sianbun on June 24, 2009, 12:09:36 PM
SIPA เปิดตัวโครงการ SIPA Animation Contest 2009 และ SIPA Game Contest 2009 
 
             ด้วยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการส่งออกในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้จัดให้มีโครงการ SIPA Animation Contest 2009 และ SIPA Game Contest 2009  โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันเด็ก เยาวชนและนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปให้หันมาสนใจงานแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียมากขึ้น และส่งเสริมผู้ประกอบการทางด้านนี้อย่างจริงจัง อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร รวมทั้งผลงานที่ผลิตโดยคนไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

โครงการ SIPA Animation Contest 2009
 
             หลักการและเหตุผล
          ในปัจจุบันสื่อดิจิทัล (Digital Content) เป็นสื่อที่เข้าถึงได้กับคนทุกระดับ ทุกเพศและทุกวัย เป็นสื่อที่ดึงดูดความสนใจของคนดูหรือคนที่รับรู้ รับฟังเป็นอย่างมาก สื่อดิจิตอลที่ได้รับความนิยมมากอย่างหนึ่งคือ ผลงานดิจิทัล คอนเทนท์ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์งานศิลปะไว้ในรูปแบบสื่อที่หลากหลาย รวมทั้งสื่อที่เป็นภาพเคลื่อนที่ ทั้งแบบสองมิติ (2D) และสามมิติ (3D)  ซึ่งสื่อดิจิทัล เป็นการสร้างสรรค์ที่ใช้จินตนาการของคนผสมกับเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สื่อดิจิทัลในยุคปัจจุบัน ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ธุรกิจการค้าการขาย ธุรกิจบันเทิง การศึกษา โฆษณา และอื่น ๆ
          สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการส่งออกในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มีนโยบายจัดโครงการ SIPA Animation Contest 2009 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทางด้านแอนิเมชั่น รวมทั้งผู้ที่สนใจในการทำธุรกิจทางด้านนี้  ได้เกิดการตื่นตัวที่จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อันจะมีผลให้มีการพัฒนาผลงานทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้นและหลากหลาย  นอกจากนี้ยังจะเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงจัดให้มีการแข่งขันเพื่อชิงทุนสนับสนุนการผลิตผลงานทางด้านแอนิเมชั่น
          วัตถุประสงค์โครงการ
          1. เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียให้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย
          2. กระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรม เพื่อเป็นการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมให้แข็งแรงและเติบโตยิ่งขึ้น
          3. สนับสนุนเงินทุนในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการขยายตลาดด้านแอนิเมชั่น
          4. ส่งผลให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากขึ้น และยกระดับมาตรฐานความรู้ความสามารถของบุคลากรที่อยู่ในตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น
          5. เพื่อสร้างแรงบัลดาลใจแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่สนใจในงานด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย หรือ Digital Content
          6. เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์ทางด้านแอนิเมชั่น ที่เข้าร่วมประกวดได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
          7. เพื่อยกระดับการผลิตผลงานทางด้านแอนิเมชั่นให้ออกสู่ตลาดอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและตลาดโลก

          ผลที่คาดว่าจะได้รับ
          1. ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับประเทศในแต่ละอุตสาหกรรม ได้แก่ แอนิเมชั่น
          2. การจัดการแข่งในแต่ละปีจะมีผลงานที่มีคุณภาพเพิ่มจำนวนมากขึ้น
          3. มีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
          4. เป็นส่วนช่วยในการการจ้างงานในตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น
          5. ผลงานที่มีคุณภาพที่เทียบเท่าระดับสากล และเพิ่มศักยภาพในการจำหน่ายออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
          ประเภทการแข่งขัน แบ่งออกเป็น  4 ประเภท ได้แก่
          1. Animation Pre school   : เป็น Animation สำหรับกลุ่มเด็กอนุบาล จนถึง ประถมศึกษาตอนต้น
          2. Animation For Teen : เป็น Animation สำหรับกลุ่มประถมศึกษาตอนปลายเป็นต้นไป
          3. Character  Design
          4. e-Learning
          การสัมมนา SIPA Animation Contest 2009
          - กลุ่มเป้าหมาย
          ผู้ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขัน (แต่ละทีมมีสิทธิ์ส่งตัวแทนเข้าอบรมได้ไม่เกิน 2 ท่านต่อ 1 ทีม)

          การฝึกอบรมพัฒนาทักษะทางด้านแอนิเมชั่น
          กลุ่มเป้าหมาย
          - ผู้ส่งผลงานเข้าแข่งขัน (แต่ละทีมมีสิทธิ์ส่งตัวแทนเข้าอบรมไม่เกิน 2 ท่าน ต่อทีม)

 
โครงการ SIPA Game Contest 2009 
 
             1. หลักการและเหตุผล
          ปัจจุบันต้องยอมรับว่า Digital Content โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อบันเทิงในรูปแบบซอฟต์แวร์เกมได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ซึ่งสื่อในรูปแบบนี้ มีทั้งประเภทที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (Personal Computer (PC) และNotebook) ที่เล่นได้ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์, โทรศัพท์เคลื่อนที่, โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบบ PDA และ PHP, เครื่อง Console, เครื่อง Arcade หรือเกมตู้ที่เรามักจะเห็นตามห้างสรรพสินค้า และที่สำคัญซอฟต์แวร์เกมเหล่านี้ได้กลายเป็นสินค้าที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก
          ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและได้การให้การสนับสนุนกับผู้พัฒนาเกมต่างๆ มาโดยตลอด แต่กระนั้นการพัฒนาเกมของไทย ยังเป็นลักษณะเป็นแบบกระจัดกระจาย คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีผู้พัฒนาเกมไทยที่ความสามารถในการพัฒนาเกมได้อย่างมีคุณภาพในระดับสากลอยู่ในประเทศได้ และที่สำคัญบุคลากรที่จะมาพัฒนาเกมของไทยค่อนข้างมีจำกัด
ด้วยเหตุนี้การจัดการแข่งขันพัฒนาเกมไทย ภายใต้โครงการ “SIPA Game Contest 2009” ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันครั้งที่ 1 จึงได้ถูกจัดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีแจ้งเกิดให้กับนักพัฒนาเกมของไทยรุ่นใหม่ฯ รวมทั้งเป็นสื่อกลางระหว่าง เจ้าของบริษัทเกมต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้พัฒนาเกมไทย ผู้พัฒนาเกมอิสระ ผู้พัฒนาเกมในด้านต่างๆ นักศึกษาและผู้ที่สนใจในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกม เพื่อนำไปสู่การทำธุรกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายของผู้พัฒนาเกมไทยได้อย่างดี เพื่อให้การแข่งขันดูเข้าถึงมวงชนในวงกว้างที่ไม่จำกัดเฉพาะนักพัฒนาทางด้านโปรแกรมมิ่งและการออกแบบเท่านั้น และเพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักพัฒนาเกม ผู้เล่นเกม และผู้ปกครอง การจัดการแข่งขันครั้งนี้ จึงได้นำแนวคิดและขั้นตอนในการพัฒนาเกมในรูปแบบการทำงานเป็นทีมและการทำงานร่วมกัน มาใช้ในการจัดการแข่งขัน โดยการจัดการแข่งขันตามประเภทต่างๆ อาทิเช่น พีซีเกม (PC Game) ซึ่งเล่นได้ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Personal Computer) และแบบพกพก (Notebook) :ซึ่งเล่นได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์, เกมบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Game), เกมโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ PDA และ PHP ที่เรียกว่า Hand Held, เกม Console สำหรับเครื่อง PSP, เครื่อง Xbox และเกม Arcade โดยผู้ที่ชนะเลิศ จะต้องนำผลงานได้รับรางวัลชนะเลิศ ไปต่อยอดและจัดทำให้เสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากได้รับรางวัล และผลงานที่สำเร็จไปแสดงและจัดจำหน่ายจริงต่อไป

          2. วัตถุประสงค์โครงการ
             1. เป็นเวทีการแข่งขันเพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับประเทศในอุตสาหกรรมเกม
             2. กระตุ้นให้เกิดการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ เพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละปี
             3. กระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมให้แข็งแรงและเติบโตยิ่งขึ้น
             4. สนับสนุนเงินทุนในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการขยายตลาดด้านเกม
             5. ส่งผลให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากขึ้น และยกระดับมาตรฐานความรู้ความสามารถของบุคลากรที่อยู่ในตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมเกม
             6. เพื่อยกระดับการผลิตผลงานทางด้านแอนิเมชั่นให้ออกสู่ตลาดอุตสาหกรรมทั้งภายในประเทศและตลาดโลก

          3. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
             1. ผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับประเทศในอุตสาหกรรมเกม
             2. การจัดการแข่งในแต่ละปีจะมีผลงานที่มีคุณภาพเพิ่มจำนวนมากขึ้น
             3. มีจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รากฐานของอุตสาหกรรมแข็งแกร่งขึ้น
             4. เกิดการจ้างงาน ภายใต้การจ้างงานในอุตสาหกรรมเกม
             5. ผลงานที่มีคุณภาพที่เทียบเท่าระดับสากล และเพิ่มศักยภาพในการจำหน่ายออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

          4. ประเภทการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 4 Platform ได้แก่
             1. PC Games
             2. Mobile Games
             3. Online Games
             4. Console Games

