happy on April 07, 2011, 04:09:08 PM
สถาบันอาหารชี้ตลาดอาหารนาโน(Nanofood)อนาคตไกล
มูลค่าตลาดทั่วโลกกว่า 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี


         สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยอาหารนาโน(Nanofood) เป็นตลาดอาหารแห่งอนาคต มีแนวโน้มเติบโตสูง มูลค่าตลาดทั่วโลกสูงกว่า 20 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารนาโนออกสู่ตลาดทั่วโลกแค่ 4 ประเภท คือ 1)ชานาโน (Nanotea)    2)น้ำมันปรุงอาหารที่มีหยดน้ำมันขนาดนาโน(Nanosized droplets) 3)ขวดเบียร์พลาสติกที่เคลือบภายในด้วยวัสดุไนลอนนาโนเทค และ4) ช็อคโกแล็ตเชค (Chocolate Shake) ที่ใช้เทคนิค Nanoclusters  เหตุเพราะการวิจัยและพัฒนายังจำกัดในวงแคบ ทั้งมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยกลัวซ้ำรอยกรณีอาหารจีเอ็มโอที่ผู้บริโภคขาดความรู้ความเข้าใจ ด้านอียูเตรียมวางมาตรฐานความปลอดภัยเข้มในการนำเข้าสินค้าอาหารนาโน


           นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร องค์กรเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรมเผยว่า อาหารนาโนกลายเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงในวงการอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งในด้านประโยชน์ที่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ดีขึ้น เก็บรักษาได้ยาวนานมากขึ้น และให้คุณค่าทางโภชนาการได้มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นข้อกังวลในความปลอดภัยและความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังเห็นได้จากปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหวในการผลักดันให้เกิดระบบควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารนาโนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)
          จากการศึกษาของ Helmut Kaiser Consultancy  พบว่าอาหารนาโนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2547 ที่มีมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นในปี 2549 เป็น 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2553 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 20.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าอาหารนาโนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญและอาจเป็นอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ในไม่ช้า โดยมีบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นแนวหน้าของโลกอย่างเนสเล่, คราฟ, ไฮนซ์ และ          ยูนิลีเวอร์ ต่างให้ความสำคัญโดยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งหวังที่จะครองส่วนแบ่งตลาดอาหารนาโนในอนาคต
          ปัจจุบันมีงานวิจัยและพัฒนาอาหารนาโนออกสู่สาธารณะให้เห็นอยู่บ้าง โดยกลุ่มบรรจุภัณฑ์ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตสู่เชิงพาณิชย์สูงกว่าอาหารนาโนประเภทอื่น ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ฉลาก (Smart packaging) ใช้วัสดุที่ทำจากนาโนเทคโนโลยีเพื่อช่วยยืดอายุอาหาร และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสามารถแสดงได้ว่าอาหารมีการปนเปื้อนหรือไม่ และยังสามารถตรวจหาเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารและเตือนให้ผู้บริโภคทราบได้ หรือสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ ซ่อมแซมตัวเองได้ถ้าเกิดการฉีกขาด
          “แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมอื่นๆ พบว่า การนำอาหารนาโนออกสู่ตลาดนั้นค่อนข้างมีข้อจำกัดและเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยและระเบียบข้อบังคับที่ยังไม่ชัดเจน เช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้พัฒนานาโนเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีในท้องตลาดกว่า 800 ประเภท แต่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่มนาโนเพียง 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.ชานาโน (Nanotea) ที่กล่าวถึงสรรพคุณในการช่วยเพิ่มการทำงานของซีลีเนียม (Selenium) 10 เท่า 2.น้ำมันปรุงอาหารที่มีหยดน้ำมันขนาดนาโน (Nanosized droplets) ช่วยยับยั้งคลอเลสเตอรอลไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด 3.ขวดเบียร์พลาสติกที่เคลือบภายในด้วยวัสดุไนลอนนาโนเทค ช่วยทำให้เบียร์มีความสดมากกว่าเดิม และ4.ช็อคโกแล็ตเชค (Chocolate Shake) ที่ใช้เทคนิค Nanoclusters ที่ช่วยให้มีรสชาติดีโดยปราศจากการเติมน้ำตาล”   นายอมร กล่าว
          สำหรับสหภาพยุโรปได้เริ่มดำเนินการวางแนวทางด้านความปลอดภัยและเตรียมพร้อมในการให้ความรู้แก่สาธารณชนไปแล้วบางส่วน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ EU เริ่มมีการพิจารณากฎระเบียบและศึกษามาตรการความปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมในส่วนของอาหารนาโนมากขึ้น รวมทั้งเริ่มวางระบบเพื่อควบคุมความเสี่ยง จะเห็นได้จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา  หน่วยงาน JRC (The European Commission's Joint Research Centre) ได้ออกมาประกาศเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลวัสดุนาโนที่มีการใช้กันมากในสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer product) เพื่อจะนำไปใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการประเมินความปลอดภัย นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค (DG-SANCO) ก็กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการอ้างอิงวัสดุนาโน (Reference Laboratory) เพื่อให้เป็นผู้ทดลองศึกษา และกำหนดวิธีมาตรฐานในการตรวจหาวัสดุนาโนต้องห้ามปนเปื้อนในสินค้าอาหารนำเข้า รวมทั้งยังอยู่ระหว่างเตรียมยกร่างกฎระเบียบควบคุมวัสดุนาโนในสินค้าอาหาร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2554 นี้
          การเตรียมการของ EU ดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตอันใกล้อาจมีการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยอาหารเกี่ยวกับวัสดุนาโนปนเปื้อนในสินค้านำเข้า และอาจเรียกร้องให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าต้องตรวจสอบการปนเปื้อนวัสดุนาโนในสินค้าอาหารก่อนส่งเข้าไปยังประเทศในกลุ่ม EU ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมความปลอดภัยของผู้บริโภคใน EU เอง แต่ก็อาจเป็นประเด็นกีดกันทางการค้านำเข้า และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในอนาคตก็เป็นได้
          นายอมร กล่าวต่อว่า “สำหรับประเทศไทย แม้ในปัจจุบันการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารยังมีอยู่จำกัด ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยและพัฒนาจากสถาบันวิจัยของหน่วยงานภาครัฐและในสถาบันการศึกษา เช่น การปรับปรุงคุณภาพอาหารโดยใช้กระบวนการผลิตในระดับนาโนเมตร เพื่อเพิ่มสารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้สารอาหารและวิตามินกลายเป็นผงนาโนที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ทันที แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต การเติบโตของตลาดอาหารนาโน จะกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตไม่อาจหยุดนิ่งที่จะทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อครองส่วนแบ่งทางการตลาดของอาหารนาโนที่มีศักยภาพในการเติบโตนี้ได้
          ผู้ประกอบการไทยควรต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และความเข้าใจในเรื่องนาโนเทคโนโลยี ทั้งจากการรวบรวมความรู้และงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว และเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล โดยการฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้วย และอาจทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยจากภาครัฐ หรือมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งความรู้และแหล่งงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี
          สำหรับข้อกังวลในด้านความปลอดภัยจากอาหารนาโนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนต่อการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารเฉพาะสำหรับอาหารนาโน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องนำมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการเติบโตของตลาดอาหารนาโน รวมถึงกรณีที่สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะตรวจสอบอาหารนาโนในอนาคต หากประเทศไทยมีแนวทางและมาตรฐานการประเมินความเสี่ยงในด้านนี้ที่ชัดเจนอย่างเพียงพอก็จะไม่เสียเปรียบประเทศคู่ค้า และผู้บริโภคในประเทศก็ยังมีความปลอดภัยต่อการบริโภคอีกด้วย”
          อนึ่ง นาโนเทคโนโลยีได้ชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์แห่งทศวรรษ ที่นำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ได้หลากหลายสาขา และมีโอกาสทำให้เกิดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์สูง ในสาขาอาหารก็มีการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีมาใช้ ทั้งทางเกษตรกรรม การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยเรียกชื่ออาหารที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีว่า อาหารนาโน (Nanofood) และให้คำจำกัดความว่า อาหารที่ใช้เทคนิคนาโนเทคโนโลยี หรือ เครื่องมือนาโนเทคโนโลยีในการเพาะปลูก ผลิต แปรรูป หรือ บรรจุ แต่ไม่รวมถึงการดัดแปลงอาหาร หรือ การใช้เครื่องจักรกลนาโนในการผลิต