sianbun on June 24, 2009, 12:22:16 PM
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ประกาศผลผู้ชนะเลิศ การแข่งขัน ‘ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์’



กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2552.. บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขันโครงการ
‘ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์’ ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยการแข่งขันดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะของนักศึกษาและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนทางด้านเทคโนโลยีทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอล รวมทั้งทักษะทางด้านการบริหารจัดการฐานข้อมูล โดยการแข่งขันได้จัดไประหว่างเดือนกันยายน  2551 ถึงกุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งผู้ชนะจากประเทศไทยสามารถกวาดรางวัลทุกรางวัลทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอาชนะผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกว่า 5,000 คนจากทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ผู้ชนะจากการแข่งขันดังกล่าว ได้แก่ นายวชิระ สว่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (ยืนซ้าย) ผู้ชนะประเภทการแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) ในระดับประเทศและภูมิภาค นายพรชัย พันธุ์วิเศษ จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (นั่งซ้าย) ผู้ชนะการแข่งขันประเภทวีดิโอที่น่าคลั่งไคล้ (Video Mania) ในระดับภูมิภาค นายศรัณย์ วงศ์พัชรปกรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ยืนซ้าย) ผู้ชนะการแข่งขันประเภทคำถามสุดท้าทาย (Query Challenge) ในระดับประเทศ และนายนิติภูมิ ศิลาวรรณา (นั่งขวา) ผู้ชนะการแข่งขันประเภทคำถามสุดท้าทาย ในระดับประเทศและภูมิภาค
« Last Edit: June 26, 2009, 05:48:40 PM by sianbun »

sianbun on June 26, 2009, 05:42:09 PM
ไอบีเอ็มประกาศผลผู้ชนะจากโครงการแข่งขันทางด้านซอฟต์แวร์ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์”



กรุงเทพฯ – 26 มิถุนายน 2552 –บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ซอฟต์แวร์พาร์ค (เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย) และ ชุมชนผู้ใช้ซอฟต์แวร์ดีบีทูนานาชาติ หรือ ไอดียูจี (International DB2 Users Group - IDUG) ประกาศผลผู้ชนะจากการแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน (The Search for the XML Superstar in ASEAN) ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และดำเนินการแข่งขันตั้งแต่เดือนกันยายน  2551 จนถึงกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา โดยผู้ชนะจากประเทศไทยสามารถกวาดรางวัลในทุกประเภทการแข่งขัน รวมทั้งรางวัลในระดับประเทศและระดับภูมิภาคจากการแข่งขันครั้งนี้อีกด้วย

การแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน (The Search for the XML Superstar in ASEAN) จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะของนักศึกษาและผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนทางด้านเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอล (eXtensible Markup Language - XML) ซึ่งเป็นมาตรฐานแบบเปิดในด้านการบริหารจัดการข้อมูล รวมทั้งทักษะทางด้านการบริหารจัดการฐานข้อมูล โดยที่ผู้เข้าแข่งขันไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วีดิโอที่น่าคลั่งไคล้ (Video Mania) คำถามสุดท้าทาย (Query Challenge) และการแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) และแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับประเทศและระดับภูมิภาค การแข่งขันครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงเพราะมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 5,000 คนจากทั่วทั้งภูมิภาค

รายละเอียดของผู้ชนะจากการแข่งขันในแต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้

วีดิโอที่น่าคลั่งไคล้ (Video Mania) หรือการแข่งขันสร้างสรรค์วีดิโอคลิปซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอล ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล ดีบีทู (DB2) ของไอบีเอ็ม หรือการบริหารจัดการฐานข้อมูลโดยรวม การแข่งขันนี้มีเพียงระดับภูมิภาคเท่านั้น การตัดสินใช้วิธีโหวตจากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมดจากทุกประเทศในภูมิภาค ผู้ชนะจะได้รับรางวัลวีดิโอเกม นินเทนโด วี

ผู้ชนะในระดับภูมิภาค ได้แก่ นาย พรชัย พันธุ์วิเศษ จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

คำถามสุดท้าทาย (Query Challenge) หรือการแข่งขันหาคำตอบโดยให้ผู้เข้าแข่งขัน (จะเป็นนักศึกษาหรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ได้) เรียนรู้และฝึกเขียนภาษาเคียวรี่ (Query language) และหาคำตอบจากโจทย์ที่กำหนดด้วยภาษาเอ็กซ์เอ็มแอล หรือ ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลดีบีทู การแข่งขันนี้มีทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การตัดสินผู้ชนะทำโดยการรวมรวมคะแนนจากระบบโดยดูจากจำนวนคำตอบที่ถูกต้องของผู้เข้าแข่งขัน หลังจากนั้นคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจะให้คะแนนเพิ่มเติมโดยพิจารณาจากคุณภาพและประสิทธิภาพของการเขียนเคียวรี่ของผู้เข้าแข่งขัน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดคือผู้ชนะ
ผู้ชนะในระดับประเทศจะได้รับรางวัลเครื่องเล่นไอพ๊อด นาโน ส่วนผู้ชนะในระดับภูมิภาคจะได้รับรางวัลวีดิโอเกม นินเทนโด วี

ผู้ชนะในระดับประเทศ (ของประเทศไทย) ได้แก่ นายศรัณย์ วงศ์พัชรปกรณ์ และนายนิติภูมิ ศิลาวรรณา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือจากผู้ชนะทั้งสองคนจากประเทศไทยแล้ว ยังมีผู้ชนะในระดับประเทศจากประเทศอื่นอีก คือ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม (รายชื่อสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของการแข่งขัน)
ผู้ชนะในระดับภูมิภาค ได้แก่ นายนิติภูมิ ศิลาวรรณา   จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ชนะควบทั้งงรางวัลระดับประเทศและภูมิภาค)

การแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) บนเทคโนโลยีทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอลและเครื่องมือจัดการฐานข้อมูลของซอฟต์แวร์ดีบีทูของไอบีเอ็ม การแข่งขันนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเข้าแข่งขันเป็นทีม และให้มีอาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ชที่ปรึกษาได้ 1 ท่าน การแข่งขันนี้มีทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค การตัดสินผู้ชนะทำโดยคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนทั้งจากไอบีเอ็ม มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ และบริษัทคู่ค้าของไอบีเอ็ม ในส่วนของของรางวัล ผู้ชนะในระดับประเทศจะได้รับรางวัลเครื่องเล่นไอพ๊อด นาโน ผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศในระดับภูมิภาค จะได้รับรางวัลตั๋วเครื่องบิน ที่พัก และโอกาสในการเยี่ยมชมแล็บของไอบีเอ็มที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผู้ชนะในระดับประเทศ (ของประเทศไทย) ได้แก่ นายวชิระ สว่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
นอกเหนือจากผู้ชนะจากประเทศไทยแล้ว ยังมีผู้ชนะในระดับประเทศจากประเทศอื่นด้วย คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (รายชื่อสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของการแข่งขัน)
ผู้ชนะเลิศในระดับภูมิภาค ได้แก่ นายวชิระ สว่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (ชนะควบทั้งงรางวัลระดับประเทศและภูมิภาค)
ผู้ชนะเลิศ (รอง) ในระดับภูมิภาค ได้แก่ นักศึกษาจากมาเลเชีย (สามารถดูชื่อได้จากเว็บไซต์ของการแข่งขัน)

มูลค่าทั้งหมดของของรางวัลสำหรับผู้ชนะทุกคนทั่วทั้งภูมิภาค คือ 1,004,268 บาท

ดร.รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า หนึ่งในผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวว่า “"ผมย้ำอยู่เสมอว่าคนไทยมีศัยภาพไม่ด้อยไปกว่าชาติใดในโลก โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์ นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กไทย หรือคนไทยมีความสามารถทัดเทียมนานาชาติหรือสูงกว่า เพราะฉะนั้นเราในส่วนของภาครัฐ เราจะต้องส่งเสริมให้เด็กๆเหล่านี้ ได้แสดงออกซึ่งความสามารถ ผ่านเวทีการประกวดแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมพัฒนาทักษะ เพื่อรองรับในอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ซิป้าพร้อมให้การสนับสนุนโครงการดีๆ อย่างนี้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเยาวชนไทยด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ และดิจิตอลคอนเทนท์"”

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค (เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวว่า “ปัจจุบันการแข่งขันทางด้านการเขียนและการใช้ซอฟต์แวร์ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคถือเป็นเวทีที่สร้างคนคุณภาพมาประดับวงการซอฟต์แวร์ของไทยอย่างไม่ขาดสาย และการที่เยาวชนของไทยสามารถกวาดรางวัลค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์ ในระดับภูมิภาคเช่นนี้ นอกจากจะทำให้วงการซอฟต์แวร์ของไทยตื่นตัวในภาษาเอ็กซ์เอ็มแอลมากขึ้น ยังเท่ากับเป็นการผลักดันมาตรฐานการเขียนโปรแกรมและการใช้งานของไทยเข้าสู่ระดับมืออาชีพขึ้นอีกด้วย ถือเป็นแนวทางการส่งเสริมของซอฟต์แวร์พาร์คตลอดช่วงที่ผ่านมา”

นายวชิระ สว่างแก้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ผู้พัฒนาโครงการเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยจากเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลและเครื่องมือของซอฟต์แวร์ดีบีทูจากไอบีเอ็ม จนได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคของประเภทการแข่งขันเขียนโปรแกรม (Programming Contest) จากการแข่งขันครั้งนี้ กล่าวว่า “ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอลในครั้งนี้รวมทั้งภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยและได้มีโอกาสชนะการแข่งขันครั้งนี้ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมทั้งขอขอบคุณไอบีเอ็มและองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ด้วย” นอกจากนั้นนายวชิระ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ในระหว่างการแข่งชัน ผมพบว่าเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลหรือการใช้ซอฟต์แวร์ดีบีทูในการจัดการข้อมูล ไม่ได้เป็นเรื่องยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ รวมทั้งเชื่อมั่นว่าคนไทยเองก็มีศักยภาพในด้านนี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นผมจึงอยากรณรงค์ให้ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันสนับสนุน เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้แสดงศักยภาพและพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของบ้านเราให้ทัดเทียมหรือเอาชนะประเทศอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกันครับ” นายวชิระ กล่าวเสริม

นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ทางไอบีเอ็มในฐานะส่วนหนึ่งของผู้จัดการแข่งขันครั้งนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การแข่งขันครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และมีส่วนในการพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรในประเทศทางด้านเอ็กซ์เอ็มแอลซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้” นอกจากนั้น นายธันวา ยังกล่าวเสริมอีกว่า “ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรบุคคลมาโดยตลอด และได้มีกิจกรรมเพื่อสนับสนุนทางด้านการศึกษาในด้านต่าง ๆ ในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ทางเราเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรทางด้านไอที เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศต่อไปในภายภาคหน้า”

การแข่งขันโครงการ “ค้นหา เอ็กซ์เอ็มแอล ซุปเปอร์สตาร์” ของภูมิภาคอาเซียน (The Search for the XML Superstar in ASEAN) ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินิทิเอทีฟ (IBM Academic Initiative) ซึ่งไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกที่สนับสนุนมาตรฐานเปิด (open standard) ในการนำเทคโนโลยีของไอบีเอ็มกว่า 100 รายการเข้าไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเรียนในชั้นเรียนทั่วไปหรือเรียนผ่านเว็บในแบบเสมือน (Virtual Classroom) ก็ตาม รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินิทิเอทีฟ สามารถเข้าไปที่ www.ibm.com/university
« Last Edit: June 27, 2009, 10:52:13 AM by sianbun »

sianbun on June 27, 2009, 10:47:25 AM
วันนี้คุณรู้จักเอ็กซ์เอ็มแอล (XML) ดีแล้วหรือยัง? โดย นางเจษฏา ไกรสิงขร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด



ปัจจุบัน เทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอล (EXtensible Markup Language – XML) ถือเป็นมาตรฐานแบบเปิดที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในโลกของเว็บในปัจจุบัน เอ็กซ์เอ็มแอลใช้เทคโนโลยีแบบแท็ก (Tag) เช่นเดียวกับเอชทีเอ็มแอล (HTML) และทำงานโดยไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการหรือเทคโนโลยีผูกขาดใด ๆ ในการนำเสนอข้อมูล  กล่าวอย่างง่ายก็คือ เอ็กซ์เอ็มแอล ช่วยให้คุณสามารถสร้างข้อมูลที่ทุกโปรแกรมบนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ สามารถอ่านได้ นั่นเอง

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณต้องการใช้เอ็กซ์เอ็มแอลเพื่อจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่ง ธุรกรรมดังกล่าวอาจเริ่มต้นด้วยการถูกสร้างจากเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของพนักงานขายและถูกส่งต่อไปยังแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู่บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ และในท้ายที่สุดก็จะถูกส่งต่อมาจัดเก็บอย่างถาวรบนเครื่องเมนเฟรมของสำนักงานใหญ่ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวต้องทำงานผ่านแอพพลิเคชั่นที่แตกต่างกันในคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่อง แต่ในกรณีที่ข้อมูลนั้นถูกจัดเก็บในรูปแบบของเอ็กซ์เอ็มแอล นอกจากจะไม่มีปัญหาเรื่องการที่ข้อมูลจะไม่สามารถทำงานร่วมกันระหว่างแอพพลิเคชั่นที่แตกต่างกันได้แล้ว ยังไม่มีปัญหาในการเรียกใช้ข้อมูลดังกล่าวต่อมา แต่อย่างใดอีกด้วย 

นอกเหนือไปจากนั้น ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของเอ็กซ์เอ็มแอลก็คือ เมื่อคุณเข้าใจโครงสร้างของมันอย่างถ่องแท้แล้ว คุณก็สามารถใช้งานเอ็กซ์เอ็มแอลได้อย่างสะดวกง่ายดาย นอกจากนี้ยังมีหลายๆ วิธีที่คุณจะสามารถควบคุมโครงสร้าง และแม้กระทั่งเนื้อหาของข้อมูลผ่านทางเอ็กซ์เอ็มแอล  เนื่องจากเอ็กซ์เอ็มแอลเป็นเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง ดังนั้นจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับแอพพลิเคชั่นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลไฟล์คอนฟิกูเรชั่นของระบบในองค์กร เว็บเซอร์วิส หรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล ฯลฯ เป็นต้น

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งสำหรับเอ็กซ์เอ็มแอลก็คือ ความสามารถในด้านการจัดเก็บข้อมูล ทั้งนี้เพราะเอ็กซ์เอ็มแอลสามารถใช้งานได้ดีทั้งข้อมูลในรูปแบบดาต้า (เช่น ข้อมูลที่เก็บไว้ในฐานข้อมูล) และข้อมูลในรูปแบบเอกสาร (เช่น ข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในเอ็กซ์เอ็มแอล เพื่อให้คุณสามารถแสดงผลของการประมวลข้อมูลในรูปแบบและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ)

พอดแคสต์ (Podcast) และการรวบรวมข้อมูลข่าวสารอื่นๆ
อีกรูปแบบหนึ่งที่แพร่หลายที่สุดสำหรับการใช้งาน เอ็กซ์เอ็มแอล ในปัจจุบันก็คือ การรวบรวมข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาจากเว็บไซต์ (Syndication)  ปัจจุบัน ผู้ใช้บล็อกหลายล้านคนนิยมใช้ฟีดอาร์เอสเอส (Really Simple Syndication- RSS) เพื่อติดตามข้อมูลล่าสุดบนบล็อกที่ตนเองโปรดปราน รวมทั้งเริ่มมีการใช้ประโยชน์จากพอดแคสต์ (Podcast) หรือการเผยแพร่เสียงและวิดีโอผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ไอพ๊อด (iPod) เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลทั้งสิ้น

นอกจากนั้น โดยทั่วไป คุณยังมีโอกาสพบ เอ็กซ์เอ็มแอล ได้จากเบื้องหลังแอพพลิเคชั่นยอดนิยมและสภาพแวดล้อมในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ  โดย เอ็กซ์เอ็มแอลมักถูกใช้ในการสร้างไฟล์เพื่อกำหนดค่าคอนฟิกูเรชั่นหรือคำสั่งต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น การระบุคำสั่ง หรือการกำหนดค่าไว้ในไฟล์เอ็กซ์เอ็มแอลที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดค่าดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมลักษณะการทำงานของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความนิยมที่ผู้ใช้บล็อกปัจจุบันมักจะจัดหา “ฟีด” (Feed) ที่แสดงข้อความที่โพสต์ไว้ล่าสุดบนเว็บพร้อมด้วยลิงค์ที่สามารถเชื่อมโยงกลับไปยังเนื้อหาข้อมูลเดิม  ฟีดเหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบมัลติมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอช่องทางใหม่ ๆ ในการโฆษณา รวมถึงการเผยแพร่เสียงและ/หรือวิดีโอ หรือพอดแคสต์ ซี่งปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย ซึ่งทั้งนี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วฟีดเหล่านี้ก็ถูกจัดเก็บในรูปแบบของเอ็กซ์เอ็มแอลเช่นเดียวกัน

