-Geneviève ริชาร์ดสันได้จัดเตรียมเครนให้แสงเอาไว้ด้านนอกหน้าต่างเพื่อทดแทนแสงอาทิตย์ แต่เมื่อถึงเวลาถ่ายทำจริง ดวงอาทิตย์กลับสาดส่องเข้ามาในห้องสมุด ทางหน้าต่างบานหนึ่ง พอร์เทลลี่เล่าว่า “บรรยากาศถูกเสริมด้วยควันสีขาว ดังนั้นเราจึงได้เห็นถึงลำแสงที่แยกเป็นสีต่างๆ บนจอ 3D ของผม มันดูคล้ายกับลำแสงของทองคำขาว จากประสบการณ์ของผม ภาพนี้จะสำเร็จได้ก็ด้วยการถ่ายทำแบบ 3D เท่านั้น การถ่ายทำแบบ 3D แท้ๆ เป็นการจับภาพ 3D ในกองถ่ายด้วยสลิงที่ควบคุมด้วยมอเตอร์ ผมสามารถขยับเลนของกล้องแต่ละตัวรอบๆ วัตถุหนึ่งจากสองตำแหน่งที่แตกต่างกัน เหมือนดวงตาที่อยู่บนใบหน้าของคุณ “มองดู” จากมุมที่ต่างกัน กระบวนการนี้ทำให้เราสามารถสร้างวัตถุที่มีรายละเอียด และทำให้ภาพทุกภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้ดูจับต้องได้อย่างวิเศษที่สุด”
   บรรยากาศของสถานีรถไฟก็ได้รับการสร้างขึ้นมาในแบบเดียวกัน โดยทำให้คนดูรู้สึกได้ถึงความเก่าแก่และความรู้สึกของสถานที่แห่งนั้น “ฝุ่น” ถูกสร้างขึ้นมาจากขนเป็ดชิ้นเล็กๆ และ “ควัน” จากน้ำแข็งแห้งได้ถูกเสริมเข้ามาด้วย
   “Hugo” ยังเป็นการเดินทางแบบ 3D สำหรับมือลำดับภาพ เธลม่า สคูนเมกเกอร์ ด้วย เธอรู้สึกว่ารูปแบบสามมิตินี้ได้ช่วยเพิ่มรายละเอียดให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอบอกว่า “การที่สกอร์เซซี่และริชาร์ดสันใช้เทคนิค 3D ใน ‘Hugo’ ดูเหมือนจะโอบรับเหล่านักแสดงเอาไว้ มันมีผลอันทรงพลังต่ออารมณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย"
   แต่ “Hugo” เป็นมากกว่าเรื่องราวการผจญภัยของเด็กชายที่มีภารกิจที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง มันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้นพบและจุดยืนของศิลปินตัวจริงของวงการภาพยนตร์ยุคแรกๆ คนดูจะได้เห็นภาพแฟลชแบ็คหน้าที่การงานของเมลิเย่ร์ จากการเป็นนักมายากลไปสู่การเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ และกลายเป็นคนเฝ้าร้านค้า ฉากต่างๆ ของเมลิเย่ส์คือฉากสำคัญ เพราะเขามีผลงานเป็นภาพยนตร์มากกว่า 500 เรื่อง สกอร์เซซี่จึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการคัดกรองรายชื่อภาพยนตร์ที่มีอยู่ยาวเหยียดให้เหลือเพียงกลุ่มเดียว ในที่สุด เขาได้เลือกภาพยนตร์เรื่องหนึ่งขึ้นมาเพื่อสร้างเป็น “ฉากเบื้องหลังการถ่ายทำ” แบบจัดเต็ม นั่นก็คือภาพยนตร์ปี 1903 เรื่อง “Kingdom of the Fairies” สกอร์เซซี่เล่าว่า “ผมอยากแสดงให้เห็นสามหรือสี่ฉากจากภาพยนตร์เรื่องนั้น แต่กลับลงเอยด้วยการเลือกฉากที่เกิดขึ้นใต้ทะเล เราคิดกันว่ามันคงน่าสนใจที่จะแสดงให้เห็นว่าเขาถ่ายทำฉากใต้น้ำสำเร็จได้อย่างไร มันง่ายแค่ไหน และมันมีเสน่ห์แค่ไหน”
   สตูดิโอกระจกของเมลิเย่ส์ถูกสร้างขึ้นที่ลานจอดรถของเชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ ในประเทศอังกฤษ โดยสร้างจากงานออกแบบที่มีอยู่แล้ว และรูปถ่ายของตัวอาคารต้นแบบ Cinémathèque Française เป็นผู้จัดหาแปลนของเมลิเย่ส์สำหรับการถ่ายทำ “ใต้น้ำ” ทีมงานของสกอร์เซซี่สามารถสร้างแท้งก์ และติดตั้งกล้องเพื่อเลียนแบบเอฟเฟ็กต์ที่เมลิเย่ส์เคยทำเอาไว้     
   ร็อบ เลกาโต้ วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้คิดหาวิธีที่จะทำให้ได้ภาพเอฟเฟ็กต์อย่างที่เมลิเย่ส์เคยสร้างเอาไว้ด้วยการใช้เพียงเครื่องมือและเทคนิคที่หาได้ในเวลานั้น เลกาโต้เล่าว่า “นี่คือโปรเจ็กต์ที่มหัศจรรย์จริงๆ กับการมีโอกาสได้กลับไปยังจุดกำเนิดของธุรกิจภาพยนตร์โดยมีมาร์ตี้เป็นผู้กำกับ สิ่งที่ผมทำในงานของผมก็คือวิชวลเอฟเฟ็กต์ และนี่คือ ‘บิดาแห่งงานวิชวลเอฟเฟ็กต์’ เลยนะ เขาสร้างภาพพวกนี้ขึ้นมาด้วยกลเม็ดทางกล้อง และเขาก็มีความรักในรูปแบบศิลปะแขนงนี้ มันเป็นส่วนสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้”
   สกอร์เซซี่ยังได้แสดงภาพผลงานของเมลิเย่ส์เอาไว้ในฐานะ “ภาพยนตร์ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้” อย่างเช่นเรื่อง “A Thousand and One Nights” ซึ่งมีกลุ่มโครงกระดูกเต้นระบำที่โผล่ออกมาเพื่อจะหายตัวไปเมื่อเผชิญกับนักผจญภัยที่มีดาบ ตัวสกอร์เซซี่เองยังร่วมแสดงในบทซาตาน และคิงสลี่ย์ปรากฏตัวในการเลียนแบบที่สมบูรณ์แบบที่สุด และหายตัวไปผ่านประตูกลที่พื้น อีกหลายฉากคือฉากที่คล้ายๆ กันในภาพยนตร์หลายเรื่อง และมังกรก็เป็นการสร้างขึ้นจากหลายวิธีประกอบกัน
   เมื่อใดก็ตามที่ภาพยนตร์ของเมลิเย่ส์ถูกสกอร์เซซี่ยกมาขึ้นจอ “ตรงๆ” การทำงานหลายชั่วโมงหมดไปเพื่อสร้างภาพที่สมจริง ตั้งแต่การปรากฏตัวของนักแสดง และการเคลื่อนไหวของพวกเขา จนถึงเสื้อผ้า แสง และเอฟเฟ็กต์ต่างๆ  ภาพฟุตเตทเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาใหม่แบบเฟรมต่อเฟรม และเต็มไปด้วยรายละเอียด เลกาโต้เล่าว่า “ผมคงบอกไม่ได้หรอกว่าเราใช้เวลานานแค่ไหนในการสร้างจิตวิญญาณของเมลิเย่ส์ในสตูดิโอของเขา เสื้อผ้า การแต่งหน้า การจัดแสง ผู้ช่วยผู้กำกับที่เป็นคนกำหนดจุดและการแสดงออกของนักแสดงในแบบที่เห็นกันในตัวภาพยนตร์ต้นแบบ มันออกมาถูกต้องที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แบบภาพต่อภาพเลยทีเดียว” 
   ความสมจริงและความถูกต้องคือสิ่งสำคัญที่สุด และทางทีมผู้สร้างทำทุกอย่างเพื่อทำให้ภาพออกมา “จริง” ตัวอย่างเช่นช่างเย็บผ้าที่เห็นกำลังทำงานอยู่ในภาพยนตร์ของ จอร์จส์ เมลิเย่ส์ คือทีมงานเย็บผ้าของ “Hugo” จริงๆ สกอร์เซซี่สารภาพว่า “มันเป็นงานใหญ่จริงๆ เราไม่รู้ตัวเลยว่ามันมีความท้าทายขนาดไหน แต่มันสนุก เรารู้สึกเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเราทำงานอยู่ในโรงถ่ายของเมลิเย่ส์ นั่นคือการเฉลิมฉลองให้กับพวกเราทุกคน และถือเป็นเกียรติที่ได้สร้างผลงานคลาสสิกเหล่านั้นในเวอร์ชั่นของพวกเราขึ้นมา”
   ในขณะคิงสลี่ย์ได้รับแรงบันดาลใจจากการดูภาพยนตร์ที่มีอยู่ของเมลิเย่ส์ เขาพบแรงบันดาลใจที่อยู่ใกล้มือยิ่งกว่า “ผมนั่งดูภาพยนตร์ของจอร์จส์ทุกเรื่อง แต่มันไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมในการเตรียมตัวและค้นคว้า นั่นถือว่าน้อยมาก มันไม่ได้สอนคุณเลยว่าการเป็นจอร์จส์เป็นอย่างไร แต่จากนั้น การได้ทำงานกับมาร์ตี้ ซึ่งเป็นอัจฉริยะ ผมรู้สึกว่าต้นแบบบทบาทของผมที่จะเล่นเป็นจอร์จส์ เมลิเย่ส์ ก็น่าจะเป็น มาร์ติน สกอร์เซซี่  เขาอยู่ที่นั่นแล้ว ทำไมจะต้องไปมองหาอื่นไกลด้วย ผมไม่ต้องออกไปและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคนที่ตายไปนานแล้ว ผมพูดคุยกับเขาไม่ได้ ผมรู้สึกว่าผมอยู่กับผู้บุกเบิกของวงการภาพยนตร์ ในห้องเดียวกัน วันแล้ววันเล่า นั่นคือสิ่งที่ผมมองดู”
   เมลิเย่ส์ได้สร้างเอฟเฟ็กต์ของเขาขึ้นมาด้วยการลองผิดลองถูก เขาถ่ายทำ และเฝ้ารอให้ภาพยนตร์ถูกพัฒนาไปและลำดับภาพเข้าด้วยกัน จากนั้นก็นั่งดู มันอาจได้ผลหรือไม่ได้ผล เลกาโต้เองก็หันไปใช้เทคนิค “ลองผิดลองถูก” เพื่อสร้างความมหัศจรรย์บนจอภาพยนตร์ให้กับสกอร์เซซี่ โดยเฉพาะฉากใหญ่ที่เกี่ยวพันกับหัวรถจักรที่พุ่งผ่านสถานีและระเบิดหน้าต่างบานใหญ่ออกไปสู่ถนนของกรุงปารีส 
   มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นที่ Gare Montparnasse เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ปี 1895 ภาพชวนช็อคของหัวรถจักรที่อยู่ในถนน โบกี้ด้านหลังที่ติดอยู่กับซากหน้าต่างขนาดใหญ่ กลายเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับเลกาโต้ เขาอธิบายว่า “สัญชาตญาณแรกของผมก็คือการถ่ายภาพฉากนั้นเอาไว้ ผมมีประสบการณ์ที่ดีในการถ่ายโมเดลจำลองใน ‘Titanic’ และ ‘Apollo 13’ ดังนั้น เราจึงสร้างรถไฟและหน้าต่างบานใหญ่นั้นขึ้นมา [ในอัตราส่วน 1:4] และจัดระบบกลไกแบบเดียวกัน และมันเกิดขึ้นในแบบเดียวกับการพุ่งชนครั้งประวัติศาสตร์ของหัวรถจักร สุดท้าย เราก็วางตำแหน่งที่บิดงอของรถไฟเอาไว้เหมือนในรูปถ่ายนั่นเลย”
