ทรู ร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ ปั้นนักข่าวพิราบน้อย พร้อมรับมือการสื่อสารยุคใหม่ ที่ทุกคนเป็น “สื่อ”
วันเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกยุคดิจิตอล ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคข่าวสารเข้าสู่ยุคการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้ “สื่อ” มิใช่เพียงผู้รายงานข่าวฝ่ายเดียว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์การสื่อสารที่เข้าถึงโลกออนไลน์อย่างสมาร์ทโฟน และโซเชียล เน็ตเวิร์คทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ พลิกโฉมให้ทุกคนเป็นทั้ง “สื่อ” และ “ผู้บริโภค” ในระยะเวลาเดียวกัน ทำให้นิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนต้องพร้อมรับมือกับการสื่อสาร ยุคใหม่ที่รับ-ส่งข้อมูลรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการฝึกฝนทักษะงานข่าว เก็บประเด็น และข้อมูลข่าวที่ถูกต้องครบถ้วน ทั้งสร้างสรรค์ผลงานข่าวที่โดดเด่น “พิราบน้อย” เป็นโครงการหนึ่งที่มุ่งมั่นผลิตคลื่นลูกใหม่ให้กับวงการสื่อมวลชนได้เติบโต และก้าวสู่ วิชาชีพสื่อที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง โดยมีรางวัลเกียรติยศ “พิราบน้อย” ที่นิสิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจากสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอชิ้นงานสื่อหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ และผลงานข่าวคุณภาพเข้ามาแข่งขันเป็นประจำทุกปี ตามพันธกิจหลักของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งส่งเสริมบุคลากรคนข่าวให้มีความรับผิดชอบในภารกิจและบทบาทตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน
นายนนท์ อิงคุทานนท์ ผู้จัดการทั่วไป สายงานบริการ บรอดแบนด์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้มีบทบาทด้านเทคโนโลยีสื่อสารโดยตรง กล่าวว่า โลกของการสื่อสารยุคใหม่มีพัฒนาการที่รวดเร็วขึ้นจนทำให้ดูเหมือนโลกใบนี้แคบลง ข้อมูลข่าวสารส่งถึงกันได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นได้เช่นกัน หากข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้ทุกคนสามารถเป็น “สื่อ” เผยแพร่ข่าวสารสู่สังคมได้ง่าย ฉะนั้น การเสริมสร้างความเข้าใจให้กับนิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ที่กำลังจะก้าวเป็นสื่อมวลชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลข่าวสารจะต้องยึดหลักความถูกต้อง และ เชื่อถือได้ ทรู ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรในวิชาชีพนี้จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง และภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคคลากรคนข่าวที่จะก้าวไปทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ให้กับสังคม
นายสุวิชา ใจมีพร นักศึกษาจากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนกลุ่มที่ได้รับรางวัลข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น จากผลงานข่าว “โวย มรภ.สารคามรุกป่าหนองโน วุฒิฯจี้คืนชาวบ้าน” หนังสือพิมพ์ ”สื่อมวลชน” ให้ความเห็นว่า “โครงการพิราบน้อย ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานด้านสื่อครับ ดีใจมากที่ผลงานได้รับรางวัลในปีนี้ และรู้สึกภูมิใจกับการตัดสินของคณะกรรมการที่เห็นว่าผลงานของเรามี จุดเด่นในเรื่องของการเลือกประเด็นข่าว ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของในมหาวิทยาลัยกับชุมชนภายนอกได้ดี รู้จักแสวงหาแหล่งข่าวเกาะติดข้อมูล และนำเสนอข้อมูลได้ค่อนข้างครบถ้วน เดินข่าวอย่างรอบด้าน ทั้งยังยืนยันข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ นับเป็นรางวัลที่พวกผมภูมิใจครับ และหากมีโอกาสได้ก้าวสู่อาชีพสื่อมวลชน ก็จะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดครับ”
สำหรับ ในปีนี้มีผลงานหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติส่งเข้าประกวดจำนวน 15 ฉบับ จาก 14 มหาวิทยาลัย (15 คณะ) ไม่มีผลงานหนังสือพิมพ์ใดได้รับรางวัลดีเด่น มีผลงานหนังสือพิมพ์ที่ได้รับรางวัลชมเชย 3 รางวัลได้แก่ หนังสือพิมพ์อ่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หนังสือพิมพ์หอข่าว จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหนังสือพิมพ์บัณฑิตย์โพสต์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิราบน้อยประเภทข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น ในปีนี้มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 26 ข่าว จาก 11 มหาวิทยาลัย ผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ ข่าวโวย มรภ.สารคามรุกป่าหนองโน วุฒิฯจี้คืนชาวบ้าน โดยหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลเงินสด 15,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ได้แก่ ข่าวหอพักเถื่อนรอบมหาวิทยาลัยบูรพา โดยหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว จากมหาวิทยาลัยบูรพา และ ข่าวผลกระทบและการต่อต้านการจัดตั้งนิคมเหล็กฯ จ.จันทบุรี โดยหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว จากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 7,500 บาท พร้อมกับโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยรางวัลต่างๆ ที่มอบ ให้นั้น ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้แทนสื่อมวลชนหลากหลายสำนัก เพื่อมุ่งหวังให้พิราบน้อยเหล่านี้ คือ ความหวัง และแสงสว่างที่จะช่วยให้โลกนี้ ยังคงจุดยืนของข้อมูลข่าวสารสู่สังคม อยู่บนหลักความถูกต้อง และจรรยาบรรณของสื่อ…ที่เทคโนโลยีสื่อสารไม่มีวันจะทำได้