รวมพลังนักวิชาการและสำนักโพลล์ เปิดตัว “เครือข่ายเสียงประชาชน”
สำรวจและสะท้อนปัญหาภาคประชาชน ขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาประเทศ
สำนักโพลล์และสถาบันวิชาการ รวมพลังสร้างสรรค์เป็น “เครือข่ายเสียงประชาชน” มุ่งมั่นทำงานเพื่อสะท้อนความคิดเห็น ปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ผลักดันสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตั้งเป้าสำรวจข้อมูลรอบด้านและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั่วทุกภาคของประเทศ พร้อมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับทุกภาคีให้มีส่วนกระตุ้นการนำเสียงของประชาชนไปใช้แก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายเสียงประชาชน เปิดเผยว่า “เครือข่ายเสียงประชาชน” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักวิชาการ และสำนักโพลล์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีปทุม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาเครือข่ายเสียงประชาชนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนาประเทศ ด้วยการทำหน้าที่เป็นกลไกสะท้อนความคิดเห็น กำหนดระดับความเร่งด่วนของปัญหาและความต้องการของประชาชน ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคีองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการแสวงหานโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน รวมถึงพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
“เสียงของประชาชนถือเป็นฐานข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ความต้องการและข้อเสนอแนะจากประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างแท้จริง ดังนั้น เครือข่ายเสียงประชาชนจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เสียงของคนไทยมีความหมายต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายสำรวจและรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนคนไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมร่วมมือกับทีมนักวิชาการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการปฏิรูปประเทศ เพื่อผลักดันให้มีการนำเสียงของประชาชนไปใช้ประโยชน์จริง” ศ.ดร.ปาริชาต กล่าว
แนวทางการดำเนินงานของเครือข่ายเสียงประชาชนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง คือ การพัฒนาเครือข่ายเสียงประชาชนโดยมอบหมายให้ตัวแทนเครือข่ายร่วมกันแสวงหาองค์ความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ส่วนที่สอง คือ การพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพในด้านการรับฟังเสียงประชาชน โดยจัดทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาในประเด็นต่างๆ ประมาณปีละ 2-5 ครั้ง แบ่งเป็นการสำรวจครั้งใหญ่ปีละ 1-2 ครั้ง และการสำรวจแบบย่อยปีละ 1-3 ครั้ง พร้อมทั้ง ประมวลผลข้อมูลและจัดระดับความสำคัญของประเด็นปัญหา จัดทำรายงานสรุปผลโครงการฯ เพื่อเผยแพร่ต่อไป ส่วนที่สาม คือ การขับเคลื่อนข้อมูลจากเครือข่ายเสียงประชาชนไปสู่การปฏิบัติจริง โดยประสานความร่วมมือกับภาคีต่างๆ อาทิ เครือข่ายพลังบวก สื่อมวลชน ในการเผยแพร่ข้อมูลโพลล์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สังคม ภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของประชาชนในการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการสำรวจเครือข่ายเสียงประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม – 8 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,745 คน ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เกี่ยวกับทิศทางประเทศไทยและจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1) ความคิดเห็นต่อสภาพสังคมระดับต่างๆ ในปัจจุบัน 2) อุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าของประเทศไทย 3) ความพึงพอใจและความต้องการให้มีการแก้ปัญหาหรือพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ 4) ความเชื่อมั่นต่อทิศทางการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ และ 5) กลุ่มคนหรือองค์กร ที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน โดยผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทยมีความพึงพอใจต่อสภาพโดยรวมของประเทศในระดับต่ำสุดและมองว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้ง ยังไม่มั่นใจในแนวทางการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศ และส่วนใหญ่ไม่รู้สึกมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกด้วย
หลังจากนี้จะมีการประชุมและหารือกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อต่อยอดแนวทางเผยแพร่ผลการสำรวจให้สังคมได้รับทราบ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครื่องมือในการรับฟังเสียงของประชาชนในระยะต่อไป รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นทุกภาคส่วนของสังคมให้ร่วมกันมองและผลักดันให้เสียงสะท้อนของประชาชนได้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางประเทศ ซึ่งในครั้งนี้ทางเครือข่ายฯ ได้จับมือกับคลื่นวิทยุ FM 96.5 จัดเสวนาเรื่องเสียงประชาชนกับทิศทางประเทศไทย โดยเชิญตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการและตัวแทนเครือข่ายเสียงประชาชนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