ทรู รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2554 บริการบรอดแบนด์ บริการที่ไม่ใช่เสียงของทรูมูฟ เติบโตแข็งแกร่ง ขณะที่รายได้จากการรับทำการโฆษณาของทรูวิชั่นส์ เติบโตเพิ่มขึ้น
กรุงเทพฯ 18 พฤษภาคม 2554 - บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2554 รายได้จากการให้บริการโดยรวมเติบโตเพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย (Wireless Business Group) ประกอบด้วย ทรูมูฟ ทรูมูฟ เอช และ ฮัทช์ ได้รับประโยชน์จากการรวมธุรกิจฮัทช์ นอกจากนี้ รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง บริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าทั่วไปเติบโตทั้งรายได้และยอดผู้ใช้รายใหม่สุทธิ ขณะที่รายได้จากการรับทำโฆษณาส่งผลให้ทรูวิชั่นส์มีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า
ในไตรมาส 1 ปี 2554 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC)14.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า และร้อยละ 4.0 จากไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จากการรวมธุรกิจฮัทช์ และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริการบรอดแบนด์ บริการที่ไม่ใช่เสียงของทรูมูฟ รวมทั้งรายได้จากการรับทำการโฆษณาของทรูวิชั่นส์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มทรูมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA 4.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.0 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขยายโครงข่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาดที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ทรูมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ก่อนภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เป็น 92 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรูรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 293 ล้านบาท รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่เกิดจากการแปลงค่าหนี้สินต่างประเทศ เป็นเงินไทย (Mark to Market) ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันสิ้นงวด
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “แม้การแข่งขันในกลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สาย จะเพิ่มความกดดันต่อการทำกำไรของบริษัท แต่การรวมธุรกิจฮัทช์ และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของทรูออนไลน์และ ทรูวิชั่นส์ รวมถึงบริการที่ไม่ใช่เสียงของทรูมูฟ ทำให้รายได้จากบริการโดยรวมของกลุ่มทรูเติบโตเพิ่มขึ้น”
“บริษัทคาดว่าผลประกอบการของธุรกิจหลักจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง การขยายบริการ 3G+ เชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ “ทรูมูฟ เอช” ในฐานะผู้ขายต่อบริการ (รีเซลเลอร์) ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะเปิดโอกาสให้ทรูสามารถนำเสนอบริการ 3G ในเมืองไทย ตอบรับความต้องการบริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงของผู้บริโภค และมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกัน ยังคงรักษาความเป็นผู้นำบริการสมาร์ทโฟนในประเทศไทย”
“นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มทรูเปิดตัวแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง Ultra hi-speed Internet ความเร็วตั้งแต่ 10-100 Mbps ที่รองรับคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคอนเทนต์ในระบบเอชดี (high definition) ซึ่งทรูวิชั่นส์จะเป็นผู้นำเสนอแก่ลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ให้บริการประมาณ 1.5 ล้านครัวเรือนภายในสิ้นปีนี้ และยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง” นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติม
ผลการดำเนินงานของทรูออนไลน์ในไตรมาส 1 ปี 2554 ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จากการเติบโตของรายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และบริการโครงข่ายข้อมูล ในขณะที่อัตราการลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์พื้นฐานอยู่ในระดับคงตัว ทั้งนี้ รายได้จากบริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 13.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริการบรอดแบนด์ความเร็วมาตรฐาน 6 Mbps ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดให้บริการแพ็กเกจ Ultra hi-speed Internet ความเร็วตั้งแต่ 10-100 Mbps โดยในไตรมาสนี้ บริการบรอดแบนด์มีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิ 39,000 ราย ทำให้ลูกค้าของทรูออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านราย
กลุ่มธุรกิจสื่อสารไร้สายของทรู ประกอบด้วย ทรูมูฟ ทรูมูฟเอช และ ฮัทช์ มีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC 6.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า โดยทรูมูฟมีรายได้จากการให้บริการ ไม่รวมค่า IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า จากกลยุทธ์การนำเสนอบริการที่ไม่ใช่เสียง และบริการด้านข้อมูลสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ก้าวหน้าเป็นลำดับ ทั้งนี้ รายได้จากบริการแบบรายเดือนของทรูมูฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดผู้ใช้บริการสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่โปรโมชั่นใหม่ๆ ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อวันของบริการแบบเติมเงินปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณการใช้บริการโมบายอินเทอร์เน็ต และความครอบคลุมของโครงข่ายข้อมูลของทรูมูฟที่เพิ่มมากขึ้น ยังส่งผลให้รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 12.3 จากไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 26.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการของกลุ่มธุรกิจไร้สายเพิ่มขึ้นเป็น 18.4 ล้านราย โดยในไตรมาสนี้ ทรูมูฟมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มสุทธิ 552,000 ราย
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่จากรายได้จากการรับทำการโฆษณา การจัดคอนเสิร์ตซูเปอร์จูเนียร์ และรายการเรียลิตี้ คอฟฟี่ มาสเตอร์ ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการแพ็กเกจพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2553 เนื่องจากกระแสความนิยมของรายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในขณะที่โปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งนำเสนอแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดในวงกว้าง ทำให้ทรูวิชั่นส์มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 77,000 รายจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสนี้ ทรูวิชั่นส์มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 1.7 ล้านราย
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มทรูได้ประกาศแผนเพิ่มทุนผ่านการจัดสรรหุ้นสามัญใหม่เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Rights offering) จำนวน 13.2 พันล้านบาท โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนเพื่อขยายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ภายใต้แบรนด์ ทรูมูฟ เอช ซึ่งเป็นที่น่ายินดีหลังจากการประกาศเพิ่มทุนดังกล่าว ราคาหุ้นของทรูยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ บริษัท คาดว่าผู้ถือหุ้นจะจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้เต็มตามสิทธิ
นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวเสริมว่า “กลุ่มทรูยังคงมุ่งมั่นลดภาระหนี้สิน โดยได้ชำระคืนหนี้จำนวน 1.7 พันล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2554 นอกจากนี้ การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นหัวใจสำคัญต่อความมั่นคงทางการเงินของบริษัทในระยะยาว ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA สุทธิลดลงเป็น 3.2 เท่า (ไม่รวมเงินกู้ระยะสั้นเพื่อการเข้าซื้อหุ้นฮัทช์)”