   การก่อสร้างรถไฟขนาด 15 ฟุต และหน้าต่างสถานีรถไฟที่สูง  20 ฟุต ทำให้ทีมออกแบบและทีมวิศวกรต้องใช้เวลาสร้างนานถึง 4 เดือน โมเดลของรถจักรยานจำลองและกระเป๋าถูกเพิ่มเข้าไปตามถนนที่ตั้งอยู่ด้านล่างของหน้าต่าง เหตุการณ์รถไฟพุ่งชนเกิดขึ้นภายในเสี้ยววินาที แต่เมื่อมันถูกเสริมด้วยเอฟเฟ็กต์อื่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นดูเหมือนจริงมาก
   สำหรับสองฉาก สกอร์เซซี่ได้นำกล้อง 3D ของเขาไปถ่ายทำที่โลเกชั่น เพื่อเพิ่มความรู้สึกย้อนยุคและความรู้สึกสมจริงให้มีมากขึ้น หลายฉากที่ จู้ด ลอว์ รับบทเป็นพ่อของอูโก้ ขณะทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์อันเลื่องชื่อของลอนดอนอย่าง พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์ อัลเบิร์ต ที่ตั้งอยู่ในกรุงปารีส อิซาเบลล์และอูโก้ยังได้ไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ในปารีส เป็นโรงภาพยนตร์จริงๆ โดยล็อบบี้ของโรงภาพยนตร์แห่งนั้นได้รับการตกแต่งด้วยภาพโปสเตอร์เก่าแก่จากภาพยนตร์เงียบ และภาพยนตร์ที่เข้าฉายในช่วงปี 1930 และ 1931 โรงละครของปารีสที่จอร์จส์แสดงอยู่ อันที่จริงแล้วคือห้องเล็คเชอร์ขนาดใหญ่ที่ซอร์บอน สถานที่ประวัติศาสตร์ในละติน ควอร์เตอร์ ในเขตบริหารที่ 5 ของปารีส ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้เก่าแห่งศตวรรษ จอร์จส์ในวัยหนุ่มกำลังทำให้ฌ็อนน์ขึ้นไปลอยตัวอยู่ในภาพแฟลชแบ็ค และฉากนั้นถ่ายทำกันที่โรงละคร Athénée Théâtre Louis-Jouvet ในปารีส (ภาพลักษณ์ของฉากนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพโปสเตอร์ย้อนยุค)
   ปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี 1931 เห็นเด่นชัดได้ในทุกแง่มุมของ “Hugo” ตั้งแต่เสื้อผ้า ฉาก การตกแต่ง และสไตล์ ดนตรีประกอบของ ฮาวเวิร์ด ชอร์ เปรียบได้กับจดหมายรัก ทั้งต่อวัฒนธรรมของฝรั่งเศสในทศวรรษ 1930 จนถึงยุคเริ่มต้นของวงการภาพยนตร์ ดนตรีของชอร์ถูกแต่งขึ้นโดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม เพื่อสร้างความรู้สึกของโทนดนตรีที่มีหลายระดับ ภายในกลุ่มซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ก็ยังมีกลุ่มดนตรีที่เล็กลงไปอีก เป็นแบนด์เต้นรำของฝรั่งเศส “ผมอยากสร้างความลึกของเสียงที่เข้ากับความลึกของภาพ เป็นการผสมรวมกันของแสงและเสียง” ชอร์บอก

happy on February 12, 2012, 06:24:46 PM

‘การเดินทางกลับบ้าน’

               สำหรับ เบน คิงสลี่ย์ การมอบชีวิตให้กับ “บิดาแห่งการสร้างภาพยนตร์แนวเล่าเรื่อง” คือหนึ่งในประโยชน์ที่ได้จากการแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง “Hugo” คิงสลี่ย์บอกว่า “ตัวละครมีความหลากหลาย และนักแสดงที่มารับบทเหล่านี้ก็มีพรสวรรค์อย่างมาก พวกเขาพบทั้งความสนุก ความรุ่งโรจน์ และเรื่องประหลาดใจที่ปกติจะเจอได้ในภาพยนตร์การ์ตูน แต่มันกลับมากเกินไปกว่านั้น มาร์ตินใช้ความประหลาดโดยธรรมชาติและพลังของเหล่านักแสดงเพื่อให้ได้ผลอันยอดเยี่ยม มันมีความลึกลับ ตลก และประทับใจ ฉากงดงามจนแทบลืมหายใจ ของเล่นในร้านของผมก็งดงามมาก สีสัน ภาพสามมิติ มันให้ความบันเทิงอย่างมาก และวิเศษสุดในแง่ของการเป็นงานวรรณกรรม”
   นับแต่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “A Trip to the Moon” ครั้งแรก จนถึงการได้เห็นนิยายที่มีภาพประกอบของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ไบรอัน เซลซ์นิครู้สึกขอบคุณและรู้สึกมหัศจรรย์ใจมาก “การได้นั่งดูหนังเรื่องนี้ ผมคิดถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กที่นั่งวาดรูปทั้งวันทั้งคืน และผมก็คิดถึง มาร์ติน สกอร์เซซี่ ที่อยู่ในโรงภาพยนตร์กับพ่อของเขา และเธลม่า สคูนเมกเกอร์ ที่โตมาในอารูบา และจอห์น โลแกน ที่นั่งดู ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ ในบท แฮมเล็ต และดังเต้ เฟอร์เร็ตติ ที่นั่งอยู่ในหอนาฬิกาในอิตาลี ผมรู้สึกพิศวงต่อจุดหักมุมพลิกผันที่คาดไม่ถึงที่นำพวกเรามาอยู่ที่นี่ พวกเด็กๆ จากทั่วโลกที่เติบโตและมาอยู่ด้วยกัน เพื่อร่วมมือกันสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็กผู้โดดเดี่ยวสองคน ผู้ค้นพบเป้าหมายของพวกเขาในสถานีรถไฟในปารีส”
   สกอร์เซซี่กล่าวปิดท้าย “ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ ผมรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกสร้างขึ้นในภาพยนตร์ทุกวันนี้เริ่มต้นด้วยจอร์จส์ เมลิเย่ส์ และเมื่อผมได้กลับไปดูภาพยนตร์ต้นแบบของเขา ผมรู้สึกประทับใจและได้แรงบันดาลใจ เพราะภาพยนตร์พวกนั้นยังคงให้ความรู้สึกตื่นเต้นจากการค้นพบตลอด  100 ปีนับจากที่พวกมันถูกสร้างขึ้นมา และเพราะภาพยนตร์เหล่านี้เป็นหนึ่งในบรรดาภาพยนตร์ยุคแรกๆ ที่แสดงถึงพลังของรูปแบบศิลปะที่ผมรัก และเป็นสิ่งที่ผมอุทิศชีวิตให้เพื่อสิ่งที่ดีขึ้นในชีวิตของผม”