activity on March 09, 2011, 05:56:33 PM
KTAM เปิดขายตราสารหนี้อิสราเอล1ปีชู 3.10% 
 
             นายสมชัย  บุญนำศิริ   กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 19 (KTFF19 )  ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่  14    มีนาคม  2554   อายุโครงการ  12  เดือน    โดยคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 3.10 % ต่อปี     กองทุนนี้จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลอิสราเอล (A/A1/Positive โดย S&P)  ทั้ง100% โดยเป็นตราสารสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ประเภท Euro Medium Term Note (EMTN) ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับการระดมเงินตราต่างประเทศ      และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

            กองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้น กว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย (BBB+/A2/Positive โดย S&P)    และเมื่อกองทุนครบอายุโครงการ  จะสับเปลี่ยนเงินลงทุนไปยังกองทุนตลาดเงิน   เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 

               ฝ่ายวิจัย  บลจ.กรุงไทย  ได้รายงานว่า   อิสราเอลเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว   มีอัตราการเติบโตที่สูง  มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ดี   เน้นไปที่ R&D   โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์   และเทคโนโลยี  คุณภาพประชากรอยู่ในระดับสูงมาก  และ  World Bank  จัดให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง  และให้คะแนนด้านธรรมาภิบาลในระดับที่ค่อนข้างสูง  โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพของรัฐบาล  และคุณภาพของกฎ ระเบียบต่างๆ   นอกจากนี้  ดัชนีคอร์รัปชั่นยังบ่งถึงการคอร์รัปชั่นที่ค่อนข้างต่ำด้วย

             วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความทนทานของเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก   เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน   อัตราการขยายทางเศรษฐกิจในปี 2010 อยู่ที่ประมาณ 3.8%   สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ     ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับเกือบต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์   อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ดี   นอกจากนี้  อิสราเอลยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา  มีข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา  ภายใต้   JEDG  ว่าสหรัฐฯ จะค้ำประกันเงินกู้ ( Loan  Guarantee )  ให้กับอิสราเอล เพื่อสนับสนุนการออกพันธบัตรของรัฐบาลอิสราเอล 
 
                 สำหรับ ภาวะตลาดตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) เริ่มผ่อนคลายแรงกดดันจากความไม่สงบในประเทศลิเบีย และประเทศใกล้เคียง โดยสังเกตุได้จาก Credit Default Spread (CDS) ที่ปรับลดลง  สำหรับตลาดอัตราดอกเบี้ยสวอประหว่างสกุลบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ภาวะดังกล่าวทำให้การลงทุนในต่างประเทศและมีการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านอัตราดอกเบี้ยสวอปจะทำให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากประมาณ 1.80-2.00% (ดอลล่าร์พรีเมี่ยม) หลังจากแปลงกลับเป็นเงินบาท จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการนำเงินลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในประเทศที่มีเครดิตเรตติ้งที่ต่ำกว่า