news on March 02, 2011, 03:18:22 PM
มูลนิธิรักษ์ไทย รณรงค์ “โครงการรู้ทันวัณโรค และจัดงานวันวัณโรคโลกสากล 24 มีนาคม 2554 รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย”-
 
          มูลนิธิรักษ์ไทยร่วมกับสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ กองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (The Global Fund) จัดงาน “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” เนื่องในโอกาสวันวัณโรคโลกสากล 24 มีนาคม 2554 เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันควบคุมวัณโรค รวมถึงการดูแลรักษาโรคอย่างถูกต้องผ่านการจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ เพื่อให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรควัณโรคโดยเน้นการประชาสัมพันธ์และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไปในการช่วยขจัดวัณโรคในประเทศไทย

          นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย เปิดเผยว่า “จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข วัณโรคเป็นสาเหตุของการป่วยและการตายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สาเหตุที่ทำให้วัณโรคกลับมาระบาดใหม่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ความยากจน การย้ายถิ่นอาศัย และแรงงานอพยพ ส่งผลให้การแพร่ระบาดของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคประมาณ 2 พันล้านคนทั่วโลก หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลกและมีผู้ที่ป่วยด้วยวัณโรคประมาณ 16-20 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 8-10 ล้านคน สามารถแพร่เชื้อวัณโรคให้ผู้อื่นได้ โดยร้อยละ 95 ของผู้ป่วยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และร้อยละ 75 ของผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15 – 54 ปี และมีผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิต 1.9 ล้านคนในแต่ละปี”

          “จากการคำนวณทางระบาดวิทยาในรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดว่า ประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ทุกประเภทประมาณ 92,300 คน ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 44,475 คนเป็นผู้ป่วยที่สามารถแพร่เชื้อได้ และเสียชีวิตปีละ12,089 ราย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ตรวจพบติดเอดส์ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 17 ในปี 2552 ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนรักษาทั้งสิ้น 62,010 รายในจำนวนนี้ตรวจเสมหะพบเชื้อ 32,810 ราย เสียชีวิต 2,300 ราย อัตราการรักษาสำเร็จของผู้ป่วยวัณโรคเฉลี่ยร้อยละ 83 นอกจากนี้ประเทศไทยยังพบปัญาหาวัณโรคดื้อยา จากผลการเฝ้าระวัง 2 ครั้งในช่วง พ.ศ. 2540-2541 และ พ.ศ. 2544-2545 พบว่า อัตราการดื้อยาขนานใดขนานหนึ่ง ลดลงจาก ร้อยละ 25.4 เป็น ร้อยละ 14.8 การดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) มีอัตราลดลงเช่นกัน คือ ร้อยละ 2.01 เป็น ร้อยละ 1.06 ส่วนการเฝ้าระวังครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2549-2550) พบว่าอัตราการดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ในผู้ป่วยใหม่ร้อยละ 1.65 ซึ่งถือว่าปัญหาการดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษามาก่อนยังไม่สูงมาก แต่จากการศึกษาในกลุ่มประชากรพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ โรงพยาบาลในเขตเมืองใหญ่ แนวชายแดน และพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเอดส์สูง ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการควบคุมวัณโรค พบอัตราการดื้อยาปฐมภูมิ (Primary drug resistance) สูงถึง ร้อยละ 5 – 7 และในผู้ป่วยวัณโรคที่เคยได้รับยามาก่อน (Acquired drug resistance) พบอัตราการดื้อยาสูงกว่าผู้ป่วยใหม่หลายเท่า”

          “จากสถิติในการเกิดโรควัณโรคในประเทศไทยที่ผ่านมา สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการบริหารจัดการกับคนไข้วัณโรคยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะการควบคุมวัณโรคในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา และเมืองใหญ่อื่นๆ ยังมีความสำเร็จในการรักษาต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ HIV ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราตายสูง และมีปัญหาเชื้อดื้อยา ปัญหาแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งรัฐยังไม่มีงบประมาณที่ชัดเจนในการดำเนินการควบคุมวัณโรคในกลุ่มแรงงานเหล่านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเร่งด่วนโดยมีการจัดลำดับความสำคัญ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณและเร่งรัดประสิทธิภาพการควบคุมโรค”

          “ในวันวัณโรคโลกสากล วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2554 นี้ ทางมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ กองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (The Global Fund) จะจัดวันรณรงค์ “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” โดยเน้นการจัดกิจกรรมให้ข้อมูลและความรู้ความเข้าใจถึงโรควัณโรคอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในวงกว้างผ่านทางโซเชี่ยลเนทเวิร์ก (Social network) ซึ่งถือเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในสังคมคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน การเผยแพร่ข้อมูลผ่านทาง Social network เน้นการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบันโดยได้จัดกิจกรรมการประกวดคลิปวิดีโอ “Teen Action รู้ทันวัณโรค” เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศที่สนใจได้สร้างสรรค์ผลงานผ่านทางเฟซบุค (Facebook)ที่ http://www.facebook.com/TeenActionTB ซึ่งคาดว่าจะได้รับการมีส่วนร่วมจากเยาวชนอย่างดี พร้อมทั้งได้จัดทำสื่อภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์รู้ทันวัณโรค ชุด “ด่วนกว่า” เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสังเกตอาการเบื้องต้นของโรค เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันที ในการจัดกิจกรรม “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” เนื่องในโอกาสวันวัณโรคโลกสากล 24 มีนาคม 2554 นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการช่วยขจัดวัณโรคเพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อวัณโรค ตามคำขวัญขององค์การอนามัยโลก ประจำปีนี้ คือ On the move against Tuberculosis “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” ซึ่งหมายถึง วัณโรคหากตรวจพบก่อนหรือเร็ว (Early Detection) ก็จะเป็นผลดีกับผู้ป่วย ทำให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วขึ้น การเจ็บป่วยไม่รุนแรง มีโอกาสแพร่เชื้อให้ชุมชนในเวลาสั้น การรักษาหาย เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตัดวงจรการแพร่เชื้อ เป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคไปยังผู้อื่นและชุมชน”

          สำหรับกิจกรรม “รู้ทัน วัณโรค พบก่อน รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย” เนื่องในโอกาสวันวัณโรคโลกสากล 24 มีนาคม 2554 นี้จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี ณ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) โดยจะมีนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับวัณโรค จากหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขและเครือข่ายองค์กรภาคีที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้ รวมทั้งมีบริการตรวจเช็คสุขภาพและตรวจปอดฟรี การจำหน่ายสินค้าเพื่อการกุศล การแสดงโดยศิลปินว่าน ธนกฤต (ว่าน AF2) และการแสดงอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากมาย