MSN on November 30, 2011, 02:30:59 PM
UAC รุกธุรกิจพลังงานทดแทนก๊าซชีวภาพอัดทุ่มงบ 110 ล้านบาท เดินหน้าผลิต CBG ป้อน ปตท.

  

บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ฯ(UAC) ทุ่มงบ 110 ล้านบาท เดินหน้าผลิตโครงการก๊าซชีวภาพอัด(CBG)จากฟาร์มหมู จ.เชียงใหม่  โดยมีขนาดกำลังผลิต 6-8 ตัน/วัน  หรือ ประมาณ 3,000 ตันต่อปี  ด้าน “ กิตติ ชีวะเกตุ ” ระบุ  ผลิตก๊าซชีวภาพจากปศุสัตว์ ใช้แทนก๊าซ CNG ป้อนลูกค้าหลัก อย่างปตท. เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ในช่วงต้นปี 2555

นายกิตติ  ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์  จำกัด  (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยถึงความร่วมมือการผลิตก๊าซชีวภาพอัด Compressed Bio-methane Gas (CBG) ภายใต้ โครงการ “พัฒนาก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรเพื่อการคมนาคม” ระหว่างบริษัทยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ฯ ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ว่า  บริษัทฯได้ริเริ่มโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง(CBG) จากมูลสุกรขึ้นมา ร่วมกับฟาร์มสุกรของบริษัทมงคล แอนด์ซันฟาร์ม จำกัด โดยได้ลงทุนมูลค่า 110 ล้านบาท จัดตั้งโครงการผลิตก๊าซชีวภาพอัดความดันสูง CBG ขึ้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีขนาดกำลังผลิต 6-8 ตัน/วัน หรือ ประมาณ 3,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพของก๊าซชีวภาพจากปศุสัตว์ ให้สามารถใช้แทนก๊าซ CNG เพื่อการคมนาคม โดยจัดส่งก๊าซให้กับ ปตท. เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงต้นปี 2555 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตได้ 6 ตันต่อวัน เทียบเท่ากับเติมรถขนาดเล็กได้ 500 คันต่อวัน เติมรถขนส่งขนาดใหญ่ได้ 40 คันต่อวัน ซึ่งสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ประมาณปีละ 2.2 ล้านลิตร หรือ ก๊าซหุงต้ม (LPG) ประมาณปีละ 1.6 ล้านตัน ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้กว่า 21 ล้านบาทต่อปี ก็จะมีช่วยสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพให้กับภาคพลังงานของประเทศได้

ด้านนายไกรฤทธิ์  นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวในพิธีการแถลงข่าวความร่วมมือการผลิตก๊าซชีวภาพอัด Compressed Bio-methane Gas (CBG) ภายใต้ โครงการ “พัฒนาก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรเพื่อการคมนาคม” ระหว่างบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้ง ศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ พพ. ว่าปัจจุบันจากการส่งเสริมโครงการระบบผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มปศุสัตว์ พบว่าสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 186,000 – 240,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าการทดแทนน้ำมันดีเซล 2.80 – 3.60 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1,800 ตัน/ปี

   “โครงการพัฒนาก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรเพื่อการคมนาคม เป็นการพัฒนาเกี่ยวกับการนำก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ในรูปของ ไบโอมีเธนอัด (Compressed Bio-Methane Gas) หรือ CBG จากก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับทดแทนการใช้ก๊าซ CNG ในรถยนต์ต่อไปในอนาคตได้”นายไกรฤทธิ์ กล่าว