Google on June 29, 2011, 07:13:01 PM
หมดความหงุดหงิดกวนใจกับโรคสตรี ด้วยการรักษาแบบการแพทย์แผนไทย

          เมื่อกล่าวถึง โรคสตรี บรรดาคุณผู้หญิงทั้งหลายบางครั้งอาจจะยังนึกไม่ถึงว่าอะไรบ้างที่เข้าข่ายโรคสตรี แต่หากเอ่ยถึงอาการของโรค หลายคนคงถึงบางอ้อ เพราะลักษณะอาการเหล่านี้ ล้วนเป็นที่หงุดหงิดกวนใจคุณผู้หญิงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดหน่วยท้องน้อย อาการตกขาว อาการปวดท้องประจำเดือน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในยามที่ใกล้เวลาประจำเดือนมา บางท่านมีอาการมีสิวบริเวณหลังและหนังศรีษะ อาการหงุดหงิดใจ รวมไปถึงอาการหนาวสะท้านภายในเมื่อยามที่อากาศเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ซึ่งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้จัดเสวนาเรื่อง “รักษาโรคสตรีด้วยการแพทย์แผนไทย” เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่แพทย์แผนไทยและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

โรคโลหิตสตรีตามคัมภีร์แพทย์แผนไทย
          อาจารย์ณภัทร พาณิชการ ได้หยิบยกคัมภีร์แพทย์แผนไทยที่เกี่ยวข้องกับโรคโลหิตสตรี 2 คัมภีร์หลักมาใชในการอธิบายอาการของโรคโลหิตสตรี ได้แก่ คัมภีร์ปฐมจินดา และคัมภีร์มหาโชตรัต ซึ่งทั้งสองคัมภีร์ได้กล่าวถึงลักษณะของอาการของผู้หญิงโดยปกติ ที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน โดยมักเกิดอาการก่อนการมีประจำเดือน และเมื่อประจำเดือนหมดไปอาการดังกล่าวก็หายไปด้วย กล่าวคือ ลักษณะของโลหิตปกติโทษตามคัมภีร์นั้น มี 5 ประการหลัก ได้แก่ 1. โลหิตบังเกิดมาแต่หัวใจ ซึ่งมีอาการคลั่งเพ้อ นอนไม่ค่อยหลับ มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว โมโหง่าย 2. โลหิตเนื่องมาแต่ดี จะมีอาการคลั่งไคล้ละเมอ นอนสะดุ้ง 3. โลหิตเนื่องมาแต่ผิวเนื้อ มีอาการรู้สึกร้อนบริเวณผิวเนื้อผิวหนัง บางคนผิวมีสีแดงปลั่ง ผุดขึ้นทั้งตัวเหมือนคนที่มีอาการออกหัด 4. โลหิตบังเกิดเนื่องมาแต่เส้นเอ็น จะมีอาการเหมือนไข้จับ รู้สึกสะบัดร้อนสะบัดหนาว ปวดศรีษะมาก และ 5. โลหิตอันเนื่องมาแต่กระดูก มีอาการเมื่อย รู้สึกขบไปทุกข้อดังจะขาดจากกัน ปวดบริเวณบั้นเอวสันหลัง มักจะบิดเกียจคร้านบ่อย ๆ ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวมาเป็นประจำทุกเดือน เรียกว่า โลหิตปกติโทษ แต่หากบางเดือนมีอาการอื่นที่มิใช่อาการที่ตนเองเป็นโดยปกติ จะเรียกว่า โลหิตทุจริตโทษ ซึ่งแพทย์แผนไทยที่รักษาควรตรวจดูอาการของผู้ป่วยที่แตกต่างกันไปตาม 5 ลักษณะ เมื่อพิจารณาแล้วให้ประกอบยา ชื่อว่า พรหมภักตร์ เพื่อชำระล้างโลหิตร้ายนั้น จากนั้นจึงให้แต่งยาชื่อว่า กำลังราชสีห์ กำลังแสงพระอาทิตย์ เพื่อบำรุงโลหิตให้บริบูรณ์ต่อไป

การรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดในผู้หญิง
          อาจารย์กรกมล เอี่ยมธนะมาศ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประเภทนวดไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา กล่าวว่า อาการที่เกิดขึ้นในผู้หญิงนั้น ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับเลือดและลมร่วมกันกระทำทั้งสิ้น (โดยมีเลือดกระทำเป็นหลัก) โดยสามารถแบ่งสาเหตุออกเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้
          1. โรคเกี่ยวกับประจำเดือนในช่วงวัยสาว เป็นโรคที่เกิดขึ้นในช่วงของวัยสาวที่มีประจำเดือน แต่ยังไม่มีสามี ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ การที่มีอาการปิดปกติต่าง ๆ มาตั้งแต่เริ่มต้นมีประจำเดือน และการถูกกระทบกระแทก
