โรงงานน้ำตาลเสียดายผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำกว่าที่ควร เร่งรณรงค์ลดสิ่งปนเปื้อน พัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาว
โรงงานน้ำตาลยินดีกับชาวไร่อ้อยที่ปีนี้ปลูกอ้อยได้ผลผลิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ สะท้อนความมั่นคงของอุตสาหกรรมน้ำตาลและเอทานอล แต่คุณภาพยังต้องพัฒนา เพราะสัดส่วนอ้อยไฟไหม้สูงถึง 66% และสิ่งปนเปื้อนก็มากขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เร่งทำความเข้าใจชาวไร่อ้อยพร้อมสร้างแรงจูงใจ หวังพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะยาว
นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในปีนี้การปิดหีบอ้อยของโรงงานต่างๆ จะปิดช้ากว่าปีก่อนๆ เนื่องจากปริมาณอ้อยในปีนี้มีมากเป็นประวัติการณ์ โดยขณะนี้โรงงานที่ปิดหีบแล้วมีเพียง 20 แห่ง จาก 46 แห่ง ซึ่งประมาณอ้อยที่มีมากนี้ นอกจากมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยแล้ว ผลผลิตต่อไร่ก็เพิ่มขึ้นด้วย จากปีก่อนมีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 9.9 ตันต่อไร่ ปีนี้ขยับขึ้นมาเป็นเฉลี่ย 13 ตันต่อไร่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และภาครัฐที่ช่วยกันสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
“เป็นที่น่าดีใจที่ผลผลิตอ้อยออกมาดี เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและเอทานอลที่ต้องใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบตั้งต้น แต่ที่น่าเสียดายก็คือ อ้อยที่เข้าหีบปีนี้ มีอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ต่ำกว่าที่ควรจะได้” นางวัลยารีย์กล่าว
ทั้งนี้ ในฤดูการผลิตปี 2553/2554 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 92.8 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 94.8 ล้านกระสอบ คิดเป็นปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) ประมาณ 102 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีสัดส่วนของอ้อยไฟไหม้สูงถึงประมาณ 66% จากปีก่อนมีสัดส่วนของอ้อยไฟไหม้หลังปิดหีบแล้วประมาณ 64% เท่านั้น ซึ่งแนวโน้มของยิลด์อาจจะต่ำกว่า 100 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องเร่งทำความเข้าใจเรื่องของการลดสิ่งปนเปื้อนเพื่อเพิ่มคุณภาพอ้อย
นางวัลยารีย์ อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีที่สิ่งปนเปื้อนทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงว่า สมมติปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เป็น 100 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีปริมาณอ้อยชั่งน้ำหนักได้ 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม ผลิตน้ำตาลทรายได้ 100 กิโลกรัม แต่ปรากฏว่าอ้อย 1 ตันนี้ มีสิ่งปนเปื้อน 10% หรือ 100 กิโลกรัม น้ำหนักอ้อยที่แท้จริงจึงมีเพียง 900 กิโลกรัม ผลิตน้ำตาลได้ 100 กิโลกรัม นั่นหมายความว่า ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่ควรจะเป็นคือ 111.11 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ซึ่งยิลด์สูงกว่า 100 กิโลกรัมต่อตันอ้อย สำหรับอ้อย ที่มีสิ่งปนเปื้อน
“สิ่งปนเปื้อนมากับอ้อยนอกจากจะมีผลทำให้ยิลด์ลดลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลทรายด้วย ทำให้อุปกรณ์สับ หั่น ชำรุดเสียหาย ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้น เป็นต้น”
เลขานุการคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เร่งสร้างความเข้าใจกับชาวไร่อ้อยถึงผลเสียของอ้อยไฟไหม้และสิ่งปนเปื้อน หรือเสนอให้ภาครัฐมีสิทธิพิเศษจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อส่งผลผลิตให้ทางโรงงาน เช่น การลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือได้สิทธิพิเศษกรณีซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ตั้งเป้าจะลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ และลดสิ่งปนเปื้อน ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาว
อนึ่ง บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เป็นองค์กรช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย ด้วยข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์อย่างถูกต้อง และการสื่อสารความจริงให้สังคมและภาครัฐได้ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน