happy on December 30, 2010, 02:10:37 PM
FROM PRADA TO NADA
ฟอร์ม ปราด้า ทู นาดา




จัดจำหน่ายโดย    บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด
ชื่อภาษาไทย        สาวถังแตก แอ๊บไฮโซ
      
ภาพยนตร์แนว   คอเมดี้
จากประเทศ        สหรัฐอเมริกา
กำหนดฉาย       3 กุมภาพันธ์ 2554
ณ โรงภาพยนตร์   ทุกโรงภาพยนตร์
นักแสดง   April Bowlby (Two and a Half Men, TV series CSI: Crime Sene Investigation), Camilla Belle (10,000 BC,), Alexa Vega (Spy Kids), Wilmer Valderrama (That’ 70s Show)
ผู้กำกับ      Angel Gracia
จุดเด่น   -  ดัดแปลงจากหนังสือ Sense and Sensibility ผลงานวรรณกรรมสุดรักของ เจน แอสติน ผู้เขียน Pride & Prejudice และ Emma ซึ่งเคยถูกดัดแปลงให้เก๋และดังเป็นพลุแตกอย่าง Bridget Jones’ Diary และ Clueless ครั้งนี้จะใส่ความเฉียวเปรี้ยวตามสไตล์สาวลาตินให้เดิ้นยิ่งขึ้น พร้อมได้มือเขียนบทจากทีมสร้าง Woman On Top มาช่วยปรุงให้ From Prada to Nada แซบ ซ่าส์ ฮา เดิ้นยิ่งกว่าเดิม
   - รวมนักแสดงสาวสวยตามคม เอวคอด ตามสไตล์ลาตินแท้ April Bowlby สาวสวยจากซีรี่ส์สุดฮิตอย่าง CSI: Crime Sene Investigation, Camilla Belle สาวตาคมที่พกความสวยมาเต็มกระเป๋า จาก 10,000 BC., Alexa Vega นักแสดงสาวที่เติบโตขึ้น จากบทพี่สาวจากไตรภาค Spy Kids หนุ่มหล่อ Wilmer Valdenama จากซีรียส์สุดฮิต That’s 70s Show


เรื่องย่อ

สองพี่น้อง นอร่า นักศึกษาวิชากฎหมาย และ แมรี นักศึกษาที่หนักไปทางปาร์ตี้สังสรรค์ อาศัยอยู่กับพ่อในคฤหาสน์สุดหรูย่านเบเวอร์ลีฮิลส์ แมรีใกล้จะเป็นอย่างซีรี่ส์ทางจอแก้ว “90210” เข้าไปทุกที เธอไม่ยอมรับว่าตัวเองมีเชื้อสายเม็กซิกัน เมื่อพ่อจากไปกะทันหัน ชีวิตอันหรูล้ำก็กลับตาลปัตร ทั้งสองต้องอาภัพอับจน และโดนบังคับให้ย้ายไปอยู่กับป้าออเรเลียที่บ้านหลังน้อยแต่มีชีวิตชีวาใน บอยล์ ไฮส์ ย่านชาวละตินทางฝั่งตะวันออกของแอลเอ พวกเธอเอาแต่กลัวการออกจากโลกคุณหนูหรูหรา ไม่ว่าจะนอร่าหรือแมรีก็ไม่มีใครพูดภาษาสเปนหรือไม่แม้แต่จะใส่ใจรับรู้ ทั้งคู่ต้องค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ขายทิ้งหมดทั้ง BMW และ Prius แล้วเปลี่ยนมาใช้รถสาธารณะกับรถมือสองสุดโทรม ต่อเมื่อสองพี่น้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่พวกเธอไม่เคยเหลียวแลมานาน จึงได้พบความรักและความหมายที่แท้จริงของครอบครัว อีกทั้งยังตระหนักได้ว่าชีวิตที่รายล้อมไปด้วย PRADA แท้จริงก็คือ NADA ที่ไร้รัก ไร้ครอบครัว และไร้ชุมชน
« Last Edit: January 04, 2011, 03:10:47 PM by admin »

