happy on October 19, 2012, 05:13:54 PM
The Master


จัดจำหน่ายโดย      เอ็ม พิคเจอร์ส              
ชื่อภาษาไทย       เดอะมาสเตอร์ บารมีสมองเพชร

ภาพยนตร์แนว      ดราม่า

จากประเทศ      สหรัฐอเมริกา

กำหนดฉาย      22 พฤศจิกายน  2555

ณ โรงภาพยนตร์      โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์
 
ผู้กำกับ           Paul Thomas Anderson
(พอล โธมัส แอนเดอร์สัน)

อำนวยการสร้าง      JoAnn Sellar (โจแอน เซลลาร์)

นักแสดง                                   Philip Seymour Hoffman (ฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟแมน) จาก MoneyBall , Mission : Impossible III , Jack Goes                                        Boating , Clod Mountain
         
         Joaquin Phoenix (วาคิน ฟินิกซ์)  จาก Gladiator , Walk the Line , Signs , The Village

         Amy Adams (เอมี่ อดัมส์)  จาก Enchanted, The Muppets , Catch me if You can , The Fighter

         Laura  Dern (ลอรา เดิร์น) จาก Jurassic Park , Blue Velvet , Inland Empire , Wild at Heart

จุดดเด่น


               THE MASTER ผลงานเรื่องที่หกของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน เผยถึงเรื่องราวความเป็นมนุษย์ที่เจิดจรัส ภายในบรรยากาศของความโหยหาทางจิตวิญญาณในช่วงปี 1950 ภาพยนตร์เรื่องนี้ติดตามความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเฟร็ดดี้ ที่รับบทโดย วาคิน ฟินิกซ์ อดีตนายทหารเรือผู้มีอารมณ์ปรวนแปร เขาไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตประจำวันได้รวมถึงการเดินทางที่ไม่คาดฝันของเขาเมื่อเขาได้เจอกับขบวนการเกิดใหม่ในชื่อของ เดอะ คอส เฟร็ดดี้ ผู้ติดต่อกับเดอะ คอสในฐานะคนนอกและคนพเนจร ท้ายที่สุดแล้วกลับกลายเป็นเหมือนตัวแทนทายาทของผู้นำผู้มีสีสันของพวกเขา แลนคาสเตอร์ ด็อดด์ ผู้รับบทฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟแมน กระนั้น แม้ในระหว่างที่เดอะ คอส ล้วงลึกเข้าไปในการควบคุมอารมณ์ของมนุษย์ มิตรภาพระหว่างเฟร็ดดี้และด็อดด์จะพัฒนาไปสู่สงครามประสาทที่ดุเดือดและไม่เปิดเผย






เรื่องย่อ

               หลังสงครามโลกครั้งที่สองอเมริกาที่ไร้ความสงบสุขได้บังเกิดขึ้นมันเป็นช่วงเวลาของการเติบโตและความทะเยอทะยานของประเทศอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หากแต่มันก็ก่อเกิดความรู้สึกกระสับกระส่าย ไม่สงบสุข และการปะทะกันขององค์ประกอบที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมของการไขว่คว้าและค้นหา ที่ยังคงยืนยาวต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 21 คนหนุ่มกลับมาจากความมืดหม่นที่เกินกว่าความเข้าใจได้ของสงคราม และได้สร้างโลกใหม่ของการบริโภคนิยมและการมองโลกในแง่บวกที่สดใสขึ้นมา แต่หลายคนก็โหยหาบางสิ่งบางอย่างมากกว่านั้นในชีวิต โหยหาที่จะยึดเหนี่ยวบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าพวกเขาเอง บางสิ่งที่จะระงับอาการวิตกกังวล ความสับสน และความป่าเถื่อนของโลกสมัยใหม่ได้
            ภาพสะท้อนที่น่าประทับใจของเหล่านักพเนจรและผู้แสวงหาสิ่งเติมเต็มในอเมริกาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 THE MASTER ภาพยนตร์โดยพอล โธมัส แอนเดอร์สัน ได้บอกเล่าการเดินทางของ เฟร็ดดี้ (วาคิน ฟินิกซ์) อดีตทหารเรือ ผู้กลับจากสงคราม ด้วยความรู้สึกหวั่นไหวและไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเองจนกระทั่งเขาถูกทาบทามโดยองค์กรเดอะ คอส และผู้นำที่มีเสน่ห์ของพวกเขา แลนคาสเตอร์  ด็อดด์ (ฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟแมน) เอมี อดัมส์ รับบท เพ็กกี้ ภรรยาของด็อดด์[size]

