PR on May 31, 2011, 03:25:00 PM
ตัวอย่าง CARS2 ถูกยกเครื่องเป็น LEGO!!!



          ดิสนีย์ พิกซาร์ และ เลโก้ สุดครีเอท ทำตัวอย่างหนังแอนิเมชั่น-ผจญภัย ซูเปอร์สปาย สายลับไฮ-สปีด เรื่องคาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ ซิ่งสนั่นโลก (CARS 2) เอาใจแฟนหนังทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่และแฟนตัวต่อเลโก้ เรียกได้ว่าถอดแบบกันมาแบบฉากต่อฉากเลยทีเดียว ตั้งแต่โลโก้ปราสาทสุดคลาสสิคของดิสนีย์, ฉากแอ็คชั่นสุดมันส์ต่างๆ ไปจนถึงโลโก้ชื่อหนังในตอนจบ

          ซึ่งเราจะได้เห็นตัวละครทุกตัวไม่ว่าจะเป็น ไลท์นิ่ง แมคควีน ตัวเอกของเรื่อง, เมเทอร์ รถลากเพื่อนซี้แมคควีน, ฟินน์ แมคมิสไซล์ สายลับระดับเทพของอังกฤษ และ ฮอลลี่สายลับผู้ช่วยสาวสวย ในแบบตัวต่อเลโก้ แฟนหนังและแฟนเลโก้คงจะต้องตั้งตารอดูหนังและจับจองชุดตัวต่อซีรีส์นี้กันอย่างแน่นอน ชมได้ที่ www.disney.co.th/home.php

          และ www.facebook.com/waltdisneythailand
          คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ ซิ่งสนั่นโลก (CARS 2)
          จะเข้าฉายในบ้านเรา วันที่ 29 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์
          และในระบบดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ, ไอแมกซ์ 3 มิติ

FB on July 13, 2011, 12:51:13 PM
คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ...ซิ่งสนั่นโลก 29 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์ และในระบบดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ, ไอแมกซ์ 3 มิติ



          “ผมโตขึ้นมากับความรักในรถยนต์และวัฒนธรรมรถยนต์ของแคลิฟอร์เนียตอนใต้
          พ่อผมเป็นผู้จัดการฝ่ายอะไหล่ที่เชฟโรเล็ต ดังนั้น ‘Cars’ ก็เลยเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ สำหรับผม
          ทั้งตัวละคร เมืองเล็กๆ ความรักและกำลังใจที่มีให้ต่อกันและกันของพวกเขา และวิถีชีวิตของพวกเขา
          ผมหยุดคิดเรื่องของพวกเขาไม่ได้เลย ผมอยากจะเดินทางอีกครั้งไปยังสถานที่ใหม่ๆ ทั่วโลก และผมก็คิดว่า
          หนทางในการเข้าสู่โลกใบนั้นน่าจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมรัก นั่นคือหนังสายลับ ผมอดไม่ได้ที่จะผสมผสานโลกสองใบที่แตกต่างกันของเรดิเอเตอร์ สปริงส์ และแวดวงสายลับระดับโลกเข้าด้วยกัน และนี่คือผลที่ได้ครับ”
          --ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์

เกี่ยวกับงานสร้าง

          พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์และวอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ พร้อมลงสนามอีกครั้งใน “Cars 2” เมื่อไลท์นิง แม็คควีน ดาวเด่นแห่งโลกรถแข่ง (พากย์เสียงโดยโอเวน วิลสัน) และรถลากเพื่อนซี้ของเขา เมเตอร์ (พากย์เสียงโดยแลร์รี เดอะ เคเบิล กาย) ได้สตาร์ทเครื่องการผจญภัยครั้งใหม่ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก
          ทั้งคู่ได้รับการสนับสนุนจากทีมงานจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์ เมื่อพวกเขาเดินทางไปต่างแดนเพื่อสนับสนุนไลท์นิงในการลงชิงชัยเวิลด์ กรังปรีซ์ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ตัดสินตำแหน่งรถที่เร็วที่สุดในโลก แต่หนทางสู่เส้นชัยก็เต็มไปด้วยหลุมบ่อ ทางอ้อมและเรื่องเซอร์ไพรส์เมื่อเมเตอร์ถูกดึงตัวเครื่องเข้าไปพัวพันกับการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นของเขาเองในแวดวงสายลับระดับโลก
          เมเตอร์พบว่าตัวเองต้องเลือกระหว่างการช่วยเหลือไลท์นิง แม็คควีนในการแข่งขันระดับโลก และการถูก “ลาก” เข้าไปพัวพันกับปฏิบัติภารกิจลับสุดยอดที่ควบคุมโดยซูเปอร์สายลับชาวอังกฤษ ฟินน์ แม็คมิสไซล์ (พากย์เสียงโดยไมเคิล เคน) และสายลับฝึกหัดคนสวย ฮอลลีย์ ชิฟท์เวล (พากย์เสียงโดยเอมิลี มอร์ติเมอร์) การเดินทางที่เต็มไปด้วยแอ็กชันของเมเตอร์นำเขาไปสู่การไล่ล่าสุดมันส์ในท้องถนนของญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศสและอังกฤษ ไล่ตามมาโดยเพื่อนพ้องและถูกจับตามองจากรถทั่วโลก ความสนุกสนานสายฟ้าแลบนี้ร่วมสนุกโดยบรรดารถ เรือ รถไฟและเครื่องบินใหม่หลากสีสัน ที่มีทั้งผู้ร้ายที่น่าสะพรึงกลัวและผู้เข้าแข่งขันจากนานาชาติ
          กำหนดเข้าฉายของ “Cars 2” ภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องที่ 12 ของพิกซาร์ ตรงกับการครบรอบปีที่ 25 ของสตูดิโอชื่อดังแห่งนี้ และตามหลังจากภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2010 “Toy Story 3” จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ ผู้กำกับเจ้าของอคาเดมี อวอร์ด หัวหน้าทีมครีเอทีฟของพิกซาร์ นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสตูดิโอ และซีซีโอของวอลท์ ดิสนีย์ และพิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ ได้หวนคืนสู่เก้าอี้คนขับอีกครั้งสำหรับการผจญภัย “Cars” ครั้งล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ร่วมกำกับโดยแบรด ลูอิส (ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์รางวัลออสการ์ “Ratatouille”) ผู้เป็นผู้นำในการค้นคว้าและการพัฒนาเรื่องราวเริ่มต้นจนกระทั่งลาสเซ็ทเตอร์สามารถหวนคืนสู่เก้าอี้ผู้กำกับได้ “Cars 2” อำนวยการสร้างโดยเดนิส รีม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวิชวล เอฟเฟ็กต์ (ผู้ช่วยอำนวยการสร้าง “Up”, ผู้ควบคุมงานสร้างฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ “Star Wars: Episode III — Revenge of the Sith”), คอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์ ไมเคิล จิอัคคิโน (“The Incredibles,” “Up”) เป็นผู้สร้างดนตรีประกอบภาพยนตร์ที่มีกลิ่นไอเซิร์ฟร็อคปะทะทริลเลอร์สายลับ ผสมผสานแนวดนตรีจากทั่วโลก กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ลึกลับและอารมณ์ แบรด เพสลีย์, ร็อบบี้ วิลเลียมส์, วีซเซอร์, เบนาบาร์ นักร้องชาวฝรั่งเศสและเกิร์ลแบนด์ญี่ปุ่น เพอร์ฟูม ได้ร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
          ผู้ที่ช่วยเสริมสร้างความสนุกและความตื่นเต้นให้กับ “Cars 2” คือทีมนักแสดงชั้นนำที่พากย์เสียงบรรดารถ เรือและเครื่องบินในการผจญภัยทั่วโลกครั้งนี้ โอเวน วิลสันกลับมาพากย์เสียงไลท์นิง แม็คควีน รถแข่งซิ่งสายฟ้าเจ้าของพิสตัน คัพสี่สมัย ที่บัดนี้กำลังจะลงชิงชัยในศึกเวิลด์ กรังปรีซ์ แลร์รี เดอะ เคเบิล กายพากย์เสียงเมเตอร์ (เจ้าของโทว์ เมเตอร์ โทว์อิ้ง แอนด์ ซัลเวจ) เพื่อนซี้ของไลท์นิง แม็คควีน ผู้เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของเรดิเอเตอร์ สปริงส์ บอนนี ฮันท์กลับมาพากย์เสียงแซลลี รถปอร์เช 911 คาร์เรรา สีฟ้าคันสวย ผู้ซึ่งมอเตอร์ของเธอหมุนเพื่อไลท์นิงเท่านั้น นักแสดงชื่อดังไมเคิล เคน เปิดตัวในภาพยนตร์พิกซาร์ในบทฟินน์ แม็คมิสไซล์ สายลับอังกฤษระดับแนวหน้า ผู้เข้าใจผิดว่าเมเตอร์เป็นสายลับอเมริกาที่พรางตัวอยู่อย่างยอดเยี่ยม เอมิลี มอร์ติเมอร์ใส่เอาเสน่ห์ ความเฉลียวฉลาดและความเก่งกาจของเธอเข้าไปในบทฮอลลีย์ ชิฟท์เวล สายลับมือใหม่ ที่รู้จักเคล็ดลับทุกอย่างในคู่มือ จอห์น ทูเทอร์โร นักแสดงผู้คร่ำหวอดในวงการปล่อยล้อฟรีในการพากย์เสียง ฟรานเซสโก้ เบอร์นูลลี แชมเปี้ยนอิตาลี ผู้เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของไลท์นิง โทนี แชลลูบ์, กุยโด้ คัวโรนี, พอล ดูลีย์, ชีช มาริน, จอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์, โจ แมนเทนา, ปีเตอร์ จาค็อบสัน, เจสัน ไอแซ็คส์, เอ็ดดี้ อิซซาร์ด, ฟรังโก้ นีโรและวาเนสซา เร้ดเกรฟร่วมพากย์เสียงในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ลูอิส แฮมิลตัน แชมเปี้ยนรถสูตร 1 ตัวจริงและเจฟฟ์ กอร์ดอน นักแข่งนาสการ์ ได้ช่วยเสริมสร้างความสมจริงให้กับเรื่อง ด้วยบทคามีโอของพวกเขา
          “Cars 2” นำเสนอในรูปแบบ Disney Digital 3D™ และใช้เทคโนโลยีล่าสุดอย่างเต็มพิกัดเพื่อทำให้ผู้ชมได้นั่งอยู่แถวหน้า (และผ่านมุมมองของรถ) สำหรับแอ็กชันสุดมันส์และฉากตระการตาจากทั่วโลก ช่างเทคนิคที่มากความสามารถของพิกซาร์ได้นำสื่อชนิดนี้ขึ้นไปอีกระดับ ด้วยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์สมัยใหม่ในการสร้างโมเดล ให้แสง เงาและการเรนเดอร์ภาพ

จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์: หวนคืนสู่เก้าอี้คนขับอีกครั้ง
ผู้กำกับไม่อาจต้านทานเสน่ห์การแข่งรถหรือการชิงไหวชิงพริบของแวดวงสายลับได้
          หลังจากเสร็จงานจาก “Cars” แล้ว จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ก็รู้ว่าเขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งกับตัวละครพวกนี้ ที่เขาและผู้ชมรัก และไอเดียสำหรับ “Cars 2” ก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างก่อนที่งานสร้างภาพยนตร์จะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก
          “ระหว่าง ‘Cars’” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “เรากำลังพัฒนาซีเควนซ์ที่ไลท์นิง แม็คควีนพาแซลลี รถปอร์เช ไปเดทครั้งแรก และมันก็จะเป็นที่โรงหนังไดรฟ์อิน เพราะมันเกี่ยวข้องกับรถอย่างมาก แล้วเราก็คิดว่า 'แล้วหนังที่ฉายอยู่เป็นเรื่องอะไรล่ะ' ผมชอบหนังสายลับและผมก็คิดว่ามันคงน่าสนุกถ้าจะได้เห็นว่าหนังสายลับจะออกมาเป็นยังไงในโลกของรถยนต์ เราคิดตัวละครชื่อฟินน์ แม็คมิสไซล์ ผู้ซึ่งจะได้แสดงในหนังภายในหนังเรื่องนี้ ขึ้นมา
          “ผมเป็นแฟนหนังสายลับครับ” ลาสเซ็ทเตอร์เล่า “ผมโตขึ้นมากับการดูซีรีส์ ‘The Man from U.N.C.L.E.’ และลูกชายห้าคนของผมกับตัวผมก็ชอบดูหนังสายลับด้วยกัน เราได้ดูซีรีส์ ‘Bourne’ เป็นร้อยๆ รอบเลยครับ ดังนั้น แม้ว่าซีเควนซ์นี้จะเปลี่ยนไป และไลท์นิงและแซลลีก็ไปขับรถเล่นชมวิวในเดทครั้งแรกแทน ผมก็ไม่เคยลืมไอเดียของฟินน์ แม็คมิสไซล์และหนังสายลับเลย ผมคิดในใจว่า 'มันมีศักยภาพเยอะนะ'”
          จากนั้นในปี 2006 ระหว่างการเดินทางไปประชาสัมพันธ์ “Cars” ในทั่วโลก ลาสเซ็ทเตอร์ก็รู้ว่า ประเทศที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นฉากที่เพอร์เฟ็กต์ในการทำให้ตัวละครใน “Cars” ได้มาพัวพันกับเรื่องราวสายลับ
          “มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้พาเมเตอร์ไปรอบโลกและนำเขาเข้าไปสู่สถานการณ์ที่จะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ส่วนที่สองของเรื่องราวได้รับการจุดประกายขึ้นมาในตอนที่ผมเดินทางอยู่ครับ ผมมีภาพตัวละครทั้งหมดในหัว แล้วผมก็มักจะหัวเราะกับตัวเองเสมอในตอนที่ผมอยู่ในประเทศต่างๆ เหล่านั้น และจินตนาการถึงว่าเมเตอร์จะทำตัวยังไงในสถานการณ์ต่างๆ หรือประเทศต่างๆ เหล่านั้น ตอนที่ผมอยู่ในปารีส ผมก็จะจินตนาการว่า เมเตอร์จะวนรอบวงเวียนที่ประตูชัยอาร์ค เดอ ทริออมป์ได้ยังไง มันไม่มีสัญญาณแถมไม่มีเส้นแบ่งเลนอีกต่างหาก เมเตอร์จะทำยังไงกับการต้องขับขี่ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับท้องถนนในลอนดอน เมเตอร์จะทำยังไงถ้าไปหลงทางในท้องถนนที่ซับซ้อนของกรุงโตเกียว ที่ไม่มีป้ายจราจรเป็นภาษาอังกฤษเลย แล้วเมเตอร์จะทำยังไงในอิตาลี ที่ซึ่งสัญญาณไฟจราจรเป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนะน่ะครับ”
          นอกเหนือจากโอกาสในการได้นำตัวละครเหล่านี้ไปทั่วโลกและได้สำรวจโลกรถแข่งและสายลับระดับโลกแล้ว สิ่งที่ลาสเซ็ทเตอร์ชื่นชอบมากที่สุดคือหัวใจและอารมณ์ขันที่ปรากฏในตัวละครและเรื่องราว
          “อารมณ์ขันใน ’Cars 2’ มาจากบุคลิกลักษณะของตัวละคร” ผู้กำกับบอก “และการได้เห็นพวกเขาในสถานการณ์ปลาพ้นน้ำที่น่าสนใจครับ แต่แกนกลางด้านอารมณ์ของเรื่องคือมิตรภาพระหว่างไลท์นิง แม็คควีนและเมเตอร์ ที่ถูกทดสอบในลักษณะที่แตกต่างและน่าสนใจครับ มันเป็นเรื่องที่ว่าสายใยมิตรภาพที่แน่นแฟ้นจะถูกทดสอบได้อย่างไร สิ่งที่อาจจะมั่นคงในที่หนึ่งแลดูแตกต่างไปมากในอีกที่หนึ่ง การนำมิตรภาพไปผ่านการทดสอบภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันและสถานที่ที่แตกต่างกัน มิตรภาพนี้จะเป็นของแท้และลึกซึ้งขนาดไหนน่ะครับ”
ลาสเซ็ทเตอร์เอ็นดูเมเตอร์เป็นพิเศษ “เมเตอร์เป็นตัวละครที่พิเศษสุด เขาซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และพูดจาแบบขวานผ่าซาก เขาทั้งสนุกและน่ารัก ในตอนที่ตัวละครที่ไร้เดียงสาแบบนั้นพบว่าคนไม่ได้หัวเราะไปกับเขา เหมือนอย่างที่เขาคิดมาตลอดชีวิต แต่กลับหัวเราะเยาะเขา มันก็เป็นภาพที่ทำให้หัวใจสลายที่ได้เห็นว่าเขาเริ่มรับรู้และเรียนรู้ถึงความจริงเกี่ยวกับตัวเอง หรือสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นความจริงเกี่ยวกับตัวเอง มันน่าประทับใจมากๆ เพราะการเดินทางของเขาทำให้มิตรภาพระหว่างเขากับไลท์นิง แม็คควีนแน่นแฟ้นขึ้นไปอีก พวกเขาต่างก็ตระหนักดีถึงเรื่องนั้น เมเตอร์เป็นตัวของเขาเอง มันไม่ใช่เมเตอร์หรอกครับที่ต้องเปลี่ยน แต่เป็นโลกต่างหากที่ควรจะเปลี่ยน”
          แบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วมกล่าวว่า “การทำงานร่วมกับจอห์นสร้างแรงบันดาลใจให้เราเสมอ เขามีจินตนาการที่บรรเจิด และคุณก็บอกได้ว่ามีโลกใบใหญ่อยู่ในสมองของเขา ในกรณีของ ‘Cars 2’ แล้ว ตัวละครเหล่านี้พิเศษสำหรับจอห์นมาก เรามีความหลังดีๆ ร่วมกันและมีมิตรภาพที่ดี การได้ร่วมงานกับเขาในหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่มีความสุขและวิเศษสุดจริงๆ”
          ผู้อำนวยการสร้างเดนิส แรมบอกว่า การได้ร่วมงานกับลาสเซ็ทเตอร์เป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง และก็ไม่เฉพาะสำหรับเธอคนเดียวด้วย “นับตั้งแต่จอห์นเสร็จจากงานกำกับ ‘Cars’ พิกซาร์ก็เติบโตขึ้นมาก ดังนั้น นักวาดภาพหลายคนที่นี่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมงานกับเขาในตำแหน่งนั้นมาก่อน มันวิเศษสุดจริงๆ ค่ะ” รีมบอก “เป็นเรื่องเยี่ยมจริงๆ ที่ได้เห็นจอห์นกำกับนักวาดภาพและอนิเมเตอร์และได้ร่วมงานกับแผนกต่างๆ เหล่านี้ ในฐานะผู้กำกับ เขาเป็นคนที่รู้ในสิ่งที่ต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง เขามีความรักอย่างเข้มข้น และการได้ร่วมงานกับคนที่มีความรักให้กับสื่อนี้อย่างเข้มข้นก็เป็นเรื่องสนุกมาก และเราก็คงต้องยอมรับว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่องที่น่าทึ่ง เขามีหนังเรื่องนี้ในหัวอยู่แล้ว และการมีส่วนร่วมในการเนรมิตภาพนั้นให้กลายเป็นจริงบนหน้าจอก็สนุกมาก มันท้าทายมากๆ แต่ด้วยความที่การร่วมงานกับเขาสนุกมาก มันก็เลยกลายเป็นประสบการณ์ที่สนุกสนานสำหรับทุกคน”

FB on July 13, 2011, 12:52:17 PM
ออกถนนอีกครั้ง: การสร้างเรื่องราวสำหรับ “Cars 2”
ทีมผู้สร้างเนรมิตเรื่องราวจารกรรมข้ามชาติที่เต็มไปด้วยแอ็กชัน
          การจารกรรมข้ามชาติ การแข่งรถทั่วโลก มิตรภาพ แต่ละธีมล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญใน “Cars 2” และแบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วม, มือเขียนบท เบน ควีนและทีมงานเรื่องราวของพิกซาร์ ที่นำทีมโดยนาธาน สแตนตัน ก็ได้รับมอบหมายให้หาส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับเรื่องราว บทภาพยนตร์เรื่องนี้เขียนโดยควีน จากเรื่องราวโดยลาสเซ็ทเตอร์, ลูอิสและแดน โฟเกลแมน
          “นี่ไม่ใช่หนังที่ล้อเลียนหนังสายลับ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “นี่เป็นหนังสายลับจริงๆ เพียงแค่มีรถเป็นตัวละครแทน มันเป็นแนวหนังที่แตกต่าง ที่ทำให้เรามีโอกาสที่จะเล่นกับอุปกรณ์มากมาย ความเป็นเด็กในตัวผมออกมาในหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ เสียอีก ทำนองว่ามาสนุกกับโลกใบนี้ สนุกกับอุปกรณ์เหล่านี้ดีกว่าน่ะครับ”
          ควีนกล่าวว่า “เมื่อคุณได้เห็นซีเควนซ์เปิดตัวฟินน์ แม็คมิสไซล์ มันจะเป็นไปในทำนองตรงไปตรงมาและจริงจัง แบบที่อันตรายจริงๆ ในซีนนั้น แล้วฉากถัดไปก็จะเป็นเรดิเอเตอร์ สปริงส์ ซึ่งเป็นคอเมดี สิ่งที่เวิร์คอย่างงดงามคือความขัดแย้งระหว่างทั้งสองซีนนี้เป็นตัวเซ็ทโทนให้กับหนังเรื่องนี้ มันเป็นทริลเลอร์สายลับก็จริง แต่ก็มีอารมณ์และคอเมดีแฝงอยู่ สำหรับส่วนที่เหลือ เราก็จะพาคุณไปสู่เรื่องราวและแนวหนังที่กระชับฉับไวครับ”
          สำหรับควีน ผู้ที่เคยเขียนบทและอำนวยการสร้างซีรีส์ฟ็อกซ์เรื่อง “Drive” เกี่ยวกับการแข่งรถครอสคันทรีผิดกฎหมาย ที่มีตัวละครที่สะท้อนถึงรถของพวกเขาเองด้วย “Cars” เป็นผลงานการเขียนบทอนิเมชันเรื่องแรกของเขา “’Cars’ ภาคแรกตอกย้ำมิตรภาพระหว่างเมเตอร์และไลท์นิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชมเข้าถึงได้จริงๆ” ควีนบอก “สิ่งที่เราอยากทำคือการนำสิ่งนั้นออกมาจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์และจับมันเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่ซึ่งพวกเขาเป็นปลาพ้นน้ำ มันเป็นการทดสอบความแข็งแกร่งของมิตรภาพนั้นอย่างแท้จริงครับ”
          “เราได้ข้อสรุปที่ว่ามิตรภาพของพวกเขาเป็นแก่นสำคัญจริงๆ ของเรื่อง” ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราว นาธาน สแตนตันบอก “เราคิดกันว่า หลังจากหนังเรื่องแรกก็ผ่านมาสี่หรือห้าปีแล้ว มิตรภาพระหว่างไลท์นิงและเมเตอร์ก็น่าจะแน่นแฟ้นดีแล้ว ที่คุณเห็นอยู่ตรงนี้คือรถแข่งชื่อดัง ผู้ซึ่งเพื่อนสนิทของเขาอยู่ในโลกแคบและไร้เดียงสาต่อโลกที่อยู่นอกเหนือเมืองเล็กๆ ในขณะที่พวกเขาเป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ้กในขอบเขตของเรดิเอเตอร์ สปริงส์ แต่มิตรภาพของพวกเขายังไม่เคยถูกทดสอบเลย เราชื่นชอบไอเดียของการสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมิตรภาพระหว่างพวกเขาเกิดรอยร้าวขึ้นครับ”
          ลูอิสเล่าว่า “ผมคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่า คนตื่นเต้นกับหนังเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็สงสัยกันว่า ‘คุณจะทำแบบนั้นได้จริงรึเปล่า คุณจะสร้างหนังที่เป็นทั้งหนังสายลับข้ามชาติสเกลใหญ่และหนังสมคบคิด ที่เป็นหนังแข่งรถด้วยได้รึเปล่า เราเลือกจะสร้างเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ และสิ่งที่วิเศษสุดก็คือทุกคนที่พิกซาร์ต่างก็ทุ่มเทหัวใจและจิตวิญญาณเข้าไปให้กับกับการสร้างหนังเรื่องนี้ และผมก็คิดว่าผลที่ได้ก็คือหนึ่งในหนังที่งดงามที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาครับ”

“Cars 2” จากดิสนีย์และพิกซาร์โกอินเตอร์
ขบวนรถจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์มุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศสและอังกฤษ
          ในตอนที่ “Cars” แล่นเข้าโรงภาพยนตร์ในปี 2006 บรรดาคอหนังต่างก็ตกหลุมรักเรดิเอเตอร์ สปริงส์ จากเสน่ห์ ความเรียบง่ายและเวทมนตร์เมืองเล็กๆ ที่ดูเหมือนสะกดใจทุกคนที่ได้พบมัน เพราะมันเป็นเมืองเล็กๆ ที่น่ารักที่สุดในคาร์บูเรเตอร์ เคาน์ตี้นั่นเอง นั่นเป็นคำพูดจากรถบรรทุกลากคนดังประจำเมือง และเมเตอร์ก็รู้เรื่องพวกนี้ดี
          แต่เมื่อถึงเวลาที่จะไปเยี่ยมเยือนแก๊งรถจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์อีกครั้ง ทีมผู้สร้างก็สงสัยว่า กลุ่มรถขวัญใจผู้ชมเหล่านี้จะเป็นอย่างไรหากต้องอยู่ต่างเมือง แต่เป็นที่ไหนดี
          ก็ทั่วโลกยังไงล่ะ “ไม่ว่าคุณจะสามารถไปที่ไหนได้ในโลกของเรา” ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ บอก “เราก็สามารถไปได้ในโลก ‘Cars’ ด้วยเช่นกัน”
          และนั่นก็เป็นเรื่องที่เจ๋งทีเดียว ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ถ้าคุณดู ‘Toy Story’ ทั้งสามภาค พวกมันมีธีมที่แตกต่างกันมาก เพียงแต่ทั้งหมดเกิดขึ้นในห้องของแอนดี้และรอบๆ โลกของเล่น สิ่งที่แตกต่างอย่างมากเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือโลกของ ‘Cars 2’ กว้างใหญ่พอๆ กับโลกที่เราอาศัยอยู่เลยครับ”
          นอกจากนี้ ทีมผู้สร้างยังสนใจแวดวงการแข่งรถระดับโลก จนพวกเขาตัดสินใจที่จะแนะนำรถแข่งคันโปรดของพวกเขาเข้าสู่โลกใหม่ใบนี้ “ไลท์นิง แม็คควีนถูกเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ เพื่อลงชิงชัยกับรถที่เร็วที่สุดในโลก ในสามประเทศด้วยกันคือญี่ปุ่น อิตาลีและอังกฤษ แน่นอนว่าเมเตอร์ ผู้ไม่เคยย่างล้อออกจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์เลย รู้สึกผิดที่ผิดทางอย่างสิ้นเชิงในสถานที่ที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นเหล่านี้ ซึ่งก็นำไปสู่สถานการณ์น่าขบขันมากมายครับ”

ออกถนนใหญ่
          การผจญภัยรอบโลกอย่าง “Cars 2” ก็มีความท้าทายในตัวเองเช่นกัน ผู้อำนวยการสร้างเดนิส รีมบอกว่า ในฐานะที่เป็นซีเควล ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีฐานอยู่แล้ว เพราะตัวละครหลักหลายตัวและโลกของพวกเขาเคยเป็นที่รู้จักมาก่อนแล้วใน “Cars” “ในการสร้าง ‘Cars 2’” รีมบอก “มันก็เป็นประโยชน์จริงๆ ที่ได้รู้ว่า มีลุคที่เฉพาะเจาะจงสำหรับหนังเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เราก็ขยายโลกใบนี้ออกเพื่อนำเสนอสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น แม้ว่าจะมีการกำหนดสุนทรียะด้านความงามของเรื่องไปแล้ว แต่มันก็มีการเสริมสโคปขนาดใหญ่เข้าไป การที่เราต้องรวมเอาโลเกชันทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน นั่นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดค่ะ หนังเรื่องนี้มีจำนวนโลเกชันมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ของพิกซาร์เกือบสองเท่าเลยนะคะ”
          “คุณต้องปรับเปลี่ยนโลกเสียใหม่ครับ” แบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วมบอก “คุณจะต้องทำให้อาคาร อุปกรณ์ประกอบฉากและตัวละครทั้งหมด ‘มีความเป็นรถ’ เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่โลกของ ‘Cars’ และทุกอย่างก็เป็นส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ที่เต็มไปด้วยเรื่องคอเมดีและอารมณ์ ผมจำได้ว่าตอนที่เราเสนองานให้กับทีมงานที่จะเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและสโคปของหนังเรื่องนี้ พวกเขาจะมีสีหน้าทำนองว่า ‘คุณจะต้องล้อเล่นแน่ๆ!’ น่ะครับ”
          “นอกจากนี้ ‘Cars 2’ ยังมีช็อตฝูงชนมากกว่า สเปเชียล เอฟเฟ็กต์มากกว่า และตัวละครมากกว่าค่ะ” รีมบอก “มันมีสเกลใหญ่โตมาก เราโชคดีที่ได้ผู้ออกแบบงานสร้างมากประสบการณ์อย่างฮาร์ลีย์ เจสซัพ มาดูแลทีมงานแผนกศิลป์ที่มากพรสวรรค์ ผู้ซึ่งผลงานการออกแบบในหนังเรื่องนี้เกินกว่าความคาดหวังของเราอีกค่ะ”
          บรรดานักวาดภาพและนักเล่าเรื่องที่พิกซาร์ต่างก็พร้อมรับงานนี้ ก้าวแรกของพวกเขาคือการค้นคว้าและทีมงานนี้ก็ชื่นชอบการค้นคว้รา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมันหมายถึงการเดินทางไปสู่สถานที่สวยงามต่างๆ ทั่วโลกและซึมซับวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พวกเขาได้สำรวจเมืองต่างๆ ในยุโรปและญี่ปุ่นเพื่อเรียนรู้รายละเอียดของพล็อตและทำให้แน่ใจถึงความสมจริงในเรื่องลุคและความรู้สึกของฉากต่างๆ ทั่วโลกเหล่านี้

ลอนดอน
          สมาชิกหลายคนของทีมงาน “Cars 2” ได้ไปทัวร์ทั่วยุโรปในเดือนพฤษภาคม ปี 2009 และพวกเขาก็ได้เยี่ยมชมเมืองต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งรวมถึงการเยือนลอนดอนนานสองวันด้วย
          เจสซัพกล่าวว่า ทีมผู้สร้างได้สังเกตถึงสีสันที่ปรากฏในแต่ละประเทศ “เราได้ใช้ท้องฟ้าสีเทาและโครงสร้างหินของลอนดอนเป็นตัวค้านกับสีสันสดใสของบรรดารถ และรถบัสสองชั้นและตู้โทรศัพท์สีแดง มันมีสีแดงและน้ำเงินสอดแทรกอยู่ในลอนดอนมากมายเลยครับ”
          การเที่ยวชมเมืองลอนดอนครั้งนี้ยังรวมถึงสก็อตแลนด์ ยาร์ด, รัฐสภา, หอนาฬิกาบิ๊กเบน, วิหารเวสต์มินสเตอร์และลอนดอน อาย แต่เจย์ ชูสเตอร์ ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายตัวละคร ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ตามมุมถนน “มีตอนหนึ่งที่ผมยืนอยู่ตรงขอบฟุตบาธในลอนดอนระหว่างช่วงเวลาเร่งด่วนในยามเช้า บันทึกภาพรถทุกคันที่ผมเห็น ซึ่งรวมถึงรถบรรทุกและรถโดยสาร เพื่อพยายามซึมซับความรู้สึกของสิ่งแวดล้อมนั้นน่ะครับ”
          ข้อสังเกตของชูสเตอร์ทำให้ทีมงานสามารถสร้างยานพาหนะต่างๆ ที่จะอยู่ตามโลเกชันทั่วโลกได้อย่างแม่นยำ “สปีซีส์พื้นเมือง” อย่างที่เขาเรียก
          นักวาดภาพสนุกสนานกับการแปลงลักษณะของเมืองต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คล้ายกับรถ เจสซัพบอก “เราใช้แบบโมเดลและลักษณะของรถจากปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ในการตกแต่งอนุสาวรีย์และสถานที่สำคัญที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง”
          ยกตัวอย่างเช่น ภายในลอนดอนใน “Cars 2” ยอดโดมของวิหารเซนต์ปอลมีรูปร่างเหมือนกระปุกเกียร์รถ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ทีมงานชื่นชอบมากที่สุดคือหอนาฬิกาบิ๊กเบน ที่ถูกเรียกว่าบิ๊กเบนท์ลีย์ใน “Cars 2” “นั่นอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของอนุสาวรีย์ที่เหมาะสมที่สุดกับโลกของเรา” เจสซัพ ผู้มีโอกาสที่หาได้ยากยิ่งในการทัวร์ภายในหอนาฬิกาบิ๊กเบน กล่าวว่า “บิ๊กเบนท์ลีย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องราวนี้ ในการทำให้มันเหมาะกับโลกของ ‘Cars’ เราได้เพิ่มสเกลมันขึ้นอีกประมาณ 250% แม้กระทั่งนาฬิกา ซึ่งจริงๆ แล้วมีขนาดพอดีกับห้องประชุม ก็ถูกเพิ่มสเกลให้ใหญ่กว่าขนาดปกติอีกอย่างน้อย 50 เท่า” นอกจากนี้ สถานที่สำคัญที่ถูกแต่งเติมลักษณะของรถเข้าไปก็ยังมีกระจังหน้าและของประดับกระโปรงรถของเบนท์ลีย์ด้วย
          ลูอิสกล่าวว่า มีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของลอนดอน ที่อยู่ในลิสต์สิ่งที่ขาดไม่ได้ของพวกเขา “เรารู้ว่าเราจะต้องนำเสนอพระราชวังบัคกิ้งแฮมครับ” ผู้กำกับร่วมกล่าว “เราคิดเสมอว่า มันน่าจะเป็นสถานที่ที่งดงามในการนำเสนอในสนามแข่ง และถ้าคุณสามารถทำให้การแข่งรถจบลงใกล้ๆ กับทางเข้าพระราชวังบัคกิ้งแฮมได้ คงไม่มีอะไรยิ่งใหญ่อลังการไปกว่านั้นได้ ผมกับจอห์นมองว่าไอเดียของการที่เมเตอร์พยายามทำให้ยามบีฟีเตอร์หัวเราะเป็นเรื่องตลกมากจนเราต้องมาทำเวอร์ชันของเราเองสำหรับหนังเรื่องนี้ครับ”

FB on July 13, 2011, 12:54:39 PM
ปารีส
          จินตนาการของลาสเซ็ทเตอร์นำเมเตอร์ไปอยู่ในปารีสนานแล้ว “เมเตอร์จะวนรอบวงเวียนที่ประตูชัยอาร์ค เดอ ทริออมป์ได้ยังไง” เขาถาม “มันไม่มีสัญญาณแถมไม่มีเส้นแบ่งเลนอีกต่างหาก”
          ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพมอนเทจของปารีส ที่รวมถึงช็อตของอนุสาวรีย์ดัง ขณะที่เมเตอร์พยายามจะแทรกตัวเข้าไปในกระแสการจราจร ในขณะที่ในลอนดอน ทีมงานได้เปลี่ยนอาร์ค เดอ ทริออมป์ให้มีลักษณะเป็นรถด้วยการออกแบบส่วนยอดให้มีรูปร่างเป็นบล็อกเครื่องยนต์และใช้ไฟหน้าเป็นส่วนประดับด้านหน้า นอกจากนี้ ภาพมอนเทจที่ว่ายังรวมถึงฉากรถจูบกันบนสะพานโรแมนติก ที่คล้ายกับปองต์ เดส อาร์ตส์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ลาสเซ็ทเตอร์และแนนซี ภรรยาของเขามักจะไปเยือนเสมอในตอนที่พวกเขาไปนครแห่งความรักนี้ ลาสเซ็ทเตอร์ถึงขั้นบอกด้วยว่า “รถสาวน้อย” คันนั้นถูกออกแบบให้มีสีม่วง ซึ่งเป็นสีโปรดของภรรยาเขา
          และแน่นอน สะพานปองต์ เดส อาร์ตส์ใน “Cars 2” ก็ถูกทำให้มีลักษณะคล้ายรถ เหมือนกับอนุสาวรีย์สำคัญอื่นๆ ของเมือง โดยมันจะถูกสร้างด้วยชิ้นส่วนสปริงแผ่น แบบที่ใช้ในระบบกันสะเทือนของรถ ยอดหอคอยไอเฟลใน “Cars 2” มีรูปร่างเหมือนสปาร์คปลั๊กยุโรปยุค 30s และฐานของมันก็มีลักษณะเหมือนซี่ล้อของฝรั่งเศส ส่วนวิหารนอร์ทเธอดามในเรื่องถูกประดับประดาด้วยรูปปั้น “คาร์กอยล์” 24 ตัวและเสาค้ำยันผนังรอยในรูปร่างของท่อไอเสีย
          ระหว่างการถ่ายทำ ทีมงาน “Cars 2” ได้สำรวจห้องโชว์รูมรถยนต์ในชอมป์ เอลิเซส์ และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กรองด์ ปาเลส์ และลูฟร์ พวกเขาได้ไปดูบาสติลล์ โอเปราและพิพิธภัณฑ์ออร์เซย์ และตื่นเต้นกับการได้ใส่เล อาลส์เข้าไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย แม้ว่าตลาดอาหารแบบเก่าจะถูกรื้อถอนออกไปในยุค 70s แต่มันก็ถูกบูรณะขึ้นใหม่สำหรับ “Cars 2” และถูกเปลี่ยนให้เป็นตลาดสำหรับอะไหล่รถยนต์ “มันลงเอยด้วยการเป็นพื้นที่ที่กระตุ้นอารมณ์ได้อย่างดี” เจสซัพบอก “มันเป็นโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ ที่กว้างขวางพอสำหรับการไล่ล่าทางรถยนต์ และมันก็มีตลาดยิปซีข้างใน ที่มีเท็กซ์เจอร์ที่น่าทึ่งจริงๆ ด้วยครับ”
          “สำหรับผมแล้ว การได้ทำงานในปารีสอีกครั้งเป็นเรื่องสนุกจริงๆ” เจสซัพบอก “เราได้ศึกษามันอย่างละเอียดสำหรับ ‘Ratatouille’ ดังนั้น การได้กลับไปที่นั่นอีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ปารีสเป็นเมืองที่สวยงามจริงๆ”

อิตาลี
          ในการพัฒนาเมืองชายทะเลปอร์โต้ คอร์ซาในอิตาลีขึ้นมาจากความว่างเปล่า ทีมงาน “Cars 2” ได้เยี่ยมเยือนสถานที่ต่างๆ ตามชายฝั่งของทั้งอิตาลีและฝรั่งเศส ด้วยการขับรถชมวิวจากปอร์โตฟิโน ประเทศอิตาลี ไปยังเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะไปแวะชมการแข่งรถในโมนาโก
          “พอเราตัดสินใจว่าเราจะสร้างเมืองอิตาลีขึ้นมาเอง” ลูอิสบอก “เราก็อยากให้มันเป็นจดหมายรักสำหรับการแข่งรถในอิตาลีของเรา การแข่งรถในอิตาลีเป็นความรักอย่างยิ่งครับ เราอยากจะบันทึกหัวใจและจิตวิญญาณของมัน จากชายหาดที่งดงามไปสู่ยอดมงกุฎของการแข่งรถ นั่นคือการแข่งรถสูตร 1 ในโมนาโก และแน่นอนครับ มอนติ คาร์โล ซึ่งเป็นคาสิโนหรูด้วย”
          ปอร์โตฟิโนเป็นแรงบันดาลใจสำหรับปอร์โต คอร์ซาอย่างมาก “ริเวียราในอิตาลีจะเป็นอาคารที่มีหลังคาดินสีน้ำตาล ทาสีสดใส และหินกรวดสวยๆ มีพืชพันธุ์แบบเมดิเตอร์เรเนียนและน้ำทะเลสีฟ้าครามที่สวยงามครับ” เจสซัพบอก ทีมงานได้ค้นหาลุคและความรู้สึกชั้นสูงสำหรับเมืองปอร์โต คอร์ซาา พวกเขาก็เลยใส่เอาสถาปัตย์สไตล์เฟรนช์ริเวียราเข้าไปในฉากแบบปอร์โตฟิโนของพวกเขาด้วย
          ปอร์โต คอร์ซา มารินา ซึ่งถูกทำให้มีลักษณะคล้ายรถที่มีส่วนประกอบของรถอิตาเลียนคลาสสิก มีรูปร่างเหมือนล้อรถ และคาสิโนแห่งนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นบนชั้นหินที่มีรูปร่างเหมือนรถ 1948 เฟียต 500 โทโปลิโน ส่วนโต๊ะแคร็ปในคาสิโนปอร์ตา คอร์ซา มีการใช้ลูกเต๋านุ่มขนาดใหญ่ เหมือนกับลูกเต๋าที่มักแขวนประดับตรงกระจกหลังรถยนต์
          “การแปลงสถานที่ที่งดงามเหล่านี้ให้มีลักษณะเหมือนรถก็เหมือนตัวละครในตัวมันเองเหมือนกันครับ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “มันช่วยเสริมสร้างระดับอารมณ์ขันและความบันเทิงให้กับหนังเรื่องนี้ ในแบบที่ฉากของหนังพิกซาร์ไม่เคยทำมาก่อนครับ”

โตเกียว
          การผจญภัยข้ามทวีปใน “Cars 2” ได้เริ่มต้นขึ้นในญี่ปุ่น และทีมผู้สร้างก็ตื่นเต้นที่ได้นำเสนอสีสันเจิดจ้า ที่ทำให้กรุงโตเกียวสว่างไสวในยามราตรี “ป้ายและสีสันสดใสในกินซาเป็นอะไรที่พิเศษครับ” เจสซัพบอก
          หลังจากที่ได้ไปเยือนญี่ปุ่นมาหลายครั้งแล้ว ทั้งลาสเซ็ทเตอร์และลูอิสต่างก็ตื่นเต้นที่ได้นำขบวนรถของพวกเขามาสู่โตเกียว “เราคิดกันว่าถ้ารถแข่งพวกนี้ไปที่โตเกียว พวกเขาจะได้พบกับวัฒนธรรมที่ต่างออกไปอย่างมาก” ลูอิสบอก “ไลท์นิง แม็คควีนและเมเตอร์ก็จะถูกจับเข้าไปในสถานการณ์สุดเหวี่ยง ที่ไลท์นิงจะรู้สึกชิลล์ๆ กับแสงสีและการเป็นจุดสนใจของรถทั่วโลก แต่มันจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมเตอร์ เขาอาจจะกลายเป็นแกะดำหน่อยๆ ครับ”
          ลาสเซ็ทเตอร์กล่าวเสริมว่า “คนที่เคยไปญี่ปุ่นและได้เดินเข้าไปในห้องน้ำของญี่ปุ่นจะรู้ว่าโถส้วมของพวกเขาทำอะไรได้มากกว่าโถส้วมของอเมริกา เราได้แต่คิดว่า ‘เมเตอร์จะมีปฏิกิริยายังไง’ และ ‘ห้องน้ำสำหรับรถจะเป็นยังไง’ เราบอกได้แค่ว่าเราสนุกกันมากครับ”
ทีมงานสร้างกลุ่มเล็กๆ ได้เดินทางไปโตเกียวในเดือนตุลาคม ปี 2009 ที่ท้ายที่สุดแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับฉากสำหรับหนึ่งในซีนช่วงแรกๆ หนึ่งในผู้ค้นคว้ากลุ่มนั้นคือชารอน คาลาฮัน ผู้กำกับภาพฝ่ายแสง “โตเกียวเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ฉันไปที่นั่นค่ะ” คาลาฮันบอก “แต่เรื่องดีก็คือการที่ฉันได้ไปในบริเวณอื่นๆ ของเมืองที่ฉันไม่เคยเห็นมาก่อน สถานที่ที่ไม่ได้เป็นสถานที่ยอดนิยมน่ะค่ะ มันแตกต่างกันอย่างน่าสนใจกับส่วนที่เต็มไปด้วยป้ายนีออนสีสันเจิดจ้า เราสามารถสำรวจได้อย่างอิสระเพื่อหาแรงบันดาลใจ ซีเควนซ์ปาร์ตี้เปิดงานเวิลด์ กรังปรีซ์เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ และศูนย์ศิลปะแห่งชาติในโตเกียวก็อยู่ด้านล่างโรงแรมของเรา เราไม่ได้วางแผนที่จะใช้มันเป็นแรงบันดาลใจ แต่เราก็ได้เห็นมันแล้วก็คิดว่า ‘ว้าว ดูอาคารที่สวยงามนี้สิ’ น่ะค่ะ”
          “มันถูกปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะเหมือนรถได้อย่างรวดเร็ว” ลูอิสบอก “มันทั้งดงามและโมเดิร์น และให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับฉากปาร์ตี้เปิดงานเวิลด์ กรังปรีซ์อย่างยิ่งครับ”
          ระหว่างที่อยู่ในโตเกียว ทีมงานก็สามารถติดตามเส้นทางการแข่งรถในท้องถนนของเรื่องได้จริงๆ ด้วยแรงบันดาลใจจากการแข่งขันรถสูตร 1 ตอนกลางคืน ที่เกิดขึ้นในท้องถนนของสิงคโปร์ ลาสเซ็ทเตอร์และลูอิสก็ได้อาศัยฟุตเตจการแข่งรถนั้นเป็นข้อมูลอ้างอิง “ระหว่างการแข่งขันนั้น คุณก็จะได้เห็นหลอดไฟสว่างสีขาวทั่วเส้นทางไปหมด” ลูอิสบอก “มันสวยจริงๆ ผมกับจอห์นคิดว่าถ้าเราใช้หลอดไฟนีออนแบบโตเกียวและทำให้มันเป็นการแข่งขันยามราตรี ด้วยไฟสว่างสีขาว มันคงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมสำหรับหนังเรื่องนี้ มันเป็นภาพที่ตรงข้ามกันอย่างดีกับเรดิเอเตอร์ สปริงส์ ซึ่งแสดงถึงความเป็นอเมริกันแท้ๆ การนำเสนอภาพศูนย์ที่มีแสงไฟส่องสว่างแบบไฮเทคแบบนี้แสดงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างดีครับ”
          “หนังเรื่องนี้แตกต่างจาก ‘Cars’ ในแทบจะทุกทาง แต่มันก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของโลกของ "Cars” อยู่ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มันสนุกมาก ฉากต่างๆ ทั่วโลก ความเลิศหรู อลังการ ความเจ๋งสุดเนี้ยบของเมืองในยุโรปและญี่ปุ่น เรื่องราวสายลับ การแข่งรถ รถแข่งที่มี ทุกสิ่งในเรื่องเจ๋งมาก และการสร้างหนังเรื่องนี้ก็สนุกมากด้วย”

FB on July 13, 2011, 12:55:26 PM
คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ...ซิ่งสนั่นโลก 29 กันยายนนี้ 
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านรถของพิกซาร์รับประกันความสมจริง
ทีมงาน “Cars 2” ทำงานหนักเพื่อความสมจริง
          ทีมงานที่พิกซาร์มองความรักที่มีต่อรถของพวกเขาอย่างจริงจัง ถึงขั้นที่มีการแต่งตั้งผู้ดูแลแฟรนไชส์ “Cars” ขึ้นมาเพื่อทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะถ่ายทอดรายละเอียดออกมาอย่างถูกต้อง ในตอนนี้ เจย์ วอร์ด ผู้ดูแลทีมงานโมเดลตัวละครและการเคลื่อนไหวใน “Cars” ภาคแรก กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของพิกซาร์สำหรับทุกสิ่งที่เป็น “Cars” (ซึ่งรวมถึงคำถาม “Cars” ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง “Cars Land” ที่สวนสนุกดิสนีย์ แคลิฟอร์เนีย แอดเวนเจอร์ ธีม ปาร์ค และการผลิตของเล่นไดคาสต์อีกด้วย) เช่นเดียวกับลาสเซ็ทเตอร์ ความชื่นชอบรถของวอร์ดเกิดจากพ่อของเขา ที่ทำงานเป็นช่างเครื่อง ก่อนจะมาเป็นตัวแทนขายส่งและนักสะสมรถวินเทจ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรถประจำสตูดิโอ เขาเป็นผู้จัดการงานอีเวนต์ “มอเตอร์รามา” ที่พิกซาร์ ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำฤดูร้อนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2001 ที่พนักงานและบริษัทรถที่ได้รับเลือกเพียงไม่กี่แห่งจะได้โชว์สมบัติที่พวกเขาภาคภูมิใจที่สุด
          เจย์ ชูสเตอร์ ผู้ทำงานในแผนกศิลป์ใน “Cars” ภาคแรก และทำหน้าที่เป็นผู้กำกับศิลป์ฝ่ายตัวละครใน “Cars 2” ก็เป็น “คนบ้ารถ” อีกคนหนึ่ง เขาเติบโตขึ้นมาในดีทรอยท์ ที่ซึ่งพ่อของเขาเป็นนักออกแบบรถที่เจเนรัล มอเตอร์สมา 43 ปี
          บทบาทของชูสเตอร์คือการกำกับศิลป์งานออกแบบตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ “จุดเริ่มต้นของผมในกระบวนการออกแบบคือการนั่งกับจอห์นและให้เขาบอกว่าตัวละครจำเป็นต้องทำอะไรบ้างและลักษณะนิสัยของพวกเขาเป็นยังไง ตัวละครหลายตัวในหนังเรื่องนี้เป็นการออกแบบของพวกเราเอง เราเริ่มต้นด้วยการค้นคว้ารถแต่ละประเภทที่เราสร้างขึ้น เรารวบรวมข้อมูลอ้างอิงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพยายามสร้างรถไฮบริด ซึ่งเราแปลงให้กลายเป็นรถออริจินอลสำหรับพิกซาร์ขึ้นมาครับ”
          เขากล่าวเสริมว่า “สำหรับตัวละครแต่ละตัว หลังจากที่เรากำหนดแบบดีไซน์ออกมาแล้ว เราก็ได้พัฒนาภาพสามมุม ที่บรรยายพื้นผิวทุกอย่าง หลังจากจอห์นเห็นชอบกับมันแล้ว เราก็หันไปจับงานสร้างโมเดลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราได้ประเมินแบบสเก็ตช์โมเดลและทำให้แน่ใจว่าสัดส่วนและฐานล้อ รวมถึงระยะห่างจากปากถึงตาจะเวิร์ค จากจุดนั้น ทีมงานโมเดลก็เริ่มสร้างรูปทรงจริงๆ และองค์ประกอบพื้นผิวขึ้นมาในพื้นที่สามมิติในคอมพิวเตอร์ครับ”
          รวมทั้งหมดแล้ว ทีมงานศิลป์และตัวละครของ “Cars 2” ได้ดูแลงานสร้างตัวละครรถ 145 คันและโมเดลรถอื่นๆ อีก 781 คัน โมเดลรถอื่นๆ เหล่านี้ การสร้างตัวละคร 926 ตัวสำหรับภาพยนตร์เรื่องเดียวนับได้ว่าเป็นสถิติสำหรับพิกซาร์
          วอร์ดอธิบายว่า “หนึ่งในงานที่เราได้รับมอบหมายมาในช่วงเริ่มแรกในหนังเรื่องนี้คือการค้นคว้าเพื่อทำให้แน่ใจว่าเราจะได้รถที่มีอยู่ในแต่ละประเทศจริงๆ เป็นตัวละครแบ็คกราวน์หรือตัวละครสมทบ ตอนที่คุณไปญี่ปุ่น คุณจะไม่ได้เห็นรถโตโยต้า แคมรี ของอเมริกาเพราะคนญี่ปุ่นไม่ขับรถพวกนั้น พวกเขาขับรถโตโยต้า มาเจสติค พวกมันเป็นรายละเอียดแบบที่เราอยากจะใส่ใจเพื่อที่รถพวกนั้นจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวได้ว่าเราอยู่ไหนกันน่ะครับ”
          “เราสนุกกันมากกับการออกแบบรถสูตร ที่เป็นที่รักของแฟนๆ ทั่วโลก” วอร์ดกล่าวต่อ “ด้วยความที่เราสร้างลีกแข่งรถของเราเองสำหรับหนังเรื่องนี้ รถของเราก็ถูกเรียกว่ารถสูตร มันเป็นเรื่องเยี่ยมจริงๆ ที่เราได้รถแบบนี้เข้ามาอยู่ในหนังของเรา เป็นการแสดงความคารวะต่อรถสูตร 1 ซึ่งเป็นรถแข่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลกใบนี้ ฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี เป็นหนึ่งในรถคันโปรดของเรา ด้วยดีไซน์แบบล้อยื่นยาวออกไป เมื่อจอห์น เทอร์ทูโรได้ให้ลักษณะแบบอิตาเลียนกับตัวละครตัวนี้อย่างพอเหมาะพอเจาะ เขาก็เป็นตัวแทนของวิถีทางที่ไลท์นิง แม็คควีนเคยเป็นในหนังภาคแรก เขาเป็นรถที่ยังคิดว่าชีวิตเป็นเรื่องของจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเดินทาง เบอร์นูลลีโฟกัสอยู่กับการเอาชนะทุกคนและการทำตัวให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
          ชูสเตอร์บอกว่า การสร้างลุคฟรานเชสโก้เป็นความท้าทายสำหรับทีมงาน “ฟรานเชสโก้เป็นแบบดีไซน์ที่สร้างได้ยากที่สุดเพราะระบบกันกระเทือนที่เปิดโล่งของเขาครับ” เขาบอก “ระบบวิศวกรรมที่เราต้องสร้างขึ้นเพื่อเขาเป็นอะไรที่เข้มข้นมาก แต่ผมชอบฟรานเชสโก้ครับ”
“รถสูตรมีหน้ายาวครับ” ชูสเตอร์บอก “เราก็เลยต้องขยายรูปทรงของเขาเพื่อให้ตรงตามความต้องการของเรา ลักษณะทางกายภาพแบบที่เราจะได้จากการเคลื่อนไหวของฟรานเชสโก้ต้องอาศัยความอุตสาหะอย่างหนักแต่สุดท้ายมันก็ออกมาดูดี เขาสามารถแสดงท่าทีสุดโต่งพวกนี้ได้ดีจริงๆ”
          วอร์ดกล่าวว่า เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการแข่งรถจำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าที่เฉพาะเจาะจงอย่างมาก แต่ทีมงานก็ไม่ปริปากบ่นเลย “การดูการแข่งรถก็เป็นเรื่องหนึ่ง” วอร์ดบอก “แต่การได้อยู่ในรถและรู้สึกถึงแรง G-Force การหักเลี้ยว การเร่งความเร็วของรถแข่งจริงๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย”
          ผลก็คือ อนิเมเตอร์หลายคนได้ไปสมัครเรียนขับรถ แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น “เราอยากจะเข้าชมการแข่งขันเพื่อดูฝูงชน และแฟนๆ และเราก็อยากได้ยินเสียงตอนที่อยู่ในการแข่งขัน ที่คุณจะไม่ได้รับฟังจากการดูคลิปวิดีโอด้วย” วอร์ดบอก เขาเองก็ได้ไปชมการแข่งขันจริงๆ กับทีมงานถ่ายทำหลายคนเช่นกัน “มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ที่คุณอาจไม่ได้เห็น ซึ่งเราก็อยากจะดูช่วงเวลาเหล่านั้น สำหรับหนังเรื่องนี้ เราได้ไปชมการแข่งรถสูตร 1 ในโมนาโก ซึ่งก็คือการแข่งขันโมนาโก กรังปรีซ์ มีคนทุกหนทุกแห่ง คุณจะได้ยินเสียงรถสะท้อนกับผนังเหมือนกับพวกวิญญาณโหยหวน มันน่าทึ่งมากครับ”

อีกสิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้คลั่งไคล้รถของพิกซาร์ชื่นชอบที่สุดคือรถสายลับ
          “ฟินน์ แม็คมิสไซล์เป็นรถที่เจ๋งที่สุดในเรื่องเพราะเขาทำอะไรต่อมิอะไรได้ตั้งมากมาย” วอร์ดอธิบาย “เขาเปลี่ยนเป็นไฮโดรฟอยล์และเรือดำน้ำ และมีอุปกรณ์เจ๋งๆ มากมาย นอกจากนี้ ที่ล้อเขายังมีการติดแม่เหล็กที่ทำให้เขาสามารถไต่ผนังเหล็กได้ ฟินน์เป็นงานออกแบบของเรา ที่เราทำให้แน่ใจว่าจะมีลุคแบบยุโรปยุคหกสิบ เราทำการค้นคว้ามากมายและส่งต่อมันให้กับเจย์ ชูสเตอร์และทีมออกแบบตัวละคร เรากลับไปกลับมาบ่อยๆ เพื่อทำให้แน่ใจว่ามันจะดูสมจริงครับ”
          การศึกษาของชูสเตอร์รวมถึงการคิดหาสถานที่ที่จะติดอุปกรณ์สายลับเข้าไปในฟินน์และฮอลลีย์ ชิฟท์เวล “เราไม่อยากออกแบบฟินน์มาเป็นสายลับหรอกครับ” เขาอธิบาย “เราอยากให้เขาเป็นรถสปอร์ตสัญชาติอังกฤษ ที่ออกแบบมาอย่างหรูหรามีระดับ จากยุคหกสิบ เราได้ค้นคว้ารถประเภทนี้จากยุคสมัยนั้นอย่างหนัก และเราก็นำทุกสิ่งจากรถที่เราชื่นชอบมารวมกันเป็นฟินน์ครับ”
          เช่นเดียวกับฟินน์ แม็คมิสไซล์ ฮอลลีย์ ชิฟท์เวลเองก็ถูกออกแบบโดยทีมงานที่พิกซาร์ด้วยเช่นกัน “ฮอลลีย์พัฒนาขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วมากครับ” ชูสเตอร์บอก “ผมเข้ามาในบ่ายวันอาทิตย์และขีดๆ เขียนๆ ภาพร่างจากสิ่งที่จอห์นบอกว่าเขาอยากให้ฮอลลีย์ออกมาเป็นแบบไหน เธอเป็นรถรุ่นใหม่ ผมได้สร้างเธอขึ้นจากรถซูเปอร์คาร์สมัยใหม่ทุกแบรนด์ทั่วโลก มันมีรถซูเปอร์คาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ผู้ผลิตสร้างขึ้นมาแบบจำกัดจำนวน ผมวาดแบบสเก็ตช์นี้ขึ้นมา และในวันถัดมา พอจอห์นได้เห็นมัน เขาก็บอกว่า ‘ใช่เลย’ น่ะครับ”
          แน่นอนว่า ฮอลลีย์เองก็มียุทโธปกรณ์ทันสมัย ซึ่งรวมถึงกล้องตรงไฟหน้า ปืนที่ซ่อนไว้ เครื่องมือช็อคไฟฟ้า และแขนกลยืดได้ “จริงๆ แล้ว เธอบินได้ครับ” ชูสเตอร์บอก “เธอมีปีกที่จะงอกออกมาจากขอบบังโคลน และฝาด้านหลังของเธอก็จะกลายเป็นตัวควบคุมระดับตรงปีกด้านหลังที่มีลูกสูบเครื่องยนต์เจ็ท เธอมีสันดาบท้ายที่ปรากฏอยู่ในท่อไอเสียด้วยครับ”
          ชูสเตอร์กล่าวว่า งานนี้แม้ว่าจะท้าทายแต่ก็คุ้มค่าด้วย “รถทุกคันต่างก็มีระบบวิศวกรรมของตัวเองและจำเป็นต้องอาศัยการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง มันเป็นทั้งความท้าทายและความสุข เพราะมันเกิดจากการที่ผมเติบโตขึ้นภายในวัฒนธรรมรถ และด้วยความเข้าใจทุกแง่มุมของการออกแบบและวิศวกรรม ผมก็เลยไม่เคยคิดว่าผมจะสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ผมได้เรียนรู้มาในดีทรอยท์ ในการใส่เอาเทคนิควิศวกรรมเข้าไปในตัวละครแบบนี้น่ะครับ”