happy on December 30, 2010, 02:17:46 PM
กำเนิด From Prada to Nada

           ด้วยนำ Sense and Sensibility มาเป็นฐานเรื่อง From Prada to Nada จึงกลายเป็นการตีความงานคลาสสิกของ เจน ออสเตน ออกมาในรูปของชุมชนเมืองสมัยใหม่ โดยสำรวจลึกลงไปในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสองสาวผู้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พร้อมทั้งต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ที่จำใจไปอยู่
          “ผมชอบเรื่องนี้” ผู้กำกับ อังเจล กราเซีย อธิบาย “เพราะต้องรับมือกับ 3 ระดับที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน ฉากหน้าผิวเผิน มันดูสวยงาม เป็นโรแมนติกคอเมดี้มีเสน่ห์น่าหลงใหลและทำให้หลงรักได้ไม่ยาก แต่ในระดับที่สอง นี่คือการฉายภาพเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากสูญสิ้นทุกอย่าง และท้ายที่สุด ในระดับที่สาม จะว่าด้วยเรื่องของสองสาวละตินที่ถูกเลี้ยงมาอย่างอเมริกัน ผมว่ามันทั้งจับใจทั้งทันสมัยทีเดียว แถมยังมีเสน่ห์มากๆ เวลาที่มองการเทียบเคียงระหว่างสองวัฒนธรรมในขณะเดียวกับที่ผู้คนกำลังตกหลุมรักกัน”
          “ผมอยากทำโปรเจกต์นี้” กราเซียชี้แจง “เพราะตัวผมเองก็มาจากวัฒนธรรมเดียวกันกับในหนัง ผมเคยเป็นหนุ่มละตินวัยทีน ทั้งเพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานหลายต่อหลายคนก็เป็นชาวละตินอพยพมาจากหลายต่อหลายประเทศ ซึ่งแต่ละคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่รวมกับโลกใหม่โดยไม่สูญเสียโลกเดิมไป เพราะเราเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาจากที่นั่น”     
ผู้คุมงานสร้าง ลินดา แม็คโดนัฟ เห็นด้วย และกล่าวต่อว่า ด้วยความอ่อนไหวของกราเซียต่อเรื่องราวในหนังนี่เองที่ทำให้ ออดล็อต เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เชื่อมั่นว่าเขาคือผู้กำกับที่เหมาะสมสำหรับโปรเจกต์นี้ที่สุด “อังเจลลงตัวสมบูรณ์แบบกับหนังของเรา เขาเกิดในเวเนซูเอลา เติบโตมาทั้งในสเปนและอเมริกา และเข้าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพได้เป็นการส่วนตัว ภรรยาของเขามาจากเม็กซิโกซิตี้ และช่วยกันเลี้ยงดูลูกสาวที่เป็นลูกครึ่งเม็กซิกันอเมริกันเจเนอเรชั่นแรก ซึ่งต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ แบบเดียวกับในหนัง ตอนที่ฉันเจอเขา เขาบอกฉันว่าเขาอยากทำหนังเรื่องนี้แบบที่เพิ่มความฉลาดให้สาวๆ และมอบเสียงหัวเราะให้วัยรุ่น แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด เขาอยากสร้างตัวละครให้ออกมาสมจริงที่สุด”       

