admin on February 20, 2011, 04:42:56 PM
ญี่ปุ่นเข้มระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าข้าวในประเทศ
สถาบันอาหารหวั่นกระทบข้าวไทยทางอ้อม ญี่ปุ่นยกระดับความปลอดภัยในอาหาร ประกาศใช้กฎหมายตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) สินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวที่ผลิตภายในประเทศ กำหนดให้ต้องสร้างและเก็บรักษาการบันทึกข้อมูลสินค้าข้าวมาตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 และนับแต่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า โดยระบุไว้บนหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ กรณีภัตตาคารหรือร้านอาหารต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าไว้บนรายการเมนู หรือภายในร้าน หวังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคต่อความสามารถในการเรียกคืนสินค้ากรณีมีปัญหา คาดว่าจะกำหนดให้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับไปใช้กับสินค้าอาหารชนิดอื่นๆ ที่ผลิตในญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต โดยยังไม่ครอบคลุมสินค้าข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ส่งออกข้าวไทยอาจต้องเตรียมข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้ากรณีที่ถูกร้องขอ ด้านสถาบันอาหารหวั่นไทยอาจได้รับผลกระทบส่งออกสินค้าข้าวไปญี่ปุ่นทางอ้อม เพราะระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สินค้าข้าวญี่ปุ่นแสดงอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของคนญี่ปุ่นในเชิงคุณค่าของผลิตภัณฑ์
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่บังคับให้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ไปใช้ในสินค้าอาหาร เพื่อให้สามารถจำกัดความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดและหากกรณีที่มีปัญหาจะช่วยจำกัดความเสียหายให้เกิดในวงแคบได้ คือ สามารถเรียกเก็บเฉพาะสินค้าที่มีปัญหาไว้ได้ทั้งหมดและสามารถสืบหาสาเหตุของปัญหาได้ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศกฎหมาย Traceability ในสินค้าข้าว กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าข้าว ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้า ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับวัตถุดิบข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป และผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารหรือภัตตาคารในประเทศญี่ปุ่นต้องสร้างและเก็บรักษาการบันทึกข้อมูลสินค้าข้าวไว้เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งในระหว่างการรับซื้อวัตถุดิบข้าวและการนำข้าวไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยต้องระบุสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปและแหล่งปลูกข้าวไว้ด้วย
และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน โดยระบุไว้บนหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ หรือใบแจ้งหนี้ ขณะเดียวกันต้องแสดงให้ผู้บริโภค
ทราบบนฉลากสินค้า หรือใช้หมายเลขรหัสที่สามารถสืบค้นข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าทางเว็บไซต์และทางโทรศัพท์มือถือได้ กรณีภัตตาคารหรือร้านอาหารต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าไว้บนรายการเมนู หรือภายในร้าน โดยสินค้าที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ได้แก่ เมล็ดข้าว อาทิ ข้าวเปลือก ข้าวไม่ขัดสี ข้าวขัดมัน ฯลฯ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารจานหลัก อาทิ แป้งข้าว ผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าว ข้าวมอลต์ สินค้าอาหารที่ใช้ข้าวเปลือก ฯลฯ อาหารมื้อที่มีข้าวเป็นส่วนผสมหลัก อาทิ อาหารมื้อเที่ยงที่จัดทำเป็นแพ็ค rice balls เบอร์เกอร์ข้าว festive red rice ข้าวเหนียว อาหารชนิดที่มี ส่วนผสมของข้าวสุก ข้าวห่อ (wrapped rice) ข้าวงอก ข้าวอบแห้ง ฯลฯ เค้กข้าว ขนมขบเคี้ยวจากข้าว เป็นต้น
“ข้าวเป็นสินค้าอาหารของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นติดอยู่ใน 10 อันดับแรก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 สินค้าข้าวของไทยมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.98 ในขณะที่การส่งออกไปยังทั่วโลกหดตัวลง แสดงว่าข้าวไทยยังสามารถเติบโตได้ดีในตลาดญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับในตลาดโลก และข้าวไทยที่ส่งเข้าตลาดญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในร้านอาหารไทยรวมถึงนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรู้จักข้าวไทยจากการที่หน่วยงานภาครัฐของไทยพยายามส่งเสริมและแนะนำการบริโภคโดยเฉพาะการบริโภคข้าวหอมมะลิคู่กับการส่งเสริมอาหารไทย ทำให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นรู้จักข้าวหอมมะลิว่าเป็นข้าวชนิดพิเศษซึ่งแตกต่างจากข้าวญี่ปุ่นและเหมาะสำหรับการรับประทานกับอาหารไทย เช่น รับประทานคู่กับแกงชนิดต่างๆ และเหมาะสำหรับปรุงเป็นข้าวผัด ทำให้การบริโภคข้าวไทยแพร่หลายจากการใช้ในภัตตาคารและร้านอาหารไทยไปสู่ครัวเรือนชาวญี่ปุ่นมากขึ้น” นายอมร กล่าว
รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ระบุถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปเข้าไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นว่า อาจไม่จำเป็นต้องปรับตัวมากนักเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมิได้ครอบคลุมไปถึงสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลประกอบสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทยเพื่อเสนอให้แก่บริษัทนำเข้าหรือผู้ประกอบการของญี่ปุ่นในกรณีที่ถูกร้องขอ เชื่อว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้กับสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วยนั้น อาจเป็นเพราะต้องการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวที่ผลิตในญี่ปุ่นเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความได้เปรียบทางการตลาด ขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม และเพื่อส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคข้าวที่เพาะปลูกและเป็นผลผลิตภายใน ประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพราะข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวและส่งผลทางการเมืองต่อรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างสูง ซึ่งจะเห็นได้จากที่ผ่านมาญี่ปุ่นกำหนดให้การนำเข้าข้าวเป็นระบบโควตาภาษีโดยกำหนดโควตานำเข้าข้าวไว้ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งหากผู้ส่งออกส่งสินค้าข้าวเข้าญี่ปุ่นภายใต้โควตาจะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากส่งสินค้าข้าวเข้าญี่ปุ่นนอกโควตาต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม อีกทั้งการบังคับให้มีการแสดงข้อมูลแหล่งเพาะปลูกข้าวและแหล่งผลิตในประเทศญี่ปุ่นบนฉลากสินค้าและในเมนูอาหารที่จำหน่ายตามร้านอาหารและภัตตาคารต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ลูกค้าทราบถึงแหล่งที่มาของข้าวว่ามาจากแปลงปลูกใดและจากสถานที่ผลิตใดนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากข้าวและการเลือกเมนูอาหารของผู้บริโภคญี่ปุ่นมาก เนื่องจากคนญี่ปุ่นมักมีความรู้สึกว่าข้าวของญี่ปุ่นย่อมมีคุณภาพดีกว่าข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าที่ทำมาจากข้าวมีโอกาสหันกลับไปใช้ข้าวญี่ปุ่นแทนการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ประเทศไทยซึ่งเป็น ผู้ส่งออกข้าวต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
« Last Edit: February 21, 2011, 11:37:27 AM by happy »
Logged