happy on May 02, 2011, 06:10:05 PM
สถาบันอาหารคาดปี 54 มูลค่าส่งออกอาหาร 8.55 แสนล้านบาท
เติบโตร้อยละ 6.5 รับอานิสงส์เศรษฐกิจโลกขยายตัว และภัยพิบัติธรรมชาติ




               3 องค์กรเศรษฐกิจ คาดยอดส่งออกอาหารปี 54 มูลค่า 855,000 ล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัว  ร้อยละ 6.5 ใกล้เคียงกับปี 2553 ที่มีอัตราเติบโตร้อยละ 6.4  ชี้ได้อานิสงส์เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ4.4 และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาแพง จากความแปรปรวนของสภาพอากาศ และราคาพลังงาน ทั้งภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้  ชี้อุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งจะขาดแคลนวัตถุดิบมากขึ้น หลังเกิดอุทกภัยในภาคใต้ และสภาพอากาศแปรปรวน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังและน้ำมันปาล์ม เตือนผู้ประกอบการไทยควรเริ่มทำแผนบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพื่อรับมือได้ทัน จับตาญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าจะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในเชิงรุกหวังผลระยะยาวมากขึ้น โดยขยายฐานการลงทุนภาคเกษตร เช่น ข้าว สินค้าประมง ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และ ปศุสัตว์ไปยังภูมิภาคต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย



               27 เมษายน 2554/การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร เรื่อง เรื่อง “สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต” มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายวิศิษฎ์   ลิ้มประนะ   ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และนายอมร   งามมงคลรัตน์  รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น



               นายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Centerเพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
             สำหรับภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับปี 2553  โดยการส่งออกจะมีมูลค่า 855,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ขณะที่ปี 2553 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตดี ทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะภัยพิบัติในญี่ปุ่น ความไม่สงบในตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศในหลายพื้นที่ในโลก ทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้ารายสำคัญได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกบ้างเล็กน้อย


               นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย   มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 14-15 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวมในแต่ละปี ซึ่งตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละกว่า 113,000 ล้านบาท และเนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งประมงของญี่ปุ่นเสียหายจากภัยพิบัติและการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสีประมาณร้อยละ 30 ของผลผลิตรวมทั้งประเทศ ทำให้คาดว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำเข้าอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าอาหารของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ เช่น ไก่สุกแปรรูป, กุ้งแช่แข็งและแปรรูป, ทูน่าและปลาอื่นๆ กระป๋อง, ปลาทะเลสดแช่แข็ง, ผลไม้สดและแปรรูป รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและมีญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ที่ไทยได้รับอาจไม่มากนักเพราะยังมีข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ 1)อำนาจซื้อของคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงจากการที่ประชาชนจะเริ่มประหยัดการใช้จ่าย เนื่องจากยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ความปลอดภัยในอนาคต ซึ่งในระยะสั้นจะทำให้คนญี่ปุ่นชะลอการเดินทางท่องเที่ยวและกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่งดเดินทางไปญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้ารวมทั้งธุรกิจบริการร้านอาหารในญี่ปุ่นให้ซบเซาตามไปด้วย และ 2) ตลาดญี่ปุ่นยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง ไม่เพียงแค่ไทยเท่านั้นที่ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอาหารในญี่ปุ่น แต่ยังมีประเทศคู่แข่งที่พร้อมให้ญี่ปุ่นเลือกนำเข้าอาหารได้อีกเป็นจำนวนมาก เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ครองตลาดอาหารในญี่ปุ่น
               อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นพึ่งพิงตนเองด้านอาหาร ได้เพียงร้อยละ 40 เท่านั้น ส่วนที่เหลือร้อยละ 60
ต้องพึ่งพิงการนำเข้า จากวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิชิ ทำให้สินค้าเกษตรและประมงของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน รัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด ในฐานะบริษัทผู้นำเข้าอาหารจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตอื่นๆ ทดแทน เพื่อลดภาระการตรวจสอบและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าของตน  สำหรับสินค้าอาหารที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญ  10 อันดับแรก ข้อมูลจากกรมศุลกากรในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554  ได้แก่ 1.ทูน่าสกิปแจ็คแช่แข็ง  2.ปลาแม็คเคลเรลแช่แข็ง  3.ปลาแปซิฟิกแซลมอนแช่แข็ง  4.หมึกกล้วยแช่แข็ง 5.ของผสมที่ใช้ปรุงรุส   6.ส่วนผสมสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร 7.แป้งข้าวสาลี  8.ปลาทะเลอื่นๆ    แช่แข็ง  9.ปลาซ็อคอายแซลมอนแช่แข็ง และ10.ปลาทูน่าครีบเหลืองแช่แข็ง
          “ภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายชนิดไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการสรรหาวัตถุดิบจากหลายๆแหล่ง เพื่อสามารถใช้ทดแทนกันได้  รวมทั้งการกระจายตัวของตลาด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรงหากเกิดปัญหากับประเทศใดประเทศหนึ่ง  เป็นการวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เพื่อหาทางชะลอความรุนแรงของผลกระทบและแก้ปัญหาให้ลดความรุนแรงของผลกระทบลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ภายในเวลาที่สั้นที่สุด  ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเริ่มทำแผนบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีการติดตามสถานการณ์แหล่งวัตถุดิบและตลาดของตนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รับมือได้ทัน  เพราะแนวโน้มในอนาคตภัยพิบัติทางธรรมชาติจะมีความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น”   นายเพ็ชร กล่าว

happy on May 02, 2011, 06:20:39 PM


               ด้านนายอมร  งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า  สถานการณ์การค้าอาหารไทยในไตรมาสแรกของปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยการส่งออกมีมูลค่า 222,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 78,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 ซึ่งอัตราขยายตัวของการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออกสะท้อนว่า รายได้จากการส่งออกปรับตัวไม่ทันกับการนำเข้า ซึ่งแม้ตัวเลขการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากกว่า  จะส่งผลทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
    การส่งออกอาหารไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณ 8.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 มูลค่า 222,528 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าหลักๆ ได้แก่ ข้าว ไก่ ทูน่ากระป๋อง ผักผลไม้ทั้งสดและแปรรูป มีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกขยายตัวดี ขณะที่ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพมากขึ้นโดยเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ
   สินค้าอาหารที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8, ทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3, ผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0, ไก่และสัตว์ปีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 และผัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 อย่างไรก็ตาม มีหลายอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบทำให้การส่งออกลดลง อาทิ กุ้ง ปลาทะเล มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย เช่น การขาดแคลนมันสำปะหลังส่งผลทำให้การผลิตผงชูรส และอาหารสัตว์ชะลอตัว รวมทั้งต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น


                นายอมร กล่าวต่อว่า ในไตรมาสแรกของปี 2554 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกอาหารโดยรวมของไทย ซึ่งสัดส่วนใกล้เคียงกับสถานการณ์ในช่วง 2-3 ปี    ที่ผ่านมา รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 11, อันดับ 3 คือจีน สัดส่วนร้อยละ 8
    แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่า 211,734 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้ผลิตมีข้อจำกัดในการเพิ่มกำลังการผลิตเนื่องจากหลายอุตสาหกรรมยังคงประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะกุ้ง มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม
   อย่างไรก็ตามการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2554 มีปัจจัยสนับสนุนอยู่ 2 ประการคือเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังขยายตัวดี โดยปี 2554 ไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 4.4  อีกทั้งภัยพิบัติ และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะทำให้มีความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็อาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาแพง จากความแปรปรวนของสภาพอากาศจากต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงาน ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

                นายอมร กล่าวเพิ่มเติมถึงนโยบายและทิศทางการปรับตัวของญี่ปุ่นว่า มีแนวโน้มจะนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่บริเวณประสบภัยไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ไปอีกระยะหนึ่ง และน่าจะมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในเชิงรุกมากขึ้น โดยขยายการลงทุนไปยังภูมิภาคต่างๆ เพิ่มขึ้น

                เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศในระยะยาว โดยภูมิภาคที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจในการขยายฐานการผลิตอาหาร คือ เอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการขยายฐานการลงทุนอยู่ในกลุ่มที่ญี่ปุ่นพึ่งพิงตัวเองได้ไม่มาก เช่น ข้าว สินค้าประมง ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล และปศุสัตว์
   ในปี 2553 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 12 ของโลก แต่ส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.48 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 2.55 ในปี 2553 โดยไทยยังเป็นประเทศเกินดุลการค้าอาหารในอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ในเอเชีย โดยมูลค่าเกินดุลกว่า 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นรองแค่ บราซิล อาร์เจนติน่า สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าอาหารสูงที่สุดอันดับ 1 ถึง 4 ตามลำดับ
                “ส่วนประเทศที่ขาดดุลการค้ามากที่สุดในโลก คือญี่ปุ่น ขาดดุลเกือบ 56,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร รัสเซีย เยอรมนี จีน และเกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ตามลำดับ และการเกินดุลการค้าของประเทศผู้ส่งออกสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับประเทศผู้นำเข้าสำคัญที่มีแนวโน้มขาดดุลการค้ามากขึ้น สัญญาณดังกล่าวชี้ว่า ประเทศที่ผลิตและส่งออกสำคัญมีแนวโน้มต้องผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงดูประชากรในประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการให้ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง 1 ใน 5 ของประชากรโลก กำลังเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้ส่งออกสุทธิมาเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารสุทธิมาตั้งแต่ปี 2551 โดยความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจีน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาอาหารโลกในปัจจุบัน แม้ในระยะสั้นราคาอาหารโลกจะมีความผันผวนมากตามอุปสงค์อุปทานสินค้าเกษตร แต่ระยะยาวราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน หรือแม้แต่อินเดีย ซึ่งภายในไม่กี่ปีข้างหน้าคาดว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าอาหารเป็นรายต่อไป” นายอมร กล่าว



happy on May 02, 2011, 06:25:44 PM