happy on November 28, 2011, 05:03:15 PM
SLEEPING BEAUTY

จัดจำหน่ายโดย      เอ็ม พิคเจอร์
ภาพยนตร์เรื่อง               SLEEPING BEAUTY
ชื่อภาษาไทย      “อย่าปล่อยรัก ให้หลับไหล”         
ภาพยนตร์แนว      ดราม่า
จากประเทศ      ออสเตรเลีย
กำหนดฉาย      15 ธันวาคม 2554
ณ โรงภาพยนตร์      เอเพ็กซ์ สยามสแควร์
ผู้กำกับ   Julia Leigh (จูเลีย ลีห์) หนึ่งใน 25 ผู้กำกับอินดี้หน้าใหม่โดยนิตยสารฟิล์มเมคเกอร์ของอเมริกา

อำนวยการสร้าง      Jessica Brentnall (เจสสิก้า เบรนท์นอล)

นักแสดง    Emily Browning (เอมิลี บราวนิง) นักแสดงชื่อดังของออสเตรเลีย จากภาพยนตร์ Sucker Punch
         ร่วมด้วยสองนักแสดงคุณภาพ  Rachael Blake (ราเชล เบลค)  และ
         Ewen Leslie (อีเวน เลสลีย์)

จุดเด่น   Sleeping Beauty คือภาพยนตร์แนวเเทพนิยายอีโรติกสุดละเมียด เรื่องราวแห่งโลกเร้นลับของความงามและความปรารถนา ซึ่งได้ผู้กำกับหญิงเจ้าของรางวัลออสการ์ เจน แคมเปียน            เป็นผู้การันตีถึงความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งนำการเสียดสีความต้องการทางราคะที่น่าจับตามองมากที่สุดอย่าง นอกจากนี้ยังได้ผู้กำกับหญิงอย่าง จูเลีย ลีห์ ทำหน้าที่ทั้งเขียนบท และ กำกับฯ ด้วยตัวเอง จนได้รับเลือกให้เข้าประกวดในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2011 อีกด้วย


คำพูดจาก JANE CAMPION (เจน แคมเปียน)

จูเลีย ลีห์  มีเอกลักษณ์ด้านภาพยนตร์ที่ทั้งใหม่ และเต็มไปด้วยความมั่นใจ
Sleeping Beauty ทำให้ฉันตื่นเต้นและลุ้นระทึก
เธอทั้งเย้ายวน มีเสน่ห์ลึกลับ ซับซ้อน และไร้ความกลัวพรสวรรค์ของเธอ
และหนังเรื่องนี้พิเศษสุดจริงๆ

Sleeping Beauty เป็นหนังอัตถิภาวะนิยมร่วมสมัย
มันเป็นภาพสะท้อนที่น่าหลงใหลว่าพวกเราบางครั้งใช้ชีวิตหรือได้ใช้ชีวิตเช่นไร

“หัวใจสลาย อ่อนโยน น่าสะพรึงกลัว ฉันชอบมันนะ”

“น่าตกตะลึงและงดงาม เอมิลี บราวนิงไร้ที่ติจริงๆ”




เรื่องย่อ                  ลูซีเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่มีอาการชืดชาต่อทุกสิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เธอใช้การโยนเหรียญตัดสินประสบการณ์รุกด้านเพศแบบสุ่มของเธอและเธอก็แสดงออกถึงความอดทนโดยไม่ปริปาก เมื่อต้องทำงานซ้ำซากจำเจ เพื่อนำเงินที่ได้มาเป็นค่าเทอม วันหนึ่ง เธอเลือกตอบรับงานที่โฆษณาไว้ในหนังสือพิมพ์สำหรับนักศึกษา  หลังจากการสัมภาษณ์ และการตรวจสอบที่ออฟฟิศของคลารา เธอก็ได้เริ่มต้นเป็นสาวเสิร์ฟในชุดชั้นใน และแอบออดิชันสำหรับบทเจ้าหญิงนิทรา เธอผ่านความเห็นชอบและเธอก็ผลุนผลันตอบรับงานใหม่ที่พิสดารนี้   ในการไปเยือนคฤหาสน์ในชนบทแห่งนั้นเป็นครั้งแรก คลาราได้อธิบายให้ลูซีฟังว่า เธอจะถูกทำให้หมดสติ“เธอจะเข้าสู่นิทรารมณ์ และเธอก็จะตื่นขึ้นจากการหลับไหล ราวกับว่าเวลาเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"
               เศรษฐีชราผู้ไปเยือน Sleeping Beauty Chamber ชื่นชอบอาการไร้การตอบสนองของลูซี สัมผัสอิโรติคที่มีเสน่ห์เย้ายวนใจตามที่พวกเขาแสวงหาในห้องแห่งนั้นจำเป็นต้องอาศัยการยอมจำนนสมบูรณ์แบบของเธอ และการไร้ความสามารถมองร่างกายที่แก่ชราของพวกเขาได้ กฎข้อเดียวคือจะต้องไม่มีการล่วงละเมิด ในการแสดงบทเจ้าหญิงนิทราของเธอ เธอต้องฝึกทำเป็นตาย เธอกลายเป็นวัตถุที่แสนงดงามของพวกเขา ที่ยอมรับต่อการสูญเสียความนึกคิดของตัวเองแบบสุดโต่งและการถูกล่วงละเมิดที่ตามมา ผู้มาเยือนรายแรกยกย่องความเยาว์วัยและความงามของเธอ ส่วนรายที่สองเป็นพวกซาดิสต์ รายที่สามบังเอิญทำร่างที่อ่อนปวกเปียกของเธอร่วงลงพื้น
            การถูกทำให้ไม่ได้สติในห้องนั้นหมายถึงว่า มีส่วนหนึ่งในชีวิตเธอที่ยังคงไม่รู้อะไร ประสบการณ์สั่นประสาทของการถูกจับตามองในยามหลับไหลเริ่มเข้าครอบงำชีวิตจริงของเธอ เมื่อถูกไล่ออกจากบ้านที่อยู่ร่วมกับคนอื่น เธอก็ใช้รายได้ที่เธอได้มาจากการหลับไหลนี้เช่าอพาร์ทเมนต์หลังใหม่ มันเป็นราวกับโลงแก้วที่เปลือยเปล่า ไร้ซึ่งชื่อเรียกขาน เมื่อเบิร์ดแมน เพื่อนของเธอสิ้นลมในอ้อมแขนเธอ เธอก็สูญเสียสิ่งเชื่อมโยงกับความเป็นจริงเพียงหนึ่งเดียวของเธอ เธอเริ่มเกิดความกระหายใคร่รู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เกิดอะไรขึ้นกับเธอในช่วงกลางคืน
            เธอซื้อกล้องสอดแนมตัวจิ๋วมา และบันทึกภาพการสอนในมหาวิทยาลัย เพื่อทดลองแผนการในการบันทึกภาพภายใน Sleeping Beauty Chamber ความต้องการที่จะบันทึกชีวิตอีกด้านหนึ่งที่เธอไม่เคยรับรู้นำไปสู่การท้าทาย เมื่อเธอฝืนสู้ฤทธิ์ยานอนหลับเพื่อซ่อนกล้องจิ๋วไว้ในห้อง และแล้วกล้องของเธอก็ได้บันทึกภาพการฆ่าตัวตายโดยมีคนช่วยของชายผู้หนึ่ง และการโอเวอร์โดสโดยบังเอิญของตัวเธอเอง ที่ทำให้เธอเสียชีวิตชั่วขณะก่อนที่จะถูกทำให้ฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ เมื่อลืมตาตื่น ลูซีก็ครวญคราง หวนไห้ ในที่สุด เวทมนตร์นั้นก็คลายออกเสียที
« Last Edit: November 28, 2011, 05:05:16 PM by happy »

