PR on June 05, 2011, 12:17:31 PM
เอชเอสบีซี หนุนนักศึกษาไทย โชว์ไอเดียธุรกิจ พลิกเรื่องใกล้ตัวสู่ความต้องการของตลาดกับ “รองเท้าส้นสูงปรับส้นได้”



          เอชเอสบีซี หนุนนักศึกษาไทย โชว์ไอเดียธุรกิจ พลิกเรื่องใกล้ตัวสู่ความต้องการของตลาดกับ “รองเท้าส้นสูงปรับส้นได้” ในโครงการประกวด “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ 53-54”

          -พร้อมเสริมสร้างแนวคิด “ธุรกิจสีเขียว” เทรนด์ใหม่รับกระแสโลกยุคปัจจุบัน-
 
          นับเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ที่ธนาคารระดับโลกอย่าง “เอชเอสบีซี” ได้มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและทักษะเชิงธุรกิจของเยาวชนไทย ผ่านโครงการประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจในอนาคต เพื่อค้นหาแชมป์ประเทศไทยเข้าชิงชัยในการประกวดรอบชิงชนะเลิศในระดับภูมิภาคที่ฮ่องกง

          นายแมตทิว ล็อบเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์โครงการดังกล่าวว่า “โครงการประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ทางธุรกิจ และมีโอกาสเรียนรู้ทักษะเชิงธุรกิจ เช่น การวางแผนทางธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน การเขียนแผนงานธุรกิจ และทักษะการนำเสนองาน เพื่อพัฒนาเป็นนักธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต โดยแผนธุรกิจที่ชนะเลิศของไทยในปีนี้ ได้แก่ “Convertible heels” หรือ“รองเท้าแฟชั่นสตรีที่สามารถปรับส้นได้” นำเสนอโดย น.ส.วรวรรณ หวังพนิตกุล และน.ส.ธมนวรรณ เฉิน นักศึกษาจาก คณะบริหารธุรกิจ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางความคิดล่าสุด เพื่อเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับสาวๆที่ต้องการรองเท้าที่ใส่สบาย สะดวก และสร้างความมั่นใจ โดยได้รับสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันกับทีมชนะเลิศของฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ เวียดนาม และบรูไน เพื่อชิงรางวัลสุดยอดแผนธุรกิจ (Best of the Best Award) พร้อมเงินรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 100,000 เหรียญดอลล่าร์ฮ่องกง ที่ฮ่องกง ในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่แผนธุรกิจ Freshicator นวัตกรรมช่วยชี้วัดคุณภาพความสดของอาหารได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว จาก ม. ธรรมศาสตร์ รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ I-AM leather board นวัตกรรมแห่งวัสดุชนิดใหม่ ผลิตจากเศษผงฝุ่นหนัง อันเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์จากกระบวนการฟอกหนังในโรงงานฟอกหนังของไทย จากม.ธรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน พร้อมด้วยรางวัลชมเชย 2 รางวัลกับแผนธุรกิจ Plastic Energy ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นพลังงานทดแทนในรูปของน้ำมันดิบ จากม.มหิดล และแผนธุรกิจ Graphene Energy จากจุฬาฯ ที่นำสารพิเศษที่เพิ่งค้นพบที่เรียกว่า Graphene ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปีที่ผ่านมา มาสร้างแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพที่เหนือยิ่งกว่า สอดรับกับกระแสการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง

          นอกจากนี้ เอชเอสบีซี ยังสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับความสำเร็จในการเติบโตธุรกิจ เราจึงได้มอบรางวัลพิเศษแผนธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Business Innovation Award) ให้แก่ทีมที่จัดทำแผนธุรกิจดีเด่นด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดด้วย เพื่อผลักดันให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและดำเนินธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งแผนธุรกิจที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ กระถางถ่านชีวภาพ (Charcoal Bio Pot) ธุรกิจที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยการพัฒนาเศษอาหารและของเหลือใช้จากการประกอบอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยใช้หลักการแยกองค์ประกอบของขยะ แล้วนำมาเผาให้เป็นถ่าน แล้วนำถ่านนั้นมาเป็นส่วนประกอบของกระถางไอเดียธุรกิจสีเขียวจากนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ม.สยาม

          “ผมมองว่าโครงการประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” สามารถสร้างให้เด็กไทยรู้จักการวางแผนธุรกิจได้อย่างครบวงจร เพราะนอกจากเปิดโอกาสให้คิดแล้ว ยังมีการจัดอบรมเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อให้เด็กๆได้คิดอย่าง 360 องศา และมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อความเป็นแผนธุรกิจที่สมบูรณ์แบบ ในส่วนของมหาวิทยาลัยสยาม เราได้ส่งเด็กเข้าร่วมการประกวดอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ เรามุ่งไปที่ “ธุรกิจสีเขียว” จึงเกิดเป็นแผนธุรกิจ “กระถางถ่านชีวภาพ (Charcoal Bio Pot)” สามารถย่อยสลายได้เอง ที่ร่วมกันคิดโดยอาจารย์และนักศึกษาจากแรงบันดาลใจในเชิงของการทำโครงการเพื่อสังคมซึ่งพยายามเอาสิ่งใกล้ตัว อาทิ ขยะอินทรีย์ที่ผ่านการคัดแยกแล้วมาทดลองเผาให้กลายเป็นถ่าน และจัดการขึ้นรูปแบบ และผลิตเป็นกระถางต้นไม้ พร้อมเพิ่มมูลค่าด้วยการตกแต่งดีไซน์ที่สวยงาม โดยได้นำไปทดลองขายจริงในงานกาชาดที่ผ่านมา ในราคากระถางละ 60 บาท ปรากฏว่าขายดีมาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าเพื่อเสนอขายสู่ตลาดอย่างจริงจัง เพื่อหาทุนมาสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาในอนาคต” อ.พิเชษฐ์ มุสิกะโปดก ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารธุรกิจ ม.สยาม กล่าว

          ด้าน น.ส. ธมนวรรณ เฉิน 1 ใน 2 นักศึกษาสาว จากคณะบริหารธุรกิจ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้สร้างสรรค์แผนธุรกิจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ กล่าวว่า “Convertible heels” หรือ “รองเท้าแฟชั่นสตรีที่สามารถปรับส้นได้” เกิดจากการวิเคราะห์ถึงปัญหาใกล้ตัวที่เราเจอในปัจจุบัน มาสร้างเป็นทางเลือกใหม่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า ผู้หญิงมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับรองเท้า บางครั้งใส่ส้นสูงทั้งวันก็เมื่อย หรือหากในวันนี้ต้องมีกิจกรรมที่สมบุกสมบัน ส้นสูงอาจกลายเป็นปัญหาที่ทำให้เราต้องระวังในการเดินเพิ่มขึ้น บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องพกรองเท้าอีกคู่เพื่อเปลี่ยน แต่ก็ไม่สะดวกนัก ดังนั้น หากเรามี “รองเท้าที่เปลี่ยนระดับความสูงของส้นได้ในคู่เดียว ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้หญิงปรารถนา และนี่เองคือที่มาของ “Convertible heels” ซึ่งการคิดแผนดังกล่าว เราเริ่มคิดและเริ่มพัฒนาสินค้าขึ้นมาจริงๆ เพื่อทดสอบว่า สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ ด้วยคำปรึกษาที่ดีจากคุณพ่อซึ่งเป็นวิศวกร และอาจารย์ที่ช่วยแนะนำ ทำให้ “Convertible heels” สามารถเกิดขึ้นได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคตมองว่าสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจจริงจังได้ และที่สำคัญกลุ่มลูกค้าคงไม่ใช่แค่สาวไทยเท่านั้น แต่ความต้องการดังกล่าวมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้มั่นใจมากว่าแผนธุรกิจดังกล่าวน่าจะสามารถแข่งขันได้กับประเทศต่างๆ ในการประกวดสุดยอดแผนธุรกิจ (Best of the Best Award) ที่ฮ่องกง”

PR on June 05, 2011, 12:22:05 PM
ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ 2553-2554”


 
 ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ ในโครงการ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ 2553-2554” ด้วยแผนธุรกิจ “รองเท้าแฟชั่นสตรีที่สามารถปรับส้นได้”  -พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมแข่งขันระดับภูมิภาคที่ฮ่องกง-

          นายแมตทิว ล็อบเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย (ที่ 2 จากขวา) พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ ประกอบด้วย นางไขศรี เนื่องสิกขาเพียร (ซ้ายสุด) กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย นายสตีฟเวน บริททัน (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัทซินโนเวต ประเทศไทย และนายพอล กิ๊บบิ้นส์ (ขวาสุด) กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์แชร์ ประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดีกับทีมชนะเลิศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประกวดแผนธุรกิจโครงการ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ 2553-2554” ซึ่งได้แก่ น.ส. วรวรรณ หวังพนิตกุล และน.ส.ธมนวรรณ เฉิน ที่นำเสนอไอเดียธุรกิจ “รองเท้าแฟชั่นสตรีที่สามารถปรับส้นได้” เพื่อเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับสาวๆ ที่ต้องการรองเท้าที่ใส่สบาย สะดวก และสร้างความมั่นใจ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดล่าสุด โดยธนาคารเอชเอสบีซี มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลายเป็นนักธุรกิจคลื่นลูกใหม่ในอนาคต