สวทช. เปิดตัวโครงการ ‘iTAP Big Impact’ ยกเครื่องเอสเอ็มอีไทย
(ซ้าย) ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (ขวา) ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ iTAP และรองผู้อำนวยการ สวทช. ประกาศเปิดตัวโครงการ iTAP Big Impact ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สร้างผลกระทบวงกว้างให้กับประเทศ เพื่อมุ่งเพิ่มกำไรให้กับเอสเอ็มอี พร้อมช่วยประหยัดต้นทุนในการใช้พลังงานที่เห็นได้ผลชัดเจนทันที เร่งด่วน ดำเนินการได้ทันที จากการยกระดับเทคโนโลยีในภาคการผลิตหลักที่สำคัญระดับมหภาคของประเทศ ได้แก่ การสีข้าว การเลี้ยงไก่ และการอบยางแผ่นรมควัน รวมทั้งคาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศจากการประหยัดการใช้พลังงานลงได้มากกว่า 21,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเทคนิคที่ง่ายต่อการดำเนินงานในการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และสามารถจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีกับโรงสีข้าวกว่า 43,000 แห่ง ฟาร์มไก่ 64,000 แห่ง และเตาอบยางแผ่นรมควันอีก 660 แห่งทั่วประเทศ
(ที่ 3จากซ้าย) ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ที่ 4จากซ้าย)ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ iTAP และรองผู้อำนวยการ สวทช. (ซ้ายสุด) รศ. ดร. สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้บริหารผู้ดูแลสายงานโครงการ iTAP และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. (ที่ 5 จากซ้าย) นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการ iTAP (ที่ 2 จากซ้าย) นางสาวพินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร สวทช.(ที่ 6 จากซ้าย) ดร. ศิริชัย กิตติวราพงศ์ ผู้จัดการ และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี โครงการ iTAP
• ช่วยอัพเกรดเทคโนโลยีแก่ SMEs โรงสีข้าว ฟาร์มเลี้ยงไก่ โรงอบยางพารา เพื่อเพิ่มกำไรขึ้นชัดเจนทันที
• เน้นสร้างผลกระทบกับภาคการผลิตเส้นเลือดใหญ่ระดับมหภาคของประเทศ ได้แก่ ข้าว ไก่ ยางพารา
• ประกาศผลสำเร็จของโครงการนำร่อง:
1. เพิ่มกำลังการผลิตในโรงสีข้าวได้ 2 เท่า ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ครึ่งหนึ่ง และเพิ่มผลกำไรในโรงสีได้ 20%
2. ประหยัดต้นทุนพลังงานในการระบายอากาศในโรงเลี้ยงไก่ได้ 23% สำหรับเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่
3. ลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการอบยางแผ่นรมควันได้ 40% สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง
• ประเทศได้ประโยชน์จากการประหยัดไฟฟ้ารวมมากกว่า 21,000 ล้านบาท
กรุงเทพฯ (4 สิงหาคม 2552) - วันนี้ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ iTAP Big Impact ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สร้างผลกระทบวงกว้างให้กับประเทศ เพื่อมุ่งเพิ่มกำไรให้กับเอสเอ็มอี พร้อมช่วยประหยัดต้นทุนในการใช้พลังงานที่เห็นได้ผลชัดเจนทันที จากการยกระดับเทคโนโลยีในภาคการผลิตหลักที่สำคัญระดับมหภาคของประเทศ ได้แก่ การสีข้าว การเลี้ยงไก่ และการอบยางแผ่นรมควัน
โครงการ ‘iTAP Big Impact’ (ไอแทป บิ๊ก อิมแพค) ดำเนินงานโดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มรายได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างเร่งด่วน เห็นผลลัพธ์ได้จริงและชัดเจน รวมทั้งคาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศจากการประหยัดการใช้พลังงานลงได้มากกว่า 21,000 ล้านบาท
“โครงการ iTAP Big Impact นี้ สามารถสร้างผลกระทบวงกว้างระดับประเทศ และสามารถที่จะวัดประโยชน์ที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนได้จริงๆ ในทันทีซึ่งเห็นได้จากโครงการนำร่องที่ได้ดำเนินงานมาแล้ว” ดร. คุณหญิงกัลยา กล่าว “ในสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดเช่นนี้ เป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้ฝ่าวิกฤตไปได้ ซึ่งโครงการ iTAP Big Impact จะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้โดยทันที”
ศ. ดร. ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้ก่อตั้งโครงการ iTAP และรองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเทคนิคที่ง่ายต่อการดำเนินงานในการปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และสามารถจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีกับโรงสีข้าวกว่า 43,000 แห่ง ฟาร์มไก่ 64,000 แห่ง และเตาอบยางแผ่นรมควันอีก 660 แห่งทั่วประเทศ”
ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าวว่า “ด้วยเทคนิควิศวกรรมซึ่งไม่ซับซ้อน เราสามารถเพิ่มกำไร 20% ให้กับเอสเอ็มอีโรงสีข้าวได้ โดยการให้คำปรึกษา ฝึกอบรมทางเทคนิคง่ายๆ แก่ผู้ประกอบการโรงสีข้าว เช่น ให้สามารถปรับระยะห่างระหว่างลูกยางกระเทาะข้าวให้ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากเทคนิคที่สามารถทำได้ง่าย และไม่ต้องลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักร หรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ มาก เราจึงได้เห็นผลสำเร็จในโครงการนำร่องแล้วว่า โรงสีสามารถลดการหักของเมล็ดข้าว เพิ่มคุณภาพผลผลิตได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว”
“นอกจากนี้ โครงการยังมีเทคนิคการปรับตั้งค่าเครื่องจักรให้การสีข้าวให้มีประสิทธิภาพในการสีข้าวเพียงรอบเดียว ไม่ต้องสีซ้ำหลายครั้ง ลดการสิ้นเปลือง ซึ่งจากเดิมจำเป็นต้องมีการสีข้าวซ้ำ เนื่องจากการสีในรอบแรกยังมีข้าวเปลือกเหลือปนอยู่จำนวนมาก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือโรงสีสามารถเพิ่มปริมาณการสีข้าวในแต่ละวันได้ 2 เท่า คิดเป็นกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 6-12 ล้านบาทต่อปีต่อโรง สำหรับโรงสีข้าวที่มีกำลังผลิต 60-120 ตันต่อวัน”
“ขั้นตอนทางเทคนิคง่ายๆ เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยผู้ประกอบการเพิ่มกำไรได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการสีข้าวได้อย่างชัดเจนถึง 50% แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ จะเกิดประโยชน์ยิ่งกว่าสำหรับประเทศไทยในภาพรวม อีกทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าว
“หากเราได้นำวิธีการเดียวกันนี้ไปใช้กับโรงสีข้าวทั้ง 43,000 แห่งในประเทศไทย เราจะสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้ถึง 21,000 ล้านบาทเลยทีเดียว” ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าว
“จากการที่ประเทศไทยมีเกษตรกรปลูกข้าวอยู่กว่า 3,700,000 ครัวเรือน และสัดส่วนการส่งออกข้าวคิดเป็น 2.2 % ของจีดีพีของประเทศ ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงสีข้าวขึ้น 2 เท่าในทุกๆ โรงสีในประเทศและมีกำไรเพิ่มขึ้น จะช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ตามกลไกตลาด และเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้แน่นอน” ศ.ดร. ชัชนาถ กล่าว
โครงการเทคนิคปรับปรุงกระบวนการสีข้าวได้รับการพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง iTAP และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ. ดร. พนมกร ขวาของ เป็นหัวหน้าโครงการ
ประโยชน์สำหรับชาวสวนยางภายใต้โครงการ iTAP Big Impact
รศ. ดร. สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้บริหารผู้ดูแลสายงานโครงการ iTAP และผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact เราได้พัฒนาเตาอบยางแผ่นรมควันที่ทันสมัยสำหรับชาวสวนยางซึ่งเป็นเตาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถที่จะลดค่าเชื้อเพลิง (ไม้ฟืนยางพารา) ได้มากกว่า 92,000 บาทต่อเตาต่อปี สำหรับขนาดโรงอบยางรมควันมาตรฐานของสหกรณ์กองทุนสวนยาง”
ดร. สมชาย เปิดเผยว่า “เทคนิคทางวิศวกรรมของเตาอบที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่นี้ช่วยให้นำความร้อนเข้าไปในห้องอบรมควันเร็วขึ้น สามารถควบคุมปริมาณและการกระจายความร้อนได้อย่างทั่วถึงสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ส่งผลให้ได้แผ่นยางที่มีคุณภาพดีขึ้น และลดเวลาที่ใช้ในการอบยางแผ่นรมควันลง 25% ในขณะเดียวกัน ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ประมาณ 40%”
“เมื่อคำนวณต้นทุนค่าใช้เชื้อเพลิงและค่าแรงที่สามารถประหยัดลงได้ แล้วบวกรายได้ที่ชาวสวนยางได้รับเพิ่มขึ้นจากยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพสูงขึ้น และปริมาณยางที่อบได้เพิ่มขึ้นแล้ว เตาอบยางแบบใหม่หนึ่งเตาสามารถจะเพิ่มกำไรให้สหกรณ์สวนยางได้ประมาณ ปีละ 165,000 บาทเลยทีเดียว” รศ. ดร. สมชาย กล่าว
“จากการนำเตาอบแบบใหม่ไปใช้นี้ เราคาดว่า จะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะเตาใหม่นี้ช่วยให้อบยางได้เร็วขึ้น ทำให้ชาวสวนยางไม่ต้องกังวัลว่ายางสดจะเสียเพราะอบไม่ทัน และเป็นสาเหตุให้ชาวสวนต้องรีบขายยางสดให้พ่อค้าคนกลางในเวลาที่ราคายางต่ำ” รศ. ดร. สมชาย กล่าว
“จากการที่ประเทศไทยมีโรงอบยางรมควันอยู่ประมาณ 660 โรง โครงการเตาอบยางประหยัดพลังงานนี้จะสามารถจะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศได้อย่างมาก” รศ. ดร. สมชาย กล่าว
ประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ภายใต้โครงการ iTAP Big Impact
นางสาว สนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการ iTAP กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงเรือนเลี้ยงไก่อยู่ประมาณ 64,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ละโรงเรือนเลี้ยงไก่เฉลี่ยประมาณ 13,000-15,000 ตัว
“เมื่อเทียบกับ พัดลมที่นิยมใช้ในปัจจุบัน พัดลมระบายอากาศที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ประมาณ 23% หรือคิดเป็น 20,000 บาทต่อโรงเรือนต่อปี ซึ่งนอกจากพัดลมแบบใหม่จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้มีกำไรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีศักยภาพที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงานของประเทศได้กว่า 1,200 ล้านบาท” น.ส. สนธวรรณ กล่าว
น.ส. สนธวรรณ กล่าวว่า พัดลมแบบที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นแบบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และออกแบบได้ไม่เหมาะสำหรับใช้กับโรงเรือนไก่ในประเทศไทย และเสียงของใบพัดที่ดังทำให้ไก่เครียด ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบพัดลม 3 ใบพัดให้เหมาะกับเมืองไทย แทนที่จะเป็น 6 ใบพัด ทำให้ลดความดังของเสียง และลดความเครียดของไก่ ทำให้ไก่เจริญเติบโตได้ดีขึ้น คุณภาพและน้ำหนักเหมาะสม”
“ในปี 2551 ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปมูลค่า 51,600 ล้านบาท ดังนั้นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ ย่อมจะส่งผลในเชิงบวกกับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศอย่างแน่นอน” น.ส. สนธวรรณ กล่าว
การทำงานร่วมกันกับเครือข่ายต่างๆ ของ iTAP
ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าวว่า
• โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการสีข้าว พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และโครงการ iTAP
• โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการอบยางแผ่นรมควัน พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโครงการ iTAP โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย
• โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงเรือนเลี้ยงไก่ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และโครงการ iTAP โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท บี. อินเตอร์เนชั่นแนล แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด
“ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะแสดงว่าหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของรัฐอย่าง สวทช. สามารถที่จะทำงานประสานกันกับสถาบันการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและระดมทรัพยากรจากภาคเอกชนไปสร้างผลงานที่ตอบสนองความต้องการของภาคเกษตรกรรมได้โดยตรง” ศ. ดร. ชัชนาถกล่าว
ศ. ดร. ชัชนาถ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการ iTAP มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 350 คน ที่สามารถจะดึงเอาความเชี่ยวชาญของท่านเหล่านั้นมาช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ นอกจากนี้ iTAP ยังช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งสำหรับค่าผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินโครงการ ซึ่งโครงการสามารถช่วยสนับสนุนได้สูงสุด 500,000 บาทต่อโครงการ
โครงการ iTAP ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอี สำหรับเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้แก่ 02-564 7000 ต่อ iTAP หรือ
www.tmc.nstda.or.th/itap###
เกี่ยวกับ iTAP
iTAP คือโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอีในธุรกิจต่างๆ iTAP มุ่งพัฒนายกระดับเอสเอ็มอีที่รู้และเข้าใจขั้นตอนกระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ที่ตนเองต้องการ แต่ไม่มีทักษะทางเทคโนโลยี หรือความรู้ทางเทคนิค เพื่อทำความต้องการให้บรรลุผลเป็นรูปธรรม อันจะช่วยเพิ่มรายได้ หรือลดต้นทุนให้แก่เอสเอ็มอี โดยให้ความช่วยเหลือด้วยการช่วยวินิจฉัยความต้องการ รวมทั้งจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง ภายใน สวทช. หรือสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ สามารถดำเนินการโครงการพัฒนาที่เหมาะสม ทั้งยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้บางส่วนด้วย