KTAMเปิดขาย2กองทุนตราสารหนี้ 3เดือนชูผลตอบแทน3.15%ต่อปี
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 25 ( KTSUPB25 ) ระหว่างวันที่ 18 -24 มกราคม 2555 อายุโครงการ 3 เดือน โดยกองทุนมีนโยบายลงทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตราสารหนี้ในประเทศ ประกอบไปด้วย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝาก / ตราสารการเงินระยะสั้นธนาคารพาณิชย์ไทย และตั๋วแลกเงินบริษัทเอกชนไทย 35% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารต่างประเทศ ได้แก่ เงินฝากประจำ First Gulf Bank (FGB) เงินฝากประจำ Unoin National Bank (UNB) เงินฝากประจำ Bank of China และ MTN ของ ICBC Asia Ltd. สกุลUSD ซึ่งเงินลงทุนในต่างประเทศจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน และผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.15% ต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ท อินเวส 6เดือน4 ( KTSIV6M4 ) ประเภท Roll Over เสนอขายตั้งแต่วันที่ 16-20 มกราคม 2555 อายุโครงการ 6 เดือน เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในเงินฝาก /บัตรเงินฝาก / ตั๋วแลกเงินของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และภาคเอกชนที่มีอันดับเครดิตตั้งแต่ BBB+ ขึ้นไป ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.10% ต่อปี
ภาวะการลงทุนตราสารหนี้ มีแรงขายทำกำไรโดยเฉพาะตราสารรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปี ของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ที่ปนะชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 26 มกราคม 2555 จะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 3.00% ส่วนในต่างประเทศ ยังได้รับอิทธิพลจากภาวะเศรษฐกิจ โดย ECB ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00% เพื่อรอดูผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรปลง ยกเว้น ประเทศเยอรมัน ผลดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ มีความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนของความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและตั๋วแลกเงินระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ มีแนวโน้มจะปรับลดลงอีกจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และผลต่อเนื่องจากการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินฯ มาอยู่ภายใต้การจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ภาระการส่งเงินสมทบสถาบันประกันเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการเริ่มเรียกเก็บเงินสมทบจากตั๋วแลกเงิน (B/E) ที่ธนาคารพาณิชย์ระดมจากผู้ฝากเงิน นอกเหนือจากบัญชีเงินฝากปกติ ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าจะมีการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมายังลูกค้าของธนาคารในที่สุด