enjoyjam.net » news & activity » news & activity (Moderators: happy, sianbun) » เชื้ออี.โคไล พ่นพิษ “สถาบันอาหาร” ชี้อนาคตพืชผักสดไทย « previous next » Print Pages: [1] Go Down happy on June 19, 2011, 06:54:45 PM เชื้ออี.โคไล พ่นพิษ “สถาบันอาหาร” ชี้อนาคตพืชผักสดไทยระบบตรวจสอบย้อนกลับต้องเข้มแข็ง-รวดเร็ว-แม่นยำ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผย 4 เดือนแรกของปี 2554 ไทยส่งออกสินค้าพืชผักสดเข้าตลาดสหภาพยุโรป(อียู)มูลค่าราว 877 ล้านบาท ชี้ชัดไทยไม่ได้รับอานิสงส์ส่งออกพืชผักสดไปอียู เพราะผักต้องสงสัยตัวการแพร่ระบาดเชื้อ อี.โคไล 0104:H4 เป็นคนละกลุ่มที่นำเข้าจากไทย ขณะที่อียูยังคงมาตรการตรวจเข้มผักสวนครัวสดที่นำเข้าจากไทย โดยเฉพาะการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อ อี. โคไล, ซาลโมเนลลา และยาฆ่าแมลงตกค้าง แนะไทยควรให้ความสำคัญกับความรวดเร็วและแม่นยำของระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)เพื่อลดผลกระทบกับทุกฝ่ายหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในครั้งต่อไป ขณะที่สมาคมผู้ผลิตผักสดของสหภาพยุโรปแจงมูลค่าการซื้อขายพืชผักสดที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดยุโรปราว 1 พันล้านยูโรต่อสัปดาห์ต้องได้รับผลกระทบ เกษตรกรกว่า 1,000 รายทั่วยุโรปไม่มีตลาดรองรับนานนับเดือน เฉพาะสเปนเสียหายราว 225 ล้านยูโรต่อสัปดาห์ ทั้งยังสูญเสียตลาดรัสเซียที่มีมูลค่า 600 ล้านยูโรต่อปี เหตุเพราะการสืบย้อนกลับต้นตอการระบาดล่าช้าและไม่แม่นยำนั่นเอง นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า ผลกระทบต่อธุรกิจการค้าสินค้าเกษตรในสหภาพยุโรป กรณีเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่ Escherichia coli (E. coli) O104: H4 ที่มีจุดเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศเยอรมันเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมานั้นล่าสุดได้ลุกลามไปสู่ 13 ประเทศทั่วยุโรป ได้แก่ เยอรมัน ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ค เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ นอร์เวย์ สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร และลักเซมเบอร์ก ซึ่งส่งผลให้มีชาวยุโรปติดเชื้อ อี.โคไล O104: H4 และมีอาการเจ็บป่วยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,256 ราย รวมทั้งทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 35 ราย (ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2554 ยืนยันโดยหน่วยงาน ECDC) แม้ว่าจะยังไม่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายอย่างเป็นทางการ แต่สมาคมผู้ผลิตและส่งออกผักและผลไม้ในสเปนคาดการณ์ว่าในแต่ละสัปดาห์ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 225 ล้านยูโรต่อสัปดาห์ และเมื่อผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่พบต้นตอของการระบาด สหภาพยุโรปจึงได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยรัสเซียตลาดส่งออกผักรายใหญ่ของยุโรปสั่งห้ามนำเข้าผักสดที่มีแหล่งผลิตจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งในแต่ละปีประเทศสเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน และโปแลนด์เป็นประเทศหลักๆที่มีการผลิตและส่งออกผักไปยังรัสเซียคิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรกว่า 1,000 รายทั่วยุโรปไม่มีตลาดหลักรองรับสินค้าในทันที รวมไปถึงบริษัทขนส่ง ตลาดค้าส่งและค้าปลีก เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ โดยนักวิชาการจากอิมพีเรียลคอลเลจในลอนดอนประมาณการณ์ว่าตลาดสินค้าผลไม้และผักสดในยุโรปมีมูลค่าสูงถึง 50 พันล้านปอนด์ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับที่สมาคมผู้ผลิตผักสดของสหภาพยุโรปยืนยันว่าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โรคระบาดของเชื้อนั้นมูลค่าการซื้อขายพืชผักสดที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดยุโรปนั้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านยูโรต่อสัปดาห์ ขณะที่สหรัฐอเมริกา เริ่มมีการตรวจสอบการขนส่งสินค้าที่มาจากเยอรมันและสเปน รวมทั้งเพิ่มการเฝ้าระวังและตรวจติดตามการปนเปื้อนในมะเขือเทศสด แตงกวาสด ผักกาด ผักสลัด รวมถึงถั่วงอกที่มาจากแหล่งที่คาดการณ์ว่าจะเป็นต้นตอของการระบาด และจากความเสียหายดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเสนอขอจัดสรรงบประมาณกว่า 210 ล้านยูโร สำหรับช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ อี.โคไล O104: H4 ในครั้งนี้ นางอรวรรณ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าความรวดเร็วและแม่นยำในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)หาแหล่งที่ทำให้เกิดการระบาดที่แท้จริงให้ได้เป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งข้อมูลที่สื่อสารไปในสู่สาธารณชนต้องแม่นยำและมีการยืนยันความถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อจำกัดผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในเยอรมันและในสหภาพยุโรป ทั้งยังเพื่อลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดต่อเกษตรกรกว่า 1,000 รายและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าพืชผักสดในสหภาพยุโรปไม่ให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ เนื่องจากการระบาดในครั้งนี้ได้กินเวลาไปกว่า 1 เดือนแล้ว แต่ปัจจุบันเยอรมันยังไม่สามารถสืบหาต้นตอที่ถูกต้องได้ ซึ่งยังคงต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมและเก็บตัวอย่างผักและอาหารที่สงสัยว่าจะเป็นต้นตอของการระบาดไปตรวจวิเคราะห์และพิสูจน์ เพื่อให้ได้ผลการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าเป็นต้นตอที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการระบาดหรือไม่ เพราะในระหว่างรอผลการยืนยันนั้นอาจต้องมีการทำลายพืชผักและผลไม้ในสหภาพยุโรปอีกเป็นจำนวนมหาศาล ดังเช่นที่ผู้ปลูกแตงกวาในแคว้นแซ็กโซนี่ของเยอรมันต้องทำลายแตงกวาและมะเขือเทศสดกว่า 200 ล้านผลในวันเดียว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจ(trust) จากผู้บริโภคทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของสหภาพยุโรปให้กลับคืนมา จากเหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลเยอรมันและหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย กล่าวคือ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่มีอำนาจของภาครัฐจะต้องมีการดำเนินการอย่างระมัดระวัง และต้องไม่เร่งรีบมากเกินไปในการแจ้งข้อมูลหรือการสื่อสารข้อมูลแหล่งที่สงสัยว่าจะเป็นต้นตอของการแพร่ของโรคระบาด และโรคติดเชื้อที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ส่งผลกระทบในวงกว้างออกไปสู่สาธารณชนก่อนที่จะได้รับการยืนยันผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เพราะนอกจากจะสร้างความเสียหายและปัญหาอย่างมากให้แก่เกษตรกร ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแล้วยังจะสร้างให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและขาดความเชื่อมั่นในการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของรัฐบาลอีกด้วย “อย่างไรก็ตาม ปัญหาการระบาดของเชื้อก่อโรค STEC O104: H4 ครั้งนี้ไม่น่าจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถขยายการส่งออกผักสดไปยังตลาดสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผักที่ทางเยอรมันสงสัยว่าจะเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดนั้นเป็นผักที่นำมารับประทานเป็นสลัด และมิได้เป็นผักกลุ่มที่มีการนำเข้าจากประเทศไทย ปัจจุบันสินค้าพืชผักสดที่ไทยส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรป ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้สด ข้าวโพดฝักอ่อน กระเจี๊ยบขาว คึ่นฉ่าย ผักในกลุ่มมะเขือ กลุ่มกะหล่ำ ถั่วฝักยาว และพืชผักสวนครัวกลุ่มกะเพรา โหระพา แมงลักและยี่หร่า กลุ่มพริกหยวก พริกชี้ฟ้าและพริกขี้หนู กลุ่มมะระจีน มะระขี้นก กลุ่มมะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือเหลือง มะเขือขาวและมะเขือขื่น กลุ่มผักชีฝรั่ง และใบผักชี เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบันสหภาพยุโรปยังคงมาตรการการตรวจเข้มผักสวนครัวสดที่นำเข้าจากไทย โดยเฉพาะการตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อ อี. โคไล, ซาลโมเนลลา และยาฆ่าแมลงตกค้าง ในปี 2553 ไทยส่งออกสินค้าพืชผักสดเข้าตลาดสหภาพยุโรปเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,925 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าการส่งเข้าตลาดสหภาพยุโรปประมาณ 877 ล้านบาท” นางอรวรรณ กล่าว Logged Print Pages: [1] Go Up « previous next » enjoyjam.net » news & activity » news & activity (Moderators: happy, sianbun) » เชื้ออี.โคไล พ่นพิษ “สถาบันอาหาร” ชี้อนาคตพืชผักสดไทย