Facebook on September 06, 2011, 01:46:15 PM
เปิดฉาก..ความร่วมมือการพัฒนาพลเมืองอาเซียน ด้วย ‘วัฒนธรรมการอ่าน’


 
          การหยิบยกและมุ่งเน้นให้การส่งเสริมการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมแก่เด็กและเยาวชน ที่กำลังจะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพของอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งการประชุม Thailand Conference Reading 2011 หรือ TCR 2011 ระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ จัดขึ้นโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเรียนรู้ในทุกภาคส่วน

          ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักอุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติ พฤติกรรม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง พร้อมยอมรับว่าความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ขอบเขตพรมแดนในประเทศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไหลเวียนไปยังผู้คนทั่วโลก อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

          “ ดิฉันเชื่อว่าการรวมกลุ่มกันของประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวในปี 2558 จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับทุกประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้และการส่งเสริมการอ่านระหว่างประเทศสมาชิกด้วย ภายใต้ปรัชญา ‘Towards ASEAN Citizenship with books and reading’ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้และเสริมสร้างความร่วมมือกันเป็นเครือข่ายภาคีระหว่างประเทศในอนาคต ”

          สำหรับเนื้อหาของการประชุมในครั้งนี้ เป็นการสำรวจภาพรวมความรู้ด้านการอ่านและการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนโยบายส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในกลุ่มอาเซียน 8 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไทย ที่มีผลงานและบทบาทเกี่ยวข้องกับนโยบายส่งเสริมการอ่าน การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแง่มุมของแต่ละประเทศ

          นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงเพื่อใช้เป็นแนวทางการรณรงค์ระหว่างภาคี ขณะเดียวกันยังเป็นการตอบโจทย์สำคัญในเรื่องของการอ่านทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาของภูมิภาคอาเซียน

          “การจัดการประชุม Thailand Conference Reading 2011 เป็นกิจกรรมเชิงวิชาการที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ เข้าใจและมีส่วนสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันพัฒนาพลเมืองอาเซียนให้มีศักยภาพ ด้วยรากฐานความเข้าใจสังคมจากการอ่านที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาประชากรอาเซียนให้ก้าวไปให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก”

          ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มองว่า การอ่าน คือ เครื่องมือที่นำไปสู่การเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ผ่านตัวอักษร โดยเชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากองค์กรเครือข่ายต่างๆจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่จะนำไปสู่การเปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มากยิ่งขึ้น

          ด้านนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมในการปลูกฝังลักษณะนิสัยรักการอ่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักการอ่าน การรับบริจาคหนังสือและการสร้างห้องสมุด ทั้งนี้ จากการที่ยูเนสโกพิจารณาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการอ่านในปี 2556 หรือ World Book Capital 2013 ทำให้เกิดเครือข่ายภาคีต่างๆ ที่จะมาร่วมกันช่วยผลักดันให้เกิดกระแสรักการอ่านและสร้างวัฒนธรรมการอ่านที่ยั่งยืนในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

          สำหรับตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับการยอมรับว่ามีสถิติการอ่านค่อนข้างสูง ได้บรรยายถึง “ห้องสมุดเพื่อชีวิต-ประสบการณ์ของคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์” โดยนาง เกียง-โก๊ะ ไล ลิน ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน และคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ ผู้ที่ผลักดันโครงการระดับประเทศอย่าง Read! Singapore ที่ส่งเสริมให้ชาวสิงคโปร์อ่านหนังสือทั้งสี่ภาษาที่เป็นภาษาทางการ นอกจากนี้เธอยังประสบความสำเร็จในการชักชวนกลุ่มคนหลายอาชีพ อาทิ คนขับแท็กซี่ ช่างทำผม เยาวชน พนักงานโรงแรมและข้าราชการ ก่อตั้งชมรมการอ่านของแต่ละกลุ่มอาชีพขึ้น ทำให้การอ่านกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตกลุ่มคนเหล่านี้

          ขณะที่ ศาสตราจารย์แอมบิกาปาธี ปานเดน จากประเทศมาเลเซีย ได้นำเสนอรายงานวิจัยในหัวข้อ “ ชาวมาเลเซียอ่านหนังสือกันอย่างไร:โครงการริเริ่มการอ่านในระดับบุคคล ในบ้านและในโรงเรียน” , ส่วน Ms. Nguyen Thi Ngoc Mai รองผู้อำนวยการกรมห้องสมุด กระทรวงการวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยวของประเทศเวียดนาม ได้นำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง“พัฒนาการของกิจกรรมการอ่านหนังสือเพื่อการส่งเสริมชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในประเทศเวียดนาม” โดยมีการอ้างอิงถึงข้อมูลที่ระบุถึงปัจจัยต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อวัฒนธรรมการอ่านในเวียดนาม

          ด้านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยนางสาว สมเพ็ด พงพาจัน ผู้อำนวยการ Room to Read Laos ได้นำเสนอบทความ “การวางแผนกลยุทธ์และพันธกิจขององค์กรRoom to Read” ในการลดช่องว่างของการเข้าถึงหนังสือในประเทศลาวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาและการลดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพของการศึกษาในเขตเมืองและชนบท เพื่อให้เด็กในพื้นที่ชนบทหลายแห่งสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้มากขึ้น เช่น การบริการห้องสมุด และการปรับปรุงวิธีการสอนของครู เป็นต้น

          ทางด้านอินโดนีเซีย ได้นำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง “ตำนานของวัฒนธรรมการไม่รู้หนังสือ : กรณีของเด็กอินโดนีเซีย” โดย รองศาสตราจารย์ เซติโอโน ซูกิฮาร์โต จากมหาวิทยาลัย Atma Jaya Catholic ด้านนางฟลอร์ มารี สตา โรมานา ครูซ จากประเทศฟิลิปปินส์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งศูนย์สื่อเพื่อเด็กและทำงานด้านการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งเธอได้รับรางวัลจากสมาคมนักอ่านแห่งฟิลิปปินส์ในฐานะผู้อุทิศตนให้กับการสร้างนิสัยและส่งเสริมให้ชาวฟิลิปปินส์รักการอ่าน โดยเธอได้นำเสนอบทความเรื่อง“เด็กฟิลิปปินส์ทุกคนเป็นนักอ่าน”

          นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากนาสาว ซุก ยีน ลี ผู้อำนวยการห้องสมุดสำหรับเด็กและเยาวชน จากประเทศเกาหลีใต้ มาบรรยายพิเศษเรื่อง “กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านในเด็กและเยาวชนของประเทศเกาหลีใต้” ซึ่งปัจจุบันเกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 13 ของโลก โดยเปลี่ยนฐานะจากประเทศที่รับการช่วยเหลือจากนานาชาติหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มาเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ อันเป็นผลมาจากความต้องการที่จะได้รับการศึกษาของประชาชนในชาติเอง           สำหรับตัวแทนจากประเทศไทยที่ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย นางพจมาน พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอรายงาน “นโยบายส่งเสริมการอ่านของประเทศไทย:ภาพรวม ปัญหา และแนวทางการสัมมนา” , ศาสตราภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ข้อสังเกตบางประการต่อกระบวนการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของไทย”

          นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr.Ichiro Miyazawa ตัวแทนจากยูเนสโก มาร่วมอภิปราย “Bangkok World Book Capital 2013” รวมถึงการปาฐกถาเรื่อง “นิสัยการอ่านของคนไทยในมิติด้านวัฒนธรรม” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และการนำเสนอรายงานวิจัยเรื่อง“ปัจจัยส่งเสริมคนไทยให้มีวัฒนธรรมการอ่าน” โดย รศ.ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ สุดท้ายเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ร่วมสร้างรากฐาน อ่าน คิด เรียนรู้ เตรียมคนสู่พลเมืองอาเซียน” โดยนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

          โดยนางสุวรรณี ระบุว่า ในส่วนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555- 2559) นั้น ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมการอ่านไว้เช่นกัน โดยมีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมการอ่านให้เพิ่มขึ้น อาทิ ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไปได้ตั้งเป้าให้สามารถอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 และอัตราการอ่านหนังสือของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีละ10 เล่มต่อปี จากเดิมที่เฉลี่ยเพียง 5 เล่มต่อปี

          อย่างไรก็ตาม การประชุมเชิงวิชาการ Thailand Conference Reading 2011ครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนการเปิดฉากที่จะทำให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนพลิกโฉมการพัฒนาพลเมือง’ด้วยรากฐานจากการอ่าน’เพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์วามรู้ของประชาคมอาเซียนให้มีศักยภาพ ตามแผนการขยายและการจุดประกายความคิดทางการอ่าน สู่การพัฒนาภูมิภาคอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสัญญาณการเดินเกมรุกอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องในการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้าของภูมิภาคนี้