พิกซาร์เร่งเครื่องสำหรับภาพยนตร์ที่ท้าทายที่สุดจนถึงปัจจุบัน
“Cars 2” รวมความท้าทายด้านเทคนิค
          โลกของคอมพิวเตอร์ อนิเมชัน ได้พัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงห้าปีนับตั้งแต่ “Cars” เปิดตัวในปี 2006 สำหรับ “Cars 2” ผู้กำกับควบคุมฝ่ายเทคนิค อาพูร์วา ชาห์และทีมงานเทคนิคที่น่าทึ่งที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ได้ออกแบบกลไกอนิเมชันสำหรับรถเหล่านี้ใหม่ด้วยตัวเองและใช้เครื่องมือและโปรแกรมแบบใหม่ แม้กระทั่งมีฟาร์มเรนเดอร์ (จำนวนคอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้เพื่อเรนเดอร์ภาพยนตร์เรื่องนี้) จะมีขนาดใหญ่เกือบเป็นสามเท่าของที่ใช้ใน “Toy Story 3” การจัดการเรื่องเวลาและทรัพยากรก็ยังคงเป็นความท้าทายดังจะเห็นได้จากการที่การสร้างเฟรมทั่วๆ ไปก็ยังคงใช้เวลาโดยเฉลี่ย 13 ชั่วโมง
          “ในแง่ของสโคปแล้ว ‘Cars 2’ เป็นหนังที่ซับซ้อนที่สุดที่พิกซาร์เคยสร้างมา” ชาห์บอก “หนังเรื่องนี้เป็นการเดินทางรอบโลกและสถานที่ทุกแห่งที่เราพาผู้ชมไปก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ทุกประเทศต่างก็มีตัวละครแบ็คกราวน์หลายร้อยคันที่แตกต่างกันออกไป การทำให้แน่ใจว่าเราจะมีคลังทรัพยากรที่สามารถสนับสนุนจำนวนมหาศาลแบบนั้นและรักษาระดับคุณภาพสูงสุดสำหรับผลที่ออกมาเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”
          “สำหรับบรรดารถ” ชาห์บอก “ไอเดียคือการมีไลน์ผลิตสำหรับกระบวนการสร้างกลไกให้กับรถแต่ละคัน เราเริ่มต้นจากโมเดลมาตรฐาน ก่อนจะเสริมแต่งลักษณะต่างๆ เข้าไปให้รถทุกคัน รถแต่ละคันจะแตกต่างกันด้วยระบบกันสะเทือนและลักษณะทางเครื่องยนต์กลไกของพวกเขา รถเก่าจะมีระบบกันสะเทือนที่หลวมกว่า และคุณก็จะได้ความรู้สึกที่ว่าพวกเขาอยู่บนถนนมาได้ซักพักแล้ว หนึ่งในความล้ำสมัยของหนังเรื่องนี้คือระบบขับรถจริงๆ ว่ารถขยับยังไง ไปที่ไหน เราอยากได้ระบบควบคุมขั้นสูง ที่จะช่วยเสริมสร้างระดับความซับซ้อนเข้าไปอีกน่ะครับ”
          สำหรับเส้นทางแข่งรถในลอนดอน พิกซาร์ต้องสร้างภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมเกือบ 20 ไมล์ขึ้นมา ชาห์กล่าวว่า “เราเริ่มต้นด้วยแผนที่และเลย์เอาท์จริงๆ ของกรุงลอนดอน แม้ว่าโลกของเราจะเป็นโลกล้อเลียน แต่เราก็อยากจะให้มันสมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในหนังเรื่องนี้ เราได้สร้างพืชพันธุ์และอาคารของเราในลักษณะพื้นฐานเพื่อที่เราจะสามารถประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้ครอบคลุมอาณาบริเวณที่กว้างขวางได้ นอกจากนี้ เรายังใช้วิธีการใหม่ในการสร้างน้ำเพื่อที่เราจะได้มีอำนาจควบคุมเพิ่มขึ้นสำหรับการที่เรือจะเคลื่อนไหวและตอบสนองต่อแอ็กชันน่ะครับ”
          สำหรับผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง เจเรมี ลาสกี้ ผู้รับผิดชอบการจัดฉากและการเคลื่อนไหวของภาพยนตร์เรื่องนี้ ความท้าทายคือการบันทึกความใหญ่โตของโลกใบนี้และการทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าโลกของรถเหล่านี้มีอาณาเขตกว้างขวางกว่าในเฟรมนั้น “หนังทุกเรื่องที่เราสร้างขึ้นที่พิกซาร์เป็นวิวัฒนาการครับ” เขากล่าว “เราค่อยๆ ผลักดันความสามารถของกล้องให้ปรับเปลี่ยนตามเนื้อหา สำหรับ ‘Cars 2’ เราได้นำสิ่งที่เราเรียนรู้จากหนังภาคแรกในแง่ของการถ่ายทำรถยนต์ การทำให้รถพวกนั้นให้ความรู้สึกเหมือนตัวละครและการใช้หลักการถ่ายทำเหล่านั้นที่พัฒนาขึ้นมา ตอนนี้ กล้องให้ความรู้สึกติดดินและสมจริงมากขึ้นกว่าใน ‘Cars’ ภาคแรก และเราก็ได้ขยายภาษาของเราในแง่ของการถ่ายทำการแข่งขันและการชิงไหวชิงพริบของสายลับเพื่อทำให้มันตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น หนังเรื่องนี้จะต้องให้ความรู้สึกเหมือนภาคแรก แต่ดียิ่งขึ้น เราต้องยกระดับหนังขึ้นเรื่อยๆ ครับ”
          “สิ่งหนึ่งที่เราได้พบใน ‘Cars’ ภาคแรกก็คือมันมีมุมมองและเลนส์ที่เฉพาะเจาะจงมากๆ ที่เวิร์คสำหรับตัวละครเหล่านี้” ลาสกี้บอก “ในการใช้สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในภาคที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้น เราก็ได้ท้าทายตัวเองในการจัดวางตำแหน่งสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่น่าสนใจ ในแบบที่จะทำให้รถเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ รถจะน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในตอนที่มันแล่น ในภาคนี้ เราขยับกล้องอยู่บ่อยๆ และทุกสิ่งก็ถูกผลักดันเพื่อให้เห็นว่ามันจะน่าตื่นเต้นและมีความเคลื่อนไหวได้มากมายขนาดไหน เรานำตัวละครที่ทุกคนรักไปอยู่ในสถานการณ์สุดโต่งในฉากสวยๆ และเราก็ผลักดันเรื่องราวแสนสนุก สุดเจ๋งนี้ไปอีกในทุกๆ ระดับครับ”
          จากมุมมองด้านภาพแล้ว ลาสกี้ภูมิใจกับฉากแข่งรถลำดับที่สองของเรื่อง ที่เกิดขึ้นตามริเวียราของอิตาลี ในเมืองปอร์โต คอร์ซา มากที่สุด ลาสกี้อธิบายว่า “ฉากนี้ยาว 12 นาทีและประกอบไปด้วย 250 ช็อต ซึ่งเป็นฉากใหญ่สำหรับเรา มันประสานเนื้อเรื่องสำคัญๆ เข้าด้วยกันในขณะเดียวกัน มันมีเรื่องราวการแข่งรถของไลท์นิง มีเรื่องของเมเตอร์ที่เข้าไปสอดแนมในคาสิโน ที่ซึ่งผู้ร้ายและลูกสมุนของเขามาพบปะกันอย่างลับๆ เพื่อปรึกษาหารือถึงแผนการชั่วร้ายของพวกเขา และแน่นอนว่ามีฟินน์และฮอลลีย์พยายามจะหยุดยั้งพวกเขา มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ในเรื่องของโครงสร้างและภาพเพื่อที่แอ็กชันจะสามารถดำเนินต่อได้ และเราก็จะกลับไปกลับมาระหว่างฉากพวกนี้เพื่อทำให้มันดำเนินต่อกันอย่างไหลลื่น มันให้ความรู้สึกน่าตื่นเต้น และความตึงเครียดก็จะทวีสูงขึ้นเมื่อคุณรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นน่ะครับ”
          สำหรับ “Cars” ภาคแรก ลาสกี้และทีมงานของเขาได้ปรึกษากับอาร์ตี้ เคมป์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากฟ็อกซ์ สปอร์ต ในการบันทึกความตื่นเต้นของการแข่งรถ เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีการวางตำแหน่งกล้องในการถ่ายทอดสดของเขา ในโลกเสมือนของคอมพิวเตอร์ อนิเมชัน กล้องจะถูกวางลงตรงไหนก็ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ตากล้องต้องบาดเจ็บหรืออุปกรณ์พังเสียหาย ดังนั้น ความเป็นไปได้ก็เลยทั้งน่าสนใจและไร้ขีดจำกัด ลาสกี้กล่าวเสริมว่า “เราอยากให้ภาพใน ‘Cars 2’ ให้ความรู้สึกของการแข่งขันบนท้องถนนหรือการแข่งขันรถสูตร 1 จริงๆ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนกับสิ่งที่คุณจะไม่ได้จากการดูการแข่งขันพวกนี้ในโทรทัศน์ เราอยากให้มันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าผู้ชมกำลังแข่งไปกับรถพวกนี้จริงๆ น่ะครับ”
          ที่พิกซาร์ หน้าที่ของผู้กำกับภาพจะถูกแบ่งออกเป็นสองงานหลักๆ นั่นคือกล้องและแสง ผู้ที่ทำหน้าที่เดียวกับลาสกี้ในเรื่องของแสงคือชารอน คาลาฮัน ผู้เคยร่วมงานกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์มาแล้วในภาพยนตร์สามเรื่องก่อนหน้านี้
          “หนังเรื่องนี้มีโลเกชันต่างประเทศที่เหลือเชื่อมากมาย” คาลาฮันบอก “มันเกิดขึ้นในยุโรปและเอเชียและเราก็อยากจะสร้างให้เกิดความรู้สึกจากสถานที่เหล่านั้น แทนที่จะให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรายังอยู่กันในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ เราอยากให้เมเตอร์รู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทาง โลกพวกนี้ไม่ได้เหมือนกับเรดิเอเตอร์ สปริงส์เลย พวกมันมีประกายแวววับ มีสีสันเจ๋งๆ และฮิปสุดๆ เราอยากให้เมเตอร์ดูโดดเด่นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ และแสงก็ช่วยเราได้ในเรื่องนี้ค่ะ”
          “วิธีการให้แสงของเราจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาค่ะ” เธอกล่าวต่อ “สโคปของหนังเรื่องนี้เป็นตัวพิสูจน์เรื่องนี้ในทุกๆ แผนก ไม่ใช่เฉพาะแผนกแสงเท่านั้น เรามักจะคิดหาวิธีที่จะทำให้ได้ดีกว่านี้เสมอ ทุกสิ่งในหนังเรื่องนี้เหนือกว่าสิ่งที่เราเคยทำมาก่อนเสียอีก เราใช้เซ็ทอัพแสงมาสเตอร์ แสง และพื้นผิวสะท้อนเงามากกว่าที่เคยมีการทำมาด้วย”
          สำหรับซีนต่างๆ ในปารีส คาลาฮันได้แสดงความคารวะต่อ “Ratatouille” ด้วยการใช้แสงอ่อนๆ ที่นุ่มนวลในแบบที่คล้ายคลึงกัน ในการเสริมสร้างความสมจริง จูเลียน ชเรเยอร์ นักวาดภาพแสงมาสเตอร์ ผู้ทำงานใน “Cars 2” มาจากปารีสและเคยทำงานใน “Ratatouille” ด้วยเช่นกัน “ฉันบอกเขาว่า เขาจะยังทำงานไม่เสร็จจนกว่าเขาจะเริ่มคิดถึงบ้านน่ะค่ะ”
          เช่นเดียวกับ ทีมงานแสงชาวอังกฤษหลายคนก็ได้ทำงานในฉากลอนดอน ซึ่งมืดหม่นแต่ก็ไม่หดหู่ คาลาฮันบอกว่า “ทีมงานที่เป็นชาวอังกฤษบอกฉันว่า ‘คุณต้องทำให้มันมืดหม่นนะ’ ฉันก็แบบ ‘แหงล่ะ คุณคาดหวังอะไรอีกล่ะ’ น่ะค่ะ”
          ส่วนหนึ่งของซีเควนซ์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับคาลาฮันและทีมงานของเธอคือฉากยามราตรี ฉากเปิดเรื่องสายลับที่เต็มไปด้วยแอ็กชันของเรื่องในใจกลางมหาสมุทร ที่มีแสงสะท้อนบนผิวน้ำ และซีนในโตเกียว ที่มีป้ายนีออนส่องแสงแวววาวจำเป็นต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและการผสมผสานกลไกแสงเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้เอฟเฟ็กต์ตามต้องการ
          คาลาฮันกล่าวเสริมว่า “สโคปของหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นในทุกๆ แผนก ไม่ใช่แค่แผนกแสงเท่านั้น มันมีช็อตฝูงชนมากกว่าที่เราเคยทำมาก่อน สิ่งที่ฉันชอบที่สุดเกี่ยวกับ ‘Cars 2’ ก็คือเรามีภาพที่หลากหลายมาก รถไฟสายลับดูแตกต่างจากเครื่องบินสายลับ เรามีภาพภายในและภายนอกมากมาย เรามีทั้งกลางวัน กลางคืนและอากาศที่เปลี่ยนแปลง มันเต็มไปด้วยรายละเอียดด้านภาพและสีสันสดใส แต่ก็มีซีนที่ใช้สีสันที่เคร่งขรึมและจำกัดมากกว่าด้วยค่ะ”
          “จอห์นเป็นผู้กำกับที่น่าทึ่ง” เธอกล่าวเสริม “เขามักจะมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในหัวว่าเขาอยากจะเห็นอะไร เขารู้ว่าเขาอยากให้สิ่งต่างๆ ออกมาเป็นยังไง ว่าประเด็นเรื่องราวของเขาคืออะไร อะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับเขาและอะไรที่ไม่สำคัญ ดังนั้น มันก็เลยมีความกระจ่างชัดที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการถ่ายทำทั้งหมดและเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนก้าวไปไกลเกินขอบเขตของสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำน่ะค่ะ”

FB on July 13, 2011, 12:56:20 PM
“นักแสดงรถ” คันสำคัญและผู้เข้าแข่งขัน
ใครเป็นใครใน “Cars 2”
ขบวนรถจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์

ไลท์นิ่ง แม็คควีน (ไลท์นิ่ง) (ให้เสียงโดย โอเว่น วิลสัน)
          ไลท์นิ่ง แม็คควีน หมายเลข 95 ที่ผ่านชีวิตรถแข่งมือใหม่ไปสู่การเป็นรถแข่งดาวรุ่งพุ่งแรงและพลเมืองเต็มขั้นของเรดิเอเตอร์สปริงส์ ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นคนดังระดับโลกจากการเป็นแชมป์ 4 สมัยของการแข็งขันพิสตันคัพ หลังจากชัยชนะครั้งล่าสุด เขาได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายกับ แซลลี่ หวานใจของเขา, เมเทอร์ เพื่อนซี้, และครอบครัวชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ของเขา แต่การพักผ่อนหลังฤดูการแข่งขันของเขาต้องจบลงอย่างคาดไม่ถึง เมื่อเมเทอร์ได้จัดแจงส่งไลท์นิ่งเข้าร่วมแข่งขังรายการ เวิล์ด กรังด์ปรีซ์ การแข่งขันระดับโลกที่แบ่งออกเป็น 3 สนามแข่งที่จะพาเขาไปตระเวนรอบโลก หลังจากการยกเครื่องทำสีและการติดไฟหน้าของจริงเสร็จเรียบร้อย ไลท์นิ่งได้มุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น อิตาลี และอังกฤษ ไปพร้อมกับเมเทอร์ สู้การผจญภัยครั้งสำคัญในชีวิต แต่การที่จะต้องชิงชัยกับเหล่ารถแข่งที่เร็วที่สุดในโลกนั้นได้ทดสอบมากกว่าเทคนิคการแข่งขันของเขา เมื่อไลท์นิ่งตระหนักว่าเพื่อนซี้ตาโตของเขาอาจไม่เหมาะกับการเป็นหัวหน้าหน่วยพิทหรือเป็นตัวแทนของเขาในการแข่งขันระดับประเทศ

เมเทอร์ (ให้เสียงโดย แลร์รี่ เดอะ เคเบิลกาย)
          เรดิเอเตอร์ สปริงส์ ในตอนนี้ได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดฮิต เมเทอร์-รถลากสนิมเขรอะจึงมีหลายบทบาทหน้าที่ ตั้งแต่เจ้าของบริการรถลาก “โทว เมเทอร์ โทว์วิ่ง แอนด์ ซาเวจ”, นักเล่าเรื่องตัวยง และเป็นเสมือนจิตวิญญาณของเมืองนี้อีกด้วย แต่บทบาทที่ชอบที่สุดคือการเป็นเพื่อนซี้ของ ไลท์นิ่ง แม็คควีน เมเธอร์เห็นถึงคุณค่าในทุกๆวันทุกๆเสี้ยวนาทีที่เขาได้ร่วมทางไปกับไลท์นิ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังรอคอยอย่างตื่นเต้นที่จะได้ร่วมสนุกกับเพื่อนของเขาเมื่อไลท์นิ่งได้กลับมาพร้อมกับถ้วยพิสตันคัพใบล่าสุด
          เมเทอร์ผู้มีชีวิตชีวา, ซื่อสัตย์ และรักพวกพ้อง รีบเข้าปกป้องเพื่อนของเขา ซึ่งในที่สุดแล้วกลับทำให้ไลท์นิ่งต้องเข้าสู่การแข็งขันรถยนตร์ระดับโลก เวิล์ด กรังค์ปรีซ์ เมื่อไลท์นิ่งได้ชวนเมเทอร์มาร่วมเป็นสมาชิกในทีมพิทของเขา เมเธอร์ตัดสินใจออกจากเมืองคาบูเรเตอร์เป็นครั้งแรกในชีวิต
          ไม่นานหลังจากที่พวกเขาถึงโตเกียว เมเธอร์ได้รู้ว่าโลกภายนอกต่างจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์มาก และคงต้องใช้เวลาซักพักกว่าที่เขาจะเคยชินกับมัน แต่เมื่อเขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับอเมริกัน เขากลับหลงไหลไปกับการผจญภัยอันแสนตื่นเต้นของเขาเอง ทั้งการที่จะต้องช่วยเหลือเพื่อนรักในการแข่งขันทั่วโลกและบทบาทใหม่ของการเป็นซูเปอร์สปายสายลับระดับโลก ทำให้เมเทอร์ต้องลงเอยด้วยการซิ่งสุดชีวิตบนถนนในโตเกียวและยุโรป ควบคู่ไปกับทีมสายลับจากสหราชอาณาจักรและเหล่าวายร้ายระดับโลก

ซัลลี่ (ให้เสียงโดย บอนนี่ ฮันท์)
          ซัลลี่ สาวสวยปอร์เช่ 911 คาเรร่า สีน้ำเงิน เจ้าของร้าน “โคซี่โคน” และโรงแรม “วีล แวกอน” ในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ และควบตำแหน่งหวานใจของไลท์นิ่ง แม็คควีนอีกด้วย เธอรอคอยการกลับมาจากการแข่งพิสตัน คัพครั้งล่าสุดของ ไลท์นิ่ง เพื่อที่จะได้มีเวลาไปขับรถเล่นอีกครั้งกับ“เจ้าสติ๊กเกอร์” ฉายาน่ารักๆที่ซัลลี่ใช้เรียกไลท์นิ่งด้วยความรัก เมื่อไลท์นิ่งตอบรับที่จะเข้าร่วมแข็ง เวิล์ด กรังด์ปรีซ์ ในคืนแรกที่เขากลับมาถึง ซัลลี่ยังคงมีใจที่จะสนับสนุนนักแข่งคนเก่งของเธอและยังโน้มน้าวให้ไลท์นิ่งพาเมเทอร์ เพื่อนรักของออกเดินทางครั้งสำคัญไปด้วยกัน ถึงแม้ว่าซัลลี่จะถูกทิ้งให้อยู่ที่เรดิเอเตอร์สปริงส์ และเธอก็คลั้งไคล้รถแข่งฟอร์มูล่า วัน จากยุโรป แต่ก็ไม่มีใคที่จะทำให้เครื่องยนต์เธอคำรามได้อย่างไลท์นิ่ง แม็คควีน

ลุยจิ (ให้เสียงโดย โทนี่ ชาลูบ์)
          ลุยจิ พลเมืองชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ คือรถยนตร์เฟียต 500 ผู้ใจกว้าง, ตลก, และตื่นตัวตลอดเวลา ผู้ชำนาญเรื่องยางละเจ้าของร้าน ลุยจิ คาซา เดลลา ไทส์ เขาและลูกน้องคู่ใจ กุยโด้ ได้ร่วมมือกับ ไลท์นิ่งและเมเทอร์ ในฐานะสมาชิกของทีม ไลท์นิ่ง แม็คควีน ในการแข่งขัน เวิล์ด กรังด์ปรีซ์ นอกจากนี้ลุยจิยังคงคลั้งไคล้ทุกอย่างที่เป็นของอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรถแข่งเฟอร์รารี เมื่อการแข่งขันได้พาเขากลับมาถึงบ้านเกิดอย่าง พอร์โต คอร์ซา ประเทศอิตาลี ลุยจิก็ลิงโลด แนะนำหมู่บ้านและถนนหนทางที่มีเสน่ห์ของอิตาลีให้กับทีมงานชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ทันที ครอบครัวของเขาต่างต้อนรับสมาชิกชาวเรดิเอเตอร์สปริงส์ด้วยความรักอย่างอบอุ่นสุดซาบซึ้งใจในสไตล์อิตาเลี่ยน “อมอร์!”

กุยโด้ (ให้เสียงโดย ควาโรนิ)
          กุยโด้ รถยกอิตาเลี่ยนคันจิ๋ว คือเสาหลักของร้าน คาซา เดลลา ไทส์ เขาเป็นทั้งผู้ช่วยและเพื่อนซี้ของลุยจิ ทั้งคู่ต่างเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรถแข่งเฟอร์รารีในเมืองคาบูเรเตอร์ กุยโด้เป็นรถที่พูดภาษาอังกฤษน้อยมาก นอกจากคำว่า “เข้าพิท” คือกำลังสำคัญที่น่าจดจำในฝีไม้ลายมือการเปลี่ยนยางในพิทระหว่างการแข่งขัน การเป็นส่วนหนึ่งของทีมไลท์นิ่ง แม็คควีน กุยโด้ต้องแสดงถึงพลังความรวดเร็วและเทคนิคการเปลี่ยนยางในการแข่งขันระดับโลก และบางทีเขา “อาจจะ” ได้เห็นเฟอร์รารีก็เป็นได้

ฟิลมอร์ (ให้เสียงโดย ลอยด์ เชอร์)
          ฮิปปี้สุดชิลประจำเรดิเอเตอร์สปริงส์ รถตู้โฟล์ค วาเกน ปี1960 ผู้รักสันติภาพ และซาร์จ เพื่อนที่อาศัยอยู่บ้านติดกัน ที่มีวลีเด็ดของทั้งคู่ที่ว่า “ฮิปปี้ ยังไงก็เป็นฮิปปี้” ที่ร้านยอดนิยมของเขา ฟิลมอร์ ออแกนนิค ฟูเอล เขาขายน้ำมันที่เขากลั่นเองพร้อมกับบังโคลนลายผ้ามัดย้อมแบบโบฮีเมี่ยน แต่พอได้รู้ว่าจะมีการแข่งเวิล์ดกรังด์ปรีซ์ที่ใช้เฉพาะน้ำมัน อัลลินอล เท่านั้น ฟิลมอร์ถึงกับลงทุนปิดร้านเพื่อลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันให้กับทีมไลท์นิ่ง แม็คควีน
          ผู้ที่เดินทางจากเรดิเอเตอร์ สปริงส์มาด้วยคือซาร์จ (พากย์เสียงโดยพอล ดูลีย์), แม็ค (พากย์เสียงโดยจอห์น แรทเซนเบอร์เกอร์), ราโมน (พากย์เสียงโดยชีค มาริน), โฟล (พากย์เสียงโดยเจนนิเฟอร์ ลูอิส), เชอริฟฟ์ (พากย์เสียงโดยไมเคิล วอลลิส) และลิซซี (พากย์เสียงโดยแคทเธอรีน เฮลมอนด์)

สายลับชั้นยอด

ฟินน์ แม็คมิสไซล์ (ให้เสียงโดย ไมเคิล เคน)
          ฟินน์ แม็คมิสไซล์เป็นสายลับผู้ดีขั้นเทพ ถึงแม้ว่าเขาจะมีเสน่ห์ดูดีแค่ไหน แต่ความสามารถในการสะกดรอย ความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ภาคสนามของเขาต่างหากที่ทำให้เขาหลบหลีกการโจมตีที่คาดไม่ถึงจากพวกเหล่าร้าย และหนีไปได้อย่างลอยนวล แบบดีไซน์ของฟินน์ทั้งเพรียวบาง เหนือกาลเวลา แต่เขาก็เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือสถานการณ์ยุ่งยากด้วยเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ซูเปอร์เจ๋ง ซึ่งรวมถึงตะขอเกี่ยวด้านหน้าและด้านหลัง ปืนยิงมิสไซล์ ระเบิดแม่เหล็กและเครื่องฉายโฮโลกราฟฟิคหลอกตา ในฐานะมือโปรในแวดวงสายลับนานาชาติ ฟินน์เชื่อว่าเกิดการสมคบคิดกันขึ้นระหว่างการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ผลงานชั้นเลิศเกี่ยวกับการแข่งโชว์ทั่วโลกของเขาทำให้เขาต้องชนกับเมเตอร์ ผู้ซึ่งเขาเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับอเมริกันอัจฉริยะที่ปลอมตัวมา

ฮอลลีย์ ชิฟท์เวลล์ (ให้เสียงโดย เอมิลี มอร์ติเมอร์)
          ฮอลลีย์ ชิฟท์เวลล์เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสาวสวยชาวอังกฤษ ผู้ผันตัวเองกลายเป็นสายลับฝึกหัด ผู้ประจำการอยู่ในโตเกียว ด้วยความที่มีการศึกษาสูงและความคิดที่เฉียบคม เธอก็เลยรู้ซึ้งถึงกลเม็ดเด็ดพรายทั้งหมดในหนังสือ หรือจะพูดให้ถูกก็คือ เธอพึ่งพาทุกกลยุทธในหนังสือคู่มือสายลับต่างหากล่ะ เธอมีเครื่องมือสายลับที่ล้ำสมัยที่สุดอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นกล้องลับ อาวุธลับ ไปจนถึงแขนกลสำหรับส่องทางไกลและภาพดิสเพลย์โฮโลกราฟฟิค ฮอลลีย์เป็นสายลับที่มีแรงจูงใจสูง แต่ด้วยความที่เธอเพิ่งจบใหม่สดๆ ร้อนๆ ประสบการณ์ที่เธอมีจึงมีแค่บทเรียนในโรงเรียนแทนที่จะเป็นสถานการณ์ในชีวิตจริง เมื่อฟินน์ แม็คมิสไซล์ สายลับระดับโลกผู้คร่ำหวอดในวงการมานาน ต้องการใช้ความชำนาญด้านเทคนิคของฮอลลีย์ในปฏิบัติการลับสุดยอดของเขา เธอก็พบว่าตัวเองต้องเจอกับ เมเตอร์ รถใสซื่อที่ถูกดึงเข้ามาพัวพันกับวังวนปริศนา ผู้รู้สึกประทับใจกับความงดงามของเพื่อนใหม่คันนี้เหลือเกิน

ซิดเดอเลย์ (ให้เสียงโดย เจสัน ไอแซ็กส์)
          ซิดเดอเลย์ เป็นเครื่องบินเจ็ทสายลับสองเครื่องยนต์ของอังกฤษ ด้วยความยาวตั้งแต่หัวจรดปลาย 176 ฟุตและความยาวปีกที่กว้างถึง 157 ฟุต ซิดเดอเลย์ที่มีลำตัวเครื่องสีเงินเพรียวลมได้แหวกผ่านน่านฟ้านานาชาติด้วยความเร็ว 1 มัค ที่ทำลายสถิติ ด้วยอุปกรณ์สายลับไฮเทค ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีอำพรางตัว เครื่องมือป้องกันตัวและอุปกรณ์ช่วยในการเผาไหม้เครื่องยนต์ ซิดเดอเลย์จึงเป็นคู่หูการปราบเหล่าร้ายที่ทรงประสิทธิภาพของฟินน์ในการเดินทางรอบโลก
          บรรดาสายลับชั้นยอดใน “Cars 2” ยังรวมถึงร็อด “ทอร์ค” เร้ดไลน์ (พากย์เสียงโดยบรูซ แคมป์เบลล์) ด้วย

การแข่งขันเริ่มแล้ว

ไมลส์ แอ็กซ์เลร็อด (ให้เสียงโดยเอ็ดดี้ อิซซาร์ด)
          เซอร์ไมลส์ แอ็กซ์เลร็อด เป็นอดีตบารอนน้ำมัน ผู้ขายกิจการทิ้ง และเปลี่ยนตัวเองเป็นรถไฟฟ้าและอุทิศชีวิตตัวเองไปกับการค้นหาแหล่งพลังงานใสสะอาดแห่งอนาคต และท้ายที่สุดแล้ว เขาก็ได้ค้นพบสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นเชื้อเพลิงที่รถทุกคันควรจะใช้ นอกจากนี้ แอ็กซ์เลร็อดยังเป็นรถที่อยู่เบื้องหลังการแข่งเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ซึ่งครอบคลุมสามประเทศ ที่เขาได้สร้างขึ้นเพื่อล่อใจบรรดานักแข่งชั้นนำของโลกด้วย แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเพียงข้ออ้างในการโชว์อัลลินอล เชื้อเพลิงใหม่ที่วิเศษสุดของเขาต่างหากล่ะ

ฟรานเซสโก้ เบอร์นูลลี (ให้เสียงโดยจอน ทูเทอร์โร)
          ฟรานเซสโก้ เบอร์นูลลีเติบโตขึ้นในเงาของสนามแข่งมอนซาอันโด่งดังในอิตาลี ที่ซึ่งเขาและผองเพื่อนมักจะแอบแล่นไปตามสนามแข่งเพื่อทดสอบฝีมือกับทางโค้งยกระดับในพิสต้า ดิ อัลต้า เวโลซิต้าที่มีชื่อเสียงเสมอ เขาประสบความสำเร็จในการลงแข่งระดับมือสมัครเล่นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นแชมเปี้ยนฟอร์มูลาระดับโลก สาวๆ คลั่งไคล้ล้อที่เปิดกว้างของเขา ส่วนเด็กๆ ก็เทิดทูนจิตวิญญาณที่อยากเอาชนะของเขา ในขณะที่เพื่อนพ้องนักแข่งต่างก็ริษาความเร็วของเขา แต่แฟนที่ชื่นชอบฟรานเซสโก้มากที่สุดก็คือตัวเขาเอง ตามที่ปรากฏชัดด้วยหมายเลขรถแข่งของเขา ในฐานะรถแข่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรป ฟรานเซสโก้ หมายเลขหนึ่ง เป็นตัวเก็งในการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ครั้งนี้ และทำให้เขาเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของไลท์นิง แม็คควีนซะด้วย

ลูอิส แฮมิลตัน หมายเลข 2 (ให้เสียงโดยลูอิส แฮมิลตัน)
          ลูอิส แฮมิลตัน แชมเปี้ยนแกรนด์ ทัวริง สปอร์ตหมายเลข 2 ที่ขึ้นชื่อด้านความเพรียวลมและความเร็ว เป็นรถแข่งที่มุ่งมั่นในการคว้าชัยชนะมาเกือบตลอดชีวิตน้อยๆ ของเขา เช่นเดียวกับรถรุ่นใหม่ไฟแรงคันอื่นๆ ลูอิสใช้เวลาในวัยเด็กไปกับการเข้าเรียน การฝึกคาราเต้และการคว้าแชมป์คาร์ทติ้งของอังกฤษได้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ปัจจุบันนี้ รถอังกฤษชื่อดังคันนี้ก็ยังพกพาคติการทำงานที่เยี่ยมยอดและความมั่นใจที่นุ่มนวลของเขาลงสนามแข่ง ที่ซึ่งความสำเร็จพิเศษสุดของเขาจากสถิติไร้พ่ายในสนามจูเนียร์และโปรได้เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี ด้วยธีมสีเหลืองดำเมทัลลิคที่โดดเด่น ลูอิสจะเป็นตัวแทนของเกาะอังกฤษในการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ครั้งนี้ นอกจากนี้ ตัวรถของเขายังติดธงชาติเกรนาดา บ้านเกิดของครอบครัวเขา ผู้อพยพมายังอังกฤษในยุค 50s ด้วย ทักษะด้านเทคนิคที่ไม่มีใครเทียบได้ ความเร็วตามธรรมชาติและทัศนคติเยือกเย็นที่ได้จากคาราเต้ของเขาทำให้เขากลายเป็นคู่แข่งที่ทรงพลัง

คาร์ลา เวโลโซ หมายเลข 8
          คาร์ลา เวโลโซ ผู้ลงชิงชัยในการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ มาจากริโอ เดอ จาไนโร ประเทศบราซิล ดิวาสาวชาวลาติน ผู้อ่อนหวานแต่ทรงพลังคันนี้ สามารถเต้นได้ตลอดทั้งคืนที่ “คาร์นิวาล” แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ของเธอบนสนามแข่งมากกว่า หลังจากที่ทำลายสถิติที่สนามแข่งอินเตอร์ลากอสในท้องถิ่น เธอก็ถูกเลือกให้ร่วมทีมแข่งขันความอดทน 24 ชั่วโมงในยุโรป ที่ซึ่งเธอมักจะคว้าตำแหน่งหนึ่งในสามได้อย่างสม่ำเสมอ ในโลกของกรังปรีซ์ เลอ มอเตอร์ โปรโตไทป์ สัญชาติบราซิล ผู้หยิ่งทะนงคันนี้เป็นสาวสวยเพียงหนึ่งเดียวในสนามแข่ง และคาร์ลาก็พร้อมแล้วที่จะพิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า หมายเลข 8 จะคว้าชัยชนะกลับประเทศบ้านเกิดให้ได้

เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์ (ให้เสียงโดยเจฟฟ์ กอร์ดอน)
          เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์ เป็นหนึ่งในรถแข่งอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน รถคอร์เว็ตต์ C6.R หมายเลข 24 ที่มีลวดลายแถบและดวงดาวตามธงชาติประเทศเขา ได้พิสูจน์ความสามารถของเขาในการประสบความสำเร็จในสนามแข่งแกรนด์ ทัวริง สปอร์ต หลังจากที่ย้ายจากบ้านเกิดในวัลเลโจ, แคลิฟอร์เนีย ไปยังอินเดียนา เพื่อให้ได้อยู่ใกล้ชิดกับโลกรถแข่ง ความสามารถของกอร์เว็ตต์ในการเร่งความเร็วตั้งแต่อายุยังน้อยก็มักจะดึงดูดสายตาผู้ชมเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาลงแข่ง สถิติชัยชนะและการครองตำแหน่งแชมป์ของเขาไม่มีใครเทียบได้ ทำให้เขาเป็นคู่แข่งที่น่านับถือ และเป็นตัวอันตรายของแท้ ในการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์

ผู้แข่งขันรายอื่นๆ ได้แก่:
          - แม็กซ์ ชเนลล์ หมายเลข 4 จากเยอรมนี รถเปิดประทุนคาร์บอนไฟเบอร์ชนะเลิศการแข่งขันที่มอเตอร์เฮมริงมากกว่ารถเวิลด์ ทอร์ค แชมเปี้ยน ลีค คันไหนๆ ในประวัติศาสตร์
          - มิเกล คามิโน หมายเลข 5 จากสเปน รถแข่งที่คร่ำหวอดในสังเวียน รันนิง ออฟ เดอะ บุลโดเซอร์ เป็นผู้เข้าแข่งขันที่ดุดันในสนามแข่งแกรนด์ ทัวริง สปอร์ตด้วยเช่นกัน
          - ราอุล ซารูล์ หมายเลข 6 จากฝรั่งเศส “รถแรลลีที่เยี่ยมที่สุดในโลก” รถคันแรกที่ชนะการแข่งขันแรลลีติดต่อกันเก้าครั้ง จะครองสนามในส่วนของถนนดินลูกรัง
          - ชู โทโดโรกิ หมายเลข 7 จากญี่ปุ่น รถเลอ มอเตอร์ โปรโตไทป์ แชมเปี้ยนซูซูกะ เซอร์กิต มีลวดลายมังกรคาริวสีแดงเพลิง ที่บางคนบอกว่าน่าจะข่มขวัญผู้เข้าแข่งขันรายอื่นได้
          - ไนเจล เกียร์สลีย์ หมายเลข 9 จากอังกฤษ รถแข่งแอสตัน มาร์ติน DB9R เป็นผู้คว้าชัยในการแข่งขันเริ่มต้นเกือบทุกครั้งในแกรนด์ ทัวริง สปอร์ต ซึ่งรวมถึงการติดอันดับหนึ่งในสามที่เนอร์เบิร์กริงและเลอ มองส์
          - ริป คลัทช์คอนสกี้ หมายเลข 10 จากสาธารณรัฐนิว เรียร์เรนเดีย เรื่องราวซินเดอเรลลาของการแข่งขันครั้งนี้อาจทำให้ประเทศของเขาปรากฏอยู่บนแผนที่ก็เป็นได้

FB on July 13, 2011, 12:56:41 PM
ที่ร่วมอยู่ในโลกการแข่งขันด้วยได้แก่:
ดาร์เรลล์ คาร์ทริป (ให้เสียงโดยดาร์เรลล์ วัลทริป)
          ดาร์เรลล์ คาร์ทริป เป็นแชมเปี้ยนเจ้าของพิสตัน คัพหลายสมัย ผู้ผันตัวกลายเป็นผู้รายงานการแข่งขัน เชฟโรเล็ต มอนติคาร์โล หมายเลข 17 จากเคนตั๊กกี้คันนี้ โด่งดังจากการให้ความเห็นแบบลูกทุ่งของเขา ซึ่งสร้างความเพลิดเพลินให้กับแฟนๆ ถ้วยพิสตันคัพด้วยอารมณ์ขัน เสน่ห์และประโยคติดปากของเขา “บูกิตี้ บูกิตี้ บูกิตี้! ไปแข่งกันดีกว่าพวก!” เขาคร่ำหวอดอยู่ในสนามและห้องเครื่องมานานหลายปีและเขาก็จะเล่าเรื่องทุกอย่างให้คุณฟังได้ สุภาพบุรุษแดนใต้คันนี้รู้ดีว่า อะไรคือสิ่งจำเป็นต่อชัยชนะและเขาก็วางแผนที่จะใช้ประสบการณ์มากล้นของเขาในการแข่งขันเวิลด์กรังด์ปรีซ์ครั้งนี้

เดวิด ฮ็อบส์แค็ป (ให้เสียงโดยเดวิด ฮ็อบส์)
          เดวิด ฮ็อบส์แค็ป รถ 1963 จากัวร์ ไลท์เวท อี-ไทป์ คันสีเขียวเข้ม ผู้ซึ่งเดิมมาจากรอยัล ลีมิงตัน สปา ประเทศอังกฤษ
เป็นรถแข่งที่โด่งดังไปทั่วโลก อาชีพรถแข่งตลอด 30 ปีของเขาครอบคลุมทั่วโลกและการแข่งขันทุกประเภท บัดนี้ เดวิดได้แบ่งปันความรู้ที่มีค่านั้นในฐานะผู้ประกาศ ซึ่งเขาเป็นที่รู้จักดีจากการสร้างอารมณ์ขันผ่อนคลายระหว่างการถ่ายทอดสดการแข่งขัน อดีตแชมเปี้ยน ที่ได้ออกสตาร์ทนำหน้า 20 ครั้งในการแข่งขันทเวนตี้โฟร์ เอาเวอร์ส ออฟ เลอ มองส์ การเล่าเรื่องของเขามาจากประสบการณ์ส่วนตัว เดวิด ที่เป็นผู้รายงานข่าวที่แตกต่างจากผู้รายงานข่าวทั่วๆ ไป แทบอดทนรอไม่ได้ที่จะให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ชมการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์

เบรนท์ มัสแตงเบอร์เกอร์ (ให้เสียงโดยเบรนท์ มัสเบอร์เกอร์)
          เบรนท์ มัสเบอร์เกอร์เป็นนักข่าวคนดังของอเมริกา ด้วยคำอวดอ้างสรรพคุณที่ว่า “รถที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโรงรถ” รถ
1964½ ฟอร์ด มัสแตง ที่ตื่นเต้นง่ายคันนี้ ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์การแพร่ภาพการแข่งขันรถยนต์ทางโทรทัศน์ และมีส่วนเชื่อมโยงกับช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุดในกีฬาสมัยใหม่ ที่การแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ เบรนท์จะรายงานความเป็นไปบนสนามด้วยการวิเคราะห์อย่างเจาะลึกและความกระตือรือร้นที่ไม่มีใครเทียบได้

จอห์น ลาสเซไทร์ (ให้เสียงโดยจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์)
          ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าการแข่งขันระดับสูงจะถูกผลักดันจากบรรดารถที่อยู่เบื้องหลังรถแข่ง ผู้ที่ร่วมทีมในเวิลด์ กรังปรีซ์
ด้วยก็คือจอห์น ลาสเซไทร์ ผู้เป็นหัวหน้าช่างเครื่องเบื้องหลัง เจฟฟ์ กอร์เว็ตต์ หมายเลข 24 แชมเปี้ยนชาวอเมริกา ผู้เป็นตัวเก็งในการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้

พวกเหล่าร้าย

ศาสตราจารย์ซี (ให้เสียงโดยโธมัส เครทช์แมนน์)
          ศาสตราจารย์ซี หรือ “ท่านศาสตราจารย์” เป็นนักออกแบบอาวุธที่ทั่วโลกต้องการตัว ที่อยู่ในร่างเล็กๆ ที่ซับซ้อนแบบเยอรมัน เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง ที่สวมแว่นโมโนเคิล ผู้วางแผนจะทำลายการแข่งเวิลด์กรังด์ปรีซ์ แม้ว่าแรงจูงใจที่แท้จริงของเขาจะยังไม่ชัดเจน ศาสตราจารย์ซีก็เต็มใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อกำจัดเสี้ยนหนาม และทำให้ “โปรเจ็กต์” ของเขาเดินหน้าตามกำหนดการณ์ให้ได้

เกรม (ให้เสียงโดยโจ แมนเทกา)
          เกรมเป็นรถ AMC เกรมลินสีส้มสนิมเขรอะ และมีรอยบุบ หลังจากดีไซน์ของเขาถูกมองว่าล้าหลัง และถูกเรียกว่า “เฉิ่ม” ซะด้วยซ้ำไป เกรมก็ถูกฝังชิปตัวใหญ่ที่กันชน ซึ่งทำให้เขาเข้าไปพัวพันกับวงการสายลับระดับโลก ในฐานะสมุนของศาสตราจารย์ซี จอมวายร้าย เกรมและเอเซอร์ คู่หูของเขาก็พยายามจะป่วนงานเวิลด์กรังด์ปรีซและรถแข่งที่มีชื่อเสียงที่ลงชิงชัยในครั้งนี้ เมื่อเกรมและเอเซอร์เข้าใจผิดคิดว่าเมเตอร์เป็นสายลับอเมริกันที่มีข้อมูลลับสำคัญ สองคู่ซี้ก็วิ่งวนทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งเมเตอร์ไม่ให้ทำลายแผนชั่วของพวกเขา

เอเซอร์ (ให้เสียงโดยปีเตอร์ จาค็อบสัน)
          เอเซอร์มักรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นรถนอกคอกเสมอ รถ AMC เพเซอร์เก่าคร่ำคร่าคันนี้ร่วมกับพลพรรครถ “เฉิ่ม” ทำหน้าที่เป็นสมุนของศาสตราจารย์ซี จอมโฉด ผู้มีเป้าหมายใหญ่ในการสร้างความวุ่นวายให้กับงานเวิลด์กรังด์ปรีซ์ที่เป็นที่สนใจทั่วโลก และเป้าหมายหลักของเขาก็บังเอิญเป็นเมเตอร์ ผู้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสายลับซะด้วย เอเซอร์พยายามสุดแรงเกิดเพื่อจะเป็นรถเข้มแข็ง เพียงแต่เขากระตือรือร้นมากเกินไปหน่อยก็เท่านั้นเอง

นักแสดงรถจากทั่วโลก

ลุงโทโปลิโน (ให้เสียงโดยฟรังโก้ เนโร)
          ในหมู่บ้านซานตา รูโอตินา ใกล้ๆ กับปอร์โต้คอร์ซา ประเทศอิตาลี คุณลุงโทโปลิโน ลุงที่รักของหลุยจี้ ใช้ชีวิตอยู่กับมามา โทโปลิโน ภรรยาที่รักของเขา ลุงโทโปลิโนเป็นเจ้าของร้านขายยางในหมู่บ้าน ที่ซึ่งเขาได้สอนทุกอย่างให้กับหลุยจี้และกุยโด้ เพราะลุงโทโปลิโนเต็มไปด้วยคำแนะนำดีๆ ที่ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องยางเท่านั้น

มามา โทโปลิโน (ให้เสียงโดยวาเนสซา เร้ดเกรฟ)
          สำหรับรถทุกคันที่รู้จักเธอ มามา โทโปลิโน ป้าของหลุยจี้ เป็นแม่ครัวมือทอง ที่มีน้ำมันเลิศรสที่สุดในหมู่บ้านซานต้า รูโอตินา ใกล้ๆ กับปอร์โต้คอร์ซา ประเทศอิตาลี แม้ว่าเธอจะมีความสัมพันธ์ที่รักใคร่และดุเดือดกับลุงโทโปลิโน สามีของเธอ เธอก็แสดงความรักและเอื้ออาทรกับทั้งครอบครัวและเพื่อนๆ ของเธอด้วยการให้พวกเขาได้ลิ้มลองน้ำมันจานเด็ดของเธอ

ทอมเบอร์ (ให้เสียงโดยมิเชล มิเคลิส)
          ทอมเบอร์เป็นรถฝรั่งเศสคันน้อย ที่มีดีไซน์สามล้อแบบแปลกประหลาด ที่ไม่ค่อยจะมั่นคงซักเท่าไหร่ ซึ่งก็เหมาะกันดีกับชื่อของเขา ที่มีความหมายว่า ล้ม แหละนะ เขารับซื้อขายแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ในตลาดปารีส แม้ว่าแหล่งที่มาที่น่าสงสัยของสินค้าเขาจะทำให้เขาต้องไปรู้จักมักจี่กับฟินน์ แม็คมิสไซล์ สายลับอังกฤษโดยไม่เต็มใจก็ตาม

พระราชินี (ให้เสียงโดยวาเนสซา เร้ดเกรฟ)
          เมื่อการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์รอบสุดท้ายเกิดขึ้นในท้องถนนอันเก่าแก่ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระราชินีก็ยินดีอย่างเงียบๆ ที่พระองค์ได้รับคำเชิญให้เป็นประธานตรงเส้นชัย โดยเซอร์ไมลส์ เอ็กเซลร็อด พระราชินี ผู้มีสีฟ้าหรูหรามีระดับที่สุด และไม่เคยปราศจากมงกุฏประดับอัญมณี เป็นจุดศูนย์รวมของความดีงามและขัตติยะประเพณี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพระองค์จะไม่ชื่นชอบการแข่งขันระดับโลก!

แคร็บบี้ (ให้เสียงโดยซิก ฮันเซน)
          แคร็บบี้เป็นเรือเล็กจากซีแอตเติล ที่หยาบกระด้างจากช่วงเวลาหลายปีที่เขาตกปลาอยู่ในท้องทะเลแบริง ที่คลื่นลม
ปั่นป่วน ด้วยเชื้อเพลิงจากนอร์วีเจียนไหลเวียนอยู่ในเครื่องยนต์ของเขา เรือสีขาว ขอบน้ำเงินเข้มลำนี้ก็ถูกจดทะเบียนอย่างเป็นทางการว่าเป็นนอร์ธเวสเทิร์น แม้ว่าเพื่อนๆ และผู้เข้าแข่งขันรายอื่นๆ จะเรียกเขาว่าแคร็บบี้ก็ตาม ความยาวลำเรือ 103 ฟุตตั้งแต่หัวเรือถึงหางเรือของเขามักจะอัดแน่นไปด้วยกระชังจับปู จนกระทั่งรถสีฟ้าลึกลับจ้างเขาให้เดินทางไปยังสถานที่ที่ห่างไกลใจกลางมหาสมุครแปซิฟิค โดยไม่มีเหตุผล แต่เขาก็ไม่แคร์หรอกตราบใดที่เขาได้รับค่าจ้างน่ะนะ

          รถหลากหลายสัญชาติของ “Cars 2” ยังรวมถึงโอคุนิ, คิงพิน โนบุนางะ, พิเนียน ทานากะ, เซน มาสเตอร์, ท็อปเปอร์ เด็คคิงตัน ที่สาม, ชอนซี แฟร์ส, ร้อยโทไฮเกียร์, เจ้าชายวีลเลียมและ ฯลฯ

FB on July 13, 2011, 12:57:14 PM
การเร่งความเร็ว: การสร้างภาพอนิเมชันและการพากย์เสียงตัวละคร
ผู้มีพรสวรรค์บังคับพวงมาลัย “Cars 2”
          การเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครรถใน “Cars 2” จำเป็นต้องอาศัยการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างการพากย์เสียงชั้นเยี่ยมและอนิเมชันชั้นยอด โอเวน วิลสันและแลร์รี เดอะ เคเบิล กายกลับมาพากย์เสียงบทเดิม ไลท์นิง แม็คควีน และเมเตอร์ของพวกเขาอีกครั้ง และไมเคิล เคนและเอมิลี มอร์ติเมอร์ ก็ได้เปิดซิงการพากย์เสียงให้กับพิกซาร์ครั้งแรกในบทสายลับอังกฤษ ฟินน์ แม็คมิสไซล์และฮอลลีย์ ชิฟท์เวล ในขณะที่จอห์น เทอร์ทูโรเข้ามาพากย์เสียงฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี
          “Cars 2” ได้ต้อนรับนักพากย์หน้าเดิมจาก “Cars” และทีมนักพากย์หน้าใหม่ ทีมผู้สร้างรู้สึกเสียใจไปกับการสูญเสียสมาชิกที่ทรงคุณค่าสองคนของ “Cars” ซึ่งก็คือพอล นิวแมนและจอร์จ คาร์ลิน เสียงและจิตวิญญาณของฟิลมอร์ได้รับแรงบันดาลใจจาก “The Hippy Dippy Weatherman” โดยจอร์จ คาร์ลิน และพิกซาร์ก็ได้แสดงความเคารพต่อนักแสดงตลกที่ไร้คู่แข่งผู้นี้ด้วยการเลือกลอยด์ เชอร์ ผู้เลียนแบบตัวละครไอคอนของคาร์ลินให้มาพากย์เสียงฟิลมอร์ใน “Cars 2” ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์พบอีกวิธีหนึ่งที่จะยกย่องนิวแมน “ด็อค ฮัดสันคือพอล นิวแมนครับ” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ตัวละครตัวนี้ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่ได้ยินเขาพูดถึงความรักในการแข่งรถของเขา ดังนั้นในหนังเรื่องนี้ พวกเขาก็เลยเปลี่ยนชื่อพิสตัน คัพเสียใหม่เพื่อด็อค ฮัดสัน กลายเป็นฮัดสัน ฮอร์เน็ท เมโมเรียล พิสตัน คัพ ไลท์นิง แม็คควีนชนะเลิศการแข่งขันครั้งแรกและเปลี่ยนออฟฟิศของด็อคให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์การแข่งขันฮัดสัน ฮอร์เน็ท เราได้แสดงความคารวะต่อด็อค ฮัดสัน ซึ่งก็เป็นการแสดงความคารวะต่อพอล นิวแมนด้วยเช่นกันครับ”
          “เรามีนักแสดงชั้นเยี่ยมค่ะ” ผู้อำนวยการสร้างเดนิส รีมบอก “และพวกเขาก็ทำให้ชีวิตอนิเมเตอร์ง่ายขึ้นเยอะกับการพากย์ของพวกเขา”
ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ เดฟ มัลลินส์และชอว์น เคราส์ ได้รับหน้าที่ในการดูแลทีมงานอนิเมเตอร์กว่า 60 ชีวิตในการเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครหลากหลาย ที่มีสีสันสดใสเหล่านี้ “Cars” ทำให้ทีมงานมีกฎบางอย่างเอาไว้ใช้สำหรับ “Cars 2” ด้วย
          เคราส์กล่าวว่า กฎเหล่านั้นเป็นพื้นฐานสำคัญก็จริง แต่พวกเขาก็แหกกฎบางข้อด้วย “มันมีกฎเป็นตัวตั้งต้นเอาไว้ เพราะเราไม่อยากจะคิดมันขึ้นมาใหม่ แต่เราก็มักจะแหกกฎทุกข้อ ใน ‘Cars’ จอห์น [ลาสเซ็ทเตอร์] อยากให้รถเป็นเหมือนรถที่หนักสองตัน ที่โดยมากจะไม่กระโดดไปมา แต่แม้ว่าเราจะงัดกฎนิดๆ ใน ‘Cars 2’ เราก็มักจะปฏิบัติต่อตัวละครเหล่านั้นเหมือนเป็นรถจริงๆ ครับ”
          มัลลินส์กล่าวเสริมว่า “กับตัวละครเหล่านี้ คุณจะต้องตระหนักว่ารถเป็นก้อนเหล็กที่แข็งแกร่ง และยิ่งคุณใช้มันในรูปแบบนั้นได้มากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งให้ความรู้สึกเหมือนรถจริงๆ มากเท่านั้น ยิ่งเรางอมันและทำให้มันเหมือนคนมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ชมก็จะรู้สึกเชื่อมโยงกับมันน้อยลงไปเท่านั้น ที่พิกซาร์ เรามักจะพยายามซื่อตรงต่อวัตถุดิบที่มาของตัวละครเสมอเพื่อทำให้พวกเขาดูสมจริง เราใช้การแสดงจากดวงตาและปากบ่อยๆ ครับ มันเหมือนกับการนำคนมาตัดตรงส่วนคางและข้อเท้าแล้วเอาส่วนหัวไว้ตรงเท้า ในตอนแรก คุณจะรู้สึกอึดอัดกับตัวเลือกที่คุณมี แต่แล้วมันก็เหมือนกับศิลปะที่ดีที่สุด ขีดจำกัดนั้นก็จะทำให้คุณมีอิสระในการค้นพบสิ่งต่างๆ ที่คุณไม่เคยลองมาก่อน การสร้างภาพอนิเมชันตัวละครเหล่านี้เป็นเรื่องของการแสดงจากส่วนหัวครับ การคิดหาวิธีที่จะแสดงซีนจากส่วนไหล่ขึ้นไป มันท้าทายก็จริง แต่มันก็คุ้มค่าอีกด้วย คุณสามารถโยนลูกเล่นแบบธรรมดาๆ ทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้นิ้ว หรือภาษากาย แล้วมาคิดหาวิธีที่จะสร้างการแสดงที่ดีที่สุดขึ้นมาให้ได้ครับ”
          เคราส์กล่าวว่า “ความท้าทายในการสร้างอนิเมชันสำหรับรถยนต์คือการนำอากัปกิริยาที่เราจะทำด้วยไหล่หรือมือของเรา ไปใช้กับรถของตัวละคร ล้อหน้าอาจจะเป็นมือ เป็นไหล่หรือเป็นเท้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากจะทำอะไรกับมัน ในขณะที่ล้อหลังมักจะเป็นขา พอคุณเข้าใจคำศัพท์พวกนี้แล้ว ทุกอย่างก็จะเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ระบบการขับเป็นอีกสิ่งหนึ่ง และสามารถเพิ่มระดับความซับซ้อนเข้าไปด้วยการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้มันเคลื่อนไปข้างหน้าได้น่ะครับ”
          “อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำกับ ‘Cars 2’ ที่ช่วยอนิเมเตอร์ได้มากคือการทำให้ตัวเลขการควบคุมมีน้อยลง” มัลลินส์กล่าว “กลไกสำหรับตัวละครหลักใน ‘Cars’ ภาคแรกมีปุ่มควบคุมอนิเมชัน 3,500 จุด เพราะเราพยายามจะทำการยืดหรือการหดทั้งหมดที่เราคิดว่าจำเป็น หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ผมกับชอว์นทำในหนังเรื่องนี้คือการถอดปุ่มควบคุมอนิเมชันออก 800 จุดจากตัวกลไก ซึ่งมันก็จะทำให้อนิเมเตอร์อยู่กับโมเดล เพราะพวกเขาจะไม่ใช้ปุ่มควบคุมที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งมันก็ทำให้แบบโมเดลเร็วขึ้นเยอะเลยครับ”

ไลท์นิง แม็คควีน
          ระหว่างประชาสัมพันธ์ “Cars” ในปี 2006 โอเวน วิลสัน (“Midnight in Paris,” “The Big Year”) ได้เข้าชมการแข่งขันกรังปรีซ์ในสเปนกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ “ภาพน่าตื่นตาตื่นใจและเสียงของการแข่งรถสูตร 1 เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อครับ” โอเวนบอก “ผมเองกลายเป็นแฟนรถแข่งไปเลยหลังจากที่ได้พบนักแข่งนาสการ์หลายคนในภาคแรก”
          วิลสันกล่าวว่า ไลท์นิง แม็คควีนได้เติบโตขึ้นเล็กน้อยแต่ก็ยังคงมีทัศนคติแบบรถแข่งเหมือนเดิม “ในตอนที่หนังเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้น ผมแฮปปี้กับการใช้ชีวิตอยู่ในเรดิเอเตอร์ สปริงส์ และการที่ได้ใช้เวลาอยู่กับแซลลีและทุกคน” เขาบอก “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับตัวละครของผมคือการที่เขาได้เรียนรู้บทเรียนมาจากภาคแรก ตอนนี้ เขาติดดินมากขึ้น แต่ฟรานเชสโก้ [เบอร์นูลลี] ปลุกไฟของเขาให้ลุกโชนขึ้นมาและกลับเข้าสู่โหมดแข่งขันอีกครั้งครับ”
          ฟรานเชสโก้ไม่ใช่รถเพียงคันเดียวที่ปลุกไฟให้กับไลท์นิง “เมเตอร์เป็นเหมือนพวกลูกหมาไม่รู้จักโต ที่คุณรัก และมันก็ภักดีและรักคุณมากน่ะครับ” วิลสันบอก “แต่เขาก็ทำให้ผมแทบบ้าเหมือนกัน เขามีความปรารถนาดีก็จริง และการพยายามจะช่วยของเขากลับสร้างปัญหามากขึ้นไปอีก”
          สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับทีมอนิเมชันคือการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในแบบดีไซน์ของไลท์นิง “ใน 'Cars 2' เขาจะต้องลงแข่งในตอนกลางคืน เราก็เลยต้องเอาสติกเกอร์ของเขาออกและใส่เอาไฟหน้าเข้าไป” เคราส์บอก “เราต้องคิดหารูปทรงสำหรับไฟหน้าของเขาให้ได้ เพราะรอยยิ้มกว้างอาจปรากฏในไฟหน้าพวกนั้นได้ ดังนั้น การหาตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญครับ”
          วิลสันกล่าวว่า ความใส่ใจในรายละเอียดคือสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ของพิกซาร์แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ “ผมคิดว่า 'Cars' และหนังพิกซาร์เรื่องอื่นๆ ได้รับความนิยมสูงเพราะมันมีธีมที่เป็นสากลและบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นในรูปแบบที่โดดเด่นและเต็มไปด้วยอารมณ์ ที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ด้วยคุณภาพที่เหมือนกับเป็นงานแฮนด์เมดน่ะครับ หนังของพวกเขาแตกต่างจากหนังของคนอื่นๆ พิกซาร์ดูเหมือนจะแคร์เรื่องของการบอกเล่าเรื่องราวออกมาอย่างเหมาะสมมากกว่าคนอื่นๆ อีกครับ”

เมเตอร์
          สำหรับแลร์รี เดอะ เคเบิล กาย การพากย์เสียงเมเตอร์เป็นเรื่องตามธรรมชาติ “สำหรับผมแล้ว เมเตอร์เป็นตัวละครสุดเจ๋งเพราะเขาเป็นเมเตอร์เสมอไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนก็ตาม” นักแสดงหนุ่มกล่าว “ผมเองก็เป็นตัวเองไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม และผมก็สบายใจกับการได้เป็นตัวของตัวเอง ผมชอบผู้คนและผมก็เป็นมิตรเพราะนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ในการรับบทเมเตอร์ ผมพยายามจะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เขาเจอ ถ้าผมอยู่ในห้องน้ำแบบญี่ปุ่นพวกนั้น แล้วน้ำเริ่มพุ่งใส่ผมจากทุกทิศทุกทางล่ะก็ ผมก็คงจะสติแตกเหมือนกับเขาแน่ๆ”
          ไม่เพียงแต่แลร์รี เดอะ เคเบิล กายจะเข้าใจความรู้สึกของเมเตอร์เท่านั้น แต่เขายังเคยพบกับความสับสนด้านอาหารแบบที่รถลากผู้น่ารักคันนี้เจอด้วย “เมเตอร์คิดว่า วาซาบิ ที่เผ็ดๆ นั่นแหละครับ เป็นไอศกรีม” แลร์รีเล่า “ดังนั้น ในตอนที่พวกเขาป้ายวาซาบิให้เขาแค่นิดหน่อย เขาก็แบบ 'เชอะ ขี้ตืดจัง ขอเยอะๆ หน่อยสิ!' มันเป็นฉากที่ตลกมากครับ มีครั้งหนึ่ง ผมได้กินวาซาบิไป มีคนบอกผมว่ามันเป็นของหวานที่อร่อยมากๆ ผมก็เลยทามันเหมือนกับเป็นเยลลี ผมลงเอยด้วยการกรอกน้ำเข้าปากตลอด 15 นาทีหลังจากนั้นเลยล่ะครับ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสนุกกับการพากย์เสียงบทนี้เพราะผมได้ใส่เอาความเป็นตัวเองเข้าไปครับ”
          แลร์รี เดอะ เคเบิล กาย ดาราจากรายการ “Only in America with Larry the Cable Guy” ทางฮิสทอรี แชนแนล และนักแสดงตลกสแตนด์อัพ ผู้ประสบความสำเร็จ เนรมิตชีวิตให้กับเมเตอร์ในแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้และบอกว่า เขาเป็นหนึ่งในแฟนของแฟรนไชส์เรื่องนี้ “ถ้าคุณบอกผมเมื่อนานมาแล้วว่าผมจะได้อยู่ในหนังบล็อกบัสเตอร์ และได้แสดงประกบพอล นิวแมนในหนังเรื่องหนึ่ง แล้วก็ประกบไมเคิล เคนในอีกเรื่องหนึ่ง ผมคงจะบอกว่าคุณบ้าไปแล้วแน่ๆ” แลร์รีบอก “ผมชื่นชอบการได้ร่วมงานกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์และทุกคนที่พิกซาร์เพราะพวกเขาเป็นคนดีและรู้วิธีการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลูกๆ ผมชอบดู 'Cars' และภาคใหม่นี้ก็จะเป็นภาคที่แอ็กชันที่สุดครับ”

ฟินน์ แม็คมิสไซล์
          จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์รู้ดีว่าใครที่เขาต้องการสำหรับการพากย์เสียงสุดยอดสายลับผู้ดี ด้วยผลงานภาพยนตร์สายลับอย่าง “The Fourth Protocol” และ “Harry Palmer” รวมไปถึงการแสดงใน “The Ipcress File” และ “Billion Dollar Brain” ไมเคิล เคนจึงเป็นตัวเลือกที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับบทนี้ “ขณะที่เรากำลังพัฒนาบทฟินน์ แม็คมิสไซล์ขึ้นมา ผมก็นึกถึงไมเคิล เคนเสมอๆ เพราะหนังสายลับเยี่ยมๆ ที่เขาเคยเล่น” ผู้กำกับบอก “เสียงของเขามีคุณสมบัติบางอย่างแบบสายลับอังกฤษที่ดูดี มีระดับ และเมื่อเขาตอบตกลง เราก็ไม่อยากจะเชื่อว่าเราจะได้ร่วมงานกับเซอร์ไมเคิล เคน! เขาเป็นหนึ่งในนักแสดงที่น่าทึ่งที่สุดเท่าที่ผมเคยร่วมงานด้วย และอนิเมเตอร์ก็ชื่นชอบการดูฟุตเตจอ้างอิงจากเซสชันบันทึกเสียงและผลงานเก่าของเขา แล้วตอนนี้ พอคุณได้เห็นฟินน์ แม็คมิสไซล์บนหน้าจอ คุณก็จะได้เห็นไมเคิล เคน รอยยิ้มของเขา ท่าทีสุภาพของเขา ความเจ๋งที่แข็งแกร่งของเขา เขาเหมาะกับตัวละครตัวนี้และรถคันนี้อย่างสมบูรณ์แบบเลยครับ”
          เมื่อเคนได้รับโทรศัพท์จากลาสเซ็ทเตอร์ที่ถามเขาว่า เขาสนใจที่จะพากย์เสียง “Cars 2” รึเปล่า เขาก็บอกว่า “ผมไม่อยากจะเชื่อเลย ผมพูดกับภรรยาผมว่า ‘พวกเขาอยากให้ผมพากย์เสียงใน “Cars 2” แน่ะ พวกเขาอยากให้ผมพากย์เสียงสายลับ!’ ผมเคยรับบทสายลับมาก่อน ผมก็เลยรู้ว่าจะต้องทำยังไง ตอนที่ผมได้ดู 'Cars' ภาคแรก ผมทึ่งกับเทคโนโลยีของเรื่อง และก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ผมก็เลยตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคสองนี้ครับ”
          เคนกล่าวว่า เขาชื่นชอบสิ่งที่ทีมงานพิกซาร์ทำกับบทบาทนี้เป็นพิเศษ “การได้เห็นตัวเองเป็นรถเป็นครั้งแรกเป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก เสียงผมเหมาะกับรถสปอร์ตอังกฤษคันน้อยมากๆ และสีฟ้าก็เป็นสีโปรดของผมด้วย ฟินน์ แม็คมิสไซล์เป็นชื่อที่วิเศษสุดสำหรับรถสายลับอังกฤษ สิ่งที่เขาสามารถทำได้ทำให้สายลับคนอื่นๆ เหมือนแมรี ป็อปปินส์เลยล่ะครับ หนังเรื่องนี้ทั้งสนุกและน่าตื่นเต้น และคุณก็จะนั่งสงสัยว่าพวกเขาทำมันได้ยังไง เหมือนกับตอนที่ดูภาคแรกครับ”
          เสียงของเคนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับทีมงานอนิเมชันด้วยเช่นกัน ซูเปอร์ไวซิง อนิเมเตอร์ เคราส์กล่าวว่า “พูดถึงความฝันแล้ว ไมเคิล เคนเป็นคนที่น่าทึ่งมาก ในการพัฒนาตัวละครฟินน์ขึ้นมา ผมต้องไปขุดภาพถ่ายเก่าๆ จากผลงานเรื่องก่อนๆ ของเขามาดู เขามีความหนักแน่นจริงจังในดวงตาและการแสดงของเขา มันมีสองสิ่งที่เราโฟกัสกับมันตอนที่เราพยายามจะเข้าถึงจิตวิญญาณของรถพวกนี้ นั่นคือดวงตากับปาก และไมเคิลก็เยี่ยมมากเพราะเขามีรอยยิ้มที่มีเสน่ห์จริงๆ พอเขาโกรธ ปากเขาจะเชิดขึ้น เราจับจุดตรงนั้นและใช้มันในหลายๆ ช็อต ในช็อตของฟินน์ คุณจะสังเกตเห็นได้ว่าเราใช้ฟันบนหลายฉาก และมันก็จะมีรอยย่นตรงมุมตอนที่มุมปากเขากระตุก เสียงของเขาและการพากย์เสียงของเขาทำให้เกิดโทนเสียงที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ที่ช่วยเสริมสร้างมิติให้กับตัวละครตัวนี้ มันจะมีความรู้สึกของประสบการณ์ที่คุณจะได้ยินจากเสียงของเขา ซึ่งเพอร์เฟ็กต์เลยสำหรับบทฟินน์ แม็คมิสไซล์ครับ”

ฮอลลีย์ ชิฟท์เวล
          ทีมผู้สร้างได้เลือกนักแสดงหญิง เอมิลี มอร์ติเมอร์ (“Lars and the Real Girl,” “Shutter Island” และ “My Idiot Brother” ที่กำลังจะลงโรง) ให้มาพากย์เสียงสายลับหน้าใหม่ ฮอลลีย์ ชิฟท์เวล “ฉันตื่นเต้นสุดๆ เลยที่ได้อยู่ในหนังของพิกซาร์ค่ะ” มอร์ติเมอร์บอก “มันอาจไม่เพียงพอถ้าจะบอกว่าฉันเป็นแฟนอยู่แล้วก่อนที่ฉันจะได้รับข้อเสนอให้มาพากย์เสียง 'Cars 2' ฉันชื่นชมกับการสร้างหนังพิกซาร์ที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ และบทภาพยนตร์ของเรื่องก็วิเศษสุด มันมีการเล่าเรื่องที่น่าอัศจรรย์และไดอะล็อคที่งดงามค่ะ”
          มอร์ติเมอร์ได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการขัดเกลาตัวละครของเธอ “ส่วนหนึ่งของกระบวนการอนิเมชันคือการใส่เอาบุคลิก การเคลื่อนไหวและตัวตนของคุณในฐานะนักแสดงเข้าไปในตัวละครค่ะ” เธอบอก “ระหว่างสองสามเซสชันแรก คุณทำแค่อ่านบทแล้วหวังว่ามันจะออกมาดีที่สุด แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ มันก็จะกลายเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไป และอาศัยความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณก็จะเข้าใจเซนส์ของเรื่องราวและตัวละคร คุณจะกล้าทดลองกับการแสดงของคุณมากขึ้น เมื่อมีแค่คุณกับคนหนึ่งคนหรือสองคนในห้อง เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่ในกองถ่ายหนัง ฉันสามารถทดลองตะโกนหรือกระซิบได้ และฉันก็สนุกกับกระบวนการทั้งหมดจริงๆ ค่ะ”
          ผลน่ะหรือ? ตัวละครที่ผู้ชมจะหลงรักยังไงล่ะ “รถของพิกซาร์เป็นที่รักของทุกคน แต่การมีตัวละครหญิงแกร่งในหนังก็เป็นเรื่องเยี่ยมเหมือนกันค่ะ” นักแสดงสาวบอก “เธอเป็นรถไฮเทค ซูเปอร์โซนิคของแท้ แต่เธอก็เป็นรถจริงๆ ด้วยเหมือนกัน ฉันชอบการผสมผสานความมั่นใจมหาศาลและความสามารถมากมายของเธอเข้ากับช่วงเวลาของความตื่นตระหนกและสับสนอย่างสิ้นเชิงค่ะ”
          มัลลินส์ตั้งข้อสังเกตว่า “เอมิลีทั้งวิเศษสุดและมีเสน่ห์เหลือเกิน เธอให้อะไรเรามากมายในการพากย์เสียงและวิธีการพากย์เสียงของเธอก็เป็นพื้นฐานให้กับอนิเมเตอร์อย่างดี เธอทำให้ฮอลลีย์ให้ความรู้สึกของการเป็นสายลับหน้าใหม่ ใจกล้า ผู้สบายใจกับการเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนาม การแสดงของเอมิลีช่วยเสริมสร้างตัวละครตัวนี้ได้จริงๆ และเราก็ชื่นชอบการสร้างภาพอนิเมชันคู่ไปกับเสียงของเธอ”
          อนิเมเตอร์ จู๊ด บราวน์บิลล์ ชาวอังกฤษทางตะวันตกเฉียงใต้ ผู้เป็นสมาชิกใหม่ของทีมพิกซาร์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลหลายๆ ฉากของฮอลลีย์ “มันเยี่ยมจริงๆ ที่ได้ดูเซสชันบันทึกเสียงของเอมิลี มอร์ติเมอร์ แค่ได้ยินสำเนียงอังกฤษน่ะค่ะ” บราวน์บิลล์บอก “ฉันได้เห็นคนหลายคนที่ฉันรู้จักในอังกฤษในตัวเธอ และฉันก็เห็นตัวเองในเธอด้วยเหมือนกัน”
          บราวน์บิลล์ได้ใส่เอาบุคลิกลักษณะที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างเข้าไปในตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอคุ้นเคยด้วย “ฉันรู้สึกว่าฮอลลีย์น่าจะมีการเคลื่อนไหวที่กระชับฉับไวกว่า สบตาน้อยกว่า เธอจะพยักหน้าและส่ายหน้าบ่อยๆ เให้ความรู้สึกของความประหม่า เคอะเขิน ซึ่งจะก่อให้เกิดความตึงเครียดมากกว่าตัวละครสบายๆ อย่างเมเตอร์ เพราะเธอเป็นรถที่สร้างสรรค์ จริงจังและมีประสิทธิภาพ เธอเป็นสายลับนี่คะ”

ฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี
          ดาวเด่นแห่งโลกรถแข่งมีแฟนๆ ติดตามทั่วโลก และเขาก็เป็นแฟนหมายเลขหนึ่งของตัวเอง “ฟรานเชสโก้เป็นตัวละครที่ตลกค่ะ” รีมบอก “เขามีนิสัยเชิดหยิ่งและภาคภูมิใจในตัวเองสุดๆ การพูดคุยกันระหว่างไลท์นิง แม็คควีนและฟรานเชสโก้ตลอดเรื่องทั้งตลกและสนุกสนานค่ะ”
          “เขาเป็นรถที่ตลกมากครับ” ลาสเซ็ทเตอร์พูดถึงฟรานเชสโก้ “เขาหลงตัวเอง เป็นรถที่มีล้อยื่นมาข้างหน้า และในโลกของยานยนต์แล้ว รถที่มีล้อแบบนั้นจะเป็นเหมือนพวกคนชั้นสูงที่ไม่เคยต้องแต่งตัวด้วยตัวเอง เขาพูดถึงตัวเองในแบบบุคคลที่สาม เขาตลกมากครับ คนที่พากย์เสียงฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลีคือจอห์น เทอร์ทูโร และเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม นี่เป็นหนึ่งในตัวละครที่สนุกสนานที่สุดเท่าที่เราเคยสร้างขึ้นมาเลยนะครับ”
          “เขาเป็นรถคู่แข่งของไลท์นิง แม็คควีนครับ” เทอร์ทูโรบอก “เขาเป็นรถแข่งอิตาเลียน แถมมีล้อแบบยื่นออกมาข้างหน้า เขาเป็นรถที่เชิดหยิ่ง มั่นใจในตัวเองและหลงตัวเอง เหมือนอย่างที่ผมอยากจะเป็น เราจะพบว่า เขาคิดว่าเขาเป็นรถแข่งที่เร็วที่สุดในโลก เขาเป็นเหมือนนกยูงนิดๆ แต่เขาก็มีอารมณ์ขันและเป็นตัวละครที่ตลกจริงๆ ครับ”
          รีมกล่าวว่า “ฉันตั้งหน้าตั้งตารอที่จะได้ดูซีนของฟรานเชสโก้ค่ะ บางทีอาจเป็นเพราะฉันนึกถึงภาพจอห์น เทอร์ทูโรตอนที่ฉันดูซีนพวกนั้นก็ได้ เพราะมันตลกจริงๆ ฉันคิดว่าตัวละครตัวนี้จะต้องได้รับความนิยมสูงแน่ๆ”
          เทอร์ทูโร (“The Big Lebowski,” “The Taking of Pelham 123,” “Transformers: Dark of the Moon”) กล่าวว่า เขาได้รับความช่วยเหลือในการตีความบุคลิกของฟรานเชสโก้ “ผมขโมยบางส่วนมาจากนิสัยของเพื่อนผม” เขาบอก “เขาเป็นคนช่างประชด ตลกขบขันและอบอุ่น คุณต้องใช้พลังงานมากมายเพราะคุณต้องทำทุกอย่างด้วยเสียงครับ”
          ในฐานะรถสูตรล้อยื่น ฟรานเชสโก้ทำให้ทีมงานอนิเมชันต้องคิดหนัก “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟรานเชสโก้คือเราต้องมีส่วนกันชนปิดล้อเอาไว้เสมอ” มัลลินส์บอก “เพื่อที่เราจะสามารถซ่อนความลับเล็กๆ เอาไว้ใต้นั้นได้ เพราะโครงช่วงล่างจะขยับและยืดออกไป และสิ่งที่คุณจะได้เห็นก็จะมีแค่โครงรถ ดวงตา ปาก และได้เห็นล้อหมุน สำหรับฟรานเชสโก้ เราได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างล้อรถและตัวรถ มันเป็นหนึ่งความท้าทายชิ้นใหญ่ของการคิดหาวิธีที่จะสนับสนุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวรถ”

FB on July 13, 2011, 12:57:53 PM
โลกของ “Cars” ในแบบ 3D: มิติใหม่สำหรับการแข่งรถสุดมันส์
เทคโนโลยี 3D ชวนผู้ชมอินไปกับเรื่อง
          หนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในโลกบันเทิงนับตั้งแต่ “Cars” ภาคแรกเข้าฉายในปี 2006 คือเทคโนโลยีแสดงภาพแบบ 3D ดิจิตอล และ “Cars 2” ก็เป็นภาพยนตร์พิกซาร์เรื่องที่สามที่ใช้ฟอร์แมตยอดนิยมนี้ ผลงานเรื่องล่าสุดจากดิสนีย์/พิกซาร์เรื่องนี้ (หลังจาก “Up” และ “Toy Story 3”) เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสความสนุกสนานและความตื่นเต้นของการได้อยู่ในการแข่งขัน และดำดิ่งไปกับสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบอย่างงดงามและเรนเดอร์ได้อย่างละเอียดละออของเรื่อง
          “ผมอาจจะชื่นชอบ 3D มากกว่าผู้กำกับคนอื่นๆ” ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์บอก “ผมถ่ายรูปแต่งงานของตัวเองเป็น 3D ด้วยซ้ำไป หนังสั้นเรื่อง "Knick Knack” ที่เราสร้างขึ้นในปี 1989 ถูกสร้างในระบบ 3D ก่อนที่จะมีโรงหนัง 3D เสียอีก แล้วผมก็รู้สึกมาตลอดด้วยว่าสื่อคอมพิวเตอร์ อนิเมชันของเราถูกทำมาเข้าคู่กับ 3D ได้อย่างพอดิบพอดีครับ”
          “จริงๆ แล้ว 'Cars 2' ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึง 3D" ลาสเซ็ทเตอร์กล่าวต่อ "และสำหรับหนังของพิกซาร์แล้ว 3D ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพที่จะลอยเตะตาคุณ แต่เป็นเรื่องของการสร้างโลกที่น่าเชื่อและดึงดูดมากขึ้น เหมือนกับหน้าต่างที่มองไปสู่โลกใบนั้น คุณจะอินไปกับมัน และผมก็คิดว่าในตอนที่คุณได้ดู 'Cars 2' ใน 3D มันจะมีการใส่ความคิดลงไปในองค์ประกอบมากมาย เช่นสิ่งที่มันเงา เราก็จะทำให้มันแวววับ หรูหรา เซ็กซีและเจ๋ง มันผ่านกระบวนการความคิดมาแล้วว่าแสงจะช่วยเพิ่มเรื่องของมิติเข้าไปใน 3D อย่างมาก ทั้งถนนที่เปียกชื้น รถที่เงาวับ ตึกที่เป็นประกาย มันว้าวเลยล่ะครับ!”
          แบรด ลูอิส ผู้กำกับร่วมกล่าวเสริมว่า "เราได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นโดยการใช้ประโยชน์จากสื่อ 3D จอห์นทึ่งกับการที่ 3D สามารถยกระดับหนังบางประเภทขึ้นมาได้ ใน 'Cars 2' บ็อบ ไวท์ฮิลล์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเตอริโอสโคปิค 3D ของเรา ทำงานกับแทร็คคู่ขนานขณะที่หนังเดินหน้าไป และท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนก็คิดกันว่ามันจะออกมาเป็นยังไงบ้างในรูปแบบ 3D แต่ก่อน 3D จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายกระบวนการของเรา แต่มันก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกบูรณาการเข้าไป ในตอนที่เราได้เห็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะดูอลังการใน 3D เราก็เริ่มสำรวจวิธีการต่างๆ ที่จะขยับกล้อง เพื่อทำให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก มันเป็นสิ่งที่อยู่ในสายตาของเราขณะที่เราสร้างหนังพวกนี้อยู่ 3D สามารถเพิ่มความลึกและมิติ และทำให้เรื่องราวมีเซนส์ของดรามามากขึ้นอีกครับ"
          “Cars 2” จะเข้าฉายในระบบ IMAX® 3D ในโรงภาพยนตร์บางแห่ง ซึ่งจะสร้างเสริมประสบการณ์ความบันเทิงที่ยิ่งใหญ่ และโดดเด่นเหนือใคร

“Cars 2” ภูมิใจนำเสนอศิลปินคนดังจากอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น
ศิลปินนานาชาติช่วยเนรมิตชีวิตให้กับการผจญภัยรอบโลก
          นอกจากจะอัดแน่นไปด้วยสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก การแข่งรถความเร็วสูง การจารกรรมข้ามชาติและเรื่องราวมิตรภาพที่น่าประทับใจแล้ว “Cars 2” ยังนำเสนอดนตรีประกอบจากฝีมือคอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์และแกรมมี ไมเคิล จิอัคคิโน และบทเพลงจากร็อคเกอร์อัลเทอร์เนทีฟเจ้าของรางวัลแกรมมี วีซเซอร์, นักร้องคันทรีฮิต แบรด เพสลีย์, นักร้อง/นักแต่งเพลงยอดนิยมชาวอังกฤษ ร็อบบี้ วิลเลียมส์, ซูเปอร์สตาร์ชาวฝรั่งเศส เบนาบาร์ และเกิร์ลแบนด์จากแดนซากุระ เพอร์ฟูม ศิลปินนานาชาติเหล่านี้ได้ช่วยกันรังสรรค์บทเพลงประกอบคลอไปกับช่วงเวลาที่เหล่าตัวละคร “Cars” ออกถนนใหญ่เพื่อร่วมผจญภัยครั้งสำคัญในทั่วโลก
          “Cars 2” เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สี่ของพิกซาร์ที่จิอัคคิโนได้แต่งดนตรีประกอบให้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาเคยแต่งดนตรีประกอบเรื่อง “The Incredibles,” “Ratatouille” และ “Up” รวมทั้งภาพยนตร์ขนาดสั้นอีกหลายเรื่องให้กับสตูดิโอแห่งนี้มาแล้ว "ไมเคิลแต่งดนตรีประกอบสุดเจ๋งให้กับหนังเรื่องนี้ครับ" ผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์บอก "เราไม่อยากจะได้ดนตรีประกอบหนังสายลับทั่วๆ ไป เราอยากให้มันเป็นอะไรที่แตกต่าง เป็นรูปแบบใหม่ไปเลยน่ะครับ"
          “จอห์น [ลาสเซ็ทเตอร์] รู้เรื่องราวนี้ดีครับ" จิอัคคิโนบอก "เขารู้ดีว่าตัวละครของเขาขาดอะไรและต้องการอะไร วิธีการคุยเรื่องดนตรีของเราคือคุยกันเรื่องอารมณ์ ถ้าเมเตอร์รู้สึกเหมือนถูกโดดเดี่ยว ผมก็จะแปลงความรู้สึกนั้นให้เป็นดนตรี ผมชอบการได้ร่วมงานกับทีมงานที่พิกซาร์เพราะพวกเขาคุยกันในแง่ของเรื่องราว และนั่นก็เป็นวิธีการทำงานที่ผมชื่นชอบครับ"
          สำหรับฉากเปิดเรื่องที่เกิดขึ้นใจกลางมหาสมุทร และเป็นการเปิดตัวสายลับผู้ดี ฟินน์ แม็คมิสไซล์ จิอัคคิโนได้ดึงประสบการณ์จากความชื่นชอบสมัยเด็กมาใช้ "หนังเริ่มต้นบนเรือ และคุณก็ไม่รู้จักใครเลย 'เมเตอร์อยู่ไหน ไลท์นิงล่ะ' ประมาณนั้นน่ะครับ" คอมโพสเซอร์คนดังบอก "พอผมได้เห็นซีนนั้น มันก็ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ผมอายุ 10 ขวบ ขี่จักรยานไปพลาง ฟังดนตรีเซิร์ฟร็อค ที่หนักกีตาร์ ไปพลาง ผมเปิดเพลงที่ผมแต่งขึ้นให้จอห์นฟัง แล้วเขาก็บอกเลยว่ามันเพอร์เฟ็กต์ และมันก็กลายเป็นต้นแบบให้กับหนังทั้งเรื่องครับ"
          นอกจากนี้ จิอัคคิโนยังได้แต่งเพลงฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Mon coeur fait vroum” (“My Heart Goes Vroom”) ซึ่งขับร้องโดยเบนาบาร์ นักร้อง/นักแต่งเพลงชื่อดังชาวฝรั่งเศส ที่เป็นการแนะนำกรุงปารีสด้วยเสียงดนตรี เนื้อเพลงของเพลงนี้แต่งโดยจิอัคคิโนและสก็อตต์ แลงโท ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยโบเลม แลมฮีน อัลบัมแรกของเบนาบาร์ ที่วางจำหน่ายในปี 2001 ได้เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายดนตรีที่ประสบความสำเร็จของเขา ในปี 2006 อัลบัม “Reprise de Negociations” ของเขาติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในยุโรป และนำไปสู่รางวัลใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรีมากมายในปีนั้น
          ผู้ที่ขับร้องเพลงป๊อปยอดนิยมจากปี 1984 “You Might Think” (ที่แต่งโดยริค โอคาเซ็คและขับร้องโดยเดอะ คาร์ส) เสียใหม่ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองคือวงร็อคอัลเทอร์เนทีฟอเมริกัน เจ้าของยอดขายมัลติแพลตินัม วีซเซอร์ วีซเซอร์เริ่มเข้าสู่วงการในปี 1992 และจนถึงปัจจุบัน ก็ได้ออกอัลบัมมาเก้าชุดแล้ว “เพลงนี้จะเล่นในซีนที่ไลท์นิง แม็คควีนและเมเตอร์ไปญี่ปุ่นกันครับ” ไบรอัน เบลล์แห่งวงวีซเซอร์บอก “ซึ่งเป็นเรื่องเยี่ยมสำหรับพวกเราเพราะมันสะท้อนถึงประสบการณ์ของพวกเราในญี่ปุ่น มันมีเรื่องของคัลเจอร์ ช็อคนิดๆ น่ะครับ”
          “ริค [โอคาเซ็ค] ได้อำนวยการผลิตอัลบัมสองชุดของเรา และเราก็เป็นแฟนของเดอะ คาร์สด้วย” เบลล์เล่าต่อ “ดังนั้น การคัฟเวอร์เพลงนี้ก็เลยน่าตื่นเต้นเป็นสองเท่าสำหรับเรา นอกจากนั้น เรายังพบด้วยว่าจอห์น [ลาสเซ็ทเตอร์] เป็นแฟนวีซเซอร์และอยากให้เราอัดเพลงนี้จริงๆ เขาอยู่ในสตูดิโอกับพวกเราด้วยและเขาก็มีพลังงานที่น่าทึ่งจริงๆ ครับ”
          ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการคันทรีเจ้าของหลายรางวัลแกรมมี และผู้ครองตำแหน่งเอนเตอร์เทนเนอร์แห่งปีจากสมาคมดนตรีคันทรี แบรด เพสลีย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตซาวน์แทร็ค “Cars” ภาคแรกด้วยเพลง “Behind the Clouds” (เขียนร่วมกับแฟรงค์ โรเจอร์ส) และ “Find Yourself” กลับมาอีกครั้งพร้อมกับสองเพลงใหม่สำหรับ “Cars 2” ลาสเซ็ทเตอร์กล่าวว่า “ผมกับแบรดกลายเป็นเพื่อนรักกันระหว่างการถ่ายทำ ‘Cars’ สำหรับ ‘Cars 2’ เขากับร็อบบี้ [วิลเลียมส์] ได้จับมือกันแต่งเพลงร็อคแอนด์โรลสุดเจ๋งขึ้นมา มันแตกต่างจากเพลงที่แบรดแต่งตามปกติอย่างมาก แต่เขาและร็อบบี้ก็ได้สร้างสรรค์เพลงสุดวิเศษที่ถ่ายทอดมิตรภาพระหว่างแม็คควีนและเมเตอร์ออกมาในช่วงเอนด์เครดิตได้” เพสลีย์กล่าวเสริมว่า “เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมได้ร่วมงานกับร็อบบี้ วิลเลียมส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคนที่มีพรสวรรค์มากที่สุดเท่าที่ผมเคยพบ เป็นความคิดของจอห์นที่จะนำโลกทั้งสองใบนั้นมารวมกัน การผสมผสานมุมมองดนตรีอังกฤษและอเมริกันเข้าด้วยกันน่ะครับ เราทั้งคู่ต่างก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน และการได้เห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณถูกบีบให้ต้องไปสู่ที่ใหม่ๆ ก็เป็นแก่นของ ‘Cars 2’ จริงๆ ครับ มันสอดคล้องไปกับเรื่องราวสุดๆ”
          เพลง “Collision of Worlds” ถูกแต่งและขับร้องออกมาเป็นเพลงคู่ระหว่างเพสลีย์และวิลเลียมส์ นักร้อง/นักแต่งเพลงมากความสามารถ ผู้โด่งดังอย่างเหลือเชื่อในฐานะศิลปินเดี่ยวและในฐานะสมาชิกของวงเทค แด็ด วิลเลียมส์มียอดขายอัลบัมกว่า 57 ล้านก็อปปี้ทั่วโลกและเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทำยอดขายอัลบัมได้สูงสุดตลอดกาลของอังกฤษ “มันเป็นเพลงสากลที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังครับ มันคงไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีเรื่องราวนี้” วิลเลียมส์บอก “แบรดปรากฏตัวขึ้นพร้อมกีตาร์และความเข้าใจคร่าวๆ ว่าเขาต้องการให้เพลงนี้ออกมาเป็นยังไง เขาดีดคอร์ดสองสามคอร์ดให้ผมฟัง แล้วเราก็ช่วยกันคลำทางไปจนเกิดเป็นเพลงนี้ขึ้นมา มันเป็นการสอดประสานกันกลับไปกลับมาระหว่างประเทศสองประเทศที่พูดภาษาเดียวกัน แต่ไม่เข้าใจกัน จนกระทั่งตอนนี้ครับ”
          เพลงที่สอง “Nobody’s Fool” ถูกแต่งและขับร้องโดยเพสลีย์ “มันได้รับแรงบันดาลใจจากซีนที่ชวนหัวใจสลายมากที่สุดในหนังเรื่องนี้” เพสลีย์บอก “เมเตอร์รู้ตัวว่าทุกคนคิดว่าเขากำลังสวมบทบาทคนโง่ และเขาก็เกิดรู้แจ้งเห็นจริงว่าเขาไม่ได้สวมบทบาทซักหน่อย แต่เขาเป็นแบบนั้นจริงๆ ต่างหาก เมเตอร์ตระหนักดีว่าตัวเองเป็นใครและมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับผมครับ”
          ซิงเกิลฮิตของวงเกิร์ลแบนด์ญี่ปุ่น เพอร์ฟูม “Polyrhythm” จะปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ในตอนที่ไลท์นิง และเมเตอร์เข้าร่วมงานเลี้ยงกาลาในคืนเปิดการแข่งขันเวิลด์ กรังปรีซ์ในกรุงโตเกียว
          “Cars 2” ทั้งดนตรีและภาพยนตร์ จะแล่นเข้าโรงภาพยนตร์ในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2011 ซาวน์แทร็คจากวอลท์ ดิสนีย์ เรคคอร์ดส์ จะวางจำหน่ายในวันที่ 14 มิถุนายน

พิกซาร์มาถึงหลักไมล์สำคัญ
สตูดิโอเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 25 ปี
          ด้วยภาพยนตร์ที่เหลือเชื่อ 12 เรื่องและภาพยนตร์ขนาดสั้นและโฆษณาแปลกใหม่ ที่บรรเจิดไปด้วยจินตนาการหลากหลาย ตลอดระยะเวลา 25 ปี พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ ได้สร้างสถิติที่น่าอิจฉาและไร้ใครเทียมในบ็อกซ์ ออฟฟิศ และได้พลิกโฉมวิธีการสร้างภาพยนตร์และการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมทั่วโลก
          “ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันผ่านมา 25 ปี และเราทำหนังกันมา 12 เรื่องแล้ว” ลาสเซ็ทเตอร์บอก “มันเยี่ยมเลยนะครับ ‘Cars’ ภาคแรกเข้าฉายในตอนที่เราครบรอบ 20 ปี และ ‘Cars 2’ ก็เข้าฉายในตอนครบรอบ 25 ปี ผมภูมิใจในพิกซาร์มากๆ ผมภูมิใจกับหนังทุกเรื่องและตัวละครทุกตัวของเรานั่นแหละครับ สิ่งที่มีความหมายสำหรับผมมากที่สุดคือผู้ชม ทุกครอบครัว คอหนังทุกคน ที่เราได้สร้างความบันเทิงให้พวกเขา นั่นเป็นสาเหตุที่เราทำในสิ่งที่เราทำ เพียงเท่านั้นจริงๆ ครับ มันเป็นเรื่องของการสร้างหนังที่มีคุณภาพสูงสุด ไม่ใช่เพียงแค่หนังอนิเมชันเท่านั้น แต่เป็นหนังที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ อย่างแท้จริงและลึกซึ้ง นั่นเป็นเป้าหมายของเราครับ เราก็แค่สร้างหนังในแบบที่เราอยากจะดูเท่านั้นเอง”
          พิกซาร์เดินทางมาไกลนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในปี 1986 ในตอนที่สตีฟ จ็อบส์ซื้อแผนกคอมพิวเตอร์ กราฟฟิคจากลูคัสฟิล์ม ลิมิเต็ดด้วยเงิน 10 ล้านเหรียญและสตูดิโอแห่งใหม่นี้ก็ถูกตั้งชื่อว่า “พิกซาร์” ภายใต้การนำของเอ็ด แคทมุลล์, จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์และทีมนักเล่าเรื่อง อนิเมเตอร์และช่างเทคนิคพรสวรรค์ สตูดิโอแห่งนี้ยังคงยกระดับการสร้างภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง
          ความรักที่ผู้ชมทั่วโลกมีต่อภาพยนตร์พิกซาร์ก็ยังคงจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและ “Cars 2” ก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่พิกซาร์ภาคภูมิใจที่สุดจนถึงปัจจุบัน

FB on July 13, 2011, 12:58:52 PM
ประวัตินักพากษ์และทีมผู้สร้าง คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ...ซิ่งสนั่นโลก
 