          2. โรคเกี่ยวกับประจำเดือนในช่วงที่มีสามี เป็นโรคที่อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์และการถูกกระทบกระแทก
          3. โรคที่เกี่ยวกับประจำเดือนในช่วงคลอดบุตร ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการที่หญิงมีการตั้งครรภ์ คลอดบุตรออกมาแล้วไม่มีการอยู่ไฟ จึงทำให้มีเลือดเสียที่เกิดจากการตั้งครภ์เป็นระยะเวลา 9 เดือน เมื่อเวลาผ่านไป เลือดจะเกาะกันเป็นลิ่ม เป็นก้อนค้างตกหมกช้ำคั่งค้างอยู่ภายในมดลูก จึงส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นในภายหลัง เช่น มีความรู้สึกหนาวข้างใน รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น เป็นต้น
ในการรักษาโรคสตรีนั้น จะมีขั้นตอนการรักษา ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด กล่าวคือ
          1. การซักประวัติผู้ป่วย เพื่อดูอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยเน้นการซักประวัติ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนทั้งหมด ตั้งเริ่มมีประจำเดือนเป็นครั้งแรก จนถึงช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น สีของประจำเดือน ลักษณะของประจำเดือน เป็นลิ่มหรือเป็นก้อนหรือไม่ ปวดท้องเมื่อมีประจำเดือนหรือไม่ ลักษณะการปวด และช่วงเวลาของการปวด รวมทั้งประวัติส่วนตัวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การทำงาน อาหาร การพักผ่อน เป็นต้น ประวัติครอบครัว เช่น มารดาเป็นด้วยหรือไม่ ประวัติในอดีต เช่น โรคประจำตัว เคยประสบอุบัติเหตุหรือไม่ ตลอดจนหาสาเหตุของการเกิดโรคโดยพิจารณาจากอาการหลักของผู้ป่วยเป็นลำดับแรก
          2. การตรวจร่างกาย โดยดูจากลักษณะท่าทางของผู้ป่วย สีผิว สีหน้า สีเล็บ สีเปลือกตาใน สังเกตภาวะซีดจากการเสียเลือด เลือดไม่ดี หรือเลือดไม่สมบูรณ์ และคลำบริเวณหน้าท้อง เพื่อค้นหาว่ามีก้อน เถา ดานหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเถาดานของอุจจาระ หรือเลือดเสียที่จับเป็นก้อน
          3. การวินิจฉัยโรค โดยนำข้อมูลจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย มาประกอบการวินิจฉัยโรค โดยพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธาตุเจ้าเรือน พฤติกรรมของผู้ป่วย และพันธุกรรมของครอบครัว
          4. การรักษา ซึ่งโรคที่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนนั้น จะต้องมีการรักษาทั้งการใช้ยา และการนวดร่วมกัน โดยการใช้ยานั้น จะเข้าไปปรับเลือดและลมของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติให้เข้าสู่สมดุล ส่วนการนวดซึ่งจะนวดช่วงวันก่อนมีประจำเดือนหรือวันหลังมีประจำเดือนไปแล้ว การนวดจะกระทำเพื่อให้เลือดและลมให้สามารถเดินได้สะดวกขึ้น เป็นการกระตุ้นให้มีการขับของเสียหรือเลือดเสียออกมา หากรักษาร่วมกับการใช้ยา ก็จะทำให้การให้ยาในผู้ป่วยคนนั้น ๆ ดีขึ้น แต่หากอาการผิดปกติของผู้ป่วยเกิดขึ้นจากโครงสร้างของร่างกายที่เบี่ยงหรือบิดไป จนทำให้ประจำเดือนออกมาไม่เป็นปกติ การนวดก็จะสามารถช่วยเปลี่ยนโครงสร้างที่ผิดปกตินั้นได้ และทำให้ประจำเดือนออกมาดีขึ้น

กรณีศึกษา
          นางสาวอารีวรรณ ต้นทัพไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าถึงกรณีศึกษาในการรักษาผู้ป่วยโรคสตรีที่เข้ามาทำการรักษาที่คลีนิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่า
          กรณีศึกษาที่ 1 ผู้ป่วยหญิง โสด อายุ 25 ปี มีอาการปวดหน่วงท้องน้อย ทั้ง 2 ข้าง ก่อนมีประจำเดือน 3 วัน มีอาการต่อเนื่องกันทุกเดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อประจำเดือนมา ยังมีอาการปวดท้องอย่างต่อเนื่อง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (มาไม่ตรงกันในแต่ละเดือน) ลักษระประจำเดือนมีสีแดงคล้ำ มีลิ่มมีก้อนเล็กน้อย ไม่มีกลิ่นเหม็น ใช้ผ้าอนามัยวันละ 2 แผ่นชุ่ม มีตกขาวลักษณะเป็นแป้งเปียก ก่อนมีประจำเดือน 2 สัปดาห์ โดยก่อนมีประจำเดือนผู้ป่วยมีอาการคัดตึงเต้านมทั้ง 2 ข้าง มีอาการหงุดหงิดง่าย บางครั้งมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวร่วมด้วย มีอาการเป็นจ้ำเขียวขึ้นบริเวณขาทั้ง 2 ข้างขณะมีประจำเดือน พอหมดประจำเดือนอาการเหล่านั้นหายไป บางครั้งมีอาการหนาวภายในร่างกายเวลาฝนตก
          สำหรับประวัติประจำเดือนนั้น ประจำเดือนมาครั้งแรกเมื่ออายุ 11 ปี มาครั้งละ 5 วัน มาสม่ำเสมอทุกเดือน สีแดงสด มักมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือนร่วมด้วย ประวัติส่วนตัว รับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ (กลางวัน เย็น) ไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารรสเค็ม เผ็ด ดื่มน้ำวันละ 6 แก้ว ชอบดื่มน้ำเย็น นอนหลับวันละ 6 ชั่วโมง หลับไม่สนิท ปัสสาวะวันละ 3 – 4 ครั้ง สีเหลืองใส ไม่แสบขัด ขับถ่ายวันละ 1 ครั้ง ไม่ออกกำลังกาย การตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตา เปลือกตาล่างซีดทั้ง 2 ข้าง ตาขาวไม่เหลือง ปาก ริมฝีปากค่อนข้างคล้ำกว่าผิวเนื้อ สะท้อนถึงการที่เลือดลมภายในร่างกายเดินไม่สะดวก ท้อง ทั้ง 2 ข้าง กดไม่เจ็บ ผิวหนัง เป็นจ้ำเขียวบริเวณน่องด้านซ้าย เล็บ สีเล็บไม่สม่ำเสมอ และ ลิ้น เป็นฝ้าสีขาวบางทั่วทั้งลิ้น ลักษณะเกสรลิ้นหยาบ
          มูลเหตุการเกิดโรค เกิดจากการทำงานหนักเกินกำลัง ยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัมบ่อย ๆ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ชอบรับประทานของเย็น ดื่มกาแฟเป็นประจำ วันละ 1 – 2 แก้ว และนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
          สรุปการรักษา พบว่า เป็นโลหิตปกติโทษ ให้การรักษาโดย จ่ายยารสร้อน เพื่อกระตุ้นเตโชและวาโยธาตุ ให้มีการพัดเคลื่อนไหว ซึ่งจะส่งผลให้ขับประจำเดือนที่คั่งค้างออกมาได้ดีขึ้น ทำให้อาการปวดท้องน้อยลง โดยการวางแผนการรักษาแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนที่ 1 ขับโลหิตระดู โดยให้รับประทานยาประสะไพล ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล รับประทานครั้งละ 3 แคปซูล ก่อนอาหาร 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น รับประทานก่อนมีประจำเดือน 14 วัน เมื่อประจำเดือนมาแล้วให้หยุดรับประทานยา งดอาหารแสลงและอาหารรสเย็น ขั้นตอนที่ 2 บำรุงโลหิต ดื่มน้ำฝางแสนต้ม โดยใช้ฝางแสนขนาด 30 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มเดือดประมาณ 15 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น รับประทานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และงดอาหารแสลง จำพวกอาหารหมักดอง อาหารคาว เช่น เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ ปลากระเบน และน้ำเย็น
          ผลการรักษา พบว่า ลักษณะประจำเดือนมีลิ่ม ก้อนลดลง สีประจำเดือนเป็นสีแดงสด จากเดิมที่เป็นสีคล้ำ จำนวนแผ่นอนามัยเยอะขึ้นจากวันละ 1 แผ่น เป็น 2 – 3 แผ่นต่อวัน ลักษณะตกขาวน้อยลง อาการปวดท้องเล็กน้อย พักก็หาย อาการปวดหลังลดลง จากเดิมที่ปวดมากเคลื่อนไหวลำบาก และไม่มีอาการหนาวภายในร่างกาย
          กรณีศึกษาที่ 2 ผู้ป่วยหญิง อายุ 50 ปี มาด้วยอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ เป็นมาประมาณ 5 เดือน ก่อนมีประจำเดือนผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง หงุดหงิด ใจสั่นเล็กน้อย ประจำเดือนมาครั้งละ 7 วัน ใช้ผ้าอนามัยวันละ 10 แผ่น ลักษณะประจำเดือนมีสีแดงคล้ำ มีลิ่มมีก้อน มีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย หลังประจำเดือนหมด 3 – 4 วัน จะมีตกขาวมามาก ลักษระเป็นมูกใส ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีอาการคัน ไม่เคยรับการรักษาที่ใดมาก่อน
          ประวัติส่วนตัว รับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ ตรงเวลา รับประทานรสไม่จัด ดื่มน้ำวันละ 4 – 5 แก้ว นอนหลับพักผ่อนวันละ 8 – 10 ชั่วโมง หลับไม่สนิท ปัสสาวะวันละ 4 – 5 ครั้ง สีเหลืองขุ่น ไม่มีอาการแสบขัด ขับถ่ายวันละ 1 ครั้ง ไม่ออกกำลังกาย การตรวจร่างกายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตา เปลือกตาล่างซีดทั้ง 2 ข้าง ตาขาวไม่เหลือง ปาก ริมฝีปากซีดเล็กน้อย ท้อง หน้าท้องตึง กดไม่เจ็บ ผิวหนัง สีผิวสม่ำเสมอ ไม่ซีด ปลายเท้าเย็น เล็บ สีเล็บไม่สม่ำเสมอ และ ลิ้น เป็นฝ้าขาวทั่วทั้งลิ้น ลิ้นแตกเป็นเส้นตรงกลาง และเกสรลิ้นหยาบ มูลเหตุการเกิดโรค เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย คลอดบุตรไม่ได้อยู่ไฟ การใช้อิริยาบถเดิมนาน ๆ และนอนหลับไม่สนิท
          การวินิจฉัย พบว่า เป็นโลหิตปกติโทษ ให้การรักษาโดย จ่ายยาต้มรสร้อนสุขุม เพื่อขับเลือดเสีย และช่วยชักมดลูกให้เข้าอู่ ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมโลหิต และเลือดลมทำงาน ได้ตามปกติ ทำให้เลือดประจำเดือนลดลง และอาการปวดท้องลดลง โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนที่ 1 ขับเลือดเสีย ชักมดลูกให้เข้าอู่ โดยใช้ยารสร้อนสุขุม ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยา ได้แก่ ดอกคำไทย ดอกคำฝอย ไพล เกสรทั้ง 5 ข้าวเย็นเหนือ ชะลูด ตองแตก ว่านชักมดลูก แก่นขี้เหล็ก เถาวัลย์เปรียง ส้มเสี้ยว เทียนดำ และกำแพงเจ็ดชั้น โดยนำตัวยาทั้งหมดมาต้ม แล้วนำมากรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ 1 แก้วกาแฟ (125 มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และขั้นตอนที่ 2 ฟอกโลหิต บำรุงโลหิต โดยใช้ยารสสุขุมร้อน ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยา ได้แก่ ข้าวหลามดง โคคลาน ฝางเสน สมอไทย ดอกคำไทย ดอกคำฝอย มะตูม ดีปลี กระเทียม ชะเอมเทศ และใบส้มเสี้ยว โดยนำตัวยาทั้งหมดมาต้ม แล้วนำมากรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ 1 แก้วกาแฟ (125 มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เริ่มรับประทานหลังประจำเดือนหมด และรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์
          ผลการรักษา พบว่า ลักษณะประจำเดือน มีสีแดงสด ไม่มีลิ่ม ก้อน จากเดิมที่มีสีแดงคล้ำ มีลิ่มและก้อน จำนวนแผ่นอนามัยลดเหลือจำนวนเพียง 2 แผ่นต่อวันจากเดิม 10 แผ่นต่อวัน อาการปวดประจำเดือน ปวดน้อยลงมาก ไม่มีอาการหงุดหงิด ใจสั่น และไม่มีอาการปวดหลังคงเหลืออยู่
          สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการรักษาโรคโลหิตสตรี หรือต้องการปรึกษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โทร. 037 211 289

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2682 9880