                กับความต้องการหนังลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ แม็คโดนัฟเสนอ “ไอเดียเกี่ยวกับการจับงานของ เจน ออสเตน มาบิดเป็นละติน ถูกใจฉันมากจริงๆ ท้าทายมากกับการดัดแปลงเรื่องราวในนิยายคลาสสิกระดับโลกให้กลายเป็นหนังที่ให้ความรู้สึกสดใหม่และเข้าถึงคนดูวัยรุ่น สำหรับเรา นั่นหมายถึงการเล่าเรื่องออกไปจากวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบละติน นำเสนอเรื่องราวของผู้อพยพต่างด้าวเจเนอเรชั่นที่สอง”
ในส่วนของการสื่อความหมายของหนัง แม็คโดนัฟเผยว่า “ใจความสำคัญของหนังเป็นสากลอย่างแท้จริง ซึ่งคือ อย่าตัดสินหนังสือจากปกหรือวัดค่าของคนจากวัตถุสิ่งของ และทำให้เห็นว่าสิ่งท้าทายต่างๆ หรืออะไรก็ตามที่ชีวิตต้องฝ่าฟัน ที่สุดแล้ว มันคือประสบการณ์ที่เปลี่ยนเราให้เป็นคนที่ดีกว่าเดิม” 
เกี่ยวกับการเชื่อมสัมพันธ์กับ เจน ออสเตน ผู้กำกับ อังเจล กราเซีย ให้รายละเอียดว่า “ผมว่าเรื่องที่ออสเตนเล่านั้นอยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ มันไม่มีวันหมดอายุ อะไรที่เกิดขึ้นใน (อังกฤษศตวรรษที่ 19 ใน) Sense and Sensibility ล้วนแต่กลับมาเกิดขึ้นที่นี่ ในลอสแองเจลิส ณ ปัจจุบัน” ส่วน ลินดา แม็คโดนัฟ ก็เห็นสอดคล้อง “เดิมที เป็นเรื่องของสาวๆ ที่อยู่ๆ ก็ต้องพึ่งตัวเองแบบไม่คาดคิดมาก่อน ไม่สามารถเป็นตัวเองคนเดิมอีกต่อไป คือไม่มีทั้งเงินทั้งพ่อที่คอยหามาให้ ซึ่งในขณะเดียวกัน ฉันว่าสังคมทุกวันนี้มองว่าเรื่องแบบนั้นไม่ได้สลักสำคัญใดๆ อีกแล้ว ซึ่งเป็นการมองที่ผิวเผินมาก ดังนั้น เราเลยรู้สึกว่าน่าจะเล่าเรื่องเดียวกันให้คนดูเชื่อได้อย่างสนิทใจ”
              นักแสดงสาว คามิลลา เบลล์ ผู้รับบท นอร่า ขอร่วมแสดงความคิดในประเด็นนี้ “เราหยิบเรื่องราวต้นฉบับจาก Sense and Sensibility มาใช้ในหนังมากมาย เพียงแต่บิดให้ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง สองพี่น้องยังคงคาแรกเตอร์แบบเดิม แต่เปลี่ยนบริบทเป็นลอสแองเจลิสในปัจจุบัน และเพิ่มเติมวัฒนธรรมเม็กซิกันอันล้ำค่าเข้าไปในส่วนผสม ฉันว่าสาวๆ วัยรุ่นต้องซาบซึ้งมากแน่ๆ แถมยังเป็นความซาบซึ้งแบบแปลกใหม่อีกด้วย”
              ผู้เขียนบท เคร็ก เฟอร์นันเดซ เห็นพ้อง “สมัยที่ เจน ออสเตน เขียนงาน ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ทำงาน ส่วนทุกวันนี้ ผู้หญิงมีทางเลือก ดังนั้น ก็เลยกลายเป็นเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่งกลับเข้าไปในตัวเธอเองเพื่อหาว่าการยอมรับนับถือตัวเองนั้นอยู่ตรงไหน ซึ่งหญิงสาวอีกคนที่ไปไหนไปกันก็ไม่ได้ต่างกันเลย”
สำหรับธีมหลักหนึ่งของเรื่องอย่างการคืนสู่บ้าน เฟอร์นันเดซกล่าว “จะอ่อนไหวหรือสัมผัสประสบการณ์ชีวิตมากเกินไปไม่ได้ ต้องปิดตัวเองให้หมด เราจะพะวงทั้งเรื่องศิลป์และเรื่องรักพร้อมๆ กันไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะรู้สึกหดหู่เกินไป ต้องมีคำตอบอยู่ตรงไหนสักแห่งแน่ๆ แนวคิดนี้เป็นจริงอยู่ในงานเขียนของออสเตน และยังคงเป็นจริงเมื่อมาอยู่ในงานของเรา”
            นักแสดงสาว อเล็กซา เวกา ผู้รับบท แมรี ซึ่งเป็นน้องสาว เห็นด้วยอย่างยิ่ง “ฉันว่าใจความสำคัญของหนังคือการรวมเข้ากับรากเหง้าเผ่าพันธุ์ ยอมรับวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเราขึ้นมา และจงภูมิใจกับมัน ในขณะเดียวกันก็ยังมีการค้นพบตัวตนที่แท้จริง และอย่ากลัวหากจะต้องทลายกรอบขอบเขต” ฝ่าย นิโคลัส ดาโกสโต ผู้รับบท เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ริส รักที่หมายมั่นของนอร่า ก็ให้ความเห็น “ผมว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงคุณค่าของครอบครัวและประวัติศาสตร์ภูมิหลังที่มีร่วมกัน มันจะบอกเราว่าเราควรยินดีกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต ซึ่งทำให้เราเป็นคนพิเศษและแตกต่างจากคนอื่นๆ”
            เฟอร์นันเดซขอสรุป “นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรักและการจากไป ผมอยากเน้นให้เห็นพลังของสาวละติน ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่รวมเป็นหนึ่งกับวัฒนธรรมรากเหง้า สาวๆ เหล่านี้ทำได้ทุกอย่าง”

happy on December 30, 2010, 02:22:49 PM
ตัวละครกับการคัดเลือกนักแสดง

ผู้คุมงานสร้าง จิจี พริตซ์เกอร์ ยังนึกถึง “ตอนที่ได้บทหนังมาอยู่ในมือแรกๆ ฉันติดใจตัวละครทันที พวกเขามีตัวตนขึ้นมาอย่างประณีต ไม่ธรรมดา รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น และแตกต่าง ฉันชอบความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวน้องสาว นอร่า และแมรี และผู้หญิงทุกคนในหนังเรื่องนี้” ส่วนในด้านโรแมนติกของหนัง พริตซ์เกอร์เสริมว่า “ฉันคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องรักแฟนตาซีเพ้อฝัน และด้วยความสมจริงแบบเรียลิสม์ของมันนี่แหละที่ทำให้ฉันอยากเข้าร่วมในโปรเจกต์นี้”
   “การคัดเลือกนักแสดงสนุกสนานมาก” พริตซ์เกอร์กล่าวต่อ “นักแสดงทุกคนเข้ากันได้ดี ซึ่งผลออกมาคือเราได้ทีมนักแสดงที่วิเศษมาก การใช้ทีมเบื้องหลังและนักแสดงที่เป็นเม็กซิกันและอเมริกันรวมๆ กันได้ผลดีจริงๆ นอกจากจะช่วยให้รู้สึกถึงความเป็นของแท้แล้ว ยังให้รสชาติที่ทำให้หนังเรื่องนี้คือหนึ่งเดียวไม่ซ้ำใคร”
   ผู้กำกับ อังเจล กราเซีย ก็รู้สึกไม่ต่างกัน “การคัดเลือกนักแสดงไม่มีทางดีเด่นไปกว่านี้อีกแล้ว นักแสดงทุกคนลงทุนลงแรงกับบทที่ได้รับกันเต็มที่ และช่วยให้ผมมีพลังขับเคลื่อนที่สัมพันธ์กับตัวละคร”
   
                ดาวรุ่งพุ่งแรง อเล็กซา เวกา (รับบท แมรี โดมินเกซ) เห็นสอดคล้องกับผู้คุมงานสร้าง จิจี พริตซ์เกอร์ ในแง่ความทันสมัยของเรื่องราว “เรื่องรักทำนองนี้ยังคงเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ใช่ไหม? แน่นอน!” เธอกล่าวต่อ “แมรีเป็นบทบาทแบบที่ฉันไม่เคยแสดงมาก่อน ซึ่งก็ตื่นเต้นมากจริงๆ เวลาที่ต้องทำบางสิ่งบางอย่างที่ต่างออกไปจากเดิมชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ฉันชอบพัฒนาการของตัวละครแมรีมาก เธอเริ่มจากเรียนรู้ทุกอย่างจากครอบครัวร่ำรวย คือเป็นสาววัตถุนิยมขนาดหนัก แต่ต่อมา กลับถูกโยนเข้าไปในโลกที่ Prada นั้นไร้ค่า ทว่าเหมือนหัวจิตหัวใจได้อยู่ถูกที่ถูกทาง แมรีเป็นเด็กสาวเม็กซิกัน แต่ไม่เคยยอมรับนับถือรากเหง้าของตัวเองมาก่อนเลย จนกระทั่งย้ายมาอยู่กับป้าในแอลเอตะวันออกถึงรู้ว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ ก็คือ คุณค่าในตัวเองและความสำคัญของสถานที่ที่ทำให้เราเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา”
เวกายังเล่าต่ออีกว่า “เรามีไอเดียเกี่ยวกับตัวตนของแมรีอยู่ไอเดียหนึ่ง คือถึงแม้จะถูกตามใจจนเสียเด็ก แต่ก็เป็นเด็กดี และด้วยความที่ไม่อยากทิ้งไอเดียนี้ เธอเลยต้องมีมากกว่าหนึ่งมิติ จะแบนราบไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งแนวทางของอังเจลที่เปิดโอกาสให้ฉันได้ซ้อมบทกับคามิลลาและวิลเมอร์ก่อนถ่ายทำ ช่วยให้ฉันเจอคาแรกเตอร์เร็วขึ้นมากจริงๆ”
               คามิลลา เบลล์ (รับบท นอร่า โดมินเกซ) อธิบายตัวละครที่เธอสวมบทบาท “นอร่าเป็นนักศึกษาวิชากฎหมาย และให้ความสำคัญกับอนาคตและการงานอย่างมาก ถึงขนาดตัดสินใจพักเรื่องรัก ความสัมพันธ์ และหนุ่มๆ เอาไว้ก่อน แต่พอเอ็ดเวิร์ดก้าวเข้ามาในชีวิต หัวจิตหัวใจก็สั่นคลอนไปหมด โยนรับสลับไปสลับมา ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำตามหัวใจหรือทำตามความคิดดี นี่คือความต้องการที่ขัดแย้งกันซึ่งจะเห็นได้จากนอร่าตลอดทั้งเรื่อง”
นิโคลัส ดาโกสตา ขออธิบายที่มาที่ไปของตัวละครที่เขาแสดงบ้าง “เอ็ดเวิร์ดเป็นทนายหนุ่มที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวในลอสแองเจลิส พอเจอนอร่าก็ตกหลุมรักเลย แม้ว่าน้องสาวจะค้านหัวชนฝาก็ตาม ตลอดเวลาที่รู้จักกันมา นอร่าเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคอยปกป้องและทำงานช่วยเหลือครอบครัวยากไร้เพื่อเป็นของขวัญให้แก่สังคม นั่นแหละคือจุดที่เขาเริ่มรู้ตัวว่าอยากทำอะไร”     
               เบลล์เสริม “บทนอร่าดึงดูดใจฉันมาก เพราะเธอร่ำรวยทางอารมณ์ นอกจากนี้ ฉันยังต้องสำรวจด้านที่เป็นคอเมดี้ตลกๆ ของเธออีกด้วย แรกๆ เธอเป็นคนขยันมาก แต่พอความรักมาทักทายก็ได้รู้จักด้านที่อ่อนไหวของตัวเอง ทั้งบทนอร่าและการเป็นส่วนหนึ่งในหนังเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ที่พิเศษสุดจริงๆ ช่วงถ่ายทำ ทีมนักแสดงจะออกไปเที่ยวเล่นเตร็ดเตร่กันทุกๆ สุดสัปดาห์ จนตอนนี้เรากลายเป็นเพื่อนกันไปจริงๆ แล้ว”
ในขณะที่ อเล็กซา เวกา ก็ได้รับประสบการณ์คล้ายคลึงกัน “คามิลลากับฉันไปกันได้ดีมากๆ เราผูกพันกันเหนียวแน่น ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในวงการนี้ และเราก็สนุกมากด้วยตอนที่ต้องแสร้งทะเลาะกันให้สมกับเป็นพี่น้องกันจริงๆ เวลาขึ้นจอ แต่ความผูกพันนี่เองที่ช่วยเพิ่มความพิเศษให้ความสัมพันธ์แบบพี่น้องของเรา กับวิลเมอร์เอง เราก็ต้องแน่ใจจริงๆ ว่าความสัมพันธ์ก่อตัวขึ้นแล้ว เพราะแมรีจะไม่ชอบขี้หน้าบรูโนเฉพาะตอนต้นๆ เรื่องเท่านั้น เราต้องค้นหาสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับตัวบรูโน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วแมรีจะพบความเซ็กซี่ในตัวเขา เขากับฉันคุยกันเรื่องนี้ตลอด เราจะเอาแต่ซ้อมบทพูดกันอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องแน่ใจด้วยว่ากำลังไปในทิศทางเดียวกัน”   

               วิลเมอร์ วัลเดอร์รามา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกจากบทบาทในคอเมดี้สุดฮิตทางโทรทัศน์ “That ‘70’s Show” ให้คำจำกัดความตัวละคร บรูโน ว่า ‘เจ้าแมวหลงทาง’ “บรูโนเคยพัวพันกับแก๊งนักเลง ว่าง่ายๆ คือเป็นเด็กเลว” เขาอธิบาย “ตอนต้นๆ ของหนัง เขาถูกเหนี่ยวนำให้เข้าใจผิด จริงอยู่ เขาอาจจะหงุดหงิดง่าย ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม แต่ต่อมา คนดูจะได้เห็นเองว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนยังไง”
วัลเดอร์รามายังอธิบายอีกถึงสิ่งที่ดึงดูดให้อยากเข้าร่วมในโปรเจกต์นี้ “ผมชอบเรื่องต้นฉบับมากๆ และบทนี้ก็เป็นบทที่ซับซ้อนหลายชั้น ความสัมพันธ์ของบรูโนกับแมรีดูน่าขำจริงๆ และผมคิดว่าประสบการณ์ส่วนตัวจากทั้งดราม่าและคอเมดี้น่าจะทำให้เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง รวมถึงสร้างสมดุลให้ตัวละคร ซึ่งเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในทางที่เลือกเดิน แถมยังมีอารมณ์ขันด้วย” 
              “บรูโนเป็นผู้ชายที่น่าสนใจมากทีเดียว” วัลเดอร์รามาย้อนทบทวน “เขาเปลี่ยนจากอันธพาลมาเป็นจิตรกรฝาผนัง เบื้องหลังของเขาคือผู้หญิงที่ชื่อ จูดี บากา ตำนานจิตรกรฝาผนังแห่งลอสแองเจลิส ซึ่งเป็นผู้สั่งสอนอบรมเขา เธอดูแลรับผิดชอบงานจิตรกรรมฝาผนังที่มีความหมายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ในแอลเอหลายชิ้น ที่สำคัญคือเป็นแรงบันดาลใจให้บรูโน หลังจากผ่านการอบรมสั่งสอนจากเธอแล้ว ท้ายที่สุด เขาถ่ายทอดวิชาให้เด็กคนอื่นๆ ต่อได้อีกด้วย”   
วัลเดอร์รามาพบแล้วว่าการถ่ายทำ From Prada to Nada คือหนึ่งในประสบการณ์ที่น่าปลาบปลื้มที่สุดบนเส้นทางสายนักแสดงจนถึงทุกวันนี้ “เป็นหนังที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก พวกเราในฐานะนักแสดงสามารถสร้างสรรค์ตัวละครออกมาได้อย่างน่าพอใจ คือทำให้คนดูเชื่อสนิทใจ และจะใส่ใจกับเส้นทางของแต่ละตัวละครอย่างจริงจัง หนังจะดำเนินไปในโลกที่วัฒนธรรมความเป็นอยู่เข้าใกล้ชีวิตและธรรมชาติมากกว่าทุกวันนี้ นิยามแห่งรักและความสัมพันธ์จะสะท้อนออกมาจากมรดกวิถีชีวิตของชาวเม็กซิกัน”