ประวัตินักพากย์
          แลร์รี เดอะ เคเบิล กาย (พากย์เสียงเมเตอร์) เป็นศิลปินเจ้าของอัลบัมยอดขายมัลติแพลตินัม ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงหลายรางวัลแกรมมี และเป็นดาวเด่นของซีรีส์ฮิตเรื่องใหม่ทางฮิสทอรี แชนแนล “Only in America with Larry the Cable Guy” ในแต่ละเอพิโซด แลร์รีจะเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เผยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พร้อมกับนำตัวเองไปซึมซับกับวิถีชีวิต งานและงานอดิเรกใหม่ที่แตกต่าง ซึ่งยกย่องประสบการณ์ของชาวอเมริกัน ผลที่ได้ก็คือการนำเสนอประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่ ที่ทั้งน่าจดจำและแปลกประหลาด แลร์รีร่วมแสดงใน “Tooth Fairy 2” สำหรับฟ็อกซ์ ซึ่งจะจัดจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีในไตรมาสแรกของปี 2012
ในวันที่ 4 กรกฎาคม ปี 2009 ที่เมโมเรียล สตาเดียมในลินคอล์น, เนบราสกา แลร์รีได้แสดงต่อหน้าแฟนๆ กว่า 50,000 คน และได้บันทึกการแสดงหนึ่งชั่วโมงของเขา “Tailgate Party” สำหรับคอเมดี เซ็นทรัลด้วย รายการนี้เป็นการขอบคุณแฟนๆ และเนบราสกาสำหรับการสนับสนุนที่ยาวนานของพวกเขา ตั๋วสำหรับรายการนี้ราคาเพียงแค่ 4 เหรียญและก็ขายหมดภายในเวลาเพียงสุดสัปดาห์เดียวเท่านั้น รายการพิเศษนี้แพร่ภาพในวันที่ 31 มกราคม ปี 2010 และดีวีดีก็ออกวางจำหน่ายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2010 ซีดีคอเมดีชื่อเดียวกันนี้ได้เปิดตัวที่อันดับหนึ่งของบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ต
          “The Comedy Central Roast of Larry the Cable Guy” (2009) ที่ควบคุมงานสร้างโดยแลร์รี เป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับสามในประวัติศาสตร์ของคอเมดี เซ็นทรัล ด้วยยอดผู้ชม 4.1 ล้านคน นอกจากนี้ เขายังเป็นพิธีกรและผู้อำนวยการสร้าง “Larry the Cable Guy’s Star Studded Christmas Extravaganza” ซึ่งแพร่ภาพทางซีเอ็มทีและประสบความสำเร็จด้านเรตติ้งอย่างสูงอีกด้วย รายการพิเศษช่วงคริสต์มาสของเขา “Larry the Cable Guy’s Hula-Palooza Christmas Luau” ได้แพร่ภาพทางซีเอ็มทีในช่วงปลายปี 2009
          ในปี 2008 แลร์รีได้ร่วมแสดงกับอิวานา มิลิเซวิค, ยาเพ็ท คอตโต้, ปีเตอร์ สตอร์แมร์, โจ แมนเทนา, เจนนี แม็คคาร์ธีย์และอีริค โรเบิร์ตส์ในภาพยนตร์เรื่อง “Witness Protection” ในปี 2007 เขาได้นำแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Delta Farce” ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “Larry the Cable Guy: Health Inspector” เข้าฉายในปี 2006 คอเมดีเรื่องนี้นำแสดงโดยโจ แพนโทเลียโน, โจแอนนา คัสซิดี้และโทนี เฮล เมื่อดีวีดีเรื่องนี้วางจำหน่ายในเดือนสิงหาคมปี 2006 มันก็ทำยอดขายได้กว่าหนึ่งล้านก็อปปี้ภายในสัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย
          แลร์รีเป็นส่วนหนึ่งของ “Blue Collar Comedy Tour” คอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ซึ่งทำรายได้ไปกว่า 15 ล้านเหรียญ ทีมนักแสดงตลกที่ร่วมแสดงในคอนเสิร์ตครั้งนี้ได้แก่เจฟฟ์ ฟ็อกซ์เวิร์ธตี้และบิลล์ อิงก์วอล ความสำเร็จของทัวร์ครั้งนั้นนำไปสู่ “Blue Collar Comedy Tour, The Movie” ซึ่งแพร่ภาพทางคอเมดี เซ็นทรัลในเดือนพฤศจิกายน ปี 2003 และเป็นภาพยนตร์ที่ทำเรตติ้งได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของสถานีในขณะนั้นด้วย ดีวีดีคอนเสิร์ตครั้งนี้ทำยอดขายได้กว่าสี่ล้านก็อปปี้ ซีเควล “Blue Collar Comedy Tour Rides Again” ทำยอดขายได้กว่าสามล้านก็อปปี้ ในเดือนมีนาคม ปี 2006 หนุ่มๆ บลู คอลลาร์ กลับมารวมตัวอีกครั้งเพื่อถ่ายทำ “Blue Collar Comedy Tour, One for the Road” ในกรุงวอชิงตัน, ดีซี ที่วอร์เนอร์ เธียเตอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้แพร่ภาพครั้งแรกทางคอเมดี เซ็นทรัลในวันที่ 4 มิถุนายน ปี 2006 และก็โกยเรตติ้งสูงเช่นเคย ซาวน์แทร็คของเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมีปี 2006
          อัลบัมคอเมดีชุดแรกของเขา “Lord, I Apologize” ทำยอดขายได้ถึงระดับโกลด์ ด้วยจำนวนกว่า 500,000 ก็อปปี้ ซีดีชุดนี้ครองอันดับหนึ่งในบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ต 15 สัปดาห์ติดต่อกัน ดีวีดีพิเศษของแลร์รีในชื่อ “Git-R-Done” ทำยอดขายได้กว่าหนึ่งล้านก็อปปี้และแตะระดับแพลตินัม นอกจากนี้ แลร์รียังได้แสดงใน “Blue Collar TV” ซีรีส์สเก็ตช์คอเมดีทางวอร์เนอร์ เน็ตเวิร์ค ซึ่งแพร่ภาพครั้งแรกในวันที่ 29 กรกฎาคม ปี 2004 อีกด้วย
          ซีดีคอเมดีของแลร์รีในชื่อ “Morning Constitutions” วางจำหน่ายในปี 2007 และเปิดตัวที่อันดับหนึ่งในบิลบอร์ด คอเมดี ชาร์ต ส่วนผลงานก่อนหน้านี้ “The Right to Bare Arms” (แจ็ค เรคคอร์ดส์/วอร์เนอร์ บรอส. เรคคอร์ดส์) เปิดตัวที่อันดับหนึ่งในซาวน์สแกน คอเมดี ชาร์ต, อันดับหนึ่งในคันทรี ชาร์ตและอันดับ 7 ในท็อป 200 ชาร์ต มันได้รับประกาศนียบัตรยืนยันยอดขายระดับโกลด์ (500,000 ก็อปปี้) โดย RIAA นอกจากนี้ “The Right to Bare Arms” ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแกรมมี และซีดีคริสต์มาสชุดแรกของเขา “A Very Larry Christmas” ก็ทำยอดขายได้ถึงระดับแพลตินัม (1,000,000 ก็อปปี้) ด้วย
          แลร์รีได้รับรางวัลศิลปินคอเมดียอดเยี่ยมแห่งปีและรางวัลอัลบัมคอเมดียอดเยี่ยมแห่งปีของบิลบอร์ดในปี 2005 เขาเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ และหนังสือของเขา “Git-R-Done” (2005) ก็เปิดตัวที่อันดับ 26 ในลิสต์เบสต์เซลเลอร์ของนิวยอร์ก ไทม์
แลร์รีได้รับการยกย่องให้ติดหนึ่งใน 100 คนดังของฟอร์บส์ในปีนี้ (2011) และเขาก็เคยติดลิสต์นี้มาก่อนสองปีติดต่อกัน (ในปี 2006 และ 2007) โดยลิสต์นี้เป็นการรวบรวมรายชื่อของบุคคลที่ร้อนแรงและประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมบันเทิง นอกจากนี้ แลร์รียังได้รับรางวัลบิลบอร์ด ท็อป คอเมดี ทัวร์ อวอร์ด (2006) อีกด้วย
          โอเวน วิลสัน (พากย์เสียงไลท์นิง แม็คควีน) ได้รับคำยกย่องจากการแสดงอันน่าจดจำของเขาทั้งในภาพยนตร์เมนสตรีมและอินดี โดยเขาได้แสดงในโรแมนติกคอเมดีที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงของวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Midnight in Paris” ซึ่งร่วมแสดงโดยราเชล แม็คอดัมส์และเอเดรียน โบรดี ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาได้แก่โรแมนติกคอเมดีโดยเจมส์ แอล. บรู๊คส์เรื่อง “How Do You Know” ที่ร่วมแสดงโดยพอล รัดด์และรีส วิทเธอร์สปูน, ภาคสามของ “The Fockers” ที่ร่วมแสดงกับเบน สติลเลอร์และโรเบิร์ต เดอ นีโรและ “Hall Pass” ประกบเจสัน ซูเดคิส, เจนนา ฟิสเชอร์และคริสตินา แอปเปิลเกท ผลงานเรื่องถัดไปของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยเดวิด แฟรงเคลเรื่อง “The Big Year” ประกบสตีฟ มาร์ติน, แจ็ค แบล็คและแองเจลิกา ฮูสตันและ “Turkeys” ภาพยนตร์อนิเมชันคอเมดีที่พากย์เสียงโดยวิลสัน, วู้ดดี้ ฮาร์เรลสันและลุค วิลสัน
          ผลงานความสำเร็จในบ็อกซ์ออฟฟิศของวิลสันได้แก่ “Marley & Me” ที่นำแสดงโดยเจนนิเฟอร์ อานิสตัน และสร้างขึ้นจากอนุทินยอดนิยมโดยจอห์น โกรแกน, “Night at the Museum” และซีเควล “Night at the Museum 2: Battle of the Smithsonian” ที่แสดงประกบโรบิน วิลเลียมส์และเบน สติลเลอร์, คอเมดีฮิต “Wedding Crashers” ที่แสดงประกบวินซ์ วอห์นและโรแมนติกคอเมดีเรื่อง “You, Me and DuPree”
          ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ “Starsky & Hutch,” “Zoolander,” “Drillbit Taylor,” “The Wendell Baker Story,” “Shanghai Noon,” “Behind Enemy Lines,” “I Spy,” “Shanghai Knights,” “Armageddon,” “The Minus Man” และ “The Cable Guy” นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่ผู้ช่วยอำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์เรื่อง “As Good as It Gets” อีกด้วย
          วิลสันได้พากย์เสียงภาพยนตร์โดยเวส แอนเดอร์สันเรื่อง “Fantastic Mr. Fox,” “Marmaduke” และ “Cars” ในปี 2006 ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาภาพยนตร์อนิเมชันยอดเยี่ยม
          ไมเคิล เคน (พากย์เสียงฟินน์ แม็คมิสไซล์) เป็นหนึ่งในนักแสดงที่ได้รับการยกย่องสูงสุดของวงการภาพยนตร์ ด้วยผลงานภาพยนตร์กว่าร้อยเรื่องและรางวัลเกียรติยศมากมายตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ เคน เจ้าของสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมครั้งแรกจากภาพยนตร์โดยวู้ดดี้ อัลเลนเรื่อง “Hannah and Her Sisters” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและบาฟตา อวอร์ดด้วยเช่นกัน เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่สองจากการแสดงในภาพยนตร์โดยแลสซี ฮอลสตรอมเรื่อง “The Cider House Rules” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลแซ็ก อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและบาฟตา อวอร์ดด้วย
          นอกเหนือจากนั้น เขายังได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอีกสี่ครั้ง ครั้งแรกในปี 1966 จากบทนำใน “Alfie” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำและได้รับรางวัลนักวิจารณ์ภาพยนตร์นิวยอร์กด้วย เขาได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ครั้งที่สองและรางวัลลูกโลกทองคำ รวมถึงได้รับรางวัลอีฟนิง สแตนดาร์ด อวอร์ดจากบทไมโล ทินเดิลในภาพยนตร์ปี 1972 เรื่อง “Sleuth” ที่แสดงประกบลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ การแสดงของเขาใน “Educating Rita” ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่สามและรางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลบาฟตา เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์, ลูกโลกทองคำและบาฟตาครั้งล่าสุดจาก “The Quiet American” ปี 2002 ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอนด้วยเช่นกัน
          ก่อนหน้านี้ เคนได้รับรางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอนและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลบาฟตา สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จาก “Little Voice” เขาได้รับรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอนครั้งล่าสุดจากการแสดงของเขาในดรามาพีเรียดโดยคริสโตเฟอร์ โนแลนเรื่อง “The Prestige” นี่เป็นผลงานเรื่องที่สองของเขากับผู้กำกับโนแลนหลังจากที่เคยร่วมงานกันมาแล้วในภาพยนตร์ฮิตปี 2005 เรื่อง “Batman Begins” ที่เคนรับบทอัลเฟร็ด บัตเลอร์และคนสนิทของบรูซ เวย์น ในปี 2008 เขาได้กลับมารับบทอัลเฟร็ดอีกครั้งในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์โดยโนแลนเรื่อง “The Dark Knight”
          เคนมีชื่อเดิมว่ามอริซ มิคเคิลไวท์ เขาเกิดทางตอนใต้ของลอนดอนในปี 1933 และเริ่มสนใจการแสดงตั้งแต่เด็กๆ หลังจากที่เขาได้ปลดประจำการจากกองทหารราชินีและกองทหารรักษาพระองค์ในปี 1953 เขาก็เริ่มต้นชิมลางงานแสดง หลังจากที่เขาได้ชื่อในวงการจาก “The Caine Mutiny” เขาก็ได้ทัวร์อังกฤษในละครเวทีหลายเรื่อง และเริ่มปรากฏตัวในภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์อังกฤษหลายเรื่อง
ในพิธีพระราชสมภพของพระราชินีปี 1992 เคนได้รับการแต่งตั้งยศคอมมานเดอร์ ออฟ เดอะ ออร์เดอร์แห่งอาณาจักรอังกฤษ (ซี.บี.อี.) และแปดปีให้หลัง เขาก็ได้รับการประดับยศเป็นอัศวิน
          หนึ่งในผลงานของเอมิลี มอร์ติเมอร์ (พากย์เสียงฮอลลีย์ ชิฟท์เวล) คือบทแจ้งเกิดในภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเรื่อง “Lovely & Amazing” เรื่องราวหวานปมขมน่าขบขันเกี่ยวกับผู้หญิงอับโชคสี่คนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และบทเรียนที่พวกเธอได้เรียนรู้ในการต้องรองรับความต้องการที่เกิดจากอาการวิตกจริตของพวกเธอเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้มอร์ติเมอร์โด่งดังและได้รับรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในปี 2003
          มอร์ติเมอร์ได้แสดงภาพยนตร์หลากหลายแนว ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ฮิตในบ็อกซ์ออฟฟิศโดยมาร์ติน สกอร์เซซีเรื่อง “Shutter Island” ที่เธอรับบทคนไข้ลึกลับของคลินิก ที่เรื่องราวเกิดขึ้น, คอเมดีฮิตเรื่อง “City Island” ที่แสดงประกบแอนดี้ การ์เซีย, ดรามาอาชญากรรมเรื่อง “Harry Brown” ซึ่งเธอรับบทนักสืบประกบไมเคิล เคน, ทริลเลอร์เรื่อง “Transsiberian” ที่กำกับโดยแบรด แอนเดอร์สันและร่วมแสดงโดยวู้ดดี้ ฮาร์เรลสันและเบน คิงส์ลีย์และ “The Pink Panther 2” ที่เธอกลับมารับบทนิโคลประกบสตีฟ มาร์ตินอีกครั้ง
          ผลงานหลังจากนี้ของมอร์ติเมอร์ได้แก่ “Hugo Cabret” ซึ่งทำให้มอร์ติเมอร์ได้ร่วมงานกับมาร์ติน สกอร์เซซีอีกครั้งสำหรับภาพยนตร์ผจญภัยเกี่ยวกับชีวิตลับของเด็กกำพร้าในผนังสถานีรถไฟปารีส และคอเมดีเรื่อง “My Idiot Brother” ที่กำกับโดยเจสซี เปเรทซ์และนำแสดงโดยมอร์ติเมอร์, อลิซาเบธ แบงค์และโซอี้ เดสชาแนล ในบทของพี่น้อง ผู้ซึ่งชีวิตต้องสั่นคลอนด้วยพี่ชายที่ปรารถนาดีของพวกเธอ ที่รับบทโดยพอล รัดด์
          มอร์ติเมอร์นำแสดงในโปรเจ็กต์โทรทัศน์หลายเรื่องให้กับบีบีซีและรับบทฟีบี้ คนรักของอเล็ค บัลด์วิน ระหว่างซีซันปี 2007 ในซีรีส์ฮิตทางเอ็นบีซีเรื่อง “30 Rock”
          มอร์ติเมอร์เกิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอเป็นลูกสาวของนักเขียนชื่อดัง เซอร์จอห์น มอร์ติเมอร์ และเพเนโลเป้ กลอสซ็อป มอร์ติเมอร์ได้เข้าศึกษาที่สถาบันเลื่องชื่อ เซนต์ปอล เกิร์ลส์ สคูลในบาร์เนส กรุงลอนดอน หลังจากนั้น เธอก็ได้ศึกษาภาษาอังกฤษและรัสเซียที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระหว่างปี 1990-1994 เธอสมรสกับนักแสดงอเลสซานโดร นิโวลาในปี 2002 ลูกชายของทั้งคู่เกิดในปี 2003 และลูกสาวของทั้งคู่ก็เกิดในปี 2010
 
เอ็ดดี้ อิซซาร์ด (พากย์เสียงไมลส์ เอ็กเซลร็อด) หนึ่งในนักแสดงตลกชื่อดังแห่งยุค กำลังสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะนักแสดงจอแก้ว จอเงินและละครเวที
          ปัจจุบัน อิซซาร์ดกำลังแสดงซีซันที่สามของซีรีส์ “United States of Tara” ทางโชว์ไทม์ เขาเพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์โจรสลัดคลาสสิก “Treasure Island” ที่เขารับบทลอง จอห์น ซิลเวอร์ประกบเอไลยาห์ วู้ดในบทเบน กันน์สำหรับไซไฟ แชนแนล
          “Believe: The Eddie Izzard Story” ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี อวอร์ดเมื่อปีที่แล้ว สารคดีดั้งเดิมเรื่องนี้ได้กลั่นกรองมาจากฟุตเตจหลายพันชั่วโมง ซึ่งบันทึกเรื่องราวของเขาตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งเขามามีชื่อเสียงเหมือนในปัจจุบันนี้ เมื่อปีที่แล้ว อิซซาร์ดได้แสดงละครบรอดเวย์โดยเดวิด มาเม็ตเรื่อง “Race” และในภาพยนตร์อินดีเรื่อง “Every Day” ประกบลีฟ ชไรเบอร์, เฮเลน ฮันท์และคาร์ลา กูจิโน
          ผลงานภาพยนตร์ล่าสุดของเขาได้แก่ “Valkyrie” ที่แสดงประกบทอม ครูซ, ภาพยนตร์อนิเมชันโดยเอ็มจีเอ็มเรื่อง “Igor,” ภาพยนตร์โจรกรรมโดยสตีเวน โซเดอร์เบิร์กห์เรื่อง “Ocean’s Thirteen” และ “Ocean’s Twelve” ที่ร่วมแสดงโดยจอร์จ คลูนีย์และแบรด พิทท์และภาพยนตร์โดยจูลีย์ เทย์เมอร์เรื่อง “Across the Universe” และเขายังได้พากย์เสียงภาพยนตร์โดยเจอร์รี แซนเฟลด์เรื่อง “Bee Movie” อีกด้วย
          อิซซาร์ดได้วิ่งการกุศลเป็นระยะทาง 1,100 ไมล์ผ่านอังกฤษ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือและสก็อตแลนด์ เขาได้ระดมทุนจำนวน 250,000 เหรียญสำหรับสปอร์ตส์ รีลิฟ ซึ่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในอังกฤษและประเทศยากจนทั่วโลก

          จอห์น ทูเทอร์โร (พากย์เสียงฟรานเชสโก้ เบอร์นูลลี) ได้เข้าศึกษาที่เยล สคูล ออฟ ดรามา สำหรับการเปิดตัวในโลกละครเวที เขาได้รับบทนำในละครของจอห์น แพทริค แชนลีย์เรื่อง “Danny and the Deep Blue Sea” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโอบี อวอร์ดและรางวัลเธียเตอร์ เวิลด์ อวอร์ด นับตั้งแต่นั้น ทูเทอร์โรก็ได้แสดงละครเรื่อง “Italian American Reconciliation,” “La Puta Vida,” “The Bald Soprano,” “Waiting for Godot,” ละครโดยเบรทช์เรื่อง “The Resistible Rise of Arturo Ui” ในบทนำ, ละครโดยยัสมินา เรซาเรื่อง “Life X 3” ในละครของเอดัวร์โด เดอ ฟิลิปโปเรื่อง “Souls of Naples” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลดรามา เดสก์ อวอร์ด นอกจากนี้ เขายังได้กำกับละครโดยเรซาเรื่อง “A Spanish Play” ที่ซีเอสซีอีกด้วย
          สำหรับผลงานจอแก้ว ทูเทอร์โรได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ดจากบทโฮเวิร์ด โคเซลใน “Monday Night Mayhem” และได้รับรางวัลเอ็มมีจากบทดารารับเชิญของเขาในซีรีส์ฮิตเรื่อง “Monk” ในซัมเมอร์ปี 2007 เขาได้แสดงบทบิลลี มาร์ติน กัปตันแยงกี้ชื่อดังในมินิซีรีส์ “The Bronx Is Burning” ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแซ็ก อวอร์ด
          ทูเทอร์โรได้แสดงใน “Transformers” ทั้งสองภาคของไมเคิล เบย์, ภาพยนตร์โดยแอนโธนี ฮ็อปกินส์เรื่อง “Slipstream,” ภาพยนตร์โดยโนอาห์ บอมบัคเรื่อง “Margot at the Wedding,” ภาพยนตร์โดยสไปค์ ลีเรื่อง “The Miracle at St. Anna” และภาพยนตร์โดยโทนี สก็อตต์เรื่อง “The Taking of Pelham 123” ซัมเมอร์ปีนี้ เขาจะได้กลับมารับบทเดิมอีกครั้งใน           “Transformers: Dark of the Moon” ทูเทอร์โรสำเร็จการศึกษาจากเยล สคูล ออฟ ดรามา และเอสยูเอ็นวาย นิว พอลท์ และได้ศึกษากับโรเบิร์ต เอ็กซ์. โมดิกา

          เบรนท์ มัสเบอร์เกอร์ (พากย์เสียงเบรนท์ มัสแตงเบอร์เกอร์) หนึ่งในผู้ประกาศข่าวที่มีพรสวรรค์และมากความสามารถที่สุดในวงการ เข้าทำงานที่เอบีซี สปอร์ตส์ในปี 1990 นับตั้งแต่เข้าทำงานที่เอบีซี มัสเบอร์เกอร์ได้รายงานข่าวการแข่งขันลิตเติล ลีก เวิลด์ ซีรีส์, บาสเก็ตบอลมหาวิทยาลัย, เอ็นบีเอ, ฟุตบอลมหาวิทยาลัย, เมเจอร์ ลีก เบสบอล, เกมเพลย์ออฟ NFL, เกมฟุตบอลคืนวันจันทร์และเป็นพิธีกรการรายงานการแข่งขัน PGA, เวิลด์ ฟิกเกอร์สเก็ตและการแข่งขันกรีฑาประเภทลู่และลานของสถานี
          นอกเหนือจากนั้น มัสเบอร์เกอร์ยังได้รายงานสดการแข่งขันเอ็นบีเอ ไฟนอลส์ทางอีเอสพีเอ็น เรดิโอมาตลอดช่วงสองปีที่ผ่านมา และเขาก็ได้รายงานข่าวกีฬาช่วงบ่ายของทุกวันอีกด้วย
          เอบีซีประกาศการมาถึงของมัสเบอร์เกอร์ว่า “เรายินดีที่ได้เบรนท์ มัสเบอร์เกอร์มาเป็นหนึ่งในผู้ประกาศข่าวของเรา ที่เราเชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในจอแก้ว มัสเบอร์เกอร์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถมหาศาลในกีฬาหลากหลายประเภท ซึ่งทำให้เขาเหมาะสมอย่างยิ่งในการรักษาคุณภาพและส่งเสริมการนำเสนอรายการที่เพิ่มมากขึ้นของเอบีซี สปอร์ต”
          ก่อนหน้าที่จะเข้าทำงานที่เอบีซี สปอร์ตส์ มัสเบอร์เกอร์เป็นสมาชิกของทีมผู้ประกาศข่าวกีฬาซีบีเอส สปอร์ตส์ ตั้งแต่ปี 1975 เขาเป็นผู้ดำเนินรายการ “The NFL Today” ช่วงก่อนเข้าเกม พักครึ่งและหลังเกมของการรายงาน NFL นอกเหนือจากนั้น เขายังเป็นผู้ประกาศหลักสำหรับการแข่งขันเอ็นซีเอเอ ไฟนอล ทัวร์ บาสเก็ตบอล ทัวร์นาเมนต์ด้วย นอกจากนี้ มัสเบอร์เกอร์ได้รับหน้าที่พิธีกรรายการ “CBS Sports Saturday/Sunday,” ยูเอส โอเพน เทนนิส แชมเปียนชิพ, รอบไฟนอลของสมาคมบาสเก็ตบอลระดับชาติ, มาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์และแพน อเมริกัน เกมส์
          ระหว่างเข้าศึกษาเมดิลล์ สคูล ออฟ จัวร์แนลลิซึมแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น มัสเบอร์เกอร์ก็ถูกดึงตัวไปยังชิคาโก้ อเมริกา ที่ซึ่งเขากลายเป็นนักเขียนข่าวกีฬาที่ได้รับรางวัล งานผู้สื่อข่าวของเขาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาได้เข้าทำงานที่ดับบลิวบีบีเอ็ม เรดิโอในชิคาโก้ในปี 1968 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา ภายหลัง เขาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาที่ดับบลิวบีบีเอ็ม ทีวี ก่อนจะย้ายไปลอสแองเจลิสเพื่อเป็นพิธีกรร่วมในข่าวภาคกลางคืนของสถานีเคเอ็นเอ็กซ์ที-ทีวี
          มัสเบอร์เกอร์และอาร์ลีน ภรรยาของเขา มีลูกชายด้วยกันสองคน
          โจ แมนเทนา (พากย์เสียง เกรม) ได้รับรางวัลโทนีและรางวัลโจเซฟ เจฟเฟอร์สัน อวอร์ดจากการแสดงที่ได้รับการยกย่องของเขาในบทริชาร์ด โรมาในละครที่ได้รับรางวัลพูลิทเซอร์โดยเดวิด มาเม็ตเรื่อง “Glengarry Glen Ross” ผลงานจอแก้วและจอเงินส่วนหนึ่งของแมนเทนาได้แก่ “House of Games,” “Searching for Bobby Fischer,” “Godfather III,” บทดีน มาร์ตินใน “The Rat Pack” และการพากย์เสียงแฟท โทนีใน “The Simpsons” แมนเทนาได้แสดงประกบแมรี สทีนเบอร์เกนและแอมเบอร์ แทมบลินในดรามาฮิตทางซีบีเอสเรื่อง “Joan of Arcadia” ที่ได้รับรางวัลพีเพิลส์ ชอยส์ อวอร์ดสาขาดรามาใหม่ยอดเยี่ยมในปี 2004 และได้รับการเสนอชื่อชิงอีกสามรางวัลเอ็มมี เป็นเวลาสองซีซัน ปัจจุบัน แมนเทนารับบทเจ้าหน้าที่พิเศษเอฟบีไอ เดวิด รอสซีในดรามาฮิตทางซีบีเอสเรื่อง “Criminal Minds”

FB on July 13, 2011, 01:01:21 PM
 โธมัส เครสช์แมนน์ (พากย์เสียง ศาสตราจารย์ซี) ได้แสดงในภาพยนตร์และซีรีส์ยุโรปหลายเรื่อง ปัจจุบัน เขากำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Dracula 3D” สำหรับดาริโอ อาร์เจนโต และเขาก็เพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำ “The River” ทางเอบีซี ให้กับผู้ควบคุมงานสร้างสตีเวน สปีลเบิร์ก
          เครสช์แมนน์ ได้นำแสดงใน “Resident Evil: Apocalypse” และรับบทแม็กซ์ในซีรีส์ “24” ในปี 2005 เขาได้แสดงประกบเอเดรียน โบรดี้และนาโอมิ วัตส์ในรีเมกเรื่อง “King Kong” โดยปีเตอร์ แจ็คสัน ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “Wanted” ที่เขาแสดงประกบเจมส์ แม็คอะวอยและแองเจลินา โจลี, “Transsiberian” ที่กำกับโดยแบรด แอนเดอร์สันและนำแสดงโดยวู้ดดี้ ฮาร์เรลสันและเอมิลี มอร์ติเมอร์, “The Young Victoria” ประกบเอมิลี บลันท์และรูเพิร์ต เฟรนด์และภาพยนตร์โดยไบรอัน ซิงเกอร์เรื่อง “Valkyrie” ที่นำแสดงโดยทอม ครูซ

          ปีเตอร์ จาค็อบสัน (พากย์เสียงเอเซอร์) โด่งดังจากบททนายความฝ่ายค้านลิ้นทอง แรนดี้ ดวอร์คินในซีรีส์ “Law and Order” เขามีผลงานที่หลากหลายทั้งในจอแก้ว จอเงินและละครเวที
          ด้านจอแก้ว เขาได้รับบทดร.คริส ท็อบในดรามาการแพทย์ที่ได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ดเรื่อง “House,” ได้แสดงประกบเด็บบรา เมสซิงในมินิซีรีส์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงเอ็มมี อวอร์ดเรื่อง “The Starter Wife” และแสดงประกบปีเตอร์ เคราส์และจูลีแอนนา มาร์กิลิสใน “The Lost Room” มินิซีรีส์หกชั่วโมงที่ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลเอ็มมี อวอร์ด ผลงานอื่นๆ ของเขาได้แก่ภาพยนตร์เอชบีโอเรื่อง “Path to War” และ “61*” ที่กำกับโดยบิลลี คริสตัล รวมถึงบทดารารับเชิญในซีรีส์ “CSI: Miami,” “Criminal Minds,” “Will & Grace,” “ER,” “Boston Legal” และ “Scrubs”
          ผลงานภาพยนตร์ของเขาได้แก่คอเมดีเรื่อง “What Just Happened” ที่กำกับโดยแบร์รี เลวินสัน, “Transformers” ที่กำกับโดยไมเคิล เบย์, แอ็กชันทริลเลอร์เรื่อง “Domino” ที่ร่วมแสดงโดยเคียรา ไนท์ลีย์, “Failure to Launch” และ “Good Night, and Good Luck” ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาพันธ์นักแสดงสาขาทีมนักแสดงยอดเยี่ยม เขาได้ร่วมแสดงกับเควิน นีลอนและฌอน แอสตินในภาพยนตร์เรื่อง “And They’re Off” จาค็อบสันได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังหลายคน ซึ่งรวมถึงจอห์น แฟรงเคนไฮเมอร์, วู้ดดี้ อัลเลน, จอร์จ คลูนีย์, เดวิด แฟรงเคล, เจมส์ แอล. บรู๊คส์, อัลฟองโซ คัวรอนและทิม ร็อบบินส์
          จาค็อบสันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ก่อนจะศึกษาต่อที่เดอะ จูเลียร์ด สคูลในนิวยอร์ก ปัจจุบัน เขาสมรสแล้วและมีลูกชายหนึ่งคน

          บอนนี ฮันท์ (พากย์เสียงแซลลี) ฮันท์เป็นศิลปินมากความสามารถที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในโลกภาพยนตร์ โทรทัศน์และละครในฐานะ มือเขียนบท ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างและนักแสดงที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมี, ลูกโลกทองคำและแซ็ก อวอร์ด
          ฮันท์เติบโตขึ้นในถิ่นชนชั้นแรงงานของชิคาโก้ เธอได้ทำงานด้านการแสดงกับเซคคันด์ ซิตี้ โรงละครอิมโพรไวเซชันชื่อดังพร้อมๆ กับการทำงานเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลนอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล ไม่นานนัก ฮันท์ก็เริ่มเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของผู้ชมด้วยบทคามีโอที่ติดตรึงในความทรงจำของเธอ เช่นในภาพยนตร์เรื่อง “Rain Man” ที่เธอรับบทสาวเสิร์ฟที่ทำไม้จิ้มฟันหล่นและไกด์นำชมทำเนียบขาวในเรื่อง “Dave” บทอิมโพรไวส์ของเธอ (“เรากำลังเดิน เรากำลังเดิน …”) โด่งดังขึ้นทันทีเมื่อผู้ชมตอบรับอารมณ์ขันที่โดดเด่นและเข้าถึงได้ง่ายของเธอ
          ผลงานที่ฮันท์ได้ร่วมงานกับดิสนีย์/พิกซาร์ได้แก่ “A Bug’s Life,” “Monsters Inc.,” “Cars” และ “Toy Story 3” เธอไม่เพียงแต่พากย์เสียงใน “Cars” เท่านั้น แต่เธอยังมีเครดิตการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอีกด้วย
          ผลงานภาพยนตร์อินดีของฮันท์ได้แก่ “Stolen Summer,” “Loggerheads” และ “I Want Someone to Eat Cheese With”
          ฮันท์ทุ่มเทให้กับการใช้เวลากับผู้ป่วยและการระดมทุนเพื่อการค้นคว้าวิจัย เธอให้ทั้งชื่อและเวลาของเธอไปกับโครงการการกุศลที่เธอสนับสนุน เช่นเดอะ ลูรีย์ แคนเซอร์ เซ็นเตอร์, เดอะ อาร์ธิริส ฟาวน์เดชัน, เดอะ ชิลเดรนส์ เบรน ทูเมอร์ ฟาวน์เดชัน, นอร์ธเวสเทิร์น เบรน ทูเมอร์ ฟาวน์เดชัน, มัลติเพิล ไมเอโลมา รีเสิร์ช ฟาวน์เดชัน, คาซา โคไลนา รีแฮ็บ แฟซิลิตี้ (ปีกสำหรับบำบัดผู้ป่วยในชื่อของฮันท์เปิดดำเนินการที่คาซา โคไลนาแล้ว)
          การปรากฏตัวที่น่าตลกขบขันและบ่อยครั้งของเธอในรายการทอล์คโชว์ทำให้เธอได้รับการยกย่องจากเอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลีว่าเป็นแขกรับเชิญ (รายการทอล์คโชว์) ที่ดีที่สุดในอเมริกา

          ดาร์เรล วอลทริป (พากย์เสียงดาร์เรล คาร์ทริป) เป็นแชมป์ถ้วยนาสการ์ วินสตัน แชมเปียนสามสมัย (1981, 1982, 1985) เขาชนะการแข่งขันวินสตัน คัพ 84 ครั้ง ซึ่งเป็นอันดับสามของลิสต์ชัยชนะมากที่สุดตลอดกาล (ร่วมกับบ็อบบี้ อัลลิสัน) วอลทริปเป็นผู้วิเคราะห์ทางโทรทัศน์และผู้บรรยายการแข่งขันประจำฟ็อกซ์ สปอร์ตส์ และเขาก็ได้รับบทเป็นตัวเองในภาพยนตร์เรื่อง “Talladega Nights” อีกด้วย เขากลับมาพากย์เสียงดาร์เรล คาร์ทริป ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในภาพยนตร์ปี 2006 เรื่อง “Cars” อีกครั้งใน “Cars 2”
          วอลทริปเริ่มแล่นบนเส้นทางนี้ด้วยการขับรถโกคาร์ทตอนอายุได้ 12 ปี เขาได้เข้าสู่การแข่งรถครั้งแรกในสี่ปีให้หลัง วอลทริปและพ่อของเขาได้สร้างรถ 1936 เชฟโรเล็ต คูเป้ขึ้นมาและขับรถคันนั้นไปสนามแข่งดินลูกรังใกล้ๆ บ้านที่โอเวนส์โบโร, เคนตั๊กกี้ของพวกเขา ค่ำคืนแรกของพวกเขาห่างไกลจากความสำเร็จเมื่อตัวเขา ที่อายุไม่มากพอจะขับขี่บนถนนใหญ่ได้ด้วยซ้ำ ขับชนกำแพงทำให้รถคูเป้เสียหายอย่างหนัก ไม่นานหลังจากนั้น วอลทริปก็โบกมืออำลาดินลูกรังและพบความถนัดของเขาบนยางมะตอย ที่ซึ่งความพลิ้วไหวที่เขาได้เรียนรู้จากการขับรถคาร์ทเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง กิจกรรมการแข่งรถของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจนถึงปลายยุค 60s วอลทริปก็กลายเป็นขาประจำของสนามแข่งรถในแนชวิลล์, เทนเนสซี
          วอลทริปกลายเป็นนักแข่งสนามระยะสั้นระดับแนวหน้าของประเภทอย่างรวดเร็วและเริ่มต้นชิงชัยถ้วยนาสการ์ วินสตัน คัพครั้งแรกในปี 1972 ที่สนามทัลลาเดกา ซูเปอร์สปีดเวย์ในอลาบามา เขาลงแข่งในนาสการ์อย่างสม่ำเสมอพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตเป็นนักแข่งสนามระยะสั้น ในที่สุดในปี 1975 วอลทริปก็ตัดสินใจที่จะมาลงแข่งนาสการ์ วินสตัน คัพอย่างเต็มตัว
          ชื่อของวอลทริปได้รับการบรรจุอยู่ในนอร์ธ แครอไลนา มอเตอร์สปอร์ตส์ ฮอล ออฟ เฟม, เนชันแนล มอเตอร์สปอร์ตส์ ฮอล ออฟ เฟมและอินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์สปอร์ตส์ ฮอล ออฟ เฟม สถิติการแข่งขันของเขาได้แก่
          - ชัยชนะ 37 ครั้งในการแข่งขันซูเปอร์สปีดเวย์ เป็นอันดับเจ็ดในลิสต์ตลอดกาล
          - ได้ครองตำแหน่งสตาร์ทแถวหน้าในการแข่งขันวินสตัน คัพ 59 ครั้ง เป็นอันดับสี่ในลิสต์ตลอดกาล
          - ได้ครองตำแหน่งสตาร์ทแถวหน้าในการแข่งขันซูเปอร์สปีดเวย์ 23 ครั้ง เป็นอันดับหกในลิสต์ตลอดกาล
          - แชมป์การแข่งขัน 1989 เดย์โทนา 500
          - เป็นนักแข่งเพียงคนเดียวที่คว้าเงินรางวัลได้ 500,000 เหรียญหรือมากกว่านั้นในซีซันเดียว 18 ครั้ง
          - เป็นผู้ชนะเลิศห้าสมัยของการแข่งขันโคคา-โคลา 600 (1978, 1979, 1985, 1988 and 1989) ที่ชาร์ล็อตต์ มอเตอร์ สปีดเวย์ เพียงคนเดียว
          - ชนะเลิศการแข่งขันเดอะ วินสตันที่ชาร์ล็อตต์ในปี 1985

          ฟรังโก้ นีโร (พากย์เสียงลุงโทโปลิโน) สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมทั่วโลกมาตลอด 45 ปีที่ผ่านมาในบทพระเอกและนักแสดงสมทบ ด้วยการปฏิเสธบทบาทแบบเดิมๆ และตอนนี้ เขาก็ทำหน้าที่มือเขียนบท ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับด้วยเช่นกัน
          เขาเกิดในเมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี เขาเข้าศึกษาโรงเรียนการละคร และย้ายไปกรุงโรมเมื่อเขาร่วมกับเพื่อนสร้างภาพยนตร์สารคดีขึ้นมา หลังจากที่ทำงานเบื้องหลังด้วยการเป็นช่างภาพได้ซักพัก เขาก็ถูกค้นพบโดยผู้กำกับจอห์น ฮูสตัน ผู้เลือกเขาให้รับบทอาเบลใน “The Bible: In the Beginning” (1965) ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขาก็แจ้งเกิดด้วยภาพยนตร์เวสเทิร์นสปาเก็ตตี้คัลท์คลาสสิกที่โด่งดังระดับโลกเรื่อง "Django” ในปีถัดมา โจชัว โลแกนก็ได้เลือกเขาให้แสดงในเวอร์ชันภาพยนตร์ของเรื่อง "Camelot” (วอร์เนอร์ บรอส.) ประกบวาเนสซา เร้ดเกรฟ ซึ่งทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลลูกโลกทองคำ ความสัมพันธ์ของนีโรและเร้ดเกรฟหลังจากนั้นนำไปสู่ลูกชายของทั้งคู่ คาร์โล ที่ตอนนี้เป็นมือเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์
          ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เขาเป็นผู้สนับสนุนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าดอน บอสโกในเมืองทิโวลี ประเทศอิตาลี ในปี 1992 เขาได้รับการประดับยศ คอมเมนดาโทเร ออฟ เดอะ รีพับลิคโดยประธานาธิบดีในขณะนั้นของอิตาลี ในปีนี้ เขาเพิ่งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยบรูเนลแห่งลอนดอน

