ถึงเวลาอาหารปลอดภัย... สสปน.ชู ISO 22000 หนุนอาหารไทยขายได้ทั้งรสชาดและความมั่นใจจากนานาชาติ
การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองไม่ว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยว หรือไปทำงานทุกคนต่างต้องการได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งในเรื่องมิตรไมตรีจากเจ้าบ้าน ที่พัก สถานที่จัดงาน สถานที่ท่องเที่ยว และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องอาหาร ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องรสชาด และรูปลักษณ์อาหารเป็นที่ยอมรับของคนทุกมุมโลกซึ่งถือเป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และนักเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมสัมมนา
จากสถิติพบว่าผู้เดินทางมาประเทศไทยถึงร้อยละ 30 ประสบปัญหาอาหารเป็นพิษ ทำให้ลดความพึงพอใจ และประทับใจของผู้เดินทาง รวมถึงมีการบอกต่อข้อมูลนี้ไปสู่คนอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทาง ความกังวลใจในเรื่องนี้นำมาสู่การหารือกันของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. และ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย (ทิก้า) รวมถึงคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและองค์กรในอุตสาหกรรมไมซ์ จึงได้มีการริเริ่มโครงการความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ขึ้น
นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์ สสปน. กล่าวว่า “สสปน.ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยไปสู่เป้าหมายการเพิ่มยอดผู้เดินทางมายังประเทศไทยในปี 2554 ให้ได้ 720,000 ราย เล็งเห็นว่าการไปสู่เป้าหมายนั้นได้จะต้องหาหนทางสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนานาชาติ เพราะการจะดึงผู้เดินทางไมซ์มาสู่ประเทศไทยได้นั้นเราจำเป็นต้องเข้าสู่กลไกของสากลซึ่งจะช่วยให้เราไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ วันนี้กระแสการดูแลความปลอดภัยของผู้เดินทางทางด้านอาหารมาแรงมาก สสปน.จึงปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ของไทยไปสู่ ISO 22000 ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดทางด้านอาหารปลอดภัย”
มาตรฐาน ISO 22000 นั้นเป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารในทุกกระบวนการทั้งวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ระบบการปรุงอาหาร สถานที่ในการปรุงอาหาร สุขอนามัยของผู้ปรุงอาหาร และการขนส่งอาหารตลอดกระบวนการ จึงเป็นมาตรฐานที่ก่อนได้รับการรับรองนั้นผู้ประกอบการ และทีมงานจะได้รับการอบรม ถูกตรวจสอบวิเคราะห์อย่างเข้มงวด และแก้ไขข้อบกพร่องที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาอาหารเป็นพิษทั้ง 3 ทางที่ประกอบไปด้วยแบคทีเรียชีวภาพ เคมีชีวภาพ และกายภาพ ซึ่งขั้นตอนและกระบวนการทั้งหมดจะกินเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ส่งผลให้นานาชาติให้การยอมรับสถานประกอบการที่ได้รับการรับรอง ISO 22000 ว่ามีกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัย
นางสาวกณิกนันท์ ชัยวงศ์ ผู้ตรวจประเมิน และวิทยากร บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “การได้รับใบรับรอง ISO 22000 จะทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานอีก 2 ประเภทโดยอัตโนมัติ ได้แก่ GMP ซึ่งเน้นสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการประกอบอาหาร และ HACCP ซึ่งเน้นวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม ทำให้เห็นว่ามาตรฐาน ISO 22000 เป็นมาตรฐานที่เข้มงวดและรัดกุม หลังจากได้รับการรับรองแล้วจะมีการตรวจประเมินทุก 6 เดือน หากไม่ผ่านประเมิน การรับรองก็จะสิ้นสุดลง จึงทำให้มาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างมากจากสากล”
เมื่อริเริ่มโครงการความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์แล้ว สสปน.ได้จัดงานสัมมนาเพื่อให้ความรู้เรื่อง “สร้างโอกาสทางธุรกิจและความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าด้วยมาตรฐาน Food Safety ISO 22000” แก่ผู้แทนที่เกี่ยวข้องทางด้านอาหารของศูนย์ประชุม และโรงแรมชั้นนำ 80 ราย และสสปน.จะให้การสนับสนุนงบประมาณร้อยละ 70 ของค่าดำเนินการอบรม ตรวจประเมิน และรับรองมาตรฐาน ISO 22000 ต่อผู้ประกอบการไมซ์ 1 ราย โดยในเฟสแรกตั้งเป้าไว้ 3 ราย ซึ่งผู้ได้รับการรับรองทั้ง 3 รายจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการทำประชาสัมพันธ์ผ่านเทรดโชว์ และโรดโชว์ที่ สสปน.เข้าร่วมงาน
นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย (ทิก้า) กล่าวว่า “การที่สสปน. ดำเนินการด้านอาหารปลอดภัยโดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 22000 ถือเป็นมิติใหม่ในการยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการไมซ์ไทย ที่จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์โดยรวมของอุตสาหกรรมทั้งระบบ อีกทั้งจะช่วยเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไมซ์ได้เป็นอย่างดีในอนาคต เพื่อแข่งขันกับตลาดไมซ์นานาชาติได้ต่อไป”
ด้วยการรับรองมาตรฐาน ISO 22000 จากนี้ไปทั้งผู้เดินทางและผู้ให้บริการจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการรับบริการและให้บริการว่าอาหารได้ถูกควบคุมอันตรายจากความเสี่ยงของการปนเปื้อน และมีความปลอดภัยในขณะที่ปรุง และบริโภคซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกๆ คนพึงได้รับ