wmt on February 22, 2011, 01:50:17 PM
หมุนโลกใหม่ให้ยั่งยืน ด้วยพลังนักศึกษาสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จับมือ ธรรมศาสตร์ สร้างเยาวชนที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมสู่ภาคธุรกิจ


          
คณบดี คณธ BBA (ที่ 2 จากขวา) ร่วมยินดีกับนศ.

            แม้ทั่วโลกจะพูดถึงแนวคิดในการ “สร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ และชุมชน” หลังจากได้รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความหมาย ประโยชน์ และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริงยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ... อีกทั้งทุกคนต่างก็ยังเร่งรุดดำเนินธุรกิจเมื่อฟื้นตัว ทำให้การดำเนิน “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” ยังเป็นเพียงภาพฝันเท่านั้นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือในโครงการ “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้แก่นักศึกษาที่กำลังจะก้าวสู่โลกธุรกิจ ประเดิมเปิดโปรเจคแรก ด้วยการส่งนักศึกษาลงพื้นที่ บ้านหนองพฤกษ์ จ.นครราชสีมา หมู่บ้านภายใต้การสนับสนุนของธนาคารฯ เพื่อทำ “แผนในการพัฒนาโครงการการเงินขนาดจิ๋ว” ให้กับหมู่บ้านแห่งนี้

            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คัดเลือกตัวแทนนักศึกษาจำนวน 12 คนสู่โครงการนี้ ซึ่งเยาวชนทั้งหมดได้เข้ารับฟังการบรรยายข้อมูลสรุปเกี่ยวกับบ้านหนองพฤกษ์ จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population and Community Development Association: PDA) จากนั้นเดินทางไปบ้านหนองพฤกษ์ และใช้เวลาในการอยู่ร่วมกับชาวบ้านเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ก่อนที่จะกลับมาระดมสมองเพื่อหาวิธีที่จะช่วยให้ “บ้านหนองพฤกษ์เติบโตทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน”  และสุดท้ายนำเสนอแผนพัฒนาหมู่บ้านหนองพฤกษ์ต่อหน้าซีอีโอของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านซีเอสอาร์ คุณรวิพันธุ์ (ลลนา) พานิช และดร.ฐานทัต พุทธสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคมและการต่างประเทศสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ร่วมเป็นคอมเมนท์เตเตอร์  

            จากการไปสำรวจบ้านหนองพฤกษ์ จ.โคราชเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ของนักศึกษานักพัฒนาที่จะต้องช่วยกันคิดและวางกลยุทธ์สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่กว่า 3,325 ไร่ โดยมีชาวบ้านอาศัยคละกันราว 103 ไร่ บนสภาพพื้นที่ราบสูง และแห้งแล้ง อาชีพส่วนใหญ่ของชาวบ้านเป็นอาชีพเกษตรกรรมปลูกข้าวโพดหวาน มันสำปะหลัง ข้าว และรับจ้าง เยาวชนทั้ง 12 คนลงพื้นที่ด้วยจุดประสงค์ร่วมกันคือ ขจัดความยากจนและสร้างสรรค์เศรษฐกิจแบบยั่งยืน พัฒนาโครงการการเงินขนาดจิ๋ว ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน  

บนเวทีการเสนอแผนธุรกิจ เต็มไปด้วยแนวคิดอันโลดแล่นของทีมนักศึกษา และการนำเสนอข้อมูลแนวคิดที่น่าสนใจ น้องมุก-นางสาวเทียนทิพย์ บุญโชควิทูร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกทีมนักศึกษา เล่าว่า “ปัญหาหลักๆ ที่เราพบคือ ชาวบ้านมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จึงก่อให้เกิดหนี้ ส่วนอาชีพหลักของชาวบ้านคือการทำนา ซึ่งให้รายผลตอบแทนที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ หากฝนตกน้ำท่วม หรือแล้งจัด ต้นข้าวก็เสียหาย ก็พลอยสูญรายได้ไปด้วย พวกเราจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการแนะให้มีการจัดระบบการบริหารของธนาคารหมู่บ้าน และได้จัดทำคู่มือทางการเงินเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักจดรายรับ-รายจ่าย ฯลฯ และเสนอให้ชาวบ้านทำอาชีพเสริมคือ เพาะเห็ดฟางและเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้ชาวบ้านสามารถคืนเงินกู้ได้มากขึ้น”

ด้านน้องภูมิ-ภูมิสรวล อร่ามเจริญ นักศึกษาสาขาการบัญชี ชั้นปีที่ 4 เพื่อนร่วมทีม เสริมว่า “คอม-เมนเตเตอร์ทำให้เราได้ฉุกคิดมากขึ้นว่า เวลาเราทำอะไรอย่าคิดเพียงแค่ว่าเรา หรือ ชุมชนจะได้อะไร แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรชุมชนจึงจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง และสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาของชุมชนนั้น ความจริงแล้วมันใช่ปัญหาหลักหรือเปล่า แก่นของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน การแก้ปัญหานอกจากนำความรู้ที่มีมาใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องใช้หัวใจ ... ต้องนึกภาพว่าหากเราคือคนในหมู่บ้านนั้น และมีคนภายนอกมาเสนอแนะแนวทางต่างๆ หรือมาบอกให้เราทำอย่างนั้น อย่างนี้แล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะเชื่อเขาไหม เพราะอะไร”

ใช่ว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์แก่ชาวบ้านฝ่ายเดียว หากแต่ยังช่วยให้เกิดจิตสำนึกในการเรียนรู้ธุรกิจแบบองค์รวมอีกด้วย น้องแนน-เนติ จางเบ็ญจรงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 บอกว่า “โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักในชั้นเรียน ได้ทำงานเป็นทีมร่วมกับรุ่นพี่รุ่นน้อง การลงพื้นที่จริงยังช่วยให้เราได้คำตอบจริง ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่ได้รู้มาจากการบอกเล่า หรือรายงานบนกระดาษ จึงช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้เร็วขึ้นและตรงจุดมากกว่าด้วย”

นางลิน ค็อก กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า “ประสบการณ์ที่ได้รับจากการลงพื้นที่และทำงานจริง จะช่วยให้เยาวชนเติบโตทางความคิดมากขึ้น รู้จักดัดแปลงประยุกต์วิชาความรู้เข้ากับสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเจออย่างแน่นอนในโลกธุรกิจที่พวกเขาจะไปทำงานข้างหน้า”

  “นักศึกษาควรสำเร็จการศึกษาไปพร้อมกับสัญชาตญาณหรือจิตวิญญาณ ว่าเขาจะไม่เพียงแต่คำนึงถึงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงสังคมด้วย เพื่อความยั่งยืน การที่เด็กๆ ได้ออกไปทำงานจริงบนโครงการที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดทำอยู่แล้วนั้น จึงเป็นการใช้ความแข็งแกร่งของทั้งสององค์กร คือ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ มาช่วยกันพัฒนาเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศ” รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในท้ายที่สุด
« Last Edit: February 22, 2011, 02:09:52 PM by wmt »