ครูพี่แนน ใจเกินร้อย ลุยช่วยครู 3 จังหวัดชายแดนใต้ แนะเทคนิคสอนสไตล์ Memolody พร้อมปลุกกำลังใจครู เชื่อมั่นในการทำดี
ในวันที่สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังคุกรุ่น ไม่เพียงเด็กนักเรียนตัวน้อย ๆ เท่านั้นที่ต้องการที่พึ่ง แม้แต่ “ครู” ผู้เป็นแม่พิมพ์ของชาติเองก็มองหากำลังใจที่ทำให้รู้สึกว่า “ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง” เพื่อสร้างเยาวชนตัวน้อย ๆ ในพื้นที่เสี่ยงภัยนี้ ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ….
กระทั่งล่าสุด ครูสาวจากเมืองกรุง ครูพี่แนน-อริสรา ธนาปกิจ ก็ได้เดินทางลงสู่พื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อไปเป็นไม้ขีดไฟก้านเล็ก ๆ ที่ช่วยจุดประกายไฟกองน้อย ๆ ในใจคุณครูใต้ให้ลุกโชนขึ้น....
“แนนทราบมาว่าคุณครูในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าอบรมสัมมนาต่าง ๆ พอทาง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด” กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ขึ้น คุณครูจากโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็เลยมาสมัครกันมากแบบเหนือความคาดหมาย เช่น คุณครูเข้าร่วมได้โรงเรียนละคน แต่บางโรงเรียนก็ส่งมาเลย 8 คน รวมแล้วในวันนั้นน่าจะมีคุณครูเข้าร่วมประมาณ 200กว่าคนคะ”
ครูพี่แนน เริ่มเล่าถึงที่มาของการลุยไปร่วมแนะเทคนิคแนวการสอนให้กับครูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังได้รับการติดต่อให้เป็นหนึ่งในวิทยากร ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวิชาภาษาอังกฤษ ที่จัดขึ้น ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเธอได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบนอกกรอบ แนว Edutainment ให้กับคุณครูภาคใต้ ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เริ่มต้นเลย อยากให้ทุกคนเชื่อก่อนว่า “ความสุขมันมีผลทำให้การเรียนดีขึ้น” แนน ก็เลยนำบทเพลง Memolody มาให้คุณครูร้อง ปรากฏว่าสุดท้ายทุกคนก็จำได้จริง ๆ ...ซึ่งเราต้องเตรียมการสอนใหม่หมด เพราะ
อยากให้คุณครูนำไปใช้ได้เลย เช่น การเรียนด้วยสื่อ การเรียนแบบบูรณาการ คิดแบบเป็นระบบ ให้มองภาพรวม และรวบรวมเคล็ดลับต่าง ๆ เพื่อให้ครูนำไปใช้ในการสอนได้เลย …บอกตรง ๆ ว่ารู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณครูในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนกลับหลายท่านมายังบอก แนน ว่า ...มาอีกนะ..ไม่ต้องกลัวนะ..”
“สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา เป็นพื้นที่คุณภาพทางการศึกษาต่ำโดยจะผลัดกันครองแชมป์ “รั้งท้ายขบวน” มาตลอดหรืออยู่ในอันดับที่ 74-76 ของประเทศเรานี้ จึงมีแนวคิดเชิญวิทยากรที่มีคุณภาพโดดเด่นจริง ๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวการสอนใหม่ๆให้กับครูภาคใต้ ได้มีแนวทางการนำทักษะการสอนในรูปแบบใหม่ มาประยุกต์ใช้ในบทเรียนเพื่อความไม่ซ้ำซากจำเจและสร้างความเข้าใจให้กับผู้เรียน และนักเรียนจำบทเรียนได้ดีขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เครือศรี วิเศษสุวรรณภูมิ รองคณะบดีฝ่ายฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการบริหารวิชาการแก่ชุมชน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าว
คุณครูฟาตือเม๊าะ ดอเลาะ แห่งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี ผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ กล่าวว่า “ได้รับเทคนิคการสอนหลายแบบ เช่น การนำคำศัพท์ไปแต่งเป็นเพลง หรือ การนำทำนองเพลงมาช่วยในการท่องจำคำศัพท์ คิดว่าเทคนิคนี้นำไปใช้ได้กับหลาย ๆ วิชา ซึ่งตอนนี้ดิฉันเองกำลังให้นักเรียนแบ่งกลุ่มไปแต่ง
เพลงศัพท์มากลุ่มละ 1 เพลงคะ …ประทับใจครูแนนมาก ๆ ที่มีน้ำใจงดงาม กล้าลงมาภาคใต้ เพราะก่อนหน้านี้
ทางโรงเรียนเคยจัดอบรมหลายครั้ง แต่วิทยากรไม่กล้ามา เลยต้องไปอบรมที่หาดใหญ่แทน”
อีกหนึ่งครูสาวจาก โรงเรียนบ้านคลองขุด จ.สตูล เปิดใจว่า “ตอนแรกที่ฟังครูพี่แนน สอน แว๊บแรกเลยคิดถึงนักเรียน ถ้าเกิดว่านักเรียนมีคุณครูที่มีคุณภาพดีแบบนี้ หรือเราสอนนักเรียนได้แบบนี้ หรือได้เทคนิคใหม่ ๆ คงทำให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียน รอว่าเมื่อไหร่วิชานี้จะมาถึง จะไม่มีช่วงที่พวกเขาไม่อยากเรียน หรือคิดว่าครูดุไป ขอขอบคุณพี่แนนที่ให้ความกรุณา รับรองว่าสิ่งที่คุณครูแต่ละท่านได้ไปนั้นจะได้รับการดึงมาเป็นแบบอย่างในการสอนนักเรียนของตัวเองต่อไป เชื่อว่าจะทำให้นักเรียนอยากเรียน และมีความสุขในการเรียนมากขึ้นด้วย”
ฟากคุณครูหนุ่มแห่งโรงเรียนศรีวารินทร์ จ.นราธิวาส ครูสุรพงค์ ใจเย็น ผู้สอนทั้งวิชาภาษาอังกฤษและวิชาคณิตศาสตร์ กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการร่วมอบรมครั้งนี้ว่า “เป้าหมายของผม คือ นักเรียนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ความจำเป็น และมีความสุข สามารถสื่อสารกับผู้อื่นด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เทคนิคที่ครูพี่แนน ถ่ายทอดให้เป็นสิ่งที่ใช้ได้ดีจริง สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้เรียนได้ เรียกว่า “สนุกแต่ไม่ไร้สาระ”
“ แนน คิดว่าคุณครูในโรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว หลายท่านไม่รู้สึกกลัวกับเหตุการณ์เลย ท่านเพียงแต่บอกว่า ถ้ามันจะเกิดก็ให้มันเกิด แต่ท่านไม่มีวันทิ้งเด็กนักเรียนไปไหนแน่ ๆ นี่คือหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของคุณครูใต้ที่แนนได้สัมผัส และหวังว่าเราทุกคนจะร่วมกันเป็นกำลังใจกับคุณครูใต้ ในทางใดทางหนึ่งที่พวกเราสามารถทำเพื่อคุณครูในภาคใต้ได้บ้าง” ครูพี่แนน-อริสรา กล่าวทิ้งท้ายจากใจถึงคุณครูในเขตพื้นที่ชายแดนภาคใต้