คงเคยฟังเรื่อง โสกราตีส ปรัชญาเมธีกรีก จุดไต้กลางวัน เดินกลางถนน ถามหา “คน” กันมาบ้าง
และ เรื่องของขรัวโต หรือสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง จุดตะเกียงกลางวัน เดินไปหา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ ถึงบ้าน เมื่อได้
คำตอบบอกนัย ไม่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ ด้วยประโยค “แผ่นดินยังไม่มืดมิดดอกพระคุณเจ้า”
ขรัวโตไม่พูดจา...ท่านก็เดินกลับวัด ทิ้งเรื่องเล่ากล่าวขาน จนถึงวันนี้
วัน นี้ผมยังวนเวียนอยู่กับหนังสือเล่มเก่า อ่านเจอเรื่องเฒ่าซุน จุดโคมไฟในเวลากลางคืน เรื่องหนึ่ง ในหนังสือ สุขได้ก็วางเป็น (กวน จยา เวย เขียน ทิภาพร เยี่ยมวัฒนา แปล)
โคมไฟจุดกลางคืน ฟังเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่น่าเชื่อว่า
ได้แง่คิดทั้ง...แปลก และใหม่
ภิกษุ รูปหนึ่ง จาริกปลีกหาที่วิเวก แสวงบุญ เพื่อหาความหลุดพ้น แต่ก็เป็นเวลาเนิ่นนานเหลือเกิน ท่านก็รู้ตัวว่า ยังไปไม่ถึงไหนสักที ค่ำวันนั้น ท่านก็ถึงหมู่บ้านเล็กๆอันห่างไกล ขอเข้าไปพักแรมในบ้านหลังหนึ่ง
บ้านหลังนี้ไม่เคยมีพระมาโปรด เจ้าของบ้านดีอกดีใจ กุลีกุจอต้อนรับ
เห็นว่าพระหายเหนื่อย ตะเกียงจุดสว่าง คนในบ้านชวนกันมานั่งล้อมวง รอฟังพระเทศน์
ทันใดนั้นเสียงเคาะประตูก็ดัง ที่แท้คนในหมู่บ้าน ได้ข่าวมีพระน่าเลื่อมใสมา ก็บอกต่อๆอยากฟังพระเทศน์เหมือนกัน
พระ ภิกษุเห็นชาวบ้านเลื่อมใสก็ตื้นตันใจ แต่ยังเริ่มต้นเทศน์ไม่ได้ เพราะผู้คนยังพากันมาไม่หยุด ในบ้านคนเต็มแล้ว ลานหน้าบ้านคนก็อออยู่แน่น
เสียงเซ็ง แซ่ดังขึ้นจากลานหน้าบ้าน “หลีกทางให้เฒ่าซุน หลีกทางให้ตาบอดซุน” พระมองไป เห็นผู้เฒ่าคนหนึ่ง ถือโคมไฟ เดินแหวกหมู่คนเข้ามา
เฒ่าซุนเข้ามาใกล้ พระมองเห็นชัด เขาเป็นคนตาบอดแน่ แต่เหตุไฉน เขาต้องถือโคมไฟมาด้วย
พระภิกษุยังสงบใจเริ่มต้นเทศน์ไม่ไหว ถามเฒ่าซุน “ ท่านตาบอดจริงๆหรือ?”
“ขอรับ” เฒ่าซุนหัวเราะ “นับแต่เกิดมา ผมก็มองอะไรไม่เห็นแล้ว”
“ท่านตาบอด แล้วทำไมต้องถือโคมไฟ...” พระภิกษุถามต่อ
เฒ่าซุนตอบ “ตอนค่ำ นอกถนนก็มืด หากผมเดินถนน ไม่ถือโคมไฟ คนก็ไม่เห็นผม”
“ที่แท้ เป็นเช่นนี้” ภิกษุเพิ่งนึกได้ แล้วรำพึงว่า “เพื่อผู้อื่น ท่านจึงถือโคมไฟ”
“พระ คุณเจ้า” เฒ่าซุนสาธยาย “ตอนเดินถนนกลางคืน ผมถูกชนน้อยมาก นั่นเพราะขณะที่โคมไฟช่วยส่องทางให้ผู้อื่น คนอื่นก็เห็นผมด้วย
โคมไฟของผม ถูกจุดขึ้น ทั้งเพื่อผู้อื่น และเพื่อตัวผมเอง”
จบ คำพูดเฒ่าซุน พระภิกษุก็ทบทวนตัวเอง อุตสาหะจาริกแสวงบุญหาวิธีหลุดพ้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านมุ่งคิดแสวงหา...อย่างเดียว ไม่เคยคิดจะเป็นผู้ให้
คิดได้ดังนี้ พระภิกษุก็ตระหนักรู้ บรรลุถึงความหลุดพ้น