happy on November 28, 2011, 05:21:11 PM

สารจากผู้กำกับ

               ฉันสนใจใน Wonder Cinema ฉันอยากจะสร้างหนังที่ผู้ชมตอบสนองด้วยคำถามที่ว่า ‘ฉันเห็นมันจริงรึเปล่า’ และ ‘ฉันได้ยินเรื่องนั้นจริงมั้ย’ และ ‘เรื่องแบบนี้จะเป็นจริงได้รึเปล่า’ ด้วยอาการกลั้นหายใจ ดวงตาเบิกกว้าง มันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของความสงสัยมากกว่าความตกตะลึง ภาพยนตร์ทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องมหัศจรรย์

   ฉันคุ้นเคยกับเทพนิยายดี ฉันรู้ว่ากษัตริย์โซโลมอนได้เสาะแสวงหาสาวพรหมจรรย์ทั่วอาณาจักรเพื่อให้มานอนเคียงข้างเขา ฉันรู้จัก ‘เด็กสาวนิทรา’ ทางอินเทอร์เน็ตดี ฉันเคยอ่านนิยายขนาดสั้นสองเรื่อง โดยยาสุนาริ คาวาบาตะ และกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ซึ่งแต่ละเรื่องต่างบอกเล่าเรื่องราวของชายอายุมาก ผู้มองย้อนกลับไปถึงชีวิตของตัวเองขณะที่เขาจ่ายเงินเพื่อใช้เวลาช่วงค่ำคืนกับเด็กสาวที่ถูกยาสลบ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ โดย ‘ไม่มีเหตุผล’ ฉันถามตัวเองว่า การรับงานเป็นเจ้าหญิงนิทราจะเป็นยังไงนะ
   เทพนิยาย มีทั้งร่องรอยของลูกเบอร์รีสีแดง โค้ทกำมะหยี่มีฮู้ด คฤหาสน์ที่ประตูเปิดทิ้งไว้ บ้านแปลกๆ ในชนบท ห้องนิทรา หญิงสาวเจ้าเล่ห์ที่ทำให้เด็กสาวหลับไหล จะเกิดอะไรขึ้นกับเจ้าหญิงนิทราถ้าและเมื่อเธอลืมตาตื่น…
   หลังจากที่นิยายเรื่อง The Hunter ของฉันได้รับการตีพิมพ์ในวงกว้าง ฉันก็เกิดฝันร้ายบ่อยๆ ว่าคนที่ไม่รู้จักมาบันทึกภาพฉันระหว่างหลับ มันมีความสมบูรณ์แบบ ‘ที่อัจฉริยะอย่างชั่วร้าย’ ในคามฝันนั้น คนที่นอนหลับฝันว่าเธอกำลังนอนหลับบนเตียงของเธอเอง ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างการหลับและการฝันก็เลือนหายไป พวกเขาทำอะไรกับฉันระหว่างที่ฉันหลับกันแน่
   ฉันเขียนโครงร่างแรกของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เร็วมาก แค่ประมาณสิบวันเท่านั้นเอง ฉันเริ่มเขียนมันภายในเวลาสองสามเดือนหลังจากที่เพื่อนฉันเสียชีวิต เขาไม่ใช่เพื่อนคนแรกของเราที่จากไป เรารู้ดีว่าไม่ช้าก็เร็ว เรื่องแบบนี้ก็ต้องเกิดขึ้น แต่เมื่อเขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย มันก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ในแบบที่การเสพยาเกินขนาดก็อาจเป็นเรื่องประหลาดใจที่ไม่อาจเลี่ยงได้เช่นกัน ฉันสัมผัสถึงเขาได้บนหน้าจออย่างแผ่วเบา ในภาพยนตร์ เขาไม่ได้ตายตามลำพัง
   หนังเรื่องนี้สมบูรณ์ได้ด้วยการคำนึงถึงอายุและประสบการณ์ คลารา ผู้หญิงที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจนี้ และบรรดาชายอายุมากที่ไปเยือนห้องแห่งนั้น รู้สึกชื่นชมความเยาว์วัยของลูซี
   กาลครั้งหนึ่ง เมื่อฉันอายุ 20 ต้นๆ ฉันไม่อยากตาย แต่ฉันก็คงไม่รังเกียจถ้าฉันจะตาย มีบางคืน ฉันจะเดินเครื่องกิโยตินล่องหนที่อยู่เหนือเตียง จินตนาการว่ามันอยู่ด้านบนนั้น คมมีดพร้อมจะสับลงมาในกลางดึก ฉันไวต่อเรื่องของความตายค่ะ ฉันต่อต้านมัน ฉันเป็นคนมุทะลุ มีบางครั้งที่ฉันอยากจะออกไปตามท้องถนน แล้วไปทำลายข้าวของ ฉันห้ามใจตัวเองไว้เสมอ แต่ก็นึกดีใจที่ยังมีแรงกระตุ้นนั้นอยู่ เพราะ ‘แรงกระตุ้นที่ถูกห้ามเอาไว้” ถูกแปรกลายเป็นลูซี ตัวละครเอกของเรื่อง เธอถูกครอบงำด้วยความเฉยชาที่มากขึ้นเรื่อยๆ และการยั่วเย้าโลกใบนี้ที่พิสดารของเธอก็เป็นไปทำนองว่า ‘ฉันหันแก้มแล้ว ลองดูสิ’ เธอพร้อมจะทำขนาดไหน จะทดสอบตัวเองแค่ไหน เธอจะทำอะไรต่อไป
   มันอันตรายสำหรับฉันที่จะอธิบายความหมายของงานฉัน มันเหมือนการควักลูกตาตัวเองออกมา เหมือนการกดตัวผู้ชมไว้และควักลูกตาพวกเขาออกมาค่ะ
« Last Edit: November 28, 2011, 05:25:36 PM by happy »

happy on November 28, 2011, 05:30:44 PM
ผู้กำกับ จูเลีย ลีห์

พูดคุยกับ Julia Leigh (จูเลีย ลีห์)

               Q:   ในสารของคุณ คุณพูดถึงสิ่งที่จุดประกายเรื่องราวนี้ขึ้นมา แต่สถานการณ์จริงๆ เบื้องหลังการเขียนบทหนังเรื่องนี้ล่ะ คุณได้ผู้อำนวยการสร้างมาตั้งแต่เริ่มแรกเลยรึเปล่า เสียงตอบรับช่วงแรกๆ เป็นอย่างไร ใครเป็นคนแรกที่ได้อ่านบท ตัวบทเหมือนกับหนังฉบับสมบูรณ์รึเปล่า

A:   ฉันพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเองจนกระทั่งมาถึงจุดที่ฉันคิดว่ามันเสร็จแล้วล่ะ มันสั้นมาก ประมาณ 67 หน้า ในปี 2008 มันติด ‘แบล็คลิสต์’ ของฮอลลีวูด [ลิสต์บทหนังที่ไม่ถูกนำไปสร้างที่หลายคนรอคอยของแฟรงค์ลิน เลียวนาร์ด] ในปีเดียวกันนั้น ฉันก็ได้รับเลือกจากนิตยสารฟิล์มเมคเกอร์ (อเมริกา) ให้เป็นหนึ่งใน 25 ผู้กำกับภาพยนตร์อินดีหน้าใหม่ ถึงกระนั้น ผู้อำนวยการสร้างหลายคนก็ปฏิเสธฉัน ท้ายที่สุด ฉันก็พบผู้อำนวยการสร้างคนกล้า เธอคือเจสสิก้า เบรนท์นอล ผู้ตระหนักในศักยภาพของบทหนังเรื่องนี้ และเราก็ตกลงกันว่านี่เป็นหนังที่จะถูกถ่ายทำออกมา ระหว่างงานสร้าง เราได้เปลี่ยนแปลงบทเล็กน้อย เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด
คลอเดีย พี่สาวฉัน เป็นคนแรกที่ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ ฉันไว้ใจเธอด้วยชีวิตลูกของฉันด้วยซ้ำ ส่วนแอนโทเนีย พี่สาวอีกคน ก็นั่งข้างๆ ฉันตอนที่ฉันตรวจดูฟิล์มหนัง นั่นเป็นครั้งแรกที่ตัวฉันได้เห็นหนังฉบับสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ เราได้ดูมันที่สเตจวัน ซาวน์ ซึ่งเป็นบริษัทโพสต์โปรดักชัน การให้ความเห็นชอบเป็นการวิ่งผ่านเส้นชัยในความคิดของฉัน มันเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะหนังเรื่องนี้จะได้รับการตอบรับอย่างไรในโลกแห่งความเป็นจริง จริงๆ แล้ว ฉันยังคงมีงานมากมายต้องทำหลังจากตรวจดูฟิล์มหนัง แต่มันก็เป็นพิธีกรรมส่วนตัว ปฏิทินส่วนตัว ที่ถูกทำขึ้นเพื่อพลังงานค้ำจุนลับๆ ค่ะ
Q:   คุณไม่เคยกำกับหนังมาก่อน แล้วคุณเตรียมตัวอย่างไรสำหรับหน้าที่นี้
A:   ฉันได้เขียน ‘บทผู้กำกับ’ ขนาดยาวเพื่อแสดงถึงวิสัยทัศน์ที่ฉันมีต่อหนังเรื่องนี้ ซึ่งฉันได้อธิบายว่าเราจะเห็นอะไรบนหน้าจอ ทีละซีนๆ มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นเพราะในตอนที่ฉันเขียนบทหนังเรื่องนี้ ฉันก็ ‘เห็นมัน’ ในความคิด ‘กล้องสังเกตการณ์’ อยู่ตรงนั้นตั้งแต่ต้น เป็นประจักษ์พยานที่อ่อนโยนและมั่นคง มาจากมุมมองของห้อง มันเวิร์คสำหรับเรื่องราวนี้ ซึ่งสำรวจความรู้สึกของการถูกเฝ้ามอง ผู้ชมจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เกือบจะเหมือนผู้สมรู้ร่วมคิด
   นอกจากนั้นแล้ว ฉันยังพบภาพที่ได้กระตุ้นให้เกิด ‘โทน’ ของหนังเรื่องนี้ ฉันดึงคลิปสั้นๆ จากหนังหลายๆ เรื่อง ฉันดูหนังที่ฉันชื่นชอบโดยไม่เปิดเสียง และถามตัวเองเสมอว่า ‘กล้องอยู่ไหน’ ฉันอ่านหนังสือเรื่องการแสดง ไปเวิร์คช็อป ฉันดู ‘เบื้องหลังการถ่ายทำ’ ในดีวีดี ฉันเข้าคลาสของผู้กำกับชั้นครูหลายคน ฉันไปดูกองถ่ายของเพื่อน ฉันร่วมงานกับนักวาดภาพสตอรีบอร์ด ฉันกำหนดธีมวิชวลของเรื่องอย่างละเอียดด้วยความช่วยเหลือจากเจฟฟรีย์ ซิมป์สัน ผู้กำกับภาพของฉัน ฉันใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านภาพวิชวลอย่างมาก ฉันทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อเตรียมตัว ฉันไม่อยากจะทำอะไรโดยไม่เตรียมตัวค่ะ
Q:   การกำกับหนังเป็นกระบวนการที่แตกต่างจากการเขียนนิยายอย่างไร
A:   ในแง่หนึ่ง แบ็คกราวน์ด้านการเขียนของฉันก็เป็นแบ็คกราวน์ด้านหนังของฉันด้วย มันเป็นอย่างเดียวกันค่ะ ‘แบ็คกราวน์’ ของฉันคือความคิดอ่านของฉันค่ะ
