happy on November 19, 2011, 09:36:22 AM
สถาบันอาหารหนุนตั้ง “ศูนย์กลางข้อมูลด้านอาหารระดับประเทศ”
แก้วิกฤติความมั่นคงทางอาหาร


                 สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแนวทางวางแผนบริหารความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงทางอาหารในไทย แนะตั้ง “ศูนย์กลางข้อมูลด้านอาหารระดับประเทศ” แก้วิกฤติการเข้าถึงอาหารของประชาชนในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ ลดความวิตกกังวลและตื่นตระหนกในการกักตุนสินค้าดังเช่น กรณี ไข่ และน้ำที่ต้องกลายเป็นสินค้านำเข้า  โดยเน้นระดมข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในแง่แหล่งผลิต กำลังการผลิต ปริมาณสต๊อกสินค้า การกระจายสินค้า ช่องการจัดจำหน่าย ไปจนถึงปริมาณความต้องการบริโภค หวังเป็นข้อมูลสำคัญสนับสนุนการตัดสินใจบริหารความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนอาหารในภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต


                 นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีปัญหาสินค้าอาหารหลายรายการขาดแคลนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และลุกลามไปถึงในต่างจังหวัดบางแห่งช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการประกาศอนุญาตให้นำเข้าน้ำดื่มบรรจุขวด ไข่ไก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์นม และสินค้าพื้นฐานอีกหลายรายการ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนและผลทางจิตวิทยาให้กับประชาชน ตามคำร้องขอของโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่  ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นมากมาย  เป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีระบบบริหารจัดการด้านความมั่นคงทางอาหารที่ยังไม่เรียบร้อยเพียงพอ

                 ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้คำนิยามของคำว่า ความมั่นคงทางอาหารไว้ในงาน World Food Summit เมื่อปี  พ.ศ. 2539 ว่า “ความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงอาหาร หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา โดยอาหารดังกล่าวมีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัย และมีปริมาณที่เพียงพอ ในการที่จะตอบสนองต่อความต้องการด้านโภชนาการและความนิยมในการบริโภค เพื่อการดำเนินชีวิตที่มีสุขภาพแข็งแรงและกระปรี้กระเปร่า “ซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1) มีอาหารเพียงพอ - Food Availability คือ การมีปริมาณอาหารที่มีคุณภาพที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ 2) การเข้าถึงอาหาร - Food accessibility  หมายถึง การที่บุคคลสามารถเข้าถึงทรัพยากรและได้มีสิทธิในการที่จะได้อาหารอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นด้านโภชนาการ 3) การใช้ประโยชน์อาหาร - food utilization คือ บทบาทของอาหารที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยการได้มีปริมาณอาหารที่เพียงพอ, มีน้ำสะอาดในการบริโภค-อุปโภค, มีสุขอนามัย และการดูแลสุขภาพที่ดี  4)อาหารมีสม่ำเสมอ- food stability  คือ ประชาชนโดยรวม, ครอบครัว, และปัจเจกบุคคล สามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

                 นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเกษตรอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารกระจายอยู่ทั่วประเทศรวมแล้วมากกว่า 8,000 โรงงาน  มีโรงงานผลิตน้ำดื่มประมาณ 7,000 โรงงาน ทำให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในความเพียงพอ ความสม่ำเสมอ และการเข้าถึงอาหารได้โดยง่าย จึงขาดการวางระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพเมื่อเผชิญกับความไม่แน่นอนของการมีอาหารจากวิกฤตการณ์เฉพาะหน้า  มหาอุทกภัยครั้งนี้ส่งสัญญาณเตือนว่าเราต้องเริ่มคิดวางระบบอย่างจริงจัง ตั้งแต่การให้ความรู้ประชาชนเชิงลึกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน จนถึงระดับประเทศ ปลูกฝังกระบวนการคิดและรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉิน  

                 “การแก้ปัญหาแนวทางหนึ่งคือการจัดการ ศูนย์กลางข้อมูลด้านอาหาร (Database) ระดับประเทศ โดยเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณผลิต (Supply) ปริมาณความต้องการ (Demand) และปริมาณสินค้าคงคลัง (Stock) ของประเทศ แหล่งที่ตั้งของโรงงาน/แหล่งผลิตอาหาร ข้อมูลการกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศและแผนสำรองกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีระบบการบริหารสต็อกหรือปริมาณสต็อกต่ำสุดที่ยอมรับได้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่  เพื่อเป็นข้อมูลระดับมหภาคสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร/ผู้กำกับนโยบาย เช่น 1) การส่งสัญญาณหรือออกนโยบายจูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าบางประเภท หรือบางพื้นที่ปรับเพิ่ม หรือลดปริมาณการผลิต 2)การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารกรณี สถานการณ์ไม่ปกติ ระดับประเทศ โดยมีข้อมูลด้านปริมาณความต้องการและวิธีการกระจายสินค้าที่ชัดเจน (เช่น ในช่วงน้ำท่วมขณะนี้ ปลากระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการทั่วประเทศ  เนื่องจากแหล่งผลิตกระจุกตัวบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วม จึงไม่เพียงพอกับความต้องการและก่อให้เกิดความวิตกกังวลในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และหากแหล่งผลิตที่สำคัญในสมุทรสาคร สมุทรปราการ  นครปฐม ได้รับผลกระทบ ก็จะยิ่งทำให้เกิดภาวะของการไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ใน ผลิตภัณฑ์ทั้งสองประเภทนี้ มากยิ่งขึ้น)