          เดวิด ฮ็อบส์ (พากย์เสียงเดวิด ฮ็อบส์แค็ป) เป็นอดีตนักแข่งรถชาวอังกฤษ ที่ปัจจุบันรับหน้าที่ผู้บรรยายการแข่งขันรถสูตร 1 ให้กับสปีด แชนแนล เขาเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในนักแข่งที่มีความสามารถหลากหลายที่สุดในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ลงแข่งในการแข่งขันฟอร์มูลา วัน, อินดี้ คาร์, นาสการ์, เลอ แมนส์, แคน-แอม, เอฟ5000 (ชนะเลิศในปี 1971) และทรานส์-แอม (ชนะเลิศในปี 1983) ในปี 1969 ชื่อของฮ็อบส์ได้รับการรวมอยู่ในลิสต์รายชื่อนักแข่งรถชั้นนำของเอฟบีไอ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มนักแข่งระดับสูง 27 คน ที่ได้รับการยกย่องว่าเก่งที่สุดในโลกจากความสำเร็จของพวกเขา ชื่อของฮ็อบส์ได้รับการบรรจุให้อยู่ในมอเตอร์สปอร์ตส์ ฮอล ออฟ เฟม แห่งอเมริกาในปี 2009
ฮ็อบส์ใช้ชีวิตอยู่ในมิลวอคี, วิสคอนซิน และเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของเดวิด ฮ็อบส์ ฮอนด้าในเกลนเดล, วิสคอนซิน ซึ่งขายและให้บริการยานพาหนะฮอนด้าทั้งใหม่และมือสองทุกรุ่น เดวิด ฮ็อบส์ ฮอนด้า เป็นทั้งตัวแทนจำหน่ายนอย่างเป็นทางการของมิลวอคี 225 ไอซ็อด อินดี้คาร์ เรซ และเป็นผู้สนับสนุนไฟร์สโตน อินดี้ ไลท์ เดวิด ฮ็อบส์ 00

          โทนี ชาลูบ์ (พากย์เสียงหลุยจี้) เป็นนักแสดงเจ้าของรางวัลเอ็มมี ลูกโลกทองคำและแซ็ก อวอร์ด สำหรับผลงานของเขาในซีรีส์ “Monk”
          ผลงานภาพยนตร์มากมายของเขาได้แก่ “The Great New Wonderful,” “Galaxy Quest,” “Spy Kids,” “The Siege,” “Searching for Bobby Fischer,” “Primary Colors,” “Men in Black,” “The Man Who Wasn’t There” และ “Big Night” และเขายังได้พากย์เสียง หลุยจี้ ในภาพยนตร์ฮิตเรื่อง “Cars” อีกด้วย
          เมื่อเร็วๆ นี้ชาลูบ์เพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Too Big to Fail” ให้กับเอชบีโอ เขาเปิดตัวผลงานการกำกับเรื่องแรกด้วยภาพยนตร์อินดีเรื่อง “Made-Up” ที่เขาแสดงประกบบรู๊ค อดัมส์ ภรรยาของเขา
          ผลงานละครของชาลูบ์ผู้เป็นนักแสดงละครเวทีที่ประสบความสำเร็จได้แก่ “Waiting for Godot,” “The Heidi Chronicles,” “Conversations with My Father” และ “The Scene” และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาก็ได้แสดงละครบรอดเวย์เรื่อง “Lend Me a Tenor” อีกด้วย

          เจฟฟ์ การ์ลิน (พากย์เสียง โอทิส) เป็นมือเขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง นักแสดงและนักแสดงตลกสแตนด์อัพ คอเมดี เขาร่วมแสดงและควบคุมงานสร้างซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “Curb Your Enthusiasm” ที่นำแสดงโดยแลร์รี เดวิด ผู้สร้าง “Seinfeld” คอเมดีที่โดดเด่นเรื่องนี้ได้การ์ลินมารับบทเจฟฟ์ กรีน ผู้จัดการที่ภักดีของเดวิด ซีรีส์ดังเรื่องนี้ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาคอเมดียอดเยี่ยม, รางวัลแดนนี โธมัส ผู้อำนวยการสร้างแห่งปีจากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกาและรางวัลเอเอฟไอ ซีรีส์คอเมดียอดเยี่ยมแห่งปี และในตอนนี้ ก็กำลังฉายซีซันที่แปดทางเอชบีโอ
          การ์ลินเป็นชาวชิคาโก้ เขาศึกษาการสร้างภาพยนตร์และเริ่มแสดงสแตนด์อัพ คอเมดีระหว่างที่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยไมอามี ในฐานะสมาชิกเซคคันด์ ซิตี้ เธียเตอร์ การ์ลินได้ตระเวนแสดงทั่วประเทศในฐานะนักแสดงตลกสแตนด์อัพ คอเมดี รายการสแตนด์อัพ คอเมดีพิเศษครั้งแรกของเขา “Young & Handsome: A Night With Jeff Garlin” ถ่ายทำที่โรงละครเซคคันด์ ซิตี้ เธียเตอร์ในชิคาโก้ และเปิดตัวทางช่องคอเมดี เซ็นทรัล
          การ์ลินมีผลงานจอแก้ว จอเงิน และหนังสือมากมาย หนังสือเล่มแรกของเขา “My Footprint” ตีพิมพ์โดยไซมอน สปอตไลท์ในปี 2010 ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาในฐานะผู้กำกับ ที่เขานำแสดงเองและเขียนบทเอง เรื่อง “I Want Someone to Eat Cheese With” จัดจำหน่ายโดยไอเอฟซี และ เดอะ วีนสไตน์ คัมปะนี และประสบความสำเร็จด้านคำวิจารณ์อย่างล้นหลาม นอกจากนี้ การ์ลินยังชื่นชอบการได้ร่วมงานกับพิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ เขาได้พากย์เสียงกัปตันใน “WALL-E” และบัตเตอร์คัพใน “Toy Story 3” อีกด้วย

          มิเชล มิเคลิส (พากย์เสียง ทอมเบอร์) เป็นศิลปิน นักเขียน นักร้อง ล่ามและนักแสดงมากความสามารถ เขาเกิดในเมืองมอนท์เพลเลียร์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เขาใช้ชีวิตอยู่ในนาร์บอนน์จนกระทั่งอายุได้ 17 ปี ก่อนจะเริ่มแสวงโชคด้วยตัวเอง
          กว่า 30 ปีมาแล้วที่เขาได้ร่วมทำงานในโปรเจ็กต์หลากหลายกับนักแสดง ผู้กำกับ นักดนตรี คณะละครสัตว์และผู้จัดรายการวิทยุมากความสามารถ
          ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2000 มิเคลิสได้ตั้งกลุ่มซาก้า ไทรบ์ขึ้นในซานฟรานซิสโก เป็นวงดนตรีทริโอบลูส์ ซึ่งได้แสดงในคอนเสิร์ตหลายครั้งทั้งในและรอบๆ บริเวณเบย์ แอเรีย ในปี 2003 เขาได้พักงานดนตรีไว้ชั่วคราวเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับลูนา ลูกสาวของเขา ในฤดูใบไม้ผลิปี 2006 เขาได้กลับมาจับงานดนตรีอีกครั้งเพื่อทำอัลบัม “Le monde est tetu” ขึ้นมา มิเคลิสได้ทัวร์ฝรั่งเศสระหว่างปี 2007-2008 ร่วมกับวงซาก้าและโนเนม บลูส์ ก่อนจะปิดทัวร์ในแคลิฟอร์เนียระหว่างฤดูใบไม้ผลิปี 2008 เพลง “Petite Fee Clochette” ของอัลบัมนี้ถูกเปิดตามสถานีวิทยุ 400 แห่งทั่วอเมริกา ในปี 2009 มิเคลิสได้ก่อตั้งวงยิปซี แจ๊ส รู มาน็อคขึ้นในซานฟรานซิสโก
          ปัจจุบัน เขาเป็นส่วนหนึ่งของซิตีเซน บลูส์ วงดนตรีบลูส์ใหม่ ที่มีอัลบัม “La Trace” สำหรับตลาดฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้ร่วมแสดงในทรานแซท บลูส์ ทัวร์ในยุโรป

FB on July 13, 2011, 01:01:49 PM
เจสัน ไอแซ็คส์ (พากย์เสียง ซิดเดอลีย์ และลีแลนด์ เทอร์โบ) หนึ่งในนักแสดงที่มากความสามารถและมีพรสวรรค์สูงสุดในรุ่นของเขา เกิดในเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ก่อนจะย้ายไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอนกับครอบครัว เขาเริ่มอาชีพงานแสดงที่มหาวิทยาลัยบริสทอล ที่ซึ่งเขาศึกษาด้านกฎหมายแต่พบว่าตัวเองสนใจศิลปะการแสดงมากกว่า หลังจากสำเร็จการศึกษา เขาก็เข้าศึกษาที่เซ็นทรัล สคูล ออฟ สปีช แอนด์ ดรามาในกรุงลอนดอนทันที และเขาก็ได้ศึกษาที่นั่นนานสามปี ในปี 2000 ไอแซ็คส์ได้แจ้งเกิดด้วยบทผู้พันวิลเลียม ทาวิงตัน ในภาพยนตร์โดยโรแลนด์ เอ็มเมอริคเรื่อง “The Patriot” ที่เขาแสดงประกบเมล กิ๊บสันและฮีธ เล็ดเจอร์ การแสดงครั้งนั้นทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอนดอน สองปีให้หลัง ไอแซ็คส์ได้รับบทที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุด นั่นก็คือลูเชียส มัลฟอย ผู้ชั่วร้าย พ่อของดราโกใน “Harry Potter and the Chamber of Secrets” หลังจากนั้น เขาก็ได้กลับมารับบทเดิมอีกครั้งใน “Harry Potter and the Goblet of Fire,” “Harry Potter and the Order of the Phoenix” และสองภาคสุดท้าย “Harry Potter and the Deathly Hallows Part 1” (พฤศจิกายนปี 2010) และ “Part 2” (กรกฎาคม ปี 2011)
          ผลงานล่าสุดของไอแซ็คส์คือทริลเลอร์โดยยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์สเรื่อง “Green Zone” ดรามาสงครามเรื่องนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นในและรอบๆ กรีนโซนของอิรัก ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการณ์ของกองกำลังอเมริกันในสงครามตะวันออกกลาง ไอแซ็คส์รับบทเจ้าหน้าที่ทหารชาวอเมริกัน บริคส์ ประกบแมทท์ เดมอนและเกร็ก คินเนียร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดยพอล กรีนกราส ทำให้นี่เป็นครั้งที่สองที่เขาและไอแซ็คส์ได้ร่วมงานกัน หลังจากที่เคยร่วมงานกันมาแล้วในภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์ในปี 1997 เรื่อง “The Fix” ทางบีบีซี
          ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ “End of the Affair,” ภาพยนตร์ที่ทำรายได้ถล่มทลายในบ็อกซ์ออฟฟิศเรื่อง “Armageddon,” “Dragonheart,” “Divorcing Jack” และมิวสิคัล “The Last Minute” นอกจากนี้ เขายังได้ร่วมงานกับผู้กำกับพอล แอนเดอร์สัน เพื่อนของเขาหลายครั้ง ได้แก่ทริลเลอร์ไซไฟเรื่อง “Event Horizon,” “Soldier” และภาพยนตร์คัลท์สัญชาติอังกฤษเรื่อง “Shopping” คนที่สายตาดีหน่อยอาจเห็นเขารับบทคามีโอแบบไม่มีเครดิตในภาพยนตร์โดยแอนเดอร์สันเรื่อง “Resident Evil,” ภาพยนตร์โดยร็อบ โบว์แมนเรื่อง “Elektra” และภาพยนตร์ทดลองโดยไมค์ ฟิกกิสเรื่อง “Hotel”
          ไอแซ็คส์เรียนการชกมวยสำหรับการแสดงประกบซิเกอร์นีย์ วีฟเวอร์และเทย์เลอร์ เลาท์เนอร์ใน “Abduction” ทริลเลอร์ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มที่ออกเดินทางเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตของเขาหลังจากที่พบภาพถ่ายวัยแบเบาะของเขาในเว็บไซต์บุคคลสูญหาย (กันยายน ปี 2011) นอกจากนี้ เขายังได้ร่วมแสดงในดรามาบีบีซีเรื่อง “Case Histories” ที่เขารับบทพระเอกของเรื่องอีกด้วย (มิถุนายน ปี 2011) ไอแซ็คส์ได้รับบทนำในดรามาเอ็นบีซีเรื่อง “REM” (2011)

          เจนนิเฟอร์ ลูอิส (พากย์เสียงโฟล) มีความสามารถในการดึงดูดผู้ชม ซึ่งเกิดจากน้ำเสียง อารมณ์ขันตลกโปกฮาและการแสดงอันทรงพลังของเธอ ที่ได้รับการขัดเกลาจากการแสดงบนละครบรอดเวย์ยอดนิยมเช่น “Eubie,” ”Comin’ Uptown,” “Dreamgirls,” “Rock and Roll, the First 5,000 Years” และละครโปรดักชันของนีล ไซมอนเรื่อง “Promises Promises” นอกจากนี้ ลูอิสยังได้แสดงประกบเมอริล สตรีพในละครโปรดักชันซัมเมอร์ของเชคสเปียร์ อิน เดอะ ปาร์คเรื่อง “Mother Courage and Her Children” อีกด้วย เธอได้หวนคืนสู่เวทีบรอดเวย์เพื่อรับบทมอเตอร์เมาธ์ เมย์เบลล์ในมิวสิคัลฮิตเรื่อง “Hairspray” และหลังจากนั้นเธอก็ได้นำแสดงในโปรดักชันที่ประสบความสำเร็จของละครเรื่อง “Hello Dolly!” ที่ฟิฟธ์ อะเวนิว เธียเตอร์
          ระหว่างการร่วมแสดงกับเบ็ทท์ มิดเลอร์ในฐานะหนึ่งในนักร้องแบ็คอัพฮาร์เล็ตต์ของเธอนั่นเองที่ฮอลลีวูด “เคาะประตู” เข้ามา หลังจากได้เข้าสู่ฮอลลีวูดแล้ว ลูอิสก็ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลเอ็นเอเอซีพี อิเมจ อวอร์ดสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากบทแม่ของทีนา เทิร์นเนอร์ใน “What’s Love Got to Do With It” และสำหรับภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดีเรื่อง “The Preacher’s Wife” ที่เธอแสดงประกบเดนเซล วอชิงตัน ทั้งสองเรื่องทำให้เธอได้รับการขนานนามอย่างน่ารักว่า “แบล็คมาเธอร์แห่งฮอลลีวูด”
          ลูอิสเลือกเวทีเป็นสถานที่ในการเปิดเผยอาการไบโพลาร์ของเธอด้วยการเขียนบทและนำแสดงในละครเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จเรื่อง “Bipolar Bath and Beyond” ก่อนจะออกรายการ “The Oprah Winfrey Show” เพื่อสนับสนุนให้มีการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
          ลูอิสรับอุปการะเด็กหญิงชาร์เมน ผ่านทางโครงการบิ๊ก บราเธอร์/บิ๊ก ซิสเตอร์ สาขาลอสแองเจลิส เธอเป็นผู้สนับสนุนและนักเคลื่อนไหวสำหรับการค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมและเอชไอวี/เอดส์

          ซิก ฮันเซน (พากย์เสียง แคร็บบี้) เกิดในเมืองซีแอตเติล, วอชิงตัน เขาเป็นคนแรกในครอบครัวที่เกิดในอเมริกา เขาเป็นชาวประมงรุ่นที่สี่และเป็นหนึ่งในกัปตันที่ได้ออกรายการ “Deadliest Catch” ทางช่องดิสคัฟเวอรี แชนแนล ฮันเซนเป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้องสามคน สเวอร์เร ฮันเซน พ่อของพวกเขา เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการจับปูอลาสก้าในอลาสก้าและเป็นผู้สร้างนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งเป็นเรือของครอบครัวขึ้นมา
          ปัจจุบัน ฮันเซนเป็นกัปตันและเป็นเจ้าของเรือนอร์ธเวสเทิร์นร่วมกับน้องชายสองคน เอ็ดการ์ ฮันเซนรับหน้าที่ต้นหนและนอร์แมน ฮันเซนรับหน้าที่กะลาสี ฮันเซนใช้ชีวิตอยู่ในซีแอตเติลกับจูน ภรรยาของเขาและลูกๆ สองคน

          วาเนสซา เร้ดเกรฟ (พากย์เสียงพระราชินีและมามา โทโปลิโน) และฟรังโก้ นีโร ผู้รับบทลุงโทโปลิโน ได้ร่วมแสดงด้วยกันครั้งล่าสุดในภาพยนตร์ซัมมิทเรื่อง “Letters to Juliet” (2010) ทั้งคู่ได้แสดงร่วมกันเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์ บรอส. เรื่อง “Camelot” ในปี 1967 ในบทกวิเนเวียร์และแลนสล็อต พวกเขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์อิตาลีหลายเรื่อง กับผู้กำกับหลายคนเช่นมิเกลันเจโล แอนโทนิโอนี, เอลิโอ เพทรีและทินโต แบรส ในภาพยนตร์เรื่อง “La Vacanza,” (1972) ที่กำกับโดยทินโต แบรส พวกเขาแสดงในภาษาอิตาเลียน สำเนียงเวเนเซีย
          เร้ดเกรฟได้แสดงภาพยนตร์หลายเรื่องเป็นภาษาอิตาลี เธอรับบทโวลุมเนียประกบราล์ฟ ไฟนส์ ในผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา “Coriolanus” ตัวแทนของประเทศอังกฤษในการเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2011

          ชีค มาริน (พากย์เสียง ราโมน) ที่โด่งดังที่สุดในฐษนะหนึ่งในคู่หูตลกเสียดสี แบบไม่มียั้ง ชีคและชอง เป็นความขัดแย้งในโลกบันเทิง เขาเป็นทั้งนักแสดง ผู้กำกับ มือเขียนบท นักดนตรี นักสะสมศิลปะและผู้ใจบุญ มีพรสวรรค์ อารมณ์ขันและความเฉลียวฉลาดมากพอที่จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น จนถึงวันนี้ ภาพยนตร์ของชีคและชองก็ยังคงติดอันดับหนึ่งของวิดีโอเช่าและมารินก็ได้รับการยอมรับในฐานะไอคอนด้านวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง
          มารินเกิดในวันที่ 13 กรกฎาคม ปี 1946 ในเซาธ์ เซ็นทรัล ลอสแองเจลิสและเติบโตมาในกรานาดา ฮิลส์ ชานเมืองในซานเฟอร์นันโด วัลลีย์ เขาชื่นชอบดนตรีมาโดยตลอด หลังจากเข้าศึกษาภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, นอร์ธริดจ์ เขาก็ออกมา “เพื่อแสวงหาประติมากรรมและหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร” ทั้งๆ ที่ขาดเพียงแปดหน่วยกิตก็จะสำเร็จการศึกษา อย่างไรก็ดี ในปี 2004 เขาก็ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากทางมหาวิทยาลัยด้วย
          มารินเป็นคนเชื้อสายเม็กซิกัน/อเมริกันรุ่นที่สาม เขาได้รับการยกย่องจากคุณูปการที่เขาทำให้กับชาวลาตินโดยอิมาเจน ฟาวน์เดชัน ด้วยรางวัลความสำเร็จสร้างสรรค์ปี 2000 และโดยเนชันแนล เคาน์ซิล ออฟ ราซา แอนด์ คราฟท์ ฟู้ดส์ ด้วยรางวัลอัลมา คอมมิวนิตี้ เซอร์วิส อวอร์ดปี 1999 ในปี 2007 เขาได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์สาขาศิลปกรรมศาสตร์สำหรับคุณูปการที่เขามีต่อศิลปะสร้างสรรค์จากวิทยาลัยโอทิส คอลเลจ ออฟ อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ และได้รับรางวัลเลกาซี อวอร์ด ฟอร์ อาร์ตส์ แอดโวเคซี จากสถาบันสมิธโซเนียน ลาติโน เซ็นเตอร์ ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดบริหารสมิธโซเนียน ลาติโน เซ็นเตอร์และกองทุนฮิสปานิค สกอร์ลาชิพ ฟันด์
มารินเป็นนักกอล์ฟที่มีอันดับระดับประเทศ ที่แข่งขันในแวดวงกอล์ฟการกุศล ผลิตภัณฑ์ซอสกูร์เมต์ของเขาได้รับการจำหน่ายไปทั่วประเทศ มารินแต่งงานกับนาตาชา มาริน (อดีตนาตาชา รูบิน) นักเปียโนคลาสสิกชาวรัสเซีย พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในมาลิบู, แคลิฟอร์เนีย
           เจฟฟ์ กอร์ดอน (พากย์เสียงเจฟฟ์ กอร์เว็ตต์) เป็นแชมเปี้ยนนาสการ์ คัพ ซีรีส์ สี่สมัย (1995, 1997, 1998, 2001) และเป็นผู้ชนะเลิศเดย์โทนา 500 สามสมัย (1997, 1999, 2005) เขาติดอันดับผู้ชนะตลอดกาลอันดับห้าด้วยสถิติชนะ 83 ครั้งและครองสถิติชนะบนท้องถนนเก้าครั้ง ไฮไลท์ในอาชีพนักแข่งรถของเขาได้แก่
          - ชนะเลิศการแข่งขันอินเดียนาโพลิส มอเตอร์ สปีดเวย์ บริคยาร์ด 400 สี่ครั้ง (1994, 1998, 2001, 2004)
          - ชนะเลิศการแข่งขันดาร์ลิงตัน เรซเวย์ เซาเธิร์น 500 ห้าครั้ง
          - ชนะเลิศการแข่งขัน 1997 วินสตัน มิลเลียน
          - ชนะเลิศการแข่งขันวินสตัน โน บุล ห้าล้านเหรียญ สี่ครั้ง
          - ชนะเลิศการแข่งขันนาสกาณ์ สปรินท์ ออลสตาร์ เรซ สามครั้ง (1995, 1997, 2001)
          - ครองสถิติสำหรับการแข่งขันที่มีการใส่แผ่นบังอากาศเข้าไป (12)

พอล ดูลีย์ (พากย์เสียงซาร์จ) ได้รับการค้นพบในปี 1977 หลังจากอยู่ในวงการมา 25 ปี และกลายเป็น “คนดังในชั่วข้ามคืน”
          ทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อ โรเบิร์ต อัลท์แมน ผู้กำกับคนดังเห็นเขาแสดงละครเวทีคอเมดีของจูลส์ ไฟเฟอร์เรื่อง “Hold Me” อัลท์แมน ผู้โด่งดังจาก “MASH” และ “Nashville” ได้เลือกดูลีย์ให้รับบทสามีของแครอล เบอร์เน็ตต์และพ่อของเจ้าสาวในภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขา “A Wedding” ในทันที
          หลังจากที่ได้แสดงนำในภาพยนตร์อีกเรื่องของอัลท์แมน “A Perfect Couple” ดูลีย์ก็ได้รับบทที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล การแสดงสุดฮาในบทคุณพ่อผู้ทุกข์ตรมในเรื่องราวการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แสนคลาสสิก “Breaking Away” ทำให้เขาได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมอย่างล้นหลาม และส่งให้เขาได้แสดงละครเวทีคอเมดีของจอห์น ฮิวจ์เรื่อง “Sixteen Candles” การแสดงบทพ่อที่น่าเห็นใจของมอลลี ริงวัลด์ทำให้เขาได้เป็นที่ชื่นชมของผู้ชมทุกกลุ่ม
          หลังจากนั้น ดูลีย์ก็กลายเป็นผู้ร่วมสร้างและหัวหน้าทีมเขียนบทของ “The Electric Company” รายการสำหรับเด็กที่ได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ดทางพีบีเอส ระหว่างนี้ ดูลีย์ก็ยังคงแสดงละครเวทีในนิวยอร์กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงบทที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงขของเขา เคซีย์ สเตนเกลในละครเดี่ยวเกี่ยวกับชีวิตของโค้ชเบสบอลที่พิลึกคน
          ในช่วงหลายปีให้หลัง ดูลีย์ได้หันไปใช้พรสวรรค์ของเขากับงานเขียนบท ด้วยการร่วมมือกับ อดัม ลูกชายของเขาในเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเขาในเวสต์ เวอร์จิเนีย ปัจจุบัน เขากำลังหาทุนเพื่อนำเรื่องราวส่วนตัวนี้ขึ้นสู่จอเงิน ขณะนี้เขากำลังอยู่ระหว่างการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องที่สอง ดูลีย์ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิสกับภรรยาของเขา วินนี โฮลซ์แมน ซึ่งเป็นนักเขียนด้วยเช่นเดียวกัน ดูลีย์มีลูกสี่คน คือโรบิน อดัม ปีเตอร์และซาวันนาห์ และเขาก็มีหลานสามคน

          แคทเธอรีน เฮลมอนด์ (พากย์เสียงลิซซี) เกิดในวันที่ 5 กรกฎาคม ปี 1928 ในกัลเวสตัน, เท็กซัส เธอได้รับการเลี้ยงดูโดยเธลมา มาโลน แม่ของเธอและยายของเธอ ทั้งคู่เป็นไอริช คาธอลิค เฮลมอนด์เข้าศึกษาที่โรงเรียนคาธอลิคและได้แสดงละครเวทีและร่วมประกวดในการแข่งขันของโรงเรียนหลายครั้ง ระหว่างที่ยังเรียนไฮสคูลอยู่ เธอก็ได้รับงานที่โรงละครท้องถิ่น ในการช่วยซ่อมแซมฉาก ทำความสะอาดห้องน้ำและดึงผ้าม่าน
          ด้านจอเงิน เธอได้นำแสดงใน “Brazil”ในบทแม่ของโจนาธาน ไพรซ์ ผู้เสพติดการศัลยกรรมความงามและเข้าไปยุ่งกับชีวิตที่ยุ่งเหยิงของลูฏชาย ในปี 1983 เธอได้ศึกษาเวิร์คช็อปการกำกับที่สถาบันภาพยนตร์อเมริกัน และได้กำกับสี่เอพิโซดของซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง “Benson” และ “Who’s the Boss” นอกจากนี้ เธอยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีจากบทนา โรบินสัน คุณยายหัวใหม่ใน “Who’s the Boss” และบทโลอิสใน “Everybody Loves Raymond” อีกด้วย
          แม้ว่าเฮลมอนด์จะขึ้นชื่อว่าเป็นดาราจอแก้วตั้งแต่ “Soap” แต่เธอก็ยังคงมีผลงานละครเวทีอย่างต่อเนื่องในยุค 2000s และได้รับการยกย่องจากการแสดงของเธอใน “Vagina Monologues” เฮลมอนด์ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส และมีบ้านอยู่ในนิวยอร์กด้วยเช่นกัน

FB on July 13, 2011, 01:02:21 PM
ประวัติทีมผู้สร้าง
          จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ (ผู้กำกับ เรื่องราวดั้งเดิมโดย) เป็นผู้กำกับที่เคยได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดมาแล้วสองครั้งและทำการดูแลภาพยนตร์ทุกเรื่องรวมถึงโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของพิกซาร์และดิสนีย์ ลาสเซ็ทเตอร์เปิดตัวผลงานการกำกับครั้งแรกในปี 1995 ด้วยเรื่อง “Toy Story” ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์อนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรก นับตั้งแต่นั้นมา เขาก็ได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “A Bug’s Life,” “Toy Story 2” และ “Cars”
          ผลงานการควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ของเขาได้แก่ “Monsters, Inc.,” “Finding Nemo,” “The Incredibles,” “Ratatouille,” “WALL•E,” “Bolt” และภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมเมื่อปีที่แล้วเรื่อง “Up” ที่เป็นภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องแรกที่ได้รับเกียรติให้เป็นภาพยนตร์เปิดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รับสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ดในสาขาภาพยนตร์อนิเมชันยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบยอดเยี่ยมอีกด้วย นอกจากนี้ ลาสเซ็ทเตอร์ยังทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างในภาพยนตร์ดิสนีย์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์เรื่อง “The Princess and the Frog” และ “Tangled” รวมไปถึงภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาภาพยนตร์อนิเมชันยอดเยี่ยมและเพลงประกอบภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมเรื่องล่าสุดของดิสนีย์และพิกซาร์ “Toy Story 3” ซึ่งสร้างขึ้นจากเรื่องราวโดยลาสเซ็ทเตอร์, แอนดรูว์ สแตนตันและลี อังค์ริช
          ลาสเซ็ทเตอร์ได้เขียนบท กำกับและสร้างอนิเมชันให้กับภาพยนตร์ขนาดสั้นช่วงเริ่มแรกหลายเรื่องให้กับพิกซาร์ ซึ่งรวมถึง “Luxo Jr.,” “Red’s Dream,” “Tin Toy” และ “Knickknack” “Luxo Jr.” เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์อนิเมชันสามมิติเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเมื่อมันได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1986 ส่วน “Tin Toy” เป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์ อนิเมชันสามมิติเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเมื่อมันคว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1988 มาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้ เขายังได้ทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้นทุกเรื่องของสตูดิโอนับตั้งแต่นั้นมา เช่น “Boundin’,” “One Man Band,” “Lifted,” “Presto,” “Partly Cloudy,” “Day & Night” และภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Geri’s Game” (1997) และ “For the Birds” (2000)
          ภายใต้การดูแลของเขา ภาพยนตร์อนิเมชันและภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นของพิกซาร์ได้รับรางวัลเกียรติยศจากนักวิจารณ์และจากวงการภาพยนตร์มากมาย เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาความสำเร็จพิเศษในปี 1995 จากความเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงาน “Toy Story” นอกจากนี้ เขาและทีมงานเขียนบทของ “Toy Story” ยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลในสาขานี้อีกด้วย
          ในปี 2009 ลาสเซ็ทเตอร์ได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งชีวิตสิงโตทองคำจากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสครั้งที่ 66 ในปีถัดมา เขากลายเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อนิเมชันคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณเดวิด โอ. เซลส์นิคสาขาภาพยนตร์ จากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกา รางวัลอื่นๆ ที่ลาสเซ็ทเตอร์ได้รับได้แก่รางวัลคุณูปการต่อภาพของภาพยนตร์จากสมาพันธ์ผู้กำกับศิลป์ในปี 2004, ปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน และรางวัล 2008 วินเซอร์ แม็คเคย์ อวอร์ดจากเอเอสไอเอฟเอ-ฮอลลีวูด สำหรับความสำเร็จและคุณูปการที่เขามีต่ออนิเมชัน
          ก่อนหน้าการก่อตั้งพิกซาร์ขึ้นในปี 1986 ลาสเซ็ทเตอร์เป็นสมาชิกแผนกคอมพิวเตอร์ในลูคัสฟิล์ม ลิมิเต็ด ที่ซึ่งเขาได้ออกแบบและสร้างอนิเมชันภาพยนตร์เรื่อง “The Adventures of Andre and Wally B” ซึ่งเป็นภาพยนตร์คอมพิวเตอร์อนิเมชันสามมิติจากตัวละครเรื่องแรกและสร้างอนิเมชันของตัวละครอัศวินกระจกแก้วในภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดยสตีเวน สปีลเบิร์กในปี 1985 เรื่อง “Young Sherlock Holmes”
          ลาสเซ็ทเตอร์ได้เข้าศึกษาหลักสูตรอนิเมชันตัวละครที่แคลอาร์ต และได้รับปริญญาตรีสาขาภาพยนตร์จากที่นั่นในปี 1979 ระหว่างที่เขาศึกษาที่แคลอาร์ต ลาสเซ็ทเตอร์ได้รับสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ดนักศึกษาสาขาอนิเมชันจากผลงานนักศึกษาเรื่อง “Lady and the Lamp” (1979) และ “Nitemare” (1980) ลาสเซ็ทเตอร์ได้รับรางวัลเป็นครั้งแรกเมื่ออายุห้าขวบ เมื่อเขาได้รับเงินรางวัล 15 เหรียญจากโมเดล โกรเซอรี มาร์เก็ตในวิทเทียร์, แคลิฟอร์เนีย จากภาพวาดระบายสีคนขี่ม้าไร้หัว

          แบรด ลูอิส (ผู้กำกับร่วม เรื่องราวดั้งเดิมโดย) เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2001 ด้วยประสบการณ์ 20 ปีในจอเงิน ละครเวที จอแก้วและโฆษณา ลูอิสเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Ratatouille” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลผู้อำนวยการสร้างแห่งปีสำหรับภาพยนตร์อนิเมชันจากสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกา
          ก่อนหน้าพิกซาร์ ลูอิสได้ทำงาน 13 ปีในตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง ผู้ควบคุมงานสร้างและรองประธานบริหารฝ่ายงานสร้างที่แปซิฟิค ดาต้า อิเมจิส ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดรีมเวิร์คส์ อนิเมชัน เอสเคจี เขาเป็นผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง “ANTZ” และผลงานภาพยนตร์ส่วนหนึ่งของเขาได้แก่ “Forces of Nature,” “The Peacemaker” และ “Broken Arrow”
          ลูอิสได้อำนวยการสร้างรายการพิเศษทางโทรทัศน์หลายเรื่องเช่น “The Last Halloween” โดยฮันนา-บาร์เบรา ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลเอ็มมีและเอพิโซด 3D แรกของ “The Simpsons” เขาได้รับรางวัลเอ็มมีครั้งที่สองจากงานออกแบบกราฟฟิคที่ใช้ในรายการ “Monday Night Football” ทางเอบีซี ผลงานการสร้างโฆษณาที่โดดเด่นของลูอิสทำให้เขาได้รับรางวัลคลิโอสองครั้ง
          ลูอิสได้เข้าสู่วงการบันเทิงครั้งแรกจากการเป็นผู้ช่วยส่วนตัวใน “The Merv Griffin Show” และเขาก็ได้ขึ้นเวทีแสดงบทสัตว์ประหลาดเต้นระบำในละครเรื่อง “Sesame Street Live!” อีกด้วย
          ลูอิสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการละครจากมหาวิทยาลัยเฟรสโน และใช้ชีวิตอยู่ในซานคาร์ลอส, แคลิฟอร์เนีย กับภรรยา ลูกชายและลูกสาว เขาได้ทำหน้าที่นายกเทศมนตรีของเมืองในปี 2008
          เดนิส รีม (ผู้อำนวยการสร้าง) ได้เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนตุลาคม ปี 2006 ในตำแหน่งผู้ช่วยอำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Up” ในฐานะผู้ช่วยอำนวยการสร้าง เธอได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้อำนวยการสร้างของเรื่อง เพื่อจัดการตารางทำงาน งบประมาณ และทีมงาน ปัจจุบัน รีมกำลังทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ดิสนีย์/พิกซาร์เรื่อง “Cars 2” ที่มีกำหนดจะเข้าฉายในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2011
          รีมได้รับแรงบันดาลใจที่จะทำงานในสายงานสร้างจากภาพยนตร์เรื่อง “Apocalypse Now,” “Lawrence of Arabia,” “Gone With the Wind” และ “The Wizard of Oz” ด้วยแรงกระตุ้นจากความสนใจในการสร้างและควบคุมฝ่ายโลจิสติกของงานสร้างภาพยนตร์อีพิคแบบนั้น รีมจึงเริ่มต้นการทำงานในลอสแองเจลิส ในตำแหน่งผู้ช่วยงานสร้างในภาพยนตร์ทุนต่ำ โฆษณา มิวสิค วิดีโอและภาพยนตร์ทุนหนา
          เธอเข้าสู่แวดวงงานสร้างภาพยนตร์ด้วยการทำงานในบอส ฟิล์ม สตูดิโอส์ บริษัทวิชวล เอฟเฟ็กต์ที่สร้างขึ้นตามแบบอินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค ที่เชี่ยวชาญด้านเอฟเฟ็กต์ 65 ม.ม. เป็นพิเศษ รีมเริ่มต้นทำงานที่บอสเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อก่อนที่จะไปลงเอยที่งานผู้อำนวยการสร้างโฆษณา ระหว่างที่เธอทำงานที่บอสนั้นเองที่เธอได้ตกหลุมรักงานอนิเมชันและเอฟเฟ็กต์
          หลังจากทำงานที่บอสห้าปี รีมก็ได้ทำงานที่อินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค ที่ซึ่งเธอทำงานฝ่ายงานสร้างนาน 13 ปี เธอเริ่มต้นทำงานเป็นผู้อำนวยการสร้างในแผนกโฆษณาก่อนจะขยับไปจับงานภาพยนตร์อย่างรวดเร็ว ระหว่างที่เธอทำงานที่นั่น เธอได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์และอนิเมชันในภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง “Daylight,” “Eraser,” “Deep Impact,” “Amistad,” “The Adventures of Rocky and Bullwinkle,” “Harry Potter and the Sorcerer’s Stone,” “Timeline” และ “Tears of the Sun” นอกจากนี้ เธอยังรับหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์และอนิเมชันใน “Star Wars: Episode III—Revenge of the Sith” และใช้เวลาในปีสุดท้ายที่ไอแอลเอ็มไปกับการทำหน้าที่ผู้บริหารที่ดูแลงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Mission Impossible 3,” “Pirates of the Caribbean: Dead Man’s Chest,” “Lady in the Water” และ “Transformers”
รีมเกิดและเติบโตในลอสแองเจลิส, แคลิฟอร์เนีย เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์คลีย์ ปัจจุบัน เธอใช้ชีวิตอยู่ในมิลล์ วัลลีย์, แคลิฟอร์เนีย

          เบน ควีน (บทภาพยนตร์โดย) เริ่มเขียนบทให้กับภาพยนตร์ช่วงซัมเมอร์ของดิสนีย์และพิกซาร์เรื่อง “Cars 2” ในปี 2008 “Cars 2” ที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวโดยจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์, แบรด ลูอิสและแดน โฟเกลแมน เป็นโปรเจ็กต์แรกที่ควีนได้ร่วมงานกับพิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์
          ควีนเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Art of Cars 2” กับคาเรน เพ็ค โดยมีคำนิยมเขียนโดยจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ ผู้กำกับของเรื่อง
ควีนเป็นผู้สร้างและผู้ควบคุมงานสร้างซีรีส์ทางฟ็อกซ์เรื่อง “Drive” และเขาก็ได้รับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างที่คอยให้คำปรึกษาซีรีส์ซีบีเอสเรื่อง “Century City” เขาได้พัฒนาตอนไพล็อตร่วมกับเอ็นบีซี, เอบีซีและฟ็อกซ์และได้เขียนบทภาพยนตร์ให้กับสตูดิโอหลายแห่ง รวมถึงวอร์เนอร์ บรอส., นิวไลน์, ดรีมเวิร์คส์และยูนิเวอร์แซล
          ควีนสำเร็จการศึกษาจากยูเอสซี สคูล ออฟ ซีเนมา-เทเลวิชันและปัจจุบัน ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิสกับครอบครัว

          ไมเคิล จิอัคคิโน (คอมโพสเซอร์) เริ่มต้นอาชีพในแวดวงภาพยนตร์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบในสวนหลังบ้านของเขา และท้ายที่สุด เขาก็ได้ไปเรียนการสร้างภาพยนตร์ที่สคูล ออฟ วิชวล อาร์ตส์ในนิวยอร์ก ซิตี้ หลังจากสำเร็จการศึกษา เขาก็ได้ทำงานการตลาดที่ดิสนีย์และเริ่มศึกษาด้านการประพันธ์ดนตรีที่จูเลียร์ด ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ยูซีแอลเอ จากการตลาด เขาก็ได้กลายเป็นผู้อำนวยการสร้างในแผนกดิสนีย์ อินเตอร์แอ็คทีฟ ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ ที่ซึ่งเขาสามารถจ้างตัวเองให้แต่งดนตรีสำหรับวิดีโอเกมของพวกเขาได้ ผลงานของเขาได้รับความสนใจจากสตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้บอกว่า “ผมทำในสิ่งที่คนสติดีทุกคนจะทำ นั่นคือผมเลือกเขาให้มาแต่งดนตรีประกอบ ‘Medal of Honor’ และประวัติที่เหลือของจิอัคคิโน ก็เกิดขึ้นจากตัวเขาเอง”
          ผลงานของไมเคิลในการแต่งดนตรีประกอบวิดีโอเกมเป็นที่สนใจของเจเจ อับรามส์ ผู้ติดต่อเขาผ่านทางอีเมล์เพื่อคุยถึงความเป็นไปได้ในการแต่งดนตรีประกอบซีรีส์ “Alias” พวกเขาได้พบกัน เขาได้งานนี้ และความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาก็เกิดขึ้น และนำไปสู่ผลงานของเขาในซีรีส์น่าทึ่งเรื่อง “Lost” ที่ทำให้เขาได้รับรางวัลเอ็มมี
          เขาได้เปิดตัวในโลกการแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นครั้งแรกจาก “The Incredibles” หลังจากนั้น เขาก็ได้แต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ฮิตในบ็อกซ์ออฟฟิศหลายเรื่องเช่น “Sky High,” “The Family Stone,” “Mission: Impossible III,” “Ratatouille” และ “Star Trek” เมื่อปีที่แล้ว ดนตรีประกอบที่เขาแต่งให้กับภาพยนตร์ฮิตของดิสนีย์/พิกซาร์เรื่อง “Up” ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ หลังจากที่เขากวาดรางวัลจากเรื่องนี้มาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลลูกโลกทองคำ รางวัลบาฟตา รางวัลคริติกส์ ชอยส์ อวอร์ดและสองรางวัลแกรมมี อวอร์ด
          จิอัคคิโนเพิ่งเสร็จสิ้นจากการทำงานใน “Super 8” โดยเจเจ อับรามส์ และผลงานต่อจากนี้ของเขาได้แก่ “Mission Impossible: Ghost Protocol” ที่กำกับโดยแบรด เบิร์ด และ “John Carter” ที่กำกับโดยแอนดรูว์ สแตนตัน
          เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเอ็ดดูเคชัน ธรู มิวสิค ลอสแองเจลิส

          นาธาน สแตนตัน (ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายเรื่องราว) เริ่มต้นทำงานที่พิกซาณ์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนมิถุนายน ปี 1998 ในตำแหน่งนักวาดภาพเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องที่สองของพิกซาร์ “A Bug’s Life” และได้ทำงานกับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จของสตูดิโอหลายเรื่องนับแต่นั้น สแตนตันได้มีส่วนร่วมในการเขียนสตอรีบอร์ดในภาพยนตร์เรื่อง “Toy Story 2,” “Monsters, Inc.,” และบรรดาภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดทั้งหลายได้แก่ “Finding Nemo,” “Ratatouille” และ “WALL•E”
ก่อนหน้าการทำงานใน “Cars 2” สแตนตันเป็นส่วนหนึ่งของทีมเรื่องราวสำหรับภาพยนตร์พิกซาร์ที่จะเข้าฉายในช่วงซัมเมอร์ปี 2012 เรื่อง “Brave” ปัจจุบัน เขากำลังอยู่ระหว่างการทำงานในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ขนาดสั้น
          ในแผนกเรื่องราว สแตนตันและทีมงานของเขาร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับผู้กำกับและมือเขียนบทของเรื่อง (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นคนๆ เดียวกัน) เพื่อสร้างตัวเรื่องราวขึ้นมา ทีมงานได้วาดภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาทีละฉากๆ ผ่านทางสตอรีบอร์ดและได้จัดการเรื่องของการแสดง การจัดฉาก การคอมโพส และการลำดับภาพเพื่อสร้างตัวภาพยนตร์ขึ้นมาก่อนที่มันจะเคลื่อนไหวได้ ฟิล์มภาพเรื่องราวที่ถูกสร้างนั้นก็จะถูกฉายให้ทีมอื่นๆ ที่พิกซาร์ได้ดู ก่อนจะมีการปรับปรุง แก้ไขเพื่อทำให้เรื่องราวแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
          สแตนตันก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่เติบโตขึ้นมากับการดูการ์ตูน ภาพยนตร์ ภาพยนตร์อนิเมชันและอ่านหนังสือการ์ตูน เขาเริ่มต้นวาดภาพตั้งแต่ยังเด็กและเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็เริ่มรู้ตัวว่าเขาอยากจะทำงานเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ สแตนตันก็เหมือนกับเพื่อนๆ พิกซาร์หลายคน ที่ยินดีกับการค้นพบเส้นทางในการทำให้ความฝันในการได้วาดภาพของตัวเองเป็นจริงที่สถาบันแคลอาร์ตส์
          สแตนตันย้ายไปซานฟรานซิสโกในปี 1992 และไม่นานเขาก็ได้รับตำแหน่งอนิเมเตอร์ผู้ช่วย 2D ใน The Nightmare Before Christmas” ที่สแคลลิงตัน โปรดักชันส์ หลังจากนั้น เขาก็ได้ทำงานในโคลอสซัล พิคเจอร์ส ในโปรเจ็กต์อนิเมชัน 2D หลายเรื่อง หลังจากนั้น สแตนตันก็ได้กลับไปทำงานที่สแคลลิงตัน โปรดักชันส์อีกครั้งใน “James and the Giant Peach” หลังจากที่ได้ทำงานระยะสั้นที่ไวลด์ เบรน สตูดิโอส์ สแตนตันก็ได้ทำงานที่พิกซาร์
          สแตนตันเกิดและเติบโตในร็อคพอร์ต, แมสซาซูเซทส์ เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาศิลปกรรม อนิเมชันตัวละครจากแคลอาร์ตส์ในปี 1992 ปัจจุบัน เขาใช้ชีวิตอยู่ในโอ๊คแลนด์, แคลิฟอร์เนีย กับภรรยาและลูกๆ สองคนของเขา

          ฮาร์ลีย์ เจสซัพ (ผู้ออกแบบงานสร้าง) เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนพฤษภาคม ปี 1996 ในตำแหน่งผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ปี 2001 เรื่อง “Monster’s Inc” เจสซัพยังคงทำหน้าที่นี้ในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Ratatouille” ในฐานะผู้ออกแบบงานสร้าง เจสซัพได้ควบคุมทีมนักวาดภาพ ผู้สร้างและออกแบบฉากและตัวละครสำหรับภาพยนตร์แต่ละเรื่อง
          เจสซัพเริ่มต้นการทำงานในแวดวงอนิเมชันด้วยการออกแบบ “The Adventures of Thelma Thumb” ให้กับ “Sesame Street” ซึ่งเป็นเหมือนแพลทฟอร์มการฝึกฝนผลงานของเขาในฐานะผู้ออกแบบงานสร้างใน “Twice Upon a Time” ภาพยนตร์อนิเมชันที่สร้างจากกระดาษ หลังจากนั้น เขาก็ไปทำงานที่ลูคัสฟิล์มในตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ในภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันหลายเรื่องก่อนที่จะเข้าทำงานในอินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ เมจิค (ไอแอลเอ็ม) ในปี 1986 ระหว่างทำหน้าที่ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ที่ไอแอลเอ็ม เขาก็ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจากผลงานของเขาใน “Innerspace” และได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดจาก “Hook” หลังจากทำหน้าที่ผู้กำกับฝ่ายครีเอทีฟในแผนกศิลปะที่ไอแอลเอ็มแล้ว เจสซัพก็ได้ทำหน้าที่ผู้ออกแบบงานสร้างให้กับภาพยนตร์อนิเมชันของดิสนีย์เรื่อง “James and the Giant Peach” ก่อนที่เขาจะเข้าทำงานที่พิกซาร์
          ก่อนหน้าการออกแบบภาพยนตร์ เจสซัพเคยเขียนบทและวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กสามเรื่องคือ “What’s Alice Up To?” (1997) และ “Grandma Summer” (2000) ที่ตีพิมพ์โดยไวกิ้ง ชิลเดรนส์ บุ๊คส์และ “Welcome to Monstropolis” (2001) ที่มีเค้าโครงจากภาพยนตร์พิกซาร์เรื่อง “Monsters, Inc.”
          เจสซัพเกิดในโอเรกอน เขาเติบโตขึ้นมาในย่านซาน วาควิน วัลลีย์และเบย์ แอเรียในแคลิฟอร์เนีย เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปกรรม ออกแบบกราฟฟิคจากมหาวิทยาลัยโอเรกอนในปี 1976 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการออกแบบจากสแตนฟอร์ดในปี 1978 ปัจจุบัน เจสซัพใช้ชีวิตอยู่ในมาริน เคาน์ตี้, แคลิฟอร์เนีย กับภรรยาและลูกๆ

          ชารอน คาลาฮัน (ผู้กำกับภาพ ฝ่ายแสง) เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในปี 1994 ในตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายแสงในภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องแรกของสตูดิโอ “Toy Story” หลังจากนั้น เธอก็ได้ทำงานเป็นผู้กำกับภาพใน “A Bug's Life,” “Toy Story 2” และ “Finding Nemo” นอกจากนั้น เธอยังได้รับหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Ratatouille” อีกด้วย
คาลาฮันรู้ตั้งแต่เธออายุสามขวบแล้วว่าเธออยากเป็นนักวาดภาพให้กับดิสนีย์ เธอได้ศึกษาด้านการออกแบบกราฟฟิค การวาดภาพประกอบและการถ่ายภาพ หลังจากสำเร็จการศึกษา เธอก็ทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับสถานีโทรทัศน์และงานผลิตวิดีโอ ก่อนหน้าทำงานที่พิกซาร์ เธอทำงานเป็นผู้กำกับฝ่ายแสงที่แปซิฟิค ดาตา อิเมจิส โดยเธอได้ทำงานโฆษณา ซีรีส์โทรทัศน์เรื่องยาวและบรรจุภัณฑ์ที่มีลวดลายกราฟฟิค
คาลาฮันได้นำเสนอพรีเซนเทชันและสอนคลาสต่างๆ ในเรื่องการให้แสงตัวละคร การให้แสงช็อต การให้แสงโดยรวมและการวาดภาพด้วยแสงและคอมโพซิชันโดยรวม ทั้งที่พิกซาร์และสถาบันอื่นๆ

          เจเรมี ลาสกี้ (ผู้กำกับภาพ ฝ่ายกล้อง) เริ่มต้นทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนสิงหาคม ปี 1997 ในฐานะนักวาดภาพเลย์เอาท์ใน “A Bug’s Life” หลังจากนั้น เขาก็ได้ทำงานในแผนกเลย์เอาท์ใน “Toy Story 2” และ “Monsters, Inc.” ลาสกี้ได้ทำหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำเรื่อง “Cars” และภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “Finding Nemo,” “WALL•E” และ “Toy Story 3”
          ลาสกี้เติบโตขึ้นในเซนต์หลุยส์, มิสซูรี เขาพบแรงบันดาลใจงานสร้างสรรค์ช่วงแรกๆ จากภาพยนตร์และรายการไซไฟเช่น “Battlestar Galactica” และ “Star Wars” เขาได้ค้นพบความรักในการสร้างภาพยนตร์และความสนใจในศาสตร์การถ่ายทำระหว่างที่ศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
          ลาสกี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปกรรมศาสตร์จากโร้ด ไอส์แลนด์ สคูล ออฟ ดีไซน์และตอนนี้ที่เขารับหน้าที่ผู้กำกับภาพฝ่ายกล้อง เขาทำหน้าที่สร้างช็อตและซีเควนซ์ที่บอกเล่าเรื่องราว พร้อมๆ กับสนับสนุนด้านภาพและขับเน้นธีมในเรื่อง ลาสกี้และครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในเบย์ แอเรีย

          เจย์ ชูสเตอร์ (ผู้กำกับศิลป์ฝ่ายตัวละคร) เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนกันยายน ปี 2002 ในตำแหน่งนักออกแบบคอนเซ็ปต์ในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำเรื่อง “Cars” ซึ่งเขาได้แปลงไอเดียของผู้กำกับจอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ให้กลายเป็นตัวละครและสิ่งแวดล้อมสำหรับภาพยนตร์เรื่องนั้น หลังจากนั้น ชูสเตอร์ก็ได้ทำงานเป็นนักออกแบบตัวละครให้กับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเรื่อง “WALL•E”
          ชูสเตอร์เป็นลูกชายของนักออกแบบรถ ห้องนอนสมัยเด็กๆ ของชูสเตอร์ก็เลยเต็มไปด้วยแบบพิมพ์เขียว ภาพวาด โปสเตอร์ เครื่องยนต์และแบบโมเดลของทุกสิ่งที่เกี่ยวกับยานพาหนะเครื่องจักรกลแทบทุกแบบ อย่างไรก็ดี เขาได้มาคิดเชื่อมโยงระหว่างความชื่นชอบของเขาและอนาคตที่เป็นไปได้ในแวดวงภาพยนตร์ก็เมื่อเขาได้ดู “Star Wars” ภาคแรกนั้นเอง
          ก่อนหน้าที่จะทำงานในพิกซาร์ ชูสเตอร์เริ่มทำงานที่ลูคัสฟิล์ม ที่ซึ่งเขาทำงานเป็นนักวาดภาพคอนเซ็ปต์ ในตำแหน่งนี้ เขาได้ออกแบบยานพาหนะและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายให้กับ “Star Wars: Episode I – The Phantom Menace” และ “Star Wars: Episode II – Attack of the Clones”
          ชูสเตอร์เกิดและเติบโตในเบอร์มิงแฮม, มิชิแกน เขาสำเร็จการศึกษาในปี 1993 จากหลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรมที่คอลเลจ ฟอร์ ครีเอทีฟ สตัดดีส์ในดีทรอยท์ ปัจจุบัน เขาใช้ชีวิตอยู่ในเอล เซอร์ริโต, แคลิฟอร์เนีย ที่อยู่ตรงข้ามกับอ่าวจากซานฟรานซิสโก

          เจย์ วอร์ด (ผู้ดูแลแฟรนไชส์ “Cars”) เข้าทำงานที่พิกซาร์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ในเดือนธันวาคม ปี 1998 ในตำแหน่งผู้ช่วยงานสร้างในแผนกศิลป์ในภาพยนตร์ปี 2001 เรื่อง “Monsters, Inc.” ไม่นานหลังจากนัน เขาก็ได้รับการเลื่อนขั้นให้เป็นผู้ประสานงาน และในปี 2001 เขาก็เริ่มต้นงานพัฒนาช่วงเริ่มแรกของภาพยนตร์ปี 2006 เรื่อง “Cars” ระหว่างการถ่ายทำ “Cars” ความรู้เรื่องรถยนต์ของเขาทำให้เขามีบทบาทอื่นๆ ในเรื่องด้วย ซึ่งรวมถึงผู้จัดการฝ่ายตัวละครและที่ปรึกษาของผู้กำกับและผู้กำกับร่วมของเรื่อง จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์และโจ แรนท์ วอร์ดยังคงใช้ความกระตือรือร้นในเรื่องรถและความรักในงานศิลป์ไปกับการสร้างทุกสิ่งทุกอย่างภายในขอบเขตแฟรนไชส์ของ “Cars”
          ก่อนหน้าพิกซาร์ วอร์ดประจำการอยู่ในกองกำลังสำรองของนาวีสหรัฐ และเข้าศึกษาที่แคลอาร์ตส์ ก่อนจะสำเร็จการศึกษาสาขาศิลปกรรม วาดภาพประกอบในปี 1993 แบ็คกราวน์ด้านอาชีพที่หลากหลายของเขาได้แก่เด็กเสิร์ฟสมัยไฮสคูล คนส่งสัญญาในนาวีสหรัฐฯ ผู้เติมน้ำมันเครื่องบิน ผู้จัดการแผนกอะไหล่ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน และนักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์ ประสบการณ์ที่หลากหลายเหล่านี้ทำให้เขามีโอกาได้ใช้ประโยชน์จากทักษะด้านการรู้จักผู้คน การร่วมมือและความสร้างสรรค์ในการทำงานอย่างประสบความสำเร็จที่พิกซาร์
ปัจจุบัน วอร์ดใช้ชีวิตอยู่ในโอ๊คแลนด์, แคลิฟอร์เนีย กับภรรยาและลูกสองคน

FB on September 25, 2011, 01:49:38 PM
“จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์” จัดเต็ม ดึง เสน่ห์การแข่งรถ บวกความตื่นเต้นแวดวงสายลับระดับโลก ใส่ “คาร์ส 2” สายลับสี่ล้อ..ซิ่งสนั่นโลก


 
          “คาร์ส 2” สายลับสี่ล้อ..ซิ่งสนั่นโลก จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์ ผกก. สารภาพว่า...เขาอยาก จะบอกเล่าเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่ง กับตัวละครพวกนี้ ที่เขาและผู้ชมรัก และไอเดียสำหรับ “Cars 2” ก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนที่งานสร้างภาพยนตร์จะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก

          “จาก ‘Cars’ ที่เรากำลังพัฒนาความสัมพันธ์ของ ไลท์นิง แม็คควีน ที่เขาพา แซลลี รถปอร์เช สุดสวย แฟนสาวไปออกเดทครั้งแรกที่โรงหนังไดรฟ์อิน เพราะมันเกี่ยวข้องกับรถ แล้วพอเราคิดถึง คาร์ส 2 ตอบตามตรง...ผมชอบหนังสายลับเอามากๆ และมันคงน่าสนุกถ้าจะได้เห็นว่า หนังสายลับ จะออกมาเป็นยังไงในโลกของรถยนต์ เราคิดตัวละครชื่อ ฟินน์ แม็คมิสไซล์ เพิ่มเติมเพื่อหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ….ผมเป็นแฟนหนังสายลับครับ ผมโตขึ้นมากับการดูซีรีส์ ‘The Man from U.N.C.L.E.’ และลูกชาย 5 คนของผมกับตัวผมก็ชอบดูหนังสายลับด้วยกัน เราได้ดูซีรีส์ ‘Bourne’ เป็นร้อยๆ รอบเลยครับ ดังนั้นแม้ว่าในฉากต่างๆ จะมีเปลี่ยนไปบ้างทั้งของไลท์นิงและแซลลี ผมก็ไม่เคยลืมไอเดียของฟินน์ แม็คมิสไซล์ และหนังสายลับเลย ผมคิดในใจว่า 'มันมีศักยภาพเยอะนะ...แล้วมันน่าตื่น เต้นมาก กับการที่จะได้พาเมเตอร์ไปรอบโลก และนำเขาเข้าไปสู่สถานการณ์ที่จะแสดงให้เห็นถึงเอก ลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ส่วนที่สองของเรื่องราวได้รับการจุดประกายขึ้นมา ในตอนที่ผมเดินทางอยู่ครับ ผมมีภาพตัวละครทั้งหมดในหัว แล้วผมก็มักจะหัวเราะกับตัวเองเสมอ ในตอนที่ผมอยู่ในประเทศต่างๆ เหล่านั้น และจินตนาการถึงว่าเมเตอร์จะทำตัวยังไงในสถานการณ์ต่างๆ หรือประเทศต่างๆ ตอนที่ผมอยู่ในปารีส ผมก็จะจินตนาการว่า เมเตอร์จะวนรอบวงเวียนที่ ประตูชัย อาร์ค เดอ ทริออมป์ ยังไง มันไม่มีสัญญาณแถมไม่มีเส้นแบ่งเลนอีกต่างหาก เมเตอร์จะทำยังไงกับการต้องขับขี่ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับท้องถนนในลอนดอน เมเตอร์จะทำยังไงถ้าไปหลงทางในท้องถนนที่ซับซ้อนของกรุงโตเกียว ที่ไม่มีป้ายจราจรเป็นภาษาอังกฤษเลย แล้วเมเตอร์จะทำยังไงในอิตาลีที่ซึ่งสัญญาณไฟจราจรเป็นเพียงแค่ข้อเสนอแนะน่ะครับ แค่คิดมันก็ขำแล้วครับ” จอห์น ผกก. นอกเหนือจากโอกาสในการได้นำตัวละครเหล่านี้ไปทั่วโลก พร้อมกับการได้สำรวจโลกรถแข่งพร้อมกับเนื้อหาของหนังสายลับระดับโลกแล้ว สิ่งที่ ลาสเซ็ทเตอร์ ( ผกก ) ชื่นชอบมากที่สุด คือหัวใจและอารมณ์ขัน ที่ปรากฏในตัวละครและเรื่องราวของ “คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ ซิ่งสนั่นโลก”

          แอนิเมชั่นระดับโลก ผลงานหนังเรื่องล่าสุดจาก วอลท์ ดิสนีย์ + พิกซาร์
          ออกสตาร์ทพร้อมกัน ทุกโรงภาพยนตร์ 29 กันยายนนี้

FB on October 08, 2011, 02:52:35 PM
“Cars 2” เปิดตัวแรง โดนใจแฟนๆ 4 วัน กวาดรายได้ไป 20 ล้าน




          “CARS 2” สายลับสี่ล้อ..ซิ่งสนั่นโลก แอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องเยี่ยมผลงานหนังเรื่องล่าสุดจาก ดิสนีย์ พิกซ่าร์ หลังจากที่เข้าฉายไปเมื่อวันที่ 29 กันยายน จนถึงวันนี้ เปิดตัวด้วยรายได้แบบถล่มทลาย ในสัปดาห์แรก บ็อกซ์ออฟฟิศ ประเทศไทย ขึ้นอันดับหนึ่ง 4 วัน กวาดรายได้ไป 20 ล้านบาท ทุกเสียงยืนยัน… คาร์ส 2 คือหนังแอนิเมชั่น ที่โดนใจ ทุกเพศ ทุกวัย ในช่วงนี้ !!! 
 
          “จริงๆ แล้ว คาร์ส 2 สายลับสี่ล้อ ซิ่งสนั่นโลก ในแถบ เอเชีย แปซิฟิค ประเทศไทย นับเป็นประเทศสุดท้ายที่เข้าฉาย ซึ่งเข้าฉายเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเข้าฉายช้ากว่าทุกๆประเทศแล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน แต่ด้วยสิ่งที่เรามั่นใจในคุณภาพของ คาร์ส ในภาคนี้นั้น ด้วยความที่พิกซ่าร์และทีมผู้สร้างได้รู้จุดด้อยของคาร์สในภาคแรก ซึ่งมีความเป็นหนังที่สะท้อนความเป็นอเมริกามากเกินไป พอฉายไปทั่วโลกการตอบรับในกระแสของประเทศอื่นๆก็จะไม่ค่อยออกมาเป็นที่น่าพอใจนัก มาครั้งนี้กับ คาร์ส 2 ผกก.เอง “จอห์น ลาสเซ็ทเตอร์” ซึ่งเขาควบเก้าอี้ซีอีโอของ พิกซ่าร์ ด้วย พร้อมด้วยทีมผู้สร้าง เขาทราบดีว่าควรปรับ ให้หนังมี สีสัน แอ็คชั่น และตอบโจทย์ของความเป็นสากลมากขึ้น ด้วยหนังที่มาพร้อมเรื่องราวของการแข่งรถ เรื่องราวของสายลับ และการเดินไปประเทศต่างๆทั่วโลก หนังจึงโดนใจแฟนๆ มากยิ่งขึ้น ในบ้านเราการเปิดตัว 4 วันรายได้เท่ากันกับการฉาย คาร์ส ภาคแรกทั้งโปรแกรม ซึ่งตอนนี้ทำรายได้ไปถึง 20 ล้านบาท ด้วยความที่ว่าเด็กๆจะรู้จัก คุ้นเคยกับแมคควีนส์ อยู่แล้ว จึงไม่ยากเลยที่จะไปชมว่าในภาคนี้ ไลท์นิ่ง แมคควีน ขวัญใจของเขาจะไปทำอะไร แข่งรถที่ไหนต่อ ส่วนวัยรุ่น ด้วยเรื่องราวการแข่งรถและฉากแอ็คชั่นสุดมันส์ การผจญภัย และการฉายในระบบ “เรียลดี ทรีดี” ที่ให้ภาพคมชัด สมจริง มากยิ่งขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มวัยรุ่นชื่นชอบ คาร์สภาค 2 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากกว่า ภาค 1 เป็น 50-60% จากการฉายไปเพียง 4 วันค่ะ”

          คุณดุจดาว พรหโมบล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ โมชั่น พิคเจอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

          “Cars 2” สายลับสี่ล้อ…ซิ่งสนั่นโลก ภาพยนตร์ แอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์แห่งปีจาก ดิสนีย์ พิกซาร์
          ผู้สร้าง ทอย สตอรี่ และ ฟลายดิ้ง นีโม

          วันนี้ในโรงภาพยนตร์ ทั้งระบบ 35 มม. ระบบดิสนีย์ ดิจิตอล 3 มิติ และ ในระบบ IMAX® 3D