YAHOO on April 11, 2011, 06:41:48 PM
จีเอสเคสนับสนุนนักวิจัยไทยพัฒนายา เพื่อการเข้าถึงยา ยกระดับคุณภาพชีวิต

          จีเอสเค จัดประชุมวิชาการด้านการวิจัยทางการแพทย์ ดึงนักวิจัยไทยร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยทางคลินิก เพื่อพัฒนางานวิจัย ขณะที่ปัจจุบันไทยมีนักวิจัยเพียง 6 คนต่อประชากร 10,000 คน

          ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การวิจัยนับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ปัจจุบันสถานการณ์การวิจัยในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ทั้งในด้านของจำนวนงานวิจัยและศักยภาพของนักวิจัย อย่างไรก็ตาม ระบบวิจัยด้านการแพทย์ของประเทศยังประสบปัญหาหลายประการ ทั้งด้านนโยบายและระบบเพื่อการสนับสนุนงานวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ของไทย งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โครงสร้างสถาบันการวิจัยในไทยที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน กระบวนการจดทะเบียนยาใหม่ และการใช้ประโยชน์จากผลงานาวิจัยสู่การวิจัยและพัฒนาและสู่กระบวนการผลิตจนสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้

          “ปัจจุบันไทยมีจำนวนนักวิจัย 6 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาประมาณ 0.25% ของจีดีพี ขณะที่สิงคโปร์มีงบการวิจัยมากกว่า 2% และมาเลเซียมีงบ การวิจัย 1% ไทยมีผลงานวิจัยด้านสุขภาพประมาณ 15% ของงานวิจัยทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่คุณภาพของนักวิจัยไทยมีศักยภาพสูงและสามารถสร้างผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก” ศ.นพ.สุทธิพร กล่าว

          นพ. ไมเคิล เอลเลียต รองประธานและผู้อำนวยการ ฝ่ายการแพทย์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น หรือ จีเอสเค เอเชีย แปซิฟิค เปิดเผยว่า จีเอสเคให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรมเพื่อ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยจีเอสเคมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนายาเพื่อรักษาโรคที่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นปัญหาที่ร้ายแรงในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ โรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 20,000 คนต่อวัน ปัจจุบันจีเอสเคได้เปิดศูนย์วิจัยสำหรับโรคเหล่านี้โดยเฉพาะที่เมืองเทรส-แคนโตส ประเทศสเปน จีเอสเค ใช้งบประมาณในกระบวนการวิจัยและพัฒนายา 1 ชนิดโดยเฉลี่ยประมาณ 450 ล้านยูโร (ประมาณ 22,500 ล้านบาท) โดยใช้เวลา 12-15 ปี

          “จีเอสเคตั้งใจในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนายาในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งศูนย์วิจัยในประเทศสิงคโปร์และเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน การเพิ่มงานวิจัยทางด้านคลินิก การวิจัยและพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนเอเชีย การพัฒนางานวิจัยเพื่อรักษาโรคที่มีการระบาดในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ในเอเชีย เพื่อการวิจัยและพัฒนายาที่เหมาะสมสำหรับคนเอเชีย” ดร. ไมเคิล กล่าว

          นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอสเค ประเทศไทย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมวิชาการ เรื่อง “From Molecules to Medicine, From Practice to Research” ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้วิจัยจากสถาบันชั้นนำในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนายา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเครือข่ายของนักวิจัยไทยและต่างประเทศเพื่อการค้นคว้าและพัฒนางานวิจัยด้านยาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและประชาชนทั่วไป

          “จีเอสเคมีนโยบายสำคัญ คือ การสนับสนุนการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย ซึ่งงานวิจัยนับเป็นกระบวนการต้นน้ำของการผลิตยาดี จีเอสเคจึงพร้อมส่งเสริมภาคส่วนต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายของการทำวิจัยโดยรวมของแพทย์ผู้วิจัยเพื่อให้คนไทยได้รับการรักษาที่ดีและทั่วถึง” นายวิริยะ กล่าว

          สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวิทยากรและแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมในการประชุม อาทิ พล.ต.หญิง รศ.พญ.อาภรณ์ภิรมย์ เกตุปัญญา ประธานชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย ศ.นพ. วิษณุ ธรรมลิขิตกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ:
          บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด
          โทรศัพท์ 0 26593000