Google on June 20, 2011, 08:29:58 PM
พฤติกรรมการบีบแตรรถจากทั่วโลก กับการปรับจูนเสียงให้เหมาะกับผู้ขับขี่



          เสียงของแตรรถยนต์ใครคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ และหากลองฟังให้ดีก็จะสังเกตได้ว่าเสียงแตรของรถแต่ละคัน หรือแม้แต่เสียงแตรของรถในแต่ละประเทศนั้นก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย

          การบีบแตรเกิดขึ้นได้จากหลายวัตถุประสงค์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า และในบางครั้งยังขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้ขับขี่ ในบางกรณี ผู้ขับขี่ใช้การบีบแตรเพื่อทักทายเพื่อนบ้าน แจ้งเตือนให้เจ้าของบ้านทราบว่ามีคนมาหา หรือแม้แต่เพื่อแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อส่วนบุคคล

          สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย การบีบแตรส่วนใหญ่นับว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนรถคันอื่นๆ บนท้องถนนให้ระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น หรือบางครั้งก็ถือเป็นการต่อว่า (หรือระบายความหงุดหงิด)ในกรณีที่ผู้ร่วมทางมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ผิดไปจากวินัยการจราจรหรือมารยาทที่ดีตามที่ควรจะเป็น

         แพทริเชีย ซีชอร์ วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี อธิบายว่า เสียงแตรรถไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เสียง “ปี๊น ปี๊น” แบบเดียวเท่านั้น แต่อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ในรถยนต์นี้มีความสำคัญอย่างมากต่อความรู้สึก พฤติกรรม ความถี่ และวิธีการใช้งานของผู้ขับขี่ทั่วโลก

          “การที่ฟอร์ดมีรถจำหน่ายทั่วโลก ทำให้เราตระหนักถึงความแตกต่างในการใช้แตรของผู้ขับขี่ในแต่ละประเทศมากขึ้น” ซีชอร์ กล่าว “ผู้คนในแต่ละประเทศล้วนแต่มีพฤติกรรมการใช้แตรที่แตกต่างกัน”

          บางประเทศในทวีปยุโรป รถยนต์จะมีแตร 2 ชุด ชุดหนึ่งบนพวงมาลัยสำหรับใช้ในการจราจร และอีกชุดหนึ่งอยู่ด้านหลังของรถ ซึ่งจะใช้เป็นระบบกันขโมย ในทวีปอเมริกาเหนือ ผู้ขับขี่นิยมบีบแตรทักทายกันมากขึ้น และเสียงแตรก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องแสดงถึงความเป็นมิตรต่อกันด้วย

          ชีชอร์ ยังขยายความต่อไปว่า “เราไม่ได้ใช้แตรเพื่อส่งสัญญาณเตือนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีการใช้กันในหลายกรณี ทั้งในขณะที่มีรถคันอื่นพุ่งมาตัดหน้าหรือแม้แต่ในเวลาที่ไม่พอใจกันบนถนน อย่างไรก็ตาม

          เสียงแตรรถที่เกิดขึ้นในทางที่ดีก็ยังมีให้ได้ยินกันบ้าง เช่น เสียงแตรจากเพื่อนบ้านซึ่งตามมาด้วยการทักทายกัน หรือการบีบแตรเมื่อรถจอดเพื่อเรียกให้คนที่ยืนรออยู่เดินมาขึ้นรถ เป็นต้น”

          นอกจากนี้ ในทวีปอเมริกาเหนือ แตรยังถูกใช้เป็นสัญญาณเตือนในการล็อกรถเพื่อยืนยันให้ผู้ขับขี่ทราบว่ารถของคุณล็อกเรียบร้อยแล้ว และบางครั้งเจ้าของรถก็ใช้เสียงแตรในการมองหาว่ารถจอดอยู่ตรงไหนของลานจอดรถที่แออัดจนยากต่อการสังเกตรถของตัวเอง

          ด้วยเหตุนี้ ผู้ขับขี่ในทวีปอเมริกาเหนือจึงต้องการเสียงแตรที่ไม่กระด้างนัก ฟอร์ดเลือกใช้ “แตรแบบทรัมเปต” หรือ Trumpet horns ซึ่งทำจากพลาสติกที่มีรูปร่างเหมือนเครื่องดนตรีชนิดนี้ในการบีบเสียงแตรให้ทุ้มแหลมและไพเราะยิ่งขึ้น โดยรถส่วนใหญ่จะมีแตรแบบทรัมเปต 2 ชุด ที่ได้รับการปรับความถี่ให้มีเสียงสูงต่ำต่างกัน แต่ไม่ถึงกับทำให้เสียงดังจนแสบหู

          “แม้จะไม่อยากให้เสียงแตรดังแบบกรรโชกจนเกินไปนัก แต่เราก็ไม่ได้ต้องการให้เสียงแตรรถดังในลักษณะที่ไพเราะจนเกินไป จนไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่ได้ยินเสียงได้” ชีชอร์ กล่าว

          แม้จะเป็นคำตอบที่ลงตัวสำหรับผู้ขับขี่ในประเทศสหรัฐฯ แต่เสียงแตรแบบทรัมเปตไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมสำหรับผู้ขับขี่ทุกประเทศ เพราะในทวีปอเมริกาใต้นั้น ผู้ขับขี่ต้องการแตรที่สามารถใช้งานได้บ่อยๆ ในสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยนิยมเสียงแตรสั้นๆ แบบ “ปิ๊น ปิ๊น” ในขณะที่ ทวีปเอเชียนั้น ประเทศอินเดียเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้แตรอย่างหนัก เนื่องจากผู้ขับขี่มักจะบีบแตรตลอดเวลาเมื่อต้องขับรถฝ่าการจราจรที่หนาแน่น และเมื่อขับบนถนนที่ขรุขระ

          “สำหรับประเทศที่ผู้ขับขี่บีบแตรกันเป็นประจำในแต่ละวัน เราเลือกใช้แตรแบบดิสก์ หรือ Disc horn ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่า” ซีชอร์ กล่าว
 
          และในขณะเดียวกันก็มีลูกค้าที่ต้องการแตรทั้ง 2 แบบ

          “ในประเทศจีน ผู้ขับขี่จะวางมือหนึ่งบนพวงมาลัย และอีกมือหนึ่งอยู่บนแตร ซึ่งแตรรถในประเทศจีนมีขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้ แม้คนจีนจะใช้แตรบ่อยมากก็จริง แต่พวกเขาก็ต้องการเสียงแตรที่นุ่มนวล ดังนั้น เราจึงเลือกใช้แตรไฟฟ้า หรือ Electronic trumpet ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ตอบสนองต่อการใช้งานของชาวจีน”

          สำหรับประเทศไทยนั้น ฟอร์ดเลือกใช้แตรแบบไฟฟ้าเสียงเดียว และมีความดังพอสมควร ตามเกณฑ์ที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด ซึ่งนับว่าดังพอที่จะเรียกความสนใจจากผู้ร่วมใช้ถนน แต่ไม่ดังเกินไปจนเกิดความรำคาญหรือรบกวนผู้อื่น

          ข้อมูลและรูปภาพโดยฟอร์ด ประเทศไทย