   นักเขียนนิยายและผู้กำกับต่างก็ทำงานกับ ‘การไหลของเวลา’ ทั้งคู่ต่างก็ทำงานกับ ‘ตัวละคร’ ทั้งคู่สร้างโลกที่เต็มไปด้วยรายละเอียดและพวกเขาต่างก็มีสิ่งที่อยากจะสำรวจ ฉันอยากจะบอกว่าความอ้างว้างของนักเขียนก็ไม่ได้ต่างกับความอ้างว้างของผู้กำกับนักหรอก เพราะในฐานะผู้กำกับ ฉันเป็นคนเดียวที่มีภาพของหนังทั้งเรื่องในความคิด พื้นฐานเป็นอย่างเดียวกันค่ะ นอกเหนือจากนั้น กระบวนการทั้งหมดก็แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
   ฉันไม่ได้จินตนาการถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด ฉันไม่อยากจะมองแง่ร้าย ฉันใส่ใจในเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่าง ฉันบอกกับตัวเองว่า ถ้าฉันสร้างเงื่อนไขที่ถูกต้องและรักษามันเอาไว้ให้ได้ สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น (ซึ่งนั่นเป็นการเสี่ยงค่ะ)
   ฉันรู้สึกสบายๆ กับการเสี่ยงนี้ค่ะ
Q:   ใครเป็นผู้ร่วมงานกับคุณ
A:   หนึ่งในเพื่อนร่วมงานสำคัญคนแรกๆ ของฉันคือแอนนี โบแชมป์ ผู้ออกแบบงานสร้าง เราได้เปรียบตรงที่ได้ถ่ายทำในบ้านเกิดของเรา เราก็เลยออกไปสำรวจสถานที่ด้วยกันตั้งแต่ช่วงเริ่มแรก เรานำภาพมากมายมากองรวมกัน เรากำหนดแถบสีของเรา ด้วยความที่เรามีงบที่ค่อนข้างจำกัด ความท้าทายของเราคือการคิดคำนวณว่าจะจัดสรรงบอย่างไร การสร้างฉาก Sleeping Beauty Chamber ต้องใช้เงินจำนวนมากแต่เราก็ตัดสินใจว่ามันคุ้มค่า ฉันประทับใจอย่างยิ่งกับความรอบรู้และความสามารถของแผนกศิลป์ทุกคนค่ะ
   ฉันทำงานอย่างใกล้ชิดกับนิค ไมเยอร์ส มือลำดับภาพของฉัน การลำดับภาพ การต้องดูภาพเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉันจะเริ่มสัมผัสได้ถึงอากัปกิริยาของตัวละคร ฉันจะใช้บทพูดจากหนังในชีวิตประจำวันของฉัน ฉันนอนหลับและตื่นมาพร้อมกับภาพของหนังเรื่องนี้ในหัว ฉันสังเกตเห็นถึงรายละเอียดด้านภาพวิชวลทุกอย่าง…ครัวของฉันไม่เคยดูสกปรกและน่าเบื่อแบบนี้เลยค่ะ
   หน้าที่หนึ่งที่ไม่มีใครยกย่องคือนักระบายสี โอลิเวอร์ ฟอนเทเนย์ เราถ่ายทำกันด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. แล้วค่อยแปลงมันให้เป็นสื่อดิจิตอล การขัดเกลาโทนวิชวลเป็นเรื่องสำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้ ที่เราจะมีลองช็อต และผู้ชมจะได้เห็นทุกอย่างจริงๆ มันไม่ได้เหมือนกับว่าเราจะโชว์ภาพเพียงแค่ 2 วินาที แล้วหวังว่าจะรอดตัวได้น่ะค่ะ   
Q:   แล้วเบื้องหลังการเข้ามามีส่วนร่วมของเจน แคมเปียนล่ะ
A:   ฉันได้รับการแนะนำให้รู้จักเจน แคมเปียน โดยสกรีน ออสเตรเลีย ผู้ลงทุนหลัก เธอเคยอ่านบทเรื่องนี้แล้ว เราได้พบกัน และเธอก็ยินดีที่จะมารับหน้าที่ครูฝึกสอน มันเป็นตอนที่งบของเราอาจจะขอไม่ได้ และการสนับสนุนของเธอเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาทุกอย่างไว้ เราได้พบกันตลอดช่วงพรีโปรดักชัน และเราก็รู้เสมอว่า เธอจะไม่ว่างในช่วงถ่ายทำ เรากลับมาร่วมงานกันใหม่ในช่วงโพสต์โปรดักชัน ตลอดกระบวนการนี้ เธอเตือนฉันให้คอยสังเกตสัญชาตญาณตัวเองและตอบสนองอย่างกระตือรือร้น เพื่อหนังเรื่องนี้ เธอได้ชี้ให้เห็นวิธีดีๆ ที่ฉันสามารถพูดคุยประเด็นต่างๆ กับเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของฉันได้
   ในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 2010 เธอ [เจน แคมเปียน] ได้เขียนอีเมล์หาฉันหลังจากที่ได้เห็นฉบับลำดับภาพคร่าวๆ แล้ว ฉันตรวจดูฟิล์มต้นฉบับในวันที่ 12 ตุลาคม ปี 2010 ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ฉันน่าจะได้อ่านข้อความที่มั่นใจของเธอประมาณยี่สิบครั้งได้แล้ว มีหลายครั้งที่ฉันรู้สึกเหมือนโดนโจมตีจากรอบทิศ การสนับสนุนของเธอเป็นสิ่งที่ให้ความสบายใจและหนักแน่น เธอเป็นคนใจดีมาก ฉันมองว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ค่ะ
Q:   ทำไมถึงเลือกเอมิลี บราวนิงมารับบทลูซี
A:   เอมิลี บราวนิงผ่านการทดสอบอย่างยอดเยี่ยม ฉันไม่อยากจะละสายตาจากเธอเลย พอเราได้คุยกัน ก็ชัดเจนว่าเธอถูกใจสคริปต์เรื่องนี้ เธอกล้าหาญจริงๆ เธอทำให้บทนี้กลายเป็นบทของเธอในแบบที่ดีที่สุด ฉันชอบความรู้สึกที่เหมือนกับปลายภูเขาน้ำแข็ง ที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้ดูเอมิลีบนหน้าจอ ความรู้สึกของความมุทะลุเงียบๆ แบบจงใจ เอมิลีสามารถหลบเลี่ยงความสงสารตัวเองไปได้ เธอได้ตัดสินใจในเรื่องละเอียดอ่อนมากมาย มันเป็นหน้าที่ที่หนักหนาสาหัส และเราก็ประสบความสำเร็จ การไว้วางใจเป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการนี้ ฉันรู้ตัวว่าฉันโชคดีแค่ไหนที่ได้ร่วมงานกับเอมิลีในงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับน่ะค่ะ
Q:   แล้วนักแสดงคนอื่นๆ ล่ะ
A:   ฉันจะไม่พูดแบบนี้กับนักแสดงหรอกนะคะ แต่ฉันรู้สึกรักพวกเขาในบทบาทของพวกเขาแบบแปลกๆ น่ะค่ะ
ฉันรู้จักราเชล เบลคจาก Lantana และชื่นชอบเธอจากซีรีส์ Wildside ฉันพบว่าเธอสวยมาก ฉันอยากจะหลีกเลี่ยงคลาราที่ ‘เข้มงวด’ เกินไป ราเชลได้นำมิติมาสู่บทนี้ ประสบการณ์กร้านโลก การผสมผสานระหว่างความห่วงใยลูซีอย่างจริงใจและความใจร้าย เธอเป็นผู้รักษาความลับ ระหว่างการซ้อม มีผู้หญิงคนหนึ่งมาสอนราเชลเรื่องพิธีชงชาญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนของพิธี และเพื่อสังเกตการณ์การวางตัวและการควบคุมที่สงบเงียบของครูคนนี้
   ฉันรู้จักอีเวน เลสลีย์จากบทละครเวทีที่โดดเด่นหลายเรื่องและผลงานภาพยนตร์เรื่อง Jewboy เขาเข้ามามีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้ตั้งแต่แรกๆ และฉันก็ไม่ได้ทดสอบคนอื่นๆ สำหรับหน้าที่นี่ เขาเป็นผู้สนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ตัวจริง และในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ ฉันซาบซึ้งกับความไว้วางใจที่ได้รับมาก เขารับบทเบิร์ดแมนน์ เพื่อนของลูซี ได้อย่างงดงาม ลูซีคอยดูแลเขา พวกเขาดูแลกันและกัน เป็นท่าเรือปลอดภัยสำหรับผู้ที่ปฏิเสธที่จะ “ปรับตัว” คุณอยากให้เขาโอบกอดคุณไว้น่ะค่ะ
ปีเตอร์ แคร์รอลเป็นตำนานของโรงละครออสเตรเลีย ฉันต้องเลือกคนที่สามารถแปลง ‘ความฉลาดที่แท้จริง’ ของตัวละครไปสู่ผู้ชมได้ คนที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็น่าสงสาร คนที่จะเป็นตัวแทนของความทรนงแบบเงียบงัน พูดง่ายๆ คือฉันรักใบหน้าของเขา ฉันคิดว่าปีเตอร์มาอ่านโมโนล็อคของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบตอนเทคที่สี่นะคะ โชคดีที่ไม่ต้องมีการพากย์เสียงทับลงไปเลย
Q:   แนวคิดเบื้องหลังการออกแบบเสียงของเรื่องเป็นอย่างไร
A:   ฉันกับแซม เพ็ตตี้ได้ผลักดันการออกแบบเสียงออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากสไตล์วิชวลที่ถูกจำกัดแล้ว โลกของเสียงก็จะต้องมีการจำกัดด้วยเช่นกัน ฉันอยากให้ความสนใจของผู้ชมเฉียบคมขึ้นเรื่อยๆ ฉันอยากได้ความรู้สึกลุ้นระทึกแบบที่จะเกิดขึ้นในตอนที่‘ได้ยินเสียงเข็มหมุดตก’
เราใช้ดนตรีประกอบแบบมินิมอลเพื่อขับเน้นเวทมนตร์ในโลกเจ้าหญิงนิทรา (ไม่ใช่ดนตรีมินิมอล แต่เป็นเพลงบรรเลงที่ยาวเกือบ 10 นาที) ในตอนที่ฉันกำลังมองหาคอมโพสเซอร์ ฉันก็ได้รับอีเมล์แจ้งถึงการที่เบน ฟรอสท์ ได้เป็นลูกศิษย์ของไบรอัน อีโนในหลักสูตรโรเล็กซ์ ฉันลองตามเรื่องดู แล้วปรากฏว่า เบนได้รับการว่าจ้างจากเพื่อนฉันคนหนึ่งในคราเคา เพื่อแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์โดยทาร์คอฟสกี้เรื่อง Solaris เบนอยู่ในไอซ์แลนด์ ส่วนฉันอยู่ในซิดนีย์ เราได้คุยงานกันคร่าวๆ แล้วเบนก็ส่งวัตถุดิบจำนวนมหาศาล ซึ่งฉันกับแซม เพ็ตตี้ได้ลองจับใส่ลงไปในหนนังดู จากนั้น เราก็ปล่อยให้เบนทำการปรับเปลี่ยนขั้นละเอียดอีกที มันเป็นกระบวนการร่วมงานกันที่น่าพึงพอใจทีเดียวค่ะ
Q:   คุณหวังว่าผู้ชมดูแล้วจะเป็นอย่างไร
A:   ความหวังของฉันคือหนังเรื่องนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใช้จินตนาการค่ะ