             อาดริอานา บาร์ราซา นักแสดงผู้เข้าชิง Academy Award® จากเรื่อง Babel ซึ่งรับบทป้าออเรเลียในเรื่องนี้ บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับว่า “ออเรเลีย ตัวละครของฉันนั้น วิเศษมากจริงๆ เธอมีอารมณ์ขันร้ายลึกแบบชาวเม็กซิกันขนานแท้ เธอพยายามแสดงความเป็นจริงให้ประจักษ์ต่อเด็กสาวหน้าตาสะสวยพวกนี้ ซึ่งเป็นความเป็นจริงที่ปราศจากเงินทองมาเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสอนพวกเธอให้เห็นความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึก ที่สำคัญ ฉันอยากใส่ความสมจริงแบบเรียลิสม์ลงไปในตัวละครด้วย เธอเลยกลายเป็นหญิงแกร่งในโลกอันหนักหน่วง แต่ก็ยังมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นแบบฉบับของลูกครึ่งเม็กซิกันอเมริกันโดยส่วนมากอยู่แล้ว” และเมื่อเพิ่มระดับความจริงจังขึ้นอีกเล็กน้อย บาร์ราซากล่าว “การร่วมงานกับทีมที่ส่วนหนึ่งเป็นอเมริกันและอีกส่วนเป็นเม็กซิกัน สำหรับฉันแล้วคือสัญลักษณ์ของการที่คนต่างวัฒนธรรมประสบความสำเร็จในชีวิตและการงานร่วมกันได้ ความแตกต่างนั้น แค่เปิดใจยอมรับมัน เราก็เข้ามาใกล้กันมากขึ้นได้”

             คูโน เบ็กเกอร์ ผู้รับบทครูฝึกสอนเสน่ห์ร้าย โรดริโก ก็กล่าวถึงบทบาทที่ได้รับในหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน “โรดริโกเป็นเศรษฐีจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ แต่ตอนนี้ใช้ชีวิตและเป็นครูอยู่ในลอสแองเจลิส โดยใช้ความรู้ความสามารถทางด้านวรรณกรรมและบทกวีมาล่อลวงสาวๆ สำหรับการเตรียมตัวเพื่อรับบทเป็นครูสอนวรรณคดีคนนี้ ผมต้องหยิบงานเขียนหลายๆ เล่มของ เฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กา มาอ่านทำความเข้าใจ ซึ่งช่วยให้เข้าถึงตัวละครโรดริโกได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”   
เบ็กเกอร์ยังเล่าต่อ “เรื่องราวในหนังไม่ใช่แค่สนุกหรือเศร้า แต่มีส่วนผสมอื่นๆ อีกมากมายที่รวมกันแล้วกลายเป็นประสบการณ์ที่จับใจมากจริงๆ หนังจะนำเสนอมากมายหลายประเด็น และกระตุ้นให้คนดูย้อนคิดว่าอะไรกันแน่คือสิ่งสำคัญในชีวิต เงินทอง ตัวเอง ครอบครัว ความสัมพันธ์ ความรัก หรือความลวง สิ่งไหนล่ะที่หมายถึงการเป็นมนุษย์”

             อเล็กซา เวกา ตั้งข้อสังเกต “พี่น้องสองสาวจะได้รู้จักผู้ชายดีขึ้นอีกเยอะผ่านความรักและการอกหก รักคือความยุ่งเหยิงและบ้าคลั่ง แต่นั่นแหละที่ทำให้เราตื่นเต้น” 
            “ผมเชื่อว่าความรักเกิดขึ้นได้ระหว่างทุกวัฒนธรรมความเป็นอยู่และทุกผู้ทุกนาม” นิโคลัส ดาโกสตา ลองไตร่ตรองดูแล้ว “และบ่อยครั้งที่การผสมกลมกลืนอันแปลกประหลาดเหล่านั้นทำให้ความรักกลายเป็นสิ่งวิเศษสุด”
            “ฉันว่าทุกคนต่างมองหาความเป็นเพื่อนและความรักด้วยกันทั้งนั้น งานเขียนของ เจน ออสเตน เป็นอมตะเหนือกาลเวลาก็เพราะเธอหยิบประเด็นนี้มาเป็นธีมในการเขียน” ผู้คุมงานสร้าง ลินดา แม็คโดนัฟ แสดงความเห็นอีกครั้ง “ท้ายที่สุดแล้ว” แม็คโดนัฟสรุป “รับรองเลยว่าคนที่มาดู From Prada to Nada จะได้รื่นเริงบันเทิงใจกับโรแมนติกคอเมดี้เต็มรสชาติ ส่วนสาวๆ ที่ไม่ต่างจากเราๆ เท่าไหร่นักก็จะชวนลุ้นอยู่ตลอด เมื่อไหร่เธอจะรักกับเขา เมื่อไหร่จะได้สัมผัสรสจูบ ตอนจบจะเจอรักแท้ไหม... เรียกว่านี่คือหนังเพื่อสาวๆ จริงๆ”