dangjung on June 21, 2009, 03:46:12 PM
ใบปิดหนังไทย ตำนานแห่งศิลปะ

ใบปิดหนังไทยคือ ศิลปะ ที่เคยเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างแท้จริง สามารถเดินทางไปหาผู้คนได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าใครจะอยู่แห่งหนตำบลใด

"ใบปิด" หรือ "โปสเตอร์ภาพยนตร์" คือ รูปวาดหรือรูปพิมพ์ ที่ผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก บอกรายละเอียดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใครแสดง ใครสร้าง และใครเป็นผู้กำกับ ฉาย ที่ไหน รวมทั้งข้อความ เพื่อชักชวนให้ผู้ดูโปสเตอร์แผ่นนั้น ไปชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ นับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการโฆษณา และประชาสัมพันธ์ในวันเวลาของยุคเก่าๆ

พลิกดูวิวัฒนาการของใบปิดภาพยนตร์ไทยจากหนังสือการประกวดภาพยนตร์แห่งชาติ ปี 2535 โดยสมชาติ บางแจ้ง จะพบว่ามีมาก่อน ปี พ.ศ.2497 หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ ภาพถ่าย ที่ได้มาจากบริษัทศรีกรุงในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ศรีกรุง เรื่อง "แก่นกลาสี" ซึ่งมีฉากหนึ่งถ่ายทำ ที่โรงหนังศรีกรุงบางกะปิ จะเห็นว่า ที่รั้วของโรงหนังนั้น มีภาพโปสเตอร์เรื่อง "กลัวเมีย" ซึ่งพระเอก จำรัส สุวคนธ์ แสดงนำติดอยู่ ดังนั้น กล่าวได้ว่าโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยในรูปแบบภาพวาดนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคศรีกรุง

ใบปิดหนังไทย ตำนานแห่งศิลปะ

ยุคต่อมา ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้ง ที่ 2 และระหว่างสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ตัวอย่างใบปิดจากเรื่อง "ศึกถลาง" เมื่อปี 2497 และภาพยนตร์เรื่อง "สันติ-วีณา" เมื่อปี 2498 จะเป็นรูปแบบของใบปิด ที่มีพิมพ์สกรีนธรรมดา เป็นการพิมพ์แบบสีเดียวหรือไม่เกิน 2 สี (ฟ้า-แดง) เป็นงานแบนๆ ขาดความลึก ไม่เป็นธรรมชาติ

หลังช่วงสงครามโลกครั้ง ที่ 2 เป็นยุคที่ทะนง วีรกุล สร้างชื่อเสียงขึ้นมาด้วยการทำโปสเตอร์หนังไทย ที่มีลักษณะเป็นภาพวาด เช่นเดียวกับยุคศรีกรุง และเป็นผู้วางรากฐานของการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยไว้จนมีวิวัฒนาการรูปแบบเฉพาะตัวเรื่อยมาจนถึงวันนี้

ยุคทองของใบปิดหนังไทยได้เริ่มขึ้น เมื่อประมาณ ปี 2500 ผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ สมบูรณ์ นิยมศิริ ซึ่งกระเดื่องดังในชื่อของ"เปี๊ยก โปสเตอร์"

เมื่ออายุได้ราว 21 ปี เปี๊ยก ซึ่งมีพื้นฐานการวาดรูปมาจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้ทดลองเขียนภาพสีโปสเตอร์ ซึ่งแตกต่างจากภาพสีน้ำมัน ที่ ช่างเขียนคัดเอาท์ หรือป้ายโฆษณาสินค้าทั่วไป และได้นำไปเสนอ พิสิฐ ตันสัจจา แห่งโรงหนังเฉลิมไทย ปรากฏว่า พิสิฐชอบอกชอบใจในผลงาน และให้เปี๊ยกเขียนโปสเตอร์ของบริษัทเป็นประจำต่อมา ฝีมือโปสเตอร์หนังไทยเรื่องแรกๆ ของเขา เช่น เรื่อง "นกน้อย" ของดอกดิน กัญญามาลย์ เมื่อแรกๆ ทุกโปสเตอร์ ที่เปี๊ยกวาดด้วยตัวเอง เขาจะเซ็นนามใต้รูปว่า "เปี๊ยก" แต่ต่อมา เมื่อมีงานมากขึ้นเขาจึงต้องมีทีมงานมาช่วย ลายเซ็นในโปสเตอร์จะเปลี่ยนไป เป็น "เปี๊ยก โปสเตอร์" ซึ่งกลายเป็นเหมือนชื่อบริษัท และคำว่าโปสเตอร์ได้กลายเป็นนามสกุลของเปี๊ยกไปโดยปริยาย

