“คนเก่งและคนดี” ปรัชญาความคิดที่ถูกปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็น DNA ที่หล่อหลอมตัวตนของนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เติบโตขึ้นมาพร้อมอุดมการณ์และ จิตสาธารณะแห่งการช่วยเหลือชุมชนและรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกระบวนเรียนรู้และการสอนในรายวิชาแผนธุรกิจ กระตุ้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมคิดธุรกิจเพื่อสังคม และเปิดโอกาสให้นำแผนดังกล่าวไปพัฒนาธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงในชุมชน
รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนแนวคิดบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนเก่งและคนดีให้เติบใหญ่ขึ้นในสังคม กล่าวว่า เรื่องของธุรกิจและสังคมเป็นสองสิ่งที่ต้องพัฒนาให้เติบโตควบคู่กันไป เพราะธุรกิจจะยั่งยืนได้ สังคมต้องอยู่รอดด้วย คณะฯ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างนักศึกษาที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี รู้จักคิดถึงคนอื่นในวงกว้างนอกจากตนเองและครอบครัว
“การจะหล่อหลอมนักศึกษาให้มีคุณภาพและคุณธรรม คงจะใช้การสอนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้นักศึกษาได้ไปสัมผัสกับชีวิตจริง ได้ทำงานในพื้นที่และมีส่วนร่วมแก้ปัญหากับคนในชุมชนจริงๆ โดยมีโครงการต่างๆ ที่พวกเขาทำด้วยความเต็มใจ ซึ่งคณะฯ ก็ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าการที่นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติงานจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ถือเป็นประสบการณ์คุ้มค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียน” รศ.ดร.กุลภัทรา กล่าว
จาก DNA คนเก่งและคนดี มาสู่เรื่องราวการอุทิตตนเพื่อสังคมของนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่รวมตัวกันในนามชมรม “TU SIFE” โดยนำความรู้เรื่องแผนธุกิจจากห้องเรียนมาพัฒนาวิธีคิดในการสร้างสรรค์ธุรกิจชุมชนที่เป็นรูปธรรม
นายจิตตินันต์ ใจสุทธิ์ หรือ เก้า ประธานชมรม SIFE มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกเขาเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคมว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการได้เข้าเรียนหลักสูตร 5 ปี ควบตรี – โท และได้มีโอกาสทำโครงการรณรงค์ทางการบัญชีและบริหารธุรกิจเพื่อสังคมและประเทศชาติ หรือ Business for Society ซึ่งต่อยอดมาจากรายวิชาแผนธุรกิจที่กำหนดให้นักศึกษาทำแผนธุรกิจเพื่อช่วยเหลือชุมชนและเกษตรกร
“การนำแผนไปพัฒนาเป็นธุรกิจจริง พวกเราสามารถเลือกได้ว่าจะลงพื้นที่ที่คณะจัดหาไว้ให้ หรือจะเลือกสถานที่เอง ซึ่งผมคิดว่าอยากจะหาชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือและเดือดร้อนจริงๆ อาจารย์เลยแนะนำให้มาทำงานกับชมรม TU SIFE ซึ่งเป็นชมรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาถ่ายทอดความรู้ในการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณให้กับชุมชน โดยยึดหลักว่า ทุกๆ บาท ทุกๆ สตางค์ที่ใส่ลงไป ชาวบ้านได้อะไร สมาชิกชมรมก็จะมีทั้งนักศึกษาจากคณะต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่หลักสูตรของพวกผมจะอยู่ชมรมนี้เยอะเพราะมีวิชาเรียนโดยตรงจึงเป็นโอกาสดีที่จะได้นำความรู้จากห้องเรียนมาลงมือปฏิบัติจริง สิ่งสำคัญระหว่างทำงานคือต้องโง่ให้เป็นแล้วรับฟังชาวบ้านให้มากๆ การพัฒนาจึงจะบรรลุเป้าหมายและตรงกับความต้องการแท้จริงของคนในชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”
นายมานะชัย ตันติกาญจนากุล หรือ ตู้ บอกว่า พวกเขาทำ 3 โครงการหลัก คือ โครงการข้าวไท ส่งเสริมการทำนาอินทรีย์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน จัดตั้งกลุ่มข้าวขวัญเพื่อผลิตข้าวถุงออกวางจำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและรายได้ให้กับเกษตรกร โครงการเครือข่ายชุมชนโฮมสเตย์ไทย สามารถขยายเครือข่าย โฮมสเตย์ในหมู่บ้านปราสาท จ. นครราชสีมา และหมู่บ้านท่าหลวงบน จ.จันทบุรี จำนวน 51 ครัวเรือนให้มีความเข้มแข็ง และโครงการระบบชุมชนอินทรีย์ ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรหลุม ช่วยลดปัญหาน้ำเน่าและกลิ่นเหม็น สนับสนุนการตั้งกองทุนชุมชนเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
“พอได้ลงพื้นที่ทำงานและได้เห็นปัญหาการทำธุรกิจจริงๆ ทำให้เรารู้ว่าแผนธุรกิจในห้องเรียนซึ่งเป็นหลักความคิดและตรรกะในการทำงาน เมื่อลงพื้นที่แล้วเราต้องปรับตามสถานการณ์และปัญหาที่เจอตรงหน้า ยกตัวอย่างโครงการเครือข่ายชุมชนโฮมสเตย์ไทย ตอนแรกคิดว่าจะทำเว็บไซต์โปรโมท ดึงลูกค้าต่างชาติ แต่เราพบว่าปัญหาเร่งด่วนจริงๆ คือ ชาวบ้านยังไม่รู้วิธีทำตลาด ไม่มีระบบการให้บริการที่ได้มาตรฐาน จากที่คิดจะทำเว็บไซต์เป็นสิ่งแรกก็เปลี่ยนเป็นเข้าไปวางระบบการบริหารจัดการทั้งหมด ทั้งระบบการให้บริการที่ได้มาตรฐานเดียวกัน การแบ่งบ้านรับลูกค้า ระบบบัญชี อบรมภาษาอังกฤษพื้นฐาน ทำแผ่นพับไปแนะนำตามแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะๆ รวมถึงมีการจัดอบรมมัคคุเทศก์น้อยคอยให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย”
น.ส.สันต์หทัย จันทร์สำราญ หรือ ตาล เล่าว่า “พวกเราทำงานเริ่มจากศูนย์ หาข้อมูลเองทุกอย่าง ลงพื้นที่คลุกคลีกับชุมชน เข้าไปศึกษาปัญหาและดูว่าชุมชนต้องการอะไร แล้วนำกลับมาปรับใช้กับแผนธุรกิจ สำหรับโครงการระบบชุมชนอินทรีย์ มีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องพลังงานทดแทน เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่เลี้ยงสุกรเยอะ เลยคิดว่าน่าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านนำมูลสุกรมาทำเป็นแก๊สหุงต้มใช้ในครัว พวกเราสำรวจหลายพื้นที่จนมาพบการเลี้ยงสุกรหลุมซึ่งเป็นแบบอินทรีย์ ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งเรื่องสุขภาพ ลดต้นทุน ลดปัญหาน้ำเน่าและกลิ่นเหม็น สามารถนำขยะไปทำปุ๋ยและมูลสุกรไปผลิตแก๊สได้ด้วย ช่วงแรกที่เราลงพื้นที่คุยกับชาวบ้านค่อนข้างลำบาก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าจะทำได้ และนักศึกษาจะทำจริงหรือเปล่า ทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร พวกเราเลยต้องลงพื้นที่บ่อยมาก ลงมือทำให้ชาวบ้านเห็นทุกอย่าง ทั้งขุดเสา ทำโรงเรือน วางระบบการจัดการและให้ความรู้เรื่องสุกรหลุม จนชาวบ้านมั่นใจและเข้ามาร่วมโครงการกับเรา ตอนนี้ก็เริ่มปล่อยหมูไปแล้ว 18 ตัว มีกองทุนชุมชนเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืนและจะต่อยอดการทำตลาดในโครงการเขียงหมูชุมชนต่อไปค่ะ”
น.ส.พลอยนภัส จันทนยิ่งยง หรือ ป่าน พูดถึงการได้มีส่วนร่วมพัฒนาธุรกิจเพื่อชุมชนในครั้งนี้ ว่า “ถือเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าและน่าประทับใจมากๆ ในฐานะของนักศึกษาคนหนึ่งที่เติบโตมากับโลกทุนนิยม ใช้ชีวิตสะดวกสบายทุกอย่าง คิดว่าความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยมีมากพอสำหรับการทำงาน แต่เมื่อได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาธุรกิจชุมชนแล้ว ทำให้รู้ว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ การทำงานจริงมีปัญหาให้ต้องแก้ไขอีกเยอะ ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือคนอื่น ได้เห็นรอยยิ้ม ความหวังและแบ่งปันความสุขให้กับคนในชุมชน พวกเราไม่ได้ให้เพียงอย่างเดียวแต่เรายังได้รับความรู้และความสุขใจกลับคืนมาด้วยค่ะ”
จากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะนำประโยชน์สู่ชุมชน ทำให้พวกเขาสามารถพาชมรม “TU SIFE” ก้าวไปคว้ารางวัลบนเวทีระดับประเทศมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 2010 SIFE Thailand National Exposition และจากการเข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุขกับ TMA เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นต้นทุนความสำเร็จที่จะเป็นแรงผลักดันให้น้องๆ หยัดยืนบนเส้นทางสร้างประโยชน์แก่ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
จิรสุดา จิตรากรณ์ โทร.081 641 7595
Email:
jeerasuda@incom.co.thบริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร. 0 2354 3588
www.incom.co.th