เกี่ยวกับนักแสดง

               พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงหลายรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ได้วางภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเขาให้อยู่สุดขอบของเรื่องราวทางอารมณ์ ครอบครัวและประวัติศาสร์ HARD EIGHT ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาได้บอกเล่าเรื่องราวของผีพนันชาวลาสเวกัส ผู้ให้ที่พักพิงกับนักพนันตกอับโดยมีผลที่คาดไม่ถึงตามมา ผลงานเรื่องถัดไปของเขาคือ BOOGIE NIGHTS ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มคนในแวดวงภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ ผู้สร้างครอบครัวที่ผิดแปลกจากขนบขึ้นมา, MAGNOLIA เรื่องราวที่ร้อยเรียงกันของวิกฤติส่วนตัวที่เชื่อมติดกัน       ใ  นค่ำคืนมหัศจรรย์ในซาน เฟอร์นันโด วัลลีย์และ PUNCH-DRUNK LOVE โรแมนติกคอเมดีเกี่ยวกับการพบกับความรักและความตื่นกลัวที่น่าสับสนของนักธุรกิจขี้เหงา, THERE WILL BE BLOOD การดำดิ่งลงไปในแคลิฟอร์เนียช่วงเปลี่ยนศตวรรษเพื่อถ่ายทอดตำนานอันยิ่งใหญ่ของนักสำรวจน้ำมัน ผู้เปลี่ยนตัวเองและเมืองทั้งเมืองจากการขุดหาน้ำมัน
   สำหรับ THE MASTER แอนเดอร์สันสนใจในการถือกำเนิดของครอบครัวอเมริกันแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มของจิตวิญญาณทางเลือกและศาสนาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ตั้งแต่การบำเพ็ญตบะแบบตะวันออก ไปจนถึงไดอะเนติคส์ ยุค 50s กลายเป็นช่วงเวลาที่หลายคนเริ่มสร้างสังคมรากหญ้า ที่อุทิศตนให้กับการส่งเสริมศักยภาพของมนุษย์อันยิ่งใหญ่ให้กลายเป็นจริง
   “มันเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ต่อการเล่าเรื่องราวที่น่าติดตามและอลังการครับ” แอนเดอร์สันพูดถึงความหลงใหลที่เขามีต่อช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการผจญภัยทางจิตวิญญาณนี้ “การย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทำให้คุณได้เห็นว่าความตั้งใจอันดีเป็นอย่างไร และสิ่งที่จุดประกายให้ผู้คนอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและโลกรอบตัวคืออะไร ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นช่วงเวลาที่คนมองไปยังอนาคตด้วยความหวังเต็มเปี่ยม แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็รับมือกับความเจ็บปวดและความตายที่เห็นจากกระจกหลังด้วยครับ”
   เขากล่าวต่อไปว่า “ตัวละครของผมกลับจากสงครามโลกครั้งที่สองและรู้สึกไม่สงบสุขตลอดชีวิต มีคนกล่าวว่าช่วงเวลาไหนก็เหมาะทั้งนั้นสำหรับการเริ่มต้นการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณหรือศาสนา แต่ช่วงเวลาที่ได้ผลเป็นพิเศษคือช่วงหลังสงคราม หลังจากความตายและความพินาศมากมาย คนจะตั้งคำถามว่า ‘ทำไมล่ะ’ และ ‘คนตายแล้วไปไหน’ นั่นเป็นคำถามสองคำถามที่สำคัญมากๆ”
   คำถามที่ว่า “ทำไม” เป็นตัวขับดันให้เกิดการสร้างตัวละคร เฟร็ดดี้ ผู้ซึ่งรู้สึกเคว้งคว้างในชีวิตและจมดิ่งเข้าสู่ความไม่รู้สึกรู้สา ในตอนที่เขาได้พบกับแลนคาสเตอร์ ด็อดด์ นายทหารเรือผู้เชื่อว่าเขาได้ค้นพบคำตอบบางอย่างที่ว่ามนุษยชาติจะสามารถเอาชนะธรรมชาติความเป็นสัตว์ที่ดิบเถื่อนที่สุดของตัวเองได้อย่างไร ด้วยเฟร็ดดี้เป็นจุดศูนย์กลาง เรื่องราวนี้ก็เจาะลึกลงไปในความเป็นส่วนตัวของเขา ติดตามเส้นทางที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคดของเขากับเดอะ คอส เส้นทางที่ทั้งท้าทาย และซื่อสัตย์ เปี่ยมด้วยความหวังและพังพินาศ ไม่แน่นอนและเต็มไปด้วยความรู้สึกรุนแรง และอุดมไปด้วยความฝันและความหวังในแบบที่ทิ่มแทงผ่านความเป็นจริงของการเล่าเรื่อง
   ผู้อำนวยการสร้างโจแอน เซลลาร์ ผู้ได้ร่วมทำงานในภาพยนตร์ทุกเรื่องของพอล โธมัส แอนเดอร์สันตั้งแต่ BOOGIE NIGHTS จำได้ว่าได้เฝ้ามองโปรเจ็กต์ในช่วงพัฒนาการ “พอลสนใจในไอเดียที่ว่าสงครามจะส่งผลอย่างไรต่อคุณบ้าง และพอถึงปี 1950 คุณก็จะได้พบชายหนุ่มเหล่านี้ที่กลับคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อหาที่ทางของตัวเองในโลกอีกครั้งหนึ่ง มันเป็นเวลาที่เหล่าผู้หลงทางมองหาคำตอบ และหนทางที่นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มก้อนทางจิตวิญญาณใหม่ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไดอาเนติคส์ เป็นสิ่งที่ทำให้พอลสนใจ แน่นอนค่ะว่าพอลไม่ได้สนใจในการสร้างภาพยนตร์นอนฟิคชัน มันไม่ใช่มุมมองของเขา การสร้างเดอะ คอสของเขาอาจได้รับแรงบันดาลใจมากจากงานวิจัยของเขา แต่เรื่องราวก็นำเขาไปยังอีกทิศทางหนึ่งหลังจากนั้นค่ะ”
   “มันกลายเป็นเรื่องราวของเฟร็ดดี้” เซลลาร์กล่าวต่อ “ในแง่หนึ่ง เฟร็ดดี้เป็นคนภายนอกแบบคลาสสิก ที่เข้ามาสู่สังคมหนึ่งและเปลี่ยนแปลงมันไป และผลที่ตามมาก็คือเรื่องรักที่โศกสลดระหว่างเฟร็ดดี้และท่านอาจารย์ เฟร็ดดี้ใฝ่ฝันที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง แต่เขาก็ไม่อาจถูกยึดติดกับมันได้ ส่วนท่านอาจารย์ก็ใฝ่ฝันที่จะให้เฟร็ดดี้เป็นลูกชายที่เขาไม่เคยมี แต่เขาก็ทำไม่สำเร็จ”
   แอนเดอร์สันกล่าวว่า เขาได้ทำการอ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายจากยุคนั้น ตั้งแต่สไตน์เบ็คจนถึงแอล. รอน ฮับบาร์ด แต่ก็ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้าคุณไม่ได้สร้างหนังนอนฟิคชันหรือชีวประวัติ ก็หวังว่าเส้นแบ่งระหว่างการค้นคว้าข้อมูลและจินตนาการจะเลือนลางไปนะครับ”
   จริงๆ แล้ว บทภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เมื่อจินตนาการเข้ามามีส่วนและเดอะ คอสก็ถือกำเนิดขึ้นในฐานะองค์กรที่เป็นตัวของตัวเอง เป็นตัวแทนครอบครัวที่พบตัวเองเปราะบางต่อกลุ่มอำนาจที่ทรงพลังทั้งหลายรวมถึงสายสัมพันธ์ทางเลือดที่ซับซ้อนอีกด้วย แต่ละฉากอัดแน่นไปด้วยการแบ่งขั้วของความเป็นปฏิปักษ์และความรัก ความใฝ่ฝันและความสับสนภายในตัวละครหลัก
   “ในตอนนี้ เมื่อผมมองดูหนังเรื่องนี้ ผมมองดูเฟร็ดดี้และท่านอาจารย์ว่าเป็นคนสองคนที่พยายามอย่างเหลือเกินที่จะอยู่ด้วยกันและเชื่อมกันให้ติด” แอนเดอร์สันพูดถึงทั้งคู่ “ผมคิดว่าพวกเขามองเห็นความเข้มแข็งของกันและกันและรู้สึกถึงความปรารถนาที่จะช่วยลบล้างจุดอ่อนของอีกฝ่าย ผมมองทั้งคู่ว่าเป็นคนมีเมตตา ที่มีวิธีการที่แตกต่างกันในการสื่อสารสิ่งที่พวกเขามีเพื่อส่งต่อน่ะครับ”
   เมื่อบทภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในกองถ่าย มันก็กลายเป็นเหมือนความฝันที่ไม่มีวันจบสิ้นของธีมช่วงหลังสงคราม ธีมของการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของการเป็นครอบครัว ศรัทธา ความสำเร็จและความผูกพัน ที่เผยออกมาในฉากที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ผู้อำนวยการสร้างแดเนียล ลูพี ผู้ทำงานในภาพยนตร์ทุกเรื่องของแอนเดอร์สันตั้งแต่เริ่มแรกกล่าวว่า “บทหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึง  BOOGIE NIGHTS มากเพราะหนังเรื่องนั้นอาจมีเรื่องราวเกิดขึ้นในแวดวงหนังโป๊ก็จริง แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่แปลกประหลาด เดอะ คอสก็เป็นครอบครัวที่ซับซ้อนเหมือนกัน”
   ในขณะที่องค์ประกอบสร้างสรรค์ต่างๆ ถูกกลั่นกรอง แรงสนับสนุนก็เข้ามาเพิ่มเติมด้วยผู้อำนวยการสร้างเมแกน เอลลิสัน ผู้ก่อตั้งแอนนาพูร์นา พิคเจอร์สขึ้น เพื่อสนับสนุนภาพยนตร์ของผู้กำกับ ที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนอย่างแอนเดอร์สัน “เมแกน เอลลิสันปรากฏตัวราวกับนางฟ้าผู้โบยบินลงมาและบอกว่า ‘ฉันรักโปรเจ็กต์นี้ เรามาลงมือสร้างมันกันเถอะ’ น่ะค่ะ” เซลลาร์เล่า “ตอนนั้นเองที่ทุกอย่างเริ่มเกิดขึ้นจริงๆ”
« Last Edit: October 19, 2012, 05:16:53 PM by happy »

happy on October 19, 2012, 05:24:32 PM







เกี่ยวกับนักแสดง

               หัวใจสำคัญของดรามาใน THE MASTER คือเฟร็ดดี้ ผู้ปลดประจำการจากกองทัพเรือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยจิตใจที่ฟุ้งซ่าน เคว้างคว้าง เขาเป็นนักเดินทางไร้จุดหมายที่มองไม่เห็นเส้นทางไปสู่อนาคต หรือกระทั่งมีอำนาจควบคุมตัวเองขั้นพื้นฐาน แม้ว่าเขาจะพยายามประกอบอาชีพเป็นช่างภาพ แต่เขาก็รักษางานเอาไว้ไม่ได้ และก็ไม่อาจควบคุมความคิดสร้างสรรค์ในการคิดสูตรเหล้าแปลกๆ ของตัวเองได้ด้วย เขาลงเอยด้วยการแอบลักลอบขึ้นเรือที่จัดงานเลี้ยงแต่งงาน นำไปสู่การได้พบกันครั้งสำคัญระหว่างเขากับแลนคาสเตอร์     ด็อดด์ และการศึกษาเรียนรู้อย่างที่เขาไม่เคยคิดฝัน เมื่อมิตรภาพระหว่างเฟร็ดดี้และด็อดด์งอกเงยขึ้น เขาก็กลายเป็นหนูทดลองสำหรับวิธีการต่างๆ ของเขา เป็นตัวแทนที่น่าหลงใหลและท้ายที่สุดก็เป็นมือขวาคนสนิทของเขาในเดอะ คอส
             วาคิน ฟินิกซ์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์จากบทจักรพรรดิคอมโมดัส ผู้มีแรงขับดันชั่วร้ายใน GLADIATOR และบทศิลปินขบถในตำนาน จอห์นนี แคชใน WALK THE LINE ได้นำแรงขับดิบเถื่อน ราวสัตว์ป่าใส่เข้าไปในตัวเฟร็ดดี้ในแบบที่ทั้งสร้างความประหลาดใจและดึงดูดใจให้กับท่านอาจารย์ แอนเดอร์สันมองเขาสวมบทบาทนี้อย่างกลมกลืนและนำมันไปสู่อีกระดับขั้น
            “ระหว่างที่เขียนบท ผมนึกถึงวาคินในบทเฟร็ดดี้ตลอด” แอนเดอร์สันเล่า “ผมขอให้เขามาเล่นหนังของผมตลอด 12 ปีและเขาก็มีเหตุผลที่จะไม่ตอบตกลงเสมอ ผมได้แต่ขอบคุณที่เขาตอบตกลงในครั้งนี้ครับ”
            แลนคาสเตอร์ ด็อดด์ ผู้นำของเดอะ คอส และผู้เขียน/นักปรัชญา ผู้อยู่เบื้องหลังแนวความคิดต่างๆ ขององค์กร ได้ดึงดูดความสนใจของเฟร็ดดี้ในทันทีด้วยความย้อนแย้งที่เห็นได้ชัดเจนตัวเขา แม้ว่าเขาจะมีเสน่ห์ ความเฉลียวฉลาด ความรอบรู้และความมั่นใจอย่างเหลือล้น แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีเศษเสี้ยวของความซุกซน ความหวาดระแวงและความเห็นแก่ตัวที่ฉายให้เห็นภายใต้โฉมหน้าที่ดูดี และมีเสน่ห์เย้ายวนของเขา ผู้ที่ผสมผสานแง่มุมต่างๆ เหล่านั้นของตัวละครที่ไม่เหมือนใครตัวนี้เข้าด้วยกันคือฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟแมน เจ้าของรางวัลออสการ์จาก CAPOTE ผู้เคยร่วมงานกับพอล โธมัส แอนเดอร์สันมาแล้วใน BOOGIE NIGHTS และ MAGNOLIA
            แอนเดอร์สันกล่าวว่า “ฟิลกับผมมองหาหนทางที่จะได้ทำงานร่วมกันมาตลอด เราได้ร่วมงานกันระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทเรื่องนี้อยู่และฟิลก็มีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องบทครับ”   โจแอน เซลลาร์กล่าวเสริมว่า “ฟิลถูกวางตัวให้รับบทท่านอาจารย์ตั้งแต่ต้นค่ะ เขาได้ให้ความคิดเห็นมากมายตอนที่พอลกำลังเขียนงานค่ะ”
            ในขณะที่แลนคาสเตอร์ ด็อดด์กลายเป็นตัวแทนของเดอะ คอส เบื้องหลังฉากยังมีผู้ทรงอำนาจอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทต่อการเติบโตของมันไม่แพ้กัน นั่นคือภรรยาที่อ่อนนอกแข็งในของเขา เพ็กกี้ ผู้ที่เผยอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ของเพ็กกี้ออกมาอย่างเบาบางคือเอมี อดัมส์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสามรางวัลออสการ์จากการแสดงของเธอในดรามาอินดีเรื่อง JUNEBUG, ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากละครโดยจอห์น แพทริค แชนลีย์เรื่อง DOUBT และบทแฟนสาวของนักมวย มิคกี้ วอร์ดในเรื่อง THE FIGHTER นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เธอได้สวมบทบาทที่แตกต่างจากบทอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของเธอโดยสิ้นเชิง
            แอนเดอร์สันกล่าวว่า “สำหรับผมแล้ว เอมีไม่เคยทำผิดพลาดเลยครับ ผมรู้สึกแบบนั้นตั้งแต่ CATCH ME IF YOU CAN ไปจนถึง ENCHANTED และ THE FIGHTER แล้ว เธอเป็นหนึ่งในนักแสดงดาวรุ่งของเรา ฟิลเคยร่วมงานกับเธอหลายครั้งแล้วและมีความสุขกับเธอมาก ดังนั้น มันก็เป็นการตัดสินใจที่ง่ายดาย แล้วผมก็คงต้องบอกอีกครั้งว่าผมดีใจมากที่เธอตอบตกลงครับ”
“เอมีรับบทเพ็กกี้ ด็อดด์ให้เป็นเหมือนเลดี้แม็คเบธค่ะ” เซลลาร์ตั้งข้อสังเกต “เธอเป็นผู้มีศรัทธาที่แท้จริงของเรื่อง”


การถ่ายทำ

                แม้ว่า THE MASTER จะเป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด พอล โธมัส แอนเดอร์สันก็ตั้งใจที่จะนำเสนอโลกของเดอะ คอสด้วยภาพที่สมจริง ในการถ่ายทอดรายละเอียดของยุคสมัยตามความเป็นจริง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของเดอะ คอสทั้งบนบกและในทะเลที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ เขาได้ร่วมงานกับทีมงานผู้มุ่งมั่น ซึ่งหลายคนได้ผูกพันเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ผู้ได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกในภาพยนตร์ของเขา
            การตัดสินใจครั้งสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณล้วนๆ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดำเนินไปในเส้นทางที่โดดเด่นมากๆ นั่นคือการตัดสินใจของแอนเดอร์สันที่จะถ่ายทำ THE MASTER ด้วยสต็อคฟิล์ม 65 ม.ม. ที่หายากมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เขารู้ว่าเขาต้องการลุคที่บ่งบอกถึงอดีตอย่างชัดเจน และหลังจากที่เขาได้ศึกษาโทนและเท็กซ์เจอร์ที่มีชีวิตชีวาของภาพยนตร์คลาสสิกยุค 50s อย่าง VERTIGO และ NORTH BY NORTHWEST แอนเดอร์สันก็หวังที่จะนำความชุ่มฉ่ำแบบนั้นมาผสมผสานกับสไตล์พลิ้วไหวที่เป็นลายเซ็นของเขา ด้วยภาพที่มีตั้งแต่ทะเลพิโรธไปจนถึงการเล่นแสงและเงาภายในตัวละคร ฟิล์ม 65 ม.ม.ดูเหมือนจะเหมาะที่สุดกับแง่มุมที่กว้างขวางของเรื่องราวนี้
            ครั้งหนึ่ง ฟิล์ม 65 ม.ม. เคยอยู่บนจุดสูงสุดของงานสร้างภาพยนตร์ แต่ปัจจุบันนี้ มันกลับถูกแทนที่ด้วยฟิล์ม IMAX® และฟิล์มขนาดใหญ่อื่นๆ ในยุครุ่งเรืองของอีพิคไวด์สกรีนในฮอลลีวูด บริษัทหลายแห่งเช่นท็อดด์-เอโอและพานาวิชันได้ยกย่องฟิล์ม 65 ม.ม. ว่าให้ภาพที่คมกริบและชัดเจนที่สุด ตั้งแต่ทิวทัศน์พาโนรามาไปจนถึงภาพโคลสอัพตัวละคร ภาพยนตร์คลาสสิกยุค 60s หลายเรื่อง เช่น LAWRENCE OF ARABIA, WEST SIDE STORY, MUTINY ON THE BOUNTY, LORD JIM, MY FAIR LADY และ 2001: A SPACE ODDYSEY ต่างก็เผยถึงพลังของฟิล์มนี้ในการเสริมสร้างชีวิตชีวาอย่างไม่อาจอธิบายได้ให้กับเรื่อง
            แต่พอเข้ายุค 70s ราคาที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ของฟิล์มชนิดนี้ได้ทำให้ความนิยมลดลงอย่างรวดเร็ว มันมีการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในยุค 80s เช่นในเรื่อง BRAINSTORM, TRON และ THE BLACK CAULDRON แต่มันก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ล่าสุด ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 65 ม.ม.ทั้งหมดมีเพียงภาพยนตร์ปี 1996 ของเคนเนธ บรานาห์เรื่อง HAMLET และภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีการเล่าเรื่องโดยรอน ฟริคเรื่อง BARAKA และ SAMSARA (ภาพยนตร์โดยคริสโตเฟอร์ โนแลนเรื่อง INCEPTION และ THE DARK KNIGHT รวมไปถึงภาพยนตร์โดยเทอร์เรนซ์ มาลิคเรื่อง THE NEW WORLD มีฟุตเตจและซีเควนซ์สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ที่ใช้ฟิล์ม 65 ม.ม. อยู่บ้าง แต่หลักๆ แล้ว พวกเขาถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม.)
            แอนเดอร์สันกล่าวว่า การตัดสินใจนี้เริ่มต้นมาจากการสำรวจ แต่มันก็กลายเป็นข้อผูกพันหลังจากที่เขาได้เห็นความเหมาะสมของฟิล์มชนิดนี้ต่อการเล่าเรื่องของ THE MASTER “ไอเดียนี้ถูกเสนอในตอนแรกโดยแดน ซาซากิ ช่างเทคนิคเลนส์ของพานาวิชัน หลังจากที่ผมถามถึงเรื่องกล้องวิสต้า วิชันจากยุค 50s เพื่อคิดหาคำตอบว่าหนังยุค 50s บางเรื่องสร้างลุคของตัวเองขึ้นมาได้ยังไง” เขาอธิบาย
            เขากล่าวต่อไปอีกว่า “เราเริ่มต้นถ่ายทำด้วยกล้องสตูดิโอ 65 ม.ม. และทุกอย่างที่เราได้เห็นก็เริ่มให้ความรู้สึกว่าใช่ มันให้ภาพที่ชัดเจนและวิเศษสุด แต่นอกจากเรื่องความละเอียดหรืออะไรแบบนั้นแล้ว มันยังดูเหมาะกับเรื่องราวนี้และตัวละครเหล่านี้ด้วย สิ่งต่างๆ จะให้ความรู้สึกโบราณโดยที่ไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิ่งล้ำค่าหรือเป็นการจำลองสไตล์ใดสไตล์หนึ่งขึ้นมาใหม่ มันเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยากนอกเสียจากจะบอกว่า มันให้ความรู้สึกที่ใช่น่ะครับ”
            โจแอน เซลลาร์ก็รู้สึกคล้ายๆ กัน “มันเหมาะมากสำหรับหนังแบบนี้ ที่มีเท็กซ์เจอร์วิชวลมากเหลือเกินน่ะค่ะ” เธอบอก “แต่มันก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงด้วยเพราะความรู้เกี่ยวกับการทำงานกับฟิล์ม 65 ม.ม.ไม่มีเหลือแล้ว และมันก็มีความท้าทายหลายๆ อย่าง เราเจอกล้องพานาวิชันแค่สามตัวเท่านั้น ดังนั้น พอมันเสีย มันก็เลยกลายเป็นความท้าทาย และกระบวนการในแล็บก็ซับซ้อนมากๆ ด้วยค่ะ”
            แดเนียล ลูพีกล่าวเสริมว่า “พานาวิชันใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อสนับสนุนเราในการใช้กล้องที่แทบไม่ได้มีการใช้งานเลยมาหลายสิบปีแล้ว หลายครั้ง เรามีคนจากพานาวิชันมาอยู่กับเรา เพื่อที่เขาจะได้จัดการปัญหาด้านเทคนิคของกล้องครับ”
            ตลอดการถ่ายทำ แอนเดอร์สันจะฉายฟิล์มด้วยการใช้โปรเจ็กเตอร์ขนาด 65 ม.ม.ด้วยเช่นกัน “ผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างสรรค์ของเขา ที่ได้ดูฟิล์มและปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของเขาตามนั้นน่ะครับ” ลูพีอธิบาย “เขามีกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ครับ”
            ทีมผู้สร้างต่างก็ยินดีที่ผู้ชมบางส่วนจะมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้จากโปรเจ็กเตอร์ 70 ม.ม. “ในโลกอุดมคติ ผู้ชมจะสามารถ      ดื่มด่ำกับหนังเรื่องนี้ในขนาด 70 ม.ม.ได้ ขอบคุณพระเจ้าที่ยังมีโรงหนังที่ฉายหนัง 70 ม.ม.อยู่น่ะครับ ขอให้พวกมันอยู่ต่อไปอีกนานๆ เถอะ” แอนเดอร์สันกล่าว

happy on October 19, 2012, 05:29:49 PM





การออกแบบงานสร้าง

               ขณะที่ THE MASTER เผยการเดินทางของเฟร็ดดี้ การเล่าเรื่องก็กระโดดข้ามเวลา นำเขาจากวัยเด็กในแมสซาซูเซทส์ชนชั้นแรงงานไปสู่ชายหาดเกาะกวมที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน เรือยอทช์ที่จัดงานแต่งงานในซานฟรานซิสโกและที่ทำการช่วงเริ่มแรกของเดอะ      คอสในบ้านที่ดูเหมือนกับบ้านทั่วๆ ไปในเพนซิลวาเนีย ซึ่งสถานที่แต่ละแห่งก็ได้เสริมระดับชั้นให้กับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างเขากับแลนคาสเตอร์และเพ็กกี้ ด็อดด์
   เช่นเคย แอนเดอร์สันเริ่มนึกถึงการออกแบบภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่แรกจากภาพที่เขาได้สะสมเอาไว้ “พอลใช้เวลาเปิดดูภาพถ่ายเก่าๆ เพื่อสร้างความรู้สึกของยุคสมัยและสถานที่เหล่านั้นครับ” แดเนียล ลูพีกล่าว “ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ถ่ายทำในแคลิฟอร์เนียเป็นหลัก ทั้งในย่านเบย์ แอเรียและในทะเลทรายในเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย และเราก็เดินทางไปฮาวายเพื่อถ่ายทำฉากชายหาดที่เป็นตอนจบของเรื่องน่ะครับ”
   จากนั้น แอนเดอร์สันก็เริ่มแลกเปลี่ยนไอเดียกับผู้ออกแบบงานสร้าง แจ็ค ฟิสค์ ผู้เคยทำงานร่วมกับเขาบ่อยๆ และคู่หู เดวิด แครงค์ ผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบศิลป์ให้กับ THERE WILL BE BLOOD ฟิสค์ได้อ่านร่างของบทภาพยนตร์เรื่องนี้ 18 เดือนก่อนที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งก็ทำให้เขามีเวลาในการกลั่นกรองไอเดียต่างๆ
   “ผมตื่นเต้นกับความกระตือรือร้นของพอลที่มีต่อเรื่องราวนี้ทันทีครับ” ฟิสค์เล่า “สำหรับผมแล้ว ความรู้สึกรุนแรงคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความคิดสร้างสรรค์”
   เขาและแอนเดอร์สันเริ่มมองโลเกชันหลายแห่งก่อนหน้าที่การถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้นประมาณหนึ่งปี “การหาโลเกชันกับพอลเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์มากๆ” ฟิสค์ตั้งข้อสังเกต “มันเหมือนกับการตามหาชิ้นส่วนปริศนา แต่ละชิ้นจะมีความเชื่อมโยงกัน จนกระทั่งหนังเรื่องนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และผมก็พยายามที่จะไม่ยึดติดกับไอเดียใดๆ จนกระทั่งผมได้รู้ถึงตัวเลือกทั้งหมดของเรา ด้วยความที่พอลได้สร้างตัวละครที่สมจริงเหลือเกินขึ้นมาในเรื่องราวนี้ มันก็เป็นการผลักดันให้เราสร้างฉากที่จะคู่ควรกับงานเขียนและการแสดงของเรื่องครับ”
   เป้าหมายของฟิสค์คือการทำให้โลกของเฟร็ดดี้ให้ความรู้สึกว่ามีชีวิตชีวาและมีผู้คนอาศัยอยู่ในนั้นจริงๆ “ผมเชื่อว่าความท้าทายของการออกแบบในหนังที่เป็นธรรมชาติอย่าง THE MASTER คือการทำให้มันดูเหมือนไม่ได้ผ่านการออกแบบมาเลย คุณต้องการจะขจัดองค์ประกอบทุกอย่างที่ไม่จำเป็น ที่จะทำให้ผู้ชมไขว้เขวจากการให้ความสนใจกับความสัมพันธ์เหล่านั้นครับ” เขาให้ความเห็น “ถึงอย่างนั้น ผมก็สนุกมากกับการจำลองโลเกชันต่างๆ เช่นห้างสรรพสินค้าในยุค 40s ครับ” (ทีมงานได้สร้างห้างแห่งนี้ขึ้นมาภายในอาคารประกันภัยร้างในย่านดาวน์ทาวน์ของลอสแองเจลิส)
ซีเควนซ์บนเรือมากมายของเรื่อง ซึ่งเฟร็ดดี้และท่านอาจารย์ได้พบสายสัมพันธ์จากแบ็คกราวน์ทหารเรือของทั้งคู่ นำทีมงานไปสู่เมืองวอลเลโจ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซานฟรานซิสโกและสู่แมร์ ไอส์แลนด์ แหลมใกล้ๆ ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกองทัพเรือของตัวเอง
   เรือที่ถูกใช้แทนเรือของแลนคาสเตอร์ ด็อดด์ ที่เฟร็ดดี้แอบลักลอบขึ้นมา คือยูเอสเอส โพโทแม็ค เรือประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นเรือประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีแฟรงค์ลิน เดลาโน รูสเวลท์มาก่อนระหว่างปี 1936-1945 หลังจากนั้น เรือลำนี้ก็ถูกซื้อโดยเอลวิส เพรสลีย์ ผู้บริจาคมันให้กับการกุศล ซึ่งหลังจากนั้น เรือลำนี้ก็ถูกนำไปใช้ในการค้ายาก่อนที่จะถูกจมลง และในที่สุดก็ถูกกู้ขึ้นมาได้โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ปัจจุบัน มันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในจัตุรัสแจ็ค ลอนดอนในโอ๊คแลนด์ “มันเป็นเรือเหล็กทั้งลำเพราะรูสเวลท์กลัวเรื่องไฟไหม้บนเรือครับ” ฟิสค์ตั้งข้อสังเกต “เราสามารถตกแต่งห้องหลักเสียใหม่หลายครั้งเพื่อใช้มันแทนห้องต่างๆ ในเรือของเรา แล้วเราก็สร้างส่วนภายในขึ้นมาบนซาวน์สเตจในลอสแองเจลิสสำหรับฉากแรกที่เข้มข้นระหว่างวาคินและฟิลิปครับ”
   เขากล่าวต่อไปอีกว่า “สิ่งแรกที่เรากังวลคือการทำให้แน่ใจว่าฉากบนซาวน์สเตจจะกลมกลืนไปกับฉากบนเรือจริงๆ บนน่านน้ำในซานฟรานซิสโก และการที่พอลจะต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อการทำงานกล้องด้วย เราเดิมพันกับฉากเพื่อที่มันจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นอิสระ และทำให้เราได้การเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกับเรือจริงๆ ที่ออกทะเล แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราพบว่ามันง่ายมากๆ กับการทำให้มันตรงกับการก่อสร้างเรือจริงๆ และพลังของฉากพวกนั้นก็ยิ่งใหญ่เกินกว่าเอฟเฟ็กต์ใดๆ ก็ตามที่เราจะใส่ลงไปอีกครับ”
   ในวัลเลโจ ฟิสค์และแครงค์พบบ้านหลังใหญ่ในฟิลาเดลเฟีย ที่ซึ่งเฟร็ดดี้จะได้พำนักอยู่กับเดอะ คอส แม้ว่ามันจะเป็นสถานที่ที่นำมาสู่ความรู้สึกขัดแย้งในจิตใจเขาก็ตามที ฟิสค์มองหาบ้านที่ดูธรรมดา ซึ่งภายในจะเกิดเรื่องราวมากมาย
“ผมชื่นชอบไอเดียที่ว่าพวกเราไม่รู้เลยว่าอะไรเกิดขึ้นหลังประตูของแต่ละบ้านที่เราได้เห็นทุกวัน” เขากล่าว “เราใช้บ้านบนแมร์ ไอส์แลนด์ ที่เดิมถูกสร้างสำหรับพวกนายพลกองทัพเรือ ในไตล์แบบอีสต์โคสต์มากๆ ซึ่งทำให้มันเหมาะกับวัตถุประสงค์ของเรา พอเราใช้การทาสีและตกแต่งใหม่ เราก็สามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นบ้านในฟิลาเดลเฟียที่น่าเชื่อได้แล้ว บ้านที่แสนธรรมดาหลังนี้เป็นภาพตรงข้ามกันอย่างวิเศษสุดกับไอเดียทดลองใหม่ๆ ของท่านอาจารย์ครับ”
   สำหรับการออกแบบที่ทำการแรกๆ ของเดอะ คอส ฟิสค์คำนึงถึงความใฝ่ฝันที่เป็นรากฐานขององค์กรนี้อยู่เสมอ “ผมตระหนักดีว่าผู้คนไขว่คว้าหาความหมายและคำตอบในชีวิตของพวกเขามากแค่ไหน” เขากล่าว “เราตระเวนหาตึกหลายหลังที่เป็นของกลุ่มศาสนาเล็กๆ เพื่อให้ได้ความรู้สึกของพวกเขา และผมก็ทึ่งกับความคล้ายคลึงของตึกพวกนั้นกับที่ทำการในเรื่องราวของเราครับ”
   โลเกชันอื่นๆ ที่สำคัญรวมถึงโรงภาพยนตร์วินเทจ ที่เฟร็ดดี้ได้ฝันถึงเสียงเรียกจากท่านอาจารย์ ฉากนี้ถ่ายทำในโรงภาพยนตร์ลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ช่วงปลายยุค 30s ที่ยังคงตั้งอยู่ในย่านดาวน์ทาวน์ของลอสแองเจลิส และรักษาความงดงามของอดีตไว้ไม่เปลี่ยนแปลง “มันเป็นโลเกชันหนึ่งที่ใช้การได้อย่างดีโดยที่เราไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรครับ” ฟิสค์กล่าว
   ด้วยความที่เขาเคยร่วมงานกันแอนเดอร์สันมาแล้วหลายครั้ง ฟิสค์มองความสัมพันธ์ของพวกเขาว่าเกิดจากองค์ประกอบที่จำเป็นสามอย่าง “อารมณ์ขัน การทำงานหนักและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” องค์ประกอบเดียวกันนั้นเองที่ทำให้ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย มาร์ค บริดเจส ผู้เคยทำงานในภาพยนตร์ทุกเรื่องของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน ได้กลับมาทำงานกับเขาอีกเรื่อยๆ แม้ว่าแต่ละเรื่องจะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเรื่องที่ผ่านมา ทำให้บริดเจสต้องเปลี่ยนจากการออกแบบชุดดิสโก้เป็นชุดเดนิมในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ เขาก็พบว่า THE MASTER มีเสน่ห์น่าหลงใหลในทันที
   “ผมตื่นเต้นมากกับเรื่องนี้เพราะพอลตื่นเต้นมากกับการสร้างโลกของความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในตอนที่เกิดการเคลื่อนไหวจากรากหญ้าพวกนี้เพื่อทำความเข้าใจกับโลกใบนี้น่ะครับ” เขากล่าว “มันเป็นประเด็นที่ไม่เคยมีใครนำเสนอบนจอเงินมาก่อน”
   ฉากของเรื่องในปี 1950 ในช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษใหม่และความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในเรื่องของแฟชันและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลเป็นพิเศษสำหรับบริดเจส “ผมชื่นชอบการจำลองยุครอยต่อ ที่ซึ่งสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปครับ” ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายกล่าว “1950 เป็นศูนย์กลางของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้น คุณก็ยังมีองค์ประกอบด้านสไตล์จากต้นยุค 40s เช่นแผ่นรองบ่า แต่แฟชันกำลังก้าวผ่านประตูไปสู่ยุค 50s โดยรวมแล้ว เราอยากให้ลุคนี้เข้าถึงได้ง่ายและสมจริง แต่ก็ละเอียดอ่อนครับ”
   บริดเจสได้ใช้การค้นคว้าข้อมูล ที่แอนเดอร์สันได้รวบรวมมา รวมทั้งการค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง และเริ่มเสาะหาเสื้อผ้าวินเทจเพื่อสร้างลุคของตัวละครแต่ละตัว สำหรับฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟแมน หนึ่งในชุดสำคัญของเขาคือชุดสูทสีเขียวที่แลนคาสเตอร์ ด็อดด์ใส่ในครั้งแรกที่เฟร็ดดี้ได้พบกับเขา “เราอยากให้เขาดูเหมือนนักเขียนมากๆ น่ะครับ” บริดเจสอธิบาย “สูทสีเขียวเหมาะกับสีผิวของฟิล แต่มันก็แสดงให้เห็นด้วยว่ามันมีบางอย่างที่ต่างออกไปในตัวคนๆ นี้ เขามีโฉมหน้าแบบนักธุรกิจ เขามีภรรยาอายุน้อยกว่า แต่มันมีอะไรบางอย่างน่าอึดอัดเกี่ยวกับเขา และไอเดียพวกนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมในการคิดหาวิธีการแต่งตัวของเขาครับ”
   อีกชุดหนึ่งของด็อดด์ที่บริดเจสชื่นชอบคือชุดนอนสีแดงสดของเขา “มันมีอะไรบางอย่างที่ดุดัน เขาอาจเป็นปีศาจหรือเป็นผู้ไถ่บาปก็ได้ และไม่ว่าเขาจะเป็นอะไร ฉากที่เขาพูดกับเฟร็ดดี้ก็เป็นฉากที่สะเทือนอารมณ์มากๆ ครับ” เขาตั้งข้อสังเกต
   เฟร็ดดี้มีความคิดอ่านที่แตกต่างกับเขาอย่างมาก เพราะเขาเปลี่ยนแปลงจากระเบียบวินัยเคร่งครัดของกองทัพไปสู่การใช้ชีวิตเยี่ยงคนไร้จุดหมาย งานแรกของเขาในฐานะช่างภาพของห้างทำให้เขาต้องสวมชุดที่มีสไตล์ที่สุด แต่เขาก็ยังคงรู้สึกอึดอัดอย่างเห็นได้ชัด “เราเจอโค้ทกีฬาที่พิลึกมากๆ จากปี 1943” บริดเจสเล่า “ที่มีไหล่กว้างและทำจากขนสัตว์หนา ซึ่งไม่มีใครผลิตเสื้อแบบนั้นอีกแล้ว มันเพอร์เฟ็กต์สำหรับเฟร็ดดี้ในเวลานั้นเพราะคุณจะรู้สึกได้ว่าเขารำคาญเสื้อผ้าพวกนี้และอยากจะถอดมันทิ้งไปน่ะครับ”
   ในตอนที่เขาได้พบกับแลนคาสเตอร์ ด็อดด์ในฐานะคนลักลอบขึ้นเรือ เฟร็ดดี้ได้สลัดคราบนั้นทิ้งไป “ตอนที่เฟร็ดดี้ได้เข้าร่วมกับเดอะ คอสครั้งแรก เราอยากให้เขารู้สึกเหมือนคนเร่ร่อนจริงๆ และไอเดียของเราคือการที่เขาอาจจะสวมเสื้อผ้าที่สมาชิกคนอื่นๆ รวมตัวกันมอบให้เขาก็ได้” บริดเจสกล่าวต่อ “แต่ขณะที่เขาไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ ในเดอะ คอส เสื้อผ้าของเขาก็ดูดีมากขึ้นเรื่อยๆ”
   การค้นพบที่น่าสนใจที่สุดของบริดเจสได้แก่ชุดคลุมท้องในยุค 40s ที่เขาไปหามาสำหรับเอมี อดัมส์ในบทเพ็กกี้ ด็อดด์ ซึ่งเป็นชุดที่เบี่ยงเบนความสนใจจากร่างกายและดึงดูดความสนใจไปสู่ใบหน้า “เราพบเสื้อผ้าบางชุดที่บ่งบอกถึงตัวตนของเพ็กกี้และเอมีก็สวมมันได้เหมาะเหลือเกิน เธอเป็นคนน่ารักมากๆ และเธอก็มีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับมันด้วย” เขาให้ความเห็น “มันเป็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ สำหรับเราทั้งคู่หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกันมาใน THE FIGHTER น่ะครับ”
   นอกเหนือจากตัวละครหลักแล้ว บริดเจสยังสนุกกับการออกแบบชุดของโลกที่หลากหลาย ซึ่งเฟร็ดดี้ได้เดินทางผ่าน ตั้งแต่กองทัพเรือจนถึงฟิฟธ์ อะเวนิว จากฟาร์มไปถึงทะเลทรายและผับในอังกฤษ “มันมีเสื้อผ้าหลายชนิดมากครับ” เขาสรุป “และแต่ละคน แต่ละสถานที่ต่างก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่พอลได้ทำการค้นคว้าข้อมูลมาอย่างครบถ้วนจนมันกลายเป็นการร่วมงานกันอย่างแท้จริง มันเป็นการที่ผมเสนอไอเดียให้เขาเพื่อดูว่าอะไรที่เขามองว่าน่าสนใจน่ะครับ”
   เมื่อการถ่ายทำของ THE MASTER สิ้นสุดลง แอนเดอร์สันก็ได้ร่วมงานกับมือลำดับภาพ เลสลีย์ โจนส์และปีเตอร์ แม็คนัลตี้ในการร้อยเรียงภาพเข้ากับทำนองและจังหวะที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา แม็คนัลตี้ได้ลำดับภาพครั้งแรก ก่อนจะเป็นหน้าที่ของโจนส์ ผู้ก่อหน้านี้เคยได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอซจากผลงานของเธอในภาพยนตร์โดยแอนเดอร์สันเรื่อง PUNCH-DRUNK LOVE เธอทึ่งกับฟุตเตจที่ได้เห็นทันที
   “ปีเตอร์ลำดับภาพครั้งแรกได้อย่างงดงามและฉันก็ประทับใจกับความซับซ้อนของทั้งเฟร็ดดี้และท่านอาจารย์ รวมไปถึงความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ของทั้งคู่ด้วย ฉันแปลกใจกับการที่ความรักระหว่างผู้ชายสองคนนี้กลายเป็นโฟกัสของเรื่องได้อย่างสง่างามน่ะค่ะ” เธอให้ความเห็น
   เธอใช้เวลาหกเดือนหลังจากนั้นทำงานอย่างใกล้ชิดกับแอนเดอร์สันเพื่อสกัดเอาภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์ออกมา
“ความท้าทายหลักในการลำดับภาพคือการโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างเฟร็ดดี้และท่านอาจารย์และการเชื่อมโยงการสอนของท่านอาจารย์กับอุปสรรคต่างๆ ที่เฟร็ดดี้เคยเจอมาในชีวิตของเขา ประสบการณ์ของเขาที่ต้องหนีจากบางสิ่งบางอย่างเสมอน่ะค่ะ” โจนส์อธิบาย “ท้ายที่สุดแล้วเราพบว่ายิ่งเราใส่ใจในประสบการณ์ของเฟร็ดดี้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเชื่อในความหลงใหลและความต้องการ ‘ท่านอาจารย์’ ของเขา และมาถึงจุดหนึ่ง มันก็เป็นเรื่องของตัวละครในฐานะปัจเจกน้อยลง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายสองคนและความผูกพันของพวกเขามากขึ้นค่ะ”
   แม้ว่าการถ่ายทำด้วยฟิล์ม 65 ม.ม. จะไม่มีผลต่อการลำดับภาพ แต่มันก็กลายเป็นความท้าทายที่ชัดเจนเมื่อมีการเตรียมพร้อมฟิล์มสำหรับการเข้าฉาย โจนส์อธิบายว่า “ฉันแทบจะไม่เห็นถึงความแตกต่างระหว่างฟอร์แมตทั้งสองตอนดูฟุตเตจ และฉันก็ไม่ได้ลำดับภาพโดยคำนึงถึงฟอร์แมต 65 ม.ม. แต่จนกระทั่งทุกอย่างเรียบร้อยและเราเริ่มทำงานกับโฟโต้เคมในฟิล์มที่เข้าฉาย ที่เรารู้สึกถึงผลกระทบของมัน เราต้องเตรียมฟิล์มฉบับสมบูรณ์สำหรับทั้งการฉาย 70 ม.ม. และ 35 ม.ม. ซึ่งเป็นเหมือนกับการทำงานในหนังสองเรื่องเลยค่ะ และด้วยความที่พอลชอบทำงานกับกระบวนการแปลงฟิล์ม เราก็เลยลำดับภาพเนกาตีฟและย้อมสีภาพ มันก็เลยกินเวลามากๆ ค่ะ”
   อย่างไรก็ดี โจแอน เซลลาร์กล่าวสรุปว่า “แม้จะมีความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงจากการใช้ฟิล์ม 65 ม.ม. แต่ฉันคิดว่าสำหรับพอลแล้ว มันคุ้มค่าค่ะ มันเป็นความพยายามในการรักษาความงดงามของหนังที่แท้จริงเอาไว้ค่ะ”


ดนตรี

               ในขณะเดียวกัน สิ่งสุดท้ายที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สมบูรณ์คือดนตรีประกอบโดยจอนนี กรีนวู้ด นักกีตาร์จากเรดิโอเฮดและคอมโพสเซอร์ผู้ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกจากดนตรีหลอนประสาทของเขาใน THERE WILL BE BLOOD ความสัมพันธ์ที่ย้อนแย้งกันระหว่างภาพที่ชัดแจ้งของแอนเดอร์สันและความไม่สอดประสานกันของกรีนวู้ดก็ปรากฏใน THE MASTER เช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นในวิธีใหม่ที่แตกต่างออกไป    
กรีนวู้ดตอบสนองต่อเรื่องราวนี้ทันที “ผมตอบสนองต่อการมองโลกในแง่บวกของยุคสมัยนั้น คนที่มีเสน่ห์คนนี้ ความคิดที่ว่ามีวิธีการใหม่ๆ ที่จะเยียวยา ‘ผู้ป่วย’ และสาวกผู้กระตือรือร้นเหล่านี้” คอมโพสเซอร์กล่าว “มันมีอะไรที่อ่อนหวานเกี่ยวกับเรื่องนี้ การที่ชนชั้นกลางทั้งหลายของอเมริกากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของบางสิ่งที่แปลกใหม่ และตรงกลางนั้น เฟร็ดดี้ยืนเอามือไขว้หลังและพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดครับ”
   สำหรับแรงบันดาลใจ กรีนวู้ดและแอนเดอร์สันได้คุยกันถึงดนนตรีของออตโต้ เลนนิง ผู้ซึ่งในยุค 50s ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนแรกๆ ของดนตรีอิเล็คทรอนิค จากการค้นพบซาวน์ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ด้วยการใช้ลูกเล่นกับเทปแม่เหล็กและไมโครโฟน “ดนนตรีบางส่วนของเรื่องบันทึกโดยใช้เทคโนโลยีคล้ายๆ กันครับ” กรีนวู้ดตั้งข้อสังเกต “เราเล่นกับความเร็วของเทป ทิศทางของมันและเทคนิคไมโครโฟนที่ไม่น่าจะใช้การได้น่ะครับ”   
   นอกจากนี้ กรีนวู้ดยังได้รับแรงบันดาลใจจากดนตรีแจ๊สและดนตรีคลาสสิกในยุค 50s อีกด้วย “มีบางสิ่งเหมือนวงสามคนที่ไม่มีเปียโนของยุคนั้น แต่มันก็เล่นในโหมดที่คอมโพสเซอร์คลาสสิกของยุคนั้นใช้กันน่ะครับ” เขาอธิบาย
   ตลอดการทำงาน กรีนวู้ดและแอนเดอร์สันได้ทำงานในลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่ตัวผู้กำกับกล่าวถึงว่ามันเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนไอเดียแบบปลายเปิดมากกว่า “จอนนีจะนำเสนอไอเดียพื้นฐานบางอย่าง ที่ผมจะตอบสนองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วเราก็จะเริ่มโต้ตอบกันไปมาครับ มันเหมือนกับฉาก ‘แตะผนัง’ ในหนัง ซึ่งผมคิดว่าตัวผมเป็นท่านอาจารย์ ส่วนเขาเป็นเฟร็ดดี้ครับ” แอนเดอร์สันรำพึง “แต่แล้วผมก็รู้ตัวว่า ผมเป็นเฟร็ดดี้และเขาคือท่านอาจารย์ แล้วจู่ๆ ก็มีดนตรีน่าทึ่งซึ่งเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องสะสางมันน่ะครับ”
   สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกรีนวู้ดคือการคิดคอนเซ็ปต์ตัวละครจากมุมมองของแอนเดอร์สัน “สิ่งหนึ่งที่พอลบอกกับผมคือแม้ว่าเฟร็ดดี้จะมีความรุนแรงและขี้เหล้า แต่เขาก็เป็นคนที่ค่อนข้างน่ารักใคร่ทีเดียว ‘อย่าลืมความน่ารักของเฟร็ดดี้นะ’ คือความเห็นที่เขาส่งมาให้ผม” กรีนวู้ดเล่า “พอลให้ความสำคัญกับดนตรีมาก เขามีไอเดียมากมายที่อาจจะเวิร์ค และบ่อยครั้ง เขาก็อธิบายไอเดียเหล่านั้นด้วยคำที่ไม่ใช่ศัพท์ทางดนตรี ซึ่งก็ช่วยปลดปล่อยผมให้เป็นอิสระได้เยอะครับ” กรีนวู้ดได้สรุปถึงประสบการณ์ในการทำงานภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งสอดคล้องกับหลายๆ คนว่า “เมื่อคุณทำงานกับพอล มันจะมีการผสมผสานระหว่างความตื่นเต้น ความกระตือรือร้นและความกระหายในสิ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งมันเป็นส่วนผสมที่แปลกประหลาดระหว่างความสนุกสนานเบาสมองและงานที่ทุ่มเทอย่างจริงจังน่ะครับ”