สำนักของเปี๊ยกกลายเป็นสำนักตักศิลา ที่เด็กหนุ่มคนแล้วคนเล่าได้เดินไปหาเขา และขอฝากตัวเป็นศิษย์ ลูกศิษย์คนสำคัญ ที่สร้างชื่อเสียงต่อมา เช่น บรรหาร ศิตะพงศ์ เด็กหนุ่มจากสงขลา ที่ฝึกการเขียนภาพจาก โรงหนังคิงส์หาดใหญ่ แล้วเดินทางมาสมัครเป็นศิษย์ของเปี๊ยก โปสเตอร์หนังเรื่องแรกๆ ที่เป็นฝีมือของเขาเต็มใบ เช่น เรื่อง "โทน", "มนต์รักลูกทุ่ง" และ "เงิน เงิน เงิน"

ทองดี ภานุมาศ เป็นศิษย์เอกอีกคนหนึ่ง ที่มีผลงานเด่นๆ จากเรื่อง "ชู้" ต่อมาเขาลาออกจากสำนักของเปี๊ยก และรับงานอิสระ เช่น โปสเตอร์ เรื่อง "ทอง ภาค 1-ภาค 2", "คาดเชือก" และ "คนขวางโลก"

เฮียริ้ม หรือพัชร์ แซ่อึ้ง เป็นอีกผู้หนึ่ง ที่ยอมรับว่า เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวการเขียนรูปโปสเตอร์ของเขามากที่สุด งานเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยชิ้นแรกของเขา ได้แก่ เรื่อง "เพชรตัดเพชร", "พ่อ ไก่แจ้" "แผลเก่า" และ "ลำพู"

หมดสิ้นยุคของเปี๊ยก โปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย ก็ได้แปรเปลี่ยนไป มีการใช้เทคโนโลยีของภาพถ่าย และการพิมพ์ ที่ทันสมัยมาใช้มากขึ้น พร้อมๆ กับภาพใบปิดแบบเก่าๆ ได้แปรเปลี่ยนกลายไปเป็นของสะสม ที่ หายาก ว่ากันว่าภาพโปสเตอร์ ที่มีรายเซ็นของเปี๊ยก ราคาแผ่นละ 400-500 บาท บางเรื่องอาจจะสูงเป็นหลายพันบาท ส่วนภาพของนักวาดโปสเตอร์คน อื่นๆ ก็จะรองๆ ลงมา สวัสดิ์ สุวรรณปักษ์ นักสะสมคนหนึ่งยืนยันว่า ใบปิด บางชิ้นนักสะสมบางคนอาจจะทุ่มเงินซื้อแม้ต้องเสียเงินเป็นแสนก็ตาม

เมื่อเร็วๆ นี้ เปี๊ยกได้มีโอกาสมาวาดภาพใบปิดหนังไทยอีกครั้งให้กับเรื่อง "ฟ้าทะลายโจร" เปี๊ยกได้กล่าวไว้ในงานนิทรรศการใบปิดหนังไทย ที่กรมศิลปากรจัดขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม 2543 ที่ผ่านมาว่า หนังไทยอีกเรื่องหนึ่ง ที่เขามีความฝัน ที่จะเห็นโปสเตอร์หนังในเอกลักษณ์หนังไทยยุคแรกๆ ก็คือ "ศรีสุริโยทัย" ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ทุ่มงบสร้าง หลายร้อยล้านบาท

วันนี้ ปรมาจารย์ของใบปิดหนังไทย เปี๊ยก โปสเตอร์คงปิดฉากตัวเองในการวาดภาพโปสเตอร์ หนังไปแล้ว และกำลังมีความสุขอย่างมากกับการสอนวาดภาพให้กับเด็กๆ ณ บ้านของเขา ที่อำเภอปากช่อง

ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยกำลังพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันจบสิ้น แต่ดูเหมือนว่าภาพโปสเตอร์หนังไทยจะคงเหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าเท่านั้น

โดย: นิตยสารผู้จัดการ



________________________________________
 

supreme  ผู้ตั้ง ศิลปวัฒนธรรม  เข้าร่วม: 06 มีนา 2006 ตอบ: 97
 

 โพสต์เมื่อ: พฤหัส มีนา 09, 2006 12:24 pm  |ข้อความ|   เรื่อง: ทองดี ภานุมาศ : ช่างเขียนผู้สร้างจิตรกรรมบนใบปิดหนัง   

________________________________________
ทองดี ภานุมาศ (ช่างเขียนผู้สร้างจิตรกรรมบนใบปิดหนัง)


ในบรรดาช่างเขียนใบปิดหรือโปสเตอร์หนังไทย นอกจาก เปี๊ยกโปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ ซึ่งได้รับการนับถือเป็นปรมาจารย์ของวงการช่างเขียนใบปิดหนังไทยแล้ว ทองดี ภานุมาศ ช่างเขียนใบปิดหนังผู้เป็นหนึ่งในศิษย์ของสำนักเปี๊ยกโปสเตอร์ เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในวงการช่างเขียนและผู้ที่ชื่นชมงานเขียนใบปิดหนังไทยว่า เป็นผู้มีฝีมือสุดยอดหรือมือหนึ่งของวงการ เปี๊ยกโปสเตอร์ ศิษย์โรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้บุกเบิกสร้างสรรค์การเขียนใบปิดหนังด้วยสีโปสเตอร์ในระยะต้นทศวรรษของปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จนกลายเป็นแบบฉบับของใบปิดหนังไทย งานที่สวยงามและสมบูรณ์ถูกต้องด้วยหลักวิชาของเขาก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เยาวชนจำนวนหนึ่งซึ่งหลงไหลการเขียนใบปิด และเดินทางจากบ้านนอกเข้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์และลูกมือทำงาน ในขณะที่งานของเปี๊ยกขยับขยายใหญ่โตขึ้นเป็นสำนักงาน ทำงานกันเป็นระบบคณะ ลูกศิษย์และลูกมือเหล่านี้ กลายเป็นช่างเขียนใบปิดสกุลเปี๊ยกโปสเตอร์ ซึ่งรุ่งเรืองสุดขีดในยุคหนังไทย ๑๖ มิลลิเมตร

เมื่อเปี๊ยกโปสเตอร์ เปลี่ยนทางไปกำกับภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ แล้วเปลี่ยนไปยึดอาชีพเป็นผู้สร้างผู้กำกับภาพยนตร์อย่างจริงจังหลังจากนั้น ศิษย์ช่างเขียนใบปิดสำนักเปี๊ยกโปสเตอร์ก็กระจายกันไปเป็นช่างเขียนอิสระ

เมื่อปรมาจารย์ไปเป็นผู้บุกเบิกสร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทยยุคใหม่เสียแล้ว ศิษย์ก้นกุฏิคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยร่ำเรียนวิชาช่างเขียนจากระบบ โรงเรียนใดมาก่อน นอกจากพรสวรรค์และการเรียนรู้ในสำนักเปี๊ยกโปสเตอร์ จึงได้รับโอกาสให้สำแดงความเป็นเพชรเม็ดเอกของเขา และได้รับการยอมรับจากวงการช่างเขียนใบปิดหนังและวงการหนังไทยให้เป็นมือหนึ่งของช่างเขียนใบปิดหนังไทย เขาคือ ทองดี ภานุมาศ

ทองดี เป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดในเวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งสิ้นสุดลง บิดาชื่อ ถวิล มีอาชีพรับจ้าง มารดาชื่อ ประกอบ เป็นแม่บ้าน ทองดีเกิดและเติบโตที่บ้านเกิดคือ บ้านควนปลิง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นลูกคนเล็กของครอบครัว ซึ่งมีพี่สาวอีกคนหนึ่งชื่อ วิประภา เด็กชายทองดีเริ่มเรียนหนังสือชั้นประโยค ประถม คือ ป.๑-๔ ที่โรงเรียนบ้านควนปลิง ข้างบ้าน แล้วไปต่อมัธยมที่โรงเรียนยุวราชวิทยาลัย อันเป็นโรงเรียนราษฎร์ในเครือคริสต์จักร ที่เมืองตรัง เด็กชายทองดี ชอบดูใบปิดหนัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเด็ก ๆ ในต่างจังหวัด ในยุคที่โรงหนังในตลาดเป็นบันเทิงสถานสุดยอดในชีวิต เพราะการได้เห็นใบปิดหนังเป็นสิ่งเร้าแห่งจินตนาการอันสนุกสนานที่จะโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ที่เฝ้ารอดู แต่การชอบดูและหลงไหลใบปิดหนังเป็นชีวิตจิตใจ ถึงขนาดปฏิบัติการคอยแอบขโมยใบปิดมาชื่นชมเป็นสมบัติ เอาไว้เล่นและลองเขียนตาม เป็นเรื่องไม่ใช่ธรรมดา โดยเฉพาะสำหรับเด็กชายอายุเก้าขวบสิบขวบ

เด็กชายทองดีพิสมัยใบปิดหนังมาก เมื่อมีหนังใหญ่ ๆ เช่น องคุลีมาล เกาะรักเกาะสวาท ศึกไวกิ้ง ซึ่งมักมีใบปิดสวยงาม มาติดโชว์ที่ตู้โชว์หน้าโรงหนัง ทองดีจะหมายตาคอย ถึงวันที่รถแห่หนังประจำโรงนำใบปิดไปปิดที่ป้ายร้านกาแฟในตลาด ปกติถ้าเป็นหนังดาด ๆ ใบปิดไม่ค่อยสวยนัก หากขอเขา คนรถแห่หนังก็ยอมปันให้ง่าย ๆ แต่หนังใหญ่ ใบปิดมีน้อย ขอเขาไม่ให้ ทองดีจะตื่นเช้าไปซุ่มคอย พอเขาปิดใบปิดไว้ที่แผงร้านกาแฟ รอชั่วอึดใจพอให้รถลับตาไป ก็ย่องไปลอกใบปิดซึ่งปิดด้วยแป้งเปียกยังไม่ทันแห้ง วิ่งตื๋ออย่างลำพองใจกลับไปนอนชื่นชมเล่นที่บ้าน พอดีข้างบ้านทองดีมีกระต๊อบร้างอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งเด็กชายนักล่าใบปิดมักชอบไปเล่นสมมุติเป็นโรงหนัง เอาใบปิดไปปิดเป็นทีเปลี่ยนโปรแกรมหน้าโรง เป็นการสนุกสำราญใจยิ่ง

เมื่อชอบใบปิดเป็นชีวิตจิตใจ ทองดีก็เกิดแรงดลใจที่จะเขียนรูปอย่างใบปิดด้วยตนเอง จะได้ไม่ต้องไปขอหรือแอบลักเขา จึงเริ่มหัดเขียนรูปโดยเอาใบปิดที่ชอบเป็นแบบหรือครู เจียดค่าขนมและหาสตางค์พิเศษโดยการไปรับจ้างกรีดยางมาซื้อสีน้ำและพู่กัน สมุดวาดเขียนของทองดีจึงมีเล่มพิเศษไว้สำหรับเขียนรูปจากใบปิด เวลานั้นเปี๊ยกโปสเตอร์เริ่มตั้งสำนักเขียนใบปิดแล้ว ทองดีชื่นชอบใบปิดหนังไทยฝีมือเปี๊ยก สมุดวาดเขียนของเขามีรูปวาดดาราหนังไทย เช่น ภาวนา ชนะจิตร บุศรา นฤมิต มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ ฯลฯ ซึ่งวาดเลียนมาจากใบปิดฝีมือเปี๊ยก

ทองดีพยายามเซ็นชื่อในใบปิดให้ดูคล้าย ๆ ลายเซ็นเปี๊ยก อีกด้วย เมื่อขึ้นเรียนชั้นมัธยมเป็นเด็กโตแล้ว ทองดีขอให้ลุงซึ่งมีญาติรู้จักกับเจ้าของโรงหนังเฉลิมตรัง ฝากเขาไปเป็นเด็กเดินตั๋ว เพื่อจะได้ดูหนังฟรี ได้ใบปิดงาม ๆ ที่หายาก และได้รู้จักคลุกคลีกับช่างเขียนรูปโฆษณาหรือที่เรียกว่าคัทเอาท์ของโรงหนัง

นายฉ๋อย คือช่างเขียนคัทเอาท์ประจำโรงหนังเฉลิมตรัง ซึ่งกลายเป็นครูหรืออาจารย์สอนการเขียนรูปใบปิดหนังคนแรกของทองดี แรก ๆ ก็คอยยืนดูเขาเขียน แล้วขยับไปช่วยเขาล้างแปรง ต่อมาอาจารย์ฉ๋อยก็ค่อย ๆ สอนและแนะนำวิธีการเขียนรูปให้

ด้วยความเพลิดเพลินอยู่กับโรงหนังและทุ่มเทความสนใจไปอยู่ที่การเขียนรูปใบปิดมากกว่าการเรียน ทองดีสอบชั้นมัธยมปลายหรือมัธยม ๖ ไม่ผ่าน

พ่อและแม่เสียอกเสียใจ ใหญ่ ทำให้ทองดีครุ่นคิดหนัก หันมาตั้งหน้าตั้งตาเรียน จนจบมัธยมหก และยังเปลี่ยนความคิด หันหลังให้ใบปิดหนัง ตั้งใจว่าจบหกแล้วจะเข้ากรุงเทพ ไปสอบเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมทหารอากาศ แต่โชคชะตาของเขากระมัง ไม่ให้เขาสอบผ่านเข้าเรียนทหารอากาศ

ทองดีกลับมาหาจิตวิญญาณของตนเองอีก คราวนี้มุ่งหน้าสอบใหม่เข้าเรียนโรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนของเหล่าผู้ที่ใฝ่ฝันจะเป็นช่างเขียน

แต่อนิจจา โชคชะตาก็ไม่ยอมให้ทองดีสอบผ่านอีกครั้ง

ธรรมดาของเด็กบ้านนอกที่เข้ากรุง มุ่งเรียนต่อ ย่อมขายหน้าที่จะกลับบ้านเปล่า ๆ ทองดีตัดสินใจไม่กลับตรัง มุ่งมั่นไปหาเปี๊ยกโปสเตอร์ ปรมาจารย์ช่างเขียนใบปิดหนังในใจของเขา ตั้งใจว่าจะไปอยู่ทำงานกับอาจารย์เปี๊ยกสักปีหนึ่งเพื่อคอยสอบเข้าเพาะช่างอีกครั้งหนึ่ง ได้ดั้นด้นค้นหาไปถึงที่สำนักงานของอาจารย์เปี๊ยก ย่านบางหว้า อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนัก ซึ่งต้องลงทุนขอให้พ่อพาตัวไปยืนยันรับรองกับอาจารย์เปี๊ยกว่าเขาเป็นเด็กดี ตั้งใจจริงไม่เกกมะเหรกเกเร และไม่ลืมขนรูปเขียนผลงานของตนไปให้อาจารย์ดูด้วย

อาจารย์เปี๊ยกเห็นผลงานแล้วบอกว่า ทองดียังต้องเรียนรู้อีกมาก ยังไม่มีหลักวิชา ไม่เหมือนพวกพี่ ๆ ที่เขาอยู่ในสำนัก ซึ่งมักเป็นนักเรียนเพาะช่างอยู่ก่อนแล้ว

แต่ก็คงเป็นโชคชะตาและวาสนาของทองดีกระมัง ถึงที่สุดอาจารย์เปี๊ยกจึงตกลงรับทองดีไว้ในสำนัก และให้พวกรุ่นพี่ ๆ ช่วยดูแลฝึกสอนให้

ทองดีหนุ่มรุ่นกระทงจากเมืองตรัง จึงมาเป็นเด็กฝึกงานและพักอาศัยอยู่ในชายคาบ้านแห่งสำนักเปี๊ยกโปสเตอร์ ตั้งแต่ราวปี ๒๕๐๙