               

happy on November 28, 2011, 05:43:13 PM
ประวัติทีมงาน

Julia Leigh (จูเลีย ลีห์)

               จูเลีย ลีห์หันมาชิมลางงานภาพยนตร์ หลังจากที่สร้างชื่อให้กับตัวเองในฐานะนักเขียนนิยายร่วมสมัยระดับแนวหน้า นิยายเรื่องแรกของเธอ The Hunter (1999) ได้รับรางวัลต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงเบ็ตตี้ แทรสค์ อวอร์ด (อังกฤษ), ปรีซ์ เดอ ลาสโทรแล็บ วอยเยจเจอร์ (ฝรั่งเศส) และได้รับเลือกให้เป็น หนังสือเด่นประจำปีของนิวยอร์ก ไทม์ อีกด้วย เธอได้รับการยกย่องให้เป็น นักเขียนนิยายดีเด่นแห่งปีจากซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ (ออสเตรเลีย) และ “หนึ่งใน 21 นักเขียนสำหรับศตวรรษที่ 21” โดยเดอะ อ็อบเซิร์ฟเวอร์ (อังกฤษ) ดอน เดอลิลโลได้พูดถึงมันว่าเป็น “งานเขียนที่แข็งแกร่งและมีมนต์สะกด” ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากนิยายเรื่องดังกล่าว ที่กำกับโดยแดเนียล เน็ทเฮม เขียนบทโดยอลิซ แอดดิสันและนำแสดงโดยวิลเลม เดโฟ กำลังอยู่ระหว่างช่วงโพสต์ โปรดักชัน
   นิยายขนาดสั้นเรื่อง Disquiet (2008) ของเธอได้รับรางวัลอังกอร์ อวอร์ด (อังกฤษ) ได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลฟรานซ์ คัลเจอร์/เทเลรามา เรนทรี (ฝรั่งเศส) เป็นหนังสือโปรดของแอลเอ ไทม์ เป็นหนังสือยอดเยี่ยมแห่งปีของเคิร์คคัส (อเมริกา) และติดอันดับ 7 ของลิสต์หนังสือท็อปเท็นแห่งปีของเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลีย์ (อเมริกา) เกียรติอื่นๆ ที่หนังสือเรื่องนี้ได้รับยังรวมถึงรางวัลอะเดเลด เฟสติวัล ฟิคชัน อวอร์ด, เอ็นเอสดับบลิว พรีเมียร์ ไพรซ์และเวสต์ ออสเตรเลียน พรีเมียร์ บุ๊ค อวอร์ด (ออสเตรเลีย) เธอได้มีส่วนร่วมกับโรเล็กซ์ เมนเตอร์และโปรเทเจ้ อาร์ตส์ อินนิทิเอทีฟ และได้ร่วมงานกับโทนี มอร์ริสสัน เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้พูดถึง Disquiet ว่า ‘จูเลีย ลีห์เป็นแม่มด บทร้อยแก้วที่พลิ้วไหวของเธอได้ร่ายมนต์สะกดที่สงบเงียบระหว่างที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใต้เท้า’ ผลงานของเธอได้รับการตีพิมพ์ 7 ภาษา
   ในปี 2008 บทภาพยนตร์เรื่อง Sleeping Beauty ได้ติด ‘แบล็คลิสต์’ ของฮอลลีวูด และเธอก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 25 ผู้กำกับอินดีหน้าใหม่โดยนิตยสารฟิล์มเมคเกอร์ (อเมริกา)
   เธอเกิดในปี 1970 ในประเทศออสเตรเลีย เธอสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์ เอกปรัชญา และนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ในปี 1995 เธอได้รับการตอบรับจากศาลสูงนิวเซาธ์เวลให้เป็นนิติกร แม้ว่าเธอจะไม่เคยทำงานนี้เลยก็ตาม ในปี 2009 เธอได้รับปริญญาเอกสาขาภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยอะเดเลด
   ปัจจุบัน เธออยู่ในซิดนีย์ หลังจากที่ใช้เวลาอยู่ในปารีสและนิวยอร์ก (ที่ซึ่งเธอเป็นผู้ช่วยอาจารย์พิเศษที่บาร์นาร์ด คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย


Emily Lucy Browning เอมิลี บราวนิง แสดงเป็น (ลูซี)

               “ฉันคิดว่ามันน่าจะเป็นบทหนังที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยอ่านมา ฉันประหลาดใจกับมันมาก”
   “พออ่านฉากแรก ฉันก็ตื่นกลัว และคิดว่าถ้ามีหนังเรื่องไหนที่ทำให้ฉันรู้สึกได้มากขนาดนั้น ฉันก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของมันค่ะ”
   “Sleeping Beauty แตกต่างจากหนังทุกเรื่องเท่าที่ฉันเคยผ่านมา และนั่นก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับฉัน ฉันชอบการที่มันเป็นหนังที่เสี่ยงและอันตรายค่ะ”

   เอมิลี บราวนิงเป็นนักแสดงหญิงชาวออสเตรเลีย ที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดจากบทไวโอเล็ตในภาพยนตร์ปี 2004 เรื่อง Lemony Snicket’s A Series of Unfortunate Events ซึ่งนำแสดงโดยจิม แคร์รีย์และเมอริล สตรีพ และทำให้เอมิลีได้รับรางวัลเอเอฟไอ อินเตอร์เนชันแนล อวอร์ดสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม
   เอมิลีรับบทนำเป็นเบบี้ ดอลในภาพยนตร์แฟนตาซีผจญภัยโดยแซ็ค สไนเดอร์ในภาพยนตร์ปี 2011 เรื่อง Sucker Punch ร่วมกับทีมนักแสดงหญิง ซึ่งรวมถึงเพื่อนนักแสดงหญิงชาวออสเตรเลีย แอ็บบี้ คอร์นิชและวาเนสซา ฮัดเจนส์และเจนา มาโลน
   เอมิลีได้รับรางวัลเอเอฟไอ นักแสดงรุ่นเยาว์ในปี 2002 และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลชอยส์ อวอร์ดสาขานักแสดงรุ่นเยาว์ยอดเยี่ยมและรางวัลการแสดงยอดเยี่ยมโดยศิลปินรุ่นเยาว์ในภาพยนตร์ นักแสดงนำหญิงรุ่นเยาว์ยอดเยี่ยม จากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์บรอดคาสต์ (ในปี 2005 ทั้งสองรางวัล)
   ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเธอได้แก่ The Man Who Sued God กับบิลลี คอนนอลลีและจูดี้ เดวิสและ Ned Kelly ที่แสดงประกบฮีธ เล็ดเจอร์และภาพยนตร์สยองขวัญอเมริกัน The Uninvited โดยพาราเมาท์ ที่เธอแสดงประกบอลิซาเบธ แบงค์


Rachael Blake (ราเชล เบลค) แสดงเป็น Clara (คลารา)

               ราเชล เบลคสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการละครแห่งชาติในปี 1994 และได้รับรางวัลซิลเวอร์ โลจี้และรางวัลสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลีย (เอเอฟไอ) อวอร์ดสำหรับการแสดงของเธอในซีรีส์ Wildside การแสดงอันโดดเด่นของราเชลในภาพยนตร์เรื่อง Lantana ทำให้เธอได้รับรางวัลไอเอฟ และเอเอฟไอ อวอร์ดในปี 2001 นอกจากนั้น ในปีนั้น ราเชลยังได้รับรางวัลออสเตรเลียน เซ็นเทนนารี มีดัลในควีนส์ นิว เยียร์ ออเนอร์ส ลิสต์จากสิ่งที่เธอทำต่อสังคมออสเตรเลียและต่องานสร้างภาพยนตร์
   ในหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น ราเชลก็ได้ทำงานหลากหลายในอังกฤษ


Ewen Leslie (อีเวน เลสลีย์) แสดงเป็น Birdmann (เบิร์ดแมนน์)

               อีเวน เลสลีย์ปรากฏกายในจอแก้วครั้งแรกตอนอายุ 12 ปี เขาได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาด้านการแสดงระหว่างยังเรียนอยู่ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเวสเทิร์น ออสเตรเลียน อคาเดมี ออฟ เพอร์ฟอร์มิง อาร์ตส์ อีเวนก็ได้รับเลือกให้รับบทนำใน Jewboy ซึ่งได้เข้าฉายในสาขา Un Certain Regard ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2005 และในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ Sleeping Beauty เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามของเขาหลังจาก Kokoda และ Three Blind Mice ซึ่งนักวิจารณ์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอนตัดสินให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเซ็คชันของภาพยนตร์โลก อีเวนเป็นนักแสดงยอดนิยมในหมู่ผู้กำกับละครเวทีและในปี 2007 เขาก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแอ็กเตอร์ส คัมปะนีแห่งคณะซิดนีย์ เธียเตอร์ คัมปะนี นับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้รับรางวัลเฮลป์แมนน์ อวอร์ดอันทรงเกียรติจาก Richard III และ War of the Roses สำหรับละครเวทีเรื่องหลัง เขารับบทกษัตริย์เฮนรีที่ห้าและได้รับรางวัลซิดนีย์ เธียเตอร์ อวอร์ดจากการแสดงของเขา

Peter Carroll (ปีเตอร์ แคร์รอล)  แสดงเป็น (ชายคนที่ 1)

               ปีเตอร์ แคร์รอล ได้แสดงการแสดงที่ได้รับรางวัลมากมาย โดยเขาแทบจะใช้ชีวิตบนเวทีละครออสเตรเลีย ตลอดเวลากว่า 30 ปี ในปี 2009 เขาาได้รับรางวัลความสำเร็จแห่งชีวิตจากมีเดีย เอนเตอร์เทนเมนต์ แอนด์ อาร์ตส์ อัลลายแอนซ์ 20 ปีก่อนหน้านั้น นักวิจารณ์ในท้องถิ่นได้มอบรางวัลเซอร์เคิล อวอร์ดให้กับเขาจากคุณูปการที่เขามีต่อแวดวงละครเวทีของซิดนีย์ นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลกรีนรูม อวอร์ดจาก Season at Sarsaparilla (2008), Hamlet (1995) และ Masterclass (1986) รางวัลเฮลป์แมนน์ อวอร์ดจาก Endgame (2003) รางวัลเอ็มโอ อวอร์ดจาก The Christian Brothers (2001) และ Jesus Christ Superstar (1992) รางวัลวาไรตี้ คลับ ออฟ ออสเตรเลีย อวอร์ดสาขานักแสดงละครมิวสิคัลแห่งปีจาก Sweeney Todd (1988) และรางวัลเพนกวิน อวอร์ดจากซีรีส์ดรามาเรื่อง Rafferty’s Rules – Private Lives ในช่วงเป็นนักแสดงใหม่ๆ เขาได้แสดงในภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่ปัจจุบัน เขาแทบไม่มีผลงานภาพยนตร์เลย แม้ว่าเขาจะพากย์เสียงเป็นผู้อาวุโสในภาพยนตร์เรื่อง Happy Feet ก็ตาม

Chris Haywood (คริส เฮย์วู้ด) แสดงเป็น (ชายคนที่ 2)

               คริส เฮย์วู้ด ได้สร้างผลงานที่พิเศษสุดในแวดวงจอแก้วและจอเงินของออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง เขาได้รับรางวัลสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลียจากภาพยนตร์เรื่อง A Street To Die (1985) และ Emerald City (1988) และซีรีส์ดรามา Stingers นอกจากนี้ สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ออสเตรเลียยังยกย่องเขาจากผลงานในภาพยนตร์เรื่อง Kiss or Kill อีกด้วย ในยุค 70s และ 80s เขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ออสเตรเลียชื่อดังหลายเรื่องเช่น The Cars That Ate Paris, The Removalist, Newsfront, Breaker Morant, Heatwave, The Man From Snowy River, Razorback และ Malcolm มีไม่กี่ปีที่คริสไม่ได้แสดงในภาพยนตร์ออสเตรเลียอย่างน้อยเรื่องหนึ่ง และบางครั้ง เขาก็ได้แสดงภาพยนตร์มากถึงสี่เรื่อง ผลงานภาพยนตร์ของเขาได้แก่ Beneath Hill 50, The Boys Are Back, Jindabyne, Black Rock, Muriel’s Wedding, Shine, ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของพอล ค็อกซ์และมินิซีรีส์อเมริกันเรื่อง The Starter Wife

Jessica Brentnall (เจสสิก้า เบรนท์นอล) ผู้อำนวยการสร้าง

               เจสสิก้าเป็นผู้อำนวยการสร้างเจ้าของรางวัลสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลีย เจสสิก้าเริ่มต้นทำงานในแวดวงแฟชันที่โว้ก ออสเตรเลีย ผลงานล่าสุดของเธอในฐานะผู้อำนวยการสร้างได้แก่ภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง The Cat Piano ซึ่งได้รับเลือกให้เข้าชิงอคาเดมี อวอร์ดในปี 2010 เมจิค ฟิล์มส์ บริษัทโปรดักชันของเจสสิก้า กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรเจ็กต์จอแก้วและจอเงินหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง The Magician กับเอชบีโอ Sleeping Beauty เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอในฐานะผู้อำนวยการสร้าง

Tim White (ทิม ไวท์) ผู้ควบคุมงานสร้าง

               ทิม ไวท์ได้อำนวยการสร้างหรือควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ 30 เรื่องในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ผลงานภาพยนตร์ออสเตรเลียของเขาได้แก่ Malcolm ที่ได้รับรางวัลสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลีย (เอเอฟไอ) สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1986, The Big Steal, Death in Brunswick, Angel Baby (รางวัลเอเอฟไอสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1995), Oscar and Lucinda และ Two Hands (รางวัลเอเอฟไอสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปี 1999) ผลงานภาพยนตร์นิวซีแลนด์ของทิมได้แก่ Broken English, No.2 และ Out of the Blue ในปี 1997 ทิมได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของฟ็อกซ์ ไอคอน ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์และไอคอน เอนเตอร์เทนเมนต์ของเมล กิ๊บสัน ระหว่างปี 2000-2004 เขาได้บริหารงานเวิร์คกิ้ง ไทเทิล ออสเตรเลีย และภายใต้แบนเนอร์นี้ เขาก็ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Gettin’ Square และดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Ned Kelly ปัจจุบัน เขาได้บริหารงานบริษัทโปรดักชันของตัวเองในชื่อ เซาเธิร์น ไลท์ ฟิล์มส์ และทำงานในโปรเจ็กต์ต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็เช่นผลงานร่วมสร้างระหว่างอังกฤษและออสเตรเลีย The Boys Are Back, ภาพยนตร์ร่วมทุนสสร้างระหว่างเกาหลีและอเมริกา Warrior’s Way และภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจาก Mr. Pip ที่กำกับโดยแอนดรูว์ อดัมสัน

Geoffrey Simpson ACS (เจฟฟรีย์ ซิมป์สัน เอเอสซี) ผู้กำกับภาพ

               เจฟฟรีย์ ซิมป์สัน เป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพที่มากประสบการณ์ที่สุดในออสเตรเลีย เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้กำกับภาพแห่งปีจากเพื่อนๆ ในสมาคมผู้กำกับภาพออสเตรเลียในปี 1986 จาก Playing Beatie Bow และ 21 ปีให้หลัง เขาก็ได้รับรางวัลโกลเดน ไทรพ็อดจากสมาคมนี้ จากภาพยนตร์เรื่อง Romulus, My Father เขาทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์ดรามาประมาณ 40 เรื่อง ซึ่งรวมถึง Shine และ Oscar and Lucinda ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลสถาบันภาพยนตร์ออสเตรเลีย สาขากำกับภาพในปี 1996 และ 1998 ตามลำดับ เขาได้ทำงานภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น Under the Tuscan Sun ในอิตาลี, Fried Green Tomatoes, Little Women และ Green Card ในอเมริกา, The Navigator: A Mediaeval Odyssey ในนิวซีแลนด์, Some Mother’s Son ในไอร์แลนด์ และล่าสุด The Dragon Pearl ในจีน