Facebook on August 04, 2011, 11:35:38 AM
52 ปีชาลีขี่ก้านกล้วย นิทานอมตะจากรุ่นสู่รุ่น




 
          นับตั้งแต่ปีแรกที่รัฐบาลประกาศให้มีวันเด็กแห่งชาติ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาจะถูกหยิบยื่นให้กับเด็กเป็นสิ่งแรก นัยว่าเด็กที่ดีจะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในธรรมะ แต่ด้วยธรรมชาติของเด็กที่เป็นวัยสนุก สดใส ชอบทดลอง และเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ นิทานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต มอบให้กับเด็ก โดยท่านเขียนเอง พิมพ์เอง และขายเองเป็นครั้งแรกในงานวันเด็ก ปีพ.ศ. 2502 โดยใช้ชื่อว่า ชาลีขี่ก้านกล้วย

          จากวันนั้นจนวันนี้ ชาลีขี่ก้านกล้วยมีอายุครบ 52 ปีเต็ม เพื่อเป็นการคงคุณค่าของนิทานไทย ให้เด็กรุ่นหลังได้มีโอกาสสัมผัสกับผลงานชิ้นเอก บริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด จึงได้รับมอบหมายให้นำกลับมาพิมพ์ใหม่ โดยคงเนื้อเรื่องดั้งเดิม แต่ปรับรูปเล่ม และภาพประกอบให้สวยงามร่วมสมัย

          “การที่หนังสือนี้อยู่ได้หลายปี พิมพ์หลายครั้งแสดงว่าถูกใจคนอ่าน อันนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ สำหรับชาลีขี่ก้านกล้วย ตอนนั้นขายเล่มละ 50 สตางค์ มีหลานคนหนึ่งเขาไปยืนอ่าน เขาบอกเล่มนี้ดี พออ่านจบก็ขอเล่มโน้นเล่มนี้อีก เราเลยบอกให้หนูเอาไปเลย 10 เล่ม เป็นการส่งเสริมการอ่าน เราเข้าใจเด็กนะ เพราะ อาจารย์เองก็ทำหนังสือเด็กมาตั้งแต่พ.ศ.2492 แล้ว” คุณหญิงกล่าว

          สำหรับเรื่องชาลีขี่ก้านกล้วย ไม่ว่าจะเป็นตัวเอก ของเล่น หรือองค์ประกอบทั้งหมดจะสะท้อนให้เห็นถึงบริบทของคนในยุคก่อน ครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ใกล้ต้นกล้วย อาจจะต้องลองไปหาดูว่าก้านกล้วยเป็นแบบไหน แล้วลองแสดงฝีมือในการตัดแต่ง อาจทำเป็นปืนยิงก็ได้ ก้านกล้วยศิลปะอยู่ที่ทำหัวม้า มีสายคล้องคอ เมื่อเด็กขี่ เด็กจะมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ และมีจินตนาการ 
 
          นอกจากเรื่องชาลีขี่ก้านกล้วยแล้ว แม่ไก่สีแดง ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่นำมาพิมพ์ใหม่ โดยตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นักเขียนนิทานและผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็ก กล่าวว่า “ตอนแรกเราเรียกโปรเจคนี้ว่านิทานบานไม่รู้โรย ตั้งชื่อตามวัย อาจารย์ให้มาสามเรื่อง คือ ชาลีขี่ก้านกล้วย แม่ไก่สีแดง และวิทยุเก่าๆ แต่เรื่องวิทยุเก่าๆ เป็นผู้ใหญ่ไปหน่อยเลยไม่ได้เอามาทำ ผลงานของอาจารย์ไม่มียุคไม่มีสมัย จะบอกว่าหนังสือที่ทรงคุณค่า พอเอามาใส่ภาพประกอบที่เป็นยุคสมัยเดียวกับเด็กๆ เด็กจะได้เรียนรู้ในมิติที่ลึกซึ้งอย่างเป็นรูปธรรม มันก็ยิ่งทำให้งานที่มีคุณค่าอยู่แล้ว ยิ่งดูดีมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก”

          ในฐานะของสำนักพิมพ์ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือนิทานชุด 52 ปีชาลีขี่ก้านกล้วย และแม่ไก่สีแดง อย่างริสรวล อร่ามเจริญ กล่าวถึงการทำงานของนิทานชุดนี้ว่า “ในบทบาทของสำนักพิมพ์ เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าเป็นการนำเรื่องเก่ามาทำใหม่เพื่อเผยแพร่ให้คนยุคนี้ได้อ่าน และต้องหาจุดเชื่อมโยงให้ได้ นิทานที่ดีจะต้องอยู่ได้นานเป็นร้อยๆ ปี เช่น แอนเดอร์สัน หรือนิทานกริมม์ เราเองก็ภูมิใจว่านี่คือสมบัติของแผ่นดินที่อาจารย์มอบให้แก่เรา ชาลีขี่ก้านกล้วย ภาพที่ออกมาร่วมสมัย ใช้สีแสดงถึงจินตนาการที่ย้อนยุค ตัวละครชาลีก็จะดูซนนิดๆ ภาพทั้งหมดก็วาดให้เห็นถึงบรรยากาศแบบไทยๆ”

          การอ่านหนังสือ นอกจากจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว การที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็ก จะทำให้สมองของเขาทำงาน เก็บคำเป็นคลังคำศัพท์ เด็กคนไหนที่มีคลังคำศัพท์เยอะ เด็กคนนั้นจะได้เปรียบ เพราะมีต้นทุนทางปัญญามากกว่าเด็กที่ไม่มีประสบการณ์ เด็กจะเหมือนจิ๊กซอว์ที่เขาเก็บภาพแต่ละภาพเอาไว้ เมื่อถึงเวลาของเขา ภาพเหล่านั้นจะถูกต่อเข้าอย่างเป็นระบบภายในสมอง ทำให้เด็กมีความสามารถในเชิงการอ่านอย่างเข้าใจ คิดวิเคราะห์ และถ่ายทอดได้ดี