เริ่มต้น ทองดีมีหน้าที่คอยรับใช้หยิบฉวยช่วยพวกช่างเขียนรุ่นพี่ ๆ และอาศัยคอยนั่งดูพวกพี่ ๆ ทำงานเป็นหลัก แรก ๆ นั่งดูเขาตลอดเป็นวัน ๆ แล้วเริ่มหัดเขียนรูปองค์ประกอบพวกสิ่งของ สัตว์ และคนพวกตัวประกอบตัวเล็กตัวน้อย บางครั้งก็แอบเขียนลงในงานต้นฉบับใบปิดจริง ๆ โดยอาจารย์เปี๊ยกไม่รู้

รุ่นพี่ที่เอาใจใส่ดูแลฝึกสอนทองดีผู้หนึ่ง คือ ชิต ไทรทอง ช่างเขียนศิษย์เพาะช่างผู้นี้เป็นผู้ให้คำแนะนำสั่งสอนทองดีมากกว่าใคร จนกระทั่งวันหนึ่งชิต ไทรทองบอกอาจารย์เปี๊ยกว่า ทองดีเขียนรูปใช้การได้แล้ว

งานแรกที่ทองดีได้รับมอบหมายให้ทำ คือเขียนรูปรถไถนาคันหนึ่งในใบปิดหนังอินเดียเรื่อง เหนือชีวิต และต่อมาได้รับความไว้วางใจให้เขียนรูปคนครั้งแรกคือรูป ชาณีย์ ยอดชัย ดาวร้ายประจำหนังไทยยุค ๑๖ มม. ในใบปิดหนังไทยเรื่องหนึ่ง

ระยะนั้นสำนักงานเปี๊ยกโปสเตอร์กำลังรุ่งเรืองสุดขีด รับงานเขียนใบปิดหนังไทย ซึ่งเวลานั้นมีการสร้างกันปีหนึ่ง ๗๐–๘๐ เรื่อง และส่วนใหญ่เจ้าของหนังว่าจ้างให้สำนักงานเปี๊ยกโปสเตอร์เป็นผู้เขียน ส่วนหนังเทศหรือหนังต่างชาติ ซึ่งนอกจากหนังฮอลลีวู้ดแล้ว ยังมีหนังชาติต่าง ๆ อีกหลายชาติได้แก่ หนังยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และหนังเอเซียได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นหลัก หนังเทศเหล่านี้เจ้าของผู้สั่งหนังเข้ามาจะต้องทำใบปิดขึ้นใหม่สำหรับคนดูในประเทศไทย และมักว่าจ้างให้สำนักงานเปี๊ยกโปสเตอร์เขียนใบปิดให้

ทองดีชอบเขียนใบปิดหนังเทศมากกว่าหนังไทย เขาเริ่มชอบแบบฉบับการเขียนใบปิดของฝรั่ง ชอบการปาดสีทีแปรงซึ่งดูหวือหวาโลดแล่น โดยเฉพาะแบบฉบับของใบปิดหนังคาวบอยอิตาเลียนซึ่งกำลังเฟื่องฟูในยุคนั้น และสำราญใจกับการได้เก็บสะสมใบปิดหนังเทศที่เจ้าของหนังส่งมาให้เป็นแบบเขียน และยังเสาะหาใบปิดหนังเทศเพิ่มเติมจากพวกซาเล้งที่รับซื้อขยะกระดาษมาจากบริษัทหนังเทศที่จำหน่ายทิ้งเมื่อครบปี เอามาศึกษาวิธีการเขียนของเขา โดยดูให้รู้ว่าทำไมเขาจึงเขียนอย่างนั้นอย่างนี้ ดูใบปิดแล้วยังดูหนังเรื่องนั้นด้วย เพื่อค้นคำตอบให้พบ ทองดีชอบงานเขียนใบปิดหนังของ Howard Trepning ซึ่งเป็นต้นตำรับของการเขียนโดยใช้สีแห้งแบบไม่เกลี่ย เจ้าของงานเขียนใบปิดหนังเรื่อง คลีโอพัตรา และ ดร.ชิวาโก เป็นต้น หรืองานของ Robert Peak เช่น เรื่อง กองพันอำมหิต (Apocalypse Now) และงานของ Robert Maccathy และ Drew Struzan

อาจารย์เปี๊ยกไม่ค่อยให้ทองดีเขียนใบปิดหนังไทย เพราะความที่ทองดีชอบแบบฉบับการเขียนใบปิดอย่างฝรั่ง ซึ่งไม่ถูกกับตลาดคอหนังไทย

ทองดีเพลิดเพลินกับงานเขียนใบปิดหนัง จนเวลาล่วงเลยไปก็ลืมความคิดที่จะสอบเข้าเพาะช่าง กลายเป็นช่างเขียนใบปิดอาชีพ อยู่ในสำนักเปี๊ยกโสเตอร์ สองปี สามปี สี่ปี ผ่านไป.....

เมื่ออาจารย์เปี๊ยกโปสเตอร์ออกไปเป็นผู้สร้างผู้กำกับหนังไทยเต็มตัวแล้วนับจากปี ๒๕๑๓ ก็แจกงานให้ลูกศิษย์ในสำนักรับงานเป็นสองสาย คือ หนังไทยให้ บรรหาร สิตะพงศ์ ช่างเขียนใบปิดร่วมรุ่นกับทองดี เป็นคนทำ ส่วนหนังฝรั่งและหนังเทศให้ทองดีทำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หนังฝรั่งและหนังเทศในบ้านเรากำลังตกต่ำลง ในขณะที่หนังไทยกำลังเฟื่องฟูขึ้น ปรากฏว่าทองดีต้องว่างงานอยู่ราวหนึ่งปี

จนเมื่อปี ๒๕๑๖ เมื่อฉลอง ภักดีวิจิตร สร้าง ทอง เป็นหนังไทยฟอร์มใหญ่ ทำนองอินเตอร์ ฉลองไปถามอาจารย์เปี๊ยกว่ามีใครเขียนใบปิดแนวอินเตอร์ได้ดีบ้าง อาจารย์เปี๊ยกจึงเสนอทองดี

ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของทองดี เขาตั้งใจและทุ่มเททำเต็มที่ ใช้ความรู้ในวิธีการนำเสนอใบปิดของฝรั่งที่เคยศึกษาสั่งสมมา และได้ใช้ความคิดเต็มสติปัญญาของตัวเอง

ปรากฏว่าเป็นผลงานที่ประสพความสำเร็จสูงสุด ทำให้เขาโดดเด่นขึ้นในวงการทันที และหลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาตลอดเวลา เป็นที่มาของการได้รับการยอมรับให้เป็นช่างเขียนใบปิดมือหนึ่งของวงการ ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีที่ทำให้เจ้าของหนังหรือผู้ว่าจ้างต้องฟังและยอมตามความคิดของเขาบ้าง

แต่ทองดียังยอมรับว่า ถึงอย่างไรช่างเขียนใบปิดหนังไทยก็ไม่อาจทำงานได้ตามใจตัวเอง ยังต้องทำตามความต้องการของเจ้าของหนัง เพราะเป็นงานพาณิชย์ศิลป์ และเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลา ตัวเขาเองทำได้เพียงพยายามสอดแทรกความคิดความอ่านและชั้นเชิงทางศิลปการนำเสนอใบปิดแบบฉบับที่เขาชอบและพยายามคิดค้นให้เป็นตัวของตัวเองเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำเท่าไรนัก และนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาใบปิดหนังของไทยไม่ให้ก้าวหน้าไปไหน

ทองดีมีงานเข้ามาล้นมือจนเขาต้องหาลูกมือมาช่วย และตั้งเป็นสำนักงานทำงานเป็นคณะเช่นเดียวกับปรมาจารย์เปี๊ยกโปสเตอร์ของเขา ลูกศิษย์และลูกมือของทองดี ซึ่งต่อมาเป็นช่างเขียนใบปิดหนังที่มีผลงานเด่นได้แก่จำนงค์ ถาดกิ่ง แต่ลูกศิษย์และลูกน้องบางคนเป็นผู้หลงไหลใฝ่ฝันที่จะเป็นนักสร้างหนังมากกว่าช่างเขียนใบปิดหนัง และกลายเป็นผู้กำกับหนังไทยที่โดดเด่น เช่น ปื้ด (ธนิต จิตนุกูล) และ อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา)

สำนักทองดีโปสเตอร์จึงเป็นศูนย์กลางผลิตงานใบปิดหนังอีกสกุลหนึ่งของวงการ มีผลงานออกมานับพันเรื่องในช่วงเวลาระหว่างปี ๒๕๑๗–๒๕๓๐ ก่อนที่กระแสนิยมในวงการหนังจะเปลี่ยนผ่านไปตามกาลสมัย กลายเป็นยุคคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่างเขียนใบปิดไม่ใช้ดินสอ พู่กัน และสีสำหรับเขียนรูปบนกระดาษหรือผ้าใบอีกต่อไป แต่ใช้วิธีการลากเมาส์และกดปุ่มสำหรับเนรมิตรรูปด้วยไฟฟ้าบนจอคอมพิวเตอร์

ใบปิดหนังเรื่องสุดท้ายที่ทองดีทำ คือใบปิดหนังไทยเรื่อง มอแกน ๙๙ ๑/๒ ก็ถึงได้ ซึ่งเป็นหนังที่เขาเองก้าวออกมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องแรก และพบว่าการทำหนังนั้นเขาไม่อาจจะควบคุมได้ด้วยตัวคนเดียวเหมือนกับการเขียนใบปิด จึงยากที่จะทำให้ดีได้อย่างใจ

มอแกน จึงเป็นใบปิดหนังชิ้นสุดท้ายที่เขาเขียน พร้อม ๆ กับที่อาจจะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาทำ

เมื่อไม่มีใครทำใบปิดหนังด้วยฝีมือช่างเขียนอีกแล้ว ทองดีเริ่มหันไปเขียนรูปอื่น ๆ อย่างงานจิตรกรรม โดยเฉพาะการเขียนรูปสีน้ำมันบนผ้าใบ ซึ่งมีบุคคลและหน่วยงานหลายแห่งให้เขาเขียนรูปพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่สำคัญ ซึ่งปรากฏว่างานของทองดีได้รับความสำเร็จ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ได้พบเห็นทั่วไป

ทองดีบอกว่าเขาชอบเขียนใบปิด เพราะเป็นงานที่มีการตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลงานนั้นไม่สูญหายไปไหน และผู้ชื่นชอบสามารถเก็บหาไว้ชื่นชมได้ เขาไม่ชอบเขียนคัทเอาท์หรือป้าย ซึ่งเมื่อใช้งานแล้วมัก ถูกลบเพื่อหมุนเวียนใช้อีกหรือถูกทำลายไป ไม่อยู่ยั่งยืน หรือแม้แต่รูปเขียนเขาก็ไม่ชอบ เพราะมีชิ้นเดียว คนทั่วไปไม่มีโอกาสเห็น เขาชอบแต่การเขียนรูปที่เป็นต้นฉบับสำหรับการพิมพ์

จากเด็กบ้านนอกผู้หลงไหลใบปิดหนัง มาเป็นช่างเขียนใบปิดหนังมือหนึ่งของวงการ และกำลังเป็นศิลปินช่างเขียนภาพในปัจจุบัน ทองดีพอใจกับชีวิตที่เขาเลือกทางเดินเองแล้ว มีความภาคภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงานใบปิดหนังไทยนับร้อยนับพัน เป็นมรดกวัฒนธรรมอย่างหนึ่งแก่แผ่นดินนี้ และมีความรู้สึกชื่นใจที่เด็ก ๆ รุ่นหลังชื่นชมและสะสมใบปิดหนังของเขา

บางทีใบปิดหนังของทองดี จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่อนุชนอีกหลายต่อหลายคน ที่ใฝ่ฝันจะเป็นช่างเขียนรูปหรือจิตรกรเอกของไทยต่อ ๆ ไป...


จาก : THAI FILM FOUNDATION



________________________________________

คัดลอกบทความ  นิตยสารผู้จัดการ และ   THAI FILM FOUNDATION   ก็ขอขอบคุณ         

ที่มีข้อความดีๆมาให้สมาชิกได้อ่านและได้ความรู้  ขอบคุณมากครับ

pooklook on July 02, 2009, 09:32:29 PM
ขอบคุณที่หามาให้อ่านนะคะพี่