ด้าน นายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลานอกจากเป็นจังหวัดที่มีชายหาดและธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังมีความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สำคัญเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่า 165 ปี จึงมีแหล่งเรียนรู้ที่กระจายอยู่ทั่วเมือง
“ การจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้สงขลา ยังถือเป็นนโยบายหนึ่งของเทศบาลนครสงขลาที่จะพัฒนาเมืองสงขลาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ด้านการศึกษา มรดกทางด้านวัฒนธรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรม ภูมิปัญญาของวัฒนธรรมท้องถิ่น และเพิ่มคุณค่าความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ”
สำหรับพื้นที่ในการจัดสร้าง จะตั้งอยู่บริเวณใจกลางย่านเมืองเก่า ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองมติจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหนึ่งในย่านเมืองเก่าที่ต้องทำการอนุรักษ์ ดังนั้นการออกแบบอาคารจะต้องสอดคล้องกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่า และต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน โดยขณะนี้ทางเทศบาลฯ ได้ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่จากกรมธนารักษ์เป็นที่เรียบร้อย พื้นที่ก่อสร้างโครงการอุทยานการเรียนรู้สงขลา
“ คาดว่า หลังจากที่เทศบาลฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว จะทำให้บริเวณดังกล่าว กลายเป็น ‘จัตุรัสของเมือง’ ซึ่งทางเทศบาลฯ เองมีความต้องการให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการจัดทำกิจกรรม การพัฒนาการเรียนรู้ และการแสดงต่างๆ ภายในเมือง เพื่อให้เมืองมีความคึกคักขึ้น
นอกจากเพื่อรองรับการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่ในเขตเทศบาลฯแล้ว ยังรองรับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้เข้ามาใช้ประโยชน์ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองสงขลาต่อไปในอนาคต ” สุดท้าย ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกยินดีที่ ปตท.สผ.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน ในฐานะที่ TK park เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เน้นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีใจรักการอ่าน ภายใต้พันธกิจหลักในการร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเรียนรู้ในบรรยากาศที่ทันสมัยในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” ซึ่งประกอบด้วย 3 ภารกิจที่สำคัญด้วยกัน คือ การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป , การพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ ที่ต้องปรับให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่น และการสร้างนวัตกรรมเพื่อที่จะแสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน จึงรู้สึกยินดีที่อุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุดมีชีวิต กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาอีกแห่งหนึ่ง
ปัจจุบัน นอกจากอุทยานการเรียนรู้ หรือ ห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบที่เปิดให้บริการ ณ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ แล้ว ยังมีอุทยานการเรียนรู้ยะลา ซึ่งเป็นเครือข่ายแห่งแรกที่เปิดให้บริการในพื้นที่ภาคใต้ มาตั้งแต่ปี 2550 และที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง คือ อุทยานการเรียนรู้สตูล คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2554 นี้