ร่วมคืนช้างเร่ร่อนสู่ป่า พบเบาะแสแจ้ง 1555
ผู้ว่าฯกทม. แถลงจับมือ 23 หน่วยงานตั้งเป้าส่งช้างคืนป่าหมดกรุงภายใน 2 ก.ค. 53 พร้อมชวนประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสช้างเร่ร่อน โทร.1555 ร่วมแก้ปัญหาช้างให้เป็นรูปธรรม ขณะที่รองฯ ธีระชน นำเทศกิจและทีมงานลงพื้นที่สำรวจช้างย่านรัตนาธิเบศร์ เผยหาก พ.ร.บ.ช้างประกาศใช้ จะช่วยการตรวจสอบช้างตั้งแต่ต้นทาง พบเดินเตร่ในกรุงมีโทษปรับ 1 แสนบาท จำคุก 5 ปี และช้างถูกกันตัว 30 วัน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชูเกียรติ ประทีปะเสน รองเลขาธิการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ และพอลล่า เทเลอร์ นักแสดง ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรม “ดีเดย์ ปล่อยขบวนเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำรวจช้างเร่ร่อน” ตามโครงการช้างยิ้มของกรุงเทพมหานคร ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกทม. เพื่อส่งเทศกิจออกไปทำการสำรวจช้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยจะมีการตรวจตั๋วรูปพรรณ ตรวจไมโครชิพ พร้อมใช้มาตรการเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้เชิญชวนให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาช้างเร่ร่อน และร่วมกันแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานครให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด และพร้อมใจกันส่งช้างกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนจำเป็นต้องมีการวางแผนและใช้ระยะเวลาในการสร้างความร่วมมือกับ 23 องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิต่างๆ เนื่องจากกทม. ไม่ต้องการดำเนินการแบบฉาบฉวย โดยกทม. ตั้งเป้าที่จะส่งช้างซึ่งมีอยู่กว่า 100 เชือกในกรุงเทพมหานครกลับคืนสู่ป่าให้หมดภายใน 1 ปี หรือวันที่ 2 ก.ค. 53 อย่างไรก็ตามการคืนช้างสู่ธรรมชาติจะต้องมีขั้นตอนการดำเนินงาน มีแหล่งพักพิงเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและฝึกช้างให้สามารถหาอาหารได้เองก่อนคืนสู่ธรรมชาติ ส่วนช้างที่ไม่สามารถคืนธรรมชาติได้จะต้องมีสถานที่รองรับเพื่อดูแลต่อไป
จากนั้นเวลา 10.30 น. ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทีมแพทย์จากกรมปศุสัตว์ และมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจช้างเร่ร่อน 2 เชือก บริเวณหลังห้างเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ เพื่อตรวจสอบประวัติ รูปพรรณ และเจ้าของช้างว่าถูกต้องตามที่แจ้งในตั๋วรูปพรรณและไมโครชิพหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นมีการเจรจาขอซื้อช้างทั้ง 2 เชือกเพื่อเข้าโครงการช้างยิ้มคืนส่งช้างสู่ป่า ปรากฏว่า ควาญช้างยินดีขายแต่ตั้งราคาไว้สูงถึงตัวละ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า ช้างเป็นสมบัติของตระกูลจะต้องนำเงินไปแบ่งญาติพี่น้องซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากไปทำทุน
รองผู้ว่าฯ ธีระชน กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นขณะนี้มีควาญช้างที่ประสงค์จะขายช้างกว่า 10 เชือก ซึ่งกทม. จะส่งรายละเอียดไปยังมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ซึ่งมีแหล่งพักพิงรองรับช้าง 3 แห่ง ได้แก่ จ.ลำปาง สกลนคร และลพบุรี เพื่อเจรจาซื้อช้างในราคาที่เหมาะสมไปอยู่ในความดูแลก่อนจะปล่อยเข้าป่า ส่วนช้างที่ไม่สามารถคืนสู่ป่า เช่น ช้างตาบอด จะต้องได้รับการดูแลและฟื้นฟูสภาพ และต้องมีการระดมทุนเพื่อเลี้ยงช้างที่ไม่สามารถกลับเข้าป่าได้ ทั้งนี้ตามที่ผู้ว่าฯกทม. ตั้งเป้าที่จะส่งช้างคืนสู่ธรรมชาติให้ได้ภายใน 1 ปีแม้จะเป็นโจทย์ยาก แต่หากร่าง พ.ร.บ.ช้าง แล้วเสร็จซึ่งกำหนดบทลงโทษปรับ 1 แสนบาท หรือจำคุก 5 ปี และควาญช้างจะต้องแจ้งช้างเกิดใหม่ภายใน 15 วันเพื่อขึ้นทะเบียนช้าง จะช่วยให้การตรวจสอบเป็นไปโดยง่ายและป้องกันการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเมืองอีกด้วย นอกจากนี้กทม. จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ ตรวจสอบการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งหากพบนำช้างเข้ามาเร่ร่อนจะถูกจับและโดนกักกันเป็นเวลา 30 วัน ส่งผลให้ควาญช้างไม่มีรายได้ และหากพบซ้ำอีกจะถูกจับและกักกันเช่นเดิม ส่วนกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีโครงการช่วยเหลือควาญช้างเพื่อไม่ให้นำช้างมาเร่ร่อน โดยมีเงินเดือนให้ควาญช้างคนละ 8,000 บาทต่อเดือนนั้น คงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้ควาญช้างได้รับการฝึกอาชีพไม่ว่าจะเป็น เกษตรหรือหัตถกรรม เพื่อให้มีอาชีพเสริมสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นช้างในกรุงเทพฯ โปรดแจ้งเบาะแสที่สายด่วนกทม. โทร.1555 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เทศกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบและดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป