KTAMเพิ่มทางเลือกเปิดขายตราสารหนี้ใน-ตปท.ชูผลตอบแทน6เดือนรับ3.65%
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 15(KTSUPB15 ) อายุ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เสนอขายวันที่ 31 สิงหาคม -7 กันยายน 2554 เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารการเงินระยะสั้นของสถาบันการเงินและบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เช่น เงินฝากประจำ Bank of China สาขามาเก๊า ธนาคารกสิกรไทย โดยเงินลงทุนต่างประเทศเป็นเงินฝากของสถาบันการเงินสกุล CNY และ USD ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดย ICBC Asia สกุล USD และพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ Monetary Stabilization Bond โดยคาดว่าจะลงทุนประมาณ 77% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝากหรือตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเอกชนในประเทศ ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.65% ต่อปี
กองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ โดยเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศจะมีการทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 3 เดือน คุ้มครองเงินต้น 3 ( KTFIX3M3 ) ถึงวันที่ 2 กันยายน 2554 เป็นกองทุนประเภท Rollover ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรภาครัฐในประเทศ และเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.10% ต่อปี
สัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศปรับเพิ่มขึ้น 1-6 bp แม้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 3.50% ต่อปี ตลาดตราสารหนี้มีการตอบรับเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวอย่างอ่อนแอของภาคการจ้างงาน การบริโภค ขณะที่ปัญหาการปรับลดลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดเริ่มมีความกังวลถึงผลกระทบจากภาคการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต โดยสังเกตุได้จากเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นอยู่สูงกว่าตราสารรุ่นอายุที่ยาวกว่า (Invert Yield Curve) ซึ่งโดยทั่วไป แนวโน้มนี้จะสะท้อนถึงภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจัยน่าจะเป็นผลจากสภาพคล่องในระบบที่มีอยู่สูง ปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่ยังมีน้อยกว่าความต้องการ รวมถึงกระแสการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่ยังสนใจลงทุนในตราสารหนี้ไทยเนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ต่างประเทศโดยเปรียบเทียบ
สำหรับสถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศ พบว่าเงินฝากในสกุลเงิน CNY และพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ดังนั้น การลงทุนในต่างประเทศและปิดความเสี่ยงด้วยสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้ากลับเป็นสกุลเงินบาท จึงถือเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในต่างประเทศแม้จะมีความผันผวนสูงภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน