FB on August 16, 2011, 07:20:22 PM
ผู้หญิงยังอยู่ได้ แม้ผู้ชายจะหายไปหมดโลก เจ้าของรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวนิซ ภาพยนตร์ที่เป็นมากกว่า “ความร้าวราน” WOMEN WITHOUT MEN
         



 
          กำกับ ชิริน เนชาท (ร่วมกับ โชจา อาซารี) / แสดง ชาบนาม ตูลูอี, เปกาห์ เฟริโดนี, อาริตา ชาร์ซาด / ประเทศ อิหร่าน / ประเภท ดราม่า / ความยาว 95 นาที / ฉาย 15 กันยายน / โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ
 
          คุณเชื่อหรือไม่...ทุกๆ 1 วินาที มีผู้หญิงบนโลกนี้กำลังหัวใจร้าวราน...
          ชิริน เนชาท ศิลปินหญิงชื่อดังชาวอิหร่าน กำลังจะนำคุณไปสัมผัส ชีวิตอันหนักหนาสาหัสของผู้หญิง 4 คนที่ทั้งหัวใจและจิตวิญญาณ กำลังรอวันผุกร่อน ในภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลสิงโตเงินมาจากเทศกาลหนังเมืองเวนิซ

          Women Without Men
          Women Without Men ดัดแปลงมาจากนิยายของ ชาร์นุช ปาร์สิปูร์ ซึ่งฉากหลังอยู่ในประเทศอิหร่านช่วงปี 1953 ท่ามกลางเหตุการณ์การรัฐประหาร ความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกและรัฐบาลอิหร่าน และความผันผวนของการเมือง

          หนังจะเล่าเรื่องชีวิตผู้หญิง 4 คนที่ต้องเผชิญหน้ากับเคราะห์กรรม และพยายามหาทางเอาตัวรอดเพื่อหลุดพ้นไปจากความทุกข์ทรมาน ตั้งแต่โสเภณี, หญิงสาวที่รอความรักอย่างไม่มีหวัง, หญิงที่ถูกกักขังด้วยเหตุผลทางการเมือง, สตรีสูง

          และการเล่าเรื่องที่ผสมปนเประหว่างความสมจริงกับความเหนือจริงนี่เอง ทำให้ Women Without Men เป็นหนังว่าด้วยสิทธิสตรีที่ “พิเศษ” กว่าเรื่องไหนๆ และคว้ารางวัลสำคัญมาจากเทศกาลหนังเวนิซได้สำเร็จ
« Last Edit: September 13, 2011, 12:54:04 PM by FB »

FB on September 16, 2011, 02:26:53 PM
เกร็ดภาพยนตร์

          เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปถ่ายทำหนังที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมายได้ ชิริน เนชาท (และโชย่าห์ อาซารี ผู้กำกับร่วม) จึงต้องไปสร้างฉากและถ่ายทำกันในโมรอคโค และคาซาบลังก้า อุปโลกน์ว่าเป็นกรุงเตหะรานในยุค 50

          ชิริน เนชาทให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้อ่านนิยายเรื่อง Women Without Men ของ ชาร์นุช ปาร์สิปูร์ ตั้งแต่สมัยตัวเองยังเป็นวัยรุ่น และพบว่ามันเป็นหนังสือที่สะเทือนใจเธอมาก แม้ว่าเวลาผ่านไปหลายปี เนื้อหาในหนังสือก็ยังฝังอยู่ในใจของเธอ

          ชาร์นุช ปาร์สิปูร์ เขียนนิยาย Women Without Men ออกมาในรูปแบบนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ Magical Realism ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายในนิยายของอเมริกาใต้ เนื่องจากไม่ต้องการพูดถึงปัญหาในอิหร่านอย่างตรงไปตรงมา ถึงกระนั้นก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในอิหร่าน แต่ทว่ากลับได้รับการแปลหลายภาษาวางขายทั่วโลก

          เนื้อหาเดิมของนิยายนั้น จะเล่าถึงชีวิตผู้หญิง 5 คน แต่ฉบับภาพยนตร์จะตัดเหลือตัวละครหลักเพียง 4 ตัวเท่านั้น

          รู้จักกับผู้กำกับ ชิริน เนชาท
          ผู้สร้างงานศิลปะเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้เพศแม่

           ชิริน เนชาท เป็นศิลปินหญิงชาวอิหร่านที่โด่งดังอย่างมากในวงการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่นำเสนอความงดงามอันแสนหมองหม่น เกี่ยวโยงกับประเด็นล่อแหลมว่าด้วยศาศนาอิสลามและอิสรภาพทางเพศ (โดยเฉพาะเพศหญิงในโลกมุสลิม) จนเนชาทกลายเป็นศิลปินจากอิหร่านเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

          ตลอดเวลา 15 ปีที่เริ่มต้นผลิตงานศิลปะ เนชาทได้นำประสบการณ์และแนวคิดของเธอเอง สาดเทลงไปในชิ้นงานของเธออย่างเต็มเหนี่ยว ตั้งแต่ประสบการณ์การหนีออกนอกประเทศ (ปัจจุบันเธอพำนักอยู่ในนิวยอร์ก) การนำเอาประเด็นและอุดมการณ์ทางการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการปะทะกันของแนวคิดตะวันตกและตะวันออกกลาง โดยผ่านศิลปะภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวเป็นหลัก

ชิริน เนชาท เกิดในปี 1957 ที่เมืองกาซวิน ซึ่งถือเป็นเมืองที่เคร่งศาสนาที่สุดเมืองหนึ่งในอิหร่าน แต่เนชาทก็หลบหนีออกนอกประเทศไป ก่อนการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าชาห์ในปี 1979 และกลับมาบ้านเกิดเป็นครั้งคราว เพื่อเก็บเกี่ยววัตถุดิบในการสร้างงานศิลปะ แต่เนื่องจากเนื้อหาของงานศิลปะของเนชาท ล่อแหลมและท้าทายแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมมากเกินไป ในปี 1996 เธอจึงถูกทางการหมายหัว และเพ่งเล็ง จนเนชาทรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะกลับไปยังอิหร่าน

          ในปี 1993-97 ชิริน เนชาท ได้แสดงผลงานภาพถ่ายชุด Women of Allah ซึ่งเป็นภาพชุดของสตรีในอิหร่าน ในหลายอิริยาบถ นำเสนอเนื้อหาว่าด้วยบทบาทของสตรี ท่ามกลางกรอบอันเคร่งครัดและคร่ำครึของศาสนา การเมือง และวัฒนธรรม การโจมตีแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร

          ภาพถ่ายหลายภาพ เนชาทจำเป็นต้องลักลอบเดินทางไปยังชนบทอันห่างไกลในประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อรับฟังปัญหา สภาพความกดดัน และเรียนรู้ชีวิตของสตรีในหลายระดับ หลายชนชั้น จนเธอกลายเป็นกระบอกเสียงหนึ่งในการถ่ายทอดความเจ็บปวดของสตรีมุสลิมต่อชาวโลก

          ชิริน เนชาท เริ่มทดลองทำหนังและบันทึกภาพเคลื่อนไหว ในปี 1998 ด้วยการสนับสนุนของ โชย่าห์ อาซารี นักทำหนังอิสระชาวอิหร่าน (ผู้ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่ชีวิตของเธอ) ทั้งคู่ผลิตผลงานวิดีโอมีชื่อออกมาหลายชิ้นด้วยกัน งานทุกชิ้นพยายามวิพาษ์บทบาททางเพศในมิติทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตะวันออกกลาง งานอย่าง Soliloquy (1999) ของเธอได้รับการตอบรับอย่างดี และโด่งดังไปทั้งวงการศิลปะร่วมสมัย

          หลังจากสร้างงานวิดีโอ อินสตอลเลชั่นมาระยะหนึ่ง ชิริน เนชาทจึงหันมาทำหนังอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เริ่มต้นด้วย Women Without Men งานที่ทำให้เธอคว้ารางวัลสิงโตเงิน ผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิซในปี 2009
 
           WOMEN WITHOUT MEN
          15 กันยายน 2554
          โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