          5. กลุ่มเป้าหมาย / ตัวชี้วัด
           เป้าหมายของโครงการฯ (แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท)
          - ระดับนักเรียนนักศึกษา
          - ระดับบุคคลทั่วไป
« Last Edit: June 25, 2009, 12:18:47 PM by sianbun »

sianbun on June 25, 2009, 05:30:25 PM
งานแถลงข่าว SIPA Animation Contest 2009 & SIPA Game Contest 2009



          สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้จัดงานแถลงข่าว SIPA Animation Contest 2009 & SIPA Game Contest 2009 เพื่อชิงเงินทุนสนับสนุนผลงานกว่า 4 ล้านบาท พร้อมหวังกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ด้านแอนิเมชั่นและมัลติมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยพิธีแถลงข่าวจัดขึ้น ณ ห้องพินนาเคิล 4 – 5 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทอล กรุงเทพฯ

          ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฎิภาณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินนโยบายแห่งชาติที่เรียกว่า National Flagship Project 4 เรื่อง ได้แก่ โครงการ Phuket ICT Innovation ที่ จ. ภูเก็ต, โครงการ Global Outsourcing ที่ จ. เชียงใหม่, โครงการ National Software Incubation Center ที่ จ. ขอนแก่น และโครงการ Thailand Digital Content Center โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้าน Digital Content ระดับโลก ทำให้สอดคล้องระหว่างนโยบายการพัฒนาคนและผู้ประกอบการของ SIPA ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญจุดหนึ่งที่เป็นการปลุกกระแสแอนิเมชั่นและเกมในไทย จนทำให้เกิดการจ้างงานจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

          ผู้อำนวยการ SIPA กล่าวต่อว่า ดังนั้นการจัดงานในครั้งนี้เป็นโครงการสนับสนุนในการเสริมศักยภาพและสร้างโอกาสการก้าวเข้าสู่การเป็น Digital Content Center ของโลกได้ เพราะการจัดงานนี้เป็นการเปิดกว้างสำหรับนักพัฒนาไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพ หรือ มือสมัครเล่น รวมไปถึงกลุ่มนักเรียน – นักศึกษา ได้เข้าสู่เวทีแห่งนี้เพื่อแสดงศักยภาพของตนเอง อีกทั้งขยายต่อเพื่อแข่งขันในต่างประเทศ ซึ่งผู้ชนะในการแข่งขันประเภท Animation จะได้ก้าวไปสู่เวทีระดับ International ณ ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้มีความพิเศษในเรื่องการยกระดับความสามารถของนักแอนิเมชั่น และผู้ผลิตเกมไทย

          คุณสุวิมล เทวะศิลปะชัยกุล รองผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การสนับสนุนโครงการนี้ของ SIPA ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการหรือนักศึกษาให้มีเวทีแสดงฝีไม้ลายมือของตนเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งดำเนินการจัดโครงการอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ ปี 2006 ภายใต้ชื่อ SIPA Pitch และในปีนี้จึงได้จัดการแข่งขันแยกประเภทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้แยกการแข่งขันออกเป็นการแข่งขันในด้านเกม โดยใช้ชื่อโครงการ SIPA Game Contest 2009 และด้านแอนิเมชั่น โดยใช้ชื่อโครงการ SIPA Animation Contest 2009 แต่ความเข้มข้นของการแข่งขันก็ยังคงเหมือนเดิมคือ “แข่งสด และชนะกันเลยแบบใสๆ”  เปิดโอกาสให้ผู้เข้าประกวดนำเสนอภาพรวมของการผลิตผลงาน, แผนธุรกิจ, แผนการตลาด, การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ของโครงงานที่ส่งเข้าประกวดต่อคณะกรรมการภายในเวลาที่กำหนด ณ วันแข่งขัน ซึ่งจะตัดสินหาผู้ชนะในวันเดียวกัน

          รูปแบบการแข่งขันแบ่งการประกวดผลงานด้านแอนิเมชั่นแบ่งออกเป็น Animation for Pre – School, Animation for Ten, การออกแบบ Character Design และการประกวดผลงานด้าน e – Learning และในส่วนของการประกวดผลงานด้านเกม แบ่งเป็น PC Game, Mobile Game, Online Game และ Console Game ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะชิงเงินสนับสนุนจาก SIPA รวมกว่า 4 ล้านบาท

          ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงาน เข้าร่วมแข่งขันได้ตั้งแต่วันนี้ หมดเขตรับผลงานวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 และจะทำการแข่งขันในรอบตัดสินประเภท Game ในวันที่ 10 - 13 กันยายน 2552 ณ ห้องวิภาวดี แกรนด์ บอลรูม  โรงแรมโซฟีเทล เซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ (เซ็นรัล ลาดพร้าว) และการแข่งขันในรอบตัดสินประเภท Animation ในวันที่ 17 – 20 กันยายน 2552 ณ ห้อง โลตัส 4 – 5 โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ล
« Last Edit: June 25, 2009, 05:32:20 PM by sianbun »