                 3)การปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่งจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือมีหน่วยงานเข้าไปทำหน้าที่เคลื่อนย้ายสินค้าแทนภาคเอกชน และกำหนดสถานที่จำหน่ายสินค้าอาหารเพื่อการบริโภค 4)การเสนอข้อเท็จจริงที่ทันสถานการณ์ต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตเพื่อเตรียมการและลดความวิตกกังวลจากการขาดแคลนและการเข้าถึงอาหารจนนำไปสู่การเก็บกันอาหารไว้เฉพาะกลุ่มโดยไม่จำเป็น”

                 นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า เหตุการณ์การวิตกกังวลในการเข้าไม่ถึงอาหารโดยเฉพาะไข่ และน้ำ ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่เกิดขึ้นนั้นสาเหตุหลักมาจากปริมาณความต้องการที่มากกว่าปกติ ขณะที่ผู้จำหน่ายและโรงงานผู้ผลิตเตรียมปรับแผนตั้งรับสถานการณ์เช่นนี้ไม่ทันท่วงที  แผนสำรองสำหรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า การบริหารความเสี่ยงด้านการกระจายสินค้าอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์ไม่ปกติ  จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันจัดทำโดยเร็ว เพื่อให้เราพร้อมรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ ที่สำคัญคือการยืนยันสัญลักษณ์ของการเป็น แหล่งข้าวแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของโลกเล็กๆใบนี้ ต่อการมีวิธีการจัดการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในประเทศของตัวเอง


                 อนึ่ง ปัจจุบัน ไข่ไก่ มีช่องทางกระจายไข่ไก่จากฟาร์มสู่ผู้บริโภคโดยปกติร้อยละ 80 ผ่านทางตลาดสด ตลาดนัด ร้านขายของชำ รถเร่ ขณะที่ร้อยละ 20 ผ่านทางโมเดิร์นเทรด ร้านอาหาร โรงแรม และอื่นๆ  ถึงแม้ว่าจะมีฟาร์มไข่ไก่หลายรายอยู่ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย แต่ก็มีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรวมของประเทศ จึงเชื่อว่าหากมีการประสานงานแหล่งผลิตอื่นทดแทนและปรับช่องทางกระจายสินค้าให้เข้าสู่โมเดิร์นเทรดเพื่อตอบสนองคนเมืองมากขึ้น ก็จะช่วยลดความตื่นตระหนกลงได้บ้าง     หากพิจารณาจากแหล่งผลิตไข่ไก่  แหล่งที่สำคัญอยู่ที่ภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 56 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 19 ภาคเหนือร้อยละ 15 และภาคใต้ร้อยละ 11 ตามลำดับ หากพิจารณาตามรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีการผลิตไข่ไก่มากที่สุด 5 อันดับแรกของประเทศ ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรามีปริมาณการผลิตเป็นอันดับ 1 ของประเทศ (ร้อยละ 11) รองลงมาอีก 4 อันดับได้แก่ นครนายก(ร้อยละ8) พระนครศรีอยุธยา(ร้อยละ8) ชลบุรี (ร้อยละ 7) และ อุบลราชธานี (ร้อยละ 6)




                 ส่วนกรณีของน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น ผู้ผลิตน้ำดื่มชั้นนำตลาดประมาณ 8 แบรนด์ (สิงห์, คริสตัล เนสท์เล่,เพียวไลฟ์,ช้าง, สยาม, น้ำทิพย์, เนปจูน) และบริษัทผู้รับจ้างผลิตให้กับเฮาส์แบรนด์อีกประมาณ 14 บริษัท ถือเป็นน้ำดื่มส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพ โดยที่ 8 แบรนด์หลักนี้มีส่วนแบ่งตลาดทั่วประเทศรวมกันมากกว่าร้อยละ 60 เชิงปริมาตร และมีโรงงานกระจายตั้งอยู่มากกว่า 1 พื้นที่ ช่องทางกระจายสินค้าน้ำดื่มร้อยละ 50 เข้าสู่ร้านอาหาร โรงเรียน  อีกร้อยละ 30 เข้าโมเดิร์นเทรดและคอนวีเนียน สโตร์ ที่เหลือร้อยละ 20 เข้าร้านค้าปลีกย่อย มีกำลังการผลิตทั้งประเทศสูงถึง 8.22 ล้านลิตรต่อวัน เฉพาะชาวกรุงเทพฯในภาวะปกติจะมีปริมาณการบริโภค 1 ล้านลิตรต่อวัน

« Last Edit: November 19, 2011, 12:13:05 PM by happy »