การใช้งาน เอ็กซ์เอ็มแอล เพิ่มเติม
นอกเหนือไปจากที่กล่าวมา ทุกวันนี้ คุณยังสามารถพบเอ็กซ์เอ็มแอลได้อย่างแพร่หลายในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ในด้านการพิมพ์ การเข้ารหัสข้อมูล หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการจำเสียงสนทนาทางโทรศัพท์ของคุณ

สืบเนื่องจาก เอ็กซ์เอ็มแอลไม่ได้ทำงานขึ้นกับแพลตฟอร์มและภาษาทางด้านโปรแกรมมิ่งใดๆ ดังนั้นคุณจึงสามารถใช้เอ็กซ์เอ็มแอลได้กับทุกภาษาที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม แม้ว่าคุณจะปรับใช้สถาปัตยกรรมเอสโอเอ (Service Oriented Architecture - SOA) ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่ก็ตาม วิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากก็คือ การใช้เว็บเซอร์วิส ซึ่งก็หนีเอ็กซ์เอ็มแอลไม่พ้นเช่นเดียวกัน  นอกจากนั้น เอ็กซ์เอ็มแอล ยังถือเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีใหม่ๆ อื่น ๆ อีก เช่น ในขณะที่เสิร์ชเอนจิ้นได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และโลกของเว็บกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของซีแมนทิคเว็บ (Semantic Web) เอ็กซ์เอ็มแอลก็จะช่วยให้เว็บมาสเตอร์สามารถใส่ข้อมูลที่มีความหมายไว้ในเว็บเพจและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย หรือแม้กระทั่งระบบประมวลผลแบบกริด (Grid Computing) และระบบประมวลผลแบบอัตโนมัติ (Autonomic Computing) ซึ่งในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง  เอ็กซ์เอ็มแอลก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ปัจจุบันซอฟต์แวร์ดีบีทู (DB2) ของไอบีเอ็มสามารถรองรับการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลเชิงสัมพันธ์ที่อ้างอิงมาตรฐานเอสคิวแอล (SQL) และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล เช่น การแบ่งพาร์ติชั่นข้อมูล และการทำดัชนีขั้นสูง รวมทั้งเทคนิคการปรับปรุงเคียวรี่ (Query) ซึ่งรองรับการทำงานของข้อมูลที่จัดเก็บมาแบบเอ็กซ์เอ็มแอลอย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย

ระบบประมวลผลแบบกริด (Grid Computing) และระบบประมวลผลแบบอัตโนมัติ (Autonomic Computing)
ปัจจุบัน ในขณะที่โลกของเรามีเล็กและแบนลงเรื่อย ๆ ในทางตรงกันข้าม ระบบคอมพิวเตอร์กลับมีขนาดใหญ่ขึ้น  สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเป็นเพราะองค์กรต่าง ๆ เริ่มเห็นประโยชน์จากการผนวกรวมระบบต่างๆ เข้าด้วยกันไว้บนระบบเดียวที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อเพิ่มพลังการประมวลผล และประหยัดค่าใช้จ่าย และทั้งนี้ เนื่องจาก เอ็กซ์เอ็มแอลสามารถทำงานได้บนทุกแพลตฟอร์ม เอ็กซ์เอ็มแอลจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการทำงานที่จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบต่างๆ ในสภาวะแวดล้อมที่มีการทำงานของหลายแพลตฟอร์ม

กล่าวโดยสรุปก็คือ เอ็กซ์เอ็มแอล นอกจากจะมีประโยชน์จากฟังก์ชั่นต่างๆ รวมทั้งมีจุดเด่นในเรื่องการทำงานที่ไม่ผูกขาดกับเทคโนโลยีใด ๆ แล้ว ยังถือเป็นภาษาที่ไม่มีความซับซ้อนและใช้งานง่ายอีกด้วย  นอกจากนั้น ผู้ใช้ก็ยังสามารถเรียนรู้หลักการพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว และใช้เอ็กซ์เอ็มแอล เพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ปัจจุบันจึงถือได้ว่า เทคโนโลยีเอ็กซ์เอ็มแอลเป็นเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อโลกอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ปริมาณข้อมูลมีการเพิ่มอย่างรวดเร็วและต้องการการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเอง