ทรูมูฟ เรียกร้อง กทช. ดำเนินการดีแทค ชี้ขัดรัฐธรรมนูญห้ามรัฐต่างด้าวแข่งขันกับผู้ประกอบการเอกชนไทย เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
วันนี้ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ดำเนินการห้ามบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ประกอบกิจการแข่งขันกับผู้ประกอบการเอกชนไทย หรือขอให้เพิกถอนการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เนื่องจากบริษัท เทเลนอร์ นอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ดีแทค มีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม นอร์เวย์ ถือหุ้นในเทเลนอร์ นอร์เวย์ ร้อยละ 53.97 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 84 (1) ซึ่งห้ามรัฐประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน
บริษัท ทรู มูฟ จำกัด มอบหมายให้ นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ เป็นตัวแทนยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (1) ห้ามรัฐประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน จึงต้องตีความด้วยว่า รัฐธรรมนูญห้ามรัฐต่างด้าวไม่ว่าจะประเทศใดก็ตาม ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับผู้ประกอบการที่เป็นเอกชนไทย ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการสาธารณูปโภคเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติชัดเจนว่า แม้แต่รัฐไทยยังห้ามประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็น การแข่งขันกับเอกชนไทย
นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ตัวแทนทรูมูฟ เปิดเผยว่า นอกจากดีแทคจะมีผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างด้าวเกินกว่า ร้อยละ 49 แล้ว ยังปรากฏหลักฐานจากเว็บไซต์บริษัท เทเลนอร์ นอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ระบุว่า รัฐบาลของประเทศนอร์เวย์ โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ( Ministry of Trade and Industry ) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท เทเลนอร์ นอร์เวย์ จำนวนร้อยละ 53.97 รายละเอียดปรากฏตาม
http://www.telenor.com/en/investor-relations/major-shareholdings ทำให้บริษัท เทเลนอร์ นอร์เวย์ เป็นรัฐวิสาหกิจต่างชาติ นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานว่า บริษัท เทเลนอร์ นอร์เวย์ มีผลประโยชน์ทางธุรกิจใน ดีแทค จำนวนร้อยละ 65.5 ทั้งนี้ปรากฏตามรายงานประจำปีของบริษัท เทเลนอร์ นอร์เวย์ หน้า 05 หัวข้อ Asia DTAC –Thailand (
http://www.telenor.com/en/investor-relations ) ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้สถานะของ ดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าว และเป็นรัฐวิสาหกิจต่างด้าวแห่งรัฐนอร์เวย์ ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ได้รับ ใบอนุญาต ตามพรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม การที่ดีแทคเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นรัฐวิสาหกิจต่างด้าว ทำให้เกิดการเอารัด เอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) กำหนดมิให้รัฐประกอบกิจการที่มีลักษณะแข่งขันกับเอกชน ซึ่งต้องตีความรวมถึงเป็นการห้ามรัฐต่างด้าวหรือรัฐวิสาหกิจต่างด้าว ประกอบกิจการแข่งขันกับผู้ประกอบการเอกชนไทยด้วย และกรณีนี้ มิได้เข้าข้อยกเว้นตามรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการห้ามดีแทคแข่งขันกับผู้ประกอบการเอกชนไทย หรือขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบ กิจการโทรคมนาคมของดีแทค ทั้งนี้ เพื่อมิให้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1)