งานเปิดตัว “ช้างเพาเวอร์ ยาจุดกันยุง”
ยาจุดกันยุงตราช้าง ปรับเปลี่ยนสูตร เพิ่มประสิทธิภาพ และนวัตกรรม เน้นความแตกต่างที่ผลิตจากธรรมชาติ สู้คู่แข่งตลาดยาจุดกันยุง ทุ่ม 60 ล้าน ปั้น “ช้างเพาเวอร์ ยาจุดกันยุง” พร้อมปรับโฉมใหม่ ดันแผนรุกตลาดทั่วไทย วาดเป้าสิ้นปีดันยอดขายเติบโต 20% และมีส่วนแบ่งตลาด 30%
นายวิสุทธิเทพ ตึกดี ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตยาจุดกันยุงภายใต้แบรนด์ “ช้าง” เปิดเผยว่ายาจุดกันยุงตรา “ช้าง” เริ่มจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2536 บริษัทฯประสบความสำเร็จกับการทำตลาดทั่วประเทศ และแบรนด์ “ช้าง” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดยาจุดกันยุงในประเทศไทย
บริษัทได้นำเสนอสินค้ายาจุดกันยุงในหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังนี้ ช้างเพาเวอร์ ขนาดมาตรฐาน, แบบแยกซองเดี่ยวบรรจุ, ขนาดประหยัด, กลิ่นพฤกษา 10 ชั่วโมง, ขนาดจัมโบ้ 12 ชั่วโมง, กลิ่นลาเวนเดอร์ และกลิ่นมะลิ
การทำการตลาดในหลายปีที่ผ่านมา “ช้าง” จะเน้นในเรื่องของการกระจายสินค้าเข้าสู่ช่องทางจัดจำหน่าย ซึ่งทางบริษัทได้มอบหมายให้กับทาง บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ด้วยโครงสร้างเครือข่ายและช่องทางการขายของดีทแฮล์มที่แข็งแกร่ง จึงทำให้ “ช้าง” สามารถครอบคลุมพื้นที่จัดจำหน่ายหลักๆ ได้ถึง 80% และเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วประเทศ
สำหรับกลยุทธ์ปี 2552 บริษัทฯ ได้ทำการพัฒนาสูตรของยาจุดกันยุงตรา “ช้าง” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดยุงให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ด้วยสาร SumiOne นวัตกรรมจากบริษัท Sumitomo ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผ่านการทดสอบและวิจัย ว่ามีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงในการกำจัดยุงมากกว่าสูตรเดิม และไม่มีผลกระทบต่อคนและสัตว์เลือดอุ่น ซึ่ง “ช้างเพาเวอร์” เป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ใช้ และสูตรนี้ได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยาจุดกันยุงตรา “ช้างเพาเวอร์” ยังผลิตจากธรรมชาติ จึงยิ่งปลอดภัยในการใช้ ทั้งยังปรับรูปลักษณ์ให้โดดเด่น สีสันสดใส สวยงามขึ้น หลังจาก “ช้าง” ได้คงรูปแบบเดิมมานาน และเปลี่ยนชื่อเป็น “ช้างเพาเวอร์”
บริษัท เทคโนเปีย (ไทยแลนด์) จำกัด มีแผนทุ่มงบโฆษณาและประชาสัมพันธ์กว่า 60 ล้านบาท ทั้งในส่วนของ โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแจกตัวอย่างทดลองใช้กว่า 500,000 ชิ้น โดยเน้นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคที่มาจากยุง เป็นหลัก อาทิ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และอื่นๆ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมโรดโชว์ไปตามแหล่งชุมชน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องภัยร้ายของยุงและโรคติดต่อจากยุง
ปัจจุบัน ตลาดยาจุดกันยุงแบบขด มีมูลค่าทางการตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ห่านฟ้า 33% ช้าง 25% โดยตลาดยาจุดกันยุงมีอัตราการเติบโตประมาณ 3 - 5% ต่อปี