sianbun on July 18, 2009, 10:28:52 AM
วอร์นเนอร์ มิวสิค จัดงานแถลงข่าวคอนเสิร์ต มาลีฮวนน่า อะคูสติก “พันธุ์เล-๑๐๐๐โล..พรรลำ”





      นัดดา บุรณศิริ กรรมการผู้จัดการ บ.วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด  จัดงานแถลงข่าวคอนเสิร์ตกลุ่มศิลปินจากแดนใต้ “มาลีฮวนน่า” หลังจากห่างหายไป 9 ปี  โดยคอนเสิร์ตจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคมนี้ เวลา 19.00 น. ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จองบัตรได้แล้วที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา บัตรราคา 1,000, 800 และ 500 บาท

      คอนเสิร์ตครั้งนี้ “มาลีฮวนน่า” จะนำบทเพลงเด่นๆ ตั้งแต่ผลงานชุดแรกจนถึงชุดล่าสุดมาเรียงร้อยเรียบเรียงขึ้นใหม่ และใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น ปี่ชวา, โพน หรือเครื่องดนตรีสากล เช่น ไวโอลิน, เชลโล ที่ได้ปิ๊ก-เปรียว จากฟุตบาธแฟมิลี่มาเล่นให้  เพื่อสร้างอรรถรสใหม่ ให้แฟนเพลงได้ชมและฟัง
« Last Edit: July 23, 2009, 09:30:15 AM by sianbun »

sianbun on July 18, 2009, 10:29:13 AM
คอนเสิร์ต มาลีฮวนน่า อะคูสติก พันธุ์เล–๑๐๐๐โล..พรรลำ

มาลีฮวนน่า คือ บุปผาแห่งเสียงเพลง เสียงเพลงที่เปรียบเสมือน ดอกไม้บาน บานประดับกลางใจคน ให้ได้ชุ่มฉ่ำชื่นใจ
มาลีฮวนน่า คือ วงดนตรีที่เกิดขึ้นจากความเป็นเพื่อน แล้วหล่อหลอมออกมาเป็นผลงาน ที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
15 ปีกับ 6 อัลบั้ม ทำให้ชื่อของมาลีฮวนน่า กลายเป็นชื่อหนึ่งที่อยู่ในใจของแฟนเพลง มาตลอดเวลา

หลังจากหยุดพักการทำงานดนตรีมาตั้งแต่ปี 2549
วันนี้ มาลีฮวนน่า พร้อมแล้วสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในรอบ 9 ปี
มาลีฮวนน่าจะขึ้นเวที หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำบทเพลงจากทุกอัลบั้มของพวกเขา มาขับกล่อมร้องบรรเลงด้วยสไตล์อะคูสติก ที่เข้าถึงรส ถึงอารมณ์
เป็น คอนเสิร์ต มาลีฮวนน่า อะคูสติก “พันธุ์เล–๑๐๐๐โล..พรรลำ”
คอนเสิร์ตที่มาลีฮวนน่า จะนำบทเพลงเด่นๆ ตั้งแต่ผลงานชุดแรก จนถึงชุดล่าสุด มาเรียงร้อย เรียบเรียงขึ้นใหม่ ใช้เครื่องดนตรีที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดนตรีพื้นบ้านไทย เช่น ปี่ชวา โพน หรือว่าเครื่องดนตรีสากล อย่าง ไวโอลิน เชลโล เพื่อสร้างอรรถรสใหม่ ในการรับชม และรับฟัง

คอนเสิร์ตที่มาลีฮวนน่าจะขึ้นเวทีพร้อมกับเพื่อนพ้องน้องพี่มากมาย ในวงการดนตรี ที่จะมาเป็นแขกรับเชิญ   

คอนเสิร์ตที่มาลีฮวนน่าจะเปิดโอกาสให้บรรดานักคิด นักเขียน ศิลปินอิสระทั้งหลาย ใช้พื้นที่หน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นเวทีแสดงผลงาน และความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหัตถกรรมต่างๆ งานเขียน หรืองานเพลง 

วันเสาร์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ คอนเสิร์ต มาลีฮวนน่า อะคูสติก “พันธุ์เล–๑๐๐๐โล..พรรลำ”
ที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เริ่มขับขานบทเพลงตั้งแต่ ๑๙,๐๐ น. เป็นต้นไป
จำหน่ายบัตรแล้ว ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา บัตรราคา ๕๐๐, ๘๐๐ และ ๑,๐๐๐ บาท

sianbun on July 18, 2009, 10:29:36 AM
มาลีฮวนน่า ดอกไม้ดนตรีจากดินแดนด้ามขวาน
“ไม่บอก เธอไม่ รู้แน่ อยากเข้าไปแค่ หัวใจ ที่ยังพรือโฉ้ ก็แค่ผู้ชาย
อยู่โบร๊กะแถมยังอดโซ รักของพี่ รักนี้ แค่รักหย่อม ๆ อยาก มีใคร สักคน
ช่วยผ่อนคลาย ความเหงา ความเศร้าที่ใจ บน ทางเดิน กว้าง ไกล ยังไม่มีใคร หัวใจ
พี่ยังพรือโฉ้...”

ย้อนหลังไปราวๆ 15 ปี ในช่วงที่วงการเพลงไทย อวลไปด้วยเสียงของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ดูเหมือนไม่มีที่ว่างให้กับงานเพลงในแนวทางอื่น
แต่มีบทเพลงหนึ่ง ที่เล่น บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีที่เรียบง่าย เสียงร้องสำเนียงใต้ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และท่วงทำนองที่ลื่นไหล ก็สอดแทรกเสียงกีตาร์ที่แตกพร่า ขึ้นมาเป็นเพลงฮิตได้ในยุคนั้น
ยุคที่แวดวงดนตรีอินดี้เบ่งบาน ยุคที่วงดนตรีจากแดนใต้ที่ชื่อว่า “มาลีฮวนน่า” เริ่มต้นเดินบนถนนดนตรีของเมืองไทย
            ***************************
มาลีฮวนน่า เริ่มต้นตั้งวงกันในปี 2534 จากความเป็นเพื่อนของกลุ่มนักเรียนศิลปะ และผองเพื่อนอีกหลายหลากสาขาอาชีพ ที่มาใช้ชีวิตกันในกรุงเทพฯ ในช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในตัว

มาลีฮวนน่า มีแกนนำคือ คฑาวุธ ทองไทย นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร  ธงชัย รักษ์รงค์ นักดนตรีที่เล่นตามร้านต่างๆ ทางภาคใต้ และสมพงศ์ ศิวิโรจน์ ที่กำลังศึกษาที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป โดยที่มาของชื่อวงนั้น ผันมาจากคำว่า มารีจัวน่า ที่แปลว่ากัญชา

พวกเขาร่วมกันทำงานเพลงที่มีแรงขับมาจากความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อสภาพสังคม สภาพแวดล้อม เพื่อระบายความอัดอั้นอันเกิดจากความแตกต่างของวัย และปมด้อยทางสถานภาพสังคม หากก็ไม่ได้มีผลงานเป็นรูปเป็นร่างออกมา 

จนปี 2537 มาลีฮวนน่าก็ออกเดินทางบนถนนสายดนตรีเต็มตัว ด้วยผลงานชุดแรก “บุปผาชน” ที่ได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์ยงยุทธ คำศรี แกนนำของวงด้ามขวาน วงดนตรีเพื่อชีวิต ที่ทำงานในแบบใต้ดินออกมา และประสบความสำเร็จมีแฟนเพลงติดตามเหนียวแน่น จนทำให้ทางวงมาลีฮวนน่ามองเห็นช่องทาง ที่จะส่งต่อความคิด ทัศนคติต่างๆ ที่พวกเขามีในบทเพลงออกไป โดยที่ไม่ต้องอาศัยบริษัทเพลงใหญ่ๆ มาสนับสนุน

อัลบั้ม “บุปผาชน” บันทึกเสียงกันที่ห้องอัดของฮิเดกิ มอริ ซึ่งเป็นบ้านสองชั้นในย่านบางบัวทอง ภาพปกก็เป็นฝีมือของสมพงศ์เอง ส่วนคฑาวุธได้วาดภาพลายเส้นที่ปกใน ปกอัลบั้มพิมพ์กันที่โรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ส่วนเทปคาสเส็ทท์ ก็ให้บริษัทออนป้าช่วยก็อปปี้ ให้ทางวงกับเพื่อนๆ ช่วยกันนำไปวางขายตามแผงเทปต่างๆ

สำหรับสมาชิกที่ร่วมกันทำงานในตอนนั้นประกอบด้วย คฑาวุธ ทองไทย-ร้องนำ, ธงชัย รักษ์รงค์ ร้องนำ/ กีตาร์, สมพงศ์ ศิวิโรจน์ แต่งเพลง และเชิดชัย ศิริโภคา เข้ามาดูแลในเรื่องธุรกิจ เพียงเวลาไม่นานนัก บทเพลงในแนวทางโฟล์ค ที่เรื่องราวบ่งบอกถึงชีวิตของผู้คน และสังคมรายรอบ โดดเด่นด้วยดนตรีสำเนียงใต้ กับเนื้อร้องที่เป็นภาษาถิ่น ของมาลีฮวนน่าก็เริ่มได้รับความนิยม โดยมีเพลง หัวใจพรือโฉ้, ลมเพลมพัด และ เรือรักกระดาษ เป็นแรงส่งสำคัญ และทำให้อัลบั้ม บุปผาชน ของมาลีฮวนน่าเป็นอัลบั้มเพลงใต้ดิน ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดชุดหนึ่งในบ้านเรา และนับจากนี้ พวกเขาก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในแวดวงคนฟังเพลงเพื่อชีวิต แฟนเพลงที่เป็นนักคิดนักเขียนอีกต่อไปแล้ว

ยิ่งในปี 2538 บริษัทไมล์สโตน ของมาโนช พุฒตาล ได้ชักชวนวงมาลีฮวนน่าเข้าไปร่วมงาน ยิ่งทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จนสามารถออกทัวร์ทั่วประเทศได้ในปีต่อมา ซึ่งถือว่ามีวงใต้ดินเพียงไม่กี่วงที่ทำได้แบบนี้ และได้รับความนิยมในลำดับต้นๆ ของวงการเพลงเพื่อชีวิต 

มาลีฮวนน่า ยังออกอัลบั้มมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2540 พวกเขามีอัลบั้มชุดที่ 2 “คนเช็ดเงา” ออกมา ก็ได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงอย่างอบอุ่น โดยมีเพลง โมรา และชะตากรรม เป็นเพลงดังประจำอัลบั้ม

ปี 2542 มาลีฮวนน่า ออกอัลบั้มชุดที่ 3 “กลับกลาย” ที่โดดเด่นด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยบทกวี ขณะที่เรื่องราวก็เน้นการปุกปลอบให้กำลังใจ 

ในปีถัดมา มาลีฮวนน่าก็เปิดบริษัทของตัวเองในชื่อ ดรีม เรคอร์ดส์ ที่สองแกนนำของวง คฑาวุธ ทองไทย กับธงชัย รักษ์รงค์ เป็นหุ้นส่วนใหญ่ โดยมีอัลบั้มชุดที่ 4 “เพื่อนเพ” ออกมาเป็นอัลบั้มแรก อัลบั้มชุดนี้มีที่มาจากการที่ทางวงได้เดินทางไปเปิดการแสดงในที่ต่างๆ แล้วได้พูดคุยกับเพื่อนพ้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศิลปิน นักประพันธ์ ที่หลายๆ คนเขียนงานเพลงขึ้นมาแล้วไม่มีโอกาสที่จะได้เผยแพร่ มาลีฮวนน่าจึงนำบทเพลงของพวกเขามาใส่ในอัลบั้ม เพื่อนเพ เพื่อที่จะได้เผยแพร่ไปในที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

มาลีฮวนน่า ยังสานต่อผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2545 พวกเขาออกอัลบั้มบันทึกการแสดงสด “ระบำสยามทาส” และตามด้วย “ลมใต้ปีก” ในปี 2546 ก่อนที่สมาชิกของวงจะพักการทำงานดนตรีในนามมาลีฮวนน่าลงชั่วคราว โดยต่างคนต่างก็หันไปทำงานประจำ หรืองานที่ตัวเองสนใจ คฑาวุธ ทองไทย เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว, ธงชัย รักษ์รงค์ ทำธุรกิจห้องอัดเสียง, สมพงษ์ ศิวิโรจน์ ใช้เวลากับการเขียนเพลง