happy on May 04, 2011, 02:27:31 PM
TK park เตรียมจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์
‘อ่านเพื่อนบ้านจากประสบการณ์การส่งเสริมการอ่าน’


อุทยานการเรียนรู้ TK park

                 ปัจจุบันสถานการณ์การไม่รู้หนังสือของคนไทยนั้น ‘กำลังเข้าขั้นวิกฤต’ ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทย พบว่า มีการอ่านหนังสือเพียงปีละ 2 เล่มต่อคน ซึ่งนับว่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่มต่อคน และประเทศเวียดนามมีสถิติการอ่านหนังสือถึงปีละ 60 เล่มต่อคน  โดยสาเหตุหลักที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่อ่านหนังสือ คือ ชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า รองมาคือ ไม่ชอบอ่าน ไม่สนใจและอ่านหนังสือไม่ออก





                 จากเหตุดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณให้เห็นว่า...การอ่านหนังสือของคนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ ‘ภาวะวิกฤต’ ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามรณรงค์ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการอ่าน แม้แนวโน้มการอ่านหนังสือของคนไทยที่เพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
                 ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันเร่งหาแนวทางรณรงค์และส่งเสริมการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพคนและพัฒนาคุณภาพสังคม ซึ่งทางรัฐบาลเองได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน และประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552


TK park : แนวทางการส่งเสริมการอ่านของไทย และเพื่อนบ้าน ‘ อาเซียน’



                 ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.) TK park กล่าวว่า “ สถานการณ์การอ่านของคนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ในฐานะแหล่งเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กและเยาวชนมีใจรักการอ่าน ภายใต้พันธกิจหลักในการร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเรียนรู้ นอกจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องแล้ว TK park ยังได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี หรือ TK Forum ขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดสังคมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น โดยมีการจัดกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ”  
                 สำหรับในปี พ.ศ. 254 TK park  มีแนวคิดในการจัดโครงการประชุมทางวิชาการประจำปี 2554 (Thailand Reading Symposium  2011) ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการยกระดับการจัดงานสัมมนาวิชาการ  เพื่อสานต่อการผลักดันเชิงนโยบายการอ่านของประเทศ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้เป็นการประชุมนำร่อง ก่อนนำไปสู่ความรู้ด้านการส่งเสริมการอ่านระหว่างประเทศ กับกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้กรอบประชาคมอาเซียน ที่จะมีขึ้นในปี พ.ศ.2558
                ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN)ในอีก 4 ปีข้างหน้า สอร.จึงเตรียมเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก โครงการส่งเสริมการอ่าน,นโยบายส่งเสริมการอ่าน,การส่งเสริมและการปลูกฝั่งนิสัยการอ่านของไทยและประเทศเพื่อนบ้านขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ครั้ง  
                โดยจะเริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 11 พ.ค. 2554 ในหัวข้อเรื่อง ‘อ่านเพื่อนบ้านจากประสบการณ์การส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้าน’ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การด้านการส่งเสริมการอ่าน  โดยได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการส่งเสริมการอ่านของ 4 ประเทศในภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์,เวียดนาม,ลาว และไทย เพื่อนำร่องไปสู่ “Thailand Conference on Reading หรือ TCR 2011” ที่จะจัดขึ้นอีกครั้งในปลายเดือนสิงหาคมนี้

« Last Edit: May 04, 2011, 03:07:07 PM by happy »

happy on May 04, 2011, 02:39:44 PM
‘การอ่าน’ เป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพ และความร่วมมือใน “ประชาคมอาเซียน”


                นายวัฒนชัย วินิจจะกูล  หัวหน้าฝ่ายวิชาการ TK park กล่าวเสริมว่า การอ่านนั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่ความรู้และความเข้าใจประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการเป็น ‘พลเมืองอาเซียน’ ในอีก 4 ปีข้างหน้า เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า มีคนไทยน้อยมากที่รับรู้ถึงแนวทางการส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้านนั้นมีการดำเนินการกันอย่างไร

                “ การอ่านนับเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 3 เสาหลักที่จะเชื่อมโยงสมาชิกทั้ง 10 ประเทศเข้าด้วยกัน  นอกเหนือจากด้านความมั่นคง  และด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการนำหัวข้อเรื่องการอ่านมาเป็นเนื้อหาในการจัดประชุมวิชาการที่จะมีขึ้น โดยหวังว่าการรู้จักเพื่อนบ้าน  ผ่านประสบการณ์ส่งเสริมการอ่านด้วยโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ จะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะปูทางไปสู่ความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น   จนนำมาสู่สันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะรวมเข้าเป็นประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ.2558”

                การสัมมนาวิชาการในวันที่ 11 พ.ค. 2554 จะเป็นเวทีนำร่องไปสู่เวทีใหญ่ โดยนำเสนอประสบการณ์จากโครงการหรือกิจกรรมส่งเสริมการอ่านของ 4 ประเทศ เริ่มจากประเทศสิงคโปร์ จะพูดถึงโครงการ Read Singapore เป็นโครงการส่งเสริมการอ่านระดับชาติ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการ “One Book,One City” ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐอเมริกา และแผ่ขยายไปยังประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย รวมถึงเกาหลีใต้ เป็นโครงการที่กระตุ้นให้คนในเมืองๆ หนึ่งอ่านหนังสือเรื่องเดียวกัน และเปิดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนั้นในแง่มุมต่างๆอย่างเข้มข้น

                 ส่วนเวียดนามจะนำเสนอเรื่องโครงการ Room to Read เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยอดีตผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์ Mr.John Wood เมื่อปีพ.ศ.2541 ที่ดำเนินการในประเทศเนปาลเป็นแห่งแรก เพื่อรับบริจาคหนังสือให้แก่โรงเรียนและห้องสมุด ต่อมาได้ขยายไปสู่ประเทศแถบแอฟริกา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ขาดแคลนหนังสือ โดยเวียดนามเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2544 โดยการประสานความความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและองค์กรท้องถิ่น  เช่น  กรมการศึกษา เป็นต้น
                 ด้านลาว จะนำเรื่องขององค์กร “ฮักอ่าน” ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลผ่านทางหอสมุดแห่งชาติลาว จัดทำโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ และรณรงค์เรื่องการรู้หนังสือ การนำหนังสือสู่โรงเรียนและการจัดตั้งห้องสมุด “ฮักอ่าน” ในโรงเรียนต่างๆ  
                 สำหรับประเทศไทยจะนำเสนอโครงการการส่งเสริมการอ่านของอุทยานการเรียนรู้ TK park ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่มีต่อแวดวงการอ่านและการพัฒนาแหล่งเรียนรู้  ทั้งนี้สิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการสัมมนาในเวทีนำร่อง คือ การขยายขอบเขตความรับรู้เกี่ยวกับประสบการณ์และกิจกรรมการส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการอ่านของประเทศเพื่อนบ้านในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป






« Last Edit: May 04, 2011, 03:10:42 PM by happy »